หน้าฝนปีนี้ น้ำดีเกินไป มีพายุหลายลูก ลูกสุดท้ายกระหน่ำเช้ามา น้ำท่วมขังหลายจังหวัดในภาคกลางลุ่มเจ้าพระยา ล่มไปเยอะ ในกรุงเทพเองเจอน้ำทะเลหนุนในปลายเดือนตุลาคม ถึงวันนี้ต้นเดือนพฤศจิกายนแล้ว กำลังหมดท่า กรุงเทพมหานครชั้นในล่มแน่ๆ การทำงานหลายหน่วยงานประสานงานกันแบบที่รู้ๆ กันนั่นแหละครับ อย่างไรก็ตามในแง่ทางการแพทย์ ผมคงต้องนำเราเรื่องราวที่น้ำท่วมจะไปทำให้คนไทยเรามีโรคภัยไข้เจ็บกัน มีอันตรายกัน ลองตามผมมาซีครับ จะได้ช่วยตัวเองได้บ้าง
อันตรายจากน้ำท่วมขังนั้น มีดังต่อไปนี้
1. อุบัติเหตุ เช่น ลื่นหกล้ม ขาแข้งหัก เกิดมีบาดแผลจากเศษแก้ว ตะปูตำเท้า รถชนกันเพราะห้ามล้อเปียกน้ำ หนักเบาก็แต่แต่กรณี ไฟฟ้าลัดวงจร ไฟฟ้าดูด ไฟฟ้าช็อต เสียชีวิตไปแล้วนับสิบรายทีเดียว
2. โรคที่มากับน้ำ ที่ท่วมขัง ซึ่งก็คงได้ชะล้างเอาความสกปรกและมลพิษต่างๆ คนที่ต้องเดินลุยน้ำจากบ้านผ่านซอยออกมาขึ้นรถประจำทางที่ปากซอยนั้น อาจแพ้สารเคมี สิ่งสกปรกทั้งหลาย อาจโดนน้ำกัด เชื้อรากินที่เท้าที่เรียกว่า ฮ่องกงฟุต โรคติดเชื้อที่มากับความชื้นแฉะ เช่น โรคเยี่ยวหนู หรือเล็บโตสไปโรสิส ที่กำลังเป็นปัญหาของประเทศ โรคตาแดงจากไวรัส มันมักจะมาหลังน้ำท่วมทุกครั้ง ก็ต้องระวังเอาไว้ด้วย
3. โรค ติดเชื้อทางเดินอาหาร ซึ่งน้ำท่วมน้ำขังจะก่อให้มีการปนเปื้อนน้ำบริโภคและอาหารทำให้เกิดโรคติด เชื้อทางเดินอาหาร เช่น อุจจาระร่วง โรคบิด โรคจากไวรัสิตับอักเสบเอ เป็นต้น
4. อันตรายจากสัตว์และแมลงมีพิษ
5. ปัญหาทางจิต ความเครียต
การรักษาน้ำกัดเท้า
ขณะนี้น้ำท่วม กำลังท่วมกำลังขังปีนี้ ท่วมแล้วมักจะเรื้อรังอยู่ 1-3 เดือน บ้านเรือนประชาชนเสียหายเหลือคณานับ ตายไปอีกบางปีก็นับสิบบางปีก็นับร้อย ที่ประสบกันมากโรคหนึ่งคือน้ำกัดเท้า อันที่จริง น้ำก็ไม่ได้กัดอะไรหรอก เพราะไม่มีปากไม่มีฟัน แต่เนื่องจากเท้าเปื่อยแฉะอยู่นานๆ ผิวหนังชั้นนอกๆ จะเปื่อยยุ่ย ชุ่มน้ำ เชื้อราที่อยู่ตามผิวหนัง อยู่ตามน้ำ ตามสิ่งแวดล้อมจะถือโอกาสขณะที่ผิวหนังกำลังอ่อนแอ บุกรุกเข้าไปทำให้เป็นตุ่มคันๆ เจ็บๆ หลังจากนั้นตุ่มจะแตกเป็นแผลบริเวณกว้างออกไป มีอาการอักเสบติดเชื้อหนอง มีแผล น้ำเหลืองเยิ้ม บางคนเป็นมากเสียเดินไม่ได้ เพราะความเจ็บปวด โรคนี้ถ้าไม่รักษามีแต่จะลามไม่หายได้เอง โรคนี้แต่เดิมเรียกกันว่า“ฮ่องกงฟุต” หรือ “แอ๊ทลีทฟุต” ซึ่งหมายความว่าที่ฮ่องกงสมัยก่อนสกปรก น้ำขังเฉอะแฉะ หรือพวกนักกีฬา (แอ๊ทลีทแปลว่านักกรีฑา) วิ่งไปมา เท้ามีเหงื่อชุ่มเปียก ทำให้ติดเชื้อราได้ บางทีอาจจะเปลี่ยนชื่อโรคเป็น “บางกอกฟุต” ไปแล้วก็ได้เพราะที่ฮ่องกงขณะนี้น้ำไม่ท่วมเหมือนบางกอก
การป้องกันมิให้น้ำกัดเท้าหรือติดเชื้อรานี้ที่สำคัญก็คือจะต้องป้องกัน มิให้เท้า ถุงเท้า รองเท้าชื้นแฉะเป็นสิ่งสำคัญ การที่จะไปลุยน้ำไปที่แฉะๆ ควรจะหารองเท้ายาง รองเท้าบู๊ตกันมิให้เท้าเปียก บางทีก็อาจปฏิบัติได้ บางทีก็อาจปฏิบัติไม่ได้ คนที่มีอาชีพต้องลุยอยู่ตามท้องถนน เช่น ตำรวจจราจรคงปฏิบัติลำบาก
อาการนอกจากคันที่ผิวหนังบริเวณง่ามนิ้วเท้า นอกจากมีตุ่มใสๆ ผิวหนังมักจะยุ่ยๆ ขาวๆ ลอกออกมีแผลแดงๆ ขึ้น แฉะมีกลิ่นเหม็นอับ บางทีก็ลามลงไปที่ฝ่าเท้า บางทีก็มีน้ำเหลืองเยิ้ม ทั้งเจ็บทั้งคัน บางทีต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบจะบวมอักเสบทำให้มีไข้ หรือที่เรียกว่า “ไข่ดันบวม”
การรักษานั้นจะมีการรักษาเฉพาะที่และการรักษาทั่วไป การรักษาทั่วไปนั้น คือการกินยาแก้ปวดแก้ไข้ ถ้าปวดมีไข้ เช่น ยาพาราเซตามอล ถ้าเป็นผู้ใหญ่ก็กินเม็ดละ 500 มิลลิกรัม กินครั้งละ 1 เม็ด วันละ 4-5 ครั้ง ให้ห่างกันประมาณ 4 ชั่วโมง ถ้ามีอาการอักเสบ มีหนอง มีไข่ดันบวมคงต้องให้หมอสั่งยาปฏิชีวนะ อาจฉีดหรือกินแล้วแต่กรณี ปฏิชีวนะนี้ไม่ควรซื้อรับประทานเอง เพราะถ้ารับประทานไม่ถูกต้อง เชื้อจะดื้อยา โรคจะเรื้อรัง อาจจะแพ้ยา อาจจะโดนฤทธิ์ข้างเคียงของยาก็ได้
สำหรับการบริบาลเฉพาะที่นั้น ควรหาชาม กะละมังมาสักใบใส่น้ำอุ่นผสมด่างทับทิมสัก 4 - 5 เกล็ดเอาเท้าแช่น้ำด่างทับทิมนี้ไว้สัก 5-10 นาที เสร็จแล้วเช็ดเท้าให้แห้งด้วยผ้าสะอาดแช่เช้า-เย็น แล้วใช้ยาทา ยาที่ใช้ทานั้นใช้ยาประเภทฆ่าเชื้อรา ดังนี้ครับ
1. ขี้ผึ้งรักษากลากเกลื้อนขององค์การเภสัชกรรม ชื่อภาษาทางเภสัช เรียกว่า ขี้ผึ้งวิทฟีลด์ ใช้ทาตรงผื่นวันละ 2-3 ครั้ง ทาอย่างน้อยประมาณสองสัปดาห์ ยาฆ่าเชื้อราอีกขนานหนึ่งก็คือ ซีม่าโลชั่น ยาขนานนี้ก็ใช้ได้ แต่อาจจะแสบไปหน่อย
2. ยาทาที่ผลิตจากต่างประเทศหรือ บางขนานก็ผลิตในประเทศไทยเรานี่แหละ อาจจะมีทั้งชนิดน้ำ ชนิดครีม หรือขี้ผึ้ง ชนิดน้ำจะไม่ใคร่จะติดผิหนังอยู่นาน สู้ใช้ชนิดครีมไม่ได้ ส่วนขี้ผึ้งมักจะมีความรู้สึกเหนอะหนะ ยาพวกนี้มีขายอยู่ทั่วไป เช่น แด๊คตาริน อีซอน-ที คาเนสเต้น จาดิท โทแน๊ฟ ทีเนียแฟ๊กซ์ มัยโคต้า ดีซีเน็กซ์ ยาพวกนี้ราคาค่อนข้างแพงหน่อย แต่คุณภาพก็จะดีกว่าขี้ผึ้งวิทฟิลด์ ยาพวกนี้ควรใช้อย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ติดต่อกันจึงจะหายขาด
3. ยาฆ่าเชื้อราชนิดกิน ในกรณีที่โรคเรื้อรังเป็นยาวนานเป็นเดือนๆ แล้ว การให้กินยาฆ่าเชื้อราซึ่งมีทั้งปฏิชีวนะและสารเคมีอาจจะมีความจำเป็น แพทย์จะพิจารณาเป็นรายๆ ไป และไม่ควรซื้อยากินเอง
อันตรายจากสัตว์และแมลงมีพิษ
ตะขาบ
พิษของตะขาบไม่ใคร่จะรุนแรง นอกจากจะมีอาการปวด บวมแดง และอาจจะมีอาการอักเสบตามมาภายหลัง มีบางรายอาจเป็นรอยแผลเน่า มีหนองบริเวณที่โคนเขี้ยวตะขาบกัด อาการอื่นๆ นอกเหนือจากปวดบวมแดง อาจจะมีไข้ ปวดหัว คลื่นไส้ ใจสั่น แต่จะไม่ถึงตาย
การรักษา ควรให้ยาระงับปวด และทำความสะอาด ที่ตรงแผลก็พอ ถ้าบวมแดงมากใช้พวกครีมแอนติฮิสตามีนทา หรือครีมฮีรูดอยด์ทาก็จะยุบ
เคยมีเหมือนกันที่คนโดนตะขาบกัดที่เท้าแล้วเท้าบวมตั้ง 2-3 อาทิตย์ แต่ในที่สุดก็หายเสียเรียบร้อย
แมงป่องนั้น ชอบออกหากินกลางคืน ตอนกลางวันจะค่อยๆ แอบๆ ซุกๆ อยู่ตามมุมมืดๆ กองไม้กองกระดาน พอฝนตกชุกก็จะหาโอกาสเข้าไปอยู่ในบ้านคน วิธีจับเหยื่อของมันอันได้แก่แมลงมุมและแมลงชนิดอื่นๆ มันจะใช้ก้ามทั้งสองจับเยื่อ แล้วใช้ปลายหางซึ่งมีเหล็กในต่อยเอาและปล่อยพิษเข้าไปทำให้เหยื่อเป็นอัมพาต
สำหรับ คนนั้น อาการที่เกิดจากพิษของแมงป่องมีน้อยส่วนมากจะเป็นอาการเจ็บปวดและบวมแดง พิษต่อระบบประสาทมีน้อย แต่อาการต่างๆ เหล่านี้อาจแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับพันธุ์ของแมลงป่อง และความใจเสาะของผู้ที่ถูกต่อย อายุของแมงและอายุของผู้ที่ถูกต่อยด้วย
การรักษา เมื่อถูกแมงป่องต่อย อาจจะใช้แอมโมเนียชนิดที่เราใช้ดมเช็ดตรงบริเวณแผลหรือใช้เอ็ทธิล คลอไรด์ สเปรย์พ่นตามแผล จะทำให้ทุเลาอาการปวด ให้ยาระงับความเจ็บปวด เช่น พาราเซตามอล รับประทาน 1-2 เม็ด ซ้ำได้อีก 2-4 ชั่วโมงให้หลัง
ในกรณี ที่เจอพันธุ์ที่พิษมาก อาจจะต้องใช้สายยางรัดเหนือแผลไว้ แล้วคลายเป็นระยะๆ ในทำนองเดียวกันกับเวลาถูกงูกัด
ตะขาบและแมงป่องมันไม่น่ากลัวเท่าไหร่ ทีนี้ลองมาดูไอ้ที่มันร้ายๆ บ้าง .
1. งูเห่า มีอยู่ชุกชุมในภาคกลาง สมุทรปราการ ลาดกระบัง อยุธยา อ่างทอง ชลบุรี เพชรบูรณ์ เป็นต้นเป็นที่หนองงูเห่า ซึ่งกลายเป็นสนามบินนานาชาตินั่นเอง ก่อนจะได้รับพระราชทานนามเป็นทางการว่า “สุวรรณภูมิ”แต่ก่อนก็รู้จักกันในนามของสนามบินหนองงูเห่า
2. งูจงอาง พบที่ลพบุรี ระยอง กาญจนบุรี ตรัง พัทลุง นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช เป็นต้น ตอนนี้ก็มีน้อยลงแล้ว เพราะป่าค่อยๆ หายไป
3. งูสามเหลี่ยม พบในภาคกลางแต่ไม่ค่อยชุกชุมนัก พบไม่ค่อยบ่อย
4. งูทะเล มีอยู่ทั่วไปในอ่าวไทย ป่าชายเลน
5. งูกะปะ พบมากในจังหวัดภาคใต้และฝั่งทะเลตะวันออกของไทย เช่น ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฏร์ธานี นราธิวาส ระนอง นครศรีธรรมราช พังงา ตรัง สตูล สงขลา ชลบุรี จันทบุรี ตราด เป็นต้น
6. งูแมวเซา มักอยู่ในภาคกลาง เช่น อยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี สระบุรี นครสวรรค์
7. งูเขียวหางไหม้ มีอยู่ชุกชุมอยู่ทั่วไปในภาคกลาง
8. ถ้าทางเหนือ เขาจะเจอ “งูตองตึง” เพราะว่าไม่ทราบว่างูอะไรกัด งูที่กัดมันมักซ่อนอยู่ใต้ใบตองตึง หรือใบสัก ใบใหญ่ๆ เขาก็เลยเรียกกันมั่วๆ ว่า งูตองตึง แพทย์จะต้องดูจากรอยเขี้ยวที่โดนงูกัด
ตอนนี้เกิดมีคนวิตถาร เอางูจากต่างถิ่นมาเลี้ยง แถวๆ ปากเกร็ด เรียกว่า “งูเขียวแมมบ้า” ข่าวว่าหลุดจากกรงออกมาทั้งครอก ทั้งครอบครัวพ่อแม่ลูก ตามข่าวว่าพิษมาก ในบ้านเรายังไม่มีเซรุ่มช่วยแก้ไข ตอนนี้สั่งเข้ามาได้แล้ว คนที่เลี้ยงสัตว์มีพิษแล้วควบคุมไม่ได้ น่าจะโดนกฎหมายเล่นงาน
พิษของงู นั้นมีพิษ โดยรวมๆ ก็คือต่อระบบประสาททำให้กล้ามเนื้อเป็นอัมพาตและหยุดหายใจ พิษต่อโลหิต ทำให้เลือดออกได้ตามที่ต่างๆ ตามผิวหนัง เหงือก ไอหรืออาเจียน หรือปัสสาวะเป็นโลหิตได้และพิษต่อกล้ามเนื้อ ทำให้มีอาการปวด เนื้อเน่าตาย
งูทะเลมีพิษสูงที่สุด เพียงหนึ่งหยดจะฆ่าคนได้ 5 คน รองลงไปคือ พิษงูเห่า 3 หยดจะฆ่าคนตายได้หนึ่งคน ถัดไปได้แก่งูแมวเซา 15 หยดจะทำให้คนตาย ส่วนงูเขียวทางไหม้พิษอ่อนที่สุด งูแมมบ้านี่ ผมยังไม่ได้ศึกษาหารายละเอียด จะเอามาเล่ากันในโอกาศหน้า
วิธีปฐมพยาบาลเมื่อถูกงูพิษกัด
1. ให้รัดบริเวณ เหนือแผลที่ถูกงูกัด ใช้ผ้าหรือสายยาง หรือเชือกประมาณ 2 เปลาะห่างกันประมาณ 1 คืบ คลายผ้าทุกๆ 15 นาทีทิ้งไว้ประมาณ 1 คืบ คลายผ้าทุกๆ 15 นาที ทิ้งไว้ครึ่งถึง 1 นาที แล้วรัดใหม่ ชาวบ้านมักใช้มีดกรีดให้เลือดออกซึ่งเป็นวิธีที่ผิด จะทำให้ติดเชื้อเนื้อเน่าได้ บางคนใช้ปากดูดเลือดออกจะได้พิษเข้าไป และพิษนั้นจะถูกดูดซึมเข้าทางปากได้ โดยพิษชนิดแรงๆ ก็มีโอกาสตายได้เหมือนกัน อย่าให้คนไข้ดื่มเหล้า จะทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้นพิษจะซึมซ่าได้ดีมากขึ้น พยายามปลุกอย่าให้หลับ
2. ให้นำส่งโรงพยาบาล ศูนย์การแพทย์หรือสถานีอนามัยที่ใกล้ชิดที่สุดเพื่อทำการฉีดเซรุ่มต้านพิษงู และก่อนคนไข้จะมีอาการหนัก พยายามซักถามกันให้ดีว่างูอะไรกัด
เช่น ชาวนา มักถูกงูเห่ากัด
ชาวประมงมักถูกงูทะเลกัดซึ่งยังไม่มีเซรุ่มแก้พิษ
ชาวอ่างทอง สิงห์บุรี ลพบุรี นครสวรรค์ ขัยนาท มักโดนงูแมวเซากัด
ชาวใต้มักโดยงูกะปะกัด
ถ้างูเขียวอยู่ตามกิ่งไม้กัด มักเป็นงูเขียวหางไหม้ ที่บ้านคุณสุรยุศ ทีวีช่องสามก็ยังมีงูเขียวไปเยี่ยม
ถ้างูดำๆ แผ่แม่เบี้ยมีดอกจันที่หัว มักเป็นงูเห่ากัด
ชาว เหนือไม่ว่าจะเป็นงูอะไรๆ เขาเรียกว่า งูตองตึง เพราะงูที่กัด มันอยู่ใต้ใบตองตึงทั้งนั้น (ใบไม้สักใบใหญ่ๆ เขาเรียกว่าใบตองตึง) จึงเรียกง่ายๆ ว่า งูตองตึง
โรคตาแดง นั้นมักแพร่ติดต่อกระจายง่าย จากการสัมผัสกับผู้ที่กำลังเป็นโรค หรือผู้ที่เป็นโรค ไอจามรดคนอื่น ระยะฟักตัวสั้น เพียง ๑-๓ วัน ยังไม่มีการรักษาที่จำเพาะ ต้องรักษาตามอาการเท่านั้น หยอดยาแก้คัน ถ้ามีขี้ตา อาจต้องหาหมอเพื่อปรึษาเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะ หยอด หรือกิน หรือ ฉีดแล้วแต่กรณีไป
หลังน้ำท่วมยังมีมัจจุราชที่สำคัญที่ตามมาซ้ำเติมคร่าชีวิตพี่น้องประชาชนเราอีก มัจจุราชที่ว่านั้นก็คือโรคฉี่หนูไงครับ
โรคฉี่หนูหรือไข้เยี่ยวหนูหรือชื่อทางการแพทย์เรียกว่า โรคเล็ปโตสไปโรสิส (Leptospsis) หรือบางลักษณะของโรคเรียกว่า โรค วายล์’ส (Weil’s disease) หรือภาษาไทยเราเรียกกันว่าโรคไข้ฉี่หนูนั้น เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า Leptospira interrogans เนื่องด้วยหมอวายล์เป็นคนอธิบายโรคนี้เอาไว้อย่างละเอียดก่อนเพื่อนก็เลยได้ รับสมญาว่า Weil’s disease ปัจจุบันนิยมเรียกชื่อว่า Leptospsis มากกว่าชื่อ Weil’s disease ญาติคนไข้ได้ยินหมอบอกสั้นๆ ว่าเป็นโรคเล็ปโต พอลับตาหมอก็รีบไปดู เล็บมือ เล็บเท้าผู้ป่วยที่เป็นลูก้ป็นหลานว่า เล็บใหนที่ว่าโต มันคงไปทำบาปอะไรมา ถึงได้ มือโตเล็บโต
เชื้อเล็ปโตสไปร่านี้จะออกมากับเยี่ยวหนู มีรูปร่างเป็นเกลียวควงสว่านแหวกว่ายไปมาอยู่ในที่มีน้ำหรือที่ชื้นเฉอะแฉะ เชื้อมีชีวิตคงทนอยู่ได้นานในสิ่งแวดล้อม เมื่อออกจากตัวหนูทางเยี่ยว จึงสามารถเคลื่อนไหวไปมาในที่เปียกชื้นเฉอะแฉะได้อย่างคล่องแคล่วว่องไว โรคที่มันก่อขึ้นจึงเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า โรคเล็ปโตสไปโรสิส และมีผู้บัญญัติขึ้นเป็นภาษาไทยๆ เราว่าโรคฉี่หนูก็เรียก โรคไข้เยี่ยวหนูก็เรียก ในข่าวโทรทัศน์ผมได้ยินคำว่าปัสสาวะหนูหลายครั้ง ท่านอาจารย์หมออวย เกตุสิงห์ราชบัณฑิต ท่านสอนนักเรียนแพทย์พวกผมเอาไว้ว่า คำว่าปัสสาวะเราจะมาใช้กับมนุษย์เท่านั้นไม่ใช้กับสัตว์ สำหรับสัตว์เราใช้คำว่าเยี่ยว ว่าฉี่ และทำนองเดียวกันเราจะไม่ใช้คำว่าอุจจาระกับสัตว์ สำหรับสัตว์เราจะใช้คำว่ามูลหรือขี้ เช่น มูลหนู หรือขี้หนู เราไม่เคยได้ยินคำว่า “ขนมอุจจาระหนู” เราจะไม่เรียกว่าอุจจาระหนูเป็นอันขาด ตอนที่ท่านสอน นักเรียนแพทย์บางคนคงแอบงีบเพลิน จึงไม่ทราบกัน
สำหรับหนูนั้นในบ้านเรานับว่าชุกชุม ถ้าอยู่ในเมืองในหมู่บ้านเราก็จะเจอพวกหนูท่อ หนูผีอาจจะอยู่ตามโกดังเก็บของก็พบมาก หนูพวกนี้จะคอยคุ้ยอาหารเศษอาหารที่เหลือกิน หนูอีกพวกคือหนูนา อยู่ตามท้องนา หนูพวกนี้มีหน้าที่ที่สำคัญคือทำลายผลผลิตผลการเกษตรกัดกินต้นข้าว กินข้าวเป็นต้น เมื่อหนูมีชุกชุมก็มีโรคต่างๆ ติดต่อกันอยู่ในบรรดาหนูด้วยกัน ซึ่งมีอยู่หลายโรค เช่น กาฬโรค ไข้เลือดออกฮันตานในเกาหลี ไข้เลือดออก ในอเมริกาใต้ ไข้ลาสล้าในอาฟริกา ไข้ปอดอักเสบในอเมริกา ไข้รากสาดใหญ่ในอเมริกาใต้, อเมริกากลาง ไข้หนูกัด ไข้วัณโรคเทียม ไข้กลับเป็นซ้ำ โรคลิสเตอริโอสิส ไข้สมองอักเสบ โรคพิษสุนัขบ้า ตืดหนู ท็อกโซปล๊าสโมสิส และไข้เยี่ยวหนูด้วย เห็นไหมละครับว่าการที่หนูชุกชุมนับเป็นแหล่งแพร่โรคที่สำคัญมาสู่คน หนูมาอาศัยอยู่ในบริเวณบ้านเราใกล้ชิดกับคน จึงแพร่เชื้อมาสู่คนได้ ผลการวิจัยในประเทศไทยพบว่า เชื้อโรคที่ก่อโรคฉี่หนูพบในสุนัข โค กระบือ ด้วย ยิ่งก่อให้เกิดปัญหาซับซ้อนในการป้องกันและการควบคุมโรคมากยิ่งขึ้น
เชื้อเล็ปโตสไปร่านี้เป็นเชื้อที่ทนทานอยู่ตามที่เฉอะแฉะได้หลายวันอาจ ถึงอาทิตย์เมื่อไชเข้าไปในร่างกายคนแล้วก็จะไปเพิ่มจำนวนให้มากขึ้นจะกิน เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ก็จะทำให้เกิดโรค ระยะนี้เราเรียกว่าระยะฟักตัวของโรค หลังจากนั้นก็มีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะมาก ปวดตามเนื้อตามตัว ปวดกล้ามเนื้อ อาเจียน เบื่ออาหาร ตาแดงก่ำ เป็นอยู่ 4-5 วัน ไข้ทำท่าจะลดลงเล็กน้อยแต่แล้วไข้ก็จะกลับสูงขึ้นไปอีกคราวนี้จะมีอาการตัว เหลือง ตาเหลืองที่เรียกกันว่าดีซ่าน คลื่นไส้ อาเจียน เจ็บบริเวณใต้ชายโครงด้านขวาเพราะตับโตและอักเสบ กดจะเจ็บมาก สำหรับปัสสาวะของผู้ป่วยจะมีสีเข้ม สีเหลืองอมเขียว เป็นฟอง อาจมีจุดเลือดออกใต้ผิวหนังประมาณร้อยละ 30-50 ของผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาจะถึงแก่ความตาย
สำหรับการรักษานั้น เชื้อชนิดนี้ไวต่อปฏิชีวนะหลายชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพนิซิลลิน หมอจะใช้เพนิซิลลินฉีดให้ผู้ป่วย ให้การรักษาแบบประคับประคองคือให้น้ำเกลือเช็ดตัวให้อาหารกลูโคสทางเส้น เลือดรักษาตามอาการได้แก่ ให้ยาลดไข้ ยาแก้ปวด ให้วิตามิน ให้ยาบำรุงตับ เป็นต้น ถ้าได้รับการรักษาที่ถูกต้องไข้จะลดภายในสองวัน และจะฟื้นไข้ภายในเจ็ดวัน
สำหรับการป้องกันโรคนั้น การหลีกเลี่ยงไม่ไปย่ำน้ำเฉอะแฉะ น้ำโสโครก น้ำครำนั้น บางคนเลี่ยงไม่ได้ ถ้าเลี่ยงได้ก็จะไม่ติดเชื้อพวกนี้ ถ้าจำเป็นก็ขอให้หารองเท้ายาง รองเท้าท็อปบู๊ทใส่แล้วจึงลงไปลุยน้ำ การกำจัดหนู การเก็บเศษอาหารมิให้หนูลงไปคุ้ยกินได้ เก็บให้มิดชิดก็เป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยป้องกันโรค โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน จึงต้องป้องกันตัวเองตามวิธีสุขาภิบาลบ้านเรือนที่ดี ข้าวของเก็บให้เป็นระเบียบ อย่าให้มีซอกมีมุมอับที่หนูจะเข้าไปหลบไปซ่อนได้ วิธีปราบหนูนั้นก็ทำได้หลายวิธี เช่น ดักหนูโดยใช้กับดัก ใช้กรงดัก ใช้แผ่นที่มีกาวเหนียวสีดำๆ ดักที่มีชื่อว่า “โนแร็ท” การดักหนูจะทำได้ไม่นาน หนูจะรู้แกว ไม่หลงไปติดกับดัก บางทีก็เห็นซึ่งๆ หน้าก็ใช้วิธีตีเอา การเลี้ยงแมวไว้ไล่หนูนั้นสมัยนี้แมวไม่ใคร่จะไล่หนู หมากลับไล่หนูดีกว่าแมวเสียอีก อีกวิธีหนึ่งคือยาเบื่อมีอยู่หลายขนาน เอาไปคลุกอาหารแล้วเบื่อหนู วิธีนี้มีข้อเสียตรงที่หนูจะไปตามซอกตามมุม อยู่บนเพดานบ้าน ส่งกลิ่นเหม็นกว่า จะหาซากหนูพบก็ทำให้เจ้าของบ้านเหม็นไปหลายวันทีเดียว
การป้องกันทำได้เองโดยไม่ต้องใส่รองเท้าบู๊ททรงสูงก่อนจะไปลุยน้ำ พอขึ้นจากน้ำต้องรีบอาบน้ำฟอกสบู่หลายครั้งเพื่อมิให้มีเชื้อไชเข้าผิวหนัง ซึ่งเป็นการป้องกันที่ยุ่งยากอยู่พอสมควรสำหรับชาวบ้าน
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ