การพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ จะต้องก่อสร้างโรงถลุงเหล็ก ใช้พื้นที่ประมาณ 5,000–10,000 ไร่ และต้องมีการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานรองรับ ได้แก่ ท่าเรือน้ำลึกไม่ต่ำกว่า 200 เมตร รองรับเรือขนาด 20,000–200,000 DWT ที่จะนำเข้าและขนถ่ายสินแร่เหล็ก และวัตถุดิบอื่นๆ ที่ใช้ในการถลุงเหล็ก เช่น ถ่านหิน เพื่อนำมาผลิตถ่านโค้กใช้ในกระบวนการถลุงเหล็ก โรงถลุงเหล็กต้นน้ำ ต้องการน้ำใช้ในอุตสาหกรรมมากถึง 100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน หรือประมาณ 30–50 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ทั้งยังต้องการระบบขนส่งและโลจิสติกส์ ระบบสาธารณูปโภค และระบบกำจัดของเสียอีกสารพัด จึงไม่แปลกที่มูลค่าการลงทุนทั้งหมดจึงสูงถึง 60,000–100,000 ล้านบาททีเดียว
ปัจจุบันความต้องการใช้เหล็กในประเทศไทยประมาณ 12.5 ล้านตันต่อปี ต้องนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศโดยเฉพาะเหล็กคุณภาพสูงประมาณ 4.5 ล้านตันต่อปี
เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีอุตสาหกรรมผลิตเหล็กแบบครบวงจร ขาดการผลิตเหล็กต้นน้ำ เพื่อป้อนให้กับอุตสาหกรรมเหล็กขั้นต่อไป จึงเป็นข้ออ้างให้กับนักลงทุนและผู้ต้องการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำครบ วงจร หยิบยกขึ้นมาเป็นเหตุผลในการผลักดันโครงการ
ความเคลื่อนไหวล่าสุดเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ ปรากฏบนเวทีระดมความคิดเห็นประชาชน ในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน ขณะประชุมกลุ่มย่อยจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2554 ที่โรงแรมซากุระแกรนด์วิว อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
เมื่อนายศักดิ์ชัย ประโยชน์วนิช ผู้เชี่ยวชาญการวางผังเมือง บริษัทคอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด ระบุว่า บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอุตสาหกรรมเหล็กของญี่ปุ่นอย่าง บริษัท JFE Steel Corporation แสดงความจำนงจะมาลงทุนตั้งโรงงานเหล็กต้นน้ำ ที่อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี
“JFE Steel Corporation ไม่ได้ระบุโดยตรงว่าจะลงทุนที่ปัตตานี แต่เนื่องจากผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กของกระทรวง อุตสาหกรรม ระบุว่าพื้นที่ที่มีการศึกษาในภาคใต้ทั้งหมด 8 แห่ง มีความเหมาะสมทั้งหมด จะลงทุนตรงไหนก็ได้ ต่างชาติจึงสนใจจะเข้ามาลงทุนที่ปะนาเระ” นายศักดิ์ชัย ประโยชน์วนิช ยืนยัน
ที่ผ่านมา จังหวัดปัตตานีโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี ได้จัดทำข้อเสนอรับการลงทุนอุตสาหกรรมเหล็กในจังหวัดปัตตานี ผ่านสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย มีนายประยูรเดช คณานุรักษ์ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี เป็นตัวตั้งตัวตีสำคัญ พร้อมกับเสียงสนับสนุนจากนายเจริญ จันทอิสสระ ประธานสหกรณ์ประมงปัตตานี จำกัด นั่นคือที่มาของที่ทำให้บริษัท JFE Steel Corporation สนใจที่จะเข้ามาลงทุน
ขณะที่นายสะมะแอ เจะมูดอ เลขาธิการสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้ ชาวอำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี แสดงความกังวลว่า โรงงานเหล็กต้นน้ำจะสร้างความเสียหายอย่างหนักกับชาวประมงพื้นบ้าน เป็นการแสดงความกังวลผ่าน เวทีระดมความเห็นจากประชาชนจังหวัดปัตตานี จัดทำแผนยุทธศาสตร์จังหวัดปัตตานี เสนอต่อรัฐบาลชุดใหม่ ในเดือนตุลาคม 2554 ที่จัดโดยคณะกรรมการการเมืองภาคพลเมืองภาคใต้จังหวัดปัตตานี สถาบันพัฒนาการเมือง เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2554 ที่ห้องประชุมอิบนู คอนดูน วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
ครั้งนั้น นายสะมะแอ เจะมูดอ กล่าวต่อที่ประชุมว่า ไม่ต้องการให้รัฐสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหรรมอาหารฮาลาลมากจนเกินไป เพราะเกรงจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ โดยเฉพาะผลกระทบกับชายฝั่งทะเล
“ประเด็นที่ผมเป็นห่วงคือ โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล จะเป็นโครงการปะหน้า หลังจากนั้นจะมีโครงการขนาดใหญ่อีกหลายโครงการตามมา โดยเฉพาะโรงเหล็กต้นน้ำที่มีแผนจะมาสร้างโรงงานที่ชายฝั่งทะเลอำเภอปะนาเราะ จังหวัดปัตตานี ถ้าหากเกิดโรงเหล็กขึ้นมาจริงๆ จะสร้างความเสียหายอย่างหนักกับชาวประมงพื้นบ้าน ทุกฝ่ายควรสนับสนุนเฉพาะโครงการที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น”
พื้นที่เหมาะสมตั้งโรงงานถลุงเหล็ก
จากรายงาน การศึกษาโครงการการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กของกระทรวง อุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่า มีการศึกษาพื้นที่ที่มีศักยภาพในการรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กแล้ว 10 แห่ง ใน 8 จังหวัด ประกอบด้วย
1. อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา
2. อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช
3. อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช
4. อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
5. อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
6. อำเภอเมือง จังหวัดระยอง
7. อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
8. อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร
9. อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี
10. อำเภอปานาเระ จังหวัดปัตตานี
เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2552 คณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ มีมติตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอให้กระทรวงอุตสาหกรรมศึกษาความเป็นไปได้ในการส่งเสริมการลงทุนกิจการ ผลิตเหล็กขั้นต้นเพื่อผลิตเหล็กคุณภาพสูง
สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ภายใต้การการกำกับดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้ว่าจ้างบริษัท อิมเมจพลัส คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ให้ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมเหล็กขั้นต้นเพื่อ ผลิตเหล็กคุณภาพสูง ใน 2 พื้นที่คือ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา และอำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี
วันที่ 21–26 กุมภาพันธ์ 2554 สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ได้นำชาวบ้านและคณะผู้บริหารองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นจากพื้นที่ที่มี ศักยภาพในการรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็ก ไปศึกษาดูงาน “บทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการพัฒนาอุตสาหกรรม” ที่โรงงานผลิตเหล็ก Nippon Steel และ JFE Steel ที่ประเทศญี่ปุ่น
ขณะนี้ นิปปอน สตีล ได้ยื่นแผนต้นแบบการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชน สำหรับโครงการเหล็กต้นน้ำคุณภาพสูงในไทยให้กับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม การลงทุน หรือบีโอไอแล้ว เมื่อปี 2552 ซึ่งเป็นช่วงที่ยังอยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมและที่ตั้งของโครงการผลิต เหล็กต้นน้ำคุณภาพสูง
อุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำนครศรีธรรมราช
ตาม แผนแม่บทอุตสาหกรรมและการท่าเรือภาคใต้ ในจังหวัดนครศรีธรรมราชถูกกำหนดให้มีการพัฒนาเขตนิคมอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้า เกษตรครบวงจร อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ท่าเรือน้ำลึกแล้ว ยังเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กด้วย นั่นคือ นิคมอุตสาหกรรมเหล็ก บ้านบางปอ ตำบลทุ่งใส อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช ต้องใช้พื้นที่ไม่ต่ำกว่า 5,000–10,000 ไร่
สำหรับการสร้างท่าเรือ อุตสาหกรรม ที่ตำบลทุ่งใส มี 2 รูปแบบ ประกอบด้วย ท่าเรืออเนกประสงค์หน้าท่ายาว 200 เมตร 2 ท่า ท่าเรือน้ำมันรองรับเรือขนาด 30,000–60,000 DWT 2 ท่า ขนาด 6,000 DWT 1 ท่า รูปแบบที่ 2 การพัฒนาท่าเรือรองรับเฉพาะสินค้าเหลว โดยมีท่าเรือรองรับเรือขนาด 30,000 – 60,000 DWT 2 ท่า ขนาด 6,000 DWT 1 ท่า วงเงินลงทุน 13,890 ล้านบาท
อุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำประจวบคีรีขันธ์–ชุมพร
นิคม อุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ (ครบวงจร) ประจวบคีรีขันธ์–ชุมพร ของบริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) มีพื้นที่เป้าหมาย 2 แห่งคือ บ้านเขาแดง ตำบลกุยเหนือ อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และอ่าวช่องพระ ตำบลปากคลอง อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร ใช้พื้นที่ก่อสร้าง โรงงานประมาณ 5,000–10,000 ไร่ สร้างโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ ท่าเรือน้ำลึกระวางขนาด 200,000 ตัน รวมถึงการพัฒนาระบบน้ำสำหรับใช้ในการผลิตประมาณ 30–50 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ระบบขนส่งและโลจิสติกส์ ระบบสาธารณูปโภค และระบบกำจัดของเสีย เป็นต้น โดยบริเวณอ่าวช่องพระ เป็นพื้นที่โรงงาน และลานเก็บวัสดุ ระบบสายพานลำเลียงเนื้อที่ประมาณ 1,573 ไร่
อุตสาหกรรมเหล็กปัตตานี
องค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดปัตตานี แสดงความสนใจและเห็นชอบในหลักการเบื้องต้นให้เกิดอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำใน พื้นที่อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะมีความพร้อม มีแหล่งน้ำจืดเพียงพอที่จะรองรับโครงการขนาดใหญ่ได้
ผลการศึกษาพบว่า โครงการเหล็กต้นน้ำมีความต้องการพื้นที่ใกล้ทะเลขนาด 5,000–6,000 ไร่ มีท่าเรือขนส่งระวางน้ำลึกไม่ต่ำกว่า 20 เมตร และต้องการน้ำที่ใช้ในอุตสาหกรรมถึง 100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน จากความ พร้อมในเชิงกายภาพของจังหวัดปัตตานี ทำให้รัฐบาลสามารถลดเงินลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภคต่างๆ ลงได้ จากที่เคยประเมินว่ากรอบการลงทุนโครงการเหล็กต้นน้ำในประเทศราว 60,000–100,000 ล้านบาท
ที่ผ่านมามีความพยายามในการดึงอุตสาหกรรมเหล็กมาลงในจังหวัดปัตตานีตลอด ทั้งจากจังหวัดปัตตานี ที่จัดทำข้อเสนอผ่านสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย หอการค้า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้คือ ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส ที่ผลักดันผ่านคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ หอการค้าไทย รวมทั้งผลักดันผ่านองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี พื้นที่จังหวัดปัตตานี เป็นพื้นที่ที่ บริษัท JFE Steel Corporation ของญี่ปุ่น สนใจที่จะมาลงทุน
อุตสาหกรรมเหล็กจังหวัดสงขลา
แม้ รายงานการศึกษาโครงการการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็ก ระบุพื้นที่ที่มีศักยภาพในการรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา แต่สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย กลับศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมเหล็กขั้นต้น ที่ตำบลท่าบอน อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา
ผลการศึกษาพบว่า ต้องใช้เนื้อที่กว่า 5,000 ไร่ เป็นพื้นที่ติดถนนเลียบชายทะเล เริ่มตั้งแต่บ้านขี้นากถึงคลองท่าเข็น ใน 4 หมู่บ้านคือ หมู่ที่ 4 บ้านศาลาหลวงบน หมู่ที่ 5 บ้านหัวคุ้ง หมู่ที่ 7 บ้านขี้นาก และหมู่ที่ 9 บ้านมากบัว ตำบลท่าบอน โดยจะถมทะเลอีก 2 ตารางกิโลเมตร ทำสะพานเชื่อมท่าเรือห่างชายฝั่ง 10 กิโลเมตร เป็นจุดรับวัตถุดิบ
ที่ผ่านมา มีการประชุมรับฟังความคิดเห็น 3 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2553 ที่โรงเรียนมาบบัว ตำบลท่าบอน ผู้เข้าร่วม 229 ราย ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2553 ที่โรงเรียนตะเครียะวิทยา ตำบลท่าบอน มีผู้เข้าร่วม 209 ราย และครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2553 ที่โรงแรมสงขลาพาเลซ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา มีผู้เข้าร่วมเพียง 21 คน ส่วนใหญ่เป็นสื่อมวลชนท้องถิ่น
โครงการนี้ได้รับการคัดค้านจากชาวบ้านในพื้นที่ นำโดยนายกาจบัณฑิต รามมาก ประธานชมรมเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดสงขลา ในฐานะชาวบ้านตำบลท่าบอน โดยให้เหตุผลว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่รู้เรื่องและไม่เข้าใจ
ล่าสุด เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2554 ที่หอประชุมอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวังสงขลา จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเรื่องการจัดทำผังเมืองรวมชุมชนระโนด ปรากฏพื้นที่สีม่วงในร่างผังเมืองรวมดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ตำบลท่าบอน
ที่มาบทความ http://www.deepsouthwatch.org/node/2244
ภาพจาก http://www.bangkok-today.com
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ