อย่างไรก็ตามปัญหาการเกษตรหลายปัญหาล้วนเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันและกัน ไม่อาจแก้ปัญหาใดปัญหาหนึ่ง เช่น แก้ปัญหาหนี้สินอย่างเดียว แต่ไม่ปฏิรูประบบการผลิตทางการเกษตรก็ไม่ได้ เพราะในที่สุดเกษตรกรแล้วก็จะตกอยู่ในวงจรหนี้สินอีกเนื่องจากต้นทุนการผลิต สูงแต่ขายได้ราคาต่ำ ต้องสูญเสียที่ดินทำกิน ฯลฯ เป็นต้น
ข้อเสนอต่อรัฐบาลใหม่ในการดำเนินการคือ
1. ปฏิรูปที่ดินและสร้างความเป็นธรรมในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของ เกษตรกรรายย่อยและชุมชนท้องถิ่น สิ่งที่ต้องดำเนินการคือ การจำกัดการถือครองที่ดินของผู้ประกอบการรายใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าของที่ดินรายใหญ่ กลุ่มทุนผูกขาด และบริษัทการเกษตรขนาดใหญ่ เพิ่มอัตราภาษีก้าวหน้าสำหรับผู้ถือครองที่ดินตั้งแต่ 50 ไร่ขึ้นไป และก่อนหรือระหว่างการปฏิรูปที่ดินต้องดำเนินการแก้ปัญหาการขึ้นค่าเช่า ที่ดินที่ไม่เป็นธรรมต่อเกษตรกรที่ไร้ที่ดินทำกินหรือมีไม่เพียงพอไปพร้อมๆ กันด้วย
2. พักชำระหนี้ทันทีให้กับเกษตรกรที่เปลี่ยนจากเกษตรทั่วไปมาเป็นเกษตรกรรม ยั่งยืน พร้อมเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 5-10 ปี ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ต้องปล่อยสินเชื่อปลอดดอกเบี้ยหรือดอกเบี้ยต่ำ แก่เกษตรกรที่ประสงค์จะปรับโครงสร้างการเกษตรมาเป็นเกษตรยั่งยืน (Green Credit) อย่างน้อยให้ได้ 25% ของยอดการปล่อยสินเชื่อทั้งหมด เนื่องจากปัญหาหนี้สินเกษตรกรมีต้นตอมาจากต้นทุนการผลิตสูงโดยเฉพาะปุ๋ย สารเคมี และเมล็ดพันธุ์ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 40% ของต้นทุนทั้งหมด
3. สำหรับการพัฒนาระบบชลประทานนั้น ต้องมุ่งพัฒนาระบบชลประทานในพื้นที่เกษตรน้ำฝน 109 ล้านไร่ก่อน โดยการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กและแหล่งน้ำระดับไร่นา ส่วนการพัฒนาพื้นที่ชลประทานในเขตพื้นที่ที่มีศักยภาพประมาณ 30 ล้านไร่ (ไม่นับพื้นที่ที่มีระบบชลประทานแล้ว 29 ล้านไร่) ต้องดำเนินการหลังการปฏิรูปที่ดิน ไม่เช่นนั้นจะเป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมในระบบให้มากยิ่ง ขึ้น และเป็นประโยชน์ต่อเจ้าของที่ดินรายใหญ่มากกว่าเกษตรกรรายย่อย พร้อมทั้งสนับสนุนการดำเนินการของชุมชนหรือกลุ่มชุมชนในการจัดระบบชลประทาน ของตนเอง และมีการบริหารน้ำเป็นของตนเอง
4. ปรับเปลี่ยนโครงการรับจำนำข้าวเป็นการสนับสนุนรายได้โดยตรงแก่เกษตรกร เพราะโครงการรับจำนำมีปัญหามากมาย เป็นภาระงบประมาณของรัฐ ทำลายกลไกการตลาด และเปิดโอกาสให้มีการคอรับชั่นโดยพ่อค้า โรงสี และนักการเมือง และหากดำเนินการเหมือนในอดีตจะยิ่งทำให้เกิดการเหลื่อมล้ำ และไม่ครอบคลุมเกษตรกรทั้งหมด สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือการ “ปฏิรูประบบการประกันรายได้” แต่ทำให้แตกต่างกับนโยบายของรัฐบาลที่แล้ว โดยการสร้างเงื่อนไขการสนับสนุนรายได้สำหรับเกษตรกรที่ลดต้นทุนการผลิตหรือ ทำฟาร์มแบบอนุรักษ์ ทำเกษตรกรรมยั่งยืนรูปแบบต่างๆ เพราะโดยวิธีนี้จะทำให้มีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ลดจำนวนเงินที่ต้องสูญเสียไปสำหรับการซื้อปุ๋ยและสารเคมีจากต่างประเทศ
5. ปฏิรูปเกษตรกรรมเพื่อรับมือวิกฤตอาหาร/พลังงาน การปฏิรูปเกษตรกรรมเป็นการดำเนินการทั้งระบบซึ่งรวมถึงข้อเสนอ 1-4 ที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่สิ่งที่ควรดำเนินการเพิ่มเติมคือ
5.1 ส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจชุมชนด้านพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ เพื่อลดปัญหาการผูกขาดพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ของระบบเกษตรกรรมไทย อีกทั้งเป็นหลักประกันเรื่องความมั่นคงทางอาหารในระยะยาวของประเทศ
5.2 ส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืนและเกษตรกรรมอินทรีย์โดยตั้งเป้าให้มีพื้นที่ ประมาณ 50% ของพื้นที่เกษตรกรรมของประเทศในทศวรรษหน้า
5.3 ส่งเสริมการแปรรูปวัตถุดิบเกษตรกรรมและอาหารโดยวิสาหกิจขนาดเล็ก ทั้งที่เป็นพืชหลักเช่น ยางพารา ปาล์ม มันสำปะหลัง และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพอย่างยั่งยืนโดยอาศัยภูมิปัญญาท้องถิ่น และนวัตกรรมจากหน่วยงานต่างๆ
5.4 เพิ่มสัดส่วนการบริโภคอาหารเองของเกษตรกรรายย่อยจากเฉลี่ย 30% เป็น 50% ของค่าใช้จ่ายด้านอาหาร
5.5 พัฒนาระบบตลาดในท้องถิ่น ตลาดเกษตรกร หุ้นส่วนการผลิตระหว่างเกษตรกรและผู้บริโภค (Community Supported Agriculture) และความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างเกษตรกรกับกรรมกร โดยการขายผลผลิตอาหารจากกลุ่มเกษตรกรและวิสาหกิจท้องถิ่นให้กับสหภาพแรงงาน หรือสหกรณ์ของผู้ใช้แรงงานในเขตอุตสาหกรรมในราคาที่ยุติธรรม
6. ยกระดับความปลอดภัยในระบบเกษตรและอาหาร เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมากเพราะสถานการณ์ปัญหาสารเคมีการเกษตรที่มีผล กระทบต่อสุขภาพของเกษตรกร การตกค้างในผลผลิตซึ่งกระทบต่อผู้บริโภคในประเทศ และตลาดต่างประเทศอยู่ในขั้นวิกฤติแล้ว สิ่งที่ต้องทำโดยเร่งด่วนคือ ต้องไม่อนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างน้อย 4 ชนิด (ได้แก่ คาร์โบฟูราน ไดโครโตฟอส เมโทมิล และอีพีเอ็น ) ที่หลายประเทศห้ามใช้แล้ว เข้มงวดการขึ้นทะเบียน การส่งเสริมการขาย การโฆษณา วัตถุอันตรายต่างๆอย่างเคร่งครัด
7. ดำเนินนโยบายการค้าการลงทุนระหว่างประเทศและการพัฒนาประชาคมเศรษฐกิจใน ภูมิภาคโดยให้ความสำคัญต่อความมั่นคงทางอาหาร การอยู่รอดของเกษตรกรรายย่อย และความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน-ประชาชนในภูมิภาค ตัวอย่างนโยบายที่เป็นรูปธรรมเช่น
7.1 ยุตินโยบายส่งเสริมการลงทุนของบรรษัทขนาดใหญ่ซึ่งสร้างความไม่เป็นธรรมใน กิจการที่เกี่ยวข้องกับเมล็ดพันธุ์ การเปิดเสรีการลงทุนทางการเกษตร และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่จะกระทบกับเกษตรกรรายย่อยและชุมชนท้องถิ่น ทั้งในกรอบการส่งเสริมการลงทุน และกรอบความตกลงการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ
7.2 เข้มงวดการนำเข้าสินค้าเกษตรผ่านแดน โดยควบคุมมาตรฐานเรื่องความปลอดภัยของอาหาร การปนเปื้อนทางพันธุกรรม ไปจนถึงการเข้ามาสวมสิทธิ์ในโครงการรับจำนำ เป็นต้น
7.3 เปิดโอกาสและส่งเสริมให้มีการค้าขายและแลกเปลี่ยนสินค้าของผู้ประกอบการขนาด เล็กอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม
7.4 ต้องไม่นำประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาและสินค้าที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ เป็นประเด็นต่อรองและแลกเปลี่ยนทางการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้การเจรจาเอฟทีเอระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป
ข้อเสนอนี้ นำเสนอจากวิธีคิดที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ความเป็นธรรมของเกษตรกรรายย่อย และความมั่นคงและอธิปไตยทางอาหาร
และข้อเสนอนี้ไม่อาจนำไปสู่การปฏิบัติได้เลย ถ้าปราศจากการรวมตัวกันอย่างเข้มแข็งของเกษตรกรในทุกระดับ การร่วมมือกันของขบวนการเกษตรกรขบวนต่างๆ และการสนับสนุนจากพลังทางสังคมอื่นๆ เช่น ผู้บริโภค ผู้ใช้แรงงาน ตลอดจนพันธมิตรที่อาศัยในเขตเมือง
ที่มาบทความ http://www.thaireform.in.th
ภาพ Greenpeace จาก ผู้จัดการออนไลน์ และบล็อค ok nation
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ