เขตทับซ้อนทางทะเลไทยและกัมพูชา

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี 10 ก.พ. 2555


 

เรื่องเขตทับซ้อนทางทะเลไม่ใช่เพิ่งเกิดเมื่อปี พ.ศ. 2544หลังการทำบันทึกความเข้าใจระหว่างไทยกับกัมพูชาในสมัยรัฐบาลของทักษิณ ชินวัตรแต่อย่างใด หากแต่มีที่มายาวนานกว่านั้นมากมายนักและประการสำคัญโอกาสที่จะปัจเจกบุคคล จะมีผลประโยชน์ส่วนตัวอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นการเฉพาะเจาะจงนั้นมีอยู่ไม่มาก นัก

 

               

 

พื้นที่ทับซ้อนกันทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา

 

เขตทับซ้อนทางทะเลเกิดขึ้นบนพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศและการประกาศ ไหล่ทวีปทางทะเลของแต่ละประเทศชายฝั่งเป็นสำคัญ ในทางกฎหมายนั้นเป็นไปตามอนุสัญญาเจนีวา ค.ศ.1958 และอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1982ที่มาของกฎหมายทางทะเลนั้นซับซ้อนยืดยาว พลเรือเอกถนอม เจริญลาภ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้ได้อธิบายหลักการง่ายๆคือ ให้สิทธิรัฐชายฝั่งได้ประกาศเขตไหล่ทวีปจากขอบนอกของทะเลอาณาเขตไปจนถึงแนว น้ำลึก 200เมตร ความจริงอ่าวไทยมีความลึกที่สุดแค่ 82เมตรและไม่ได้กว้างนัก จุดที่กว้างที่สุดแค่ 206ไมล์ทะเล ดังนั้นประเทศเพื่อนบ้านของไทยที่อยู่ชายฝั่งไม่ว่าจะเป็นกัมพูชา เวียดนาม และ มาเลเซีย ประกาศเขตไหล่ทวีปของเขาออกมาก็ย่อมทำให้เขตที่ประกาศนั้นทับซ้อนกัน    

 

 

พื้นที่ทางทะเลที่ไทยอ้างสิทธิ์

 

ประเทศไทยได้ประกาศทะเลอาณาเขต 12ไมล์ทะเลเมื่อปี พ.ศ. 2509(ค.ศ. 1966) และประกาศเขตไหล่ทวีปเมื่อปี พ.ศ.2516โดยการประกาศเช่นว่านั้นยึดเอาหลักเขตแดนทางบกระหว่างไทยและกัมพูชา หลักสุดท้ายคือหลัก 73ที่ตั้งอยู่ที่แหลมสารพัดพิษ จังหวัดตราด แล้วลากเป็นเส้นตรงจากละติจูดที่ 11 องศา 39ลิปดาเหนือตัดกับลองติจูด102องศา 55ลิปดาตะวันออก ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ไปยังจุดที่เส้นละติจูดที่ 9องศา 48 ลิปดา 5ฟิลิปดาเหนือตัดกับเส้นลองติจูด101องศา46 ลิปดา 5ฟิลิปดา ตะวันออก พิจารณาตามภูมิประเทศจริงคือ ลากจากหลักเขตสุดท้ายเฉียงตรงลงไประหว่างเกาะกูดกับเกาะกงเรื่อยไปจนถึงกลาง อ่าวไทยวกลงใต้ ไปชนกับที่สิ้นสุดเขตแดนทางบกไทย-มาเลเซีย และนอกจากนี้ในปี 2524ประเทศไทยประกาศเขตเศรษฐกิจจำเพาะ 200ไมล์ทะเลโดยวัดจากเส้นฐานของทะเลอาณาเขต

 

 

พื้นที่ทางทะเลที่กัมพูชาอ้างสิทธิ์

 

                ส่วนกัมพูชา นั้นประกาศเขตไหล่ทวีปก่อนประเทศไทยคือประกาศในปี พ.ศ. 2515 ด้วยวิธีเดียวกันคือ ลากจากหลักเขตทางบกหลักที่ 73แต่เส้นของกัมพูชานั้นลากเป็นเส้นตรงไปทางตะวันตกผ่านกึ่งกลางแล้วหักเข้า ฝั่งบริเวณชายแดนเวียดนามกัมพูชา

 

ผลจากการที่สองประเทศประกาศเขตไหล่ทวีปก็คือเกิดพื้นที่ทับซ้อนกันและมี ข้อถกเถียงเรื่องอำนาจอธิปไตยเหนือเกาะกูด ซึ่งจะได้พิจารณาที่ละประเด็นดังนี้

 

                1. ประเด็นปัญหาการอ้างอธิปไตยของกัมพูชาเหนือเกาะกูดนั้นเป็นที่ถกเถียงกันมา นาน สุรเกียรติ เสถียรไทย อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศอธิบายว่า แผนที่แนบท้ายการประกาศเขตไหล่ทวีปของกัมพูชานั้นไม่ได้ผ่ากลางเกาะกูดอย่าง ที่เข้าใจกัน แต่ขีดอ้อมด้านใต้เกาะกูดเป็นรูปตัวยู พลเรือเอกถนอม เจริญลาภ อธิบายว่า สนธิสัญญาสยามและฝรั่งเศสที่ทำกันตั้งแต่ปี ค.ศ. 1907ข้อ 2เขียนเอาไว้ชัดเจนแล้วว่า “รัฐบาลฝรั่งเศสยอมยกดินแดนเมืองด่านซ้ายแลเมืองตราดกับเกาะทั้งหลายซึ่ง อยู่ภายใต้แหลมสิงห์ลงไปจนถึงเกาะกูดนั้นให้แก่กรุงสยาม...” และการประกาศไหล่ทวีปนั้นโดยหลักกฎหมายแล้วคือการประกาศเขตที่อาศัยเส้นที่ ทอดไปตามพื้นท้องทะเลไปตามบริเวณใต้ทะเล  ดังนั้นไม่เกี่ยวกับเกาะในทะเล และแผนที่ประกอบการประกาศของกัมพูชานั้น พลเรือเอกถนอม อธิบายตรงกับสุรเกียรติว่า เส้นไหล่ทวีปของกัมพูชาจะมาหยุดตรงขอบเกาะกูดด้านตะวันออก แล้วเว้นไปเริ่มใหม่ที่ขอบเกาะกูดทิศตะวันตก ส่วนที่ว่างระหว่างตะวันออกกับตะวันตกนั้นกัมพูชาลากอ้อมลงไปทางทิศใต้ของ เกาะกูด และในแผนที่นี้เขียนไว้ชัดเจนว่า "Koh Kut (Siam)”แปลว่ากัมพูชายอมรับมาแต่ไหนแต่ไรแล้วว่า เกาะกูดนั้นอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของไทย ถ้าเช่นนั้นทำไมตอนประกาศเขตไหล่ทวีปจึงได้ลากเส้นผ่าเกาะกูด กัมพูชาอธิบายว่า เส้นเริ่มต้นเขตแดนทางบกตามสนธิสัญญาสยามฝรั่งเศสลงวันที่ 23มีนาคม ค.ศ. 1907ข้อ1ระบุว่าเส้นเขตแดนทางบกให้เริ่มจากชายฝั่งทะเลที่ตรงกันข้ามกับยอด ที่สูงที่สุดของเกาะกูดเป็นหลักแล้ว ตั้งแต่นี้ต่อไปถึงสันเขาพนมกระวาน ดังนั้นตีความตามตัวอักษรเขตแดนทางทะเลก็อาศัยเกาะกูดเป็นเกณฑ์เช่นกัน แต่ฝ่ายไทยเถียงว่าไม่ถูกต้องเพราะยอดสูงสุดของเกาะกูดไปถึงเขาพนมกระวาน เป็นแค่เส้นสมมติสำหรับการเริ่มต้นเส้นเขตแดนทางบก ไม่ใช่หลักการแบ่งเส้นเขตแดนทางทะเล พลเรือเอกถนอม และ สุรเกียรติ อธิบายตรงกันว่า ความจริงเรื่องนี้มีเหตุผลทางการเมืองภายในของกัมพูชาอยู่ แม้ว่าผู้นำตั้งแต่สมัยนายพล ลอนนอล จนถึงสมัย ฮุน เซน จะยอมรับว่าเกาะกูดเป็นของไทย แต่เกรงว่ากระแสการเมืองภายในจะทำให้รัฐบาลมีปัญหา จึงแสร้งประกาศอ้างสิทธิเอาไว้เฉยๆ ไม่ได้มีเจตนาจะยึดเอาจริงๆ สุรเกียรติ ได้เขียนเอาไว้ในหนังสือเรื่องกฎหมายและผลประโยชน์ของไทยในอ่าวไทยของเขา และทั้งเคยสนทนากับผู้เขียนในเรื่องนี้ว่า เพื่อตัดประเด็นปัญหาเรื่องเกาะกูดไป เพราะไหนๆกัมพูชาก็ยอมรับว่าเป็นของไทยแล้ว เขาเคยเสนอให้กัมพูชาเปลี่ยนเส้นที่อ้างไหล่ทวีปใหม่โดยการกดเส้นของกัมพูชา ให้ต่ำลงไปทางตะวันตกเฉียงใต้เล็กน้อยเพื่อให้พ้นเกาะกูดไปเลย ไม่ต้องทำเส้นอ้อมเพราะดูแล้วไม่ชอบด้วยเหตุผลและกฎหมายระหว่างประเทศเลย ทางฝ่ายกัมพูชารับว่าจะนำเรื่องนี้ไปพิจารณาหารือกับผู้นำของเขาก่อน แต่ยังไม่ได้ดำเนินการอะไร สุรเกียรติ พ้นหน้าที่ไปเสียก่อน ดังนั้นเส้นอ้างพื้นที่ไหล่ทวีปกัมพูชาในปัจจุบันก็ยังลากพุ่งตรงเข้าหาเกาะ กูดอ้อมลงใต้เกาะเล็กน้อยเป็นรูปตัวยูแล้ววกขึ้นไปเริ่มใหม่ทางตะวันตกพุ่ง ตรงไปยังกลางอ่าวไทยดังเดิม ในความเห็นของผู้เขียน การจะขอให้กัมพูชากดเส้นอ้างเขตไหล่ทวิปของเขาให้เอียงลงใต้เพื่อหลบเกาะกูด ไปเลยอาจจะไม่ง่ายนักเพราะจะทำให้เขาเสียพื้นที่อ้างสิทธิ์ไปไม่น้อยทีเดียว

 

                2. ปัญหาต่อมา ที่จะต้องพิจารณาสำหรับไทยและกัมพูชาคือ เมื่ออ้างเขตไหล่ทวีปทับซ้อนกันจะทำอย่างไร ความจริงสองประเทศรู้ปัญหาเรื่องนี้ตั้งแต่ก่อนการประกาศเขตไหล่ทวีปเสียอีก กล่าวคือปรากฏว่าเคยมีการหารือเรื่องนี้ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2513คิดแล้วเป็นเวลา 2-3ปี ก่อนที่สองประเทศจะประกาศเขตไหล่ทวีปของตัวเองเสียด้วยซ้ำไป แต่การเจรจาครั้งนั้นไม่เป็นผล หลังจากนั้นไทยและมาเลเซียได้ดำเนินการและประสบผลสำเร็จในการจัดการเขตทับ ซ้อนทางทะเลโดยการทำเป็นเขตพัฒนาร่วม (joint development area – JDA) ฝ่ายไทยตั้งแต่สมัยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัน ก็พยายามผลักดันให้ทำแบบเดียวกันกัมพูชาบ้าง แต่เนื่องจากสถานการณ์การเมืองภายในของกัมพูชาไม่เอื้ออำนวย แม้หลังจากการสิ้นสุดปัญหากัมพูชาแล้ว มีการเจรจาระหว่างไทยและกัมพูชาในปัญหานี้ช่วงปี 2537-2538ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ ล่วงเลยมากระทั่งสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย ครั้งที่สองคือประมาณปี 2543รัฐบาลได้ส่งพลเอกมงคล อัมพรพิศิษฎ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดไปหารือนอกรอบกับกัมพูชาเรื่องเขตทับซ้อนทางทะเลและนำ ไปสู่การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ที่ชะอำ เพชรบุรี เมื่อวันที่ 5ตุลาคม พ.ศ. 2543แต่ยังไม่ได้ดำเนินการอะไรรัฐบาลชวน2ก็หมดอายุไปเสียก่อน ดูเหมือนมีการเปิดเผยข้อมูล (ซึ่งก็ไม่ได้ลับอะไร) นี้กันในสภามาหลายครั้งแล้ว

 

                รัฐบาลภายใต้การนำของทักษิณ ชินวัตร เข้ามาในปี 2544ก็ดำเนินการสานต่อแนวทางที่รัฐบาลดำเนินการไว้มีการประชุมเจ้าหน้าที่ อาวุโสในเดือนเมษายน2544และสุดท้ายนำไปสู่การทำบันทึกความเข้าใจในวันที่ 18มิถุนายน 2544

 

ในบันทึกความเข้าใจนั้นกำหนดว่า รัฐบาลสองประเทศได้กำหนดพื้นที่อ้างสิทธิในเขตทับซ้อนทางทะเลที่จะต้องเจรจา เพื่อแบ่งเขตสำหรับทะเลอาณาเขตและเขตเศรษฐกิจจำเพาะในพื้นที่ซึ่งอยู่เหนือ เส้นละติจูด 11องศาเหนือขึ้นไปจนถึงเส้นที่กัมพูชาอ้างและส่วนที่อยู่ใต้เส้นนี้ลงไปก็ ให้ทำเป็นเขตพัฒนาร่วม

 

                คำถามสำคัญคือ ทำไมต้องเส้น11องศาเหนือ ทำไมไม่เอาต่ำกว่านั้น คำตอบคือเส้นนี้มาจากการประนีประนอมในการเจรจา กล่าวคือข้อเสนอเดิมของไทยนั้นให้กำหนดเขตไหล่ทวีปตั้งแต่หลักเขตที่ 73 ตรงแหลมสารพัดพิษไปจนบรรจบเส้นเขตแดนทางทะเลไทยเวียดนาม แล้วแบ่งกันเด็ดขาดไปเลยจะดีกว่า กัมพูชาเห็นว่าการเจรจาแบ่งเขตแบบเด็ดขาดนั้นคงใช้เวลานานมาก กัมพูชาอยากจะแสวงประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลก่อน จึงเสนอว่าทำเขตพัฒนาร่วมดีกว่า ก็เลยหาจุดประนีประนอมด้วยการเอาเส้นละติจูดดังกล่าวเป็นเกณฑ์ดังนั้นก็จะมี พื้นที่ 2ใน 3เป็นพื้นที่พัฒนาร่วมส่วนที่เหลืออีกหนึ่งส่วนให้แบ่งทะเลอาณาเขตและเขต เศรษฐกิจจำเพาะไปเลย ส่วนที่ว่าแบ่งแบบนี้แล้วเป็นธรรมหรือไม่ หรือใครจะได้ประโยชน์มากกว่าใคร คงจะเถียงกันได้เรื่อยๆ แต่ก็ยังไม่มีความพยายามที่จะขยับหรือเปลี่ยนแปลงเส้นแนวการแบ่งนับตั้งแต่ ตกลงกันเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

 

                หลังจากการลงนามในปี 2544แล้วทำอะไรกันบ้าง กัมพูชานั้นไม่สนใจการแบ่งเขตไหล่ทวีปเท่าใดนักเมื่อเปรียบเทียบกับความสนใจ ที่จะพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนร่วมกัน (อาจจะรู้ว่าพื้นที่เหนือเส้น 11องศาเหนือไม่มีทรัพยากรมากก็เป็นได้) เพราะต้องการขุดทรัพยากรมาใช้และขาย ซึ่งการขายนั้นคงจะขายให้ไทยเป็นหลักเพราะมีความต้องการมากกว่าด้วย ส่วนไทยนั้นก็อยากได้ทรัพยากรพอๆกับอยากจะแบ่งเขตทางทะเล ปัญหาที่เกิดตามมาคือจะแบ่งปันผลประโยชน์จากการพัฒนาร่วมอย่างไร สูตร 50:50ที่ไทยและมาเลเซียเคยใช้นั้นไม่เป็นธรรมเพราะปัจจุบันสองฝ่ายรู้แล้ว ว่าพื้นที่ซึ่งมีทรัพยากรนั้นไม่ได้อยู่ตรงกลาง มีบางส่วนชิดไปทางฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากกว่า ดังนั้นจึงมีการเสนอหลักการว่า ถ้าอยู่ใกล้ฝั่งใดให้ฝั่งนั้นได้ประโยชน์มากกว่าที่ผ่านมามีการเสนอสูตรใน การแบ่งผลประโยชน์หลายสูตรตั้งแต่ 60:40, 80:20หรือแม้แต่ 90:10 ก็มี แต่ทั้งหมดนั้นก็ยังไม่สามารถตกลงอะไรกันได้ ระหว่างที่ยังตกลงอะไรกันไม่ได้นั้น มีความเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในองค์ประกอบของคณะกรรมการร่วมคือ มีการเพิ่มคณะอนุกรรมการทางเทคนิค 3คณะ และในเดือนกุมภาพันธ์ 2548ฝ่ายไทยได้เปลี่ยนตัวประธานกรรมการ่วมจากรัฐมนตรีต่างประเทศเป็น รัฐมนตรีพลังงาน มีการส่งเอกสารไปมาระหว่างสองฝ่าย แต่ยังไม่มีการประชุมร่วมจนกระทั่งเกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลังการ รัฐประหารในเดือนกันยายน พ.ศ. 2549ความพยายามและการดำเนินการในเรื่องเขตทับซ้อนทางทะเลก็หยุดชะงักลง 

 

                  ฝ่ายไทยพยายามที่จะผลักดันให้มีการเจรจาเรื่องเขตทับซ้อนทางทะเลอีกครั้ง ในสมัยรัฐบาลของสมัคร สุนทรเวช โดยรัฐมนตรีต่างประเทศคือ นพดล ปัทมะ ในเวลานั้นพบกับ ซก อาน รองนายกรัฐมนตรีของกัมพูชา เมื่อเดือนมีนาคม 2551และเสนอให้มีการประชุมคณะทำงานและผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคเรื่องเขตทับ ซ้อนทางทะเล แต่ฝ่ายกัมพูชาตอบว่ายังไม่สะดวกที่จะประชุม เหตุแห่งความไม่สะดวกของกัมพูชาในสมัยนั้นพอเข้าใจได้ ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะไม่มั่นใจในสถานการณ์ทางการเมืองของไทย อาจจะเล็งเห็นว่ารัฐบาลสมัครไม่สามารถดำเนินการตามที่ตกลงได้เช่นเดียวกับ กรณีการสนับสนุนให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก  ที่สุดก็ต้องถูกบังคับให้ถอนการสนับสนุนนั้นไป

 

                ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ เวชชาชีวะ มีความพยามยามจะดำเนินการต่อในการพบปะระหว่างนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีต่างประเทศในสมัยนั้นและนายฮอร์ นัมฮง รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา เมื่อเดือนมกราคม 2552เห็นพ้องกันว่าควรมีการประชุมเรื่องเขตทับซ้อน ทางฝ่ายไทยจึงมาเสนอคณะรัฐมนตรีตั้งสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงเป็นประธานฝ่ายไทยเพื่อดำเนินการ สุเทพ ไม่ประสบความสำเร็จในการดำเนินการให้เปิดการประชุมทั้งสองฝ่ายได้ สุเทพ พร้อมด้วย ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีกลาโหม พบ นายกรัฐมนตรี ฮุน เซน เมื่อเดือนมิถุนายน 2552ที่จังหวัดกันดาลแต่ตอนนั้น ซก อาน ไม่อยู่ ก็ไม่ได้คุยเรื่องนี้กัน สุเทพ ไปขอพบซก อาน ครั้งหนึ่งเมือเดือนสิงหาคม 2552ที่ฮ่องกง ทาบทามให้ซก อาน มาเยือนประเทศไทยเพื่อหารือเรื่องต่างๆรวมทั้งเรื่องเขตทับซ้อนทางทะเล แต่ซก อาน ยังไม่ตอบรับ ปรากฏว่าเกิดปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ เพราะกัมพูชาตั้งให้ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวนายกรัฐมนตรี ฮุน เซนและที่ปรึกษารัฐบาลกัมพูชา ซึ่งเป็นเหตุให้รัฐบาลอภิสิทธิ์โกรธจัดจนต้องประกาศลดระดับความสัมพันธ์ เรียกทูตกลับ และ เมื่อรัฐบาลกัมพูชาท้าทายด้วยการเชิญทักษิณไปเยือนและปฏิเสธการส่งตัวทักษิณ ตามคำขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน รัฐบาลอภิสิทธิ์จึงตอบโต้ด้วยการประกาศตัดความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและยก เลิกเอ็ม.โอ.ยู.เขตทับซ้อนทางทะเลที่ลงนามกันในปี 2544

 

         อย่างไรก็ตามฉายา “ดีแต่พูด” ของรัฐบาลอภิสิทธิ์ นั้นไม่ได้มาด้วยความบังเอิญ อภิสิทธิ์เพียงประกาศออกไปเฉยๆ คณะรัฐมนตรีของเขาเห็นชอบที่จะยกเลิก เอ็ม.โอ.ยู.ดังกล่าวนั้นในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2552 แต่การดำเนินการในการยกเลิกหนังสือสัญญากับต่างประเทศนั้นมีขั้นตอนมากกว่า นี้ ประการสำคัญคือต้องมีการบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังคู่กรณีและคำบอกเลิกนั้นจะ มีผล 12เดือนหลังจากการบอกเลิก แต่รัฐบาลอภิสิทธิ์ ไม่ได้ดำเนินการ อีกทั้งปรากฏว่าสุเทพได้ไปพบกับซกอานอีกครั้งในเดือนกรกฎาคม 2553ในเรื่องนี้อีก ซึ่งนั่นก็เป็นการส่งสัญญาณที่สับสนเกี่ยวกับเรื่องนี้อีก

               

         แต่ในเมื่อบันทึกความเข้าใจปี 2544ยังมีผลบังคับใช้อยู่ การดำเนินการใดๆที่ผ่านมาก็ยังถือว่ามีผลผูกพันอยู่ตามนั้น เป็นภาระหน้าที่ของรัฐบาลใหม่ที่จะต้องดำเนินการต่อไป ความสงสัยในเรื่องผล ประโยชน์ทับซ้อนของผู้ที่เกี่ยวข้องหรือพยายามจะเข้ามาเกี่ยวข้องนั้น ควรจะได้รับการพิสูจน์ด้วยว่ามีอยู่หรือไม่มีอยู่เพียงใด ทั้งผู้ที่กล่าวหาและผู้ที่ถูกกล่าวหาไม่ควรจะทำเรื่องนี้ให้คลุมเครือ สำหรับฝ่ายที่ต้องดำเนินการนั้น การประชุมทุกครั้งควรแถลงผลการดำเนินงานให้สาธารณชนทราบอย่างกระจ่างแจ้งว่า เป็นอย่างไร ส่วนฝ่ายผู้กล่าวหาก็ชอบที่จะแสดงพยานหลักฐานให้เห็นเป็นประจักษ์ว่าใครได้ ผลประโยชน์อะไร อย่างไร ลำพังการยกเหตุแห่งความสงสัยของตนขึ้นมากล่าวนั้นไม่ช่วยให้การดำเนินการใดๆ มีความคืบหน้าได้ หากตรงกันข้ามจะกลายเป็นอุปสรรคถ่วงมิให้การดำเนินการในเรื่องนี้เดินต่อไป ได้เลย ประเทศเพื่อนบ้านที่จะต้องเจรจาตกลงกับไทยในกรณีนี้ ก็จะพลอยเกิดความอิดหนาระอาใจกับความไม่ลงตัวของการเมืองไทย แล้วพาลไม่อยากจะร่วมมือใดๆกับประเทศไทยอีก ก็จะเกิดความเสียหายมากกว่าจะได้ประโยชน์

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: