ในวันที่ 15มิถุนายน ปี ค.ศ. 1962หรือ พ.ศ. 2505ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือ บางตำราเรียกว่า ศาลโลกใหม่ ได้ตัดสินโดยคะแนนเสียงเก้าต่อสาม ลงความเห็นว่า ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในอาณาเขตภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา
โดยเหตุนี้จึงพิพากษา โดยคะแนนเสียงเก้าต่อสาม ว่า ประเทศไทยมีพันธะที่จะต้องถอนกำลังทหารหรือตำรวจ ผู้เฝ้ารักษาหรือผู้ดูแลซึ่งประเทศไทยส่งไปประจำอยู่ที่ปราสาทพระวิหารหรือ ในบริเวณใกล้เคียงบนอาณาเขตของกัมพูชา
โดยคะแนนเสียง เจ็ดต่อห้า ว่าประเทศไทยมีพันธะที่จะต้องคืนให้แก่กัมพูชา บรรดาวัตถุชนิดที่ได้ระบุไว้ในคำแถลงสรุปข้อห้าของกัมพูชา ซึ่งเจ้าหน้าที่ไทยอาจจะได้โยกย้ายออกไปจากปราสาทหรือบริเวณพระวิหาร นับแต่วันที่ประเทศไทยเข้าครอบครองพระวิหาร เมื่อ ค.ศ. 1954(ถ้อยคำในคำพิพากษาเป็นสำนวนแปลของ กระทรวงการต่างประเทศของไทย)
เมื่อได้ทราบคำพิพากษาดังนั้นแล้ว ประเทศไทยในฐานะผู้ถูกฟ้องก็มีพันธะที่จะต้องปฏิบัติตาม ความจริงก็มีการถกเถียงกันอยู่ในเวลานั้นแล้วว่าจะไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา ของศาลด้วยเห็นว่าไม่เป็นธรรม แต่เมื่อคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาในวันที่ 26มิถุนายน พ.ศ. 2505โดยรับฟังความเห็นของศาสตราจารย์ ฮังรี โรแลง ทนายความฝ่ายไทย ซึ่งบอกว่าศาลผิดที่วินิจฉัยว่า “เส้นเขตแดนที่ลากไว้บนแผนที่ภาคผนวก 1นั้นย่อมนำมาใช้แทนเส้นเขตแดนตามสนธิสัญญาได้ แต่คำพิพากษานี้ได้เขียนอย่างระมัดระวังและไม่มีอะไรแสดงว่าไม่เที่ยงธรรม”
“การปฏิเสธไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาจะนำไปสู่ความยุ่งยากอย่างร้ายแรง”
ข้อที่น่าสังเกตสำหรับความเห็นทนายฝ่ายไทยคือ ดูเหมือนจะเข้าใจว่า ศาลได้ยึดถือเอาเส้นเขตแดนที่ลากตามแผนที่ภาคผนวกที่ 1 (ระวางดงรัก มาตราส่วน 1:200,000) เป็นพื้นฐานสำคัญในการตัดสินคดี และทนายความฝ่ายไทยก็เห็นตั้งแต่ต้นแล้วว่า พฤติกรรมของประเทศไทยในอดีตต่อแผนที่ดังกล่าว เป็นจุดอ่อนที่สุดในการต่อสู้คดี
ประเด็นนี้ดูเหมือนเป็นการยอมรับกลายๆแล้วว่า เรื่องเขตแดนนั้นแยกกันไม่ออกเลยจากคำพิพากษา ซึ่งต่างจากความเห็นของนักกฎหมายไทยส่วนใหญ่ที่ว่า ศาลไม่ได้พิจารณาเส้นเขตแดนเลย จริงอยู่ศาลไม่ได้ตัดสินเรื่องเส้นเขตแดน ก็เนื่องจากไม่ได้ขอกันเช่นนั้น แต่จะว่าศาลละเลยนั้น ไม่ใช่แน่
อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญสำหรับประเทศที่จะต้องพิจารณาในเวลานั้นคือ เมื่อการปฏิเสธทำไม่ได้ จะปฏิบัติอย่างไรให้สอดคล้องกับคำพิพากษาของศาล
คณะรัฐมนตรีในวันที่ 26 มิถุนายนพ.ศ. 2505 ได้มีแนวทางปฏิบัติดังนี้
1ตัวพระวิหารอยู่ในแดนเขมร เราไม่พูดถึง แต่เรายินดีปฏิบัติตามกฎบัตรสหประชาชาติ ข้อ 94
2เรื่องการถอนทหารตำรวจ เราก็ถอนออก แต่ตามจริงอยู่ที่เดิม โดยถือว่าอยู่นอกแนวแล้ว
3ขั้นต่อไปที่เขมรจะเข้ามายึดครองจึงจะเกิดปัญหาบริเวณ การเจรจาก็ไม่มีต่อกัน
4สิ่งของก็มีแต่ขึ้นเลว เขาทวงมาก็คืนไป
วิธีปฏิบัตินั้นนายกรัฐมนตรีในเวลานั้นจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทยเสนอแนวทางในการปฏิบัติ ซึ่งรัฐมนตรีมหาดไทยในเวลานั้น ได้เสนอวิธีปฏิบัติโดยยึดหลักการที่ว่า “จะให้กัมพูชาได้ไปซึ่ง(ซาก)ทรากปราสาทและพื้นที่รองรับปราสาทเท่านั้น”
รัฐมนตรีมหาดไทยเสนอ 2 แนวทางคือ ทางแรกทำเป็นรูปสามเหลี่ยมครอบปราสาทและทางที่สอง ทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าครอบปราสาทพระวิหาร
ทั้งนี้ รัฐมนตรีมหาดไทย ไม่ได้เหตุผลประกอบว่า ทางเลือกแต่ละทางนั้นยืนอยู่บนหลักวิชาการใด หากแต่ได้คำนวณพื้นที่ว่าถ้าเป็นแบบสามเหลี่ยมจะคิดเป็นพื้นที่ของปราสาท ½ตารางกิโลเมตร แต่ถ้าเป็นพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้าจะเป็นพื้นที่ ¼ตารางกิโลเมตร
พิจารณาแล้วคณะรัฐมนตรีลงความเห็นในวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 ให้เลือกวิธีที่ 2 คือแบบสี่เหลี่ยม ผู้เขียนเข้าใจว่า คงเป็นเพราะเห็นว่าเสียพื้นที่น้อยกว่า
วิธีที่สองดังกล่าวนั้นบอกว่า กำหนดเป็นรูปพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้าครอบปราสาทพระวิหาร มีแนวเขตจากปีกขวาของตัวปราสาทพระวิหารตั้งแต่ช่องบันไดหัก (ช่องบันไดหักอยู่ภายในบริเวณปราสาทพระวิหาร) ลากเส้นตรงชิดผ่านบันไดนาคตรงไปจนถึงตัวปราสาทพระวิหาร แล้วลากเส้นตรงขนานกับตัวปราสาทพระวิหารไปสุดที่หน้าผาชันด้านหลังปราสาทพระ วิหาร จนเป็นเนื้อที่บริเวณปราสาทพระวิหารประมาณ ¼ ตารางกิโลเมตร
อนึ่ง ได้จัดทำป้ายไม้ ลักษณะและขนาดเท่าป้ายสถานีรถไฟ แสดงเขตบริเวณปราสาทพระวิหารไปปักตามจุดที่ช่องบันไดหัก 1บันไดนาค 1ที่มุมปราสาทปีกซ้าย 1และที่หน้าผาหลังปราสาทอีก 1
ป้ายที่หันมาทางประเทศไทยให้เขียนว่า “เขตปราสาทพระวิหาร”และมีภาษาอังกฤษกำกับ ส่วนด้านที่หันไปทางกัมพูชาเขียนข้อความเป็นภาษากัมพูชาว่า “เขตนอกบริเวณปราสาทพระวิหาร”และมีภาษาฝรั่งเศสกำกับด้วย
ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นแนวและวิธีการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลยุติธรรม ระหว่างประเทศสืบมานับแต่นั้นบัดนี้เป็นเวลาได้ 49ปีแล้ว และควรบันทึกไว้ด้วยว่า เส้นขอบเขตของพื้นที่ดังกล่าวนั้น ฝ่ายไทยไม่ถือว่าเป็นเส้นเขตแดนหากถือว่าเป็นแนวปฏิบัติเฉยๆ และแนวดังกล่าวนี้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้อภิปรายเอาไว้ในสภาผู้แทนราษฎรในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในตอนที่เปิดอภิปราย ไม่ไว้วางใจ นพดล ปัทมะ รัฐมนตรีต่างประเทศ ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2551ว่า “กัมพูชาก็ไม่ได้ยอมรับ”ว่าเส้นดังกล่าวเป็นเส้นเขตแดนระหว่างประเทศ
ปัญหาที่เกิดขึ้นในเวลานี้คือ กัมพูชาไม่เพียงไม่ยอมรับว่า นี่เป็นเส้นเขตแดน แต่ยังไม่ยอมรับมันในฐานะที่เป็นขอบเขตของปราสาทด้วย
กัมพูชาตีความคำพิพากษาศาลโลกแตกต่างจากไทยโดยสิ้นเชิง กัมพูชาเห็นว่า เส้นเขตแดนที่ปรากฏตามแผนที่ (ภาคผนวก1) ซึ่งศาลได้อ้างถึงในหน้า 21 ของคำพิพากษานั้น เป็นแผนที่ซึ่งศาลได้พบว่า อำนาจอธิปไตยของกัมพูชาเหนือตัวปราสาทนั้น ก็เป็นผลโดยตรงจากการที่กัมพูชาได้มีอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนซึ่งตัวปราสาท นั้นตั้งอยู่
อธิบายตามภาษาทั่วๆไปให้เข้าใจง่ายคือ เมื่อศาลพิพากษาว่า ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในอาณาเขตภายใต้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชา ศาลย่อมทราบดีแล้วว่า เส้นแบ่งระหว่างไทยและกัมพูชาอยู่ที่ใด ซึ่งในที่นี้ ตามเหตุผลที่ศาลได้ให้ไว้ในตัวคำพิพากษา ย่อมเป็นไปตามแผนที่ภาคผนวก 1ท่าทีของไทยเกี่ยวกับการปฏิเสธแผนที่ดังกล่าวไม่มีมูลฐานทางกฎหมายใดรองรับ ด้วยว่าพฤติกรรมของประเทศไทยในอดีตนั้นได้ยอมรับแผนที่ดังกล่าวว่าเป็น เอกสารที่ได้บ่งชี้เส้นเขตแดนไปแล้ว ดังที่รู้กันดีทั่วไปในนามของกฎหมายปิดปาก (Estoppel)
ดังนั้นพื้นที่รอบๆตัวปราสาทพระวิหาร ไม่ว่าจะใกล้หรือไกลเพียงใด ตราบเท่าที่มันอยู่อีกด้านหนึ่งของเส้นในฝั่งกัมพูชา ย่อมอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชาตามนัยของคำพิพากษา การปฏิบัติของไทยในปี พ.ศ. 2505 ด้วยการกำหนดขอบเขตของปราสาทพระวิหารให้เช่นนั้น จึงไม่ต้องด้วยคำพิพากษา
ในวันที่ 28 เมษายน 2554ประเทศกัมพูชาจึงได้ใช้สิทธิตามมาตรา 60ของธรรมนูญศาลยุติธรรม ขอให้ศาลได้วินิจฉัยขอบเขตและความหมายของคำพิพากษา ว่า ตามบทปฏิบัติการข้อ 2เกี่ยวกับพันธะของไทยที่จะต้องถอนทหารและเจ้าหน้าที่จากปราสาทพระวิหารหรือ ในบริเวณใกล้เคียงในอาณาเขตของกัมพูชานั้นมีความหมายว่าอย่างไร กินขอบเขตถึงไหน พูดด้วยภาษาง่ายๆคือ ตัวปราสาทนั้นไม่เป็นปัญหา ไทยไม่ได้โต้แย้งอะไรแล้ว แต่บริเวณใกล้เคียงหรือ ภาษา อังกฤษ เขียนว่า vicinity ตามคำพิพากษานั้นอยู่ที่ไหน กว้าง ยาว เพียงใด
ในการโต้แย้งในศาล เมื่อวันที่ 30-31 พฤษภาคม 2554ที่วังสันติภาพ กรุงเฮก ฝ่ายไทยพยายามโต้แย้งว่า คำขอของกัมพูชาได้ก้าวล่วงไปในเรื่องเส้นเขตแดน ซึ่งถือว่าอยู่นอกขอบเขตของคำพิพากษา ด้วยว่าในปี 2505นั้นศาลมิได้พิพากษาเส้นเขตแดน ดังนั้นศาลไม่น่าจะมีอำนาจพิจารณาเรื่องนี้ และการปฏิบัติของไทยในปี 2505นั้นต้องด้วยคำพิพากษาแล้ว และกัมพูชาก็ให้การยอมรับโดยไม่ได้โต้แย้งมาเป็นเวลาถึง 40 ปี ก่อนที่จะมีการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างเช่นวัดแก้วสิกขาคิริสวาราในภายหลัง
กัมพูชาโต้แย้งอีกว่า กัมพูชาไม่เคยยอมรับ อย่าเอากฎหมายปิดปากมาใช้ในกรณีนี้ จะเอาเหตุการณ์ที่สมเด็จนโรดม สีหนุ ทรงปืนขึ้นปราสาทตามช่องบันไดหักเปรียบเทียบกับการเสด็จเยือนปราสาทพระวิหาร ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ มาเป็นข้ออ้างเพื่อปิดปากคงไม่ได้
ขณะนี้ศาลกำลังพิจารณาคำขอมาตรการชั่วคราวเพื่อให้ไทยถอนทหารจากพื้นที่ พิพาท งดเว้นกิจกรรมทางทหารในบริเวณดังกล่าว และ งดเว้นการกระทำใดๆอันจะเป็นการละเมิดสิทธิกัมพูชา
ยังไม่ทราบว่าคำสั่งศาลจะออกมาในรูปใด แต่ถ้าหากศาลยอมให้ตามคำขอของกัมพูชา มีแนวโน้มเป็นไปได้มากว่า ศาลจะเห็นด้วยกับการตีความคำพิพากษาปี 2505ของกัมพูชาด้วย
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ