ผู้ที่น่าจะร้อนตัวมากที่สุดเวลานี้ น่าจะได้แก่ ฝ่ายผู้ทำรัฐประหาร ฝ่ายระบอบทักษิณ และฝ่ายตุลาการ แต่หากสำรวจรอยปะทะที่ผ่านมา ตัวละครเอกกลับเป็นนักการเมืองและประชาชน ซึ่งนอกจากขาประจำยังรวมถึงนักกฎหมายระดับอดีตอธิการบดีไปถึงอธิการบดีและ นักศึกษารุ่นใหม่ไฟแรง มีทั้งสภาทนายความและทนายความในสภา ไม่เว้นแต่พนักงานสอบสวนและพระคุณเจ้าในวัด นักการเมืองเองก็ยึดมาตรฐานคงที่ คือ ฟังแล้วเจ็บแต่จับใจความได้ไม่เกินครึ่งบรรทัดว่า ไม่เอาทักษิณ หรือ ไม่เอารัฐประหาร และไม่มีอะไรลึกซึ้งไปกว่านั้น (ผู้สนใจโปรดดูตัวอย่างความเห็นที่ http://on.fb.me/qnvM3F)
เมื่อฝุ่นเริ่มจางหลังน้ำลายแตกฟองไปพักหนึ่ง ผู้เขียนพึงฉายคำเตือน ๓ ประการเพื่อต่อยอดความคิดที่ใหญ่และใกล้เสียจนอาจมองไม่ออก ดังนี้
เตือนข้อที่ ๑: ผู้ไม่เห็นด้วยกับนิติราษฎร์ไม่จำเป็นต้องเกลียดทักษิณทักษิณต่างหากที่จะเกลียดนิติราษฎร์
การถกเถียงแทบทั้งหมดที่ผ่านมา เป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายที่ปฏิเสธ “ลัทธิรัฐประหาร”กับอีกฝ่ายที่เกลียดชัง “ระบอบทักษิณ” ที่จำใจยอมรับ “ลัทธิรัฐประหาร”เพื่อโค่น “ระบอบทักษิณ” เพราะฝ่ายตนมองว่า “ระบอบทักษิณ” เป็นภัยต่อประชาธิปไตยไทยยิ่งกว่า “ลัทธิรัฐประหาร”เสียอีก
ในบทความนี้ผู้เขียนไม่จำเป็นต้องตัดสินว่าอะไรชั่วร้ายกว่าอะไร แต่สมมติ (arguendo) ว่าหาก “ระบอบทักษิณ”ชั่วร้ายจริง “ระบอบทักษิณ”ย่อมไม่ต้องการให้ข้อเสนอของนิติราษฎร์เกิดขึ้น เพราะหากล้างผลคำพิพากษาจาก “ลัทธิรัฐประหาร”(ซึ่งวันนี้ “ระบอบทักษิณ”อ้างได้เต็มปากว่าไม่ชอบธรรมหรือเป็นเผด็จการ ฯลฯ)แล้วไซร้ ข้อเสนอนิติราษฎร์ก็จะนำภัยมาสู่ “ระบอบทักษิณ”ที่ร้ายแรงยิ่งขึ้นไปอีก
กล่าวคือ นิติราษฎร์เสนอให้ล้มล้างระบอบคำพิพากษาที่รับลัทธิรัฐประหาร และกล่าวในแถลงการณ์ ข้อ ๕ ว่า “หากจะเริ่มดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าวใหม่ก็สามารถกระทำไปตามกระบวนการทางกฎหมายปกติได้”
แม้นิติราษฎร์ใช้ถ้อยคำหลวมซึ่งฟังเหมือนจะทำหรือไม่ทำก็ได้ แต่การประกันว่า “ระบอบทักษิณ”จะต้องถูกตรวจสอบว่าผิดหรือไม่อีกรอบนั้น นอกจากจะควรถูกบังคับตามกฎหมายแล้ว ยังเป็นเงื่อนไขบังคับทางข้อเท็จจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ กล่าวคือ หากไม่สามารถวางหลักประกันดังกล่าว กลุ่มอำนาจที่ต้าน “ระบอบทักษิณ”ก็จะไม่มีทางยอมให้ล้าง “ลัทธิรัฐประหาร” ได้ ซึ่งผู้เขียนก็ไม่เห็นว่าการประกันดังกล่าวจะเป็นปัญหาต่อนิติราษฎร์และผู้ ไม่เอา “ลัทธิรัฐประหาร”แต่อย่างใด คือ สมประโยชน์ทั้งสองฝ่าย
ผลที่ตามมาก็คือ “ระบอบทักษิณ”จะถูกบังคับให้กลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในยามปกติ และหาก “ระบอบทักษิณ”(ที่เชื่อกันว่าชั่วร้ายอย่างชัดแจ้ง) ได้ถูกตัดสินว่าผิดซ้ำอีกรอบ ย่อมเป็นการปิดฝาโลง “ระบอบทักษิณ”ถาวรว่าไม่ต้องมาอ้างอีกแล้วว่าถูกกลั่นแกล้ง ไม่ต้องมาอ้างอีกแล้วว่าจะไม่รับโทษเพราะคำพิพากษาที่ไม่ยุติธรรม ฯลฯ
ในทางตรงกันข้าม หากไม่มีข้อเสนอนิติราษฎร์ หนทางสู่ “การนิรโทษกรรม” ในคราบการปรองดองที่ปลอกและดองกติกาด้วยอำนาจในสภาของ “ระบอบทักษิณ”ก็จะคล่องสะดวก โดยอาจใช้วิธีนิรโทษกรรม “ระบอบทักษิณ”ผู้ถูกกระทำ พร้อมประกันว่า ผู้กระทำ “ลัทธิรัฐประหาร”(คมช. คตส. ฯลฯ)ก็ไม่ต้องรับผิดดังเดิม กล่าวคือ เข้าสู่ระบอบ “เกี้ยเซี้ย”ระหว่างที่ผู้มีอำนาจไม่ว่าฝ่ายไหนก็ไม่ผิด หรือยิ่งกว่านั้นคือ “ระบอบทักษิณ”ล่อให้รัฐประหารอีกรอบโดยรอสวนหมัดล้มอำนาจเสี้ยนหนามให้เด็ด ขาด ส่วนประชาชนที่ล้มตายจากการชุมนุม หรือที่อดอยากจากการโกงกิน ก็แค่ไปเลือกตั้งใหม่ครั้งต่อไปตามที่เทวดาท่านใคร่ให้ไปเวียนว่ายในนรกตาม เดิม
ดังนั้น ประชาชนคนไทย โดยเฉพาะผู้ที่ต่อต้าน “ระบอบทักษิณ” จึงพึงพิเคราะห์ให้ดีว่า การที่คุณทักษิณและคนใกล้ตัวกลับเงียบและไม่ออกมาเห็นดีเห็นงามกับนิติ ราษฎร์นั้นเพราะอะไร และผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับนิติราษฎร์ไม่จำเป็นต้องเกลียดทักษิณ แต่ทักษิณต่างหากที่อาจจะเกลียดนิติราษฎร์เป็นที่สุด!
เตือนข้อที่ ๒: ผู้ไม่เห็นด้วยกับนิติราษฎร์ไม่ได้แปลว่ายอมรับรัฐประหารเสมอไป
ข้อเสนอกลุ่มนิติราษฎร์มีลักษณะกล้าหาญและน่านับถือ และถูกต้องแล้วที่ทางนิติราษฎร์กล่าวว่าเป็นข้อเสนอเชิงหลักการให้นำไปถก เถียงกันต่อ แต่พึงระวังว่าผู้ใดจะเห็นด้วยกับนิติราษฎร์โดยทันทีหรือไม่นั้น โดยตรรกะแล้วไม่ได้ตัดสินว่าผู้นั้นเห็นด้วยกับการรัฐประหารหรือไม่
ที่ผ่านมามีผู้สนับสนุนกลุ่มนิติราษฎร์ปล่อยคำทำนองว่า หากท่านไม่เห็นด้วยกับเรา ก็แสดงว่าท่านเห็นด้วยกับรัฐประหาร ซึ่งนอกจากจะเป็นตรรกะที่ผิดเพี้ยนแล้ว ยังเป็นการด่วนสรุปให้ร้ายทางความคิดที่ขาดความเยือกเย็นทางวิชาการ ซ้ำยังส่งผลร้ายแบ่งฝ่ายว่าการต่อสู้กับ “ลัทธิรัฐประหาร” จะมีเฉพาะฝ่ายเห็นด้วย กับฝ่ายไม่เห็นด้วยกับนิติราษฎร์ ซึ่งอาจเป็นการทำลายพันธมิตรจำเป็นของนิติราษฎร์เสียเอง
หากจะอธิบายตรรกะให้ชัด ก็ขอยกตรรกะของสมาชิกกลุ่มนิติราษฎร์ท่านหนึ่งที่กล่าวในการแถลงว่า ตนนั้นแม้จะไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร แต่ในคืนวันที่ ๑๙ กันยายน ตนก็มิได้ออกไปต่อสู้กับรถถัง เพราะรู้ว่าสู้ตอนนั้นย่อมสู้ไม่ได้ แต่บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่ต้องแก้สิ่งที่ผิดให้กลับมาถูก ซึ่งผู้เขียนก็เห็นด้วยกับตรรกะดังกล่าว คือ การต่อสู้ใดๆ ไม่ได้อยู่แค่ที่หลักการ แต่ต้องอยู่ที่จังหวะและโอกาส การยอมจำนนใน “สนามรบ” เพื่อเก็บโอกาสไปชนะใน “สงคราม”ไม่ใช่เรื่องแปลก
ฉันใดก็ฉันนั้น ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับนิติราษฎร์ทันที ไม่ใช่ว่าไม่ต้องการสู้ “สงคราม” เดียวกันเคียงข้างนิติราษฎร์ เพียงแต่อาจยังไม่แน่ใจใน “สนามรบ”เฉพาะหน้า ว่าสบโอกาสให้ชนะ “สงคราม”ได้หรือไม่ เช่น
- หลักประกันการตรวจสอบ “ระบอบทักษิณ”หลังการลบล้างคำพิพากษานั้น มั่นคงชัดเจนเพียงใดที่จะไม่กลายเป็นช่องโอกาสในการล้างผิดหรือลอยนวลอันอาจ นำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงอีกรอบ?
- จังหวะเวลาของกระบวนการปรองดองที่เน้นการค้นหาความจริงและเยียวยาผู้เสียหายที่ดำเนินการอยู่นั้น จะถูกกระทบหรือไม่อย่างไร?
- ขุมพลังทางอำนาจและปัญญาอันจำเป็นต่อการปฏิรูปสถาบันทหารและสถาบันตุลาการ นั้นมีเพียงพอแล้วหรือไม่ และเสี่ยงต่อการถูกตอบโต้ (backlash) โดยสถาบันตัวแทนอำนาจเหล่านี้หรือไม่อย่างไร?
- แม้ผู้เขียนจะไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์หรือนักประวัติศาสตร์ แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่าเงื่อนไขและจังหวะในการเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย เพื่อล้าง “ลัทธิรัฐประหาร” นี้ สอดรับกับปัญหาเศรษฐกิจโลกหรือการสืบราชบัลลังก์หรือไม่อย่างไร?
ฯลฯ
กล่าวอีกทางก็คือ ข้อเสนอนี้สุกงอมด้วย สาระ วาระและโอกาสเพียงใดที่จะไม่ถูกฉวยไปใช้เป็นดาบสองคมที่ทิ่มแทงทหารกล้าผู้ ตีดาบขึ้นเสียเอง!
ผู้สนับสนุนนิติราษฎร์โปรดมีกำลังใจเถิดว่า ยังมีประชาชนอีกมากที่ไม่ยอมรับ “ลัทธิรัฐประหาร” และพร้อมจะสู้สงครามเคียงข้างท่านเพื่อทำลายกรงขังทางความคิด แต่กรงนี้ไม่ได้มีเพียงชั้นเดียว และประตูกรงก็อาจมีหลายประตู หากรีบออกผิดช่อง ก็อาจไปติดในอีกชั้นที่ออกยากขึ้น
ดังนั้น ประชาชนคนไทยที่ประสงค์ร่วมสงครามสู้กับ “ลัทธิรัฐประหาร” จึงควรจัดเรียงภารกิจใหม่ว่า “สนามรบ” ที่สำคัญอย่างน้อยในสองสามปีข้างหน้า (ซึ่งอาจพ้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปแล้ว)คือการประคับประคองขัดเกลาข้อเสนอนิติ ราษฎร์ให้ตกผลึกและรอบด้านยิ่งขึ้น มีพันธมิตรยิ่งขึ้น และผู้ที่ต่อต้าน “ลัทธิรัฐประหาร” เองจะต้องไม่กลายมาเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการดังกล่าว ไม่ว่าโดยการตะเบ็งน้ำเสียงแห่งเหตุผลจนอู้อี้และเหือดแห้ง หรือโดยความถือตัวหมั่นไส้ริษยาไร้ไมตรีจิต อันเป็นต้นเหตุที่ทำลายกลุ่มปัญญาชน-พลังประชาชนมาแล้วนักต่อนัก
เตือนข้อที่ ๓: เลิกเถียงกันเสียทีว่า “ลัทธิรัฐประหาร” กับ “ระบอบทักษิณ”อันไหนชั่วร้ายกว่ากัน เพราะหากชั่วทั้งคู่เราต้องไม่เลือกทั้งคู่
ยังมีประชาชนอีกจำนวนมากที่ “ทำใจไม่ได้” (คือคิดไม่ตกผลึก) ว่าจะเลือกทางแก้ปัญหาแบบใด จะแก้แบบผู้ที่ยังไงก็ไม่เอา “ระบอบทักษิณ”(ข้อ ๑.)หรือจะแก้แบบผู้ที่ยังไงก็ไม่เอา“ลัทธิรัฐประหาร” (ข้อ ๒.)
นอกจากนี้นักการเมือง นักวิชาการและปัญญาชนทั้งรุ่นเก่ารุ่นใหม่แทบทั้งหมดต่างใช้เวลามานำทฤษฎี และหลักการทั้งปวงมาหักล้างกันว่าทางเลือกของตนนั้นดีกว่าทางเลือกอีก ฝ่ายอย่างไร
ผู้เขียนเตือนว่า จงอย่าปล่อยให้ผู้ใดตีกรอบให้เราถูกติดกับทางความคิดดังกล่าว เพราะ“ระบอบทักษิณ” กับ “ลัทธิรัฐประหาร” ไม่ใช่เรื่องที่ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง!แต่ต้องไม่เลือกทั้งคู่!
ผู้เขียนเสนอให้ประชาชนคนไทยจัดกรอบความคิดใหม่เพื่อมองให้ถึงแก่นว่า “ระบอบทักษิณ”ไม่ได้ถูกโค่นล้มโดย “ลัทธิรัฐประหาร” อย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่ตรงกันข้าม “ระบอบทักษิณ”ต่างหากที่เป็นผลพวงจาก “ลัทธิรัฐประหาร”! ดังที่อธิบายเป็นขั้นดังนี้
ขั้นที่ ๑. ความหมายของ “ระบอบทักษิณ”
“ระบอบทักษิณ”(ที่บทความนี้สมมติ arguendoว่าชั่วร้าย จริง)นั้น ไม่ได้รวมแค่เฉพาะคุณทักษิณ ชินวัตรและระบอบการโกงกินรวบอำนาจที่ทำลายประชาธิปไตยเท่านั้น แต่หมายถึงระบอบของผู้มีอำนาจในสังคมไทยในอดีตและอนาคตที่เคยทำหรือจะทำ เหมือนแบบที่คุณทักษิณทำ
เช่น แม้ในสมัยก่อนจะไม่มีการขายหุ้นโทรศัพท์มือถือปลอดภาษีหรืออนุมัติให้ภรรยา ประมูลที่ดินจากหน่วยงานของรัฐ แต่ก็อาจมีการอนุมัติสัมปทานโทรศัพท์บ้านให้เอกชนและอนุมัติตัดถนนผ่าน ที่ดินซึ่งซื้อไว้แล้ว ฯลฯ
สภาพแวดล้อมทางสังคมรวมถึงบทบาทของเทคโนโลยีและสื่อมวลชนทำให้เราเห็นภาพการทำงานของ “ระบอบทักษิณ”ยุคนี้ชัดกว่ายุคก่อน และวันนี้หากเรามองไปรอบๆ บนท้องถนน ตามมหาวิทยาลัย หรือในสำนักงาน เราก็อาจเห็น “ตัวเก็ง”สมาชิก “ระบอบทักษิณ” ที่ กำลังจะเข้าไปใช้อำนาจเพื่อตนและพวกพ้องโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย แม้จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบวิธีการรุนแรงแยบคายอย่างไร แต่ก็ชั่วร้ายเหมือนกันทั้งหมดทุกยุคสมัย
ขั้นที่ ๒. สาเหตุของ “ระบอบทักษิณ”คือ “ลัทธิรัฐประหาร”
หากกล่าวอย่างรวบรัด “ระบอบทักษิณ”(arguendo)เกิดขึ้นจากสาเหตุสำคัญสองประการ คือ
เหตุที่ ๑.ประชาชนส่วนใหญ่เลือกคนไม่ดีมาบริหารประเทศ
เหตุที่ ๒.คนดีส่วนน้อยที่ถูกเลือกเข้ามาไม่ อาจต่อสู้กับคนไม่ดีที่เป็นข้างมาก จนในที่สุด ก็ยอมกลายเป็นคนไม่ดีหรือออกไป และคนอื่นที่ดีก็จะไม่เสนอตนให้ประชาชนเลือก สุดท้ายประชาชนก็จำใจเลือกคนที่เลวน้อยกว่าอีกคน แม้จะเลวทั้งคู่ก็ตาม
สาเหตุ ของ “ระบอบทักษิณ”ทั้งสองข้อนี้มีต้นตอจาก “ลัทธิรัฐประหาร”ซึ่งก็คือ “ลัทธิอำนาจนิยม” ที่ประกันว่าผู้ที่มีอำนาจย่อมทำอะไรก็ได้หรือแทบทั้งหมด กล่าวคือ
ต้นตอของเหตุที่ ๑.ที่ประชาชนไม่เลือกคนไม่ดี มาบริหารประเทศ ไม่ใช่เพราะประชาชนจงใจ แต่เป็นเพราะประชาชนหลงเชื่อหรือตัดสินใจผิด ไม่ว่าจะเพราะถูกหลอก หรือถูกซื้อเสียง แต่ประชาชนจะไม่มีทางรู้ตัวเลยว่าตนได้ตัดสินใจผิด เพราะ “ลัทธิรัฐประหาร”ได้ทำการบังคับตัดตอนให้แทนแล้วว่า คนที่ตนเลือกนั้นเป็นคนไม่ดี แม้ประชาชนต้องจำยอมกับอำนาจ “ลัทธิรัฐประหาร”แต่ก็ยังฝังใจเชื่อว่าตนเลือกคนดีเข้ามาแล้ว และคนที่ตนเลือกย่อมไม่เป็น “ระบอบทักษิณ”ตามที่ถูกกล่าวหา
ในทางกลับกัน หากไม่มี “ลัทธิรัฐประหาร”เข้าแทรก สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ ประเทศชาติเกิดความเสียหายจาก “ระบอบทักษิณ”แต่ เมื่อความเสียหายนั้นปรากฏชัดและกระทบถึงคนส่วนใหญ่ในประเทศ ก็จะนำไปสู่การตัดสินใจที่ดีขึ้น กล่าวคือ ประชาชนรู้ทันและจับได้ว่าถูก “ระบอบทักษิณ”หลอก ชีวิตความเป็นอยู่ ปัญหาความยากจน และความมั่นคงทางเศรษฐกิจไม่ได้ดีอย่างที่ตนหลงเชื่อ และเป็นเหตุบังคับให้คนส่วนใหญ่ต้องตัดสินใจได้ดีขึ้นในเวลาต่อมา
ต้นตอของเหตุที่ ๒.ที่คนดีข้างน้อยไม่อาจต่อสู้กับคนไม่ดีข้างมาก จนในที่สุด ก็จะกลายเป็นคนไม่ดีหรือยอมจากไปนั้น ก็เพราะ “ลัทธิรัฐประหาร”ฝัง รากว่าใครมีอำนาจผู้นั้นย่อมชนะ คนดีไม่มีอำนาจย่อมไม่อาจสู้ด้วยหลักการหรือกติกา และคนไม่ดีย่อมต้องปกป้องตนเองโดยดิ้นรนสร้างตนให้กลายเป็น “ระบอบทักษิณ”เพื่อมีอำนาจรวบรัดเพียงพอที่จะต่อสู้กับ “ลัทธิรัฐประหาร”ก็ คืออำนาจอื่นที่จะมาโค่นล้มตน ส่วนคนดีที่รู้ตัวว่าตนไม่มีอำนาจ ก็จำใจเลือกสองอย่าง ระหว่างเข้าร่วมกับอำนาจที่ชั่วร้าย หรือเลือกที่จะแสวงหาความสุขโดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับอำนาจการเมือง จนไม่มีคนดีเหลือให้ประชาชนเลือก
ในทางกลับกัน หากไม่มี “ลัทธิรัฐประหาร”เข้าแทรก สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือผลที่เกิดในข้อแรก คือ ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศเจ็บตัวและรู้ทัน “ระบอบทักษิณ”และ แสวงหาตัวเลือกอื่นที่ดีกว่า ย่อมเป็นแรงจูงใจให้คนดีข้างน้อยต่อสู้ต่อไปเพื่อได้เป็นรัฐบาล อีกทั้งยังจูงใจให้คนดีคนอื่นเสนอตัวเข้ามาเป็นตัวเลือกแทนที่ “ระบอบทักษิณ”
ขั้นที่ ๓. การกำจัด “ระบอบทักษิณ-ลัทธิรัฐประหาร”ต้องอาศัย “ทฤษฎีกระบวนการทางประชาธิปไตย”
ประเด็นสำคัญที่สุดของบทความนี้ คือ “ทฤษฎีกระบวนการทางประชาธิปไตย” ซึ่งอธิบายว่า “ระบอบทักษิณ”ไม่ได้ถูกโค่นล้มโดย “ลัทธิรัฐประหาร” อย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่ตรงกันข้าม “ระบอบ ทักษิณ”ต่างหากที่เป็นผลพวงจาก “ลัทธิรัฐประหาร”ดังนั้น หากเราเลือกกำจัด “ระบอบทักษิณ”โดยใช้ “ลัทธิรัฐประหาร”ก็จะไม่สามารถกำจัด “ระบอบทักษิณ”ได้
ในทางกลับกัน วิธีเดียวที่จะกำจัด “ระบอบทักษิณ”ก็คือการกำจัด “ลัทธิรัฐประหาร”ซึ่งเป็นโคนรากของปัญหา โดยมีหลักการอธิบายดังนี้
หลักที่ ๑. ประชาธิปไตยเป็นระบอบที่สันนิษฐานว่า เสียงส่วนใหญ่ย่อมตัดสินใจเลือกสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตนเอง
หลักที่ ๒.แต่การตัดสินใจของเสียงส่วนใหญ่ ต้องไม่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของเสียงส่วนน้อย
หากหลักดังกล่าวเป็นจริง คำถามก็คือ เหตุใดเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนคนไทยจึงได้เลือกผู้แทนและรัฐบาลที่คดโกงและ นำมาสู่ “ระบอบทักษิณ”หลายต่อหลายครั้ง ทั้งที่ “ระบอบทักษิณ”(arguendo) ได้โกงกินรวมอำนาจและทำลายประชาธิปไตยอันเป็นภัยต่อเสียงส่วนใหญ่เสียเอง
คำตอบอันแสนตื้นเขินที่มักได้ยินก็คือ เพราะเสียงส่วนใหญ่ของประเทศยังโง่เขลาและไร้การศึกษา เข้าไม่ถึงข้อมูลและข้อเท็จจริงที่จะทำให้เขาหล่านั้นเลือกคนดีมาบริหาร ประเทศ อีกทั้งยากจนแร้นแค้นจนยึดปากท้องตนเองในระยะสั้นเป็นหลัก
คำตอบนี้หากสมมติ (arguendo) ว่าถูก ก็ถูกได้แค่ครึ่งเดียว เพราะคำตอบที่ครบถ้วนนั้น ต้องอาศัย “ทฤษฎีกระบวนการทางประชาธิปไตย”ซึ่งอธิบายหลักการเพิ่มว่า
หลักที่ ๓.แม้เสียงส่วนใหญ่ย่อมตัดสินใจเลือก “สิ่งที่ดีที่สุด” สำหรับตนเอง แต่การจะค้นพบว่า “สิ่งที่ดีที่สุด” คืออะไรนั้น ไม่อาจข้ามขั้นตอนของเวลาและประสบการณ์ทางประชาธิปไตยที่ลองผิดลองถูก ไม่มีใครเกิดมาฉลาดทันทีหรือวิ่งได้โดยไม่เคยล้ม และความล้มเหลวผิดพลาดของตนเอง (โดยไม่มีผู้ใดมาตัดตอนคิดและตัดสินใจแทน) ย่อมเป็นเหตุสำคัญที่จะทำให้เรียนรู้ จำ และ เข้าใจ แม้จะต้องใช้เวลา
เช่น ประชาชนส่วนใหญ่ที่เลือกคนไม่ดีจนเกิด “ระบอบทักษิณ”นั้น เมื่อถูกหลอกจึงจำต้องเรียนรู้ให้ทันไม่ให้ถูกหลอก และคนดีอื่น (ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้าน นักการเมืองหน้าใหม่ หรือแม้แต่คนดีที่แฝงตัวอยู่ในรัฐบาลที่พร้อมจะชิงอำนาจจากหัวหน้า “ระบอบทักษิณ”) ก็จะสบโอกาสเสนอตัวเข้ามาแทน ผ่านการคัดค้านโจมตีและใช้เวลาพิสูจน์ความไม่ดีของ “ระบอบทักษิณ”
ในทางตรงกันข้าม หากรัฐประหารตัดตอนโค่น “ระบอบทักษิณ”เสียงส่วนใหญ่ก็จะยังปักใจยึดมั่นในการตัดสินใจของตน เพราะยังไม่ทันได้ทราบกับตนว่า “ระบอบทักษิณ”ชั่วอย่างไร และยังเพิ่มความชอบธรรมหรือความเห็นใจที่จะเลือก “ระบอบทักษิณ”กลับเข้ามาอีกครั้ง
หลักที่ ๔.เมื่อเสียงส่วนใหญ่ใน ประเทศไม่อาจรู้ว่าสิ่งใดคือสิ่งที่ดีที่สุดในทันที เสียงส่วนใหญ่จึงย่อมไม่อาจออกกฎหมายเพื่อกำหนด “สิ่งที่ดีที่สุด” ได้ กฎหมาย(รัฐธรรมนูญ) จึงต้องมุ่งเป็นเครื่องสนับสนุนกลไกการเรียนรู้และตัดสินใจเพื่อให้เสียง ส่วนใหญ่สามารถค้นหาสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตนเองด้วยตนเอง
เช่น กฎหมายไม่อาจกำหนดลักษณะ “ความดี-ความชั่ว” ของนักการเมืองได้ แต่ต้องแก้ปัญหาโดยการสนับสนุนและคุ้มครอง “กระบวนการการเรียนรู้” ที่เอื้อการตรวจสอบ ทบทวน และตีแผ่ “ความอาจดี-อาจชั่ว” ของนักการเมือง เพื่อให้ผู้เลือกตั้งส่วนใหญ่ตัดสินใจได้ดีขึ้นในครั้งต่อไป “กระบวนการ” เหล่านี้ย่อมได้แก่ สิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นหรือประท้วงรัฐบาล สิทธิการเข้าถึงข้อมูลและข่าวสาร สิทธิในการมีวิทยุชุมชน สิทธิในการมีส่วนร่วมและสิทธิทางศาล ตลอดจนสิทธิในสวัสดิการที่เป็นธรรม ฯลฯ
หลักการนี้คือหัวใจของทฤษฎี กล่าวคือ สมมติฐานของหลักทั้งหมดก็คือ การเชื่อว่าประชาชนคนไทยไม่ได้โง่เง่าและแผ่นดินไทยย่อมไม่สิ้นพลังความดี (โดยไม่อาศัย “ลัทธิรัฐประหาร”) ที่จะป้องกันไม่ให้เกิดการรวบรัดสถาปนา “ระบอบทักษิณ”อย่างเบ็ดเสร็จต่อเนื่องนานจนประชาชนอดอยากล้มตายหรือชาติล่ม สลายได้ และหลักสำคัญที่จะประกันความเชื่อมั่นดังกล่าว ก็คือ การอาศัยกฎหมายที่คุ้มครองและสนับสนุน “กระบวนการการเรียนรู้”ที่กล่าวมานี้เอง
หากสงสัยว่าเหตุใดต้องให้ประเทศชาติเสี่ยงต่อการเรียนรู้ที่เจ็บ ตัว ตอบในขั้นแรกก็คือ หากสำรวจประชาธิปไตยทั่วโลกจะพบว่าการเปลี่ยนแปลงสำคัญย่อมแลกด้วยบทเรียน ที่ประชาชนได้มาอย่างแสนแพง อาทิ เมื่อสหรัฐฯ รบชนะอังกฤษ แต่ฝ่ายเหนือกับใต้ก็กลับมาสังหารกัน ประชาชนในฝรั่งเศสอดอยากจนลากกษัตริย์มาตัดหัว สงครามโลกได้เปลี่ยนขั้วความคิดของเยอรมันนีและญี่ปุ่น หรือแม้แต่ความขุ่นหมองของชนเผ่าที่เป็นรากฐานของรัฐในแอฟริกา ฯลฯ และในขั้นที่สอง ไม่มีอะไรประกันว่า “ลัทธิรัฐประหาร”จะ ไม่สร้างความรุนแรงหรือสูญเสียน้อยไปกว่าการยอมเจ็บตัวจากการเรียนรู้ตาม กระบวนการ อีกทั้งความฉลาดและปัญญาของคนไทยก็อาจทำให้การเรียนรู้ไม่แย่อย่างที่คิด
หลักที่ ๕.การอาศัยเสียงส่วนน้อย (ที่ไม่ได้ถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน) มาตัดตอนกระบวนการเรียนรู้และการตัดสินใจของเสียงส่วนใหญ่ แม้จะอ้างว่าถูกต้องหรือมีคุณธรรมกว่าก็ตาม (เช่น การชี้นำว่าคุณธรรมของนักการเมืองที่ดีต้องเป็นแบบใด ฯลฯ)ย่อมเป็นการทำลายกระบวนการทางประชาธิปไตยที่มุ่งรักษาประโยชน์ของเสียง ส่วนใหญ่และส่วนน้อยในที่สุด และก็จะนำไปสู่ “ลัทธิรัฐประหาร”และ “ระบอบทักษิณ”ในที่สุด
เช่น กฎหมายไม่อาจให้อำนาจเสียงส่วนน้อยมาล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ แม้รัฐบาลนั้นจะแย่หรือชั่วเพียงใด ตราบใดที่รัฐบาลนั้นไม่พ้นจากอำนาจตามกฎหมายหรือละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของ เสียงส่วนน้อย (เช่น กฎหมายจะยอมให้เสียงข้างมากออกกฎหมายละเมิดสิทธิในร่างกาย อาทิ บังคับให้ชาวไทยที่แปลงเพศทุกคนต้องแปลงเพศกลับไม่ได้)
ในทางตรงกันข้าม หากเรายอมให้เสียงส่วนน้อยมาล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ ก็เท่ากับเปิดช่องให้ “ลัทธิรัฐประหาร”เกิดขึ้นต่อไป เช่น ขอเพียงให้มีคนกลุ่มน้อยในประเทศที่ยึดถือว่าตนมีคุณธรรมสูงกว่าเป็นผู้ใช้ อำนาจโค่นผู้ที่ถูกเลือกมาโดยเสียงข้างมาก ในขณะเดียวกัน ผู้ที่ถูกเลือกมาโดยเสียงข้างมาก ก็ไม่มีทางเลือกนอกจากสร้างตนให้เป็น “ระบอบทักษิณ”เพื่อต่อต้านไม่ให้ตนถูกยึดอำนาจโดย “ลัทธิรัฐประหาร”
ขั้นที่ ๔. อำนาจตุลาการต้องยึด“ทฤษฎีกระบวนการทางประชาธิปไตย”
“ลัทธิรัฐประหาร”หรือ “ลัทธิอำนาจนิยม” นี้ไม่ได้อาศัยเพียงความชั่วหรือความโลภ หรือ วัฒนธรรมอำนาจอุปถัมภ์ในสังคมไทยเท่านั้น แต่ยังต้องอาศัยโครงสร้างของสถาบันอำนาจในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันทหาร หรือ สถาบันตุลาการซึ่งเอื้ออำนวยให้ “ลัทธิรัฐประหาร”สืบพันธุ์มาอยู่ได้ถึงวันนี้
ที่ว่าตุลาการเอื้อ “ลัทธิรัฐประหาร-อำนาจนิยม” นั้น ต้องให้ความเป็นธรรมในขั้นต้นว่า ตุลาการไทยไม่ใช่ผู้ที่หลับหูหลับตายอมรับ “ลัทธิรัฐประหาร”ว่าเป็นพระเจ้าผู้ชอบธรรม หากแต่ตุลาการ ไทยได้สร้างบรรทัดฐานทางคุณค่าบางประการขึ้นมา เช่น ศาลฎีกาแต่ในอดีตเคยปฏิเสธอำนาจผู้ทำรัฐประหารว่าขัดต่อจารีตรัฐธรรมนูญ เพราะก้าวล่วงความเป็นอิสระของตุลาการอันทำให้เกิดการยึดทรัพย์ที่ไม่เป็น ธรรม (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๙๓๑/๒๕๓๕)แต่หากตุลาการพอใจ ก็ดำเนินการได้ และหลักการดังกล่าวก็สืบทอดต่อมาในสมัยปัจจุบัน แม้จะมีเสียงข้างน้อย เช่น ท่านกีรติ กาญจนรินทร์ที่อาจหาญปฏิเสธลัทธิดังกล่าวก็ตาม (ผู้สนใจโปรดดู http://on.fb.me/peaZtY)
สภาพของตุลาการไทยดังกล่าวจะมองว่าดีหรือชั่วอย่างไรนั้น ไม่อาจอภิปรายให้ครบ ณ ที่นี่ และต้องนำไปพิจารณาให้ตกผลึก เช่น อาจมองว่าเป็นการตีความที่ยึดตุลาการเป็นสำคัญ คือ ใครจะโค่นล้มฝ่ายนิติบัญญัติและบริหารอย่างไรก็ทำได้ ตราบที่ไม่มายุ่งกับศาล กระนั้นหรือ?ฯลฯ แต่สภาพปัญหาของตุลาการไทย คือสิ่งที่นิติราษฎร์ต้องการจะแก้ไขยิ่งไปกว่าเพียงแค่ผลคำพิพากษา ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าการแก้ค่านิยมความเชื่อของสถาบันที่ประกอบด้วยตุลาการ ผู้มีใจอันเป็นธรรมและสติปัญญานั้น ย่อมมีทางสำเร็จได้
สรุปคำเตือน: การกำจัด “ระบอบทักษิณ” และ “ลัทธิรัฐประหาร” ต้องโค่นที่ “ลัทธิรัฐประหาร”
การละเมิดกระบวนการทางประชาธิปไตย (โดย ทหาร ตุลาการ ปัญญาชนผู้ทรงคุณธรรม ฯลฯ)คือการเสริมพลังให้ “ลัทธิรัฐประหาร”ซึ่งเป็นต้นเหตุของ “ระบอบทักษิณ”และเมื่อ “ระบอบทักษิณ” เกิดขึ้น ก็จะต้องสลับแย่งชิงอำนาจกับ “ระบอบทักษิณถัดไป” หรือผู้ทำรัฐประหารชั่วคราวอย่างไม่มีสิ้นสุด การใช้ “ลัทธิรัฐประหาร” โค่น “ระบอบทักษิณ”ไม่เพียงแต่เป็นการตัดหญ้าที่ปลายใบ แต่ยังเป็นการฝังรากปัญหาโดยการตัดตอนกระบวนการเรียนรู้ทางประชาธิปไตยจนผู้ คนเกิดความชินชาที่จะเรียนรู้หรือเรียกร้องสิทธิในที่สุด
ซ้ำร้ายคนดีก็จะไม่เสียสละเข้ามายุ่งเกี่ยวกับลัทธิอำนาจนิยมดังกล่าว หรือแม้ยอมเข้ามา ก็เข้ามาในลักษณะที่จำกัด เช่น เป็นตุลาการที่ไม่เคยได้รับเลือกจากประชาชน หรือ เป็นสมาชิกสภาหรือคณะกรรมการพิเศษชั่วคราวที่เพียงแต่เสนอแนะความรู้โดยไม่ ต้องปฏิบัติจริง หรือแบบใหม่ล่าสุด คือ การเป็นผู้ทรงคุณธรรมที่ยึดอำนาจไว้ชั่วคราวเพื่อส่งต่อให้รัฐบาลใหม่แต่ไม่ รับผิดชอบใดๆ ไม่ว่าประเทศชาติจะขัดแย้ง ประชาชนจะล้มตาย หรือ “ระบอบทักษิณ”จะกลับมา
ส่วนประชาชนก็จะพบกับ “ระบอบทักษิณ”สลับกับ “ลัทธิรัฐประหาร” ในรูปแบบที่ทันสมัยแปลกตาแต่ต่ำช้าไม่ผันแปร จึงสมแก่โอกาสสำหรับทั้งคนไม่ชอบ “ระบอบทักษิณ” และ “ลัทธิรัฐประหาร” ที่จะนำข้อเสนอนิติราษฎร์มาถกเถียงให้ลึกซึ้งและถูกประเด็นมากขึ้น และเน้นที่ “กระบวนการ” มากกว่า “คุณธรรมค่านิยม”เพื่อประชาชนจะได้ชม “ปฏิวัติ” นัดจริงกันเสียที
บทส่งท้าย
ประการแรกบทความนี้เสนอแนวคิดที่ไม่สมบูรณ์แบบบนข้อสันนิษฐานเชิงสมมติ (arguendo) เพื่อเป็นทางเลือกของแนวคิดอื่นที่พูดกันมากแต่ก็ไม่ได้สมบูรณ์แบบเช่นกัน และหากคุณทักษิณไม่ใช่ “ระบอบทักษิณ” ที่สมมติ ก็มิพักต้องกังวลในความบริสุทธิ์และความนิยมชมชอบแต่อย่างใด ทั้งนี้ แนวคิดที่เสนอมีฐานจากการศึกษาค้นคว้า ผู้เขียนขอน้อมรับฟังทุกความเห็นไปพัฒนาความคิด ผู้สนใจโปรดดูรายละเอียดเพิ่มที่ Thesis (LL.M.)--Harvard Law Schoolที่ http://discovery.lib.harvard.edu/?q=verapatและตำราสำคัญชื่อ Democracy and Distrustโดย John Hart Ely
ประการที่สองการแก้ปัญหาประชาธิปไตยต้องเดินหน้าต่อสู้ กับสิ่งผิดไม่น้อยไปกว่าการย้อนหลังเพื่อรักษาสิ่งที่ถูก สิ่งที่นิติราษฎร์เสนอนั้นเป็นการกลับไปรักษาสิ่งที่ถูก เพื่อเป็นรากฐานสำหรับการเดินหน้าต่อสู้กับสิ่งผิด แต่มีหลายสิ่งที่ประชาชนคนไทยร่วมกันเดินหน้าต่อสู้กับสิ่งผิดได้แม้ข้อเสนอ ของนิติราษฎร์จะยังไม่บรรลุ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติวัฒนธรรมโดยเริ่มจากการสำรวจข้อบกพร่องของ “ความเป็นไทย” อันเป็นรากฐานของลัทธิอำนาจนิยม รวมไปถึงการปฏิรูปทหารให้ฟังผู้บังคับบัญชาที่มาจากประชาชน และปฏิรูปให้ตุลาการต้องอธิบายกฎหมายให้ประชาชนเข้าใจ ตลอดจนเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยรับผิดชอบหน้าที่การนำอภิปราย ศึกษา ค้นคว้าปัญหาอย่างเป็นระบบมากไปกว่าการยิ้มเยาะหรือชินชาต่อกลุ่มอาจารย์ เพียงเจ็ดคน
ส่วนการเอาผิดกับผู้ทำรัฐประหารนั้น แม้อาจยังทำไม่ได้ในทางกฎหมาย แต่วันนี้ก็ทำได้ในทางข้อเท็จจริง เช่น ใช้อำนาจนิติบัญญัติ อาศัยช่องทาง อาทิ รัฐธรรมนูญ มาตรา ๕๐ และ ๕๖ จัดให้มีกระบวนการ “ศึกษาและตีแผ่ข้อเท็จจริง”เกี่ยวกับกระบวนการรัฐประหารยึดอำนาจ ตรวจสอบทรัพย์สินหลังการพ้นตำแหน่งและบทบาทผู้ที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร ครั้งล่าสุด โดยแม้ยังไม่มีนัยทางกฎหมายจะลงโทษได้ แต่ผู้กระทำการเหล่านี้จะหลุดพ้นจาก “กระบวนการการจดจำและรับรู้” ของประชาชนไม่ได้ ฯลฯ
ประการสุดท้ายผู้เขียนจบบทความด้วยความคาดหวังว่าสังคม ไทยกำลังก้าวออกจากยุคมืดทางนิติศาสตร์ แม้เรายังขาดนักกฎหมายที่ผสานหลักการและความเป็นจริงพร้อมเชื่อมโยงตนกับ ประชาชนได้อย่างลงตัว แต่อย่างน้อยกลุ่มนิติราษฎร์ที่ชำนาญทฤษฎีภาคพื้นยุโรปย่อมทราบดีถึงวลีอมตะ ที่ว่า การค้นหากติกาการปกครองที่แน่นอนและเป็นธรรมนั้น พึงแสวงจาก “มนุษย์ดังที่เป็นและกฎหมายดังที่ควรเป็น”(en prenant les hommes tels qu'ils sont, et les lois telles qu'elles peuvent être) วันนี้นิติราษฎร์ได้จุดประกาย “กฎหมายดังที่ควรเป็น” แต่งานสำคัญที่เราประชาชนทุกคนต้องร่วมทำพร้อมกันก็คือ การค้นพบและทบทวนตัว “มนุษย์ดังที่เป็น”เพื่อแสวงหาว่ากติกาการปกครองที่แน่นอนและเป็นธรรมของเรา อยู่ที่ใด!
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ