แดนนี่ โอ’เบรียน (Danny O’Brien) จากคณะกรรมการเพื่อพิทักษ์ผู้สื่อข่าว (Committee to Protect Journalists -CPJ) กล่าวว่า เราไม่สามารถสร้างกฎหมายที่ไม่เข้ากับธรรมชาติ ถ้าสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป อาชญากรรมเปลี่ยนไป กฎหมายจำเป็นต้องเปลี่ยน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีอินเทอร์เน็ตแล้ว แต่แนวคิดพื้นฐานของอาชญากรรมไม่ได้เปลี่ยน นี่จึงเป็นความท้าทายทั่วโลกในการสร้างกฎหมายคอมพิวเตอร์
ในโลกแบบเก่า การหาว่าใครเป็นผู้เผยแพร่เนื้อหาทำได้ง่าย แต่ในอินเทอร์เน็ต มีจุดรวมศูนย์อยู่ระดับหนึ่ง เช่น ไอเอสพี ซึ่งทำหน้าที่เท่ากับผู้กระจายเสียงออกอากาศ ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา เมื่อเอาวิธีการในโลกออฟไลน์ไปใส่ในโลกอินเทอร์เน็ต ทำให้กฎหมายบางฉบับพุ่งไปที่ตัวกลาง ซึ่งเห็นได้จาก พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ของไทย
แดนนี่ขยายความโดยสาธิตการใช้คำสั่ง tracert เพื่อติดตามดูเส้นทางการเชื่อมต่อของคอมพิวเตอร์ไปยังจุดหมายปลายทาง เพื่อแสดงให้เห็นว่าการจะเข้าถึงเว็บไซต์ อาทิ ประชาไทดอทคอม ต้องวิ่งผ่านคอมพิวเตอร์ตัวใดบ้าง โดยคอมพิวเตอร์แต่ละตัวนอกจากทำหน้าที่ส่งต่อข้อมูลแล้วยังทำสำเนาชั่วคราว ของสิ่งที่เราเข้าไปขอดูด้วย
เขาชี้ว่า ความท้าทายคือ หากเราใช้วิธีการคิดแบบในโลกออฟไลน์ว่า ผู้ที่มีข้อมูลผิดไว้ในครอบครองเท่ากับเป็นผู้กระทำผิด แปลว่าทุกคนมีสิทธิทำผิด ซึ่งจะทำให้เกิดการฟ้องผู้อยู่ที่ปลายน้ำเช่น กูเกิล ไอเอสพี ที่เป็นผู้ส่งผ่านข้อมูล กลายเป็นเอาผิดกับตัวกลางที่อยู่ห่างออกไป โดยไม่สนใจไปที่คนผิดจริงๆ ทำให้ไอเอสพีต้องรับผิดชอบตรงต่อผู้บริโภค
แดนนี่ชี้ว่า การเชื่อมต่อเหล่านี้ไม่มีใครตรวจสอบเฝ้าระวังทุกไบต์ที่ผ่านคอมพิวเตอร์ หรือคอยฟังตลอดว่ามีอะไรที่ผิดกฎหมายบ้างเพื่อทำการปิดกั้น พร้อมยกตัวอย่างว่า ทุก 1 นาที เว็บไซต์ยูทูปจะได้รับอัพเดตวิดีโอเท่ากับความยาว 48 ชม. จึงไม่สามารถตรวจเนื้อหาที่เยอะขนาดนี้ได้ หรือเฟซบุ๊ก หากต้องตรวจทุกคอมเมนต์ จะต้องผ่านกำแพงของผู้ใช้เฟซบุ๊ก 800 ล้านราย ซึ่งหากทำเช่นนั้นจริง โครงสร้างอินเทอร์เน็ตคงพังละลาย และนี่คือสิ่งที่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์กำหนดไว้ นั่นคือให้ตัวกลางมีโทษเท่ากับผู้กระทำผิด (มาตรา15)
แดนนี่ระบุว่า กฎหมายของประเทศอื่น จะแยกแยะกลุ่มตัวกลางกับกลุ่มคนที่โพสต์เนื้อหา เพื่อเปิดให้คนที่อยู่ในฐานะที่สามารถบล็อค-ตรวจสอบได้ หากได้รับแจ้งจากตำรวจหรือศาลออกคำสั่งว่าเนื้อหาในเว็บไซต์ถูกใช้ไปในการ กระทำความผิด ตัวกลางก็จะลบหรือบล็อคเนื้อหาไป แทนการตกเป็นเป้าของการดำเนินคดีอาญา
เขาย้ำว่าตัวกลางไม่สามารถตรวจสอบเชิงรุกได้ และไม่สามารถรับภาระรับผิดสำหรับเนื้อหาทุกอย่างที่ผ่านเข้ามา เพราะเนื้อหาที่ถูกแจ้งว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายนั้นไม่ได้หมายความว่าเป็นส่วน หนึ่งของระบบ พร้อมยกตัวอย่างเว็บไซต์บางกอกโพสต์ bangkokpost.com ซึ่งมีเนื้อหาบางส่วนที่บางกอกโพสต์เองควบคุมไม่ได้ตามวิธีการดูแลบ รรณาธิกรณ์แบบเก่า เช่น เนื้อหาส่วนที่ดึงมาจากผู้ให้บริการเนื้อหารายอื่นๆ อาทิ โฆษณาจากกูเกิลแอด ชาร์ตจากตลาดหลักทรัพย์ เมื่อนำเนื้อหาทั้งหมดมาประกอบกัน จึงเกิดความท้าทายในการแจกแจงว่า ผู้เผยแพร่หรือ บก.เป็นผู้นำเข้าข้อมูลข่าวสารหรือไม่
ทั้งนี้ สำหรับคดีของประชาไท (กรณีจีรนุช เปรมชัยพร ในฐานะผู้ดูแลเว็บบอร์ด ถูกฟ้องด้วยข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 15 เนื่องจากมีข้อมูลในเว็บบอร์ดที่น่าจะเข้าข่ายมีความผิด) เว็บบอร์ดที่พูดกันนี้ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างหนังสือพิมพ์ เพราะมีซอฟต์แวร์อีกชุดในการนำเสนอ มีความใกล้เคียงกับการแชทออนไลน์ ซึ่งบทบาทตรงนี้เชื่อมโยงกับตัวกลางทางเทคนิคมากกว่า กฎหมายสหรัฐฯ จึงกำหนดให้ผู้ให้บริการการสื่อสารระหว่างกัน ไม่ถือว่าเป็นผู้พิมพ์ผู้เผยแพร่ในการสื่อสารแบบเก่า
ต่อคำถามเรื่องภาระความรับผิดต่อการมีไฮเปอร์ลิงก์นั้น เขามองว่า ไม่ควรมีความผิด เพราะตัวกลางไม่มีสิทธิทำอะไรกับเนื้อหาที่ไฮเปอรลิงก์ไปเลย เพราะสิ่งที่ลิงก์โยงไปนั้นเปลี่ยนแปลงได้ตลอด ครั้งแรกที่เช็คลิงก์อาจพาไปที่เนื้อหาถูกกฎหมาย แต่เมื่อตำรวจไปเปิดอาจเจอเนื้อหาผิดกฎหมายก็เป็นได้
แดนนี่กล่าวว่า ในประเทศอื่นนั้น มีกรณีที่ตัวกลางต้องรับผิดชอบ จากการที่ไม่ได้ดำเนินการเร็วพอ แต่ไม่เคยเจอกรณีที่ต้องรับผิดชอบทันทีที่มีข้อความในระบบโดยไม่สนใจเลยว่า จะได้มีการลบหรือจัดการแล้ว เกิดแล้วผิดเลย แบบของไทย แม้แต่ในอังกฤษที่กฎหมายหมิ่นประมาทเคร่งครัดมาก การถอนและขอโทษที่ดำเนินการโดยพลันก็ไม่ต้องรับผิด
เขาย้ำว่า การตีความเจตนาหรือความจงใจนั้น ควรมีนัยยะว่าผู้ให้บริการหรือตัวกลางนั้นรับรู้ว่ามีข้อมูลนั้นอยู่ในระบบ ไม่ใช่สิ่งที่เกิดจากระบบโดยอัตโนมัติ
แดนนี่มองว่า การใช้ชื่อกฎหมายว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์นั้น เป็นการตั้งชื่อที่ทำให้เข้าใจผิด เพราะคอมพิวเตอร์ไม่ได้ทำผิด พร้อมยกตัวอย่างว่า ถ้าจะจับเจ้าของภัตตาคารเนื่องจากเหตุอาญาในภัตตาคาร หรือ จับบุรุษไปรษณีย์ เพราะส่งจดหมายที่มีเนื้อหาที่มีความผิด นอกจากไม่ถูกต้องแล้ว ยังเบนเป้าออกไปจากคนที่ผิดด้วย
แดนนี่ เสนอว่า หากต้องการป้องกันการกระทำความผิดก็ควรพุ่งเป้าไปที่คนผิดโดยตรง และบังคับใช้กฎหมายที่ประชาชนจะช่วยสร้างและสนับสนุนโครงสร้างที่ถูกต้อง โดยชี้ว่าในโครงสร้างพื้นฐานของอินเทอร์เน็ตนั้น มีทั้งผู้เขียนเพจ ผู้ดำเนินการระบบโทรศัพท์ ผู้ให้บริการเว็บต่างๆ ไม่ว่า กูเกิล เฟซบุ๊ก ยูทูป เว็บไซต์ข่าว เป็นผู้ให้บริการเพื่อให้สังคมสมัยใหม่เดินไปได้ การใช้กฎหมายที่ตีความแบบผิดๆ ไม่เพียงจับคนผิดไม่ได้ แต่จะบั่นทอนศรัทธาของคนในระบบกฎหมายและทำลายโครงสร้างพื้นฐานข้างต้นที่ สนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออก สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยด้วย
มาตรา 15 ผู้ให้บริการใดสนับสนุน หรือยินยอมให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา 14 ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในการควบคุมของตน มีโทษเช่นเดียวกับมาตรา 14
เย็บ สวี เซ็ง (Yap Swee Seng) ผู้อำนวยการฟอรั่มเอเชีย (Forum Asia) ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานในประเด็นสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชีย กล่าวว่า ประเด็นหนึ่งที่ถูกพูดถึงในการรายงานการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน หรือกระบวนการยูพีอาร์ ที่สหประชาชาติ เมื่อวันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมา คือ เรื่องเสรีภาพในการแสดงออกโดยเฉพาะ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์และกฎหมายอาญา มาตรา 112 พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าประเทศสมาชิกอาเซียน ส่วนใหญ่ชื่นชมความคืบหน้าของรัฐบาลไทย ในการลดความยากจนและบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ แต่ไม่พูดถึงเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกเลย เว้นแต่ประเทศอินโดนีเซีย ที่เสนอให้รัฐบาลไทยทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวกับเสรีภาพการแสดงออก ขณะที่ประเทศตะวันตก อาทิ อังกฤษ ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สวีเดน บราซิล ต่างเสนอแนะในประเด็นนี้
เย็บ กล่าวว่า ข้อเสนอของประเทศต่างๆ มีตั้งแต่ให้ทบทวนกฎหมายไปจนถึงเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายดังกล่าว ซึ่งผู้แทนรัฐบาลไทย ตอบว่ารัฐบาลไทยดำเนินการแก้ไข พ.ร.บ.คอมฯ โดยรับฟังความเห็นจากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี)และโฮสติ้ง
ทั้งนี้ เย็บตั้งข้อสังเกตด้วยว่า จากข้อเสนอ 172 ข้อที่เสนอโดยประเทศต่างๆ ไทยรับแล้ว 100 ข้อ โดยไม่มีข้อใดเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออก ไม่ว่าข้อเสนอให้แก้ พ.ร.บ.คอมฯ และกฎหมายหมิ่นพระเดชานุภาพเลย โดยหลังจากนี้ รัฐบาลไทยมีเวลาพิจารณาว่าจะรับไม่รับข้อเสนอที่เหลืออีก 72 ข้อภายในเดือนมีนาคมศกหน้า ซึ่งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติจะมีการประชุมตามวาระปกติ
ผู้อำนวยการฟอรั่มเอเชียกล่าวว่า ข้อเสนอแนะที่เกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งอยู่ระหว่างรอการพิจารณานั้น ประเทศส่วนใหญ่เสนอให้มีการทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และเชิญผู้ตรวจการพิเศษเช่นเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกมาเยือนประเทศไทย
เย็บ กล่าวเสริมว่า อย่างไรก็ตาม ข่าวดีคือคณะผู้แทนถาวรไทยประกาศว่ารัฐบาลไทยอาสาว่าจะออกคำเชิญให้ผู้ตรวจ การพิเศษต่างๆ ของสหประชาชาติมาเยือน ซึ่งขณะนี้ต้องรอดูว่าจะมีการตอบรับอย่างเป็นทางการหรือไม่
ทั้งนี้ เย็บ เสนอว่า ระหว่างนี้ ภาคประชาสังคมควรดำเนินการผลักดันให้รัฐบาลรับพิจารณาข้อเสนอของประเทศต่างๆ และมองว่า การเชิญผู้แทนด้านเสรีภาพในการแสดงออกของสหประชาชาติมาเยือนประเทศไทยน่าจะ เป็นเรื่องที่ดี เพราะผู้แทนพิเศษฯ ได้ไปเยือนหลายประเทศที่เผชิญความท้าทายแบบเดียวกัน ซึ่งน่าจะช่วยให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลไทยในการทบทวนกฎหมาย ซึ่งรัฐบาลไทยระบุว่าอยู่ระหว่างทบทวนด้วย
รายงานจาก http://www.prachatai.com/
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ