วิถีชีวิตวัยเด็กที่ห่างไกลจากแมคโดนัลด์ เค เอฟ ซี และดังกิ้น โดนัท จึงอยู่กับการช่วยพ่อแม่ในนา หาปลาในน้ำ ทำกับข้าวในครัว หรือไม่ก็วิ่งแย่งปักขี้ควาย ตกปลา เก็บลูกตาล ถอนสายบัว เก็บผักบุ้ง ดอกโสน หรือผักใต้น้ำมาทำให้ครอบครัวทำอาหารหรือขนมอร่อยๆ เรื่องอาหารโดยเฉพาะขนมหวาน ชาวบ้านบางปลาม้าก็ขึ้นชื่อมากเช่นกันเรื่องฝีมือ
จริงๆ แล้ว พวกเราเด็กๆ รอหน้าน้ำท่วมกันพอสมควร เพราะเราอาบน้ำ เล่นน้ำกันที่หน้าบ้านกันได้อย่างสบาย ไม่ต้องเดินลงไปยังที่ท่าน้ำท่าจีน และเราก็ใช้เรือพายไปบ้านโน้นบ้านนี้ ไม่ต้องกลัวหมาชาวบ้านที่ดุและกัดจริง วิ่งไล่กัดเหมือนในยามหน้าแล้ง และกอรปกับฤดูน้ำท่วมก็เต็มไปด้วยประเพณีและงานบุญต่างๆ ทั้งเทศกาลกระยาสารท ออกพรรษา ทอดกฐิน ลอยกระทงและงานแข่งเรือของวัดต่างๆ ช่วงฤดูน้ำท่วมจึงเป็นช่วงเวลาที่ค่อนข้างจะสนุกสนานรื่นเริงของเด็กๆและชาว บ้านในยามนั้นไปได้เช่นกัน
นั่นก็เป็นความโรแมนติกที่เรียบง่ายเมื่อยี่สิบหรือสามสิบปีมาแล้ว!
ผู้เขียนจำได้ว่าควายตัวสุดท้ายของเครือญาติถูกขายไปในช่วงต้นทศวรรษ 2520 พร้อมกับการเข้ามาของเงินกู้ ธกส. ควายเหล็ก คลองชลประทาน เมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุุ์ กข. ปุ๋ย ยาฆ่าหญ้าและฆ่าแมลงของมอนซานโต้ และการทำนาปรังปีละ 2 – 3 ครั้ง[2]
เพียงไม่กี่ปีต่อมา ในช่วงต้นทศวรรษ 2530 เกิดนายหน้าซื้อที่ดินดาหน้ากันเข้าไปยังหมู่บ้านชาวนาภาคกลาง และการขายที่ดินของชาวนาเป็นจำนวนมาก จนถึงกับมีการกล่าวกันว่าชาวนาที่ภาคกลางโดยเฉพาะที่อยุธยา สุพรรณบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี และนครสวรรค์ ที่อยู่ติดเส้นทางหลวงต่างๆ ถูกขายไปเป็นจำนวนมาก จำได้ว่าเคยเห็นการอ้างสถิติในช่วงเศรษฐกิจบูมยุคชาติชายว่า ชาวนาสูญเสียที่ดินไปกว่า 40%
ตามมาด้วยการก่อเกิดเศรษฐีใหม่ในหมู่บ้านชาวนาภาคกลาง ที่พากันขับรถปิ๊กอัพไปกินข้าวต้มโต้รุ่ง และเข้าบาร์เบียร์ในเมือง ชาวบ้านหันมาจ้างผู้รับเหมาจัดเลี้ยงโต๊ะจีน พร้อมวงดนตรีและแดนเซอร์นุ่งน้อยห่มน้อย
ขณะเดียวกัน ชาวบ้านก็พากันรื้อบ้านทรงไทยใต้ถุนสูง ถมที่ดิน แล้วสร้างบ้านครึ่งปูนครึ่งเรือนทรงไทยหรือครึ่งไม้กันอย่างขนานใหญ่ เส้นทางน้ำทั้งหลายก็ถูกปิดกั้นตามสภาพขอบเขตโฉนดที่ดินและตามกำลังทางการ เงินของแต่ละครอบครัวที่จะถมที่ดินได้สูงแค่ไหน และมาถึง ณ วันนี้ ผู้เขียนไม่แน่ใจว่ายังมีกี่บ้านในหมู่บ้านริมน้ำท่าจีนบ้านเกิดของผู้เขียน ที่ยังมีเรือแจวเหลืออยู่ที่บ้าน
ไม่นานเงินที่ได้จากการขายที่ดินก็หมด เกิดวิกฤติฟองสบู่ในปี 2540 พร้อมกับตัวเลขหนี้สินเกษตรกรในภาคกลางที่สูงลิ่วครอบครัวละเกือบครึ่งล้าน บาท
แต่นับตั้งแต่ปี 2530 ที่ดินที่เคยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำแห่งทุ่งอยุธยา ที่ถูกขายเปลี่ยนมือกันจากชาวนา สู่นายหน้า และขายให้กับนายทุน และก็ถูกถมที่และก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมโดยทันที จนทำให้ในปัจจบัน เมืองอู่ข่าวอู่น้ำและแอ่งอารยธรรมอยุธยากลายเป็นนิคมอุตสาหกรรมแรงงานราคา ถูกเต็มทั้งจังหวัด และแม้ว่าจะอยู่ห่างจากกรุงเทพเพียงไม่ถึงชั่วโมง แต่เพดานค่าแรงขั้นต่ำของอยุธยาที่ถูกดองไว้เพื่อส่งเสริมการลงทุนในปี 2554 จึงอยู่ในอัตราวันละ 190 บาท ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำที่กรุงเทพฯ ถึงวันละ 25 บาท
และนับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2530 มาจนถึงปัจจุบัน แทบจะไม่มีใครเชื่อว่าที่ราบลุ่มน้ำท่วมขังทุกปีเช่นอยุธยาจะเต็มไปด้วยนิคม อุตสาหกรรมเกือบทั้งจังหวัด ทั้งนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ ไฮเทค บางปะอิน บ้านแพน สหรัตนนคร เป็นต้น
ด้วยวิถีชีวิตและสภาพบ้านเรือนที่ปรับเปลี่ยน วิถีชีวิตธรรมชาติแห่งฤดูน้ำท่วม น้ำหลาก เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ทำนิคมอุสาหกรรมและเมืองโบราณของอยุธยาจมมิดน้ำ แม้เป็นเรื่องที่ยากจะป้องกัน แต่ด้วยมูลค่าความเสียหายและการไม่สามารถรับมือได้ทันสถานการณ์ จึงเป็นเหตุการณ์ที่น่าสะเทือนใจยิ่ง และกลายเป็นวิกฤติที่นำความเดือดร้อนและความเสียหายให้กับชาวบ้านและ อุตสาหกรรมสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์
ความเดือนร้อนจากเหตุการณ์น้ำท่วมภาคกลางครั้งนี้ ก็ไม่เว้นแม้แต่ชุมชนที่คุ้นเคยกับภาวะน้ำท่วมเช่นชาวบางปลาม้าบ้านเกิดของ ผู้เขียนเช่นกัน
จากการติดตามข่าวหลายกระแส น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ข้อคิดเห็นและบทวิเคราะห์ต่างๆ พากันชี้ให้เห็นว่ามันเป็นผลพวงที่เกิดจากทั้งธรรมชาติและน้ำมือมนุษย์ โดยเฉพาะเกิดจากการขาดวิสัยทัศน์และการจัดการทำผังประเทศและผังเมืองตามสภาพ สิ่งแวดล้อมและภูมิประเทศของรัฐบาลไทยมาอย่างยาวนาน ทุกยุค ทุกสมัย
เมื่อพูดเรื่องการวางแผนระยะยาวเตรียมการเรื่องน้ำท่วม ภัยธรรมชาติ และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลก ประเทศไทยังใส่ใจกับเรื่องทั้งเรื่องเหล่านี้ รวมทั้งการศึกษาวิจัยและการวางแผนผังประเทศแบบบูรณาการที่สอดรับกับวิถี ธรรมชาติและสภาพทางภูมิประเทศน้อยมากอย่างน่าตระหนก ทั้งๆ ที่มีบทเรียนความเสียหายเกือบทุกปี
แต่เมื่อดูงบประมาณปี 2554 ที่รัฐบาลอภิสิทธิ์อนุมัติทิ้งมรดกให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็เข้าใจดีว่ารัฐบาลรวมศูนย์แห่งกรุงเทพฯ ไม่มีความรู้และใส่ใจในเรื่องเหล่านี้เลย งบด้านสิ่งแวดล้อมของแผนงบประมาณปี 2554 มีเพียง 2,761 ล้านบาท คิดเป็นเพียง 0.1% ของแผนงบประมาณ ในขณะที่งบด้านการป้องกันประเทศ 153,543.8 ล้านบาท คิดเป็น 8.1% และงบการรักษาความสงบภายใน 122,566 ล้านบาท คิดเป็น 5.9% หรือจะเปรียบเทียบได้ว่างบทหารมีมากกว่างบด้านสิ่งแวดล้อมถึง 55.6 เท่า และงบด้านการรักษาความสงบภายในมีมากกว่างบด้านสิ่งแวดล้อมถึง 44 เท่า และเมื่อรวมกันทั้งงบทหารและการรักษาความสงบภายในประเทศ มีมากกว่างบด้านสิ่งแวดล้อมถึง 99.6 เท่าตัว
ที่มา งบประมาณโดยสังเขป ฉบับปรับปรุง ตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554
ในแผนงบประมาณ 5. ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อรองรับการ เปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศของโลก อนุมัติงบด้านนี้ไว้เพียง 36,987.7 ล้านบาท หรือคิดเป็นเพียง 1.8% ของแผนงบประมาณปี 2554 โดยทั้งนี้ ที่น่าใจหายยิ่งคือ ในแผนงบประมาณสิ่งแวดล้อม มีระบุงบศึกษาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไว้เพียง 99.9 ล้านบาท (ด้วยความเคารพขออนุญาตเปรียบเทียบ) หรือคิดเป็นเพียง 4% ของงบสนับสนุนสำนักพระราชวังประจำปี 2554 ที่มีจำนวน 2,600 ล้านบาท (ไม่นับรวมงบประมาณสนับสนุนโครงการพระราชดำริอีก 2,300 ล้านบาท)
ที่มา งบประมาณโดยสังเขป ฉบับปรับปรุง ตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554
แม้ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม หรือนักเศรษฐศาสตร์ แต่เมื่อดูแผนงบประมาณรัฐบาลไทย ก็เห็นได้คร่าวๆ ถึงความใส่ใจน้อยมากด้านสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติของรัฐบาลไทย อาจจะเป็นเพราะประเทศไทยไม่มีพรรคการเมืองสีเขียวด้านสิ่งแวดล้อมคอยดัน ประเด็นเรื่องนี้ในรัฐสภาก็เป็นได้
กระนั้นก็ตาม ด้วยภัยธรรมชาติดติดต่อกันมาทุกปี ทั้งภัยน้ำแล้ง หมอกควัน และน้ำท่วม สร้างความเสียหายปีละหลายหมื่นหรือหลายแสนล้านบาท งบประมาณศึกษาวิจัยเพียง 100 ล้านบาท ดูน้อยนิดเหลือเกินกับมูลค่าความเสียหายต่างๆ เหล่านี้
และแม้ว่าไม่มีพรรคเขียวคอยดันแนวนโยบายด้านส่ิงแวดล้อมและธรรมชาติ มันก็จำเป็นที่รัฐบาลพรรคเสรีนิยมเพื่อไทย หรือพรรคอนุรักษ์นิยมประชาธิปัตย์ รวมทั้งกลไกแห่งข้าราชการขุนนางไทย ต้องจัดวางความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมและการทำผังประเทศอย่างยั่งยืน เปิดให้เกษตรกรและประชาชนจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะกลุ่มชาวบ้านที่รวมตัวปกป้องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดการสอดประสานรับกับความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง
หมดเวลาที่ประเทศไทยจะคิดเรื่องการพัฒนาและการป้องกันภัยพิบัติ ด้วยการทุ่มงบประมาณมหาศาลไปกับซีเมนต์และคอนกรีต แต่ควรเปิดมุมมองและแสวงหามาตรการที่หลากหลาย ที่มุ่งเรื่องการคืนความสมดุลให้กับสภาพภูมินิเวศน์และธรรมชาติ และจัดทำผังบริหารจัดการทั้งน้ำท่วมนำแล้งอย่างบูรณาการและยั่งยื่นทั้ง ประเทศ
และที่สำคัญรัฐบาลไทยควรนำประเด็นเรื่องนี้มาอยู่ในแผนพัฒนาระดับต้นๆ ไม่ใช่งบประมาณท้ายๆ ที่เหลือจากการจัดสรรจากกองทัพและกระทรวงหลักๆ ของประเทศเสียที!
เสียงเรียกร้องให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์เริ่มคิดเรื่องมาตรการจัดการเรื่อง 'น้ำท่วมและน้ำแล้ง' อย่างบูรณาการและยั่งยื่นจากผลพวงน้ำท่วมปี 2554 จึงดั่งกระหึ่มมาจากทุกทิศทาง!
[1] จรรยา เป็นลูกชาวนาจากบางปลาม้า สุพรรณบุรี บัณฑิตคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ใช้ชีวิตหลังมหาลัยเดินทางทั่วประเทศไทยและทั่วโลกเพื่อศึกษาและรณรงค์ เกี่ยวกับสิทธิแรงงาน สิทธิสตรี และนับตั้งแต่ปี 2552 ทำงานเขียนและรณรงค์เรื่องประชาธิปไตยในประเทศไทย
[2] จากรายงานขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เมื่อปี 2543 ประเทศไทยมีเนื้อที่ทำการเกษตรมากเป็นอันดับที่ 48 ของโลก แต่ใช้ยาฆ่าแมลงมากเป็นอันดับ 5 ของโลก ใช้ยาฆ่าหญ้าเป็นอันดับ 4 ของโลก นำเข้าสารเคมีสังเคราะห์ทางการเกษตรปีละ 30,000 ล้านบาท และปัจจุบันประเทศไทยนำเข้าปุ๋ยเคมีปีละ 30-40,000 ล้านบาท
บทความจาก http://thaienews.blogspot.com/2011/10/2554_16.html
ภาพจาก ok nation
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ