คำพูดเหล่านี้มีแง่มุมน่าสนใจสามประการ
ประการแรก คำพูดเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่แช่เปื่อยมาจากวิกฤตน้ำท่วมในอดีต เปรียบดั่ง“วิกฤตน้ำปากไหลหลาก” ที่ช่วยกันพูด ช่วยกันคิด ช่วยกันเถียง แต่พอน้ำลด น้ำปากก็หมด แน่นอนว่าน้ำใจของผู้มีจิตอาสานั้นน่าชื่นชมอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ตะกอนความจริงที่เหลือก็คือ ความคิดเห็นที่จะแก้ไขปัญหาได้ไหลลงท่อออกทะเลไปกับน้ำ ฝ่ายที่บริจาคของเก่าก็เก็บเงินซื้อของใหม่ ฝ่ายที่ได้รับของบริจาคก็เก็บเงินซ่อมบ้านแล้วรอรับบริจาคครั้งต่อไป ส่วนนักคิดนักวิจารณ์นักวิชาการก็รอไต่อ่างมาพายเรือวนกันอีกรอบทุกห้าถึง สิบปี
ประการที่สอง เมื่อน้ำท่วมทุกคนไม่เท่ากัน มุมมอง “ความเป็นธรรมในการจัดการน้ำท่วม” ของตนในสถานการณ์หนึ่ง อาจตรงกันข้ามกับมุมมองตนเองในอีกสถานการณ์หนึ่ง สมมติมีคนไทยแบบ John Rawls วันแรกอยู่ที่กรุงเทพฯ นั่งทำบุญบริจาค “like” ทาง facebookแต่ก็กดดู update เพราะกลัวน้ำมา แต่วันที่สองต้องไปนั่งกดจิตและรอความช่วยเหลืออยู่บนหลังคาที่นครสวรรค์ แม้ชื่อสถานที่จะทำให้เชื่อว่าเป็นแดนเทวดาเหมือนกัน แต่คนคนนี้ก็คงหนักใจที่จะสวมผ้าคลุมไม่รู้ร้อน (veil of ignorance)ข่มให้ตนกลับไปสู่สถานะที่มองไม่เห็นสิ่งที่เกิดที่กรุงเทพฯและ นครสวรรค์ เพื่อใคร่ครวญอย่างยุติธรรมว่า หากตนเป็นรัฐบาลตนจะเร่งแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างไรให้เป็นธรรมกับทุกฝ่าย
ประการที่สาม คงดีไม่น้อยหากประโยคว่า “เราจะฝ่าวิกฤตนี้ไปด้วยกัน”ไหลหลากท่วมท้นมาจากคนไทยทุกคน แต่ก็คงน่ารันทดยิ่งนักหากคำพูดดังกล่าวกลับกลบเสียงคนไทยแบบ JohnRawls จนแทบไม่ได้ยิน เพราะพอเริ่มคิดเริ่มพูดทวงหาความเป็นธรรม ก็ถูกก่นด่าว่าสร้างความแตกแยกไปทำไม หากไม่ถูกบังคับให้ไปนั่งบนหลังคา ก็กลับไปนั่งกด “like” ยังจะดูดีมีคุณธรรมเสียยิ่งกว่า
ผู้เขียนเกรงว่าบทความนี้อาจเป็นเรื่องที่คนอยากรู้จะยังไม่ได้อ่าน ส่วนคนที่ได้อ่านก็อาจยังไม่ได้อยากรู้ แต่เมื่อไม่แน่ใจว่าจะได้เขียนอีกนานแค่ไหน และคนที่อยากให้ได้อ่านจะมีเวลาอ่านอีกนานเพียงใด บทความนี้จึงจำต้องละจากเรื่อง “วิกฤตน้ำท่วมในแง่มุมของคนที่ยังไม่ถูกท่วม”(ว่าจะเตรียมรับสถานการณ์อย่าง ไร ซึ่งก็สำคัญ – ณ วันที่เขียนผู้เขียนก็ยังเป็นหนึ่งในนั้น) แล้วคิดเรื่อง “วิกฤตน้ำปากไหลหลาก” ที่เป็นปัญหาของทั้งคนที่ยังไม่ถูกท่วมและที่ถูกท่วมไปแล้ว (ซึ่งผู้เขียนก็อาจกลายเป็นหนึ่งในนั้น)
ผู้เขียนขอชวนให้ช่วยกันคิดว่า นอกจากเราจะมีจิตอาสาส่งแรงส่งเงินส่งกำลังใจให้กัน หรือต่อว่าติติงกัน หรือพร่ำวนกับข้อเสนอสูงส่งในหนังสือพิมพ์และจอโทรทัศน์อันล้วนเป็นสิ่งที่ จำเป็นแล้ว จะยังมี “กระบวนการ” อื่นใดหรือไม่ ที่สามารถเอื้อให้คนไทยร่วมกันไล่ “วิกฤตน้ำปากไหลหลาก”ออกไป แม้ “วิกฤตน้ำท่วม”อาจอยู่ต่อไปอีกเป็นเดือนและจะกลับมาตามธรรมชาติอีกในอนาคตก็ ตาม
สำหรับเวลานี้ ผู้เขียนขอร่วมคิดผ่าน “สามปุจฉา” ว่าด้วยกระบวนการทางตุลาการ บริหาร และ นิติบัญญัติ ที่อาจเปลี่ยน “วิกฤตน้ำปากไหลหลาก” ให้เป็น “โอกาสทางประชาธิปไตย”ได้ดังนี้
ปุจฉาที่ ๑: “เธอ” ไม่ท่วม ท่วมแต่ “ฉัน” ฉันก็คนเหมือนกัน ฉันฟ้องศาลได้หรือไม่
ผู้เขียนไม่คิดว่ามีศาลใดในโลกที่มีอำนาจสั่งให้น้ำลดแล้วไหลลงทะเล แต่ก็ไม่คิดว่าวันนี้สังคมไทยมีคำตอบที่ชัดเจนว่า “การระบายน้ำออกทะเลได้เร็วและดีที่สุด” นั้นต้องทำอย่างไร ผู้เขียนเองไม่ได้เชี่ยวชาญการจัดการปัญหาอุทกภัย และไม่ทราบถึงหลักการทางวิทยาศาสตร์ หรือหลักการใดที่จะนำมาตัดสินความเป็นธรรม อีกทั้งบรรดารัฐบาลและผู้เชี่ยวชาญรายวันก็พูดไม่ตรงกัน หลายคนรวมถึงผู้เขียนก็ไม่รู้จะเชื่อใคร
กระนั้นก็ดี ยังมีประชาชนไทยที่ถูกบังคับให้ต้องเชื่อตัวเอง เมื่อตนเชื่อว่าถูกข่มเหงให้ถูกท่วมและไม่เป็นธรรม แต่เมื่อไม่รู้จะพึ่งใคร ก็จำใจตั้งศาล ณ บัลลังก์คันดิน และไม่ยั้งที่จะลงมือบังคับคดีพิทักษ์ทรัพย์รถแบ็คโฮแล้วปล่อยหรือกักน้ำ ด้วยตนเอง ภาพเช่นนี้ทั้งน่าเห็นใจและหนักใจไม่น้อยไปกว่าภาพที่ผู้ว่าราชการจังหวัด หลั่งน้ำตาขอร้องให้ประชาชนบางส่วนยอมเสียสละเพื่อช่วยกันรักษาจังหวัดไว้ แม้จะต้องแลกด้วยตำแหน่งของตนก็ตาม
สังคมไทยเริ่มตั้งคำถามว่าใครมีคุณธรรม ใครเห็นแก่ตัว แต่การตั้งคำถามที่ไร้กระบวนการและทิศทางเช่นนี้ กว่าจะหาคำตอบได้สุดท้ายน้ำท่วมก็ลด น้ำปากก็หมด คนก็ลืม เรื่องที่ปะทะกันก็แล้วไป ไว้อีกห้าหกปีค่อยว่ากันใหม่
แต่ลองคิดไกลไปอีกขั้น หากประชาชนที่เชื่อว่าตนตกเป็นเหยื่อน้ำท่วมอย่างสาหัสมากกว่าที่ควรจะเป็น เพราะว่ารัฐได้กั้นน้ำเพื่อปกป้องประชาชนอีกส่วน จะถือว่าประชาชนส่วนแรก “ถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม” และนำคดีไปฟ้องศาลได้หรือไม่ หรือประชาชนต้องจำยอมเชื่อข้อมูลของเจ้าหน้าที่ที่บอกว่าต้องยอมให้ท่วม โดยไม่อาจโต้แย้งหรือตรวจสอบได้ รอได้แต่ค่าช่วยเหลือชดเชย หรือประชาชนจำต้องกลับไปตั้งศาล ณ บัลลังก์คันดิน (ซึ่งอาจลามไปถึงบัลลังก์คอนกรีต) แล้วบังคับคดีเรียกหาความยุติธรรมด้วยตนเอง
หากน้ำไม่ท่วมศาลไปเสียก่อน ช่องทางแสวงหาความยุติธรรม ณ บัลลังก์ศาลปกครองก็พอมีอยู่ โดยประชาชนผู้ได้รับความเสียหายอาจมอบอำนาจยื่นฟ้อง นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี กรมชลประทาน และฟ้องเผื่อไปถึง คปภ. (คณะกรรมการบริหารจัดการแก้ปัญหาอุทกภัย โคลนถล่มและภัยแล้ง)กปภ.ช. (คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรน้ำ และผู้ว่าราชการจังหวัดที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานทางปกครองที่เกี่ยวข้องกับการจัดการและ บริหารน้ำ ด้วยเหตุว่าการที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหลายได้มีข้อสั่งการ มติ คำสั่ง หรือกระทำทางปกครองอันนำไปสู่หรือมีผลกัก กั้น ปล่อย หรือจัดการน้ำในบางบริเวณจนผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายอย่างสาหัสเกินกว่า ที่ควรเป็นนั้น ถือเป็นการกระทำทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ที่ว่า “ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” นั้น อาจฟ้องว่าเพราะ “มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม”ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ และขอให้ศาลสั่งห้ามการกระทำลักษณะดังกล่าว ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งข้อสำคัญ คือ มาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑)และวรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ ได้ให้อำนาจศาลสามารถบังคับสั่งห้ามการกระทำไปถึงอนาคตได้ อีกทั้งยังกำหนดเงื่อนไขเพื่อความเป็นธรรมเฉพาะกรณีได้อีกด้วย
นอกจากจะฟ้องเรื่อง “การเลือกปฏิบัติ”แล้ว หากจะฟ้องเรื่องการ “ละเลยต่อหน้าที่” หรือ “ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร” (เช่น หน้าที่การระบายน้ำเพื่อป้องปัดภัยพิบัติ การให้ข้อมูลหรือสั่งอพยพ การให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูเยียวยา ฯลฯ) หรือ “การกระทำละเมิดหรือรับผิดอย่างอื่น”(เช่น เลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมจนทำให้เกิดความเสียหายในชีวิต ร่างกายและทรัพย์สิน ฯลฯ) ก็อาจฟ้องไปพร้อมกัน อีกทั้งการฟ้องคดีเกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะย่อมไม่ติดข้อจำกัดเรื่องอายุ ความตาม มาตรา ๕๒ แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ
แต่ใช่ว่าฟ้องไปแล้วศาลจะต้องรับฟ้อง ศาลปกครองอาจไม่รับฟ้องโดยอธิบายว่า การบริหารจัดการน้ำในยามอุทกภัยไม่ถือเป็นการใช้อำนาจทางปกครอง แต่เป็นการใช้อำนาจบริหารราชการแผ่นดินหรือเป็นเรื่องดำเนินการตามนโยบาย รัฐบาล หรืออธิบายว่าคดีนี้ไม่สามารถกำหนดคำบังคับคดีได้ หรือหากฟ้องช้า ก็อาจอธิบายว่าการกระทำทางข้อเท็จจริงเสร็จสิ้นไปแล้วเปลี่ยนแปลงไม่ได้ หรือศาลอาจพิจารณาว่าการแก้ไขปัญหายังอยู่ระหว่างการดำเนินการตามขั้นตอนและ สั่งการไม่แล้วเสร็จ ศาลจึงอาจไม่รับคดีไว้พิจารณา เป็นต้น
มีตัวอย่างคดีที่ประชาชนเคยโต้แย้งมติรัฐมนตรีเกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้ ประสบอุทกภัยที่มีลักษณะเลือกปฏิบัติ ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้อง โดยเห็นว่าเป็นกรณีที่ฝ่ายบริหารกระทำการในฐานะที่เป็นรัฐบาล เป็นเพียงแนวทางการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ศาลปกครองจึงมิอาจตรวจสอบได้โดยสภาพ อย่างไรก็ดี ศาลปกครองสูงสุดกลับเห็นว่า การใช้อำนาจทางปกครองเพื่อปฏิบัติตามนโยบายคณะรัฐมนตรีนั้น ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียย่อมโต้แย้งได้ จึงมีคำสั่งให้รับคดีดังกล่าวไว้พิจารณา (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๖๗๒/๒๕๕๑)
สุดท้ายแม้ศาลรับฟ้อง ก็ยังมีปัญหาว่า “การเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม”หรือการกระทำที่ไม่ชอบนั้นเป็นอย่างไร ต้องพิจารณาควบคู่กับหลักกฎหมายปกครองอื่นอย่างไร เช่น หลักความได้สัดส่วนและสมควรแก่เหตุ หลักคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ หรือหลักความชัดเจนแน่นอนและคาดหมายได้จากการกระทำทางปกครอง หลักกฎหมายเหล่านี้ ตลอดจนบทบัญญัติบางมาตราของกฎหมายฉุกเฉิน เช่น มาตรา ๑๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ (หากมีการประกาศใช้)หรือ มาตรา ๔๓ แห่ง พ.ร.บ. ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยฯ เปิดช่องให้ศาลชั่งน้ำหนักว่า ฝ่ายปกครองได้แก้ปัญหาตามความจำเป็นและสมเหตุสมผลหรือไม่ เช่น ทำไปเพื่อรักษาประโยชน์สาธารณะไม่ว่าจะเป็นความมั่นคงและเศรษฐกิจของชาติ การรักษาเมืองหลวงเพื่อเป็นศูนย์ในการช่วยเหลือฟื้นฟูประเทศ ฯลฯ ซึ่งจะฟังขึ้นหรือไม่เช่นใดนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับดุลพินิจที่ศาลจะไต่สวนฟังความจากทุกฝ่าย ไม่ใช่ให้ใครผูกขาดความเป็นธรรมตามอำเภอใจแต่ผู้เดียว
ผู้เขียนพึงตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมดังนี้
ข้อสังเกตประการแรก อาจมีผู้ถามว่า “ฟ้องไปแล้วได้อะไรขึ้นมา” “ฟ้องเพื่อให้ทุกคนถูกท่วมด้วยกันหรือ”ผู้เขียนตอบว่า การฟ้องคดีจะสำเร็จหรือมีผลออกมาเช่นใดนั้น ผู้เขียนไม่ติดใจมากเท่ากับการสนับสนุนให้ประชาชนคนไทยตื่นตัวกับสิทธิ เสรีภาพที่ตนมีอยู่ และไม่ขยาดกลัว “กระบวนการประชาธิปไตย”ที่ประกันให้ทุกคนในสังคมมีสิทธิและช่องทางในการ เรียกร้องความเป็นธรรมด้วยตนเองอย่างเท่าเทียมกัน การเผชิญหน้าอย่างสันติผ่านกระบวนการกฎหมาย ย่อมไม่ใช่ตัวเลือกสำรองของการใช้ “กฎหมู่”หรือ “กฎแห่งความอาทรเมตตา” ที่แคบกว้างตามอำเภอใจของแต่ละบุคคล หรือแม้แต่ “กฎแห่งกรรม”ที่อาจอยู่เหนือการควบคุม
แน่นอนว่าในวิกฤตปัจจุบันย่อมไม่มีใครอยากให้ใครถูกน้ำท่วม แต่คงไม่เป็นธรรมหากจะบอกว่าคนถูกท่วมกับคนไม่ถูกท่วมมีสิทธิคิดแทนกันได้ ไม่ว่าสุดท้ายผลแห่งคดีจะออกมาเช่นใด หากศาลรับฟ้อง ทุกฝ่ายย่อมได้ประโยชน์จากการอาศัยกระบวนการยุติธรรมเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริง และฟังความทุกฝ่ายอย่างเป็นธรรม ศาลสามารถเรียกพยานและเอกสารรวมถึงข้อมูลที่ภาครัฐเก็บไว้มาไต่สวน ซึ่งประชาชนผู้ฟ้องก็จะได้ร่วมตรวจสอบ ตลอดจนนำความเห็นของพยานผู้เชี่ยวชาญและประสบการณ์การแก้ปัญหาในต่างประเทศ มาสนับสนุนหักล้างให้เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาได้
สมควรกล่าวเพิ่มว่า การอาศัยกระบวนการยุติธรรมเพื่อ “แสวงหาข้อเท็จจริง” จำเป็นอย่างยิ่งในสังคมไทยที่ประชาชนไม่อาจหวังพึ่งภาครัฐ สื่อมวลชน หรือนักวิชาการได้เท่าที่ควร เห็นได้จากข้อถกเถียงบางส่วนที่ยังวกวนและไม่กระจ่าง ณ เวลานี้ อาทิ
จริงหรือไม่ว่า ความรุนแรงและความยืดเยื้อของวิกฤตที่ประชาชนในบางพื้นที่ต้องถูกน้ำท่วมสูง เป็นเวลานานเป็นเพราะภาครัฐเลือกปฏิบัติช่วยเหลือเฉพาะพื้นที่บางส่วนโดยการ ไม่ปล่อยให้น้ำระบายออกตามธรรมชาติโดยสะดวก และจริงหรือไม่ว่า การปล่อยให้น้ำท่วมทุกพื้นที่ก็มิได้ทำให้น้ำท่วมจุดใดลดน้อยลง โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ที่มิได้ออกแบบมาให้ระบายน้ำหลากนอกแม่น้ำ อีกทั้งมวลน้ำจากภาคเหนือมีมหาศาล การยอมให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ ก็มิได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น
จริงหรือไม่ว่า ภาครัฐได้ละเลยการบริหารจัดการน้ำโดยกักน้ำในเขื่อนไว้มากและนานเกินไป ตั้งแต่สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ และต่อมาในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ไม่มีการจัดการปล่อยน้ำให้ทันการณ์ และจริงหรือไม่ว่าเป็นเพราะมีเหตุให้เชื่อว่าจำเป็นต้องกักน้ำจำนวนมากไว้ กันแล้ง
จริงหรือไม่ว่า รัฐบาลได้เลือกปฏิบัติโดยทุ่มงบประมาณวัสดุก่อสร้างคันหรือเขื่อนกั้นน้ำให้ แข็งแรงและทนทานเฉพาะบางพื้นที่ ในขณะที่บางพื้นที่กลับได้รับการสนับสนุนที่ขาดแคลนไม่เท่าเทียมกัน (เทียบคันดินกับคันคอนกรีต)หรือแม้แต่ “กองเรือผลักดันน้ำครั้งใหญ่ที่สุดในโลก” นั้น หากมีประโยชน์ตามที่อ้างจริง ย่อมต้องไม่เลือกปฏิบัติจัดเฉพาะที่ปลายน้ำเจ้าพระยาเท่านั้น แต่ต้องขับน้ำจากภาคกลางตอนบนเพื่อเร่งผลักมวลน้ำลงมาแต่เนิ่นๆ ก่อนที่มวลน้ำที่สมทบจากภาคเหนือจะสูงขึ้น
จริงหรือไม่ว่า เขตอุตสาหกรรมที่จมน้ำไปหลายแห่งนั้น บางแห่งได้รับการเลือกปฏิบัติให้ความคุ้มกันดูแลหนาแน่นเป็นพิเศษยิ่งกว่า ที่อื่น (แม้สุดท้ายจะรักษาไว้ไม่ได้ก็ตาม) เพราะเจ้าหน้าที่ภาครัฐระดับสูงมีส่วนได้เสียกับกำไรของเขตอุตสาหกรรมนั้น ในขณะที่หลายพื้นที่กลับไม่ได้รับการแจ้งเตือนและถูกละเลย
จริงหรือไม่ว่า การบริหารน้ำที่เลือกปฏิบัติและผิดพลาดเป็นผลมาจากการที่เจ้าหน้าที่บาง หน่วยงาน ไม่กล้าปฏิบัติหน้าที่หรือให้ข้อมูลอย่างเต็มที่ เพราะเกรงกลัวอิทธิพลทางการเมืองที่โยงใยกับผลประโยชน์ของพื้นที่บางบริเวณ และงบประมาณในการเตรียมการรับมือน้ำท่วมกลับถูกย้ายไปใช้เพื่อการอื่น
ผู้เขียนไม่ปักใจว่าคำตอบของคำถามข้างต้นจะต้องเป็นอย่างไร และไม่อาจทราบได้ว่าเป็นเพียงข้ออ้างข้อสงสัยที่ลึกซึ้งหรือเลื่อนลอย ขณะเดียวกันก็เห็นใจประชาชนที่อัดอั้นและต้องการเรียกร้องความเป็นธรรมไม่ น้อยไปกว่าที่เห็นใจภาครัฐและฝ่ายปกครองตลอดจนกองทัพที่เหน็ดเหนื่อยกับการ พยายามแก้ปัญหาให้ดีที่สุด มีหลายคดีในอดีตที่ฝ่ายปกครองพยายามผันระบายน้ำ แต่เมื่อไม่อาจทำให้ถูกใจทุกคนก็ถูกฟ้องหลายคดี เชื่อเหลือเกินว่าหากทำให้ไม่มีใครถูกท่วมได้ ภาครัฐก็คงกระทำไปแล้ว
กระนั้นก็ดี ผู้เขียนจำต้องย้ำว่ากระบวนการยุติธรรมไม่ใช่ระบบการต่อว่าให้ร้ายว่าใครผิด ใครถูก แต่เป็นกระบวนการนำความจริงมาเปิดเผย โต้แย้ง และตรวจสอบอย่างเป็นระบบเพื่อปรับปรุงแก้ไขสิ่งที่อาจผิดพลาด ถูกปิดบังหรือถูกละเลย ผู้ที่ชนะคดีในทางกฎหมาย ใช่ว่าจะต้องชนะในทางความเป็นจริงเสมอไป ตรงกันข้าม การที่ศาลไม่รับฟ้องคดีจนประชาชนไร้ที่พึ่งนั้น อาจจุดประกายการต่อสู้ทางประชาธิปไตยเพื่อปฏิรูปสังคมก็เป็นได้
ข้อสังเกตประการที่สอง รัฐธรรมนูญได้ประกัน “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”และ “ความเสมอภาค” ให้คนไทยทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม ไม่ว่าจะในยามแล้งหรือยามน้ำหลาก ไม่ว่าจะรวยจนหรืออยู่ ณ จังหวัดใด
แต่คำว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” และ “ความเสมอภาค” นั้น ไม่ได้แปลว่า “ทุกคนต้องได้รับการปฏิบัติเหมือนกันทุกประการ” ตรงกันข้าม ยามใดที่ “ทุกคนต้องได้รับการปฏิบัติเหมือนกัน”ยามนั้น “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” และ“ความเสมอภาค”ย่อมไม่หลงเหลือ
ลองนึกถึงสังคมที่คนทุกคนไม่ว่า เด็กทารก มหาเศรษฐี หรือคนชราที่ตกงาน ต้องจ่ายภาษีเท่ากัน เกณฑ์ทหารพร้อมกัน และได้รับเงินเบี้ยเลี้ยงจากรัฐบาลเท่ากัน ก็คงจะเห็นภาพปัญหาได้โดยไม่ต้องอธิบาย แต่การที่เด็กทารกกลับนำไปสู่สิทธิการหักภาษี หรือคนชราที่ตกงานได้รับเบี้ยเลี้ยงจากรัฐบาลมากกว่ามหาเศรษฐี ก็เป็นภาพการ “การเลือกปฏิบัติ”อย่างเป็นธรรมที่เราชินตา
รัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๐ ก็ใช้ถ้อยคำที่แสดงให้เห็นว่า “การเลือกปฏิบัติ” ไม่ใช่เป็นสิ่งต้องห้าม ดังที่บัญญัติว่า
“การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างใน เรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้”
เห็นได้ว่ากฎหมายไม่ได้ห้าม “การเลือกปฎิบัติ”ทั้งปวง แต่เจาะจงห้ามเฉพาะการเลือกปฎิบัติ “ที่ไม่เป็นธรรม” อีกทั้งยังต้องเกิดจาก “เหตุแห่งความแตกต่าง” เฉพาะตามที่กฎหมายระบุไว้ แม้กฎหมายจะใช้ถ้อยคำกินความทั่วไปแต่ก็ไม่ได้เปิดกว้างว่าจะเป็นเหตุอะไรก็ ได้ เช่น หากรัฐจะเลือกปฏิบัติลดภาษีให้เฉพาะผู้ที่ฉลาดปราดเปรื่องเพื่อกันการสมอง ไหลออกนอกประเทศ ก็อาจมีผู้เถียงว่าทำได้แน่นอน
ยิ่งไปกว่านั้น รัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๐ บัญญัติต่อไปว่า
“มาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้ บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น ย่อมไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม...”
หากสมมติ (arguendo) ว่า ศาลเห็นว่าการจัดการกักกั้นน้ำมีลักษณะ “เลือกปฏิบัติ” ขั้นต่อไปที่จะพิจารณาว่า “เป็นธรรมหรือไม่”นั้น ก็น่าคิดว่าการกักกั้นน้ำเพื่อปกป้องพื้นที่บางส่วนในประเทศจะถือว่าเป็น มาตรการที่ทำไปเพื่อ “ขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้เช่นเดียวกับ บุคคลอื่น” ตามหลักการใน รัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๐ ได้หรือไม่
แน่นอนว่ามาตรการลดภาษีและดอกเบี้ย ชะลอหนี้สิน ลดค่าน้ำค่าไฟ ฯลฯ แก่ผู้ประสบภัยย่อมชอบด้วยหลักการนี้ แต่การเลือกปฏิบัติเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการประกอบธุรกิจและเดินทางไป มาอย่างอิสระของคนส่วนหนึ่ง จะแลกด้วยการละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน เช่น ชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน หรือแม้แต่สิทธิในเคหสถานที่ต้องเสียหายหรือจมน้ำนานมากขึ้นได้หรือไม่ อย่างไร เส้นวัดความสำคัญของสิทธิเสรีภาพแต่ละประเภทของบุคคลในแต่ละสถานการณ์อยู่ ที่ใด หรือเส้นวัดนี้สามารถขยับเลื่อนได้โดยการจ่ายเงินช่วยเหลือหรือค่าชดเชย แม้จะไม่มีผู้ใดอยากกลายเป็นผู้ได้รับการช่วยเหลือชดเชยก็ตาม
ศาลไทยพร้อมศึกษาประสบการณ์ของศาลต่างประเทศที่ใช้เวลาเป็นร้อยปีในการ พัฒนาหลักเกณฑ์เหล่านี้แทนการตีความตัวบทลายลักษณ์อักษรตามอำเภอใจหรือไม่ หรือศาลไทยจะถือว่าเป็นคำถามที่กฎหมายควรละคำตอบไว้ให้ประชาชนอาศัยกระบวน การทางการเมืองเพื่อเรียนรู้และตัดสินใจตามกาลเวลา
ประเด็นทางนิติศาสตร์ที่ท้าทายเหล่านี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ สำหรับประชาธิปไตยใดที่กำลังพัฒนา แม้คำตอบอาจไม่ชัดเจนทุกข้อ แต่สิ่งที่แน่ชัดในขั้นต้นก็คือ รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๘ วรรคสาม ประกอบกับมาตรา ๖๗ วรรคสาม ประกันให้ประชาชนทุกคนสามารถยกสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคขึ้นอ้างได้โดยตรง ด้วยตนเองเพื่อขอความคุ้มครองจากศาล และศาลก็ย่อมมีดุลพินิจว่าจะคุ้มครองอย่างไรให้เป็นธรรมกับทุกฝ่าย รวมถึงภาครัฐที่ต้องรับหน้าที่ปฏิบัติตามคำพิพากษา
ผู้เขียนเชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมไม่ใช่ของวิเศษสำเร็จรูปที่ดีพร้อม แต่ต้องผ่านการทดสอบ ปฏิบัติจริง และขัดเกลาพัฒนาตามกาลเวลา คำพูดมักง่ายที่ว่าผู้อยู่ในสถานะต่างกันย่อมได้รับการปฏิบัติที่ต่างกัน และต้องยอมรับสภาพนั้นเสมอไป จึงเป็นกรงความคิดที่คับแคบและตื้นเขินไม่ต่างไปจากปัญหาเรื่องรัฏฐาธิปัตย์ รัฐประหารอันล้วนต้องอาศัยการพัฒนาขัดเกลาโดยสถาบันตุลาการที่ลึกซึ้ง หลักแหลมและแยบยล ซึ่งประชาชนอาจจะได้พึ่งพิงและตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ต่อไปจากยามวิกฤตครั้งนี้
วีรพัฒน์ ปริยวงศ์เป็นนักกฎหมายอิสระและติดต่อได้ที่ verapat@post.harvard.edu
https://facebook.com/verapat.pariyawong
หมายเหตุ:นี่เป็นบางส่วนจากบทความเรื่อง น้ำขึ้นให้รีบตัก:พลิก “วิกฤติน้ำปากไหลหลาก”สู่ “โอกาสทางประชาธิปไตย” เผยแพร่ช่วงวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๕๔ เพื่อร่วมรำลึกถึงพระปิยมหาราชผู้ทรงริเริ่มพัฒนาการชลประทานของไทยให้ทัด เทียมนานาอารยประเทศ
ภาพมวลน้ำล้อมรอบกรุงเทพมหานคร จาก http://drbl.in/cffAวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๔
ไฟล์แนบ | ขนาด |
wiirphathn_namthwm.pdf | 257.12 KB |
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ