ยกเลิกการคว่ำบาตรพม่า

10 ก.พ. 2555


 

ประการสำคัญ  ชาติตะวันตกที่คว่ำบาตรพม่าอยู่อย่างสหรัฐและสหภาพยุโรป  จะถือว่าการเลือกตั้งนี้เป็นเกณฑ์สำคัญอันหนึ่งที่จะตัดสินใจว่าควรจะยกเลิก การคว่ำบาตรต่อพม่าที่ทำกันนานปีหรือไม่ ถ้าหากพม่าสามารถจัดการเลือกตั้งได้ดี ไม่โกงเอาที่นั่งที่เหลืออยู่ 48 ที่นั่งในสภาไปให้พรรครัฐบาลเสียทั้งหมด เชื่อได้ว่า ชาติตะวันตกคงจะพอเชื่อใจได้ว่า พม่าจะพัฒนาไปสู่แนวทางที่เป็นประชาธิปไตยได้จริงๆ

 

      รัฐบาลพม่าชุดปัจจุบันภายใต้การนำของประธานาธิบดี เต็ง เส่ง ได้ส่งสัญญาณที่เปิดกว้างมาแล้วว่า ถ้าหากพรรคเอ็นแอลดีได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งซ่อม รัฐบาลจะเสนอตำแหน่งในฝ่ายบริหารให้กับอองซานซูจีและสมาชิกพรรค ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าอองซานซูจีเองนั้นจะตัดสินใจอย่างไร

 

      ที่เสนออย่างนี้บางทีก็อาจจะไม่ใช่เพราะรัฐบาลใจกว้างอะไรมากมาย หากแต่รัฐบาล เต็ง เส่ง ตระหนักดีว่า พวกเขาจะไม่สามารถปฎิบัติต่ออองซานซูจีอย่างที่เคยมาแล้ว และอองซานซูจีกับพรรคเอ็นแอลดีนี่แหละจะทำให้พวกเขาสามารถอยู่ในอำนาจต่อไป ได้อีกนาน การดำเนินการทางการเมืองแบบเผด็จการอย่างที่ผ่านๆมานั้นพาให้ประเทศชาติถอย หลังเข้าคลองและผู้นำพม่าเองก็ตกที่นั่งลำบากเพราะประชาชนต่อต้าน ขาดเสถียรภาพและเศรษฐกิจตกต่ำอย่างยิ่ง

 

      อองซานซูจี  เป็นตัวเชื่อมกับชาติตะวันตกที่ดีที่สุดเท่าที่พม่ามีอยู่ในเวลานี้ ถ้าออองซานซูจียอมรับประกันว่า รัฐบาลเต็งเส่งต้องการที่จะปฏิรูปเปลี่ยนแปลงประเทศจริงๆ ชาติตะวันตกก็จะเชื่อตามนั้นโดยที่รัฐบาลพม่าและพวกนายพลทั้งหลายไม่ต้องพูด เองเลยด้วยซ้ำ

 

      เป้าหมายสูงสุดของการปฏิรูปพม่าเที่ยวนี้ มุ่งหวังต่อความจำเริญทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ แต่หลีกเลี่ยงการปฏิรูปการเมืองไม่ได้เลย เพราะทั้งสองอย่างนี้ผูกพันกันอย่างแยกไม่ออก ถ้าการเมืองยังอยู่ในระบบปิดแบบเผด็จการทหารต่อไป พม่าไม่มีทางที่จะพบกับความจำเริญทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนได้เลย และการพัฒนาเศรษฐกิจในโลกสมัยใหม่นี้ ผูกพันกับต่างประเทศอย่างมาก

 

      แต่ปัญหาของพม่าคือ  ความเป็นเผด็จการทางการเมืองนำไปสู่การโดนปิดล้อมทางเศรษฐกิจด้วยการคว่ำ บาตรจากประเทศตะวันตกซึ่งควบคุมเงินทุนในระบบเศรษฐกิจโลกเอาไว้ในปัจจุบัน  การโดนคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเช่นนี้ทำให้พม่าทำธุรกรรมทางเศรษฐกิจใดๆกับ ประเทศตะวันตกไม่ได้ ประเทศที่ไม่ได้อยู่ในตะวันตกแต่เป็นพันธมิตรสำคัญตะวันตก  อย่าง ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ก็ต้องเดินตามแนวทางแบบตะวันตก การค้าขาย การลงทุนใดๆที่ต้องดำเนินธุรกรรมผ่านธนาคารหรือสถาบันการเงินของตะวันตกหรือ ที่ชาติตะวันตกถือหุ้นอยู่ด้วยล้วนแล้วแต่ทำไม่ได้

 

      การคว่ำบาตรแม้ว่าไม่สามารถทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหรือธุรกรรมใดๆ หยุดชะงักลงทั้งหมดก็จริง แต่มันเป็นอุปสรรคไม่น้อย บรรดานักธุรกิจนักลงทุนที่ต้องการจะทำธุรกรรมใดๆกับประเทศพม่าจำเป็นจะต้อง หาทางเลี่ยง บรรดาธุรกิจที่มีความสัมพันธ์อันดีกับตลาดตะวันตกหรือต้องพึ่งพิงตลาดและ เทคโนโลยีจากตะวันตกก็ไม่อยากจะเสี่ยง

 

      การคว่ำบาตรเป็นมาตรการทางเมืองระหว่างประเทศอย่างหนึ่ง  ที่มุ่งหวังจะกดดันต่อผู้ปกครองที่ไม่พึงปรารถนาในประเทศนั้นๆ  แต่เอาเข้าจริงมันไม่ได้เป็นเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพอะไรนัก เพราะไม่ใช่ว่าทุกประเทศจะร่วมมือใช้มาตรการนี้ ในกรณีของพม่านี้เป็นตัวอย่างที่ดี เมื่อชาติตะวันตกและพันธมิตรพากันคว่ำบาตร รัฐบาลพม่าก็ต้องทางออกด้วยการหันหน้าไปพึ่งจีนมากขึ้น นานวันเข้าพม่าต้องตกไปเป็นเบี้ยล่างของจีนอยู่ภายใต้การครอบงำของจีนใน เกือบจะทุกๆด้าน

 

      สถานการณ์แบบนี้ไม่เป็นผลดีต่อใครเลย แม้แต่กับประเทศตะวันตกอย่างสหรัฐและยุโรปที่ออกหน้าออกตาคว่ำบาตรพม่าอย่าง เอาเป็นเอาตาย  เพราะในที่สุดกลายเป็นว่า จีนผงาดขึ้นมามีอิทธิพลเหนือพม่า  และเหนือพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญของโลกในมหาสมุทรอินเดียด้วย  ในทางการเมืองระหว่างประเทศสถานการณ์เช่นนี้ถือว่าเสียสมดุลย์อย่างยิ่ง

 

      ในทางเศรษฐกิจ ต้องถือว่าประเทศตะวันตกยิงปืนใส่หัวแม่เท้าตัวเอง เพราะบริษัทของชาติตะวันตกและพันธมิตรทำธุรกิจในพม่าไม่ได้เลย ในขณะที่จีนขนทรัพยากรจากพม่าออกไปอย่างสนุกสนาน ทั้งปิโตรเลียมและอัญมณี

 

      สำหรับพม่าเอง สถานการณ์แบบนี้ก็ไม่ถือว่าเป็นสิ่งที่น่าพอใจเลย  เพราะทำให้ประเทศอยู่ในลักษณะที่จะต้องพิงพิงจีนตลอดเวลาจนต้องตกเป็นลูกไล่ ของจีน สิ่งที่ผู้นำพม่าจะต้องคิดคือจะพาประเทศออกจากสถานการณ์แบบนี้ได้อย่างไร

 

      สิ่งที่จะต้องทำคือ  เปิดประตูหาประเทศตะวันตกให้มากขึ้น ถอยห่างจากจีนออกมาอีกหน่อย และหาพวกในเวทีระหว่างประเทศให้มากขึ้น  แต่จะทำอย่างไรได้ในเมื่อยังถูกชาติตะวันตกคว่ำบาตรอยู่เช่นนี้ ถ้าเช่นนั้นก็จะต้องทำทุกวิถีทางให้การคว่ำบาตรนี้ยกเลิกให้ได้

 

      แต่ถึงแม้ว่าชาติตะวันตกทั้งหลายจะไม่ได้สบายใจนักกับการคว่ำบาตร พม่า เพราะตัวเองก็ตกอยู่ในวิกฤตทางเศรษฐกิจแล้วยังจะปิดหนทางทำมาหากินของตัวเอง อีก แต่การที่จะให้ประกาศยกเลิกการคว่ำบาตรง่ายๆแบบไม่มีปีมีขลุ่ยสิ่งที่ทำมา ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมาคงจะไร้ค่า ดังนั้นก็อาจจะยังจำเป็นจะต้องคงเอาไว้โดยตั้งเงื่อนไขให้พม่าต้องปฏิบัติ ตาม

 

      เจ้าหน้าที่ระดับสูงทั้งจากสหรัฐและยุโรปที่เดินทางเข้าออกพม่ากัน หนทางเป็นเทือกในขณะนี้พูดตรงกันอยู่อย่างหนึ่งว่า การยกเลิกการคว่ำบาตรจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อพม่ามีการเลือกตั้งที่เสรีและเป็น ธรรมด้วยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ต้องปล่อยนักโทษการเมืองให้หมด ต้องปรับปรุงเรื่องสิทธิมนุษยชน ต้องมีสันติภาพกับชนกลุ่มน้อย

 

      ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ก็ตาม รัฐบาลชุดปัจจุบันของพม่าไม่มีทางเลือกอย่างอื่นออกจากทำตามเงื่อนไขเหล่า นั้น ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลเต็งเส่งดูเหมือนจะพยายามพิสูจน์ให้เห็นว่ากำลังพยายาม ทำอยู่ แต่องคาพยพส่วนต่างๆของพม่าเองอาจจะยังไม่พร้อมกันทั้งหมด จึงยังดำเนินการอะไรได้ไม่เต็มที่

 

      แต่ถึงอย่างนั้นก็ตามเต็งเส่งต้องพยายามผลักดันเรื่องนี้อย่างเต็ม ที่รวมทั้งหาแรงสนับสนุนจากกลุ่มอาเซียนเพื่อให้ยุติการคว่ำบาตรให้ได้ก่อน ที่ระบบเศรษฐกิจของพม่าจะเกิดวิกฤตร้ายแรงไปกว่านี้และจะฉุดรั้งให้การ ปฏิรูปด้านอื่นๆพลอยหยุดชะงักหรือถอยหลังกลับได้ง่ายๆ

 

      จุดสำคัญคือ เวลานี้พม่าเผชิญหน้ากับปัญหาทางเศรษฐกิจที่หนักหน่วงและเรื้อรังมานาน  องค์กรการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ  ไม่อยู่ในฐานะที่จะยื่นเข้าไปช่วยเหลือได้ถนัดเพราะผู้ถือหุ้นใหญ่คือสหรัฐ ยังกำลังคว่ำบาตรพม่าอยู่ 

 

      พม่าขอคำปรึกษาจากไอเอ็มเอฟเพื่อแก้ไขปัญหาเงินจั๊ต ซึ่งผันผวนมากในระยะที่ผ่านมา (อันที่จริงพม่าขอความช่วยเหลือ  แต่ไอเอ็มเอฟให้ได้แค่คำปรึกษา) ไอเอ็มเอฟแนะนำว่าควรจะยกเลิกระบบหลายอัตราแลกเปลี่ยนเสียที เพื่อสร้างเสถียรภาพทางการเงินและเป็นเครื่องมือทางการเงินให้กับธนาคารกลาง พม่าได้ใช้บริหารเศรษฐกิจของประเทศตามหลักเศรษฐศาสตร์

 

      ปัจจุบันพม่ามีอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเป็นทางการอยู่ที่ 6 จั๊ตต่อ 1 ดอลล่าร์สหรัฐ ในขณะที่ตลาดจริงนั้นอยู่ที่ 700-800 จั๊ตต่อดอลล่าร์สหรัฐ สถานการณ์นี้ไม่มีใครอยากทำธุรกิจกับพม่าแน่ ถ้าจะบังคับให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนทางการ พม่าก็เลยใช้แนวทางแบบจีนสมัยก่อนสร้างเงินเทียมขึ้นมาเรียกว่า Foreign Exchange Certificate – FEC) เพื่อให้เป็นตัวกลางการแลกเปลี่ยนของต่างชาติ แรกทีเดียวกำหนดเอาไว้ FEC ต่อ ดอลล่าร์สหรัฐแบบ 1 ต่อ 1 แต่นานวันเข้า FEC กลับสูญค่าเพราะไม่เป็นที่นิยม ก็เกิดมีระบบการเงินที่ไม่มีคนใช้ขึ้นมาอีก

 

      ไอเอ็มเอฟแนะนำให้พม่ายกเลิกระบบหลายอัตราแลกเปลี่ยนนี้เสีย ยอมรับราคาที่เป็นจริงในตลาดมืดแล้วหาเงินตราต่างประเทศมาสำรองเพื่อ เป็นback-up ให้กับเงินจั๊ต ทางการพม่าก็ได้แต่รับฟังเพราะไม่รู้จะหาเงินตราต่างประเทศจากไหนมาสำรอง เงินขายแก๊สขายอัญมณีที่มากๆนั้น เอาเข้าจริงก็ไม่พอ ที่แย่ไปกว่านั้นคือไม่มีความชัดเจนเลยว่าเงินรายได้ที่เกิดจากการขาย ทรัพยากรเหล่านี้ไปตกอยู่ในมือนายพลคนไหน เพราะปรากฎว่าเงินไม่เข้าคลัง การส่งออกสินค้าอย่างอื่นก็ทำได้น้อยเต็มที เพราะไม่ค่อยได้ผลิตอะไร และที่ผลิตได้ก็ส่งไปขายที่ไหนไม่ค่อยได้เพราะติดปัญหาถูกคว่ำบาตร ส่งออกไปจีนหรือไทยตามแนวชายแดนก็เป็นการค้านอกระบบเสียเป็นส่วนใหญ่

 

      จะขอกู้เงินไอเอ็มเอฟเพื่อการแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเงินเหมือน อย่างที่ประเทศไทยและประเทศอื่นๆทำกัน ก็ทำไม่ได้ เพราะติดปัญหาการคว่ำบาตร ไอเอ็มเอฟทำอะไรให้พม่าไม่ได้เลย  แม้แต่เงินก้อนเล็กๆน้อยๆสำหรับความช่วยเหลือทางวิชาการก็ทำไม่ได้  เพราะผู้ถือหุ้นไม่ยอม

 

      ถ้าปลดล๊อกตรงนี้ออกไปได้  เงินทุนจะไหลเข้าพม่าได้มากขึ้น ทั้งในแง่ความช่วยเหลือและเงินลงทุนจากต่างประเทศผ่านโครงการต่างๆ ซึ่งเวลานี้เข้าคิวอยู่เป็นจำนวนมาก ก็จะทำให้พม่ามีสำรองเงินตราต่างประเทศมากขึ้น กระทรวงการคลังและธนาคารชาติพม่าก็จะมีเครื่องไม้เครื่องมือในการบริหาร เศรษฐกิจมหภาคได้มากขึ้น สะดวกยิ่งขึ้น

 

      ถ้ารัฐบาลบริหารเศรษฐกิจได้ดีขึ้น  ปัญหาและแรงกดดันทางการเมืองก็จะน้อยลง  เพราะประชาชนก็จะให้การสนับสนุนรัฐบาลมากขึ้นแทนที่จะต่อต้านอย่างที่เป็น อยู่ แต่ถ้าผ่านความยุ่งยากทางเศรษฐกิจไปไม่ได้แรงกดดันทางการเมืองก็มากขึ้น ฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงก็อาจจะฉวยโอกาสยึดอำนาจ  พาให้การเมืองพม่าถอยหลังกลับไปอีกครั้งหนึ่ง

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: