เวทีPat(t)ani Peace Process เดินหน้าสร้างสันติภาพแดนใต้

กองบรรณาธิการ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ) 10 ก.ย. 2555 | อ่านแล้ว 2103 ครั้ง

 

เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2555 ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มีการเสวนาพิเศษเรื่อง "กระบวนการสันติภาพปาตานีในบริบทอาเซียน" (“Pat(t)ani Peace Process in ASEAN Context”) ในการประชุมวิชาการนานาชาติรัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ และสันติศึกษาในบริบทอาเซียน

 

 

เปิดบทเรียน 10 ข้อ สร้างสันติภาพในโลก

 

 

ดร.โนเบิร์ต โรเปอร์ส ผู้อำนวยการองค์กรสนับสนุนสันติภาพเบิร์กฮอฟ กล่าวว่า ในช่วงปีครึ่งที่ผ่านมา ตนได้ร่วมกับภาคประชาสังคมในภาคใต้ จัดเวทีสันติภาพของคนใน (Insider peace platform) มีผู้เข้าร่วมประมาณ 50 คน และได้รับการสนับสนุนโดย 5 สถาบันวิชาการ โดยผู้เข้าร่วมได้วิเคราะห์ร่วมกันว่า ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้คืออะไร ในการสัมมนาร่วมกัน 6 ครั้ง โดยได้ทำบทวิเคราะห์ร่วมกันซึ่งจะเผยแพร่ต่อสาธารณะต่อไป เพื่อที่จะสร้างแผนที่ไปสู่สันติภาพ

 

 

           “กระบวนการเหล่านี้ต้องใช้เวลา และในกระบวนการก็มีการสร้างความสัมพันธ์และมีการแลกเปลี่ยนความคิดกันระหว่างกลุ่มคนที่มีความคิดแบบสายเหยี่ยวและสายพิราบ” ดร.โรเปอร์สกล่าว

 

ดร.โรเปอร์สกล่าวว่า มีประสบการณ์ในการสร้างกระบวนการสันติภาพ 10 อย่างในต่างประเทศ ที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างกระบวนการสันติภาพในภาคใต้ ดังนี้

 

1.ประเด็นของภาษา จะเห็นว่าภาษาที่ใช้ในการอธิบายความขัดแย้งมีผลต่อทิศทางในการแก้ไขปัญหา เช่น ถ้ามองว่าเป็นปัญหาความมั่นคงอย่างเดียว ก็จะมีการแก้ปัญหาแบบหนึ่ง ซึ่งประสบการณ์ในประเทศอื่นแสดงให้เห็นแล้วว่า การใช้ภาษาความมั่นคงอย่างเดียวไม่สามารถจะเดินไปได้ ประสบการณ์ในประเทศอื่นๆ ยังชี้ให้เห็นว่า ในขณะที่ความขัดแย้งดำเนินไป ภาษาในการอธิบายความขัดแย้งก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไปด้วย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของภาษานี้ก็จะมีผลทำให้การแก้ไขความขัดแย้งง่ายขึ้น

 

2.มีความจำเป็นในการยอมรับถึงรากเหง้าของปัญหา เช่น ในประเทศแอฟริกาใต้ ปัญหาเรื่องการแบ่งแยกสีผิวเป็นปัญหารากฐาน หากไม่แก้เรื่องนี้ก็ไม่อาจจะแก้ปัญหาความขัดแย้งได้

 

3.ต้องไม่มีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่จะควบคุมการสื่อสาร จะต้องมีการอนุญาตให้กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มมีโอกาสในการพูดคุยถึงทางออกของปัญหา

 

 

ความพร้อมพูดคุยสร้างได้ไม่ต้องรอ

 

 

4.ความพร้อมในการพูดคุย เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นได้ ไม่จำเป็นต้องรอให้ความพร้อมเกิดขึ้นเอง เราควรต้องรณรงค์ในการสร้างกระบวนการสันติภาพขึ้นมา เช่น ด้วยการนำเสนอความคิดเรื่องการกระจายอำนาจ หรือการริเริ่มข้อเสนอใหม่ๆ

 

5.การดำเนินการฝ่ายเดียวเป็นเรื่องที่ทำได้และมีพลัง ไม่จำเป็นต้องรอให้อีกฝ่ายหนึ่งเริ่มต้นก่อน หลายครั้ง คู่ขัดแย้งฝ่ายหนึ่งจะเรียกร้องให้อีกฝ่ายหยุดใช้ความรุนแรงก่อน หรืออีกฝ่ายหนึ่งก็เรียกร้องให้อีกฝ่ายหนึ่งทำการปฏิรูปก่อนที่ตนจะขยับจริง ๆ แล้วกระบวนการที่ดำเนินการโดยฝ่ายเดียวนั้น สามารถเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการสันติภาพได้

 

6.ต้องดึงคนที่มีความสงสัยและไม่เชื่อมั่นในเรื่องสันติภาพ ให้เข้ามาในกระบวนการ เพราะหลายครั้งความล้มเหลวของกระบวนการสันติภาพนั้น ไม่ใช่เพราะว่าคู่ขัดแย้งไม่สามารถที่จะตกลงกันได้ แต่เป็นเพราะมีปัญหาความขัดแย้งภายในกลุ่มเอง เช่น รัฐบาลอาจจะมีความขัดแย้งกับฝ่ายค้านและทำให้กระทบต่อกระบวนการนี้

 

7.จะต้องทำงานในเรื่องสันติภาพเชิงลบไปพร้อม ๆ กับสันติภาพเชิงบวก บางครั้งกองทัพอาจจะบอกว่า ต้องใช้สันติภาพเชิงลบคือ การปราบปราม เพราะผู้ก่อความไม่สงบใช้ความรุนแรง ก่อนที่จะใช้สันติภาพเชิงบวก คือการแก้ไขในประเด็นที่เป็นรากเหง้าของปัญหา ในขณะที่ขบวนการต้องการเห็นสันติภาพเชิงบวกก่อน ฉะนั้นในการทำงานจำเป็นจะต้องเชื่อมโยงทั้งสันติภาพเชิงบวกและลบเข้าด้วยกัน

 

 

สื่อมีบทบาทสำคัญในการสร้างสันติภาพ

 

 

8.การสนับสนุนของสาธารณชน มีความสำคัญต่อความสำเร็จของกระบวนการสันติภาพ เราจำเป็นจะต้องแสดงให้เห็นถึงผลในทางบวกของกระบวนการดังกล่าว ฉะนั้นบทบาทของสื่อจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง สื่อกระแสหลักยังคงมีปัญหาอยู่ ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องพัฒนาการสนับสนุนจากสังคมให้มาก

 

9.จะต้องหยิบใช้อำนาจอ่อน (soft power) ขององค์กรภายนอก ส่วนใหญ่หลายๆ ประเทศจะกล่าวว่าตนเองยอมรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ แต่ว่าพอถึงระดับปฏิบัติก็มักจะมีการปฏิเสธหรือต่อต้าน

 

10.ความจำเป็นในการนำเอาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาพูดคุยเพื่อสร้างพื้นที่กลาง และการแปรเปลี่ยนประเด็นผู้ชนะ-ผู้แพ้ไปสู่ความร่วมมือในการสร้างสันติภาพสำหรับพื้นที่

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

กำเนิดพื้นที่กลาง ค้น “พหุวิธี” ดับไฟใต้


 

ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) กล่าวถึงกระบวนการสร้างพื้นที่กลางเพื่อสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า เกิดจากภาคนักวิชาการร่วมกับภาคประชาสังคมและสื่อทำงานร่วมกันมาประมาณ 1- 2 ปี โดยการสร้างความคิดร่วมในการแก้ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ จึงเกิดแนวคิด “พื้นที่กลาง” ขึ้นมา โดยขับเคลื่อนใน 3 ประเด็น คือ การปกครองพิเศษ การสานเสวนาและความยุติธรรม พร้อมกับการสร้างกระบวนการสื่อสารสาธารณะ ทำให้มีการพูดคุยในประเด็นดังกล่าวกว้างขึ้นเรื่อย ๆ

 

ดร.ศรีสมภพกล่าวว่า การขับเคลื่อนดังกล่าวจะเดินไปพร้อมกันทั้งในระดับบน (track1) คือระดับของคู่ต่อสู้ระหว่างรัฐกับกลุ่มขบวนการต่อต้านรัฐ ระดับกลาง (track2) คือ ภาคประชาสังคม และระดับล่าง (track3) คือ ประชาชน เพื่อให้พื้นที่กลางขยายเพิ่มขึ้น และเกิดการยอมรับมากขึ้น โดยมีแนวทางในการลดความรุนแรงในพื้นที่ออกมาหลายๆ แนวทาง เรียกว่า พหุวิธีในการทำงาน (multi-platform)

 

 

ปัญหาภาคใต้ ต้องแก้ด้วยการปกครองตนเอง

 

 

ศ.ดร.ดันแคน แมคคาร์โก ศาสตราจารย์ประจำสำนักศึกษาการเมืองและการระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยลีดส์, ประเทศอังกฤษ กล่าวว่า “ปัญหาในภาคใต้เป็นปัญหาการเมืองที่ต้องการทางออกทางการเมือง” แม้ว่าจะมีเรื่องอื่น เช่น ยาเสพติด การพัฒนา แต่ก็เป็นเพียงประเด็นรอง

 

ศ.ดร.แม็คคาร์โกกล่าวว่า มีคนที่ไม่พอใจกับอำนาจรัฐและจำเป็นที่ต้องมีพื้นที่ทางการเมืองให้กับพวกเขา ในกรณีของไอร์แลนด์เหนือ รัฐบาลของนายโทนี่ แบลร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษในสมัยนั้นได้คุยกับกลุ่ม IRA (กองกำลังกู้ชาติไอริส) ฉะนั้น รัฐบาลจำเป็นจะต้องมีความจริงจังอย่างต่อเนื่องในการพูดคุยกับกลุ่มติดอาวุธ รัฐต้องพร้อมที่จะคุยกับคนที่เป็นศัตรู

 

นักรัฐศาสตร์ชาวอังกฤษผู้นี้กล่าวว่า ประเทศไทยไม่ใช่สาธารณรัฐ แต่จะต้องมีการให้อำนาจท้องถิ่นในการปกครองตนเองในบางระดับ โดยให้เรื่องการทหารหรือการต่างประเทศคงไว้เป็นอำนาจของรัฐบาลต่อไป

 

เขาระบุว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการกระจายอำนาจ แต่สังคมไทยไม่ค่อยมีการพูดเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง แม้บางคนบอกว่าปัญหานี้เป็นเรื่องยาเสพติดหรือความยุติธรรม นั่นไม่ใช่ประเด็นหลัก เรื่องสำคัญคือเรื่องของการมีส่วนร่วมทางการเมือง ข้อตกลงทางการเมืองใดๆ ที่จะมีขึ้นนั้นจำเป็นจะต้องมีเรื่องการกระจายอำนาจอยู่ด้วย

 

ดร.แม็คคาร์โกปฏิเสธที่จะเป็นผู้เสนอโมเดลที่ชัดเจน เขาบอกว่า “อยากที่จะให้มีคนในสังคมไทยที่กล้าที่จะออกมาแสดงความคิดเห็น มากกว่าที่จะนำเสนอโมเดล (รูปแบบ) เอง”

 

 

ทางด้าน นางมาโฮ นากายาม่า เจ้าหน้าที่มูลนิธิสันติภาพซาซากาว่า (SPF), ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งสนับสนุนการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย กล่าวถึงการหนุนเสริมสันติภาพจากคนภายนอกว่า ความสนใจของประเทศอื่น ๆ ในการสร้างสันติภาพทำให้มีการสนับสนุนองค์กรในพื้นที่ในการทำกิจกรรมต่างๆ หรืออาจจะช่วยในการลดการใช้อาวุธลง ซึ่งมูลนิธิสันติภาพซาซากาว่าไม่ได้มาพร้อมกับโมเดลว่า จะต้องทำกระบวนการสันติภาพอย่างไร แต่ว่าอยากให้เป็นความริเริ่มของคนในพื้นที่

 

นางมาโฮเสนอว่าจะต้องพยายามสร้างการพูดคุยและทำให้เครือข่ายองค์กรชุมชนเข้มแข็ง เพื่อนำความคิดที่หลากหลายมาผลักดันให้เป็นวาระร่วมที่เป็นรูปธรรมได้ และต้องมีการพัฒนาทักษะในการขับเคลื่อนและการบริหารจัดการองค์กรด้วย รวมทั้งการสร้างพันธมิตรในจังหวัดอื่นๆ ในเรื่องกระจายอำนาจ และการสร้างเครือข่ายกับชุมชนของคนในโลกมาเลย์

 

 

ไม่สร้างบรรยากาศประชาธิปไตย ก็แก้ปัญหาไม่ได้

 

 

นายอะหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องสร้างบรรยากาศของความเป็นประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในพื้นที่ หากไม่มีบรรยากาศของความเป็นประชาธิปไตยก็ไม่มีทางจะแก้ปัญหาได้ เพราะฉะนั้นต้องยกเลิกกฎหมายพิเศษที่ใช้อยู่ในพื้นที่ เพราะเป็นอุปสรรคต่อความเป็นประชาธิปไตย และการแก้ปัญหานั้นต้องไม่มุ่งเน้นไปที่การแก้ปัญหาเพียงแนวทางเดียว เช่น การปราบปราม เพราะฉะนั้นต้องมีหลายๆ แนวทางในการแก้ปัญหา

 

 

ภาคประชาสังคมต้องสร้างข้อเสนอร่วม

 

 

นาย Nur Khalis ที่ปรึกษาสถาบันช่วยเหลือทางกฎหมาย (Lembaga Bantuan Hukum - LBH), ประเทศอินโดนีเซีย กล่าวถึงบทบาทของภาคประชาสังคมในการแก้ปัญหาความรุนแรงว่า ความท้าทายของภาคประชาสังคมคือจะต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างรัฐบาลและกลุ่มติดอาวุธ ซึ่งก็เป็นเรื่องยากเพราะว่าเป็นเรื่องความปลอดภัยของนักเคลื่อนไหวด้วย ประชาสังคมเองก็ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงด้วยในบางครั้ง

 

เขากล่าวว่า ภาคประชาสังคมจะต้องเสนอทางเลือก และจะต้องพัฒนาศักยภาพ และการศึกษาวิจัยและการรณรงค์ทางการเมือง ภาคประชาสังคมจะต้องสร้างข้อเสนอร่วมและเตรียมการที่จะดำเนินการกระบวนการสันติภาพ

 

นาย Nur Khalis กล่าวด้วยว่ากลุ่มของนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนได้มีบทบาทสำคัญในช่วงทีมีการต่อสู้ของขบวนการแบ่งแยกดินแดนในอาเจะห์ เช่น การเรียกร้องให้มีการยกเลิกกฎหมายพิเศษ การมีบทบาทในการเป็นตัวกลางในการพูดคุยเพื่อสันติภาพ

 

 

นโยบายรัฐไทยไม่ชัดเจน เอ็นจีโอต่างชาติทำงานยาก

 

 

นาย Khairil Anwar ผู้ประสานงานอาเซียน องค์กร ARM จากประเทศมาเลเซีย กล่าวว่า คนมาเลเซียกับคนปัตตานีมีความใกล้ชิดกัน รัฐมนตรีของมาเลเซียหลายคนมีบรรพบุรุษที่มาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย เมื่อองค์กรพัฒนาเอกชนในมาเลเซียจะพูดถึงปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยจึงเป็นเรื่องที่อ่อนไหว คนมาเลเซียยังมองเอ็นจีโอในแง่ลบอยู่

 

นาย Khairi กล่าวว่า นโยบายของอาเซียนที่ไม่แทรกแซงปัญหาภายในของแต่ละประเทศ ยิ่งทำให้เอ็นจีโอพูดถึงปัญหาประเทศเพื่อนบ้านยากขึ้นไปอีก ทำให้มองไม่เห็นบทบาทเอ็นจีโอในระดับภูมิภาคอาเซียน หรือมีแต่ก็ไม่ได้มีการพูดคุยกัน เพราะฉะนั้นเอ็นจีโอในภูมิภาคต้องมีการสร้างความสัมพันธ์ที่มากกว่านี้

 

เขาระบุว่า สำหรับปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มองว่ารัฐบาลไทยไม่มีนโยบายที่ชัดเจน เช่น บางหน่วยงานมีนโยบายการเจรจาสันติภาพแต่บางหน่วยไม่เห็นด้วย ซึ่งการที่ นโยบายไม่ไปในทิศทางเดียวกันทำให้เอ็นจีโอต่างชาติเข้ามาทำงานยาก และเอ็นจีโอที่ผลักดันให้รัฐลงมาทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมในประเทศไทยเองก็ยังมองไม่เห็น ส่วนเรื่องที่ให้คนกลางที่เป็นคนในมาสร้างสันติภาพนั้น ARM เห็นด้วย แต่ยังไม่เห็นภาคประชาชนออกมากดดันในเรื่องนี้มากนัก

 

ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ผู้อำนวยการศูนย์ข่าวสารสันติภาพ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประธานคณะทำงานยุทธศาสตร์สันติวิธี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) พูดว่าปัญหาของรัฐไทยก็คือเรื่อง “ความชอบธรรมบกพร่อง” ส่วนปัญหาของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบคือ “การตาบอด” เพราะการใช้ความรุนแรงซึ่งทำให้มีคนตายกว่า 5,000 คน แม้ว่าอาจจะไม่ทั้งหมดที่จะตายด้วยน้ำมือของขบวนการก่อความไม่สงบ

 

 

              “ผมคิดว่ากลุ่มขบวนการนั้นเป็นกลุ่มที่มีเหตุมีผล ไม่ได้เป็นคนที่เสียสติ ซึ่งในมุมของพวกเขา การต่อสู้ของพวกเขา “มีความชอบธรรม” ซึ่งเราจำเป็นจะต้องหาว่าความจริงคืออะไร ขบวนการนั้นมีความไม่เป็นเอกภาพ ผมคิดว่าการต่อสู้ของขบวนการนั้นได้รับอิทธิพลจากบริบทในกระแสโลกในแต่ละช่วงเวลา เช่น จากการต่อสู้แบบชาตินิยมเพื่อเอกราช มาสู่การปฏิวัติของอิสลามจนมาถึง Arab Spring”

 

 

ดร.ชัยวัฒน์กล่าวว่า ต้องตั้งคำถามว่าจะช่วยพวกขบวนการได้อย่างไรเพื่อให้พวกเขาหยุดใช้ความรุนแรง ซึ่งตนคิดว่าขบวนการจำเป็นที่จะต้องเข้าใจผลกระทบของความรุนแรงต่อการต่อสู้เพื่อแก้ปัญหาของพวกเขา เขาจะต้องเข้าใจหลักการเรื่องสันติวิธี ในประเทศตูนีเชีย ผู้นำการเคลื่อนไหวคนหนึ่งกล่าวว่าเมื่อใช้ความรุนแรงเมื่อใด ความชอบธรรมของพลังประชาชนก็หมดไป

 

ดร.ชัยวัฒน์ยกตัวอย่างว่าในช่วงปี ค.ศ.1940 – 2006 มีสถิติชี้ว่า ความสำเร็จของการต่อสู้ด้วยความรุนแรงได้ลดลงจาก 40 เป็น 10 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ความสำเร็จของการต่อสู้ด้วยสันติวิธีเพิ่มขึ้นจาก 40 เป็น 70 เปอร์เซ็นต์


ดร.ชัยวัฒน์ทิ้งท้ายว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะต้องเริ่มต้นการสร้างกระบวนการสันติภาพที่มีความหมาย ซึ่งจะต้องรวมเอาคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดเข้ามาเกี่ยวข้อง การพูดคุยจะต้องทำอย่างเปิดเผย ซึ่งสุดท้ายเป็นเรื่องที่คนในพื้นที่เองจะต้องเลือกว่าต้องการจะมีชีวิตอยู่ในสังคมเช่นไร

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: