สตง.จี้ร้องทุกข์-เอาผิดอดีตปลัด ทุจริตซื้อฮ.ทส.-เรียกคืน47ล้าน

10 ก.ย. 2555 | อ่านแล้ว 2598 ครั้ง

เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2555 รายงานข่าวจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ทำหนังสือถึงนายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เรื่องรายงานการตรวจสอบสืบสวน เรื่องการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ ขนาด 2 เครื่องยนต์ พร้อมอุปกรณ์ดับไฟป่า และเตียงพยาบาล จำนวน 1 ลำ ประจำปีงบประมาณ 2552 งบประมาณ 250 ล้านบาท ของสำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ ว่า มีการดำเนินการโดยมิชอบ และให้นายปรีชาดำเนินการทางอาญา โดยร้องทุกข์กล่าวโทษ เพื่อดำเนินคดีกับ 1.นายศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช อดีตปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ 2.คณะกรรมการกำหนดร่างขอบเขตการดำเนินงาน (ทีโออาร์) ที่มีนายวรพล จันทร์งาม ผอ.สำนักตรวจและประเมินผล สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ เป็นประธานคณะกรรมการ และ 3.คณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ มีนายประกิต วงศ์ศรีวัฒนกุล ผอ.สำนักการบินอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ เป็นประธาน

 

พร้อมทั้งให้นายศักดิ์สิทธิ์และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ชดใช้ความเสียหายจากการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ดังกล่าว จำนวน 46,816,000 บาท ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการเร่งรัดติดตามเกี่ยวกับกรณีเงินขาดบัญชีหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐทุจริต พ.ศ.2546

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้ตรวจสอบสืบสวน การจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ขนาด 2 เครื่องยนต์ พร้อมอุปกรณ์ดับไฟป่าและเตียงพยาบาล จำนวน 1 ลำ ประจำปีงบประมาณ 2552 มูลค่า 250 ล้านบาท ของสำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ พบว่าคณะกรรมการกำหนดร่างขอบเขตการดำเนินงานในการจัดซื้อ ที่มีนายวรพล จันทร์งาม ผอ.สำนักตรวจและประเมินผล เป็นประธานคณะกรรมการ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ด้วยการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะของเฮลิคอปเตอร์ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท สยามการบินสากล จำกัด สามารถเสนอราคาเฮลิคอปเตอร์ที่มีสมรรถนะต่ำกว่า เข้ามาแข่งราคาได้ โดยนายวรพลเสนอให้นายศักดิ์สิทธิ์ยกเลิกคณะกรรมการกำหนดราคาขอบเขตการดำเนินงานจัดซื้อ และตั้งกรรมการชุดใหม่ขึ้นมา โดยมีนายวรพลเป็นประธานฯเอง และแก้มาตรฐานจำนวนที่นั่งในเฮลิคอปเตอร์จากไม่น้อยกว่า 8 ที่นั่ง พร้อมอุปกรณ์เสริมมาเป็น 7 ที่นั่ง

 

การกระทำของนายวรพลจึงเป็นการกระทำ เพื่อไม่ให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้อประโยชน์ให้บริษัท สยามการบินสากล จำกัด ได้รับการคัดเลือก ให้มีสิทธิเข้าทำสัญญากับสำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542

 

ต่อมาคณะกรรมการจัดซื้อด้วยวิธีพิเศษ โดยมีนายประกิต วงศ์ศรีวัฒนกุล ผอ.สำนักการบินอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานกรรมการ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เนื่องจากดำเนินการจัดซื้อ โดยต่อรองราคาเฮลิคอปเตอร์ยี่ห้อ EROCOPTER รุ่น EC 135 จากบริษัท สยามการบินสากล จำกัด เพียงรายเดียว และรายงานผลการต่อรองราคาให้นายศักดิ์สิทธิเห็นชอบ จัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ดังกล่าวจำนวน 1 ลำ จากบริษัท สยามการบินสากล จำกัด ในราคา 248,882,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าราคาทั่วไปในขณะนั้น ที่มีราคาเพียง 140 ล้านบาท

 

การที่คณะกรรมการจัดซื้อด้วยวิธีพิเศษ ไม่ทำหน้าที่ต่อรองราคาจากบริษัท สยามการบินสากล จำกัด เพื่อให้ได้ราคาที่ซื้อเหมาะสมกับสมรรถนะของเฮลิคอปเตอร์ จึงช่วยให้การกระทำโดยมิชอบของคณะกรรมการกำหนดร่างทีโออาร์ ที่มีนายวรพลเป็นประธาน บรรลุผลสำเร็จ เอื้อประโยชน์ให้บริษัท สยามการบินสากล จำกัด มีสิทธิ์เข้าทำสัญญาซื้อขายกับสำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ โดยเสนอขายเฮลิคอปเตอร์ รุ่นที่มีสมรรถนะต่ำกว่าคือ รุ่นที่มีที่นั่งมาตรฐานแค่ 7 ที่นั่ง แต่สามารถขายได้ในราคาสูงเทียบเท่าเฮลิคอปเตอร์ที่มีสมรรถนะสูงกว่า นับว่าเป็นการกระทำที่เอื้อประโยชน์ให้ผู้เสนอราคารายใดรายหนึ่งโดยไม่เป็นธรรม

 

ขณะที่การปฏิบัติหน้าที่ของนายศักดิ์สิทธิ์ก็มีพฤติการณ์มิชอบ ในการใช้อำนาจหน้าที่ในขั้นตอนต่าง ๆ ในการดำเนินการจัดซื้อ ทำให้สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ ต้องจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ในราคาสูงกว่าที่ควร เป็นเงิน 46.816 ล้านบาท ถือเป็นความผิดตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับเสนอราคา ต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 และเป็นการทุจริต หรือมีการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เงินหรือทรัพย์สินของราชการ

 

สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินจึงให้นายปรีชาร้องทุกข์กล่าวโทษ ดำเนินคดีอาญากับบุคคลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ ภายใน 90 วัน หากละเลย ไม่ดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนด จะมีความผิดทางวินัยตามมาตรา 63 แห่ง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 และจะรายงานต่อสภาผู้แทนราษฎร

 

ด้านนายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ กล่าวว่า การทุจริตซื้อเฮลิคอปเตอร์ถือว่าร้ายแรงมาก เพราะเกี่ยวข้องกับชีวิต ผู้ที่ต้องใช้เฮลิคอปเตอร์ ตนได้สั่งการให้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบขึ้นมา 2 ชุด ชุดแรกจะทำหน้าที่ทวงเงิน 46.816 ล้านบาท กลับมาเป็นของแผ่นดิน ชุดที่สองจะทำหน้าที่ดำเนินคดีทางอาญาและวินัยกับบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เรื่องนี้ถือเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการปราบปรามผู้ที่ทุจริตประพฤติมิชอบในวงราชการ โดยจะใช้เวลาไม่นาน และยืนยันว่าไม่มีมวยล้มและจะใช้เวลาในการสืบสวนและเอาผิดให้เร็วที่สุด

 

นายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจากนายปรีชาให้ไปแจ้งความดำเนินคดีกับบุคคลที่เกี่ยวข้องในสัปดาห์นี้ ทุกอย่างว่ากันตามกฎหมาย เนื่องจากเป็นเรื่องร้ายแรง โดยเฮลิคอปเตอร์เครื่องดังกล่าว ปัจจุบันยังมีการใช้งานอยู่ แต่ตนไม่ค่อยได้ใช้ มีแต่นายดำรงค์ พิเดช อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่ชอบใช้งานในภารกิจตรวจสอบการบุกรุกป่าเป็นประจำ ทั้งนี้ภารกิจสำคัญที่สุดคือการทวงเงินคืน โดยผู้ที่ทำผิดก็ต้องไปเฉลี่ยกันจ่าย กับการเอาผิดอาญาคนที่เกี่ยวข้อง นอกจากนั้นในสัปดาห์นี้จะพิจารณาพักงานหรือโยกย้ายบุคคลที่เกี่ยวข้อง เช่น นายวรพล ผอ.สำนักตรวจสอบและประเมิน นายประกิต วงศ์ศรีวัฒนกุล ผอ.สำนักการบินอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อครั้งนายสุวิทย์ คุณกิตติ เป็นรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และปัจจุบันนายศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ได้ถึงแก่กรรมแล้ว เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2553 ด้วยอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกที่ อ.นาหมื่น จ.น่าน ขณะไปปฏิบัติราชการ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: