ในระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน ทรัพย์สินทางปัญญาทวีความสำคัญยิ่งขึ้นทุกขณะ สร้างผลประโยชน์มหาศาลจากบรรดาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับมัน ไม่ว่าจะเป็นยา นวัตกรรม หนัง เพลง ฯลฯ ในทางเศรษฐศาสตร์ ทรัพย์สินทางปัญญาถือว่ามีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เพราะสิทธิผูกขาดที่กฎหมายให้แก่ผู้คิดค้นสิ่งใหม่ จะกระตุ้นให้เกิดการวิจัยและพัฒนา แต่อีกด้านหนึ่ง ก็ต้องหาจุดสมดุลให้เจอ ระหว่างการให้สิทธิผูกขาดเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ กับผลกระทบในมิติต่าง ๆ ที่ไม่พึงปรารถนา
เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ตกอยู่ในวงล้อมโลกาภิวัตน์ กำลังถูกกดดันจากสภาพเศรษฐกิจโลกให้ต้องปรับปรุงกฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญาต่าง ๆ ให้มีความทันสมัย สอดรับกับการเปลี่ยนแปลง โดยกฎหมายที่อยู่ในขั้นตอนการแก้ไขขณะนี้คือ พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์
ประเด็นที่น่าสนใจของการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้คือ การอนุญาตให้สามารถจดทะเบียนเครื่องหมายที่เป็น ‘กลิ่น’ และ ‘เสียง’ ได้
ดันจดเครื่องหมายการค้า‘กลิ่น-เสียง’
หลักการสำคัญของการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคือ เครื่องหมายการค้าที่จะขอจดต้องมี ‘ลักษณะบ่งเฉพาะ’ สิ่งที่เป็นสิ่งธรรมดาสามัญทั่วไป ไม่สามารถนำมาจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ โดยมาตรา 4 ในกฎหมายเครื่องหมายการค้าปัจจุบัน นิยามเครื่องหมายการค้าไว้ว่าเป็น
‘ภาพถ่าย ภาพวาด ภาพประดิษฐ์ ตรา ชื่อ คำ ข้อความ ตัวหนังสือ ตัวเลข ลายมือชื่อ กลุ่มของสี รูปร่างหรือรูปทรงของวัตถุ หรือสิ่งเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน’
เห็นได้ว่ากฎหมายเครื่องหมายการค้าเดิมของไทย จะให้ความคุ้มครองเฉพาะเครื่องหมายการค้าที่สามารถมองเห็นได้เท่านั้น กลิ่นและเสียงจึงไม่ได้รับการคุ้มครอง แต่ร่างกฎหมายใหม่ให้แก้ไขเป็น
‘เครื่องหมาย หมายความว่า ภาพถ่าย ภาพวาด ภาพประดิษฐ์ ตรา ชื่อ คำ ข้อความ ตัวหนังสือ ตัวเลข ลายมือชื่อ กลุ่มของสี รูปร่างหรือรูปทรงของวัตถุ กลิ่น เสียง หรือสิ่งเหล่านี้อย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน’
โดยระบุว่า กลิ่นและเสียงที่จะนำมาจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ ต้องเป็นกลิ่นและเสียงที่ไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้นโดยตรง หรือกลิ่นและเสียงที่ไม่เป็นกลิ่นและเสียงโดยธรรมชาติของสินค้า หรือเสียงที่ไม่ได้เกิดจากการทำงานของสินค้านั้น
เหตุผลในการแก้กฎหมาย ระบุว่า ปัจจุบันการคุ้มครองเครื่องหมายการค้าในระดับสากลมีการขยายขอบเขตการให้ความคุ้มครองไปเครื่องหมายประเภทใหม่ๆ ซึ่งกฎหมายเดิมครอบคลุมไม่ถึง จึงสมควรขยายขอบเขตการให้ความคุ้มครองเครื่องหมายการค้า
‘กลิ่น-เสียง’จดได้แต่ต้องมีลักษณะบ่งเฉพาะ
รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก นักกฎหมายที่เชี่ยวชาญด้านกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา อธิบายว่า การจดเครื่องหมายการค้ากลิ่นและเสียง ยังคงต้องยึดหลักการเดิม คือลักษณะบ่งเฉพาะ เช่น จู่ ๆ ใครจะนำกลิ่นกุหลาบไปจดเครื่องหมายการค้าย่อมทำไม่ได้ เพราะเป็นสิ่งสามัญทั่วไป แต่ถ้าผสมกลิ่นกุหลาบ มะลิ และลาเวนเดอร์ จนได้กลิ่นเฉพาะออกมา กรณีนี้สามารถจดเครื่องหมายการค้าได้ เช่นเดียวกับเสียง เสียโน้ตดนตรีทั่วไป หรือเพลงที่เป็นที่รู้จัก เช่น เพลงแฮปปี้เบิร์ธเดย์ ไม่สามารถจดเครื่องหมายการค้าได้ แต่ถ้าประดิษฐ์เสียงใหม่หรือสร้างท่วงทำนองใหม่ของตนเอง เช่น เสียงดนตรีของไอศกรีมเจ้าหนึ่ง ที่เป็นที่รู้จักดี แบบนี้สามารถจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้
รายงานของโครงการปรับปรุงกระบวนการนิติบัญญัติของประเทศไทย เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน หรือไทยลอว์ วอท์ช (Thai Law Watch) ระบุไว้ว่า กรณีที่เสียงมีลักษณะสั้นเกินไป หรือไม่มีความเชื่อมโยงกับสินค้า มักจะไม่สามารถจดทะเบียนได้ ประเด็นสำคัญคือกลิ่นและเสียงนั้นต้องไม่ใช่ความหมายที่เป็นคุณสมบัติหลัก หรือคุณสมบัติโดยตรงของสินค้านั้น แต่ต้องเป็นความหมายที่สอง เช่น กลิ่นกุหลาบที่ใส่ลงไปในยางรถยนต์ เป็นต้น
“ตัวอย่างน้ำหอม กลิ่นกุหลาบ มะลิ และลาเวนเดอร์ ถ้ากลิ่นออกมาชัดว่า เป็นกลิ่นกุหลาบ มะลิ ลาเวนเดอร์ แล้วได้กลิ่นพร้อมกันสามอย่าง แบบนี้จดเครื่องหมายการค้าไม่ได้ เพราะไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ในเมื่อมันมีกุหลาบ แล้วมีกลิ่นกุหลาบมันก็ไม่แปลก ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ แต่กรณีที่มีกุหลาบ มะลิ ลาเวนเดอร์ แล้วไม่ใช่กลิ่นของตัวมันเอง แต่เป็นกลิ่นผสมระหว่างดอกไม้ทั้งสามนี้ นั่นคือตั้งใจให้เป็นกลิ่นอื่น แบบนี้ถือว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะที่ไม่ใช่ธรรมชาติของมัน” รศ.ดร.เจษฎ์ อธิบาย
กรณีของเสียง ยกตัวอย่างเสียงเครื่องยนต์ สมมุติรถยี่ห้อหนึ่งใช้เครื่องยนต์ 4 จังหวะ ดูด อัด ระเบิด คลาย เป็นเครื่องยนต์แบบสั้น เสียงก็ย่อมแผดดังแบบหนึ่ง ถ้าเครื่องยนต์แบบยาว เสียงก็อีกแบบหนึ่ง แบบนี้จดเครื่องหมายการค้าไม่ได้ เพราะเป็นเสียงโดยปกติของเครื่องแบบนี้อยู่แล้ว ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ แต่ถ้าตั้งใจให้เสียงแตกต่างไปจากเดิม ไม่ได้เกิดจากจังหวะเครื่อง แต่เกิดจากเอาอะไรสักอย่างใส่เข้าไป กำหนดให้มีเสียงเฉพาะ ทุกครั้งที่ขับจะมีเสียงแบบนี้ ได้ยินก็จะรู้ว่าเสียงแบบนี้คือรถยี่ห้อนี้ กรณีนี้อาจจะขอจดเครื่องหมายการค้าได้
เครื่องหมายการค้ากลิ่น-เสียง ไม่ใช่หลักการสากล
ข้อมูลเดือนมกราคม 2555 พบว่า ประเทศที่อนุญาตให้จดเครื่องหมายการค้าทั้งกลิ่นและเสียงได้นั้น มีอยู่เพียง 3 ประเทศคือ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ส่วนประเทศที่ให้จดได้เฉพาะเสียงมี 5 ประเทศคือ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี สิงคโปร์ และไต้หวัน โดยใน 5 ประเทศนี้ 4 ประเทศแรก ยังไม่มีความชัดเจนในการจดเครื่องหมายการค้าที่เป็นกลิ่น ส่วนไต้หวันไม่มีการอนุญาต
บางประเทศที่อนุญาตให้จดเครื่องหมายการค้ากลิ่นได้พบว่า ยังไม่มีธุรกิจรายใดขอจดทะเบียน หรือที่มียื่นขอจดก็ไม่ผ่านการอนุมัติ เช่น ในออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ดร.เจษฎ์ เสริมว่า แม้แต่ในสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปเองก็ยังไม่มีการจดเครื่องหมายการค้ากลิ่นและเสียงมากนัก
จากข้อมูลดังกล่าว อย่างน้อยก็ทำให้เห็นว่า การจดเครื่องหมายการค้ากลิ่นและเสียง ยังไม่ใช่ลักษณะสากล ตามเหตุผลที่อ้างไว้ในการแก้กฎหมาย
นอกจากนี้ ข้อมูลของ APEC Intellectual Property Experts Group ปี พ.ศ.2551 ยังแสดงให้เห็นว่า ในหลาย ๆ ประเทศยังคงให้ความคุ้มครองเฉพาะเครื่องหมายการค้า ที่สามารถรับรู้ได้ทางสายตาโดยตรง (Visual Perception) เท่านั้น และไม่คุ้มครองการนำเสนอหรือแสดงเครื่องหมายการค้ารูปแบบที่ไม่สามารถรับรู้ได้ทางสายตาให้เห็นเป็นรูปธรรม (Graphical Represent the Invisible)
กระตุ้นเศรษฐกิจโต ลดต้นทุนผู้บริโภค
มีเหตุผลในเชิงเศรษฐกิจสนับสนุนว่า การจดเครื่องหมายการค้ากลิ่นและเสียง ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจอย่างไร ผลดีประการหนึ่งคือ สนับสนุนความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ กระตุ้นให้ผู้ผลิตลงทุนสร้างเสียและกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ เพื่อใช้กับผลิตภัณฑ์ของตน และเพิ่มความคุ้มครองแก่เจ้าของสิทธิ ที่ลงทุนสร้างสรรค์เสียงและกลิ่นนั้นขึ้น อีกทั้งยังเหมาะกับความซับซ้อนของสภาพตลาดที่กำลังพัฒนา เนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการแข่งขันที่สูงขึ้นในตลาดโลก
ในมุมของผู้บริโภค ถือว่าช่วยลดต้นทุนการหาข้อมูลเกี่ยวกับสินค้า เนื่องจากคุณลักษณะของเครื่องหมายการค้าทำให้ผู้บริโภคประหยัดเวลาเลือกซื้อสินค้า เพราะสามารถสังเกตเห็นเครื่องหมายการค้าและเชื่อมโยงกับข้อมูลที่รับรู้ผ่านการโฆษณา และช่วยให้ผู้บริโภคมั่นใจในคุณภาพของสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้น ๆ
กลิ่น-เสียง จดยาก เพราะมองไม่เห็นด้วยตา
อย่างไรก็ตาม การจดเครื่องหมายการค้ากลิ่นและเสียงไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เพราะเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตา ดังนั้นจึงต้องทำให้อยู่ในลักษณะที่มองเห็นได้ ในออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และสหภาพยุโรป ยอมให้จดเครื่องหมายการค้าเสียงในรูปโน้ตดนตรีได้ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า นักดนตรีแต่ละคนใช่ว่าจะบรรเลงโน้ตดนตรีออกมาได้เสียงเหมือนกัน อีกทั้งการจดเครื่องหมายการค้า ไม่ต้องระบุเครื่องดนตรีที่ให้กำเนิดเสียง ซึ่งดนตรีต่างชนิดย่อมให้เสียงต่างชนิดกัน แล้วก็ใช่ว่าคนทุกคนจะสามารถอ่านโน้ตดนตรีได้ ยังไม่นับเครื่องหมายการค้าเสียงที่ไม่ใช่เสียงดนตรี ดังนั้นการพยายามเขียนบรรยายออกมาให้เป็นสิ่งที่เห็นได้ จับต้องได้ จึงเป็นการยาก และถ้าผู้ขอจดพยายามเขียนบรรยายให้คลุมเครือ ครอบคลุมกว้าง ๆ ย่อมนำไปสู่การเอาเปรียบและผูกขาดเสียงนั้น
ที่ยุ่งยากกว่าเสียงคือ กลิ่น เพราะแม้แต่ในต่างประเทศ ก็ยังพบปัญหาการบรรยายกลิ่นให้เห็นภาพหรือเข้าใจได้ ในออสเตรเลียระบุว่า จะอนุญาตให้จดเครื่องหมายการค้ากลิ่น เฉพาะที่สามารถบรรยายกลิ่นเป็นตัวหนังสือที่วิญญูชนสามารถเข้าใจได้เท่านั้น ไม่ยอมรับรางานการวิเคราะห์ทางเคมีหรือเทคโนโลยีอื่นที่ยากต่อการเข้าใจ
ในสหภาพยุโรปเคยเกิดกรณีการขอจดเครื่องหมายการค้าในเยอรมนี คดี The Sieckmann Case (C-273/00) เมื่อนาย Sieckmann ขอจดเครื่องหมายการค้ากลิ่นโดยบรรยายว่า ‘กลิ่นหอมของผลไม้ผสมด้วยกลิ่นซินนามอนเล็กน้อย’ พร้อมทั้งยื่นสูตรทางเคมีและตัวอย่างกลิ่นให้ ปรากฏว่าสำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าของประเทศเยอรมนี ปฏิเสธการจด โดยให้เหตุผลว่า วิธีการของนาย Sieckmann ไม่สามารถแสดงให้เห็นเป็นรูปธรรมว่า เครื่องหมายการค้ากลิ่นของเขาแตกต่างจากของคนอื่นอย่างไร
เมื่อคดีขึ้นสู่ศาลของสหภาพยุโรป ศาลพิพากษาว่า วิธีการ 3 วิธีข้างต้นไม่เพียงพอที่จะแสดงให้เห็นเป็นรูปธรรมได้ เครื่องหมายการค้ากลิ่นของนาย Sieckmann จึงไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะและไม่สามารถจดเครื่องหมายการค้ากลิ่นได้ คำพิพากษานี้กลายเป็นแนวการพิจารณาเครื่องหมายการค้ากลิ่นที่มีความเข้มงวดมากขึ้นสำหรับสหภาพยุโรป ซึ่งภายหลังคำพิพากษานี้ ก็ไม่มีเครื่องหมายการค้ากลิ่นในสหภาพยุโรปได้รับการจดทะเบียนอีก
ชี้ ‘กลิ่น-เสียง’ สร้างภาระบริหาร-เจ้าหน้าที่ เทคโนฯ ไม่พร้อม
นอกจากนี้ ยังจะเป็นภาระหนักหน่วงของหน่วยงานที่มีหน้าที่รับจดทะเบียน ในที่นี้คือ กรมทรัพย์สินทางปัญญา เพราะจะต้องเก็บตัวอย่างของเสียงและกลิ่นเอาไว้ ซึ่งไม่คงทนเหมือนการเก็บเครื่องหมายการค้าที่มองเห็นได้ด้วยตา กรณีเครื่องหมายการค้าเสียง เสียงที่ถูกบันทึกและเก็บไว้ระยะหนึ่ง อาจเล่นไม่ได้หรือถ้าเก็บในรูปไฟล์ดิจิตอล ก็จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น ส่วนกลิ่นนั้น เมื่อเก็บไว้เป็นระยะเวลานาน กลิ่นก็อาจจืดจางและถูกปนเปื้อนจากกลิ่นตัวอย่างอื่น ๆ
ความยุ่งยากอีกประการหนึ่งคือ การพิสูจน์เปรียบเทียบ เนื่องจากไม่ใช่สิ่งที่เห็นได้ด้วยตา การเปรียบเทียบเมื่อมีผู้มาขอจดทะเบียน หรือเมื่อเกิดการละเมิด จึงไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องอาศัยเทคโนโลยีเพื่อพิสูจน์ เพราะแม้แต่เสียงก็ใช่ว่าจะคงทนไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนการเปรียบเทียบกลิ่นยิ่งยากหนักขึ้นไปอีก เพราะประสาทรับรู้ทางกลิ่นมีความแม่นยำน้อยกว่าหูและตา รวมทั้งกลิ่นอาจเปลี่ยนเมื่อระยะเวลาผ่านไป ซึ่งการพิสูจน์ทั้งสองเรื่องนี้ นอกจากต้องใช้เทคโนโลยีแล้ว ยังต้องพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญ แต่อายุ เพศ ความทรงจำ และทัศนคติของผู้เชี่ยวชาญ ก็ยังคงเป็นข้อจำกัดสำคัญที่อาจทำให้การตีความกลิ่นเดียวกันได้ผลลัพธ์ออกมาไม่เหมือนกัน
“เรื่องเทคโนโลยีและเจ้าหน้าที่เป็นปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงด้วย ถามว่า ณ ขณะนี้พอหรือไม่ ตอบได้ว่าไม่พอ เพราะการพิจารณาลักษณะบ่งเฉพาะ แม้กระทั่งในเครื่องหมายที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ การจะพิจารณาให้ขาดเลยก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ยังถือว่าวิจารณญาณของคนธรรมดาทั่วไป นั่งพินิจดี ๆ ก็อาจจะพอได้อยู่ แต่ถ้าเป็นกลิ่นและเสียง ให้พวกเรามานั่งพิจารณาว่า มีลักษณะบ่งเฉพาะหรือไม่ ยากนะครับ ตรงนี้ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเพื่อวิเคราะห์ แล้วลองคิดดูว่าเมื่อมันมีมากขึ้นเรื่อย ๆ การจะแยกกลิ่นและเสียงจะลำบากแค่ไหน ใครจะเป็นคนแยกแยะ เรามีจำนวนเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอหรอกครับ แต่จำนวนเจ้าหน้าที่อาจไม่สำคัญเท่าความรู้ความสามารถของเจ้าหน้าที่ แต่ว่าความรู้ความสามารถ เมื่อถึงวันหนึ่งก็ต้องการจำนวน สมมติว่าวันนี้มีเจ้าหน้าที่ที่มีความสามารถเพียงพอ สักวันพอจำนวนการจดมากขึ้น ก็ต้องเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่อยู่ดี ดีที่สุดคือต้องมีความรู้เพียงพอ และมีจำนวนเหมาะสมกับการทำงานด้วย” ดร.เจษฎ์อธิบาย
บทเรียนอดีต หวั่นไทยกระทบถ้าอนุญาตกลิ่น-เสียง
บทเรียนกรณีทรัพย์สินทางปัญญาของไทย ทำให้ผู้ที่ติดตามเรื่องนี้รู้สึกวิตกว่า จะก่อผลกระทบที่คาดไม่ถึงตามมา เช่น ถ้ามีคนไปจดเครื่องหมายการค้ากลิ่นข้าวหอมมะลิ ผลกระทบใหญ่หลวงจะเกิดกับชาวนาไทยหรือไม่ ซึ่งหากดูตามคำอธิบายข้างต้น ถ้าเป็นการจดเครื่องหมายการค้ากลิ่นข้าวหอมมะลิ ในตัวข้าวหอมมะลิเองไม่สามารถทำได้ แต่ถ้าเป็นกลิ่นข้าวหอมมะลิไปใส่ในสินค้าอื่น ๆ สามารถทำได้
รศ.ดร.เจษฎ์ อธิบายว่า “กรณียางรถยนต์ที่มีกลิ่นกุหลาบ ถ้ามีคนนำกลิ่นกุหลาบไปใช้ โดยทั่วไปไม่น่าจะละเมิด เพราะเป็นกลิ่นทั่วไป การที่คุณนำกลิ่นมาใช้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง คุณควรจะได้รับสิทธิเฉพาะกับสิ่งนั้น ไม่ควรรับสิทธิในกลิ่นกุหลาบ แต่ถ้าเป็นกลิ่นเฉพาะ เช่น กลิ่นกุหลาบ ผสมมะลิ ผสมลาเวนเดอร์ อันนี้เป็นกลิ่นเฉพาะ เอาไปใช้ย่อมถือว่าละเมิดเครื่องหมายการค้า ต้องดูว่าเป็นกลิ่นสามัญหรือกลิ่นเฉพาะ ถ้าเป็นกลิ่นสามัญ โดยเอากลิ่นสามัญไปใช้กับยาง ก็จะได้รับความคุ้มครองเฉพาะกับยาง แต่ถ้าเป็นกลิ่นเฉพาะก็อาจได้รับความคุ้มครองเป็นกลิ่นเลย”
เอ็นจีโอถาม กรมทรัพย์สินฯ มีความพร้อมหรือไม่
ทางด้าน กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค ตั้งคำถามต่อเนื่องจาก ดร.เจษฎ์ว่า ปัจจุบันกรมทรัพย์สินทางปัญญา มีเจ้าหน้าที่และเทคโนโลยีพร้อมหรือไม่ สอง-มีคนไทยที่ประสงค์จะจดเครื่องหมายการค้ากลิ่นและเสียงมากเพียงใด กรรณิการ์อธิบายว่า การดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาใด ๆ ต้องคำนึงถึงคนในประเทศด้วย หากคนในประเทศยังไม่มีศักยภาพพอ จะกลายเป็นการแก้กฎหมายเพื่อบริษัทต่างประเทศ
“ถามว่าประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับอยู่ตรงไหน อย่างเก่งก็แค่พิทักษ์ประโยชน์ให้คนอื่น แค่เรื่องฐานข้อมูลสิทธิบัตรตอนนี้ก็ยังมีปัญหา”
ข้อวิตกกังวลของกรรณิการ์อยู่ที่เครื่องหมายการค้ากลิ่น เพราะไม่รู้ว่าในอนาคตจะกระทบกับความหลากหลายทางชีวภาพและความมั่นคงทางอาหารหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมา ในมุมมองของเธอ มาตรฐานด้านทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะการจดสิทธิบัตรของกรมทรัพย์สินค่อนข้างมีปัญหา สิทธิบัตรบางฉบับไม่ควรได้ แต่ก็ได้ ในกรณีนี้เธอจึงอยากรู้ว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะมีการเปิดเผยข้อมูล และเปิดให้มีการคัดค้านการจดเครื่องหมายการค้ากลิ่น-เสียงหรือไม่ และให้ระยะเวลาเพียงใด
“เรื่องที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา ถ้าระบบของคุณยังพัฒนาไม่ถึง ยิ่งเปิดให้มีการจดจะยิ่งเกิดผลลบ แต่ถ้าเทคโนโลยีพร้อม การจดจะได้ประโยชน์ แต่ไม่เชื่อว่า ขณะนี้ประเทศไทยจะมีเทคโนโลยีที่พร้อม ดังนั้น ประเทศไทยน่าจะเสียประโยชน์มากกว่า” กรรณิการ์กล่าว
ควรศึกษาผลกระทบรอบคอบ ก่อนแก้กฎหมาย
มุมมองของผู้เชี่ยวชาญกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาอย่าง ดร.เจษฎ์ กรณีเครื่องหมายการค้ากลิ่นและเสียงควรต้องมีการศึกษาให้ดีก่อนว่า ควรให้ความคุ้มครองในอุตสาหกรรมใดได้บ้าง อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเครื่องหมายการค้ากลิ่นและเสียง เขาเชื่อว่าน่าจะเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะแข่งขันกับบริษัทรายใหญ่ของต่างประเทศ ซึ่งกรณีนี้ไม่น่าจะเกิดปัญหา อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องสำรวจดูให้แน่ชัดเสียก่อน
“แต่ถ้ามันจะกระทบกับผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลาง แบบนี้ผมคิดว่าอาจต้องชะลอและทำความเข้าใจกับสังคมในเรื่องเครื่องหมายการค้าให้ชัดเจนก่อน ทุกวันนี้ผมเชื่อว่าสังคมมีความเข้าใจเรื่องเครื่องหมายการค้าระดับหนึ่งอยู่แล้ว จากจุดนี้ผมคิดว่าเราสามารถอธิบายได้ชัดเจนถึงลักษณะบ่งเฉพาะ ที่อาจจะมีในสี กลิ่น หรือเสียง ผมเชื่อว่าจะไม่กระทบมากมายนัก แต่ขึ้นอยู่กับการทำความเข้าใจนะครับ ถ้าเราทำความเข้าใจได้ ก็ไม่กระทบมาก แต่ถ้าทำความเข้าใจไม่ได้ ก็กระทบมาก แต่ผมเชื่อว่าพื้นสังคมไทยพอเข้าใจกันอยู่”
ประเด็นต่อมาคือเรื่องนี้กระทบกับใคร ถ้ากระทบเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ก็คงไม่กระไรนัก เพราะเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพสูง แต่ถ้ากระทบในวงกว้างก็ต้องศึกษาให้ดีเสียก่อน ดร.เจษฎ์ ยกตัวอย่างสินค้าน้ำหอมขวดเล็กๆ ที่ขายกันอยู่ทั่วไป
“เราก็ไม่แน่ใจว่าเขาคิดกลิ่น คิดสี มาจากไหน พวกที่ใช้เสียงเขาก็อาจไม่รู้ แต่บังเอิญเสียงไปเหมือนกับของเขา แต่ผมคิดว่าโดยทั่วไปแล้ว เครื่องหมายการค้าที่เป็นกลิ่นและเสียงจะอยู่ในไม่กี่อุตสาหกรรม”
“แต่ผมเชื่อว่า อาจจะผิดก็ได้ สิ่งเหล่านี้ทำได้ก็เพียงผิวเผิน มีกระดาษทิชชูที่มีกลิ่นจำนวนมาก แต่คนจำนวนมากกว่ากลับใช้ที่ไม่มีกลิ่น ดังนั้นไม่ว่าคุณจะใส่กลิ่นเข้าไปยังไง การละเมิดก็มีน้อย เพราะตลาดไม่ได้รองรับ คนที่จะซื้อยางรถยนต์ที่มีกลิ่นกุหลาบก็คงมี แต่น่าจะน้อยมาก กระทั่งไม่มีใครจะแข่งกับเขา แต่ถ้ารถยนต์ที่มีกลิ่นยางแล้วให้คุ้มครอง แบบนี้เรียบร้อยเลย ใคร ๆ ก็ตายหมด ผมคิดว่าเรื่องนี้อาจจะไม่กระทบในวงกว้าง คนขายน้ำหอมตามตลาดที่กลิ่นแบบไทย ๆ เลย ก็ไม่ค่อยมี ส่วนใหญ่จะเป็นตราสินค้าระดับนานาชาติ พวกแบรนด์เนมเขาก็แข่งกันเอง เพียงแต่เราต้องคิดเผื่อว่า เราต้องการให้อุตสาหกรรมไทยก้าวไปถึงจุดไหน ถ้าอยากให้อุตสาหกรรมไทยก้าวไป อาจต้องชะลอ แต่คงชะลอได้ไม่นานนัก เหตุผลในการชะลอก็คือ ต้องทำความเข้าใจกับสังคม เพราะเรื่องเครื่องหมายการค้าในกลิ่นและเสียง เป็นสิ่งใหม่ในสังคมไทย”
บังเอิญแก้กฎหมายเหมือนข้อเสนอสหรัฐฯ
ยังมีจุดที่น่าสนใจและชวนตั้งข้อสังเกตอีกประการ
เดือนมกราคมปี 2549 เกิดการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี ไทย-สหรัฐอเมริกา รอบที่ 6 ที่จ.เชียงใหม่ แต่เกิดการชุมนุมคัดค้านของเครือข่ายภาคประชาชน เป็นเหตุให้การเจรจาต้องยุติกลางคัน ซึ่งในช่วงนั้นมีเอกสารการประชุมหลุดลอดออกมาและพบว่า ข้อเรียกร้องประการหนึ่งของสหรัฐฯ คือต้องการให้ไทยรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ากลิ่นและเสียง แม้ว่าเอฟทีเอ ไทย-สหรัฐฯ จะยุติไปแล้ว แต่ปัจจุบันเอฟทีเอ ไทย-สหรัฐฯ กำลังกลับมาในชื่อใหม่ นั่นก็คือ “ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก” หรือทีพีพี (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement: TPP) ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ค่อนข้างมีความกระตือรือร้นที่ต้องการเข้าร่วมข้อตกลงนี้
การเจรจาเอฟทีเอ ไทย-สหรัฐฯ ปี 2549 ประเทศไทยยังใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ.2540 ซึ่งไม่มีมาตราใดที่ระบุถึงกระบวนการต่างๆ ที่รัฐบาลต้องปฏิบัติก่อนทำการตกลงในข้อตกลงระหว่างประเทศใดๆ บทเรียนนี้ทำให้ในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ.2550 มาตรา 190 เขียนไว้ว่า ถ้ารัฐบาลจะตกลงข้อตกลงระหว่างประเทศใดๆ ที่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงอาณาเขต กระทบต่ออำนาจอธิปไตย หรือต้องออกกฎหมายตามมาเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลง หรืออาจส่งผลกระทบกว้างขวางต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากสภา ทั้งก่อนดำเนินการใดๆ จะต้องทำการเปิดเผยข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และชี้แจงต่อรัฐสภา
ทว่า การแก้กฎหมายของกระทรวงพาณิชย์รอบนี้ เป็นเรื่องภายใน เป็นการริเริ่มเองของหน่วยงานราชการ ที่ ‘บังเอิญ’ ไปสอดรับกับข้อตกลงเอฟทีเอ ไทย-สหรัฐฯ ในอดีต และยังไม่มีใครรู้ว่าจะ ‘บังเอิญ’ สอดรับกับทีพีพีหรือไม่
หากการแก้กฎหมายโดย ‘บังเอิญ’ สอดรับกันพอดีในครั้งนี้ ดำเนินไปในทิศทางเดียวกับข้อเรียกร้องที่จะเกิดขึ้นจากทีพีพีหรือข้อตกเอฟทีเอใดๆ ในอนาคต แปลความได้หรือไม่ว่านี่เป็นความพยายามหลบหลีกมาตรา 190 และแรงเสียดทานจากมาตรา 190 ในอนาคต
นักกฎหมายชี้ ‘ลักไก่’ แก้กฎหมาย เลี่ยงมาตรา 190
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ หน่วยงานรัฐแห่งหนึ่งในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เคยพยายามแก้กฎหมายฉบับหนึ่งเกี่ยวกับพืช เมื่อเรื่องไปถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ปรากฏว่ากฤษฎีกาตีกลับและแจ้งไปยังหน่วยงานดังกล่าวว่า การแก้กฎหมายครั้งนั้นเป็นความพยายามหลบเลี่ยงมาตรา 190 ในรัฐธรรมนูญ
แน่นอนว่า การแก้กฎหมายเครื่องหมายการค้า อย่างไรก็ต้องจบที่รัฐสภาเหมือนกัน ความแตกต่างอยู่ที่ว่า การแก้กฎหมาย ที่สืบเนื่องจากข้อตกลงระหว่างประเทศ จะมีขั้นตอนกระบวนการตรวจสอบและการกลั่นกรองมากกว่า ทั้งยังต้องผ่านการรับฟังความเห็นจากประชาชน ซึ่งกระบวนการหลังนี้ ขั้นตอนการแก้กฎหมายปกติไม่จำเป็นต้องทำ
“การแก้กฎหมาย ถ้าแก้โดยที่มีข้อตกลงระหว่างประเทศเป็นตัวผลักดันให้ต้องแก้ กฎหมายอาจจะต้องผ่านสภาสองสามรอบ คือตอนเจรจา ถ้าต้องแก้ไขกฎหมายก็ต้องผ่านสภาอีก เมื่อสภาอนุมัติ จึงค่อยแก้ แล้วก็เข้าสภาอีกรอบ ถ้าเราแก้ไปเองก่อน ก็คิดไปได้ว่าเป็นการลักไก่ กฎหมายเข้าสภารอบเดียว คนจะยังไม่ทันตั้งตัว” ดร.เจษฎ์อธิบาย
ขณะที่ จักรชัย โฉมทองดี จากโครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนาสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นด้วยว่า การแก้กฎหมายโดยไม่ผ่านมาตรา 190 จะมีกระบวนการตรวจสอบมากกว่า ต้องมีการรับฟังความคิดเห็น ตั้งแต่ชั้นการจัดทำกรอบการเจรจา จนถึงกระบวนการศึกษาผลกระทบ รวมถึงการออกมาตรการเยียวยาผลกระทบที่อาจเกิดตามมา ซึ่งการแก้กฎหมายในระดับพระราชบัญญัติแบบนี้ กระบวนการต่าง ๆ เทียบกับมาตรา 190 ไม่ได้เลย แต่ในประเด็นลักไก่นั้น เขาคิดว่าทำไม่ได้ เพียงแต่ช่วยให้กระบวนการเจรจาง่ายขึ้น
“มาตรา 190 ถูกออกแบบมาว่า ถ้ามีการเจรจาเอฟทีเอเกิดขึ้น แม้ไม่ต้องแก้กฎหมายภายใน ก็ต้องนำเข้าสภา เพราะฉะนั้นการลักไก่แบบนั้นไม่สามารถทำให้หลบมาตรา 190 ได้ ในกรณีของเอฟทีเอ แต่...ยกตัวอย่าง ถ้าเราแก้กฎหมายภายในอยู่แล้ว อาจเป็นไปได้ว่า คู่ภาคีเจรจาอาจจะละไม่มีข้อเรียกร้องนั้น ก็ลดเงื่อนไขความยากของการเจรจาลงไป เป็นเรื่องในเชิงเทคนิคมากกว่า แต่ ณ ขณะนี้ผมไม่เห็นว่าจะลักไก่ได้ ยกเว้นมาตรา 190 จะไม่อยู่หรือไม่อยู่ในลักษณะนี้อีกต่อไปจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ”
ดร.เจษฎ์ แนะว่ากรณีทำนองนี้ควรจับตาระแวดระวังอิทธิพลจาก 3 กลุ่ม คือ หนึ่ง-กลุ่มผลประโยชน์อาจผลักดันผ่านนักการเมือง สอง-ข้าราชการที่คิดเห็นเอาตามทฤษฎีที่เชื่อว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งดี หรือยอมเป็นมือไม้ให้นักการเมืองผลักกฎหมายเข้าสภา และสามคือแรงกดดันจากต่างประเทศ
“แรงกดดันเหล่านี้จะทำให้เกิดการดำเนินการก่อนมีการเจรจากันด้วยซ้ำ ไม่กระโตกกระตาก กว่าประชาชนจะรู้ตัว ก็แก้กฎหมายไปแล้ว พอเจรจาเรื่องนี้ขึ้นมาปรากฏว่าต้องมีเรื่องกลิ่นและเสียง ประชาชนก็ไปโวยวายกัน เขาก็แบกฎหมายออกมาบอกว่ามีอยู่แล้ว เราก็ทำอะไรไม่ได้”
ทางศูนย์ข่าว TCIJ พยายามติดต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา แต่ดูเหมือนว่าระเบียบวิธีปฏิบัติทางราชการจะไม่เปิดโอกาสให้ศูนย์ข่าว TCIJ ได้ซักถาม ซึ่งกรณีการแก้ไขกฎหมายเครื่องหมายการค้าครั้งนี้ หากมีความคืบหน้าอย่างไร TCIJ จะนำเสนอต่อไปในอนาคต
ขอบคุณภาพจาก Google, กรมทรัพย์สินทางปัญญา
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ