พลิกแฟ้มครม.ทุ่มงบฯปี56ให้ธกส. อ้างประชานิยม-พยุงสินค้าเกษตร ไม่หวั่นซ้ำรอยจำนำข้าว-ยางพารา

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ 10 ธ.ค. 2555 | อ่านแล้ว 2782 ครั้ง

 

ในที่สุดความไม่โปร่งใสในนโยบายของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ประกาศรับจำนำข้าวทุกเมล็ดกลายเป็นคดีที่ฝ่ายค้าน-พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายไม่ไว้วางใจ และส่งผลทั้งในทางคดีความต่อเนื่องไปถึงสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.)

 

นอกจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ ต้องตกเป็นผู้ถูกล่าวหา แล้ว ยังมีหน่วยงานที่รับบริหารและใช้เงินเพื่อจำนำนับแสนล้านบาท ที่อาจต้องตกเป็นผู้ร่วมชี้แจง-แสดงข้อมูล

 

เป็นหน่วยงานไหนไม่ได้ นอกจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่เป็นท่อ-บ่อ-ถัง เม็ดเงินในการจำนำข้าวทุกเมล็ด ทุกฤดูกาล ท่ามกลางข้ออภิปรายของฝ่ายค้าน และนักวิชาการระดับกูรูด้านสินค้าเกษตร ที่ไปในทิศทางเดียวกันส่วนใหญ่ว่า จะทำให้ฐานะการเงินของ ธ.ก.ส.ขาดสภาพคล่อง

 

 

 

 

ธกส.แจงเงินรับจำนำข้าว ขอครม.ไฟเขียวอีก 1.5 แสนล้าน

 

 

คำยืนยันจาก “ลักษณ์ วจนานวัช” ผู้จัดการธนาคาร ธ.ก.ส. ที่แจ้งให้คณะรัฐมนตรีรับทราบ ทั้งด้วยวาจาและลายลักษณ์อักษร แจกแจงฐานะบัญชีอุ้มสินค้าเกษตร มีคีเวิร์ด ดังนี้

 

 

             “ธนาคารยังไม่ถึงกับถังแตก ปี 2555 ได้รับจำนำข้าวนาปี ประมาณ 6,900,000 ตัน มันสำปะหลัง ข้าวนาปรัง และยางพารา ทั้งหมดใช้เงินประมาณ 359,000 ล้านบาท แยกเป็นเงินของ ธ.ก.ส. 90,000 ล้านบาท และ คลังจัดหาให้อีก 269,000 ล้านบาท จากข้อมูลมีสินค้าในสต๊อก 31 ล้านตัน เกษตรกรได้ประโยชน์จากโครงการจำนวน 2,600,000 ล้านราย จึงขอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติวงเงินค้ำประกันให้อีก 150,000 ล้านบาท สำหรับการรับจำนำข้าวนาปี 2555/56 รวมกับวงเงินเก่า 359,000 ล้านบาท รวมเงินรับจำนำข้าว  509,000 ล้านบาท คาดว่ากระทรวงพาณิชย์ จะระบายข้าวในสต็อกออกไปได้ และจะมีเงินชำระหนี้ให้ ธ.ก.ส.ภายในสิ้นปี 2555 วงเงิน 85,000 ล้านบาท”

 

 

แผนของธ.ก.ส. ที่คาดว่าจะได้เงินคืน พ้นคำครหาคือ หากนำเงินสดที่กระทรวงพาณิชย์ขายข้าวได้ มารวมบัญชีกับวงเงินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติค้ำประกัน 150,000 ล้านบาท จะเพียงพอสำหรับการรับจำนำข้าวนาปี 2556 เพราะคาดการณ์ตัวเลขการรับจำนำข้าวนาปี ประมาณ 15 ล้านตัน ประมาณ 240,000 ล้านบาท

 

 

‘พาณิชย์’ ฟุ้ง สิ้นปี 56 คืนเงินได้ 1.2 แสนล้าน

 

 

ข้อมูลที่ธ.ก.ส. ได้รับจากระทรวงพาณิชย์คือ ในปีงบประมาณ 2556 กระทรวงพาณิชย์สัญญาจะระบายสินค้าเกษตร ได้เงินเข้าธนาคารประมาณไตรมาสละ 30,000 ล้านบาท หากรวมทั้งปีจะได้เงินคืน 120,000 ล้านบาท

 

เมื่อถูกถามถึงฐานะการเงินที่ง่อนแง่น เพราะรับลูกนโยบายอุดหนุนสินค้าเกษตรทุกตัว ที่ปลูกในยุครัฐบาลเพื่อไทย คำชี้แจงจากธ.ก.ส.คือ “ตอนนี้ฐานะการเงินของ ธ.ก.ส.ไม่มีปัญหา ปัจจุบันเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 9.8 เปอร์เซนต์ ก็จะเพิ่มทุนให้ถึงระดับ 10 เปอร์เซนต์ เพื่อให้ได้ตามเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ธ.ก.ส.ไม่ได้รับผลกระทบจากโครงการจำนำ ไม่มีขาดทุน”

 

 

แง้มเอกสาร “ลับ” คลังขอเงินให้ธ.ก.ส.อีกแสนล้าน

 

 

อย่างไรก็ตามก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ 1 สัปดาห์ ธ.ก.ส. ได้รับสัญญาณที่ดีจากคณะรัฐมนตรี ที่ถูกชงจากกระทรวงการคลัง โดยนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี นำเสนอพร้อมอนุมัติ ดังนี้

 

กระทรวงการคลังขอให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ข้อแรก อนุมัติให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กู้เงินในประเทศ ในปีงบประมาณ 2556 วงเงินไม่เกิน 113,798 ล้านบาท เพื่อ Roll Over เงินกู้ที่จะครบกำหนดชำระคืน โดยกระทรวงการคลังค้ำประกัน รัฐบาลรับภาระชำระคืนต้นเงินกู้และดอกเบี้ยจากการกู้เงิน และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจริง จากการดำเนินการ Roll Over ทั้งหมด

 

ข้อสอง ขออนุมัติให้กระทรวงการคลังเป็นผู้พิจารณาการกู้เงิน วิธีการกู้เงิน เงื่อนไขและรายละเอียดต่าง ๆ ของการกู้เงินและการค้ำประกันเงินกู้ในแต่ละครั้ง ได้ตามความเหมาะสมและจำเป็น

 

สืบเนื่องจากคณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2551อนุมัติเกี่ยวกับการจัดหาเงินกู้ เพื่อดำเนินโครงการรับจำนำข้าว และผลผลิตทางการเกษตร ตามที่กระทรวงการคลังเสนอทั้ง 5 ข้อ ซึ่งรวมถึงให้ ธ.ก.ส.กู้เงินจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารที่เข้าร่วมโครงการในวงเงินไม่เกิน 110,000 ล้านบาท โดยมีกระทรวงการคลังค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ย ทั้งนี้ให้รัฐบาลรับภาระเงินต้นและดอกเบี้ยจากการกู้เงินและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจริง ให้ใช้วงเงินดังกล่าวสำหรับโครงการรับจำนำข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2551/52 โครงการรับจำนำมันสำปะหลัง ปี 2551/52 และโครงการให้สิทธิขายข้าวเปลือกล่วงหน้าแก่เกษตรกรด้วย

 

อ้างถึงคณะรัฐมนตรีที่มีมติ เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2552 รับทราบและอนุมัติในหลักการเกี่ยวกับเรื่อง การปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2552 ครั้งที่ 4 ตามที่ กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งรวมถึงอนุมัติให้ ธ.ก.ส.สามารถดำเนินการบริหารหนี้ด้วยการ Refinance หรือ Roll over หรือเจรจาต่อรองเงื่อนไขสัญญาเงินกู้กับแหล่งเงิน เพื่อให้มีเงื่อนไขและต้นทุนเงินกู้ที่เหมาะสมที่สุดได้ จนกว่าจะมีการชำระคืนเงินกู้ตามโครงการนี้ภายใต้วงเงินกู้ 110,000 ล้านบาท โดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันการกู้เงิน และรัฐบาลรับภาระต้นเงินและดอกเบี้ยจากการกู้เงินดังกล่าว

 

จากนั้นคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2554 รับทราบแนวทางการจัดหาเงินทุน เพื่อดำเนินการโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 ให้ ธ.ก.ส.และอนุมัติในหลักการให้ ธ.ก.ส.กู้เงิน เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน สำหรับโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 จากสถาบันการเงินต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนภายในวงเงินไม่เกิน 269,160 ล้านบาท โดยกระทรวงการคลังค้ำประกันต้นเงินกู้และดอกเบี้ย รัฐบาลรับภาระชำระคืนต้นเงินและดอกเบี้ยจากการกู้เงิน และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจริง รวมทั้งผลขาดทุนที่เกิดขึ้นจากโครงการทั้งหมด

 

 

อุ้ม‘มันสำปะหลัง-ยางพารา’ ด้วย 1.6 แสนล้าน

 

 

ข้อเสนอของ ธ.ก.ส. ถูกเสนอคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2555  อนุมัติให้ ธ.ก.ส.กู้เงิน เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลัง ปี 2554/55 จำนวน 10 ล้านตัน วงเงินกู้ไม่เกิน 28,250 ล้านบาท โครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกร เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง วงเงินกู้ไม่เกิน 15,000 ล้านบาท และโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2555 จำนวนประมาณ 8 ล้านตัน วงเงินกู้ไม่เกิน 120,000 ล้านบาท รวมวงเงินทั้งสิ้นไม่เกิน 163,250 ล้านบาท จากสถาบันการเงินต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน

 

รวมทั้งให้ ธ.ก.ส.กู้เงินเพื่อบริหารจัดการหนี้เงินกู้ด้วยการ Refinance หรือ Roll over หรือ Prepayment โดย กค.ค้ำประกันต้นเงินกู้และดอกเบี้ยรัฐบาลรับภาระชำระคืนต้นเงินและดอกเบี้ยจากการกู้เงินและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจริงจากการดำเนินโครงการทั้งหมด

 

3 เดือนถัดมา ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2555 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอให้ ธ.ก.ส.กู้เงินเพื่อบริหารจัดการหนี้เงินกู้ ด้วยการ Refinance หรือ Roll over หรือ Prepayment โดย กระทรวงการคลังค้ำประกัน สำหรับโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 วงเงินไม่เกิน 269,160 ล้านบาท จนกว่าจะมีการชำระคืนเงินกู้เสร็จสิ้น โดยรัฐบาลรับภาระชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยจากการกู้เงินและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจริง รวมทั้งผลขาดทุนที่เกิดขึ้นโครงการทั้งหมด

 

 

อ้างแผนบริหารหนี้สาธารณะ 2 ล้านล้านยังเอาอยู่

 

 

ก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และฝ่ายค้านเริ่มค้นข้อมูล ประกอบกับนักวิชาการตั้งข้อสังเกตเรื่อง “หนี้สาธารณะ” ที่อาจจะทะลุเกิน 60 เปอร์เซ็นต์ ของจีดีพี. และทำให้ฐานะการเงินของประเทศมีปัญหา คณะรัฐมนตรีในวันที่ 9 ตุลาคม 2555 พิจารณา “อนุมัติแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2556 วงเงินดำเนินการรวมทั้งสิ้น 2,048,018.36 ล้านบาท ประกอบด้วยแผนงานย่อย 4 แผนงาน ซึ่งรวมถึงแผนการปรับโครงสร้างหนี้ของรัฐวิสาหกิจในส่วนของ ธ.ก.ส.ที่เป็นวงเงินที่ครบกำหนดชำระ จำนวน 114,270 ล้านบาท และวงเงินที่จะ Roll over จำนวน 113,798 ล้านบาท”

 

 

สาระสำคัญในส่วนที่เกี่ยวกับเงินกู้ กระทรวงการคลังรายงานว่า ที่ผ่านมา ธ.ก.ส.ดำเนินการกู้เงินตามโครงการรับจำนำผลิตผลทางการเกษตรปีการผลิต 2551/52 และบริหารหนี้เงินกู้ด้วยการ Roll Over เงินกู้ดังกล่าว ด้วยการกู้เงินแบบ Term Loan มาแล้ว จำนวน 8 ครั้ง โดยมีกระทรวงการคลังค้ำประกัน ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2552

 

ซึ่ง ณ วันที่ 30 กันยายน 2555 ยังคงมีภาระหนี้เงินกู้คงเหลือจำนวน 37,348 ล้านบาท ซึ่งจะครบกำหนดชำระคืนเงินกู้ในปีงบประมาณ 2556 จำนวน 3 ล้านบาท วงเงิน 18,020 ล้านบาท ชำระคืนแล้ว 472 ล้านบาท จึงมีความจำเป็นต้อง Roll Over จำนวน 17,548 ล้านบาท และ ธ.ก.ส.ได้ดำเนินการกู้เงินตามโครงการรับจำนำผลิตผลทางการเกษตร ปีการผลิต 2554/55 จำนวน 215,750 ล้านบาท ซึ่ง ณ วันที่ 30 กันยายน 2555 ยังคงมีภาระหนี้เงินกู้คงเหลือ จำนวน 212,750 ล้านบาท โดยเป็นเงินกู้ที่ครบกำหนดชำระในปีงบประมาณ 2556 จำนวน 19 สัญญา วงเงิน 96,250 ล้านบาท รวมเป็นเงินที่ครบกำหนดชำระในปี 2556 จำนวน 113,798 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2556 ธ.ก.ส.มีวงเงินที่ครบกำหนดชำระ จำนวน 114,270 ล้านบาท โดยจะกู้เงินเพื่อ Roll Over ทั้งสิ้นจำนวน 113,798 ล้านบาท ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

 

 

ผลการดำเนินงานของ ธ.ก.ส.ในปี 2552-2554 ธ.ก.ส.มีกำไรสุทธิจำนวน 7,821 ล้านบาท จำนวน 8,012 ล้านบาท และจำนวน 4,277 ล้านบาท ตามลำดับ ทั้งนี้ ธ.ก.ส.ได้แยกบัญชีงบการเงิน สำหรับโครงการรับจำนำผลิตผลทางการเกษตร ปีการผลิต 2551/52 และโครงการรับจำนำผลผลิตทางการเกษตร ปีการผลิต 2554/55 ออกจากการดำเนินงบปกติ

 

ตามกฎของ ธ.ก.ส.มีเงินกองทุนจำนวน 84,720 ล้านบาท ดังนั้น 6 เท่าของเงินกองทุน คิดเป็นวงเงิน 508,320 ล้านบาท และกระทรวงการคลังได้ค้ำประกัน ธ.ก.ส.แล้ว จำนวน 263,061 ล้านบาท ซึ่งรวมเงินกู้ตามโครงการรับจำนำผลิตผลทางการเกษตร ปีการผลิต 2551/52 จำนวน 37,348 ล้านบาท และโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 และผลผลิตทางการเกษตรอื่น ๆ จำนวน 212,750 ล้านบาทแล้ว ดังนั้น จึงเหลือวงเงินที่ กค.สามารถค้ำประกันเงินกู้ให้ ธ.ก.ส.ได้อีกไม่เกิน 245,257 ล้านบาท

 

ข้อเสนอนี้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ให้ความเห็นประกอบว่า “ในปีงบประมาณ 2556 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร มีเงินกู้ที่ครบกำหนดชำระ จำนวน 113,798 ล้านบาท โดยเป็นหนี้เงินกู้ตามโครงการรับจำนำผลิตผลทางการเกษตร ปีการผลิต 2551/52 จำนวน 17,548 ล้านบาท และหนี้เงินกู้ตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55  และผลผลิตทางการเกษตรอื่น ๆ จำนวน 96,250 ล้านบาท”

 

 

               “ซึ่งกระทรวงการคลังพิจารณาแล้วเห็นว่า ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการ Roll Over เงินกู้ที่จะครบกำหนดชำระ เพื่อไม่ให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ โดยการขอกู้เงินในครั้งนี้เป็นการบริหารและจัดการหนี้เดิม ไม่ได้เป็นการก่อหนี้ใหม่ และจำนวนเงินที่ขอกู้ดังกล่าวได้บรรจุอยู่ในแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2556 แล้ว   และกระทรวงการคลังสามารถค้ำประกันให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรได้ ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของกฎหมาย”

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: