ผลการสอบ PISA ซึ่งวัด “ความรู้เรื่อง” (literacy) ในวิชาที่จัดว่าเป็นหัวใจของการเรียนรู้ตลอดชีวิตสามวิชา ได้แก่ การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ของนักเรียนอายุ 15 ปี ทั่วประเทศ ในปี พ.ศ. 2552 พบว่า นักเรียนไทยอายุ 15 ปีมีทักษะในการอ่านที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง กล่าวคือ ประมาณร้อยละ 42.8 มีทักษะในการอ่านอยู่เพียงระดับ 1 และต่ำกว่า (ระดับนี้คือแค่อ่านออก จับใจความไม่เป็น) และนักเรียนประมาณอีกร้อยละ 37 มีการอ่านถึงระดับสอง (จับใจความได้ก็ต่อเมื่อเนื้อหาที่อ่านค่อนข้างตรงไปตรงมาเท่านั้น) พูดอีกอย่างคือ นักเรียนวัย 15 ปีของไทยประมาณร้อยละ 80 (สี่ในห้าคน) มีทักษะการอ่านสูงสุดอยู่เพียงระดับสองเท่านั้น ตัวเลขนี้นอกจากจะต่ำมากแล้วยังลดลงจากผลการประเมิน PISA ปี 2546 หรือหกปีก่อนอย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย (ในปี 2546 นักเรียนที่อ่านได้สูงสุดแค่ระดับสองมีร้อยละ 74)
นอกจากนี้ ในบรรดานักเรียนที่เหลือ ผู้มีทักษะการอ่านระดับ 5 ซึ่งหมายถึงคนที่สามารถเข้าใจข้อเขียนที่ยากและซับซ้อน วิเคราะห์และประเมินเนื้อหาเป็น สามารถสร้างสมมติฐานจากสิ่งที่อ่านและดึงเอาความรู้สาระในนั้นมาสร้างเป็น แนวคิดของตนได้ มีเพียงร้อยละ 0.3 เท่านั้น (ดูรายละเอียดได้จากเว็บไซต์ http://stats.oecd.org/PISA2009Profiles/)
เมื่อ เปรียบเทียบผลการประเมิน PISA ปี 2543 และ 2552 รายภาค พบว่านอกจากทักษะการอ่านของเด็กไทยวัย 15 ปีจะแย่และแย่ลงอย่างต่อเนื่อง ยังมีความเหลื่อมล้ำค่อนข้างมากระหว่างภาคอีกด้วย โดยเด็กกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีทักษะอ่านสูงกว่านักเรียนจากภาคอื่นมาก ถึงแม้ทักษะโดยรวมยังอยู่ในระดับต่ำ (ทั้งประเทศมีนักเรียนจากกลุ่มโรงเรียนสาธิตเพียงกลุ่มเดียวที่มีระดับการ อ่านเฉลี่ยเท่ากับมาตรฐานกลุ่มประเทศ OECD) โดยนักเรียนจากภาคอีสานและภาคใต้มีระดับความรู้และทักษะการอ่านต่ำที่สุด นักเรียนในปี 2552 มีความรู้และทักษะการอ่านต่ำกว่าปี 2543 ทุกภาค ยกเว้นกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยภาคใต้ลดลงมากที่สุด
ผลการประเมินนักเรียนในประเทศก็น่าหดหู่ไม่แพ้กัน ข้อมูลของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) (http://www.niets.or.th/) ผู้จัดการสอบ O-NET ซึ่งวัดผลการเรียนของนักเรียนระดับ ป.6 ม.3 และ ม.6 ใน 8 กลุ่มสาระ ได้แก่ ภาษาไทย, คณิตศาสตร์, วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม, สุขศึกษาและพลศึกษา, ศิลปะ, การงานอาชีพและเทคโนโลยี และภาษาต่างประเทศ ประจำปีการศึกษา 2552 พบว่า จากคะแนนเต็ม 800 นักเรียนไทยได้คะแนนเฉลี่ยเพียง 200 กว่าๆ เท่านั้น นักเรียนในกรุงเทพฯ ซึ่งได้คะแนนสูงสุด ทำคะแนนเฉลี่ยได้เพียงร้อยละ 376.74 (ป.6), 309.87 (ม.3) และ 330.01 (ม.6) ตามลำดับ ส่วนจังหวัดที่นักเรียนมีคะแนน O-NET ต่ำสุดคือ ปัตตานี (ป.6 และ ม.6) และ นราธิวาส (ม.3) โดยได้คะแนน 264.61, 233.35 และ 229.78 คะแนนตามลำดับ
เมื่อ สทศ. นำคะแนน O-NET แต่ละชั้นมาแบ่งเป็นจังหวัดที่นักเรียนได้คะแนนสูงสุด 15 จังหวัด ต่ำสุด 15 จังหวัด และจังหวัดอยู่ตรงกลาง (ในแผนภูมิด้านล่าง ยิ่งสีเข้มยิ่งได้คะแนนน้อย) ผลที่ได้หักล้างความเชื่อของคนทั่วไปที่ว่า นักเรียนในจังหวัดตะเข็บชายแดนย่อมมีทักษะต่ำเสมอเพราะ “อยู่ไกลความเจริญ” – จังหวัดที่นักเรียนมีคะแนนสูงสุดติด 1 ใน 10 อันดับแรกติดต่อกัน 3 ปี มี 5 จังหวัดเท่านั้น ในจำนวนนี้ 3 จังหวัดไม่ใช่ตะเข็บชายแดน ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี นครปฐม อีก 2 จังหวัดเป็นจังหวัดชายแดน คือนครพนมและพะเยา นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงที่ว่านักเรียนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีคะแนนเป็นอันดับท้ายๆ ของประเทศและแย่ลงอย่างต่อเนื่อง สะท้อนว่าสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาอย่างมีนัย สำคัญ มากกว่าข้อเท็จจริงที่ว่าจังหวัดนั้นอยู่ติดชายแดนหรือไม่
น่าสังเกตด้วยว่าคะแนนเฉลี่ยของนักเรียนชั้น ป.6 สูงกว่านักเรียนชั้นมัธยมอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนว่าเด็กไทยยิ่งเรียนยิ่งอ่อน ไม่ได้เก่งขึ้นตามที่ควรจะเก่งในแต่ละช่วงอายุแต่อย่างใด
เมื่อมองลึกลง ไปในสังกัดของนักเรียน พบว่า ในชั้น ป.6 โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษามีคะแนนสูงสุด ส่วนโรงเรียนในสังกัดสำนักการศึกษาพิเศษ มีคะแนนต่ำสุด ส่วนชั้น ม.3 โรงเรียนในสังกัด
สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษามีคะแนนสูงสุด ส่วนโรงเรียนในสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน มีคะแนนต่ำสุด และชั้น ม.6 โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ซึ่งเป็นองค์การมหาชน มีคะแนนสูงสุด ส่วนโรงเรียนในสังกัดสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มีคะแนนต่ำสุด
ประเด็นหนึ่งซึ่งหลายคนมักตั้งข้อสังเกตคือ จำนวนครูและนักเรียนต่อห้องมีผลต่อผลการเรียนของเด็กมากน้อยเพียงใด ผลการคำนวณค่าสหสัมพันธ์ (correlation) ซึ่งบ่งชี้ความสัมพันธ์ทางสถิติระหว่างตัวแปรต่างๆ พบว่า จำนวนครูและนักเรียนต่อห้องไม่มีผลต่อคะแนน O-NET อย่างมีนัยสำคัญ ตามตารางด้านล่าง (ค่าสหสัมพันธ์ยิ่งใกล้ 1 มากแปลว่าตัวแปรทั้งสองยิ่งสัมพันธ์กันมาก)
นอกจากนี้ ค่าสหสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มสาระต่างๆ ยังสะท้อนว่าคะแนนค่อนข้างไปด้วยกัน คือเด็กที่เก่งหรืออ่อนคณิตศาสตร์ก็มักจะเก่งหรืออ่อนวิทยาศาสตร์ สังคม ภาษาไทย ศิลปะ ฯลฯ ด้วย ยกเว้นภาษาอังกฤษซึ่งมีค่าสหสัมพันธ์ต่ำกว่ากลุ่มสาระอื่นอย่างเห็นได้ชัด สำหรับชั้น ป.6 และ ม.3 ตัวเลขนี้สะท้อนข้อเท็จจริงที่ว่าเด็กไทยโดยรวมค่อนข้างอ่อนภาษาอังกฤษ เด็กที่เก่งคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคม และภาษาไทย (ซึ่งคะแนนมักไปทางเดียวกัน) จำนวนมากไม่เก่งภาษาอังกฤษในระดับเดียวกับที่เก่งสี่วิชานี้
นอก จากจะสะท้อนปัญหาของนักเรียนแล้ว ข้อมูล O-NET ของ สทศ. ยังสะท้อนปัญหาของครูผู้สอนเช่นกัน อาทิ ในสมัยที่ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มีนโยบายให้ครูในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ., http://www.obec.go.th/) มาออกข้อสอบ O-NET โดยให้ สพฐ. คัดเลือกให้ตามเกณฑ์ของ สทศ. คือ (1) มีความรู้ในวิชาที่ออกข้อสอบเป็นอย่างดี (2) ออกข้อสอบเป็น (3) เก็บความลับได้ (4) มีเวลามาออกข้อสอบ
สพฐ. คัดเลือกครูที่ผ่านเกณฑ์มาออกข้อสอบได้ 86 คน ออกข้อสอบรวมกันได้ 2,734 ข้อ หลังจากนั้น สทศ. ได้ตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองข้อสอบ พบว่าในจำนวนข้อสอบที่ครูสพฐ. ออกนั้น จำนวนที่คณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณาว่าใช้สอบได้จริงมีเพียงร้อยละ 28.51, 36.79 และ 18.54 ของจำนวนข้อสอบทั้งหมดที่ออกเท่านั้น สำหรับชั้น ป.6, ม.3 และ ม.6 ตามลำดับ
ผลการประเมิน PISA และ O-NET ตอกย้ำอีกครั้งถึงความตกต่ำของการศึกษาไทย ซึ่งมีความเหลื่อมล้ำอย่างเห็นได้ชัดระหว่างกรุงเทพฯ กับภาคอื่น แต่โดยรวมแล้วย่ำแย่อย่างแทบจะเท่าเทียมถ้าวัดว่านักเรียนมีความพร้อมเพียง ใดที่จะคิดเป็น วิเคราะห์เป็น และสามารถแสวงหาความรู้เพิ่มเติมด้วยตนเองตลอดชีวิตได้
นอกจากนี้ ข้อมูลที่กล่าวไปข้างต้นยังบ่งชี้ว่า วิกฤติการศึกษาไทยไม่อาจแก้ไขด้วยการทุ่มเงินงบประมาณไปกับ “ฮาร์ดแวร์” อาทิ อาคารเรียน คอมพิวเตอร์ หรือแท็บเล็ต เพียงอย่างเดียว แต่ที่สำคัญกว่านั้นมากคือการลงทุนใน “ซอฟต์แวร์” อาทิ ครูผู้สอน หลักสูตร และกระบวนการเรียนการสอน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เด็กมีผลการเรียนอ่อน ไม่ใช่คอยแต่ทุ่มงบลงไปในพื้นที่ที่เด็กเรียนได้ดีแล้วและผู้ปกครองมีฐานะ พร้อมมูลที่จะส่งเสียให้เข้าโรงเรียนเอกชนและจ่ายค่ากวดวิชามหาศาลบานตะไท
ผู้เขียนคิดว่า ตัวชี้วัด “ความสำเร็จ” ที่แท้จริงของโรงเรียนไทยน่าจะเป็นตัวเลขที่บ่งชี้ว่าโรงเรียนนั้นสามารถให้ การสนับสนุนเด็กด้อยโอกาส และช่วยเหลือเด็กที่เรียนอ่อนให้เรียนดีขึ้นได้แค่ไหนอย่างไร มากกว่าการโอ้อวดว่านักเรียนที่เก่งที่สุดของโรงเรียนไปชนะรางวัลอะไรมาบ้าง ดังที่เราได้ยินได้ดูอยู่เนืองๆ นอกจากนี้ การแก้ปัญหายังจะต้องครอบคลุมปัจจัยสำคัญอื่นๆ ที่อยู่นอกรั้วโรงเรียนแต่ส่งผลอย่างมากต่อพัฒนาการและศักยภาพการเรียนรู้ ของเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็ก อาทิ การให้เด็กได้ดื่มนมแม่มากกว่านมกระป๋อง และการแก้ปัญหาขาดไอโอดีนอย่างจริงจัง.
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ