คำสั่งศาลโลก : ยังไม่เสียดินแดน แต่เสียสติไปแล้ว

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี 10 ก.พ. 2555 | อ่านแล้ว 2161 ครั้ง

 

นักวิชาการที่สอนวิชากฎหมายระหว่างประเทศมาชั่วชีวิต ถึงกับละทิ้งความเป็นนักกฎหมาย เสนอขึ้นอย่างฉับพลันก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งด้วยซ้ำไปว่า “ตั้งแต่มีศาลโลกมา มีประเทศคู่พิพาทขอให้ศาลออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราว 17 กรณี ศาลรับ 10 กรณี และใน 10 กรณีนี้ไม่มีใครทำตามเลยสักคน” ปรมาจารย์ทางกฎหมายระหว่างประเทศที่มีคนนับถือกันมากมายทั่วบ้านทั่วเมือง เสนอแนวทางแบบศรีธนญชัย ตามถนัดว่า ศาลให้ถอนทหาร เราก็เอาตำรวจเข้าไปแทนก็ได้

 

         หากเราศึกษากฎหมายกันมาตั้งมากมายแล้วสุดท้ายคำตอบมันออกมาเป็นแค่นี้ เราเหลือเหตุผลอะไรหรือที่จะต้องเรียนกฎหมายกันอีก

 

           นักข่าวจำนวนไม่น้อยที่ทำตัวเป็นกระบอกเสียงให้รัฐบาลและกองทัพอย่างออกหน้า ออกตา ถึงกับรายงานข่าวผิดๆถูกๆ รายงานคำสั่ง เป็นคำพิพากษา พยายามเสนอความเห็นว่า ผลแห่งคำสั่งศาลนั้นทำให้กัมพูชาต้องเสียหน้า เสียหายอย่างรุนแรง บ้างก็รายงานว่า ฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชาที่เป็นหัวหน้าคณะถึงกับมีสี หน้าไม่สู้ดีหลังจากฟังคำสั่งศาลแล้ว ทั้งๆที่ความเป็นจริง ฮอร์ นัมฮง นั้นเกิดมาหน้าก็เป็นแบบนี้แล้ว ติดตามทำข่าวเจอเขามาหลายปีก็ไม่เคยเห็นว่า ท่านผู้นี้เคยแสดงการเสียใจหรือลิงโลดออกนอกหน้าเลยสักที

 

          

บางคนพยายามเปรียบเทียบพื้นที่ซึ่งศาลได้กำหนดให้เป็นเขตปลอดทหารชั่วคราว กับพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร แล้วสรุปว่ากัมพูชาเสียพื้นที่มากกว่าไทย ทั้งๆที่รู้อยู่แก่ใจดีแล้วว่า พื้นที่ดังกล่าวนั้นเป็นเขตปลอดทหารชั่วคราว ไม่ใช่การกำหนดเส้นเขตแดน

 

          ความจริงก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เป็น (รักษาการ)นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นั่นเองที่ปากก็บอกว่า ไทยไม่ได้เสียอะไรจากการที่ศาลสั่ง แต่ก็ยังไม่วายให้เจ้าหน้าที่ทำการเปรียบเทียบขนาดพื้นที่ ความจริงถ้าไม่กังวลกับการเสียดินแดนมากมาย ไม่เห็นมีความจำเป็นจะต้องเปรียบเทียบ

 

          อภิสิทธิ์ บอกกับนักข่าวหลังจากการประชุมกับฝ่ายความมั่นคงเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2554 ว่า  “พื้นที่ปลอดกำลังทหารซึ่งศาลโลกกำหนดขึ้นเองเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู คร่อมสันปันน้ำอยู่ มีขนาด 17.3 ตารางกิโลเมตร ซึ่งจากการคำนวณคร่าวๆ ถ้ายึดสันปันน้ำเป็นเขตแดนตามจุดยืนของไทย จะเป็นพื้นที่ของกัมพูชา 8.8 ตารางกิโลเมตร และเป็นของไทย 8.5 ตารางกิโลเมตร ซึ่งรวมพื้นที่ที่มีการอ้างสิทธิ์ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตรอยู่ด้วย ประมาณ 4.5 ตารางกิโลเมตร แต่ถ้าเป็นไปตามมุมมองของกัมพูชา จะพบว่ากัมพูชาต้องถอนทหารออกไปถึง 13 ตารางกิโลเมตร ซึ่งสิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าคำสั่งของศาลโลกไม่ได้ระบุเฉพาะดินแดนไทย” 

 

          นอกจากนี้อภิสิทธิ์ ยังบอกอีกว่า กัมพูชามีทหารมากถึง 4,000 คนอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ในขณะที่ไทยมีน้อยกว่านั้น แปลว่า หากจะต้องถอนทหารกันจริงๆ หมายความว่ากัมพูชาจะต้องถอนมากกว่า เพราะมีมากกว่า นั่นคงเป็นเหตุผลปลอบใจตนเองพอให้คลายความกังวลใจได้กระมัง

 

           แต่เรื่องจริงที่ไม่ค่อยจะได้พูดกันคือ อะไรที่ไทยขอแล้วศาลไม่ให้ และที่สำคัญกว่าคือ อะไรทำให้เป็นกันมากถึงเพียงนี้ และประเทศไทยมีวันนี้กับกัมพูชาอีกครั้งได้อย่างไร

 

            เรื่องที่ไทยขอและศาลไม่ให้คือ ศาลไม่ยอมจำหน่ายคดีออกจากสาระบบ เพราะเห็นว่าเรื่องนี้มีมูลเพียงพอที่จะพิจารณาต่อไปได้ ที่น่าสังเกตคือ ศาลลงความเห็นเรื่องนี้ด้วยมติเอกฉันท์ แปลว่า แม้แต่ผู้พิพากษาสมทบที่ไทยตั้งเข้าไปแท้ๆ ยังไม่เห็นด้วยกับคำขอของไทยด้วยซ้ำไป ศาลให้เหตุผลว่า การขอตีความตามมาตรา 60 แห่งธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เป็นเรื่องที่สามารถกระทำได้ ดังนั้นศาลไม่อาจจะทำตามคำขอของไทยที่จะให้จำหน่ายคดีจากสาระบบได้  แปลว่า อย่างไรเสีย ศาลก็จะพิจารณาคดีนี้ต่อไป

 

           นักกฎหมายจำนวนหนึ่งยังพยายามมองในแง่ดี (สำหรับประเทศไทย) ว่า ถึงแม้ว่าศาลจะดำเนินคดีต่อไป ก็ยังไม่ได้หมายความว่า ศาลจะทำการตีความคำพิพากษาปี 1962 จริงๆ หากศาลอ่านคำร้อง อ่านข้อโต้แย้งแล้ว อาจจะมองเห็นว่า ไม่มีความจำเป็นต้องตีความก็ได้ แต่ในชั้นนี้ ศาลเห็นว่า คดีมีมูลเพียงพอจะดำเนินการจึงรับเรื่องเอาไว้ นั่นก็อาจจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้

 

           แต่ถ้าหากเป็นไปอีกทางหนึ่ง คือศาลรับและดำเนินการตีความคำพิพากษาขึ้นมาจริงๆ โอกาสที่จะตีความแล้วเป็นคุณกับประเทศไทยนั้น มีไม่มากนัก พื้นฐานของคำพิพากษาในปีนั้น ในบทปฏิบัติการทุกข้อ ดังนี้

 

          “ศาล โดยคะแนนเสียงเก้าต่อสาม ลงความเห็นว่า ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในอาณาเขตภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา   โดยเหตุนี้จึงพิพากษา โดยคะแนนเสียงเก้าต่อสาม ว่า ประเทศไทยมีพันธะที่จะต้องถอนกำลังทหารหรือตำรวจ ผู้เฝ้ารักษาหรือผู้ดูแลซึ่งประเทศไทยส่งไปประจำอยู่ที่ปราสาทพระวิหารหรือ ในบริเวณใกล้เคียงบนอาณาเขตของกัมพูชา โดยคะแนนเสียง เจ็ดต่อห้า ว่าประเทศไทยมีพันธะที่จะต้องคืนให้แก่กัมพูชา บรรดาวัตถุชนิดที่ได้ระบุไว้ในคำแถลงสรุปข้อห้าของกัมพูชาซึ่งเจ้าหน้าที่ ไทยอาจจะได้โยกย้ายออกไปจากปราสาทหรือบริเวณพระวิหาร นับแต่วันที่ประเทศไทยเข้าครอบครองพระวิหาร เมื่อ ค.ศ. 1954” 

 

(ถ้อยคำในคำพิพากษาเป็นสำนวนแปลของ กระทรวงการต่างประเทศของไทย)  

 

        ถ้อยคำทั้งหมดดังกล่าวข้างต้น พิจารณาโดยทั่วไปแล้ว ก็รู้ได้ในทันทีแทบไม่ต้องมีการตีความอะไรเลยว่า ปราสาทพระวิหารนั้นอยู่ในประเทศกัมพูชา ดังนั้นคำถามที่ว่า พื้นที่ซึ่งตัวปราสาทตั้งอยู่และโดยรอบ ควรจะเป็นของใคร จะเห็นเป็นอย่างอื่นได้อย่างไร นอกเสียจากว่า มันก็เป็นประเทศกัมพูชา ความเห็นนักกฎหมายในกลุ่มที่ว่า ตัวปราสาทเป็นของกัมพูชา พื้นที่เป็นของไทยนั้น มีเพียงสำนักศรีธนญชัยเท่านั้น ซึ่งดูเหมือนไม่เป็นที่ยอมรับในสากลโลกและไม่มีสอนในมหาวิทยาลัยแห่งใด แม้ว่าจะปรากฎดาษดื่นอยู่ตามสื่อต่างๆของไทยก็ตาม

 

          เรื่องที่ยังชวนสงสัย ที่จะต้องตีความคือ พื้นที่ของกัมพูชาเช่นว่านั้น กว้างยาว เท่าใด ?

 

          นักกฎหมายไทย เถียงว่า ศาลไม่ได้พิพากษาเรื่องเส้นเขตแดน การจะพิจารณาว่าพื้นที่ของกัมพูชา กว้าง ยาว เพียงใดนั้นจะต้องก้าวล่วงไปเรื่องเขตแดน ซึ่งฝ่ายไทยเห็นว่า ศาลไม่มีอำนาจถึงนั้น เพราะจะเกินเลยขอบเขตคำพิพากษาไป

 

           ปัญหาที่กัมพูชาเสนอโต้แย้งเข้ามาในคำขอคือ ถ้าศาลไม่พิจารณาเส้นเขตแดนแล้ว ศาลรู้ได้อย่างไรในปีนั้นว่า “ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในอาณาเขตภายใต้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชา” คำขอเชิงโต้แย้งของกัมพูชาเช่นนี้เอง เป็นการบีบบังคับให้ศาลต้องกลับไปพิจารณาเรื่องเส้นเขตแดนอย่างหลีกเลี่ยง ไม่ได้

 

           เมื่อจะต้องพิจารณาเส้นเขตแดน ศาลเอามาจากไหน คำตอบคือ แผนที่ 1:200000 ซึ่งกัมพูชาเสนอเข้าไปในภาคผนวก 1 ในตอนฟ้องคดีแล้ว แผนที่ซึ่งระบุถึงพื้นที่ส่วนนี้ของโลกอาจจะมีจำนวนมากก็จริง แต่ที่ใช้เป็นพยานหลักฐานในศาลแห่งนี้ มีเพียงแผ่นนี้เท่านั้น และในการตีความคำพิพากษา เช่นนี้ ศาลย่อมไม่เรียกพยาน หลักฐานใหม่เป็นแน่ เอกสารหลักฐานหากจะเรียกเพิ่มเติมก็เพื่อสนับสนุนของเดิมเพื่อความกระจ่าง เท่านั้น จะหาพยานหลักฐานเพื่อหักล้างจนกระทั่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาย่อมทำ ไม่ได้ เพราะไม่ต้องด้วยการตีความตามมาตรา 60

 

           ยังไม่มีความจำเป็นอะไรจะต้องทำนาย ผลของการตีความในเวลานี้ แต่ปัญหาที่น่าสนใจ ที่ควรแก่การพิจารณาในเวลานี้ คือ ไทยและกัมพูชา มาถึงวันที่ต้องเผชิญหน้ากันในศาลอีกครั้งได้อย่างไร


 คำตอบคือ เป็นกลุ่มชนชั้นนำในขบวนการผู้รักชาตินั่นเองพามาถึงจุดนี้ เรื่องมันก็เริ่มแต่เพียงว่า กัมพูชาต้องการเอาปราสาทพระวิหารไปขึ้นทะเบียนมรดกโลก แล้วไทยคัดค้านเพราะเอาพื้นที่ทับซ้อนซึ่งไทยอ้างสิทธิขึ้นไปด้วย แต่ความจริงลำพังปัญหาแค่เพียงนี้ก็เจรจากันได้ ไม่ต้องไปถึงโรงศาล เพราะปรากฎว่าตกลงกันได้ตั้งแต่ก่อนขึ้นทะเบียนเสียด้วยซ้ำไปว่า พื้นที่ซึ่งอยู่ในกรณีพิพาทนั้นไม่รวมเข้าไปเป็นเขตกันชน เรื่องนี้มีปรากฏชัดแล้วในมติคณะกรรมการมรดกโลกในปี 2008 ที่ควิเบก

 

             เรื่องควรจบแค่นั้น เมื่อกัมพูชาขึ้นทะเบียนมรดกโลกได้ ก็ดำเนินการต่อไป ปัญหาเขตแดนบริเวณนั้นที่ยังไม่เรียบร้อยก็สมควรที่คณะกรรมการเขตแดนร่วมไทย กัมพูชาจะดำเนินต่อไปได้ แต่คณะผู้รักชาติของไทยก็ยังไม่จบ ด้วยว่ามีบางกลุ่มประสบความสำเร็จในการยึดอำนาจรัฐ ได้เป็นรัฐบาล จึงตามราวีกัมพูชาต่อไป ด้วยการคัดค้านแผนการบริหารจัดการปราสาท ด้วยเหตุผลเดิมคือ พื้นที่ทับซ้อนยังตกลงไม่ได้ (ทั้งๆที่ได้กันออกไปแล้ว อีกทั้งอนุสัญญามรดกโลกก็ระบุชัดแล้วว่า การขึ้นทะเบียนไม่ทำให้ใครเสียอำนาจอธิปไตย) 

 

             พวกเขาประสบความสำเร็จในปี 2010 ทำให้คณะกรรมการมรดกโลกชะลอการพิจารณาแผนของกัมพูชาได้ และยังดึงดันจะทำอีกในปี 2011 แม้สุดท้ายจะหน้าแตกกลับมา แต่ก็ทิ้งปัญหาให้ต้องตามแก้กันต่อไป

 

             ควรจะกล่าวด้วยว่า ทุกอย่างดำเนินไปภายใต้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศที่เลื่อมทรุดลง อันเนื่องมาจากรัฐบาลอภิสิทธิ์ เอาปัญหาการเมืองภายในของตัวเองที่มีกับอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ผสมปนเปลงไปกับปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แน่นอนฝ่ายกัมพูชาก็รู้ดีและก็ร่วมละเลงปัญหานี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งทั้งหมดก็ทำให้ปัญหาความสัมพันธ์ ปัญหาเขตแดน กลายเป็นเรื่องยุ่งยากต่อการแก้ไข และไปลงเอยด้วยการปะทะกันทางทหารในที่สุด

 

             ระหว่างนั้น นายกรัฐมนตรีฮุน เซน ของกัมพูชา ได้ส่งข้อความผ่านมายังรัฐบาลไทย หลายครั้งทั้งทางตรงและทางอ้อมว่า เรื่องเขตแดนนั้นถ้ารัฐบาลไทยยังใช้กลไกรัฐสภาเตะถ่วงงานของคณะกรรมการเขต แดนร่วมอยู่ต่อไปเช่นนี้ เรื่องคงไม่จบง่าย กัมพูชาก็ไม่ได้ปิดบังล่ะว่าต้องการพื้นที่สำหรับมรดกโลก และเมื่อการตกลงสองฝ่ายดูท่าจะยืดเยื้อ ก็คงจะต้องไปจบกันที่ศาลโลก

 

            ความจริงฝ่ายไทยก็รู้ตัวก่อนหน้านั้นแล้วว่า การดันกัมพูชาให้จนมุมนั้น เขาจะมีทางออกเพียงทางเดียวคือ ศาลโลก กษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีต่างประเทศ สั่งการให้เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศเตรียมการมานานถึงกว่า 2 ปีตลอดเวลาที่อยู่ในตำแหน่งของรัฐบาลนี้ เพื่อต่อสู้คดีในศาลโลก และมั่นใจว่า มีแง่มุมทางกฎหมายและข้อเท็จจริงที่สู้ได้ และจะชนะแน่ๆ

 

           ก่อนจะแพ้คดีในปี 2505 ดูเหมือนว่า ผู้นำไทย ก็มั่นอกมั่นใจกับความรู้ทางกฎหมายระหว่างประเทศเสียเต็มประดาแบบนี้แหละ อีกทั้งก็เคยปฏิเสธหนทางประนีประนอมนอกศาลจากพนมเปญสมัยสมเด็จนโรดมสีหนุมา แล้วเช่นกัน
 ผลแห่งการตีความคำพิพากษา  จะออกมาเป็นอย่างไรในปีนี้หรือปีหน้า นั้นก็ไม่ได้เป็นผลมาจากอะไรทั้งสิ้น นอกจากผลของการกระทำของชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมชาตินิยมของไทยทั้งสิ้น ดังนั้น ควรจะตั้งสติกันให้ดี แทนที่จะตีโพยตีพายโทษศาลโลก โทษฮุน เซน บางทีหันมองตัวเองบ้างก็จะได้ความรู้ ความเข้าใจต่อปัญหาที่ดีกว่านี้ และ ทางหาออกที่เหมาะสมได้

 

ภาพจาก ศาลโลก

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: