แรงงานไทยไร้มาตรฐาน-เสี่ยงตายรายวัน 'นครปฐม-มหาชัย' รง.เลี่ยงกฎหมายเพียบ เตือนนายทุนอย่าเห็นสินค้าสำคัญกว่าชีวิต

เหมือนแพร ศรีสุวรรณ ศูนย์ข่าว TCIJ 10 พ.ค. 2555 | อ่านแล้ว 3317 ครั้ง

หลังจากเหตุการณ์ระเบิดและเพลิงไหม้โรงงานบีเอสที อิลาสโตเมอร์ส ของบริษัท กรุงเทพซินธิติกส์ จำกัด ภายในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 11 ราย และบาดเจ็บกว่า 129  ราย ในวันที่  5 พ.ค. ที่ผ่านมานั้น ล่าสุดการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) สั่งให้โรงงานหยุดทำการชั่วคราว ภายใต้แผนรับมือในภาวะฉุกเฉิน จากนั้นไม่นานมีข่าวเกิดเหตุคนงานติดป้ายโฆษณาพลัดตกอาคารใบหยก สกายทาวเวอร์ 2 ถ.ราชปรารภ เขตราชเทวี กรุงเทพฯ มีผู้เสียชีวิต 3 ราย ทำให้เกิดคำถามขึ้นในสังคมว่า มาตรฐานในการสร้างความปลอดภัยจากการทำงานของไทยมีมากน้อยแค่ไหน และอะไรคือสาเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหาอุบัติเหตุจากการทำงาน

 

 

ข้อบังคับความปลอดภัยเพียบ แต่ความผิดพลาดมาจากคน

 

 

นางสุมาลี ชนะชาญมงคล รักษาการผู้อำนวยการสำนักความปลอดภัยแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าว TCIJ ถึงปัญหาความปลอดภัยจากการทำงานที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งว่า กฎหมายในการดูแลความปลอดภัยแรงงาน ใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โดยประกอบกับกฎกระทรวงต่างๆ เช่น ความปลอดภัยในเรื่องเกี่ยวกับการตรวจสุขภาพ ,ที่อับอากาศ, รังสี, งานประดาน้ำ, ความร้อน แสงสว่างและเสียง, งานก่อสร้าง และ เรื่องเครื่องจักร ปั้นจั่น

นอกจากนี้ยังมีกฎหมายที่อยู่ในกำกับควบคุมของกระทรวงมหาดไทยเรื่องสารเคมี และการป้องกันระงับอัคคีภัย ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการยกร่างของคณะกรรมการกฤษฎีกา 5 ฉบับคือ  การป้องกันอัคคีภัย, สารเคมีอันตราย, ความปลอดภัยเกี่ยวกับไฟฟ้า, ระบบการจัดการความปลอดภัย และเกี่ยวกับวัตถุอันตรายที่ตกจากที่สูง อย่างไรก็ตามมีการออกประกาศจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน 4 ฉบับ คือ ประกาศแจ้งอุบัติภัยร้ายแรง, สัญลักษณ์เตือนอันตรายเครื่องหมายความปลอดภัย, กำหนดมาตรฐานการคุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล และหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการฝึกอบรมผู้บริหาร หัวหน้างาน ลูกจ้าง เกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัย

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในเมื่อมีมาตรฐานความปลอดภัยด้านแรงงานครอบคลุมหลายด้าน แต่กลับเกิดปัญหาซ้ำซาก สาเหตุเกิดขึ้นจากอะไร นางสุมาลีกล่าวว่า เกิดจากความผิดพลาดที่มาจากคน เช่น กลุ่มปิโตรเคมี ต้องมีระบบขออนุญาตเข้าขอทำงานในที่เสี่ยงภัย แต่ในทางปฏิบัติอาจจะเกิดความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่นกรณีระเบิดที่บริษัท บีเอสที ที่มาบตาพุด ขณะนี้การสอบสวนยังไม่ชัดเจน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าตรวจสอบพื้นที่ คาดว่าน่าจะมีสาเหตุมาจากความผิดพลาดส่วนบุคคล หรือ Human Error คนที่มาดูแลติดตามการบริหารจัดการ มีความรอบคอบหรือไม่ แต่ท้ายที่สุดแล้วต้องพิจารณาว่า คนที่เข้ามาทำหน้าที่เหล่านั้น ได้ทำงานตามหลักเกณฑ์คู่มือการทำงานที่ปลอดภัยหรือไม่ มีหลายองค์ประกอบเข้ามาเกี่ยวข้อง ส่วนกรณีที่คนงานติดตั้งป้ายโฆษณาตกลงมาเสียชีวิตจากการปฏิบัติงาน ก็ต้องพิจารณาว่า มีการตรวจเช็คสภาพของอุปกรณ์ที่ทำงานด้วย รวมถึงมีการให้ข้อมูล ฝึกอบรมคนที่เข้าทำงาน เนื่องจากเป็นงานที่เสี่ยงอันตราย

 

 

สถานประกอบการนับแสนผู้เชี่ยวชาญมีแค่หลักร้อย

 

 

เมื่อถามว่า ทางออกในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ นอกเหนือจากการบังคับใช้กฎหมายที่รัดกุม จะมีมาตรการในการคุ้มครองผู้ใช้แรงงานอย่างไร นางสุมาลีกล่าวว่า การกำกับดูแลเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากภาครัฐในฐานะผู้ออกกฎหมายดูแลให้มีความเข้มงวด แต่ต้องยอมรับว่า สถานประกอบการมีหลายแสนแห่ง  แต่ผู้ที่มีความรู้เรื่องการกำกับดูแลให้เกิดความปลอดภัยในการทำงานมีเพียงหลักร้อยเท่านั้น คิดว่าสิ่งที่ภาครัฐสามารถทำได้คือ การสร้างเครือข่ายเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยที่ส่งมาอบรม มีการรณรงค์ส่งเสริมให้เรียนรู้กฎหมาย สร้างเครือข่ายเฝ้าระวัง ประชาสัมพันธ์ ทำโปสเตอร์สื่อสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องสารเคมี ซึ่งประเทศไทยมีปัญหามาก เพราะระบบการจัดเก็บข้อมูลเรื่องสารเคมียังไม่มีประสิทธิภาพร้อยเปอร์เซ็นต์ บางโรงงานมีการจัดเก็บข้อมูล แต่บางแห่งก็ไม่มีการจัดเก็บข้อมูล ดังนั้นการติดตามกำกับดูแลจึงมีความสำคัญรองลงมาจากการควบคุมโดยกฎหมาย

 

‘สมุทรสาคร-นครปฐม’พบโรงงานเสี่ยงภัยมากที่สุด

 

เมื่อถามว่า ขณะนี้มีกี่โรงงานที่ไม่มีมาตรฐานความปลอดภัยตามที่กฎหมายกำหนด นางสุมาลีกล่าวว่า ไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อโรงงานได้ แต่เท่าที่ตรวจสอบล่าสุดพบว่า โรงงานในจ.สมุทรสาคร จ.นครปฐม มีหลายโรงงานจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง โดยสำนักงานประกันสังคมได้จัดอันดับโรงงานกลุ่มเสี่ยง ที่เข้ามาขอรับเงินชดเชยจากกองทุนประกันสังคม หลังได้รับบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน โดยทางกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจะเข้าไปตรวจสอบอีกครั้ง

อย่างไรก็ตามมาตรการอื่นๆ มีการตรวจกำกับดูแล รวมทั้งประชาสัมพันธ์ รณรงค์ส่งเสริม โดยเชิญนายจ้างเข้าร่วม เช่น วันที่ 10 พ.ค.นี้เป็นวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ จะมีการจัดสัปดาห์ความปลอดภัยจากการทำงาน เพื่อสร้างจิตสำนึกกระตุ้นให้ตระหนักถึงความปลอดภัยในการทำงาน รวมไปถึงกิจกรรมการสร้างเครือข่ายความปลอดภัยของกลุ่มเสี่ยง ที่มีทั้งโรงงานขนาดเล็ก ไปจนถึงโรงงานขนาดใหญ่

 

 

สถิติแรงงานที่ได้รับอันตรายลดลงจากปี 2547-2554

 

นางสุมาลีกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามหากมองจากสถิติพบว่า แรงงานที่ได้รับอันตรายจากการทำงานลดน้อยลง ถือเป็นตัวเลขที่น่าพอใจ โดยดูตั้งแต่ปี 2547 อุบัติเหตุจากการทำงานที่เกิดขึ้น ทุกๆ 1,000 คนจะมีแรงงานที่ประสบอุบัติเหตุ 28-29 คน ปัจจุบันสถิติล่าสุด ปี 2554 มีแรงงานที่ประสบอุบัติเหตุจากการทำงานเพียง 16 คน จาก 1,000 คน อย่างไรก็ตามหากกรณีที่มีเหตุร้ายแรงรุนแรง คือ ในปี 2547 มีผู้ประสบอุบัติเหตุจากการทำงานร้อยละ 7.72 ขณะที่ปี 2554 มีตัวเลขร้อยละ 4.68 พบว่ามีการลดลงถึงร้อยละ 12

 

นักวิชาการ มองนโยบายรัฐมุ่งส่งเสริมการลงทุนไม่คำนึงแผนจัดการด้านความปลอดภัย

 

ขณะที่ นายบัณฑิต ธนชัยเศรษฐวุฒิ นักวิชาการด้านความปลอดภัยแรงงาน กล่าวว่า มาตรการด้านการปลอดภัยในการทำงาน เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายด้านการทำงาน เกี่ยวข้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เช่น การส่งเสริมการลงทุนในภาคธุรกิจต่างๆ ไม่ได้คำนึงถึงแผนการจัดการด้านความปลอดภัย ที่ต้องมีการวางแผนนโยบายด้านนี้ไปควบคู่กับการลงทุน  ดังนั้นการที่เกิดปัญหาเรื่องความปลอดภัยของผู้ใช้แรงงานแล้วมาหามาตรการป้องกันดูแล ถือเป็นเรื่องวัวหายแล้วล้อมคอก

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ปัญหาที่ติดขัดมาจากกฎหมายในการควบคุมเรื่องความปลอดภัยไม่เข้มงวดใช่หรือไม่ นายบัณฑิตกล่าวว่า ประเด็นนี้อยู่ที่แนวคิดของการกำกับดูแลแรงงานไทย ประสิทธิภาพของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแลด้านความปลอดภัยแรงงาน ไม่ใช่มาจากการกฎหมายการควบคุม ประเด็นนี้ต้องมองว่า ผู้ประกอบการไม่ได้ให้ความสำคัญในการดูแลสุขภาพและความปลอดภัย ของผู้ใช้แรงงานมาก เนื่องจากกฎหมายในการควบคุมดูแลความปลอดภัยผู้ใช้แรงงาน ในปี 2536 เป็นต้นมา มีความพยายามปรับปรุงและเน้นเรื่องความปลอดภัยในการทำงานมากยิ่งขึ้น

 

 

ติงแก้ปัญหาปลายเหตุ วัวหายแล้วล้อมคอก บังคับใช้กฎหมายอ่อนแอ

 

 

“แม้ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ แต่หากพิจารณาถึงต้นทางของปัญหาจะพบว่า การให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง นโยบายในการส่งเสริมการลงทุนและพัฒนาเศรษฐกิจ ตั้งแต่ต้นทาง ปัญหาเรื่องความปลอดภัยในทุกวันนี้ อาจจะเป็นการแก้ปัญหาแบบไฟไหม้ฟาง หรือวัวหายแล้วล้อมคอก เป็นการแก้ไขปัญหาไปวันๆ”

 

เมื่อถามว่า สะท้อนให้เห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายในการคุ้มครองความปลอดภัยของแรงงานไม่มีประสิทธิภาพใช่หรือไม่ นายบัณฑิตกล่าวว่า ถ้ามองในแง่เนื้อหา กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ถือว่ามาตรฐานกฎหมายไทย สามารถเทียบกับมาตรฐานสากลได้ แต่หากเทียบกับเชิงนโยบายเรื่องการบูรณาการการลงทุนกับประเด็นเรื่องความปลอดภัย กฎหมายไทยถือว่าอ่อนแอมาก เนื่องจากไทยมักจะส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจต่างๆ ให้ความสำคัญกับการยกเว้นภาษีอากร มูลค่าการลงทุน ยิ่งถ้าเป็นจำนวนมากนับหมื่นแสนล้านจะให้ความสำคัญมาก แต่เราไม่พยายามเชื่อมโยงการลงทุน ระหว่างการส่งเสริมการลงทุนธุรกิจกับอุตสาหกรรม จะต้องมีระบบการป้องกันและการส่งเสริมความปลอดภัยที่ชัดเจนด้วย เช่น จะต้องมีกระบวนการส่วนร่วมในแง่ความปลอดภัย อาทิ มีฝ่ายงาน หรือแผนกที่ส่งเสริมเรื่องความปลอดภัย ป้องกันให้มีความปลอดภัยของสถานประกอบการณ์หรือ ของอุตสาหกรรมนั้น ที่ฝ่ายผู้ลงทุนต้องมีความชัดเจนในการสนับสนุนทุกเรื่อง ทั้ง บุคลากร งบประมาณ หรือ เครื่องมือ อุปกรณ์ หรือตำแหน่งหน้าที่ของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย ไม่มองว่าเป็นปัญหาหรือเป็นเรื่องไม่สำคัญ

 

ขาดการใช้กฎหมายต่อเนื่อง-ไม่มีประสิทธิภาพ

 

เมื่อถามว่า มองว่ากฎหรือมาตรฐานในการรักษาความปลอดภัยโดยนิสัยของคนไทยก่อให้เกิดความประมาทนำไปสู่ความเสี่ยง คิดว่าจำเป็นต้องเพิ่มความเข้มงวดมาตรฐานในการรักษาความปลอดภัยขึ้นหรือไม่ นายบัณฑิตกล่าวว่า คิดว่าปัญหาของคนไทยขณะนี้ไม่ใช่เรื่องความไม่มีมาตรฐาน หรือไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัย ประเทศไทยมีกฎหมายเหล่านี้เยอะมาก แต่ปัญหาใหญ่อยู่ที่แนวคิด และกระบวนการการบังคับใช้กฎหมายขาดความต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพ แต่กลับมาดูแลแก้ปัญหาอย่างจริงจังตอนวัวหายแล้วล้อมคอก แก้ปัญหาเฉพาะหน้า

 

“ขณะที่เขามาลงทุนจัดตั้งโรงงาน เราไม่มีการสนับสนุนการส่งเสริมการลงทุนโดยใช้นโยบายเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน และสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญ ในแง่นโยบาย กลไกของรัฐการส่งเสริมการ ดูแลพัฒนาธุรกิจ เน้นให้ความสำคัญกับมูลค่าการลงทุน หรือปริมาณการส่งออก หรือปริมาณการจ้างงาน โดยไม่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของฝ่ายแรงงาน หรือชุมชน ปัญหาก็มีโอกาสเกิดแบบเดิมซ้ำซากได้อีก” นายบัณฑิตกล่าว

 

เมื่อถามว่า วิเคราะห์สาเหตุได้หรือไม่ว่าเหตุใดจึงเกิดปัญหาเรื่องความปลอดภัยในการทำงานซ้ำซาก นายบัณฑิตกล่าวว่า ปัญหามาจากการส่งเสริมการลงทุน เรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ได้ให้ความสำคัญเชื่อมโยงกับนโยบายการคุ้มครองสวัสดิการ และความปลอดภัยของผู้ใช้แรงงาน ตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง  ปัจจุบันมีมาตรฐานกฎหมาย ที่เกี่ยวกับการดูแลด้านการส่งเสริมความปลอดภัย และด้านสิ่งแวดล้อมมากพอสมควร แต่มันอยู่ที่กลไกของรัฐว่านโยบายของรัฐจะดำเนินการจริงจังมากน้อยแค่ไหน

 

จวกรัฐให้ความสำคัญกับสินค้ามากกว่าชีวิตคน

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า จากผลประกอบการด้านการลงทุนจะพบว่า ประเทศไทยก้าวหน้าอย่างมากมีนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนตลอดเวลา แต่การส่งเสริมความปลอดภัยกลับหยุดอยู่กับที่ หากจะแก้ไขปัญหานี้จะทำอย่างไร นายบัณฑิตกล่าวว่า ปัญหานี้เป็นปัญหาเชิงยุทธศาสตร์และการแก้ไขปัญหาของรัฐอยู่แล้วตั้งแต่ต้น ที่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในการทำงานน้อย หรือไม่มองว่าความสำคัญด้านการลงทุนมีความสำคัญควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญด้านการให้ความปลอดภัย ดังนั้นควรจะส่งเสริมให้ฝ่ายแรงงานหรือชุมชนตื่นตัวต่อรองเรื่องดังกล่าวกับผู้ประกอบการ หรือเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ในฐานะผู้กำกับดูแลนโยบายเศรษฐกิจ พัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องว่าจะต้องมีการใช้ระบบการส่งเสริมความปลอดภัยควบคู่กับการลงทุนอย่างชัดเจนต่อเนื่อง ไม่ใช่มาตื่นเต้น ตื่นตัวแก้ไขปัญหา ตอนที่ปัญหาเกิดขึ้นแล้ว

 

เมื่อถามว่า มองว่าเจ้าของธุรกิจหรือนักลงทุนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อย จึงทำให้เกิดปัญหาซ้ำซากใช่หรือไม่  นายบัณฑิตกล่าวว่า สาเหตุที่ให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยน้อย เพราะเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้ให้ความสำคัญมาตั้งแต่ต้น การดำเนินการเรื่องการส่งเสริม การดูแลเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้เคร่งครัดเรื่องการดูแลความปลอดภัยแรงงานอย่างต่อเนื่อง ในแง่ภาคธุรกิจไทยไม่ได้ให้ความสำคัญตามไปด้วย แต่กลับให้ความสำคัญเรื่องปริมาณการผลิต อัตราการเสียภาษี ให้ความสำคัญกับคุณภาพของสินค้ามากกว่าให้ความสำคัญกับชีวิตคน

 

แนะลูกจ้างตื่นตัวเรื่องความปลอดภัยมากกว่าค่าจ้าง

 

เมื่อถามว่า ท้ายที่สุดแล้วทางออกเรื่องนี้อยู่ที่ไหน นายบัณฑิตกล่าวว่า แง่ของนโยบายรัฐต้องมีการปฏิรูปเรื่องนโยบายการส่งเสริมการลงทุน นโยบายการส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงานต้องได้รับความสำคัญคู่กับการส่งเสริมการลงทุน ประเด็นถัดมาคือ การมีส่วนร่วมระหว่างนายจ้างและลูกจ้างในการให้ความปลอดภัยในการทำงาน เช่น จัดให้มีคณะกรรมการดูแลเรื่องความปลอดภัยในสถานประกอบการหรือภาคอุตสาหกรรมต่างๆ จะต้องมีความชัดเจนเรื่องนี้ และได้รับการส่งเสริมจากฝ่ายบริหารอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตามยังมีสถานประกอบการบางแห่ง ที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ยังขาดผู้เชี่ยวชาญ อุปกรณ์ในการรักษาความปลอดภัย ประการสุดท้ายคือ ฝ่ายแรงงาน ลูกจ้างจะต้องมีความตื่นตัวมากยิ่งขึ้นในการสร้างความปลอดภัยในการทำงาน ไม่ใช่คิดเพียงแค่รายได้จากการทำงาน ที่ต้องทำงานมากขึ้น แต่ขาดความปลอดภัย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: