จับตาค่าแรง300บีบเอสเอ็มอี คาดบัณฑิตใหม่รองานอีกเพียบ

10 พ.ค. 2555 | อ่านแล้ว 1963 ครั้ง

 

ดร.สมชัย จิตสุชน  ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาเศรษฐกิจส่วนรวมและการกระจายรายได้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การเดินหน้านโยบายประชานิยมค่าแรงไม่น้อยกว่า 300 บาทต่อวัน และเงินเดือนปริญญาตรีไม่น้อยกว่า 15,000 บาท ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีผลปรับไปแล้วบางส่วน ถือเป็นนโยบายที่เป็นยาแรงปรับโฉมโครงสร้างค่าจ้างของประเทศ ช็อกนายจ้างภาคอุตสาหกรรมต้องปรับตัวขนานใหญ่ และรู้ว่าจะเกิดผลกระทบวงกว้างไปถึงภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ แต่นโยบายนี้ก็สามารถทำให้ออกมาดีได้  ซึ่งขณะนี้ทีดีอาร์ไอกำลังศึกษาผลกระทบดังกล่าว

ชัดเจนว่านโยบายนี้เป็นนโยบายประชานิยม ที่มาจากการหาเสียงของพรรคการเมืองสองพรรคใหญ่ที่แข่งขันกันคือ พรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ มีความต่างกันคือ พรรคเพื่อไทยเสนอปรับ 300 บาทเท่ากันทันทีทั่วประเทศ พรรคประชาธิปัตย์เสนอปรับ 25 % ใน 2 ปี โดยทั้งสองแนวทางนี้ปรับขึ้นเหมือนกันแต่ผลกระทบต่างกัน เนื่องจากระบบเศรษฐกิจมีเวลาในการปรับตัวไม่เท่ากัน ผลกระทบที่สำคัญคือผลต่อโครงสร้างค่าจ้าง การปรับตัวภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ปัญหาเงินเฟ้อและค่าครองชีพ

ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นนั้น เชื่อว่าการปรับค่าจ้าง 300 บาทในรอบแรกเฉพาะ 7 จังหวัด จะไม่มีผลกระทบมากนักในเรื่องการตกงานหรือ GDP ลดลงอย่างที่หลายคนกลัว เพราะเป็นการปรับขึ้นในจังหวัดที่มีความต้องการแรงงานสูง และสถานประกอบการส่วนใหญ่มีศักยภาพในการจ่ายหรือจ่ายเกินกว่าขั้นต่ำอยู่แล้ว แต่อาจมีผลระยะสั้นต่ออัตราเงินเฟ้อ เพราะเมื่อมีเงินในกระเป๋ามากขึ้นก็ย่อมจับจ่ายมากขึ้นเป็นธรรมดา

ดังนั้นเป็นการช่วยให้แรงงานมีกำลังซื้อมากขึ้น ตรงกับที่รัฐบาลได้หาเสียงไว้  สิ่งที่รัฐบาลพูดนั้นจึงฟังได้  อย่างไรก็ตามการปรับรอบหลังคือมกราคม 2556 น่าจะเกิดผลกระทบทางลบมากกว่ารอบแรก โดยเฉพาะกับเอสเอ็มอีในพื้นที่ห่างไกล ที่ปรับตัวไม่ได้ และแบกรับต้นทุนประกอบการ รวมถึงค่าแรงที่เพิ่มขึ้นไม่ได้ เพราะหลายพื้นที่ไม่มีศักยภาพการลงทุน และมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเดิมต่ำกว่า 300 บาทมาก การปรับอย่างแรงจึงอาจมีผลต่อความอยู่รอดของกิจการ หรืออาจต้องย้ายฐานการลงทุนไปที่อื่น โดยอุตสาหกรรมที่เสี่ยงต่อการย้ายฐานการผลิต (เชื่อว่าบางส่วนย้ายไปแล้ว) เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอปลายน้ำ ซึ่งมีการใช้แรงงานจำนวนมาก โดยอาจย้ายฐานการผลิตไปในประเทศที่ค่าแรงยังถูกกว่าเช่น กัมพูชา พม่า โดยปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจย้ายฐาน ขึ้นอยู่กับนโยบายแรงงานต่างด้าว และความเข้มงวดในการบังคับใช้ด้วยว่าเป็นอย่างไร

ส่วนปัญหาเงินเฟ้อซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้น ต้องระมัดระวัง เพราะโดยพื้นฐานเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจภูมิภาคก็มีแรงกดดันเงินเฟ้ออยู่แล้ว การเพิ่มค่าแรงจึงไปเพิ่มเชื้อไฟ โดยคาดว่าในช่วงปลายปีถึงต้นปีที่ผ่านมาราคาอาหารในไทยเพิ่มสูงเร็วกว่าในตลาดโลกนั้น แม้ส่วนหนึ่งจะมาจากเรื่องน้ำท่วม แต่คิดว่าเกิดจากการคาดการณ์เงินเฟ้อ (inflation expectation) จากนโยบายค่าแรงด้วย การบริหารจัดการของรัฐบาลในเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องจำเป็นหากไม่ต้องการให้ เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นเป็นระลอกๆ ตามการประกาศขึ้นค่าแรงอีก 1-2 ครั้ง จนเกินกว่าจะควบคุมได้

ดร.สมชัยกล่าวว่า สำหรับผลระยะยาวนั้น นโยบายนี้สามารถทำให้ออกมาดีได้เหมือนกัน เพราะเป็นการบีบให้ภาคธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัว (ฉับพลัน) ไปสู่การใช้เทคโนโลยีมากขึ้น บริหารจัดการดีขึ้น และอาจทำให้ไทยหลุดพ้นจากวังวนการใช้แรงงานราคาถูกไปได้ ดังนั้นในระหว่างนี้ รัฐบาลควรจะส่งเสริมการปรับตัวให้ถูกทิศทาง เร่งสร้างโมเดิร์นเอสเอ็มอี ที่สามารถปรับตัว นำเทคโนโลยีมาใช้มาปรับปรุงกิจการและบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อถึงวันที่ค่าแรง 300 บาทต่อวันเท่ากันทั่วประเทศ เอสเอ็มอีเหล่านี้ก็จะสามารถจ่ายได้ไม่เป็นปัญหา ส่งผลให้เศรษฐกิจเฟื่องฟู มีระดับการพัฒนาจะสูงขึ้น เพียงแต่รัฐบาลจะต้องส่งเสริมมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ต้องทำให้แน่ใจว่าเอสเอ็มอีบริหารจัดการได้ดีและอยู่รอดได้ และต้องเร่งทำเพื่อให้ทันการเพิ่มค่าแรงในต้นปีหน้าได้

ผอ.วิจัยทีดีอาร์ไอให้ข้อสังเกตว่า เมื่อรัฐบาลผลักดันนโยบายนี้ออกมาใช้แล้ว ก็ควรมีการตั้งหน่วยติดตามประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นตลอดเวลา และควรมีการสรุปผลเป็นระยะๆ เช่นหลังจากนโยบายนี้ใช้ไปแล้ว 3-4 เดือน และแจ้งผลให้สาธารณชนรับทราบผลการประเมินร่วมกัน โดยอาจทำแบบสำรวจผลกระทบของการขึ้นค่าจ้าง และมาตรการปรับตัวของธุรกิจเล็ก-กลาง-ใหญ่ และแนวทางปรับปรุงแก้ไข ซึ่งตอนนี้ยังไม่เห็นว่ารัฐบาลได้มอบหมายหรือมีหน่วยงานใดดำเนินการ

และที่สำคัญต้องไม่ลืมว่า ยังมีคนอีกกลุ่มใหญ่ที่ไม่ได้ประโยชน์ จากการขึ้นค่าจ้าง แต่รับผลกระทบที่เกิดขึ้นคือ ผู้ประกอบอาชีพอิสระหรือเป็นแรงงานนอกระบบ ไม่ได้เป็นลูกจ้างในสถานประกอบการ ซึ่งไม่ได้รับประโยชน์จากค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น แต่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากภาวะเงินเฟ้อ ของแพง ค่าครองชีพสูง ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่มากกว่าลูกจ้างในสถานประกอบการ ซึ่งรัฐบาลต้องเข้าไปดูแล และยังไม่เห็นว่ารัฐบาลมีมาตรการอะไรรองรับคนกลุ่มนี้เลย เป็นเรื่องน่าห่วงมากเพราะแรงงานกลุ่มนี้มักเป็นแรงงานปลายแถวที่ยากจนและด้อยโอกาส อีกกลุ่มที่มีความเสี่ยงคือ แรงงานจบใหม่ที่จะหางานทำได้ยากขึ้น เพราะนายจ้างคงชะลอการจ้างแรงงานใหม่ไปก่อน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: