แกล็กโซสมิธจ่าย 3 พันล้านดอลลาร์หลังสารภาพผิด 3 ข้อหา
เมื่อวันที่ 3 กรกฏาคม ที่ผ่านมา มีข่าวที่ทำให้วงการด้านเภสัชกรรมของโลกสั่นสะเทือนขึ้นมาทีเดียว เมื่อแกล็กโซสมิธไคลน์ บริษัทเภสัชกรรมรายใหญ่ของโลก ให้การรับสารภาพผิดและยอมจ่ายเงิน 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 94,000 ล้านบาท
กระทรวงยุติธรรม สหรัฐฯ ออกประกาศเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ว่า บริษัทด้านการดูแลสุขภาพ แกล็กโซสมิธไคลน์ แอลแอลซี (จีเอสเค) ตกลงให้การรับสารภาพผิด และยินยอมจ่ายเงิน 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพื่อยุติคดีความรับผิดทั้งทางอาญาและทางแพ่ง อันเกิดจากการที่บริษัทส่งเสริมการขายยาตามใบสั่งบางตัวไม่ชอบด้วยกฎหมาย การไม่ยอมส่งข้อมูลรายงานด้านความปลอดภัย รวมทั้งความรับผิดทางแพ่งตามข้อกล่าวหาว่า มีพฤติกรรมการรายงานราคาอันเป็นเท็จด้วย นับเป็นการตกลงยุติคดีฉ้อโกงด้านการดูแลสุขภาพที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ สหรัฐฯ และเป็นการจ่ายเงินเพื่อยุติคดีจำนวนมหาศาลที่สุดเท่าที่บริษัทยาแห่งหนึ่งเคยจ่ายมา
รายงานข่าวระบุว่า ทั้งนี้จีเอสเคให้การรับสารภาพต่อคำฟ้องคดีอาญา 3 กระทง ได้แก่ ข้อกล่าวหา 2 กระทง ว่าด้วยการติดฉลากที่ให้ข้อมูลไม่เพียงพอ หรือ จงใจให้ข้อมูลผิดของยาที่ใช้ชื่อในการค้าว่า แพ็กซิล (Paxil) และเวลล์บูทริน (Wellbutrin) ที่วางขายในตลาดระหว่างมลรัฐ กับอีกกระทง ว่าด้วยการไม่ยอมส่งข้อมูลรายงานด้านความปลอดภัยเกี่ยวกับยาอาแวนเดีย (Avandia) ให้แก่คณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐฯ (เอฟดีเอ)
และตามข้อตกลงยอมรับสารภาพผิดครั้งนี้ จีเอสเคจะต้องจ่ายเงินทั้งสิ้น 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับเสียค่าปรับทางอาญา ซึ่งข้อตกลงการรับสารภาพผิดทางอาญานี้ ยังรวมไปถึงข้อผูกมัดบางประการที่ต้องปฏิบัติตาม และคำรับรองจากประธานและคณะกรรมการบริษัทจีเอสเคแห่งสหรัฐฯด้วย การยอมรับสารภาพผิดของจีเอสเค และคำตัดสินลงโทษดังกล่าว ยังไม่ถือเป็นที่สิ้นสุดจนกว่าจะได้รับการรับรองจากศาลแขวงสหรัฐฯ ก่อน
จ่ายอีก 2 พันล้านดอลลาร์ยุติรับผิดทางแพ่ง
นอกจากนี้จีเอสเคยังจะต้องจ่ายเงินอีก 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อยุติความรับผิดทางแพ่งกับทั้งรัฐบาลกลางและรัฐบาลมลรัฐต่างๆ ตามกฎหมายการต่อต้านการฉ้อโกงรัฐ ข้อตกลงทางแพ่งนี้เป็นการยุติข้อเรียกร้องที่เกี่ยวกับยาแพ็กซิล เวลล์บูทรินและอาแวนเดีย รวมทั้งยาเพิ่มเติมตัวอื่นๆ อีกหลายตัว อีกทั้งยังเป็นการยุติข้อกล่าวหา เรื่องการตั้งราคาแบบฉ้อโกงไปด้วย
การทำข้อตกลงครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความพยายามอย่างมหาศาล ในการสืบสวนอย่างต่อเนื่องของสายสืบพิเศษจากสำนักผู้ตรวจการสูงสุด (Office of Inspector General—OIG) ของกระทรวงสาธารณสุข (HHS-OIG) เอฟดีเอและเอฟบีไอ ร่วมกับองค์กรต่างๆ ของรัฐบาล ซึ่งมีหน้าที่ร่วมมือกันในการบังคับใช้กฎหมาย
คุณสมบัติของยาต้องใช้เท่าที่แจ้ง ถ้าอ้างใช้อย่างอื่นถือว่าผิด
ตามบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอาหาร ยาและเครื่องสำอาง (Food, Drug and Cosmetic Act) ของประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อบริษัทหนึ่งบริษัทใด ยื่นคำร้องขอขึ้นทะเบียนยาต่อเอฟดีเอ บริษัทดังกล่าวจะต้องระบุให้ชัดถึงการใช้ประโยชน์แต่ละอย่าง ที่กำหนดไว้ของยาตัวนั้น หลังจากที่เอฟดีเออนุมัติว่าผลิตภัณฑ์ยาดังกล่าว มีความปลอดภัยและประสิทธิภาพตามการใช้ประโยชน์ที่ระบุไว้ การทำกิจกรรมส่งเสริมการขายยาดังกล่าวของบริษัท จะต้องจำกัดอยู่ในขอบเขตเท่าที่ได้รับการอนุมัติจากเอฟดีเอเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง การที่ผู้ผลิตไปส่งเสริมการขายโดยอ้างการใช้อื่นๆ ที่เรียกกันว่า “การใช้ประโยชน์นอกฉลาก (off-label uses)” ถือว่าผลิตภัณฑ์นั้น “misbranded” หรือ จงใจให้ข้อมูลผิด
ทั้งนี้ มียา 3 ชนิด ที่จีเอสเค จงใจให้ข้อมูลผิดคือ 1.ยาแพ็กซิล ในสำนวนคำฟ้องคดีอาญา รัฐบาลกล่าวหาว่า ตั้งแต่เดือนเมษายน 2541 ถึงเดือนสิงหาคม 2546 จีเอสเคได้ส่งเสริมการขายยาแพ็กซิลที่ใช้รักษาอาการซึมเศร้าในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ทั้งๆ ที่เอฟดีเอไม่เคยอนุมัติให้ใช้ยานี้กับเด็ก ทางการสหรัฐฯ กล่าวหาว่า นอกจากการกระทำอื่นๆ อีกหลายอย่างแล้ว จีเอสเคยังมีส่วนร่วมในการตระเตรียมจัดพิมพ์และแจกจ่ายบทความ ซึ่งมีเนื้อหาชวนให้เข้าใจผิด ในวารสารทางการแพทย์ โดยรายงานคลาดเคลื่อนว่า ผลการทดลองทางคลินิก แสดงให้เห็นว่ายาแพ็กซิลมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคซึมเศร้า ในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ในขณะที่ผลการศึกษาไม่ได้แสดงให้เห็นว่า มีประสิทธิภาพดังที่ว่าแต่อย่างใด
จัดปาร์ตี้-สปาให้หมอหวังให้ใช้ยาที่ผลิต
ขณะเดียวกัน ทางการสหรัฐฯกล่าวหาอีกว่า จีเอสเคไม่ยอมเปิดเผยรายงานผลการศึกษาอื่นอีกสองชุด ซึ่งยาแพ็กซิลก็ไม่สามารถแสดงให้เห็นว่า มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคซึมเศร้าในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีได้เหมือนกัน ทางการสหรัฐฯกล่าวหาต่อว่า จีเอสเคออกเงินจัดรายการเลี้ยงอาหารค่ำและอาหารกลางวัน นำไปใช้บริการในสปา และกิจกรรมแบบเดียวกันนี้อีกหลายอย่าง เพื่อส่งเสริมให้มีการนำยาแพ็กซิลไปใช้กับผู้ป่วยเด็กและวัยรุ่น จีเอสเคยังจ่ายเงินจ้างวิทยากรไปพูดเรื่องยาตัวนี้ให้บรรดาหมอทั้งหลายฟัง ทั้งยังจ่ายเงินค่าอาหารหรือค่าใช้บริการในสปาให้แก่หมอที่มาฟังอีกด้วย
ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา แพ็กซิลได้ใส่ “คำเตือนในกรอบดำ (black box warning)” เช่นเดียวกับยารักษาอาการซึมเศร้าตัวอื่นๆ โดยระบุว่า การใช้ยารักษาโรคซึมเศร้าในผู้ป่วยอายุต่ำกว่า 18 ปี อาจก่อให้เกิดอันตรายจากการคิด หรือมีพฤติกรรมการฆ่าตัวตายได้ จีเอสเคยอมรับผิดตามข้อกล่าวหาว่า แม้มีคำเตือนในกรอบดำ แต่ก็ยังการกระทำอันเป็นเท็จ และชวนให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการใช้ยาแพ็กซิลกับผู้ป่วยอายุต่ำกว่า 18 ปี
เพิ่มคุณสมบัติยาเกินกว่าที่ขออนุญาตใช้
2.กรณียาเวลล์บูทริน ทางการสหรัฐฯ กล่าวหาว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม 2542 ถึงเดือนธันวาคม 2546 บริษัทจีเอสเคได้ส่งเสริมการขายยาเวลล์บูทริน เพื่อการใช้ประโยชน์อื่นๆ ที่อยู่นอกฉลากหลายอย่าง รวมทั้งใช้เพื่อลดน้ำหนัก รักษาอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ รักษาการติดสารเสพติด และโรคสมาธิสั้น ทั้งๆ ที่ตอนที่เอฟดีเออนุมัติให้ขึ้นทะเบียนยาตัวนี้ เพื่อรักษาโรคซึมเศร้าเท่านั้น
ทางการสหรัฐฯ ยังระบุอีกว่า จีเอสเค จ่ายเงินหลายล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อจ้างหมอไปพูดและเข้าร่วมการประชุมที่บางครั้งไปจัดกันที่รีสอร์ตหรูๆ เพื่อให้โฆษณาส่งเสริมการใช้ประโยชน์ ที่อยู่นอกฉลากของยาเวลล์บูทรินอยู่เป็นประจำ รวมทั้งใช้ผู้แทนยา คณะกรรมการที่ปรึกษากำมะลอ และโครงการการศึกษาต่อเนื่องทางการแพทย์ (Continuing Medical Education – CME) ที่ผู้คนเชื่อกันว่าเป็นโครงการอิสระ ช่วยทำการโฆษณาการใช้ประโยชน์เหล่านี้ของยาเวลล์บูทริน ที่ไม่ได้ผ่านการอนุมัติจากเอฟดีเอแต่อย่างใด จีเอสเคยยอมรับผิดว่า ได้ติดฉลากยาเวลล์บูทรินแสดงข้อความเท็จ โดยที่ฉลากดังกล่าวมิได้มีคำแนะนำวิธีใช้ตามสมควร เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ที่อยู่นอกฉลากของยาเวลล์บูทรินเหล่านี้ สำหรับความผิดฐานติดฉลากยาแพ็กซิลและเวลล์บูทรินแสดงข้อความเท็จ
3.กรณียาอาแวนเดีย ทางการสหรัฐฯ กล่าวหาว่า ตั้งแต่ปี 2544 ถึงปี 2550 จีเอสเคไม่ได้ให้ข้อมูลความปลอดภัยบางอย่างเกี่ยวกับยาอาแวนเดีย ที่ใช้รักษาโรคเบาหวาน ในรายงานซึ่งส่งให้เอฟดีเอ เพื่อช่วยให้เอฟดีเอสามารถตัดสินได้ว่า ยาตัวนี้มีความปลอดภัยตามข้อบ่งใช้ที่ได้รับอนุมัติอยู่หรือไม่ รวมทั้งสามารถมองเห็นแนวโน้มความปลอดภัยของยา ข้อมูลที่ขาดหายไปได้แก่ ข้อมูลเกี่ยวกับผลการศึกษาความปลอดภัยของยาภาย หลังการนำออกวางตลาดแล้วบางชุด รวมไปถึงข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษาสองชุดซึ่งเป็นการให้คำตอบแก่ผู้ควบคุมกฎระเบียบของทางยุโรป ที่มีข้อห่วงใยเรื่องความปลอดภัยด้านระบบหัวใจและหลอดเลือดของยาอาแวนเดีย นับตั้งแต่ปี 2550 เอฟดีเอได้เติมคำเตือนในกรอบดำลงไปในฉลากของยาอาแวนเดียสองกรอบ เพื่อเตือนแพทย์เกี่ยวกับความเสี่ยงที่น่าจะมีมากขึ้นในเรื่อง 1) หัวใจทำงานล้มเหลว และ 2) กล้ามเนื้อหัวใจตาย [หัวใจวาย] จีเอสเคยอมรับผิดว่า ไม่ได้ส่งรายงานข้อมูลให้แก่เอฟดีเอและยินยอมจ่ายค่าปรับทางอาญา
ลงนามสัญญาคุณธรรมเปลี่ยนวิธีดำเนินธุรกิจ
รายงาข่าวระบุอีกว่า นอกเหนือจากการรับผิดด้านอาญาและแพ่งแล้ว จีเอสเคต้องทำสัญญาว่าด้วยคุณธรรมความสุจริตใจขององค์กร หรือ Corporate Integrity Agreemant – CIA กับกระทรวงสาธารณสุขและสำนักผู้ตรวจการ ทั้งนี้ข้อตกลงและสัญญาว่าด้วยคุณธรรมความสุจริตใจขององค์กร มีกฏหมายเพิ่มเติม ให้จีเอสเคต้องเปลี่ยนแปลงวิธีดำเนินธุรกิจ อันรวมไปถึงการยกเลิกระบบที่ฝ่ายขายได้รับค่าตอบแทนจากทำสถิติการขายในแต่ละภาคส่วน ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ภายใต้สัญญา CIA ทางจีเอสเคจะต้องเรียกคืนเงินค่าโบนัสประจำปี จากทางผู้บริหารหรือผู้ที่อยู่ใต้การบังคับบัญชา หากพบความเกี่ยวข้องกับการกระทำที่ประพฤติผิด โดยทางจีเอสเคสามารถเรียกเงินคืนจากทั้งผู้บริหารที่ยังคงอยู่ในตำแหน่งหรือผู้บริหาร ที่ออกจากบริษัทแล้ว ข้อตกลง CIA นี้ยังรวมไปถึงการที่จีเอสเคจะต้องไปสร้างความโปร่งใส ในการทำวิจัยและนโยบายการโฆษณา อีกทั้งจะต้องปฏิบัติต่อบุคลากรทางการแพทย์ตามข้อตกลงที่มีการกำหนดไว้ในสัญญาด้วย
ค่าปรับแค่ 1 ใน 3 ของกำไร ประนีประนอม-ไม่มีผู้รับโทษ
จากคดีประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาครั้งนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในฐานะองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านสิทธิของผู้บริโภค ในด้านต่างๆ รวมถึงเรื่องยาที่เกี่ยวเนื่องไปถึงบริษัทยา ได้จัดวงเสวนาเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ในหัวข้อ “ความจริงอันน่าสะพรึงกลัวจากคดีฉ้อโกงด้านสุขภาพที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกัน เมื่อบริษัทยายักษ์ใหญ่ถูกปรับเกือบแสนล้านบาท”
รศ.ดร.ภญ.จิราพร ลิ้มปานนท์ สมาชิสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า คดีนี้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนถึงพฤติกรรมของบริษัทยา และบุคลากรทางการแพทย์ ที่ร่วมกันหาประโยชน์บนชีวิตของผู้ป่วยอย่างไร้จริยธรรม ซึ่งผลก็คือถูกปรับเป็นจำนวนเงินที่สูงมาก อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบริษัทจะถูกปรับเป็นเงินถึง 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบแสนล้านบาท ในขณะที่ยอดขายของจีเอสเค เมื่อปีที่แล้วเพียงปีเดียว มียอดขาย 44,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นกำไรสุทธิ 9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งค่าปรับที่ต้องจ่ายเป็นเพียง 1 ใน 3 ของกำไรสุทธิบริษัท และจากคำพิพากษามีการประนีประนอม ทั้งทางแพ่งและอาญาไม่มีการลงโทษผู้กระทำผิด ไม่ว่าจะเป็นบริษัทยาที่ทำผิดกฎหมาย หรือแพทย์ผู้สั่งจ่ายยาที่ความปลอดภัยไม่ชัดเจน เนื่องจากมีการติดสินบน หรือแม้แต่มีการปกปิดงานวิจัยของบริษัทถึง 3 ชิ้น ที่ไม่สนับสนุนประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยา รวมถึงการตีพิมพ์งานวิจัยที่เป็นเท็จด้วย
“ยาต่างๆ ที่มีปัญหาในคดีนี้ ทำการตลาดในลักษณะนี้มาไม่ต่ำกว่า 10 ปี ดังนั้น หากยังไม่มีกลไกที่ดีกว่านี้ เชื่อว่าบริษัทยายักษ์ใหญ่เหล่านี้จะมีพฤติกรรมเหมือนเดิม แต่อาจจะปรับวิธีการให้เนียนกว่านี้ เพราะมีบทเรียนมาแล้ว”
จี้รัฐบาลเร่งออกพ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ พร้อมมาตรการส่งเสริมจริยธรรม
สำหรับการส่งเสริมการขายยาในประเทศไทย ก็มีรูปแบบไม่แตกต่างกันและยังมีปัญหามากมายด้วย ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา กล่าวว่า สถานการณ์ของประเทศไทยน่าเป็นกังวลมากกว่า เนื่องจากกลไกกฎหมายฉบับเดิมยังล้าหลัง จนถึงขณะนี้ พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 และกฎระเบียบต่างๆ ของไทย ยังไม่สามารถเข้าไปเอาผิดกับการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรมเหล่านี้ได้ ซึ่งเคยมีผู้ให้ข้อมูลว่า เมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว มีอาจารย์แพทย์โรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ที่จ่ายยาเบาหวานในปริมาณสูงสุด และถูกให้ออก เพราะมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ผิดจริยธรรม แม้จะถูกตักเตือนมาเป็นระยะๆ อย่างไรก็ตามระบบการควบคุมกันเองนี้ ยังไม่เข้มข้นมากพอ ทั้งนี้วิธีการที่จะแก้ปัญหาคือ รัฐบาลควรเร่งออก พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ และออกกฏเกณฑ์จริยธรรมควบคุมการส่งเสริมการขายยาที่ขาดคุณธรรม
โดย ดร.ภญ.นิยดาขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลงนามในร่างแก้ไขร่างพ.ร.บ.ยา พ.ศ....ที่ภาคประชาชนนำเสนอเพื่อเข้าสู่การพิจารณา และขอให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งนำร่างพ.ร.บ.ยา พ.ศ....ที่ผ่านการพิจารณาของกฤษฎีกาเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งทั้ง 2 ฉบับ มีเนื้อหาควบคุมการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรม จัดความสัมพันธ์ระหว่างผู้ประกอบวิชาชีพและตัวแทนขายยาอย่างเหมาะสม ไม่เช่นนั้นปัญหาเหล่านี้ จะยิ่งทวีความรุนแรง ซึ่งจะส่งผลกระทบทั้งชีวิตประชาชน และงบประมาณของประเทศอย่างรุนแรง
“อยากให้นายกรัฐมนตรีลงนามในร่างแก้ไขพ.ร.บ.ยา พ.ศ....ที่ภาคประชาชนนำเสนอ เพื่อจะได้นำเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ และเชิญชวนทุกสภาวิชาชีพต่างๆ โรงเรียนแพทย์และโรงพยาบาล มาร่วมลงสัตยาบรรณรับรองเกณฑ์จริยธรรมควบคุมการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรม ที่กำหนดกลไกการกำกับกันเอง ให้มีประสิทธิภาพที่สุด รวมทั้งเปิดให้กลไกการเฝ้าระวังและตรวจสอบ ที่เป็นทางการเพิ่มเติมขึ้น”
ระบุกฎหมายฉบับปัจจุบันไม่สอดคล้องกับธุรกิจยา
สำหรับ พ.ร.บ.ยาที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ คือ พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 ซึ่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีเนื้อหาไม่สอดคล้องกับธุรกิจของบริษัทยาในปัจจุบัน ภาคประชาชนจึงรวบรวมรายชื่อและเสนอ ร่างพ.ร.บ.ยา ภาคประชาชนโดยเสนอเมื่อต้นปี 2555 ที่ผ่านมา เนื่องจากร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวมีส่วนของงบประมาณอยู่ด้วย จึงต้องให้นายกรัฐมนตรีลงนาม ก่อนจะเสนอสู่สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งขณะนี้ขั้นตอนอยู่ที่รอนายกรัฐมนตรีลงนาม
นอกจากนี้ยังมีร่างพ.ร.บ.ยาที่เสนอโดย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งขณะนี้ผ่านการพิจารณาของกฤษฎีกาแล้ว ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ทั้งส่วนของภาคประชาชนและกระทรวงสาธารณสุข จะเพิ่มเนื้อหาหมวดการควบคุมยา และหมวดการโฆษณาและการส่งเสริมการขาย ซึ่ง พ.ร.บ.เดิมไม่มี
เชิญชวนเภสัชกรร่วมตรวจสอบพฤติกรรม-จริยธรรมธุรกิจยา
ทั้งนี้ ภ.ก.ภาณุ โชติทองยัง รองผู้อำนวยการวิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพแห่งประเทศไทย สภาเภสัชกรรม ระบุว่า กฎหมายเรื่องยาของไทยเก่ามาก ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ในขณะที่ธุรกิจยาในสังคมโลกไปไกลมากแล้ว พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 มีการควบคุมการโฆษณา แต่ไม่ได้มีการพูดถึงการส่งเสริมการขาย จึงเป็นช่องโหว่ที่อาจทำให้บริษัทยาส่งเสริมการขายอย่างไร้จริยธรรมได้ จึงจำเป็นจะต้องปรับแก้ระบบยาให้โปร่งใส รวมทั้งให้บริษัทยาเปิดเผยโครงสร้างราคายาของตน เพื่อให้สังคมสามารถติดตามตรวจสอบได้
“ในนามของสถาบันฯ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริม เพื่อให้ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมมีจริยธรรม ความรู้ และความเชี่ยวชาญ ในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพ ขอเรียกร้องเภสัชกร ตลอดจนผู้บริโภค เข้ามาร่วมกันเป็นเครือข่ายในการตรวจสอบและเฝ้าระวัง พฤติกรรมการขายยาที่ไม่ถูกต้องตามหลักจริยธรรมด้วย หากพบการกระทำที่ไม่เหมาะสม ขอให้แจ้งยังสภาเภสัชกรรม ซึ่งเป็นองค์กรที่ควบคุมจรรยาบรรณของวิชาชีพ และหากพบผู้ประกอบวิชาชีพอื่นๆ เกี่ยวข้องด้วย ก็ขอให้แจ้งยังสภาวิชาชีพนั้นๆ เช่นกัน”
ระบุกรรมการ 3 กองทุนต้องตรวจสอบราคายาอย่าให้เกินจริง
ด้านนายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า จากคดีจีเอสเคยังพบว่า มีการขายยาเกินราคาให้กับโครงการประกันสุขภาพของรัฐ ที่ให้การรักษาคนชราในสหรัฐฯ จนถูกสั่งปรับ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบแสนล้านบาท กรณีแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย เนื่องจากเรามีระบบหลักประกันสุขภาพ ที่ครอบคลุมประชาชนทั้งประเทศ ระบบสวัสดิการข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจประมาณ 5 ล้านคน ที่ใช้งบประมาณจากภาษีอากร ปี 2553 ประมาณ 70,000 ล้านบาท ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดูแลประชาชน 47 ล้านคน ใช้งบประมาณประมาณ 100,000 ล้านบาท ซึ่งสัดส่วนงบประมาณที่ใหญ่ที่สุดคือ ค่ายา ดังนั้นกรมบัญชีกลางและคณะกรรมการที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งขึ้นมา เพื่อให้ 3 ระบบหลักประกันมีความเท่าเทียมนั้น ต้องมีการตรวจสอบราคายา ควบคุมราคายา ให้มีความเหมาะสม อย่าปล่อยให้บริษัทยาเอาเปรียบได้
“ต้องทำให้คนไทยได้รู้ข้อเท็จจริงว่า ยาจากต่างประเทศ ที่มีราคาแพง ไม่ได้เป็นยาที่ดีเสมอไป ซึ่งยาราคาแพงมาจากการปั่นราคายาของบริษัทยา ทำให้ราคายาสูงเกินจริง”
น.ส.สารี อ่องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ยาเวลบูทรินซึ่งเป็นหนึ่งในยาที่จีเอสเคจงใจให้ข้อมูลผิดนั้น มีขายในประเทศไทยด้วย และข้อบ่งใช้ต่างกัน ซึ่งเป็นยาสามัญชื่อเดียวกัน บริษัทเดียวกัน แต่เอกสารกำกับยาในประเทศไทย สำหรับเลิกบุหรี่เท่านั้น ในขณะที่สหรัฐอเมริกาไม่ใช้สำหรับเลิกบุหรี่ แต่ใช้สำหรับอาการซึมเศร้า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะมีการตรวจสอบและดำเนินการเรื่องนี้ ซึ่งกรณีแบบนี้เกิดขึ้นได้มากในประเทศไทย เนื่องจากไม่มีระบบการเก็บข้อมูลข้อบ่งใช้ของยา อย่างเป็นระบบที่ดี และยามีจำนวนมาก ไม่สามารถบอกว่าได้ว่าตัวไหนซ้ำกับตัวไหน
ทั้งนี้พ.ร.บ.ยาเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งผลักดันให้ออกมา เนื่องจากการส่งเสริมการขายยาเป็นการดำเนินการในการประกอบวิชาชีพ ประชาชนมีโอกาสในการเลือกใช้ยาน้อยมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับยาที่ใช้มานาน
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ