แรงงานแจงครม.-ช่วยน้ำท่วม ทุ่ม1.4พันล.ช่วย4หมื่นคนงาน

เอมพงศ์ บุญญานุพงศ์ ศูนย์ข่าว TCIJ 10 ก.ค. 2555 | อ่านแล้ว 1647 ครั้ง

 

เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2555 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานสรุปผลการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยของกระทรวงแรงงาน ครั้งที่ 4 ซึ่งดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2554 เรื่อง แผนงาน/โครงการและงบประมาณในการช่วยเหลือฟื้นฟูเยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย (ด้านสังคม) และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2554 เรื่อง สรุปผลการพิจารณาค่าใช้จ่ายในการให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ

 

กระทรวงแรงงานรายงานว่า ได้ดำเนินงานตามแผนงาน/โครงการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2554 และวันที่ 12 ธันวาคม 2554 ภายใต้มาตรการของรัฐบาลและภารกิจของกระทรวงแรงงานเสร็จสิ้นแล้ว ทั้งนี้จากปัญหาอุทกภัยในช่วงเดือนกันยายน - ธันวาคม 2554 ที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งกับสถานประกอบการและลูกจ้างเป็นจำนวนมาก โดยจากข้อมูลของศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติ กระทรวงแรงงาน ณ วันที่ 11 เมษายน 2555 มีสถานประกอบการทั่วไปและสถานประกอบการที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม ที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ 62 จังหวัด 28,679 แห่ง มีลูกจ้างได้รับผลกระทบ 993,944 คน

 

จากการเฝ้าระวังสถานการณ์การเลิกจ้างอันเนื่องมาจากเหตุอุทกภัย พบว่า ณ วันที่ 17 เมษายน 2555 มีสถานประกอบการที่เลิกจ้างลูกจ้าง 144 แห่ง และลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 53,184 คน กระทรวงแรงงานในฐานะที่เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ ในการดูแลช่วยเหลือภาคแรงงานของประเทศ ได้ดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือ และบรรเทาความเดือดร้อนแก่สถานประกอบการ และลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบ

 

ซึ่งในการดำเนินการข้างต้น กระทรวงแรงงานได้รับเงินงบกลาง จำนวน 1,882,083,900 บาท และส่งคืนสำนักงบประมาณ 391,585,894.74 บาท โดย ณ วันที่ 18 มิถุนายน 2555 กระทรวงแรงงานมีการใช้จ่ายเงินงบประมาณดังกล่าวไปแล้ว 1,486,299,914.53 บาท และมีผลการดำเนินงานสรุปได้ดังนี้

 

1.การช่วยเหลือสถานประกอบการและลูกจ้างภายใต้มาตรการของรัฐบาลในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย จำแนกตามกลุ่มเป้าหมาย ดังนี้ 1.1 กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยและผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ได้มีการจัดทำโครงการป้องกันและบรรเทาการเลิกจ้าง

1.2 กลุ่มผู้ใช้แรงงาน จัดทำโครงการนัดพบแรงงานผู้ประสบอุทกภัย โครงการยกระดับฝีมือแรงงานลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยกลับสู่สถานประกอบการ โครงการประกันสังคมเคียงข้างผู้ประกันตนต้านอุทกภัย โครงการจ้างงานเร่งด่วนและพัฒนาทักษะฝีมือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนด้านอาชีพ การจัดหาตำแหน่งงานว่างให้ลูกจ้าง การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อการพัฒนาฝีมือแรงงานจากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานให้เหลือร้อยละ 0.1 มีระยะเวลา 1 ปี การช่วยเหลือลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างให้ได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน การประกันการว่างงานตามกฎหมายประกันสังคม การอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการญี่ปุ่นในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยจัดส่งลูกจ้างไปฝึกงานในต่างประเทศซึ่งเป็นบริษัทแม่ และ 1.3 กลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรม มีการจัดทำโครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน

 

2.การช่วยเหลือสถานประกอบการและลูกจ้างของกระทรวงแรงงานที่นอกเหนือจากมาตรการของรัฐบาล มีการจัดทำโครงการเพื่อนช่วยเพื่อน การลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม การขยายหรือเลื่อนระยะเวลาการส่งเงินสมทบของนายจ้าง โดยกำหนดเป็นแนวทาง ดังนี้ 1.กรณีเกิดอุทกภัยในพื้นที่ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ช่วงระหว่างเดือนกันยายน - ธันวาคม 2554 อันถือเป็นเหตุสุดวิสัยที่ทำให้นายจ้างในพื้นที่นั้นๆ ไม่สามารถนำส่งเงินสมทบภายในกำหนดเวลา ให้นายจ้างที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยดังกล่าวเร่งดำเนินการส่งเงินสมทบของเดือน กันยายน - ธันวาคม 2554 ภายในเดือนเมษายน 2555 โดยได้รับการงดเรียกเก็บเงินเพิ่มตามกฎหมายสำหรับงวดเดือนกันยายน - ธันวาคม 2554

 

2.นายจ้างที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยและไม่นำส่งเงินสมทบของเดือนกันยายน - ธันวาคม 2554 ภายในเดือนเมษายน 2555 จะต้องชำระเงินสมทบของงวดเดือนดังกล่าว พร้อมชำระเงินเพิ่มตามกฎหมายโดยคำนวณเงินเพิ่มตามกฎหมายนับถัดจากวันที่ต้องมีหน้าที่นำส่งในแต่ละงวดของเดือนกันยายน - ธันวาคม 2554

 

3.การชำระเงินสมทบของงวดเดือนมกราคม 2555 เป็นต้นไป ให้ชำระภายในกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนด

 

ทั้งนี้การดำเนินการโครงการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ 6 จังหวัด จำนวน 11 ครั้ง มีผู้ประสบภัยเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 42,642 คน

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: