ประเดิมงานแรก‘ศปก.จชต.’เยี่ยม3จว.ใต้ ยังไม่เริ่ม'บิ๊กกห.'ฟุ้ง-สถานการณ์จะดีขึ้น ที่ปรึกษาศอ.บต.ชี้เพิ่มอำนาจทหารมากไป

อารีด้า สาเม๊าะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ) เอมพงศ์ บุญญานุพงศ์ ศูนย์ข่าว TCIJ 10 ส.ค. 2555 | อ่านแล้ว 3050 ครั้ง

ศปก.จชต.ลงใต้ฟังสถานการณ์-ให้กำลังใจ

 

 

วันที่ 10 สิงหาคม 2555 คณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.จชต.) นำโดย พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม พร้อมด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รอง ผบ.ตร. ลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อรับฟังบรรยายสรุปจาก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ที่ค่ายสิรินธร จ.ปัตตานี และพบปะผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้เป็นการลงพื้นที่ครั้งแรกของคณะกรรมการชุดดังกล่าว หลังการประชุมที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 8 ส.ค.2555 ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และที่ประชุมมีการเห็นชอบให้ตั้งศูนย์ดังกล่าวขึ้น

 

พล.อ.อ.สุกำพลกล่าวว่า คงไม่ต้องลงไปกำชับอะไรเป็นพิเศษ เพราะมี พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมด้วย เป็นการไปเยี่ยมและให้กำลังใจในพื้นที่ และสอบถามการปฏิบัติงานในพื้นที่เท่านั้น ต้องเข้าใจว่าในส่วนข้างบนซึ่งก็คือรัฐบาล เป็นคนให้นโยบายในภาพกว้าง ในพื้นที่ที่มีการปฏิบัติงานเมื่อมีปัญหาก็รายงานขึ้นมา รัฐบาลก็แก้ไขปัญหาให้

 

 

คาดตั้งศปก.จชต.สถานการณ์น่าจะดีขึ้น

 

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า พอใจผลการประชุมหน่วยงานแก้ไขปัญหาภาคใต้ที่ทำเนียบรัฐบาลหรือไม่ พล.อ.อ.สุกำพล กล่าวว่า ต้องถาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. เพราะเห็นว่าเขาชอบใจและดีใจมาก ที่เห็นว่าจะมีความสำเร็จมากขึ้น เมื่อถามว่า ตั้งศปก.จชต. ขึ้นมาจะทำให้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นหรือไม่ พล.อ.อ.สุกำพลกล่าวว่า ต้องคิดไปในแง่ที่ดี แต่ต้องใช้เวลาในการทำงาน อย่างเช่นการที่จะนำเจ้าหน้าที่ตำรวจมาแทนทหารนั้น เราก็ต้องใช้เวลา ไม่ใช่พรุ่งนี้จะแทนได้เลย แต่ก็ทำให้เห็นแล้วว่า อะไรคืออะไร หน่วยต่างๆ ก็จะได้ตื่นตัวมากขึ้น

 

ส่วนการที่จะใช้เครื่องบินลาดตะเวนสนับสนุนภารกิจภาคพื้นนั้น พล.อ.อ.สุกำพลกล่าวว่า มีการประสานกันอยู่แล้ว ซึ่งในพื้นที่มีอยู่แล้ว 2 เครื่อง แค่ปรับเปลี่ยนภารกิจ ในการลาดตระเวน และไม่ต้องติดกล้องแล้ว ใช้สายตาในการมอง สำหรับเรือเหาะจะใช้ควบคู่ไปด้วยหรือไม่นั้น ต้องถาม กองทัพบกว่าเอาอย่างไร ทั้งนี้ยังไม่ได้ถามว่ายังใช้การได้หรือไม่ ฝากสื่อช่วยถามด้วย เท่าที่ทราบใช้งานครั้งหนึ่งก็แพงเหมือนกัน

 

 

สภาที่ปรึกษาศอ.บต.ไม่เห็นด้วยตั้งศปก.จชต.

 

 

 

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกแถลงการณ์หลังมีมติเป็นเอกฉันท์ในการประชุมเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2555 ที่ผ่านมาว่า ไม่เห็นด้วยการจัดตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้” ที่กรุงเทพฯ ซึ่งรัฐบาลจะมีการเรียกประชุมหารือประเด็นนี้เป็นครั้งแรกในวันที่ 8 สิงหาคม 2555

 

โดยเนื้อหาของแถลงการณ์ระบุว่า การจัดตั้งศูนย์ดังกล่าวซึ่งเป็น แนวคิดของรัฐบาลที่จะรวมหน่วยงาน 16 กระทรวงหลักที่เกี่ยวข้อง กับงานความมั่นคงและงานการพัฒนา โดยให้แม่ทัพภาคที่ 4 เป็นผู้กำกับดูแลงานของฝ่ายพลเรือนทั้งหมด รวมทั้ง ศอ.บต. ซึ่งทางสภาที่ปรึกษาศอ.บต.ตั้งข้อสังเกตว่า แม้ว่ารัฐบาลจะทุ่มเทงบประมาณจำนวนมหาศาล ในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ และจากการฟังการวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชน พบว่าประชาชนเริ่มขาดความเชื่อมั่นต่อนโยบายของกองทัพในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

 

ชี้รัฐบาลควรเดินตามนโยบายปี 2555-2557

 

 

แถลงการณ์ยังชี้แจงเหตุผล 4 ข้อ ดังนี้ ประการที่ 1 นโยบายการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2555 - 2557 ได้ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม การรับฟัง และสะท้อนความเห็นจากภาคประชาชนกับภาครัฐ โดยมีสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นผู้ดำเนินการ และเห็นพ้องไปในทิศทางเดียวกัน โดยได้แยกงานระหว่างฝ่ายความมั่นคงที่มี พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ) กับงานด้านการพัฒนาฝ่ายพลเรือน ที่มี พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553 (พ.ร.บ.ศอ.บต.) ไว้อย่างชัดเจน และดำเนินยุทธศาสตร์สอดคล้องกับนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งคณะรัฐมนตรีและสภาผู้แทนราษฎรได้รับทราบแล้ว จึงเห็นว่า รัฐบาลควรบริหารราชการแผ่นดินให้สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าว

 

ประการที่ 2 ไม่เห็นด้วยในการมอบหมายให้แม่ทัพภาค 4 เป็นผู้กำกับดูแลกิจการในพื้นที่ครอบคลุมไปถึงกิจการฝ่ายพลเรือนและการอำนวยความยุติธรรม โดยควรที่จะแยกงานการพัฒนาและความมั่นคงออกจากกัน ภารกิจของกองทัพมีมากอยู่แล้วจึงควรเน้นการรักษาอธิปไตยและรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นหลัก จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในอำนาจรัฐให้มากยิ่งขึ้น

 

 

จวกรัฐอย่าพูดมั่ว-พ.ร.บ.ศอ.บต.ผ่านประชาพิจารณ์มาแล้ว

 

 

ประการที่ 3 รัฐบาลควรจะใช้คณะกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ตาม พ.ร.บ.ศอ.บต. เป็นศูนย์ปฏิบัติการที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และจะต้องผลักดันให้กระทรวงต่างๆ มีความเข้มแข็ง ทั้งกำลังคน และงบประมาณ โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย นอกจากนี้ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ศอ.บต. ซึ่งต้องการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมการแก้ปัญหา รัฐบาลจึงควรรับฟังเสียงจากประชาชนเจ้าของพื้นที่ ไม่ใช่เป็นการพิจารณาและสั่งการมาจากส่วนกลางอย่างเดียว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ประการที่ 4 ในกรณีมีการกล่าวอ้างว่าการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะมี พ.ร.บ.ศอ.บต. และ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ซ้ำซ้อนกันอยู่ ขอเรียนว่า พ.ร.บ.ศอ.บต. ได้ผ่านขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนมาอย่างกว้างขวาง และผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภามาแล้ว เพราะฉะนั้น พ.ร.บ.ศอ.บต. จึงไม่ได้ซ้ำซ้อนกับ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เนื่องจาก พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ รับผิดชอบในด้านการดูแลรักษาความสงบและอธิปไตยของชาติ ส่วน พ.ร.บ.ศอ.บต. รับผิดชอบเรื่องการเมือง การปกครอง และการพัฒนา จึงไม่เป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ในทางกลับกัน ยังเป็นการหนุนเสริม พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ อีกด้วย อีกทั้งประชาชนค่อนข้างพึงพอใจกับการดำเนินการตาม พ.ร.บ. ศอ.บต.

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: