ญี่ปุ่น เปลี่ยนขยะให้เป็นสิ่งของมีมูลค่า นำไปผลิตเป็นสินค้าใหม่ ทั้งยังสามารถนำมาถมทะเลเพิ่มพื้นที่ประเทศ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

26 พ.ย. 2555


 

 

การแยกขยะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มากๆ สามารถทำเป็นถนน ทำเป็นตึกและยังสามารถนำมาถมทะเล แต่กระบวนการเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ เราจะตามไปดูว่าที่ประเทศญี่ปุ่นเขานำขยะไปทำอะไรกันบ้าง 

 

 

 

สถานที่แรกที่จัดการขยะของประเทศญี่ปุ่น คือ โรงงานเผาขยะ อิตาบาชิเชโชโดโจในโตเกียว ระหว่างทางตามสถานที่ต่างๆ จะมีถังขยะแยกประเภทอยู่โดยทั่วไป ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวันของคนญี่ปุ่นที่จะต้องทิ้งขยะให้ถูกประเภททุกครั้ง ที่โตเกียวชั้นในมีอยู่ 23 เขตแต่มีโรงงานเผาขยะถึง 20 เขต เพราะเขาพยายามที่จะมีโรงงานเผาขยะในพื้นที่ของเขาเอง โดยขยะที่จะมาที่นี่คือขยะที่เผาได้ เช่น พวกเศษอาหารพลาสติกหรือกระดาษ ทั้งวันจะมีรถขยะเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยจะต้องชั่งน้ำหนักทุกคันก่อนเข้าด้านใน เพื่อนำขยะไปทิ้งในถังขนาดใหญ่ เป็นที่พักขยะก่อนลงในเตาเผา จะมีมือจับซึ่งทำจากเหล็ก ทำหน้าที่หยิบขยะใส่ลงเตาเผา การใส่ขยะจะค่อยๆปล่อยใส่ลงเตาเผาเพื่อป้องกันไม่ให้ขยะอุดตันเวลาลำเลียง ถ้าขยะลดลงจะมีเซ็นเซอร์เตือนให้หยิบขยะใส่เติมลงเตาเผา ที่โรงเผาขยะ แม้จะเป็นที่รวมของขยะแต่ก็ไม่มีกลิ่นเหม็นเพราะที่ประตูโรงเผาขยะจะมีม่านอากาศที่เป่าไม่ให้อากาศเสียด้านในออกมาด้านนอกได้  

 

 

 

 

โรงงานเผาขยะที่นี่สามารถรับขยะได้ 3,000 ตัน แต่ปริมาณขยะที่เข้ามาเพียงวันละ 550 ตัน ซึ่งกำลังการเผาของ 2 เตาเผาที่นี่จะสามารถจัดการได้หมดเพราะแต่ละเตาจะเผาขยะได้วันละ 300 ตัน เตาเผาขยะจะเผาติดต่อกัน 24 ชั่วโมง เตาเผาขยะใช้ความร้อนสูงเกิน 850 องศาถึง 950 องศา เหตุผลที่ต้องใช้ความร้อนสูงมากก็เพื่อให้เกิดการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ป้องกันการเกิดก๊าซพิษที่เรียกว่าไดออกซินและสิ่งที่ได้จากการเผาก็จะเป็นขี้เถ้าซึ่งจะนำไปเผาอีกครั้งที่ความร้อน 1,200 องศาเซลเซียสและจะได้สารชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Slag มีลักษณะคล้ายทราย

 

 

โรงเผาขยะที่ทำงานตลอด 24 ชั่วโมงแบบนี้จะมีมลภาวะเป็นพิษหรือเปล่า คำตอบก็คือมีแน่นอน แต่ทางโรงานก็มีการจัดการอย่างดีตั้งแต่ควันพิษก็จะมีตัวกรองที่ปล่องควัน และยังใช้น้ำที่เป็นด่างมาฉีดที่ควันที่เป็นกรด เมื่อควันสะอาดแล้วจึงค่อยปล่อยออกมา ส่วนน้ำเสียที่เกิดในกระบวนการก็จะมีการนำมากักเก็บและบำบัดก่อนเช่นกัน 

ผลจากการจัดการที่ดีเหล่านี้ทำให้โรงงานเผาขยะมีมาตรฐานความปลอดภัยสูงกว่าเกณฑ์ที่รัฐบาลกำหนดไว้ ดังนั้นประชาชนที่อยู่โดยรอบ จึงอยู่ร่วมกันกับโรงเผาขยะได้อย่างปลอดภัย 

 

 

หลังการเผาด้วยความร้อน 850 องศาและผ่านการเผาด้วย 1,200 องศาอีกครั้งจะได้เป็นขี้เถ้าสีดำ (Slag) และขี้เถ้านี้เมื่อมาผสมกับคอนกรีตสามารถทำเป็นถนนทำเป็นตึกผสมทำเป็นพื้นที่อะไรต่างๆ ได้อีกมาก ท่านหัวหน้าโรงงานนำก้อนคอนกรีตมาก้อนหนึ่งขนาดเท่าก้อนอิฐ บอกว่าในนี้มี Slag ผสมอยู่ 20% ขี้เถ้าที่ได้ต่อวันประมาณ 50 ตัน และยังมีเครื่องผลิตไฟฟ้าจากการเผาขยะ เป็นการผลิตกระแสไฟฟ้าได้ด้วยไอน้ำที่เกิดจากความร้อนซึ่งปัจจุบันสามารถผลิต 12,000 กิโลวัตต์ โดยนำมาใช้ในโรงเผาขยะประมาณ 5,000 กิโลวัตต์ ที่เหลือก็ขายให้กับโรงไฟฟ้าโตเกียว 

 

 

 

ไม่น่าเชื่อเลยว่าในปีหนึ่งสามารถขายได้ 200 ล้านเยน หรือประมาณ 80 ล้านบาทเลยทีเดียว ทั้งหมดในโรงงานเผาขยะ เป็นการจัดการที่ดีมากๆ แสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบ น่าจะนำมาเป็นตัวอย่างและใกล้ๆ กันกับโรงเผาขยะ ทางรัฐบาลญี่ปุ่นก็คำนึงถึงทัศนียภาพ เพราะฉะนั้นที่ไหนที่มีโรงงานเผาขยะก็ต้องมีสถานที่ออกกำลังหรือสระว่ายน้ำและสวนสาธารณะด้วย เพื่อให้ประชาชนเข้ามาศึกษาเรียนรู้ ซึ่งที่นี่ก็ใช้ไฟฟ้าจากโรงเผาขยะเช่นกัน เราก็ได้รู้แล้วว่า จากสิ่งที่ไม่ต้องการแล้วกลายมาเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มากๆ และมีขยะอีกชนิดหนึ่ง เป็นขยะที่เผาไม่ได้ เราไปดูกันครับว่า เขานำขยะเหล่านี้ไปทำอะไรต่อ

 

ที่โรงบดย่อยขยะในโตเกียว ที่โรงงานแห่งนี้ทำการแยกขยะที่เผาไม่ได้ ขยะบางชิ้นเป็นขยะชิ้นใหญ่ มีพลาสติกกับโลหะออกจากกัน งานหลักของโรงงาน คือการนำขยะมาตัดหรือบดให้ชิ้นเล็กลง และแยกเหล็กกับอลูมิเนียมออกจากขยะแล้วนำมารีไซเคิล

 

กลับมาใช้ใหม่ แล้วนำมาบีบอัดให้เป็นก้อนเพื่อจำหน่ายต่อไปครับ 1 วันมีขยะเข้ามาที่โรงงาน 100 ตัน เป็นเหล็ก 20 ตันเป็นอลูมิเนียม 2 ตัน 

 

 

พื้นที่ๆ นำขยะมาถมทะเล เป็นที่ดินขนาดใหญ่อยู่ในบริเวณอ่าวโตเกียวของญี่ปุ่นมีถึง 1,900 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ ที่ใหญ่กว่ากรุงเทพฯ 

 

เมื่อก่อนมีการนำขยะเปียกมาถมที่นี่เลย ทำให้เกิดก๊าซมีเทน จึงต้องฝังท่อเหล็กเพื่อระบายก๊าซป้องกันไฟไหม้ ถ้าฝนตกพื้นที่นี้น้ำเสียไหลออกมาและเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเสียไหลลงทะเล ดังนั้นมีการจัดการให้น้ำไหลไปที่เก็บน้ำและบำบัดน้ำเสียก่อนส่งไปที่การประปาโตเกียวเพื่อทำให้น้ำสะอาด การถมขยะของที่นี่เรียกว่า "การถมแบบแซนวิช" คือถมเป็นชั้นๆ โดยถมขยะไป 3 เมตรหลังจากนั้นก็ถมดินลงไปอีก 50 เซนติเมตร สลับกันไปแบบนี้จนมีความสูง 30 เมตรซึ่งจะป้องกันกลิ่นป้องกันแมลงและป้องกันการเกิดไฟไหม้ได้ครับ ทางรัฐบาลญี่ปุ่นเห็นความสำคัญของการจัดการของขยะมาก จึงได้กำหนดให้เด็กนักเรียนชั้นประถมต้องมาทัศนศึกษาที่โรงเผาขยะเพื่อให้รู้ว่าการแยกขยะตั้งแต่ที่บ้านจะก่อให้เกิดประโยชน์อะไรบ้าง เรียกว่าปลูกฝังเรื่องความรับผิดชอบตั้งแต่ยังเด็ก 

 

 

 

ปัจจุบันการบริหารจัดการขยะรวมทั้งสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นกับประชาชน ทำให้คนญี่ปุ่นทิ้งขยะลดลงไปถึง 40% รวมทั้งมีการรณรงค์เรื่อง 3R ด้วย

R1 : REDUCE คือการพยายามลดการใช้สิ่งของที่ทำให้เกิดขยะ  

R2 : REUSE คือการเลือกใช้สิ่งของที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้หลายๆครั้ง เช่นใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก 

R3 : RECYCLE คือการนำสิ่งของกลับมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตใหม่อีกครั้ง เช่นการนำกระป๋องหรือขวดแก้วหรือขวดพลาสติกไปผลิตใหม่เป็นต้น ถึงแม้ประเทศญี่ปุ่นเขามีความสามารถในการทำลายขยะที่ดีก็ตามแต่เขาก็ไม่อยากเพิ่มขยะ เพราะการเพิ่มขยะจะทำให้เสียงบประมาณในการทำลายขยะมาก

 

ที่มา www.marumura.com

 

 

 

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ

  

Like this article:
Social share: