นายอิสมาแอล เบญสะอาด กรรมการชมรมประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 9 ก.ค.2555 ที่หลาเรียนรู้ศาลาชุมชน มูลนิธิอันดามัน ต.ควนปริง อ.เมือง จ.ตรัง มีการประชุมทบทวนมติของชมรมประมงพื้นบ้านจ.ตรัง เรื่องคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรัง โดยมีสมาชิกจากอำเภอต่างๆ ในจังหวัดตรังเข้าร่วมประมาณ 40 คน ซึ่งหลังจากลงมติ มีแกนนำประมงพื้นบ้านจ.กระบี่ มาทาบทามสมาชิกชมรมประมงพื้นบ้านจ.ตรังไปพูดคุย ดื่มน้ำชา กับเจ้าหน้าที่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีการพูดคุยเรื่องการไปดูงานที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะและต่างประเทศ รวมถึงมีการพูดคุยเรื่องงบประมาณสนับสนุนโครงการสำหรับชาวประมงพื้นบ้าน ส่อให้เกิดความขัดแย้งในชมรมประมงพื้นบ้านจ.ตรัง
สำหรับผลการประชุม ชาวบ้านทุกคนยืนยันตามมติเดิม คือคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินจ.ตรัง ให้สมาชิกชมรมประมงพื้นบ้านจ.ตรัง หยุดสังฆกรรมกับเจ้าหน้าที่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยไม่มีใครคัดค้านมติดังกล่าว
“สำหรับสาเหตุที่มีแกนนำประมงพื้นบ้านจ.กระบี่ ซึ่งเป็นแนวร่วมสนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่มาทาบทามสมาชิกชมรมประมงพื้นบ้านจ.ตรัง เนื่องจากกฟผ.กลัวว่าประมงพื้นบ้านสายสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านภาคใต้ จะลุกฮือคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ในขณะเดียวกันก็เป็นการเจาะยางขบวนเคลื่อนไหวคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินตรังไปด้วยในตัว” นายอิสมาแอลกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า เวลา 13.30 น.วันเดียวกัน ที่ศาลากลางจังหวัดตรัง เครือข่ายคนตรัง ประกอบด้วย เครือข่ายความร่วมมือเพื่อการพัฒนาจังหวัดตรังยั่งยืน มูลนิธิหยาดฝน มูลนิธิอันดามัน โครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา เครือข่ายผู้ประกอบการท่องเที่ยวในจังหวัดตรัง เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด ฯลฯ เข้าพบนายธีระยุทธ เอี่ยมตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เพื่อหารือเกี่ยวกับยุทธศาสตร์แผนพัฒนาจังหวัดตรังยั่งยืน กับโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรัง โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 50 คน
นายชัยพร จันทร์หอม กรรมการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า จังหวัดตรังมียุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดตรังที่ยั่งยืน ระยะเวลา 20 ปี (พ.ศ.2545-2564) ที่เน้นการพัฒนาด้านเกษตรกรรม การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ รักษาทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม โรงไฟฟ้าถ่านหินนอกจากก่อมลพิษและผลกระทบกับชุมชน แล้วยังเกี่ยวข้องกับนิคมอุตสาหกรรม และแผนพัฒนาภาคใต้ด้วย
นายสุทธิพงษ์ ลายทิพย์ ผู้ประสานงานศูนย์กฎหมายและสิทธิมนุษยชนพื้นที่อันดามัน กล่าวว่า ขนาดเมื่อปี 2553-2554 เรือบรรทุกปูนซีเมนต์ล่ม 12 ลำ ในทะเลจ.ตรัง ทำให้พะยูนต้องอพยพไปสู่ทะเลจ.กระบี่ หากมีโรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดขึ้น ในอนาคตพะยูนจะหายไปมากกว่านี้หรือไม่ อีกทั้งจ.ตรังต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างอุตสาหกรรม กับการพัฒนาแบบยั่งยืน
ด้านนายธีระยุทธ เอี่ยมตระกูล ผู้ว่าฯตรัง กล่าวว่า จังหวัดตรังไม่ควรเอามาผูกติดกับคนกลุ่มเดียว การจะอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ตนเห็นด้วย แต่ถึงอย่างไรทุกอย่างย่อมมีการพัฒนา มีการเปลี่ยนแปลง กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินมีแผนจะสร้างที่ไหนก็มีกระแสคัดค้าน ทำไมกฟผ.ไม่จัดระเบียบการให้ข่าวสารชาวบ้านให้ดีตั้งแต่เริ่มต้น เข้าให้ถึงชาวบ้าน ทำไมต้องเลือกพื้นที่อุดมสมบูรณ์ในการสร้างโรงไฟฟ้า
“ผู้ว่าฯ ไม่สามารถชี้แนวทางให้เมืองเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ได้ จะให้ผมเห็นด้วยหรือคัดค้าน ผมยังตัดสินใจไม่ได้ ผมมาที่ตรัง 2 เดือน กฟผ.ไม่เคยมาชี้แจงกับผมเลยสักครั้ง ผมเป็นผู้บริหารต้องดูองคาพยพอื่นๆ ด้วย แต่ที่แน่ๆ ผมไม่มีอันตรายสำหรับพวกคุณ” นายธีระยุทธกล่าวกับกลุ่มชาวบ้านที่เข้าพบ
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ