จ่อยึดคืน'งบอาหารกลางวัน'ชี้บริหารเหลว ก.คลังจี้ศธ.แจงเงินประเดิม'6พันล้านบาท' ประเมินไม่ผ่าน-'เด็ก7ล้านคน'ยังกินไม่อิ่ม

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ 11 ก.ย. 2555 | อ่านแล้ว 3350 ครั้ง

เตรียมยึดคืนงบต้นทุน ‘กองทุนอาหารกลางวัน’

 

 

จากกรณีกระทรวงการคลัง มีนโยบายยุบเลิก ยุบรวม กองทุนหรือเงินทุนหมุนเวียน ที่มีการบริหารงานซับซ้อน ไม่เกิดประโยชน์ ไม่มีการเคลื่อนไหวของกองทุน หรือมีรายได้มากแต่ไม่ได้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์  ตลอดจนพิจารณายุบเลิกกองทุนที่หมดภารกิจ

 

หนึ่งในกว่าร้อยกองทุนที่น่าจับตามองคือ “กองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา” ที่อยู่ในกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)

 

หลังกรมบัญชีกลางสำรวจพบ สิ่งที่นำไปสู่การพิจารณาทบทวนยุบเลิกหลายประการ อาทิ กองทุนมีผลการดำเนินงานต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดติดต่อกันหลายปี การดำเนินงานก็ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง และมีภารกิจซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่น จึงมองว่ากระทรวงการคลังหมดหน้าที่ในการดูแลแล้ว โดยแหล่งข่าวระดับสูง ในกรมบัญชีกลางยืนยันว่า กองทุนดังกล่าวมีความเสี่ยงต่อการถูกยุบเลิกจริง ขณะนี้เรื่องอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง แล้ว

 

 

 

ประเมินไม่ผ่าน 3 ปี หมดหน้าที่ตามพ.ร.บ.อปท.

 

 

สาเหตุที่ “กองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา” นอกจากการไม่ผ่านประเมินย้อนหลัง 3 ปี (ปีงบประมาณ 2552-2554) ของบริษัท ทริส คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่ปรึกษากระทรวงการคลัง แล้ว ยังมีประเด็นที่สำคัญกว่านั้นคือ กระทรวงการคลังมองว่า ภาระหน้าที่ได้หมดลง ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2544 สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่มีการกระจายอำนาจลงไปสู่ท้องถิ่น

 

โดยถ่ายโอน “งบประมาณอาหารกลางวัน” จากกระทรวงศึกษาธิการ ไปให้กระทรวงมหาดไทย ตามพ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) พ.ศ.2542

 

นั่นหมายความว่า งบประมาณอาหารกลางวัน 13 บาท ต่อเด็ก 1 คน ถูกส่งต่อไปให้อปท.กำกับดูแล ไม่ได้อยู่ในความดูแลของกระทรวงศึกษาธิการอีกต่อไป ฉะนั้นจึงมองว่าเป็นการบริหารงานที่ซ้ำซ้อนกัน ทั้งวัตถุประสงค์ของโครงการ ที่ปัจจุบันแทบจะกลายเป็นกองทุนที่ส่งเสริมการปลูกผัก ผลไม้ เลี้ยงหมู เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ แล้ว ดังนั้นเมื่ออปท.ได้รับอำนาจตามพ.ร.บ.ให้ดูแลแล้ว หน้าที่ดูแลกองทุนนี้ของกระทรวงการคลังจึงสมควรยุติลง และนำเงินต้นทุนของกองทุนเดิมจำนวน 6,000 ล้านบาท ไปสมทบเป็นเงินกองกลางแทน หรือพูดง่ายๆก็คือ ส่งคืนคลังเพื่อดำเนินการโครงการอื่นต่อไป

 

ทุกวันนี้จึงเป็นที่จับตามองกันว่า โครงการดังกล่าวรัฐบาลจะทำอย่างไรต่อไป

 

 

ผู้บริหารไม่ให้ความสำคัญ เจ้าหน้าที่ไม่มีความรู้

 

 

อย่างไรก็ตามกรมบัญชีกลางได้เรียกตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เข้าพบเพื่อรับฟังข้อสรุปจากการประเมิน โดยให้ความเห็นและข้อสังเกตแบบกะเทาะเปลือกเห็นแก่น แบ่งเป็นด้าน ๆ ไม่ว่าจะเป็น “ปัจจัยภายใน” ที่พบว่า ภารกิจของ สพฐ.ซ้ำซ้อนกับภารกิจของกองทุน ทำให้บุคลากรมีเวลาไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติงานกองทุน

 

นอกจากนี้ตัวบุคลากรก็ไม่มีความรู้ความสามารถอย่างเพียงพอ ที่จะวิเคราะห์โครงการ ที่ขอรับจัดสรรเงิน การจัดสรรเงินจึงไม่เพียงพอต่อความต้องการที่แท้จริง รวมทั้งนำเสนอโครงการต่อคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อจัดสรร หรืออนุมัติโครงการในลักษณะย้อนหลังไม่ทันเวลา รวมทั้งขาดการปรับปรุงดำเนินงานภายในของหน่วยงาน เพื่อบริหารกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพ

 

ขณะที่ “ปัจจัยภายนอก” พบว่า ความต้องการในการดำเนินโครงการดังกล่าวน้อยลง สูญเสียโอกาสทางการเงิน ผู้บริหารไม่ให้ความสำคัญที่จะปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน และโครงสร้างองค์กรภายในส่วนราชการที่รับผิดชอบกองทุน ไม่เหมาะสมที่จะบริหารจัดการกองทุนให้มีประสิทธิภาพ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

สพฐ.ยอมรับการบริหารงานที่ผ่านมาไม่ดีพอ

 

 

ฟากสพฐ.ชี้แจงว่า แม้ว่างบประมาณโครงการอาหารกลางวัน 13 บาท จะอยู่ในกำกับดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แต่วัตถุประสงค์ของกองทุนที่ตั้งขึ้นแต่เดิม ก็เพื่อขจัดปัญหาทุพโภชนาการในเด็กปฐมวัย และเด็กที่ขาดแคลนอาหารกลางวัน ยังไม่หมดลงตามพ.ร.บ.ดังกล่าว แต่ยอมรับว่าการบริหารกองทุนที่ผ่านมาไม่มีประสิทธิภาพที่ดีพอ ดังนั้น สพฐ.จึงขอกลับไปจัดทำกรอบแผนยุทธศาสตร์กองทุนฯ มาเสนอกรมบัญชีกลางใหม่ ซึ่งกรมบัญชีกลางได้ให้โอกาส แต่ต้องวางแผนรองรับการใช้จ่ายเงินงบประมาณประจำปีของกองทุน และติดตามประเมินผลการใช้จ่ายเงินงบประมาณ เพื่อให้การใช้จ่ายดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

 

นอกจากนี้ควรวางแผนรับรองในอนาคต 3-4 ปี เพื่อผลักดันให้อปท.ดูแลการจ่ายเงินค่าอาหารกลางวันให้นักเรียนอย่างทั่วถึง เนื่องจากทรัพย์สินที่กองทุนสามารถนำมาใช้จ่ายสนับสนุนค่าอาหารกลางวันได้ มีอยู่อย่างจำกัด โดยมีกำหนดระยะเวลา 2 เดือนหรือถึงสิ้นเดือนสิงหาคม

 

 

สพฐ.เร่งสะสางปัญหา-อุปสรรค เพื่อหาแนวทางปรับปรุง

 

 

กระทั่ง วันที่ 16 สิงหาคม 2555 ที่ผ่านมา นายพิษณุ ตุลสุข รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าว TCIJ ว่า หลังจากตัวแทน สพฐ.เข้ารับฟังผลการประเมินทบทวนประสิทธิภาพของกองทุนว่า จะคงไว้หรือยุบทิ้ง นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการกพฐ. ในฐานะกรรมการและเลขานุการกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวัน จึงมอบหมายให้รับผิดชอบจัดทำกรอบแผนยุทธศาสตร์กองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวัน ในโรงเรียนประถมศึกษา ปีงบประมาณ 2556-2559 โดยแรกเริ่มได้เรียกประชุมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในกองทุน เพื่อหาปัญหาและอุปสรรคกระทั่งพบว่า บทบาทคณะกรรมการบริหารกองทุนมีน้อยเกินไป และจัดประชุมคณะกรรมการบริการกองทุนและคณะอนุกรรมการฯ ซึ่งมีอยู่ชุดเดียวเพียงปีละ 2 ครั้ง ทำให้การดำเนินงานไร้ซึ่งประสิทธิภาพ

 

นอกจากนี้ยังพบว่า โครงสร้างกองทุนฯ ไม่เอื้อต่อการบริการจัดการ เนื่องจากเมื่อปรับโครงสร้าง ศธ.เป็นองค์กรหลักต่างๆ ก็ส่งผลต่อการติดต่อประสานงานระหว่างองค์กรหลักที่เกี่ยวกับกองทุน ดำเนินโครงการจึงล่าช้า

 

ขณะที่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติภารกิจกองทุน ก็เป็นเจ้าหน้าที่ซึ่งมีภารกิจหลักต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว และมีจำนวนจำกัด เมื่องานกองทุนเป็นเพียงงานฝาก การดำเนินงานจึงล่าช้าไม่ทันกำหนดเวลา ไม่สามารถจัดสรรเงินได้ตามเป้าหมาย และวงเงินที่คณะกรรมการอนุมัติเช่นกัน ที่สำคัญการจัดเก็บข้อมูล รวบรวม ประมวลผล และรายงานยังไม่เป็นปัจจุบัน ทำให้ข้อมูลไม่ครบถ้วนเพียงพอ ที่จะนำไปใช้ประโยชน์ได้ จึงสรุปได้ว่า ไม่มีคนทำงานบริหารกองทุนประจำ และที่มีอยู่ก็ไม่มีความรู้ด้านการบริหารกองทุน

 

 

หัวหน้าคณะทำงานอธิบายต่อว่า เมื่อเข้าใจปัญหาและอุปสรรคแล้ว เบื้องต้นทีมกู้วิกฤตจึงคิดแนวทางการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานกองทุน โดยจำแนกออกมาเป็น “ด้านบุคลากร” ควรกำหนดโครงสร้างผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติงานให้ชัดเจน และมีจำนวนที่เหมาะสมต่อการปฏิบัติงานได้เต็มเวลา เพื่อให้งานบริหารกองทุนสัมฤทธิ์ผลเป็นรูปธรรม

 

และ “ด้านการบริหารงาน” ควรมีโครงสร้างองค์กรของหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง เพิ่มบทบาทให้คณะกรรมการบริหารกองทุน และคณะอนุกรรมการฯ และปรับปรุงโครงสร้างการบริหารกองทุนให้มีบุคลากรในสำนักโครงการอาหารกลางวัน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) และโรงเรียน เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงและคล่องตัวในการบริหารภารกิจ

 

รองเลขาธิการ กพฐ.ระบุว่า เมื่อรู้ถึงปัญหาแล้ว คณะทำงานจึงต้องเร่งร่าง “กรอบแผนยุทธศาสตร์กองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา ปีงบประมาณ 2556-2559” จนแล้วเสร็จ ก่อนเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุน ครั้ง 2/2555 ที่มี น.ส.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา

 

ที่ประชุมได้กำชับให้เร่งนำร่างฉบับดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติจริง เพื่อนำเข้าที่ประชุมให้คณะกรรมการบริหารกองทุนพิจารณาอีกครั้ง ก่อนส่งให้คณะกรรมการประเมินผล กระทรวงการคลัง พิจารณาถึงความเป็นไปได้ถึงการคงกองทุนไว้ หากคณะกรรมการประเมินผลเห็นชอบ แผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะถูกขับเคลื่อนทันที

 

 

 

 

 

                 

 

 

                       “อีกหนึ่งปัญหาของกองทุนคือ การมีรายได้จากดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร และการซื้อพันธบัตรรัฐบาล ปีหนึ่งๆ กว่า 400 ล้านบาท ไม่ได้มีรายรับส่วนอื่นมาเพิ่มพูนให้มากกว่านี้ ซึ่งหารเฉลี่ยกับจำนวนนักเรียนที่อยู่ในภาวะทุพโภชนาการ และประจำกินนอนที่โรงเรียนกว่า 7 ล้านคนแล้ว นับว่าเป็นเงินจำนวนไม่มาก ซึ่งความจริงตัวเลขดังกล่าวนิ่งมาระยะหนึ่งแล้ว ยังไม่ใช่ตัวเลขจริงในปัจจุบัน จึงประสานให้ สพป.และโรงเรียนรายงานเข้ามา ขณะที่ตัวเลขที่ได้รับจากโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน จะไม่มีปัญหา เพราะเป็นตัวเลขจริงไม่ได้แต่งขึ้นมา อย่างไรก็ตามสพฐ.จะนำเงินสะสม 2,500 ล้านบาท จากดอกเบี้ยต่อปีของเงินในกองทุน 6,000 ล้านบาท มาส่งเสริมกลุ่มทุพโภชนาการ และมื้อเช้าเย็น สำหรับกลุ่มที่ต้องกินนอนในโรงเรียน ส่วนมื้อกลางวัน 13 บาท อปท.ยังดูแลเช่นเดิม” รองเลขาธิการกพฐ.กล่าว

 

 

รองเลขาธิการ กพฐ.มองว่า ถ้าไม่วางแผนบริหารเงินให้รัดกุม อาจส่งผลต่อเงินกองทุนได้ในอนาคต แม้จะประชาสัมพันธ์กองทุนให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้ตระหนักและสร้างเครือข่าย เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมของกองทุนอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยประสิทธิภาพของระบบบริหารจัดการที่ผ่านมา จึงส่งผลต่อวัตถุประสงค์ของการประชาสัมพันธ์

 

อย่างไรก็ตามเป้าหมายของกองทุนเกิดขึ้น เพื่อให้นักเรียนระดับประถมศึกษาทุกสังกัด ได้รับการสนับสนุนจากกองทุน จึงจำเป็นต้องจัดกระบวนการเรียนรู้ที่บูรณาการในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ เพื่อส่งผลให้เด็กมีสุขภาพอนามัยที่ดี ลดภาวะทุพโภชนาการ ไปพร้อมๆ กับการเกิดองค์ความรู้ มีทักษะอาชีพ มีรายได้ระหว่างเรียน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสร้างผลิตผลมาประกอบอาหารกลางวัน รวมถึงอาหารเช้า เย็น สำหรับกลุ่มกินนอนที่โรงเรียนด้วย

 

 

ชง5กลยุทธ์หลังตกประเมิน

 

 

ต่อมาวันที่ 21 สิงหาคม 2555 นายพิษณุเปิดเผยอีกครั้งถึงความคืบหน้ากรอบแผนยุทธศาสตร์กองทุนฯ ว่า ร่างฉบับดังกล่าว มีกลยุทธ์ 5 ด้าน ซึ่งขณะนี้เริ่มลงลึกลงในรายละเอียด เพื่อให้สามารถปฏิบัติได้จริงแล้ว ประกอบด้วย 1.จัดระบบบริหารจัดการองค์กรที่มีประสิทธิภาพ อาทิ การปฏิรูปองค์กรเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานเลขานุการกองทุน โดยจัดตั้งหน่วยงานและบุคลากรประจำการที่สามารถปฏิบัติงานได้เต็มเวลา 2.ปฏิรูปการบริหารจัดการกองทุน อาทิ การจัดระบบการกระจายอำนาจการบริหารงานของคณะกรรมการบริหารกองทุน เพื่อความรวดเร็วและเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน 3.เพิ่มพูนทุนสู่เด็ก อาทิ การพัฒนาหลักเกณฑ์วิธีการที่เหมาะสมในการจัดสรรทรัพยากรให้กับสถานศึกษาที่จัดอาหารกลางวันแก่เด็กประถมศึกษาให้เกิดความโปร่งใส เป็นธรรม

 

รองเลขาธิการกพฐ.กล่าวต่อว่า 4.พัฒนาการประชาสัมพันธ์และการสื่อสารองค์กรอย่างสร้างสรรค์ อาทิ การเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจภาวะโภชนาการเด็กในสถานศึกษาระดับประถมศึกษา เพื่อสร้างความตระหนักร่วมกันของทุกภาคส่วนในสังคม และ 5.อาหารกลางวันเพื่อการเรียนรู้ อาทิ ส่งเสริมกิจกรรมเชิงเกษตรในสถานศึกษาที่เชื่อมโยงกับการจัดกิจกรรมอาหารกลางวัน เป็นต้น

 

นายพิษณุกล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ยังมีเรื่องการพัฒนาทุนหมุนเวียนในกองทุนที่มีเงินต้นอยู่ 6,000 ล้านบาท เพราะใกล้ครบกำหนดระยะเวลา 10 ปี ที่ซื้อธนบัตรไว้กับรัฐบาลในวันที่ 2 กันยายน 2555 ฉะนั้นคณะทำงานจึงกำลังพิจารณาว่า จะซื้อธนบัตรรัฐบาลต่อไปหรือเปิดให้สถาบันการเงินประมูลเพื่อหาดอกเบี้ยดีที่สุด ตลอดจนหาช่องทางอื่นๆ เพื่อให้ได้ดอกผลมากกว่าที่เคยได้อยู่ประมาณ 400 ล้านบาท จากนั้นจะเสนอให้คณะกรรมการบริหารกองทุนฯ พิจารณาเห็นชอบ ก่อนเสนอกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง

 

 

ระบุกองทุนอาหารแก้ทุพโภชนาการไม่เกี่ยวกับ 13 บาท ของอปท.

 

 

ล่าสุด วันที่ 31 สิงหาคม 2555 นายพิษณุเปิดเผยเพิ่มเติมโดยยืนยันว่า กองทุนดังกล่าวไม่ได้มีการบริหารซ้ำซ้อน เพราะในส่วนของงบประมาณอาหารกลางวัน 13 บาท ต่อนักเรียนประถมศึกษา 1 คน รัฐบาลได้โอนอำนาจให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) บริหารจัดการไปนานแล้ว แต่ในส่วนของกองทุนมีหน้าที่แก้ปัญหาทุพโภชนาการเด็ก เพราะไม่ได้หมายความว่า อาหารกลางวัน 13 บาท จะทำให้เด็กมีภาวะเจริญสมวัยทุกคน

 

 

                  “ที่สำคัญงบฯ ปกติ 13 บาท ใช้หมดแล้วหมดเลย แต่แผนยุทธศาสตร์กองทุนฯ จะมีโครงการทุนหมุนเวียนส่งเสริมผลผลิตเพื่ออาหารกลางวันรองรับ โดยวิธีการจะให้โรงเรียนเสนอโครงการเข้ามา ทั้งการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งจะช่วยให้เด็กทุพโภชนาการมีอาหารคุณภาพกิน และโดยเฉพาะเด็กที่จำเป็นต้องกินนอนที่โรงเรียนมีอาหารกินครบ 3 มื้อ” รองเลขาธิการกพฐ.กล่าว

 

 

หัวหน้าคณะทำงานอธิบายว่า ในปีการศึกษา 2554 ที่ผ่านมา มีโครงการที่โรงเรียนเสนอเข้ามาและได้รับอนุมัติไปแล้วกว่า 2,000 โรง และยังมีโครงการอาหารกลางวันอย่างยั่งยืน ที่วิทยาลัยเกษตรกรรมและเทคโนโลยี (วษท.) สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ในหลายพื้นที่ เสนอโครงการเพื่อขอรับงบประมาณไปส่งเสริมให้เด็ก ซึ่งกระจายอยู่ในโรงเรียนต่างๆ กว่า 1,700 โรง มีอาหารกินอย่างยั่งยืน โดยวิทยาลัยเกษตรกรรมฯ ทั่วประเทศ ได้รับงบประมาณจากกองทุนไปดำเนินงานทั้งสิ้นประมาณ 60 ล้านบาท ดังนั้นหากกองทุนถูกยุบ เด็กทั่วประเทศก็จะมีเพียงอาหารกลางวัน 13 บาทกินเท่านั้น ที่สำคัญ 13 บาท ถ้ามองถึงคุณค่าของอาหารคงไม่ได้ตามหลักโภชนาการ และหมดแล้วหมดเลยไม่มีการติดตามผลใดๆ ทั้งสิ้น

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: