แฉวธ.ชงพรบ.กองทุนสื่อฯบี้ภาคประชาชน หวังชิงใช้เงินอุดหนุนกสทช.ปีละ500ล้าน อ้างงบน้อยต้องหาเงินเพิ่ม-ยัดไส้ปฏิรูปสื่อ

วรลักษณ์ ศรีใย ศูนย์ข่าว TCIJ 11 ต.ค. 2555 | อ่านแล้ว 2235 ครั้ง

ก.วัฒนธรรมตีกินร่างพ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อฯ

 

 

ตั้งแต่ปี 2546 จนถึงวันนี้  นับเป็นเวลาเกือบ 10 ปี ที่เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนที่ทำงานด้านสื่อ และด้านเด็ก 76 องค์กร ได้ร่วมกันผลักดัน เพื่อให้เกิดกฎหมายกองทุนพัฒนาสื่อสร้างสรรค์ มีทั้งการทำงานวิจัยควบคู่ไปกับการตั้งกองทุนสื่อสร้างสรรค์ เพื่อผลักดันไปสู่การออกกฏหมาย ซึ่งเนื้อหาของกฎหมายนี้จะเน้นไปที่เด็ก-เยาวชนและครอบครัว เพื่อแก้ปัญหาโจทย์ที่บอกว่า ปัญหาต่าง ๆของสังคมมาจากสื่อ กระทั่งปี 2553 จึงประสบความสำเร็จในชื่อ “ร่างพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ....”ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่มีการยุบสภา จนถึงสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2555

 

อย่างไรก็ตาม ร่างพ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ....ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เป็นฉบับของกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งภาคประชาชนที่ร่วมขับเคลื่อนเห็นว่าผิดไปจากเดิม ถูกปรับแก้ตั้งแต่วัตถุประสงค์ แนวคิด และภารกิจของกองทุน ตลอดจนโครงสร้างขององค์กร และองค์ประกอบของกรรมการ ที่สะท้อนออกมาในลักษณะที่เป็นกองทุนภายใต้ระบบราชการ ขาดมิติการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ

 

ภาคประชาชน จึงเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับประชาชนควบคู่ไปกับร่างของกระทรวงวัฒนธรรม โดยให้ประชาชน 10,000 ราย ร่วมลงชื่อ เพื่อเสนอกฏหมายฉบับดังกล่าวด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบรายชื่อ ซึ่งมีขั้นตอนล่าช้า และหากการตรวจสอบรายชื่อแล้วเสร็จ ไม่ทันสมัยการประชุมในเดือนพฤศจิกายนนี้  ร่างฉบับประชาชน จะไม่สามารถเข้าประกอบเพื่อพิจารณาคู่ไปกับร่างของกระทรวงวัฒนธรรม นั่นหมายความว่าความพยายามตลอด 10 ปีที่ผ่านมาสูญเปล่า

 

 

ผลวิจัยระบุเด็กอยู่กับสื่อไม่ต่ำกว่าวันละ 8 ชั่วโมง

 

 

ทุกวันนี้เด็กและเยาวชนไทยกว่า 23 ล้านคน ใช้ชีวิตอยู่กับสื่อ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ อินเตอร์เน็ต มากกว่าอยู่ในโรงเรียน และสื่อเหล่านี้มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมและค่านิยมของเด็ก ซึ่งข้อมูลจากแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน ระบุว่า เด็กจะใช้เวลาอยู่กับสื่อไม่น้อยกว่าวันละ 8 ชั่วโมง แบ่งเป็นโทรทัศน์ วันละ 5.7 ชั่วโมง อินเตอร์เนต วันละ 3-5 ชั่วโมง ขณะที่วิทยุสำหรับเด็กมีเพียง 1 เปอร์เซนต์ รายการโทรทัศน์เด็กมีเพียง 3-4 เปอร์เซนต์ รายการโทรทัศน์ที่มีความรุนแรง ชั่วโมงละ 3.3 ครั้ง ภาพยนตร์ ร้อยละ 64 ไม่เหมาะสำหรับเด็ก การ์ตูนกว่าครึ่งนำเสนอการใช้ความรุนแรง ส่วนสื่อสิ่งพิมพ์สำหรับเด็กมีน้อยมาก รวมไปถึงเกมคอมพิวเตอร์เน้นเนื้อหาการต่อสู้ ไม่เหมาะสำหรับเด็ก เว็บไซต์ยอดนิยมกว่าครึ่งเป็นสีเทา ใช้ภาษาไม่เหมาะสม ส่อเรื่องเพศ 17.5 เปอร์เซนต์ เป็นสีดำ คือหยาบคาย รุนแรง และลามกอนาจาร

 

เข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้แทนเครือข่ายเสนอร่างกฎหมายภาคประชาชน ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าว TCIJ  ว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัย ซึ่งเป็นแนวคิดเริ่มต้น ของการก่อตั้ง “กองทุนสื่อสร้างสรรค์”  และอาจจะเป็นเบื้องต้นของปัญหาผลกระทบจากสื่อที่มีต่อเด็ก เพราะทุกครั้งที่มีการพูดถึงปัญหาเด็กจะต้องพูดถึงผลกระทบสื่อที่มีต่อเด็กว่า สื่อมีอิทธิพลในทางลบ ส่วนมิติทางบวกอาจไม่ค่อยมีตัวอย่างให้เห็น และยิ่งในปัจจุบันสื่อเป็นดิจิตอล สื่อออนไลน์ สื่ออยู่ในมือเด็กและเด็กไม่เข้าใจใช้สื่อ

 

จากตัวอย่างที่ผ่านมา เด็กถูกละเมิดจากสื่อมากขึ้น และที่สำคัญเด็กเป็นคนทำเอง เช่น การเผยแพร่คลิปต่างๆที่เกี่ยวกับเด็กและวัยรุ่น สถานการณ์เช่นนี้ หากไม่พลิกกลับมาใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ ให้มีกระบวนการเท่าทันสื่อเกิดขึ้น ปัญหาเด็ก ปัญหาสังคมจะมากกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรุนแรง เรื่องทางเพศ ตั้งครรภ์ไม่พร้อม การละเมิดในเรื่องอื่น ๆ จะมีมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาสื่อที่เกิดขึ้นเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนมีน้อยมาก เราจึงคิดว่าต้องมีพื้นที่เพื่อให้เกิดสื่อสร้างสรรค์กับเด็ก นอกจากนี้กองทุนจะช่วยเพิ่มจำนวนปริมาณรายการสำหรับเด็ก คุณภาพของรายการ และพัฒนาศักยภาพของกลุ่มที่ทำสื่อเด็กด้วย

 

 

                   “แต่เดิมเรามองแค่เรื่องผู้ผลิตสื่อ แต่มาถึงยุคนี้ ผู้ผลิตและผู้ใช้สื่อเป็นคนเดียวกัน เราจึงมองเลยไปถึงมิติที่ว่า ไม่ใช่ผู้ผลิตเท่านั้น แต่เป็นศักยภาพของผู้ใช้สื่อ กระบวนการเรียนรู้เท่าทันสื่อ และการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ ไม่เช่นนั้นเขาจะเป็นคนที่ใช้สื่ออย่างที่เราวิพากษ์วิจารณ์กัน ไม่ได้มีการพัฒนา”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

มุ่งใช้สื่อปฏิรูปการเรียนรู้

 

 

ทั้งนี้เมื่อกล่าวถึงการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช่เป็นการใช้สื่อเพื่อความบันเทิงอย่างเดียว แต่เลยไปถึงการใช้สื่อเพื่อพัฒนาชุมชน สังคม เด็ก ผู้ใหญ่ และครอบครัว หากกลุ่มคนเหล่านี้เข้าใจการใช้สื่อ สื่อจะเป็นเครื่องมือพัฒนาประเทศ กองทุนนี้ควรที่จะมองไปถึงตรงจุดนั้น เป็นเรื่องของกระบวนการการใช้สื่อ โดยเด็ก เยาวชนและครอบครัว เพื่อพัฒนาชุมชนของตนเอง ลึกกว่าที่จะมองเพียงว่า ปริมาณสื่อเพิ่มขึ้นอย่างไร ซึ่ง เข็มทองระบุว่า ในกระบวนการทำงานเพิ่งจะสรุปได้ว่า การใช้สื่อคือกระบวนการปฏิรูปการเรียนรู้  ไม่ใช่เป็นการวัดชิ้นงานสื่อว่ามีมากขึ้นหรือไม่ แต่ต้องดูไปถึงกระบวนการว่า เมื่อใช้สื่อแล้วตอบสนองการเรียนรู้ของพ่อแม่ ของเด็ก ชุมชนได้หรือไม่ อย่างไร ถ้าเรามองประเด็นนี้ทะลุ เราจะสามารถใช้สื่อในการแก้ปัญหากับเด็กได้อีกมาก

 

 

                   “เมื่อเราทำกิจกรรมกับเด็กจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลง และความหมายของคำว่า การใช้สื่อเพื่อปฏิรูปการเรียนรู้ เด็กที่มาร่วมกิจกรรม จะมีการเปลี่ยนแปลงทางความคิด มีการรวมกลุ่ม วิเคราะห์ประเด็นที่เขาต้องลงไปสืบค้นจากแหล่งต่าง ๆ และมาใช้สื่อในสิ่งที่ชุมชนอยากจะเห็นความเปลี่ยนแปลง ถ้าเราสามารถผลักกองทุนสื่อให้มาทำบทบาทนี้ จะเป็นคนละเรื่องกับที่เราเคยมองว่ามีผู้ผลิตรายการโทรทัศน์เพิ่มขึ้น”

 

 

โทรทัศน์ไทยผลิตรายการเด็กแค่ 2 เปอร์เซ็นต์

 

 

ส่วนประเด็นความรับผิดชอบ ในการผลิตรายการเด็กของจากทีวีสาธารณะอย่างสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ผู้แทนเครือข่ายเสนอกฎหมายภาคประชาชน กล่าวว่า สิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่เพียงพอ เพราะไทยพีบีเอส ต้องตอบสนองกลุ่มคนที่หลากหลาย สัดส่วนรายการเด็กมีเพียง 10 เปอร์เซนต์ ในขณะที่เด็กมีความหลากหลายวัย ทั้งเด็กเล็ก เด็กประถม วัยรุ่น และเด็กในวัยต่าง ๆ ยังแบ่งเป็นเด็กกลุ่มต่าง ๆ เช่น เด็กจากภูมิภาค ภาคเหนือ กลาง ใต้ อีสาน เด็กกลุ่มแรงงาน เด็กชนเผ่า หรือแม้แต่รายการครอบครัว ซึ่งเหมือนกับ ไทยพีบีเอสไม่ได้มีพื้นที่ประจำให้กับรายการเด็ก

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

และยิ่งสถานีโทรทัศน์ช่องอื่น ๆ ยิ่งน้อยมากเพียง 2 เปอร์เซ็นต์ สถานการณ์เป็นแบบนี้มีมาเป็นสิบปีแล้ว ตายนิ่งสนิทมานาน มีช่องทางขึ้น ตอนมีไทยพีบีเอสเกิดขึ้นมา ขณะที่ผู้ผลิตยังเรียกร้องพื้นที่อีกหลายรายการ ที่จะได้ทดลองทำรายการใหม่ ๆ นอกจากนี้ไทยพีบีเอสเอง ยังซื้อรายการจากต่างประเทศด้วย เพราะส่วนหนึ่งผู้ผลิตยังไม่มีโอกาสยาวนาน พอที่จะพิสูจน์ฝีมือหรือพัฒนาตนเองขึ้นมา ไม่มีงานวิจัยรองรับว่าเด็กชอบหรือไม่ชอบ อย่างไร มีรสนิยมอย่างไร เพราะต้องผลิตไปด้วย เผยแพร่ไปด้วย

 

 

                  “เรามีงานวิจัยชี้ชัด มีการมอนิเตอร์ตลอดเปรียบเทียบ 10 ปีย้อนหลัง จะอยู่ประมาณ 2-5 เปอร์เซนต์ตลอด และไม่ตอบโจทก์ในเชิงคุณภาพด้วย ส่วนใหญ่จะเป็นราชการการ์ตูนซื้อจากต่างประเทศแล้วใส่โฆษณาลงไป ขายของเด็ก”

 

 

เข็มพรกล่าวด้วยว่า ข้อมูลที่บอกว่ารายการเด็กมีเพียง 2-5 เปอร์เซนต์ ซึ่งอาจจะสวนทางกับโฆษณาสินค้าสำหรับเด็กที่มีจำนวนมากนั้น ความจริงผู้สนับสนุนรายการ ไม่อยากให้มีรายการเด็ก แต่เห็นว่าขายของได้  ผู้ที่ต้องการสนับสนุนรายการเด็กอย่างจริงใจและจริงจัง ไม่มีเลย เพราะผู้ผลิตอาจจะพิจารณาแล้วคิดว่า รายการไม่สามารถตอบโจทย์ทางการค้าได้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องวัวพันหลักมาตลอด มีงานวิจัยและประสบการณ์จากต่างประเทศ ชี้ชัดว่า รายการเด็กรัฐบาลต้องเป็นผู้ลงทุน เพราะถือว่าเป็นสื่อเพื่อสร้างการเรียนรู้ เหมือนสื่อการศึกษาของเด็ก เพียงแต่ไม่ได้อยู่ในโรงเรียน หลายประเทศลงทุนเรื่องนี้ และตั้งเป็นกองทุนสนับสนุน ซึ่งอันนี้เป็นที่มาของงานวิจัยว่า ทำไมต้องผลักดันเรื่องกองทุนสื่อ

 

มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) ทำวิจัยเรื่องนี้มา ตั้งแต่สมัยรัฐบาล นายอานันท์ ปันยารชุน และมีข้อเสนอตั้งแต่เมื่อปี2535 ว่าต้องมีกองทุนสนับสนุนสื่อเพื่อเด็ก เพื่อที่จะไม่ให้ธุรกิจการค้า เข้าแทรกแซง สื่อของเด็กได้ และต้องลงทุนอย่างจริงจังทั้งงานวิจัย และการพัฒนาศักยภาพของผู้ผลิตสื่อให้เด็ก

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ร่างฯกระทรวงติดกรอบเดิม ไม่เกิดกระบวนการเรียนรู้

 

 

เข็มพรชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างของร่างพ.ร.บ.กองทุนสื่อสร้างสรรค์ พ.ศ.... ระหว่างฉบับของกระทรวงวัฒนธรรม และของภาคประชาชนนั้น ต่างกันตั้งแต่วัตถุประสงค์ของกองทุน โยงมาถึงอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกองทุนฯ ซึ่งรายละเอียดที่ปรากฏใน ร่างพ.ร.บ.ฉบับกระทรวงวัฒนธรรม ที่เห็นชัดคือ รณรงค์ในการผลิตสื่อ ซึ่งสะท้อนแนวคิดเรื่องประชาสัมพันธ์ หรือการมองเพียงการผลิตรายการเท่านั้น  และการเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ โดยเน้นไปที่ผู้ประกอบวิชาชีพ

 

ในขณะที่ร่างพ.ร.บ.ฉบับของภาคประชาชน สื่อจะไม่ได้อยู่ในมือผู้ประกอบวิชาชีพ สื่อจะอยู่ในมือของเด็ก ของพ่อแม่ ของชุมชน และขึ้นอยู่กับว่าเขาจะใช้สื่ออย่างไร อาจจะไม่ใช่การผลิตที่สวยงาม แต่เน้นที่กระบวนการผลิตมากกว่า นอกจากนี้ยังมีเรื่องบทบาทคณะกรรมการ ในการออกประกาศสื่อที่ไม่ปลอดภัย เป็นความคิดที่ไม่สร้างสรรค์เพราะสะท้อนการจับผิดสื่อ ไล่จับมากกว่า

 

ทั้งนี้สถาบันพระปกเกล้าวิเคราะห์ร่างพ.ร.บ.ฉบับกระทรวงและสะท้อนว่า เป็นเรื่องของสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ แต่ทำไมจึงออกระเบียบว่าด้วยเรื่องสื่อไม่ปลอดภัย ทำไมจึงไม่กำหนดว่า อะไรคือสื่อสร้างสรรค์ ไปทำตรงกันข้ามกับชื่อพ.ร.บ.

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

                   “กระทรวงฯไม่ได้มองอย่างที่ภาคประชาชนมอง แต่มองกลับข้างกัน  ถ้ามองผู้ที่ประกอบวิชาชีพสื่อ จะเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่จะได้ประโยชน์ แต่ถ้ามองว่าเป็นการปฏิรูปการเรียนรู้ เด็ก ประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของสื่อ และใช้สื่อให้เกิดประโยชน์ น้ำหนักจะไปคนละอย่าง”

 

 

เข็มพรมองว่าร่างพ.ร.บ.ฯ ฉบับกระทรวงวัฒนธรรม จะทำให้นิยามของสื่อเปลี่ยนไป จะกลายเป็นสื่อกระแสหลักของคนประกอบวิชาชีพสื่อ ไม่ได้มองไปถึงสื่อที่เขาจะสร้างเอง สื่อของชุมชน แม้แต่สื่อนิทานที่พ่อแม่จะสร้างสรรค์ให้ลูกในครอบครัว ทุกคนจะมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สื่อ คำว่าการมีส่วนร่วมฉบับของกระทรวงวัฒนธรรม อาจตีโจทย์ว่า คือการเปิดโอกาสให้คนส่งโครงการเข้ามาขอทุน มีผู้ประกอบการที่หลากหลาย

 

ส่วนของภาคประชาชนจะพูดถึงสื่อผ่านตัวบุคคล ซึ่งจะมีความหมายที่หลากหลาย โดยบุคคลนั้นจะเป็นคนสร้างสรรค์สื่อ อันนี้เป็นมิติที่มีความแตกต่างกัน ในตัวกฎหมายจะเขียนไว้กว้าง ๆ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือการตีความของคนที่บังคับใช้กฏหมาย หากโครงสร้างไปอยู่ภายใต้ระบบราชการ

 

 

              “เราจะเห็นว่าโดยวิธีคิดและประสบการณ์ของกระทรวงวัฒนธรรม ยังไม่ได้มองในมิติของผู้ใช้สื่อที่มีความหลากหลาย ระเบียบต่าง ๆ ของราชการ ก็จะควบคุมจินตนาการสิ่งใหม่ ๆ ที่จะเปิดกว้าง ขาดคนที่จะให้นิยามสื่อที่หลากหลายหรือเปิดกว้าง กองทุนสื่อเป็นการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ไม่ใช่การผลิตสื่อ คนใช้สื่อจะกว้างมาก สรุปสั้น ๆ ว่า ของกระทรวงเน้นที่ผู้ผลิตสื่อ ในขณะที่ภาคประชาชนเน้นที่กระบวนการ”

 

 

และปัจจุบันการกำหนดนิยามของคำว่า “สื่อไม่ปลอดภัย” ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นผู้กำหนด เป็นประเด็นว่า อำนาจหน้าที่ที่ระบุไว้ในพ.ร.บ.ซึ่งจะซ้ำซ้อนกับกสทช.หรือไม่  เพราะไม่น่าจะเป็นบทบาทของพ.ร.บ. ที่จะทำหน้าที่ควบคุมกำกับ แต่ควรจะเป็นองค์กรที่สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ยังขาดในสังคม

 

นอกจากนี้การบริหารกองทุนเป็นเรื่องที่สำคัญ จะทำอย่างไรไม่ให้กองทุนกระจุกอยู่ที่ส่วนกลาง แต่กระจายออกไปสู่ภูมิภาค ให้กลุ่มต่าง ๆ มีส่วนร่วมเข้ามาเสนอนโยบายและแผนต่อกองทุน สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ถ้าใช้การบริหารแบบราชการ และนำไปใช้ในระบบงานประจำ ลงไปตามโครงสร้างของกระทรวง จะหยุดอยู่แค่นั้นหรือไม่

 

 

ภาคประชาชนเน้นสร้างกระบวนการเท่าทันสื่อ

 

 

เข็มพรกล่าวต่อว่า กระบวนการเท่าทันสื่อเป็นเรื่องสำคัญ ในส่วนของร่างพ.ร.บ.จะมีหมวดหนึ่ง ว่าด้วยเรื่องของการเท่าทันสื่อ และการเฝ้าระวังสื่อ เพราะจะสร้างสมดุลย์ระหว่างสื่อกับตัวผู้รับสื่อ ปัจจุบันนี้สื่อเติบโตทั้งเทคโนโลยีและเงินทุนไปไกลมาก ในขณะที่ฟากผู้รับสื่อตามไม่ทัน แต่ถ้ามีงบประมาณ มีทรัพยากรสนับสนุนให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ ภาคประชาชนจะเป็นตัวที่เข้มแข็งและเป็นตัวถ่วงดุลย์ ท้วงติง ตรวจสอบ และสื่อจะเกิดการเปลี่ยนแปลง พัฒนาในที่สุด และที่เราเป็นห่วงว่าเด็กจะได้รับอิทธิพลทางลบจากสื่อ ตัวนี้จะเป็นภูมิคุ้มกันให้

 

กองทุนคงต้องสนับสนุนตัวทุนให้กลุ่มต่าง ๆ ได้ดำเนินกิจกรรม เข้ามาทำงาน เชื่อว่ามีหลายกลุ่มที่ตอนนี้มีบทเรียน มีกระบวนการทำงานตรงนี้อยู่แล้ว รวมถึงตัวสำนักงานของกองทุนเอง ถ้ามีแผนยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนจะสามารถดึงหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาทำงาน เช่น กระทรวงศึกษาธิการที่ผลักดันหลักสูตรให้เกิดกิจกรรมของเด็ก ตัวสื่อสร้างสรรค์ในโรงเรียน ความเท่าทันสื่อ กิจกรรมนอกห้องเรียน หรือแม้แต่การผลิตชุดความรู้ เครื่องมือที่จะใช้จัดกระบวนการเท่าทันสื่อ รวมถึงองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) คนในชุมชนที่จะเข้ามาร่วมทำงาน

 

อย่างไรก็ตามกองทุนนี้จะแตกต่างจากกองทุนอื่น เพราะจะเน้นเรื่องสื่อเฉพาะเจาะจงเป็นจุดที่ขาดในสังคม ส่วนเรื่องความยั่งยืนคงต้องขึ้นอยู่กับกรรมการที่จะวางแผนกองทุน ว่าจะทำให้กองทุนนี้ยั่งยืนได้อย่างไร ต้องมีหลายกลุ่มเข้ามา แม้แต่ผู้ผลิตภาคเอกชนเอง ถ้าจะเข้ามาช่วยหนุน ร่วมลงทุน เพื่อที่จะให้เกิดสื่อที่สามารถระดมทุนเข้ามาได้หรือไม่ ไม่ใช่ใช้เงินแล้วหมดไป

 

มีบทเรียนจากหลายประเทศที่ควรจะศึกษา ซึ่งกองทุนทำให้เกิดการระดมทุน และระดมองค์กรอื่น ๆ เข้ามาร่วมสนับสนุนกองทุนด้วย หรือการบูรณาการกับส่วนอื่น ๆ ที่มีอยู่แล้วในระดับชุมชน เช่น กองทุนหมู่บ้านซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว กองทุนนี้จะทำหน้าที่เข้าไปเป็นตัวหนุน เพื่อให้ชุมชนเกิดกระบวนการทำสื่อสร้างสรรค์ของเด็กได้อย่างไร ดังนั้นตัวกองทุนนอกจากจะให้ทุนกลุ่มประชาชน เด็ก เยาวชน ชุมชน แล้ว อาจจะต้องมองถึงการสร้างช่องทาง หรือตัวสถานีที่ให้สื่อเด็กได้เผยแพร่ได้กระจายด้วย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

กระทรวงวัฒนธรรมหวังดูแลเงินกองทุน 500 ล้าน

 

 

สำหรับประเด็นสำคัญของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้คือ งบประมาณที่จะใช้ในการดำเนินการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยจะได้รับงบประมาณจากกสทช. ที่ได้จากการเก็บค่าสัมปทาน ค่าธรรมเนียม ซึ่งฉบับของภาคประชาชน ระบุว่า สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะต้องจ่ายให้กองทุนนี้ 5 เปอร์เซนต์ จากรายได้ที่กสทช.เก็บได้ ซึ่งอาจจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในระยะยาว และขึ้นอยู่กับนโยบายกสทช.ด้วยว่า เห็นความสำคัญตรงนี้หรือไม่

 

อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.ฉบับของกระทรวงวัฒนธรรม ไม่มีการระบุเปอร์เซนต์ ซึ่งสำนักงานกฤษฎีกาท้วงติงว่าระบุเปอร์เซนต์ไม่ได้ ในขณะที่งานวิจัยเสนอด้วยว่า ต้องระบุเปอร์เซนต์ เพียงแต่จำนวนเปอร์เซนต์ อาจจะมีการระบุเพดานไว้ แต่อย่างน้อยก็มีหลักประกัน ไม่เช่นนั้นอาจจะเป็น 3 ปีให้ครั้งหนึ่งหรือนาน ๆ ให้ ไม่สม่ำเสมอ

 

งานวิจัยยังระบุอีกว่า หากปีนี้ พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สามารถประกาศใช้ได้ จากการคำณวณอย่างไม่เป็นทางการ กองทุนจะได้เงินจากกสทช.ประมาณ 500 ล้านบาท ซึ่งจำนวนนี้คือจำนวนที่กสทช.ยังเก็บค่าธรรมเนียมค่าสัมปทานได้ไม่เต็มที่

 

 

                   “ด้วยงบประมาณของกองทุนที่จะได้รับในแต่ละปี เป็นประเด็นหนึ่งที่ทำให้กระทรวงวัฒนธรรมเข้ามาเสนอร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้  ซึ่งในการประชุมชี้แจง ผู้แทนจากกระทรวงวัฒนธรรมเคยเสนอว่า กระทรวงวัฒนธรรมต้องการดูแลกองทุน เนื่องจากกระทรวงฯได้งบประมาณน้อย จึงต้องการได้งบประมาณในส่วนนี้ไปทำงาน ซึ่งการที่กระทรวงวัฒนธรรมไม่รับร่างของภาคประชาชน น่าจะมาจากวิธีคิดส่วนหนึ่ง และที่สำคัญคือ กระทรวงอ้างว่าได้รับงบประมาณจากรัฐบาลน้อย หากได้เงินจากกองทุนนี้มา ก็จะทำให้กระทรวงมีงบประมาณในการทำงานมากขึ้น”

 

 

กระบวนการตรวจสอบรายชื่อ ดึงร่างกฏหมายเข้าสภาไม่ทัน

 

 

สำหรับความคืบหน้าของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้  ขณะนี้ผ่านขั้นตอนการเข้าชื่อเสนอกฏหมายแล้ว ปัญหาอยู่ที่ขั้นตอนการตรวจสอบรายชื่อซึ่งใช้เวลานานมาก หลังจากที่รัฐสภาตรวจสอบรายชื่อเรียบร้อยแล้ว จะต้องส่งไปติดประกาศที่ท้องถิ่นนั้น ๆ อย่างน้อย 20 วัน และรวบรวมกลับขึ้นมาใช้เวลาหลายเดือนมาก สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือสภาจะรอฉบับประชาชนหรือไม่ สิ่งที่ภาคประชาชนดำเนินการคือ ยื่นหนังสือต่อประธานวิปรัฐบาล หน่วยงานต่าง ๆ เพื่อขอให้รอและเร่งรัดกระบวนการ

 

 

                 “ที่ต้องการให้ร่างภาคประชาชนประกบกับร่างของกระทรวงฯ เพราะเครือข่ายฯ ต้องการเข้าไปเป็นคณะกรรมาธิการ 1 ใน 3 ตามที่กฏหมายกำหนด ซึ่งจะทำให้เรามีโอกาสชี้แจง ความคิดเบื้องหลังพ.ร.บ.ฉบับนี้ในคณะกรรมาธิการ แต่ถ้าไม่ประกบ เราก็จะไม่ได้เข้าไปเป็นกรรมาธิการ นอกจากขอสัดส่วนของพรรคการเมือง ซึ่งจะได้หรือไม่นั้น ไม่สามารถบอกได้” เข็มพรกล่าว

 

 

เข็มพรกล่าวต่อว่า แต่หากไม่สามารถเข้าไปในขั้นตอนออกกฎหมายได้ เครือข่ายฯ ได้วางแผนไว้โดยจะคอยตรวจสอบติดตามการทำงานของกองทุนฯ ว่าจะสนองต่อเจตนารมณ์ของการก่อตั้งกองทุนได้หรือไม่ คงต้องเป็นงานขับเคลื่อนระยะยาว นอกจากนี้เราจะต้องให้ความรู้กับเครือข่ายต่าง ๆ ว่า กองทุนนี้จะต้องทำให้เกิดประโยชน์อย่างไร กับเด็ก กับลูกหลานเราอย่างไร คิดว่าต้องทำงานต่อเนื่องระยะยาว กับการทำงานให้ความรู้ ความเข้าใจ ให้เครือข่ายเข้มแข็งขึ้น

 

 

‘แคนาดา’ ออกหลักสูตรเท่าทันสื่อตั้งแต่ 50 ปีที่แล้ว

 

 

นอกจากนี้ เข็มพรได้ยกตัวอย่างการเกิดขึ้นของกองทุนนี้ในต่างประเทศ ซึ่งประเทศอื่นจะกำหนดเป็นหลักสูตรการเท่าทันสื่อซึ่งอยู่ในโรงเรียน แต่ประเทศไทยไม่มี ประเทศแคนาดามีหลักสูตรตั้งแต่อนุบาล สก็อตแลนด์ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ประเทศเหล่านี้มีการกำหนดเป็นหลักสูตร โดยเฉพาะประเทศแคนาดาเป็นต้นแบบ เนื่องจากแคนาดาสามารถดูโทรทัศน์ของาสหรัฐอเมริกาได้ รัฐบาลแคนาดาจึงมีความกังวลว่า พลเมืองจะกลายเป็นอเมริกันหมด จึงมีหลักสูตรการรู้เท่าทันสื่อเกิดขึ้น ประมาณ 40-50 ปีที่แล้ว เริ่มจากเรียนรู้เรื่องโทรทัศน์ ตอนหลังเป็นสื่อต่าง ๆ ตั้งแต่อนุบาลถึงปริญญาเอก อนุบาลอาจจะง่าย ๆ ว่าอะไรคือสื่อ เช่น อันนี้วิทยุ อันนี้โทรทัศน์ หนังสือ เรียนรู้ว่าสื่อเป็นสิ่งประกอบสร้างในชีวิต

 

 

 

ประเทศสหรัฐอเมริกาจะเน้นเรื่องสื่อประกอบสร้าง การป้องกันสื่อ เช่นนำเด็กไปดูเบื้องหลังถ่ายทำ ให้เด็กเรียนรู้การใช้เครื่องมือ ตอนนี้เปลี่ยนเป็นให้เด็กใส่รหัสเอง ผลิตสื่อเอง เด็กจะรู้ว่าสื่อประกอบสร้างยังไง ใช้กระบวนการถกเถียง ซึ่งเหมาะสมกับเด็ก ให้เด็กวิเคราะห์ของตัวเอง ของเพื่อน เป็นเรื่องที่สนุกและสิ่งที่ UNESCO รณรงค์คือเรื่องเท่าทันสื่อ ไม่ใช่เป็นภาระของครู แต่เป็นการสร้างทักษะ ซึ่งทุกวิชาสามารถสร้างทักษะเท่าทันสื่อได้

 

ขณะที่ประเทศเกาหลี จะมีกองทุนเกี่ยวกับเรื่องสื่อมาก สื่อแต่ละประเภทจะแยกออกไปมีทั้งส่วนที่รัฐสนับสนุนและส่วนร่วมลงทุน คือรัฐให้ทุนไปแล้วสร้างผลผลิตได้ก็เอากลับคืนมา แต่สิ่งที่เห็นชัดเจนคือไม่ได้อยู่ภายใต้โครงสร้างของรัฐ  การบริหารจะให้ภาคส่วนต่างๆเข้ามามีส่วนร่วม เอกชนเป็นธุรกิจก็เป็นไปให้เอาทุนกลับมาเข้ากองทุน เพื่อมาสนับสนุนในส่วนที่ไม่มีงบประมาณ และมีการกำหนดประเด็นว่าต้องการให้สังคมไปทางไหน มีทั้งสื่อออนไลน  ภาพยนตร์ ศูนย์สื่อชุมชน กลุ่มแรงงาน กลุ่มผู้หญิง ที่เป็นประเด็นเฉพาะให้ได้ทำ 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: