สั่งกรุงไทยชดใช้2.5แสน มั่วหักเงินฝรั่งออสเตรเลีย

11 พ.ย. 2555 | อ่านแล้ว 1548 ครั้ง

 

เมื่อวันที่  7 พฤศจิกายน  ที่ศาลแขวงพระนครใต้  ศาลชั้นต้นออกนั่งบัลลังก์พิพากษา ในคดีหมายเลขดำที่ ผบ. 1711/2555 คดีระหว่าง นายเจฟฟรี จี เอเลน  โดยนายคงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ และ น.ส.รัชนีวรรณ พาพันธุ์เรือง ผู้รับมอบอำนาจโจทก์  ยื่นฟ้อง ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)  ต่อศาลแขวงพระนครใต้ เรียกค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 125,357.11 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยหักเงินจากบัญชีของโจทก์ กรณีธนาคารกระทำการผิดสัญญาฝากทรัพย์ และผิดสัญญาการใช้บัตรเดบิตต่อผู้บริโภคที่ใช้บริการ

 

โดยศาลพิพากษาให้ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จ่ายเงินชดเชยค่าเสียหายให้นายเจฟฟรี จี เอเลน เป็นเงินจำนวน 125,357.11 บาท พร้อมสั่งให้ธนาคารกรุงไทย จ่ายค่าเสียหายเชิงลงโทษ ตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 เนื่องจากพบว่ามีการกระทำที่มีเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม เพิ่มอีก 120,599.35 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 245,956.46 บาท

 

จากกรณีเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2554 นายเจฟฟรี สัญชาติออสเตรเลีย ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ผู้ถือบัตรเดบิต ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้ตรวจสอบบัญชีเงินฝากธนาคารที่ตนมีอยู่ และพบว่ายอดเงินในบัญชีลดลงโดยที่ตนไม่ได้ใช้  ซึ่งทราบว่า มีผู้ลักลอบถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของตน เพื่อใช้บริการซื้อสินค้า ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงระหว่างวันที่ 8 สิงหาคม 2554  ถึงวันที่ 5 กันยายน 2554 เป็นจำนวนเงินรวม 120,599.35 บาท ซึ่งการใช้จ่ายที่เกิดขึ้น เป็นการใช้จ่ายที่ต้องใช้บัตรเดบิตประกอบการลงลายมือชื่อด้วยตนเอง มิใช่การซื้อสินค้าและบริการที่ชำระด้วยการโอนเงินโดยใช้บัตรประกอบรหัสประจำตัวได้ โดยที่ในช่วงเวลาที่มีการใช้บัตรเดบิตดังกล่าว นายเจฟฟรี พักอาศัยอยู่ในประเทศไทย มิได้เดินทางออกนอกประเทศแต่อย่างใด

 

 

ต่อมาธนาคาร ได้ตรวจสอบรายการค่าใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิต และปฏิเสธการคืนเงิน โดยอ้างว่าการตรวจสอบของธนาคารไม่พบความผิดปกติ การใช้ดังกล่าวเป็นการใช้บัตร เพื่อซื้อสินค้าและบริการตามปกติ ไม่ใช่การทำธุรกรรมของมิจฉาชีพ จึงไม่สามารถคืนเงินให้แก่นายเจฟฟรีได้ นายเจฟฟรีไม่มีทางใดจะเรียกคืน จึงต้องฟ้องต่อศาลเป็นคดีผู้บริโภค เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2555  โดยศาลชั้นต้นใช้เวลาดำเนินกระบวนพิจารณารวม 4 เดือน

 

ศาลชั้นต้นพิเคราะห์พยานหลักฐาน และข้อเท็จจริงแล้ว รับฟังได้ว่า กรณีนี้จำเลยยอมรับว่ามีผู้นำบัตรเดบิตที่จำเลยออกให้โจทก์ ไปใช้ในต่างประเทศจริง และทราบด้วยว่าใช้ที่ไหนบ้าง ซึ่งในการให้บริการดังกล่าวจะต้องมีเซลล์สลิปการใช้บริการ หรือลายมือชื่อลูกค้าเป็นหลักฐาน แต่จำเลยกลับไม่นำหลักฐานดังกล่าวมาแสดงต่อศาล อีกทั้งพยานจำเลยยังเบิกความย้ำว่า จากประสบการณ์ทำงานที่ยาวนานสันนิษฐานได้ว่า กรณีที่เกิดขึ้นนี้ เกิดจากการถูกขโมยบัตรเดบิตไปใช้จริง ซึ่งหากมีกรณีบัตรถูกขโมยไปใช้นั้น ธนาคารจะไม่ชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น ตามสัญญาให้บริการ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่สอดคล้องกับข้ออ้างของโจทก์ที่ยืนยันว่าโจทก์ไม่ได้เป็นผู้ใช้ดังกล่าว

 

ดังนั้นเมื่อจำเลยไม่มีหลักฐานมาแสดงต่อศาล เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าโจทก์เป็นผู้ใช้เอง หรือมอบหมายให้บุคคลอื่นนำไปใช้ จำเลยจึงไม่มีสิทธินำรายการดังกล่าวมาหักเงินจากบัญชีธนาคารของโจทก์ เมื่อจำเลยหักเงินจากบัญชีธนาคารของโจทก์ไปแล้ว จำเลยจึงต้องคืนเงินที่หักไปจากบัญชีของโจทก์ทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ย นับแต่วันที่จำเลยหักเงินไปจากบัญชีของโจทก์ และการที่จำเลยทราบอยู่แล้วว่า กรณีนี้เกิดจากมีบุคคลอื่นขโมยบัตรเดบิตของโจทก์ไปใช้ เมื่อโจทก์ทวงถามแล้ว แต่จำเลยกลับปฏิเสธไม่คืนเงินดังกล่าว จึงถือว่า จำเลยมีเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม

 

พิพากษาให้ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จ่ายเงินชดเชยความเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 120,599.35 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 120,599.35 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์ และให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเชิงลงโทษ ตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 อีก 120,599.35 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 245,956.46 บาท และให้จำเลยชำระค่าธรรมเนียมต่อศาลแทนโจทก์ ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี กำหนดค่าทนายความโจทก์ 5,000 บาท

 

นายเจฟฟรี จี เอเลน ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหาย กล่าวว่า  รู้สึกพอใจกับคำพิพากษาของศาลไทยเป็นอย่างมาก ผมดีใจที่ได้ความยุติธรรมกลับคืนมา เนื่องจากการจ่ายเงินคืนของธนาคารเป็นการกระทำที่เอาเปรียบผู้บริโภคมาก ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวมีความจำเป็น แม้จะไม่มากมายแต่ก็เป็นเงินเพื่อใช้ในการยังชีพของผมที่อายุมากและภรรยา ซึ่งผมเชื่อว่ายังมีอีกหลายคนที่ต้องเจอแบบนี้เหมือนกัน อยากให้ธนาคารให้ความสำคัญกับผู้บริโภคมากกว่านี้

 

นายเฉลิมพงษ์  กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความอาสามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า กรณีนี้เป็นคดีตัวอย่างสำหรับผู้บริโภค ที่ถูกธนาคารในฐานะผู้ประกอบธุรกิจกระทำโดยเจตนาเอาเปรียบ และจงใจให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะการกำหนดค่าเสียหายเพื่อการลงโทษกับธนาคาร  ที่จะเป็นตัวอย่างที่ดีของการป้องปราม หรือยับยั้งไม่ให้ผู้ประกอบการทำเช่นนี้กับใครอีก โดยเฉพาะการที่จำเลยในคดีนี้เป็นรัฐวิสาหกิจควรต้องมีการประกอบการที่สุจริตเป็นที่น่าเชื่อถือต่อนานาชาติ

 

 

                 “ในคดีนี้กระบวนพิจารณาของศาลก็รวดเร็ว โดยใช้เวลาเพียง 4 เดือนเท่านั้น ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคอย่างแท้จริง ทำให้ผู้บริโภคได้รับการเยียวยาอย่างทันท่วงทีโดยไม่ต้องรอนาน ซึ่งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย ทั้งนี้ศูนย์ทนายความอาสาฯ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จะนำผลของคดีนี้ไปศึกษา เพื่อขยายผลและสร้างให้เป็นบรรทัดฐานทางกฎหมายต่อไป” นายเฉลิมพงษ์กล่าว

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: