ชี้ครูไทยทำลายความกล้าของเด็ก ไม่ยอมรับความต่าง-ความคิดเห็น ส่งผลการเรียน'ภาษาอังกฤษ'ห่วย

วรลักษณ์ ศรีใย ศูนย์ข่าว TCIJ 11 ธ.ค. 2555 | อ่านแล้ว 7225 ครั้ง

 

เมื่อไม่นานที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ รายงานผลการวิจัยของบริษัท เอดูเคชั่น เฟิรสต์ ที่จัดอันดับความสามารถการใช้ภาษาอังกฤษ ในกลุ่มประเทศที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ จำนวน 54 ประเทศ โดยสุ่มตัวอย่างประชากรประมาณ 1.7 ล้านคนทั่วโลก ผลระบุว่า กลุ่มประเทศ 5 อันดับที่ใช้ภาษาอังกฤษได้เก่งที่สุดคือ สวีเดน เดนมาร์ค เนเธอร์แลนด์ ฟินแลนด์ และ นอร์เวย์

 

ส่วนประเทศ 5 อันดับ ที่มีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษต่ำที่สุดคือ โคลัมเบีย ปานามา ซาอุดีอาระเบีย  ไทย และลิเบีย ทั้งนี้การวิจัยดังกล่าว ยังระบุเตือนด้วยว่า ความสามารถด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษของประชากรในชาติ เป็นปัจจัยสำคัญต่อการค้า นวัตกรรม และรายได้ของชาตินั้น ๆ ด้วย ถ้าหากการใช้ภาษาอังกฤษค่อนข้างต่ำ ศักยภาพของประเทศในด้านต่าง ๆ จะกระทบตามไปด้วย

ในขณะที่ไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (AEC) ในอีก 3 ปีข้างหน้า และต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางในการสื่อสาร คงจะต้องย้อนกลับไปดูว่า อะไรที่ทำให้คนไทยติดอันดับต่ำที่สุดในการใช้ภาษาอังกฤษ ศูนย์ข่าว TCIJ พูดคุยกับอาจารย์สอนภาษาอังกฤษ ระดับมหาวิทยาลัย 2 ท่าน ที่สรุปคล้ายกันว่า หลักสูตรการศึกษาไทยทำให้เด็กไม่อยากเรียนภาษาอังกฤษ

 

 

 

นักวิชาการระบุระบบการศึกษาไทยมีปัญหา

 

ดร.ศิรินันท์ กฤษณจินดา หัวหน้ากลุ่มงานภาษาอังกฤษ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวว่า การที่เด็กไทยหรือคนไทยที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี แต่ไม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ เพราะระบบการสอนเน้นที่การเรียนไวยากรณ์ สอนให้อ่าน แต่ไม่ได้สอนให้ผู้เรียนนำกลับมาใช้งาน จากประสบการณ์ที่สอนมาทุกระดับตั้งแต่ ปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก เมื่อนักศึกษาอ่านภาษาอังกฤษจะเน้นที่การแปลให้ได้ และถ้าแปลศัพท์บางคำไม่ออก จะไม่สามารถแปลย่อหน้านั้นได้เลย ซึ่งการประเมินว่า ภาษาอังกฤษของคนไทยอยู่ในระดับต่ำ น่าจะมีการประเมินจากการสื่อสาร การพูด ซึ่งคนไทยพูดไม่ได้ เพราะไม่ได้ถูกสอนให้นำไปใช้

 

 

            “เด็กไทยให้ความสำคัญกับการเรียนไวยากรณ์ รูปแบบประโยค คำศัพท์ แต่ไม่ได้เน้นที่การนำไปใช้ แต่ฝรั่งเขาไม่ได้วัดที่ไวยากรณ์ แต่วัดที่การพูด การสื่อสาร วัดว่าคุณมีความสามารถในการสื่อสารมากแค่ไหน เด็กไทยหรือคนไทยมักจะกังวลเรื่องการใช้ศัพท์ รูปแบบประโยค ทำให้พูดไม่ได้ สื่อสารไม่ได้”

 

 

นอกจากนี้ระบบการสอนของไทยใช้วิธีการสอนแบบแยกส่วน ไม่เคยสอนให้คิดแบบภาพรวม และตอนสอบยังเป็นการออกข้อสอบเลือกแบบเลือกข้อที่ถูกที่สุดอีก ทำให้ผู้เรียนไม่สามารถใช้สมองวิเคราะห์ได้และเขียนเป็นประโยคผูกเรื่องราวไม่ได้ เป็นผู้ผลิตไม่เป็น เป็นผู้รับอย่างเดียว

 

 

ครูทำลายความกล้าแสดงออก การแสดงความคิดเห็นของเด็ก

 

 

             “เด็กไทยไม่ได้เป็นแต่ภาษาอังกฤษ ภาษาไทยก็เหมือนกัน ครูภาษาอังกฤษเคยคุยกับครูภาษาไทย ว่า เด็กไทยไม่ได้เขียนภาษาอังกฤษไม่ได้อย่างเดียว ภาษาไทยก็เขียนไม่ได้เช่นกัน นี่อาจจะเป็นคำตอบหนึ่งที่ถามว่าทำไมเด็กไทยจึงสื่อสารไม่ได้ ทั้งนี้ปัญหาอย่างหนึ่งของเด็กไทยน่าจะมาจากวัฒนธรรมการสอนของไทย ที่สอนให้เชื่อครู เชื่อผู้ใหญ่ อย่าเถียง ซึ่งวัฒนธรรมเช่นนี้ ทำให้เด็กไทยไม่กล้าถาม ไม่กล้าคิด  และเชื่อทุกอย่างที่ครูสอน เด็กไทยจะถูกสอนว่า เวลานั่งเรียนอย่าถาม อย่าวุ่นวาย ฟังครู คำตอบของครูเป็นคำตอบที่ถูกที่สุด ครูจะไม่ยอมรับคำตอบที่แตกต่าง คนไทยจะเป็นนักเรียนที่ดี ดังนั้นวัฒนธรรมคือตรงนี้ด้วย ครูไม่ยอมรับความคิดเห็นและคำตอบที่แตกต่างออกไป ยิ่งครูที่สอนมานาน มีคำนำหน้ายิ่งไม่ยอมรับ” ดร.ศิรินันท์กล่าว

 

 

ครูที่มาสอนจบไม่ตรงสาขา ต้องทำงานอื่นนอกจากการสอน

 

 

นอกจากนี้ ดร.ศิรินันท์มองว่า ระบบการเรียนการสอนมีปัญหาตั้งแต่ระดับเด็กเล็ก อย่างเช่น ครูชั้นประถมศึกษาที่ต้องสอนภาษาอังกฤษ แต่ไม่มีความรู้ด้านภาษาอังกฤษ ไม่ได้ศึกษามาทางด้านนี้ ส่วนระดับมัธยมศึกษาดีขึ้นมานิดหนึ่ง ที่บังคับว่าครูที่สอนจะต้องจบปริญญาตรี แต่ครูที่สอนภาษาอังกฤษ ก็ยังไม่มีครูจบปริญญาตรี สาขาภาษาอังกฤษ มาสอนภาษาอังกฤษโดยเฉพาะ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

             “การเรียนสอนภาษาของเรา มีปัญหาตั้งแต่ระดับล่าง เช่น ครูระดับชั้นประถมศึกษา หรือครูที่จบภาษาอังกฤษ ไม่ต้องจบปริญญาตรีก็ได้ ในระดับมัธยมศึกษา วุฒิการศึกษาของครูอาจจะดีขึ้น แต่ไม่ทันการณ์แล้ว เราต้องเริ่มตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา” ดร.ศิรินันท์กล่าว

 

 

นอกจากนี้ระบบการศึกษา ยังไม่เปิดโอกาสให้ครูได้พัฒนาตนเอง นอกจากการสอนหนังสือแล้ว ครูต้องทำหน้าที่อื่นอีกด้วย เช่น ช่วยกิจกรรมต่าง ๆ ของโรงเรียน เป็นครูธุรการ และยังต้องทำผลงานของตนเองเตรียมไว้เพราะต้องมีการประเมิน เมื่อจบภาคการศึกษา ดังนั้นครูจะให้ความสำคัญกับสิ่งนี้มากกว่าการสอน ทำให้ไม่มีเวลาในการเตรียมการเรียนการสอน ไม่มีโอกาสไปอบรม เพื่อเพิ่มทักษะและพัฒนาตนเอง

ระบบการศึกษาของไทยยังเน้นไปที่การสอน เพื่อให้นักเรียนสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ มากกว่าที่จะเรียนรู้เพื่อใช้งานจริง ทุกวิชาจะเป็นเช่นนี้  ดังนั้นระบบการศึกษาจึงเน้นที่วิชาการมากกว่าจะใช้ได้จริง ขณะที่ภาษาอังกฤษเป็นวิชาทักษะ ต้องสอนให้นักเรียนใช้ได้จริง

 

 

ชี้ต้องยกเครื่องระบบการศึกษาใหม่ทั้งหมด

 

 

ดร.ศิรินันท์กล่าวต่อว่า ประเทศไทยต้องพัฒนาแบบยกเครื่องใหม่หมด ทั้งระบบการศึกษา ระบบการเรียน การสอน หลักสูตรต้องปรับทั้งหมด การสอนไวยากรณ์ที่ยาก แต่ใช้งานไม่ได้จริง ควรจะต้องปรับอย่างไร  เพราะประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ เป็นภาษาประจำชาติเองก็ไม่ใช้แล้ว กระทรวงศึกษาธิการตามไม่ทันและไม่ได้คำนึงถึงเรื่องนี้ ดังนั้นควรจะมีการพัฒนาหลักสูตรที่เรียน และสามารถสื่อสารได้และใช้งานได้จริง

ในขณะที่คนที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษระดับสูงในการเขียน เช่น บรรณาธิการข่าวภาษาอังกฤษ หรืออาชีพอื่น ๆ ที่ต้องเขียนภาษาอังกฤษได้ดี กระทรวงศึกษาธิการ หน่วยงานที่รับผิดชอบ ควรจะเปิดหลักสูตรเฉพาะด้านขึ้นเพื่อการเขียนโดยเฉพาะ และยิ่งประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน รัฐบาลควรจะใช้โอกาสนี้ในการเปิดอบรมการใช้ภาษาอังกฤษหลักสูตรเร่งรัดสำหรับอาชีพต่าง ๆ เช่น ช่าง วิศวกร พยาบาล หรืออาชีพบริการ เพราะไม่เช่นนั้นประเทศไทยจะสูญเสียอาชีพเหล่านี้ ให้กับคนประเทศอื่นที่ใช้ภาษาอังกฤษได้ดีกว่าคนไทย

 

 

 

ด้อยคุณภาพมาจากทั้งการสอนและคนเรียน

 

 

ด้าน นายนัฐพล นาคสู่สุข  ผู้อำนวยการสถาบันภาษานานาชาติ มหาวิทยาลัยเนชั่น มีความเห็นสอดคล้องกันว่า ระบบการศึกษาไทยสอนให้นักเรียนท่องจำ ไวยากรณ์ คำศัพท์ เหมือนกับการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ที่ต้องท่องสูตรต่าง ๆ เป็นระบบที่นักเรียนไทยถูกปลูกฝังมา เริ่มตั้งแต่หนังสือเรียน ถ้าเปรียบเทียบหนังสือเรียนภาษาอังกฤษของไทย กับของต่างประเทศจะแตกต่างกัน ซึ่งของต่างประเทศจะเน้นเรื่องราวที่สนุกสนาน ในขณะที่ของไทยจะเริ่มที่หลักไวยากรณ์

 

ภาษาอังกฤษเป็นศิลปะ ซึ่งหากระบบการศึกษาจะปรับมุมมองให้ภาษาอังกฤษเป็นศิลปะที่งดงาม น่าเรียนรู้ เรียนด้วยความสุข นักเรียนจะได้รู้สึกว่า การพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ เป็นแค่การสื่อสารหรือพูดเพียงแค่สิ่งที่อยากบอกเท่านั้น แต่ภาษาอังกฤษควรจะสื่อถึงอารมณ์ สุนทรียะออกมาได้ด้วย

 

ถ้าเรามองว่าภาษาเป็นศิลปะ ไม่จำเป็นว่าถ้าจะรักศิลปะคุณต้องวาดรูปเก่ง เหมือนกันคุณรักภาษาอังกฤษได้ แต่ไม่จำเป็นต้องเขียนได้คล่อง แค่เห็นความงดงามในมุมมองของภาษา แค่เราพลิกมุมมองตรงนี้ได้ ตัวเราเองจะเปลี่ยน ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนวิธีการเรียน การสอนไปเลย

 

นายนัฐพลกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา ประเทศไทยสอนภาษาอังกฤษผิดธรรมชาติ ภาษาควรจะเริ่มจากการฟัง พูด อ่าน เขียน ส่วนหลักการต่าง ๆ นั้นเป็นลำดับสุดท้าย แต่การเรียนการสอนของระบบการศึกษาไทย เริ่มจากหลักการก่อน คือ การเขียน ท่องศัพท์ ภาษาอังกฤษ จึงกลายเป็นยาขมสำหรับเด็กไทย

 

ซึ่งมุมมองของนายนัฐพลเห็นว่า การที่เด็กไทยมีปัญหา 70 เปอร์เซ็นต์ มาจากการเรียนการสอนที่ผิด ส่วนอีก 30 เปอร์เซ็นต์ เกิดจากผู้เรียนเอง

 

 

               “ต้องยอมรับว่า เด็กไทยเรียนหนังสือเพื่อสอบ แต่ไม่ได้คิดจะนำไปใช้เหมือนกับโรงเรียนสอนภาษาเช่นเดียวกัน ถ้าโรงเรียนไหนเปิดสอนเพื่อสอบเข้า เด็กจะนิยมไปเรียน แต่ถ้าโรงเรียนไหนเปิดสอน ภาษาอังกฤษเพื่อการสนทนา ใช้ทำงาน จะไม่ได้รับความนิยม เด็กจะเรียนแค่นำไปสอบ ไม่ได้เรียนเพราะรักภาษาอังกฤษหรืออยากพูดได้ ภาษาอังกฤษจึงถูกจำกัด”

 

ที่สำคัญคือเด็กไทยขาดความพยายามในการเรียน เช่น อยากพูดภาษาอังกฤษได้ดี แต่ดูหนังฝรั่งพากษ์ไทย  ไม่เคยเปิดคลื่นวิทยุที่มีดีเจพูดภาษาอังกฤษ ไม่เคยฟังเพลงสากล หรือมองรอบตัวเราให้เป็นภาษาอังกฤษ ตั้งคำถาม เปิดดิกชันนารี เราจะเรียนรู้ภาษาอังกฤษไปได้เอง ลองคิดเป็นภาษาอังกฤษจดโน้ตเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งการเรียน การสอนของเราไม่ค่อยได้สอนเทคนิคเหล่านี้ให้กับเด็ก และตัวเด็กเองไม่ได้ขวนขวายเรียนรู้เพิ่มเติมด้วย

ทั้งนี้นายนัฐพลกล่าวว่า ในสมัยนี้ที่เทคโนโลยีทันสมัยมากขึ้น การสอนให้เด็กสนใจในภาษาอังกฤษเป็นเรื่องที่ไม่ยาก เพียงแค่ครูอาจจะต้องขวนขวายหาความรู้รอบตัว เช่น หาเว็บไซต์ที่สอนภาษาอังกฤษที่น่าสนใจมาแนะนำให้นักเรียน หรือมีเทคนิคการเรียนการสอน ที่ทำให้นักเรียนไม่เบื่อ

 

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าโรงเรียนในประเทศไทยมีความพร้อมในการเรียนการสอนต่างกัน โดยไม่รวมถึงโรงเรียนนานาชาติ หรือโรงเรียนเอกชน ที่มีงบประมาณในการจัดหาเครื่องมือ สำหรับการเรียนการสอน ในขณะที่โรงเรียนของรัฐบาลยังมี 2 ระดับคือ โรงเรียนที่มีชื่อเสียง เป็นที่นิยมพ่อแม่ต้องการให้ลูกเรียน ซึ่งโรงเรียนเหล่านี้จะมีสถานภาพแทบไม่ต่างกับโรงเรียนเอกชน แต่ต้องยอมรับว่า ยังมีโรงเรียนที่ไม่พร้อม ขาดแคลนทุนทรัพย์ หรือปัจจัยต่าง ๆ ซึ่งอาจจะมาจากระบบที่ไม่เอื้อ รวมไปถึงคุณภาพของครูผู้สอนด้วย

 

 

                “ผมเคยอบรมครูที่จะสอนภาษาอังกฤษที่มาจากหลายจังหวัด และพบว่า ครูที่สอนภาษาอังกฤษเป็นคนเดียวกับครูที่สอนฟิสิกส์ สอนชีววิทยา ภาษาอังกฤษคือวิชาที่ไม่มีใครสอน แล้วดึงครูจากวิชาอื่นมาสอน ซึ่งผมว่ามันชัดในตัวมันเองอยู่แล้วว่า ผลที่ออกมาจะเป็นอย่างไร”

 

 

ไม่เคยเป็นเมืองขึ้น ข้ออ้างของกบในกะลา

 

 

ส่วนข้ออ้างที่มักจะพูดกันเสมอว่า ประเทศไทยไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติ คนไทยจึงไม่เก่งภาษาอังกฤษ นายนัฐพลกล่าวว่า  ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับประเด็นนี้ เพราะการที่ประเทศไทยไม่ได้เป็นเมืองขึ้น ไม่ได้หมายความว่าจะอยู่แต่ในกะลา เราปฏิเสธที่จะสื่อสารกับคนทั่วโลกไม่ได้ โลกวันนี้กว้างเกินกว่า ประเทศไทยค้าขายกับต่างชาติมีมานานแล้ว และในอีก 3 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน คนไทยยิ่งต้องเรียนรู้ภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะอาชีพที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง หลังจากเปิดเสรีอาเซียน เช่น อาชีพช่าง วิศวกร เนื่องจากบริษัทต่าง ๆ จะเปิดรับคนงานจากพม่า อินเดีย เพราะพูดภาษาอังกฤษได้ ส่วนความสามารถไม่ต่างกัน ค่าแรงก็ไม่ต่างกัน และอีกอาชีพที่น่ากลัวมากคือ พยาบาล เนื่องจากโรงพยาบาลเอกชนจะเปิดรับลูกค้าต่างชาติ ซึ่งทักษะของพยาบาลไทยเก่งกว่ามาก แต่ไม่เก่งภาษาอังกฤษ และเมื่อเปิด AEC ไทยอาจจะแพ้ในอีกหลายประเทศได้

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: