สลดเด็กหญิงกว่าแสนพ้นรั้วร.ร.เพราะท้อง ไม่เข้าใจกฎหมายทำแท้ง-เสียสิทธิทุกทาง แนะจับตา 'วิวาท-ชู้สาว-หนีเรียน-เสพยา'

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 11 พ.ค. 2555 | อ่านแล้ว 3156 ครั้ง

 

ว่ากันตามกฎหมาย การศึกษาคือสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญระบุไว้ว่า รัฐจะต้องจัดหาให้แก่ประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียม ดังนั้นหากไม่มีเหตุอันเป็นอุปสรรคต่อการศึกษาของเยาวชนแล้ว การกีดกันเยาวชนออกจากระบบย่อมไม่สามารถกระทำได้

หากสภาพความเป็นจริงที่ดำรงอยู่กลับพบว่า มีเด็กจำนวนไม่น้อยที่ถูกผลักไสออกจากระบบ ซึ่งหนึ่งในกรณีที่พบเห็นได้บ่อยคือการตั้งครรภ์ในวัยเรียน หรือการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ข้อมูลจากงานวิจัยล่าสุด เรื่อง “สิทธิและการเข้าถึงสิทธิของเยาวชนหญิงที่ตั้งครรภ์” ที่มี รศ.ดร.พิมพวัลย์ บุญมงคล เป็นหัวหน้าโครงการ พบตัวเลขที่น่าสนใจว่า มีเยาวชนไทยอายุระหว่าง 15-19 ปี จำนวน 5 ล้านคน ในจำนวนนี้มีอัตราการตั้งครรภ์ถึง 2.5 แสนต่อปี

เด็กหญิง 1.25 แสนคน หลุดจากโรงเรียนเพราะตั้งครรภ์

 

 

ครึ่งหนึ่งหรือ 1.25 แสนคนของเยาวชนหญิงที่ตั้งครรภ์ 2.5 แสนคน เลือกที่จะยุติการตั้งครรภ์ และประมาณ 1 ใน 4 ของเยาวชนที่ทำแท้งเป็นการทำแท้งซ้ำ

 

ปัจจุบัน ไม่มีกฎหมายใดๆ ที่ระบุว่า เมื่อนักเรียนหญิงตั้งครรภ์แล้วจะต้องออกจากการเรียน แต่ความจริงเด็กที่ตั้งครรภ์จะไม่กล้าตั้งครรภ์ต่อไปพร้อมๆ กับเรียนหนังสือไปด้วย เนื่องจากไม่ต้องการเป็นเป้าสายตา และการล้อเลียนนินทาของเด็กคนอื่นหรือเพื่อนในโรงเรียน แต่นั่นยังไม่สำคัญเท่ากับทัศนะคติที่ไม่เปิดกว้างของผู้บริหารโรงเรียน ที่มองว่าหากปล่อยให้มีเด็กตั้งครรภ์เข้ามาเรียน จะเป็นเหตุให้โรงเรียนถูกมองว่า มีเด็กที่ไม่สนใจการเรียน สร้างความเสื่อมเสียชื่อเสียงให้กับโรงเรียน ซึ่งเป็นการตีความของผู้บริหารของโรงเรียนและกลายเป็นนโยบาย

 

“เมื่อมีการปฏิบัติที่ค้านกับสิทธิด้านการศึกษา จึงมีการเคลื่อนไหวเพื่อออกกฎอีกตัวหนึ่งที่ว่า นักเรียนมีสิทธิที่จะเรียนต่อแม้ว่าจะตั้งครรภ์ เพื่อย้ำเตือนอีกครั้ง ถึงแม้กฎนี้จะออกโดยกระทรวงศึกษาธิการ แต่ก็ยังไม่ได้แก้ไขปัญหา เด็กก็หายไปจากโรงเรียนอีก เท่าที่เราได้ทำวิจัยในระดับมัธยมศึกษายังไม่มีการปฏิบัติตรงนี้” รศ.ดร.พิมพวัลย์กล่าว

 

ดร.พิมพวัลย์กล่าวว่า จากตัวเลขเยาวชนหญิง 1.25 แสนคนที่ยุติการตั้งครรภ์ หมายความว่า เยาวชนกลุ่มนี้จะกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาในโรงเรียนได้อีก ส่วนเยาวชนหญิงอีก 1.25 แสนคนที่เลือกจะตั้งครรภ์ต่อ จะเข้าสู่ระบบการศึกษานอกโรงเรียนหรือ กศน. ส่วนที่เลือกตั้งครรภ์ต่อและไม่ได้เรียนต่อก็จะเป็นแม่บ้าน ซึ่งเยาวชนกลุ่มนี้จะหลุดออกจากระบบการศึกษา เงื่อนไขของการยุติการตั้งครรภ์จึงเป็นเงื่อนไขเดียวที่ทำให้เด็กอยู่ในระบบการศึกษาได้ เด็กที่ท้อง คลอดแล้วกลับสู่ระบบเดิมมีจำนวนน้อยส่วนใหญ่ไปกศน.

 

ค่านิยมรักนวลสงวนตัวทำเยาวชนขาดสิทธิทุกเรื่อง

 

การที่เยาวชนหญิงตั้งครรภ์ขณะเรียน ถูกมองจากสังคมไทยส่วนใหญ่ที่ยังยึดกุมทัศนะคติ เรื่องรักนวลสงวนตัวและการรักษาพรหมจรรย์อย่างแน่นหนา เมื่อเยาวชนหญิงแปรสถานะเป็นคุณแม่วัยใส ไม่ว่าจะโดยความยินยอมพร้อมใจหรือถูกละเมิด ตราบาปและความผิดก็ถูกโยนมาให้เธอเป็นผู้รับภาระแต่ผู้เดียว สิ่งที่ตามมาคือการถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ควรได้รับ และหากเลือกจะยุติการตั้งครรภ์หรือทำแท้ง ก็ไม่สามารถเข้าถึงสถานบริการทางการแพทย์ที่ปลอดภัย ยังไม่ต้องกล่าวถึงกระบวนการอันซับซ้อนด้านอื่นๆ อีก

เยาวชนหญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม จึงตกอยู่ในสภาวะที่ขาดอย่างรุนแรง น.ส.แววรุ้ง สุบงกฎ ผู้ช่วยหัวหน้าโครงการและนักวิจัยหลัก เล่าว่า เยาวชนหญิงบางคนต้องเลือกทำแท้ง เพียงเพราะไม่มีเงินฝากครรภ์ ซึ่งสะท้อนการขาดการเข้าถึงสวัสดิการที่จำเป็น

“เยาวชนหญิงกลุ่มนี้จะขาดสิทธิการเข้าถึงข้อมูล การให้บริการที่เหมาะสมรอบด้าน ขาดการรับรู้สิทธิการศึกษาของตนเอง ด้วยความอายและไม่มีข้อมูล ทำให้หลุดออกจากระบบการศึกษากลางคัน เพราะนึกเอาเองว่าท้องแล้วต้องถูกไล่ออก ขาดสิทธิการได้รับคำปรึกษาทั้งก่อนและหลังการยุติการตั้งครรภ์ ขาดสิทธิเข้าถึงกระบวนการเยียวยาและปรับทัศนคติ เพื่อให้ตระหนักถึงคุณค่าในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ขาดสิทธิการรักษาความลับ ความเป็นส่วนตัวจากเจ้าหน้าที่ และขาดคนที่เข้าใจ เข้าถึง ที่อยู่ใกล้ชิดในครอบครัว ชุมชน สังคม”

 

 

 

 

ชี้กฎหมายไทยละเมิดสิทธิ-ให้หมอตัดสินทำแท้งแทนเด็ก

 

ขณะที่กฎหมายหลายฉบับและหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ก็ยังไม่มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน นายชานันท์ ยอดหงส์ หนึ่งในทีมนักวิจัย กล่าวว่า มีกฎหมาย 5 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับเยาวชนหญิงที่ตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม ได้แก่ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ฉบับเพิ่มเติม พ.ศ.2545, พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546, พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2540, พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ.2550 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301-305 กฎหมายทั้งหมดมุ่งเน้นการพัฒนาให้เยาวชนมีส่วนร่วมกับภาครัฐ การให้การศึกษา และคุ้มครองเด็กมิให้ถูกละเมิด แต่มิได้เน้นเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์และสิทธิของในการเลือก ว่าควรจะมีลูกได้เมื่อใด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์

 

“กฎหมายอาญา มาตรา 301-305 ยังกำหนดว่า การยุติการตั้งครรภ์เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ซึ่งในมาตรา 305 มีข้อยกเว้นอาจจะทำแท้งได้ แต่ต้องอยู่บนการตัดสินใจของแพทย์ อาจจะเพราะความป่วยไข้ของเยาวชนหญิงหรือถูกข่มขืน ซึ่งอยู่บนพื้นฐานการตัดสินใจของคนอื่น แต่ไม่ใช่ตัวเยาวชนหญิงเอง ถือเป็นการละเมิดอย่างหนึ่ง และกฎหมายยังระบุเฉพาะว่า หญิงใดทำให้ตัวเองแท้งลูก ทำให้เห็นว่ากฎหมายไทยยังมีการเลือกปฏิบัติอยู่ แทนที่จะใช้คำว่าผู้ใด แต่กลับใช้คำว่าหญิงใด เห็นได้ชัดว่าตัวกฎหมายควบคุมกำกับเฉพาะเพศหญิง ทั้งที่รัฐไทยเป็นภาคีสมาชิกของกติกาและปฏิญญาสากลต่างๆ เช่น ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน” นายชานันท์กล่าว

 

นายชานันท์ยังกล่าวถึงกระทรวงสาธารณสุขว่า การตั้งครรภ์ในวัยเรียนถูกจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับผู้ติดเชื้อเอชไอวีและวัณโรค ซึ่งสะท้อนมุมมองของกระทรวงสาธารณสุขว่า มองประเด็นนี้อย่างไร และยังสะท้อนผ่านทางแนวนโยบายและมาตรการต่างๆ ที่มุ่งปลูกฝังทัศนะคติเรื่องการรักษาพรหมจรรย์ และไม่เห็นว่าการยุติการตั้งครรภ์เป็นทางเลือกและสิทธิประการหนึ่งของเยาวชนหญิง

“ส่วนกระทรวงศึกษาธิการก็มีมาตรการป้องกันการตั้งครรภ์ของเยาวชนหญิง แต่ไม่ได้ระบุว่าพร้อมหรือไม่ แค่ป้องกันไม่ให้เกิด มียุทธศาสตร์เชิงรุก 3 ด้าน สร้างหลักสูตรการเรียนการสอนที่จะไม่ให้นักเรียนมีเพศสัมพันธ์ ถ้าจะมีต้องมีการป้องกัน และสุดท้าย จัดตั้งภาคีเครือข่ายอาสาสมัคร และเจ้าหน้าที่ส่งเสริมความประพฤติของนักเรียน เป็นการเฝ้าระวังนักเรียน 4 ด้าน คือ หนึ่ง-การทะเลาะวิวาท สอง-การสัมพันธ์เชิงชู้สาว สาม-การหนีเรียน และสี่-ยาเสพติด ซึ่งทำให้การมีเพศสัมพันธ์อยู่ในกลุ่มนี้”

 

 

นักกฎหมายชี้ชัดมาตรา 305 ให้ทำแท้งได้

 

 

มิติเชิงกฎหมาย โดยเฉพาะมาตรา 305 ในประมวลกฎหมายอาญาที่ระบุว่า หากการทำแท้งมีความจำเป็นเนื่องจากสุขภาพของหญิง หรือหญิงนั้นถูกกระทำละเมิด และเป็นการทำแท้งโดยแพทย์ ให้ถือว่าผู้กระทำไม่มีความผิด ซึ่งเป็นกฎหมายที่ถูกมองว่า เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ของผู้หญิง แต่ประเด็นนี้กลับมีคำอธิบายเชิงกฎหมายที่น่าสนใจจาก รศ.ดร.ทวีเกียรติ มีนะกษิษฐ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเท้าความถึงคดีเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ที่มีชื่อเสียงของสหรัฐฯ และกลายเป็นบรรทัดฐานให้แก่คดีอื่นต่อมา คดีนี้มีการถกเถียงเรื่องสิทธิของผู้หญิงและเด็กในครรภ์ ศาลสหรัฐฯอธิบายว่า มีความแตกต่างกันระหว่างมนุษย์กับความเป็นมนุษย์ ซึ่งสิทธิมนุษยชนจะคุ้มครองมนุษย์ที่อยู่ต่อหน้า มิใช่มนุษย์ในอนาคตหรือแม้แต่ความเป็นมนุษย์ ศาลสหรัฐฯ ใช้เหตุผลนี้บอกว่า มนุษย์หรือเด็กที่อยู่ในครรภ์จะได้รับการคุ้มครองต่อเมื่อมีความสามารถที่จะเป็นมนุษย์ ระหว่างที่อยู่ในครรภ์ก่อนถึง 6 เดือน หากเด็กออกมาจะมีความเป็นมนุษย์หรือยัง คำตอบคือยังไม่เป็น แต่เมื่อใดที่เกิน 6 เดือนไปแล้ว กฎหมายก็จะเข้าไปคุ้มครอง

 

“ส่วนในกฎหมายของเรา ความเชื่อหรือที่สอนกันมาว่า การทำแท้งถูกห้าม ที่จริงมาตรา 305 ให้ทำได้ แต่ต้องทำได้โดยแพทย์ ถ้านักกฎหมายที่เข้าใจจะรู้ว่า มาตรา 305 ให้ทำได้โดยแพทย์ แล้วเราก็ไปสอนผิดๆ ว่าต้องถูกข่มขืน ไม่ใช่ ยินยอมก็ได้ ผมสรุปอย่างนี้ว่า ถ้าคนที่ยืนต่อหน้าคุณเป็นผู้หญิงที่อายุไม่เกิน 15 ปี ทำได้เลย ถูกกฎหมาย 100 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เขาปลอดภัยและไม่ต้องบอกพ่อแม่ด้วย บางคนเข้าใจผิด บอกว่าเป็นเด็ก เป็นเยาวชน ต้องบอกพ่อแม่ก่อน”

ดร.ทวีเกียรติให้เหตุผลว่า อำนาจปกครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มีขึ้น เพื่อจำกัดอำนาจของผู้ปกครองมิให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวในอันที่จะทำให้เด็กเสียประโยชน์ เพราะฉะนั้น การยุติการตั้งครรภ์ของเด็กอายุไม่เกิน 15 จึงเป็นเรื่องประโยชน์ของเด็กโดยเฉพาะ ส่วนผู้หญิงที่อายุเกิน 15 ขึ้นไป กฎหมายบอกว่าเป็นหากมีความจำเป็นด้านสุขภาพสามารถทำได้ ซึ่งแพทยสภาตีความครอบคลุมทั้งสุขภาพกายและจิต ดังนั้นการที่ตำรวจจับกุมคลินิกทำแท้งที่กระทำโดยแพทย์จึงเป็นการทำผิดกฎหมายและสามารถฟ้องกลับได้

ถ้าการตั้งครรภ์ของเยาวชนหญิงเป็นเหตุให้ถูกออกจากโรงเรียน ดร.ทวีเกียรติกล่าวว่า สามารถฟ้องศาลปกครองได้ เพราะกฎหมายไม่ได้มีข้อห้าม และนโยบายของรัฐก็สนับสนุนให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงการศึกษา ผู้บริหารโรงเรียนไม่มีสิทธิห้ามเยาวชนเข้าถึงการศึกษา ในเมื่อเป็นการศึกษาภาคบังคับ แต่โดยหลักคิดพื้นฐานคือว่า การตั้งครรภ์ไม่ใช่อุปสรรคต่อการเรียน จึงไม่มีสิทธิห้ามเด็ก ในทางกลับกันจะต้องให้สิทธิแก่เยาวชนที่ตั้งครรภ์เพราะยังมีสิทธินั้นอยู่

 

“มาตรา 305 เปิดโอกาสให้ทำแท้งได้เกือบ 80-90 เปอร์เซ็นต์ แต่แม้ว่ากฎหมายจะเปิดโอกาสไว้แล้ว ทำไมจึงต้องผ่านการพิจารณาของคนอื่น ในกฎหมายฝรั่งเศส ถ้าผู้หญิงตัดสินใจจะทำแท้งสามารถไปทำได้เลย จะมีนักจิตวิทยามาคุย คุยเสร็จถ้ายืนยันว่าจะทำ ทุกอย่างหยุดเลยนะครับ แล้วใครมาต่อต้านการทำแท้งหรือต่อว่า ติดคุก 1 ปี มันเป็นสิทธิของผู้หญิง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าไม่ทำเขาก็จะมีกระบวนการอื่นให้” ดร.ทวีเกียรติกล่าว

 

เมื่อถามว่าแล้วกรณีใดจึงจะถือว่าทำผิดกฎหมาย ดร.ทวีเกียรติกล่าวว่า การจะผิดตามมาตรา 305 ในกรณีที่ผู้ที่ทำแท้งมิใช่แพทย์เท่านั้น

 

แนะหน่วยงานรัฐบูรณาการแก้ปัญหา-ลดความล่าช้า

 

งานวิจัยได้จัดทำข้อเสนอแนะเพื่อจัดการการตั้งครรภ์ของเยาวชนหญิงว่า สิ่งสำคัญพื้นฐานคือการปรับทัศนะคติเชิงลบเสียก่อน เพื่อสร้างมุมมองที่ถูกต้องว่า การตั้งครรภ์ของเยาวชนหญิงเป็นเรื่องธรรมชาติที่สามารถเกิดขึ้นได้ หากย้อนอดีตไม่ไกล ก่อนที่ระบบการศึกษาของรัฐไทยจะก่อรูปเป็นการศึกษาภาคบังคับเช่นปัจจุบัน เด็กผู้หญิงส่วนมากตามต่างจังหวัดเมื่อจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ก็มักจะมีครอบครัว ขณะเดียวกัน การเลือกยุติการตั้งครรภ์หรือไม่ จะต้องถูกตระหนักถึงในแง่ของสิทธิของผู้หญิง เพื่อให้เกิดการทำงานบนพื้นฐานสิทธิมนุษยชนอย่างบูรณาการ 5 ด้าน ได้แก่ สิทธิการมีชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิในความเป็นส่วนตัว สิทธิการได้รับข้อมูลข่าวสารและการศึกษา สิทธิการตัดสินใจว่าจะมีบุตรหรือไม่และจะมีเมื่อใด และสิทธิการดูแลและป้องกันสุขภาพ

นอกจากนี้ ภาครัฐควรสนับสนุนงบประมาณผลิตสื่อสร้างความเข้าใจในทุกภาคส่วน กำหนดหรือส่งเสริมให้บรรจุประเด็นสิทธิมนุษยชน สิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ลงในวิชาแนะแนว วิชาสุขศึกษา เพศศึกษา และคู่มือสำหรับนักเรียน นักศึกษา

ในส่วนของภาครัฐงานวิจัยชี้ว่า ควรใช้ยุทธศาสตร์การทำงานเครือข่ายสหสาขาวิชาชีพ ทำงานประสานส่งต่อข้อมูลและกรณี โดยกำหนดเจ้าภาพหลักที่รับผิดชอบงานเรื่องเยาวชนหญิงท้องไม่พร้อม ของแต่ละกระทรวง เพื่อลดขั้นตอนการทำงานข้ามกระทรวงแบบเป็นทางการที่ค่อนข้างล่าช้าและไม่ทันสถานการณ์

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: