พลิกปูมข่าวฉาว 'ซีทีเอ็กซ์-ที่ดินสวนผึ้ง' สตง.-ปปช.พร้อมให้ข้อมูลสื่อ-คดีสอบโกง นักข่าวชี้อิทธิพล-ข่มขู่ต้นเหตุทำข่าวไม่สุด

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 11 ก.ค. 2555 | อ่านแล้ว 2364 ครั้ง

 

 

สื่อมวลชนยังเป็น ‘หมาเฝ้าบ้าน’ อยู่หรือไม่

 

 

สื่อมวลชนนับเป็นภาคส่วนสำคัญ ที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างให้เกิดขึ้นในสังคมได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคของโลกแห่งข้อมูลข่าวสารในปัจจุบัน ที่ความรับรู้ของสังคมไม่จำกัดอยู่เพียงแค่บางสื่อเท่านั้น ทุกข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้น สามารถแพร่ขยายไปในทุกรูปแบบสื่อที่หลากหลาย จนแทบจะเรียกได้ว่า ไม่มีจุดใดในประเทศที่เข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสารอีกต่อไป ดังนั้นสิ่งที่ปรากฎในสื่อมวลชน จึงไม่เพียงทำให้เกิดการรับรู้ความเคลื่อนไหวใหม่ๆ เท่านั้น แต่ยังอาจจะส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างได้อีกด้วย

 

เมื่ออิทธิพลของสื่อเป็นที่ยอมรับตลอดมาเช่นนี้แล้ว สิ่งหนึ่งที่สื่อถูกคาดหวังจากสังคมตลอดมา คงหนีไม่พ้นบทบาทของผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบสิ่งผิดปกติ และความฉ้อฉลต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตรวจสอบการทำงานในของภาครัฐ ที่แม้ว่าตลอดมาสื่อจะทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของประเทศ ด้วยการขุดคุ้ยเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นมาแล้วระดับหนึ่ง  แต่กล่าวได้ว่า ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา เมื่อสังคมไทยเปลี่ยนไปสู่สภาพของความแตกแยก แบ่งฝ่าย  ไม่เว้นแม้ในวงการสื่อ คำถามจึงเกิดขึ้นตามมาว่า สื่อมวลชนไทยยังคงปฏิบัติหน้าที่เป็น “หมาเฝ้าบ้าน” ได้อย่างที่เคยเป็นมาหรือไม่ หรือ มีปัจจัยใดทำให้เจตนารมณ์ของสื่อเปลี่ยนแปลงไปแล้ว

 

จากเหตุผลเหล่านี้ ศูนย์ข่าว TCIJ จึงร่วมกับโครงการสะพานของ United States Agency for International Development (USAID) จัดเวทีเสวนาครั้งที่ 2 ขึ้น ในหัวข้อ “บทบาทของสื่อในการตรวจสอบภาครัฐ” เพื่อระดมความคิดเห็นจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนของสื่อมวลชน นักวิชาการ และองค์กรอิสระด้านการตรวจสอบต่างๆ  เพื่อตอบคำถามของสังคมต่อประเด็นนี้

 

 

 

 

 

3 นักข่าวเผยประสบการณ์ทำงานข่าวตรวจสอบรัฐ

 

 

การเสวนาครั้งนี้เริ่มต้นด้วยการเปิดประสบการณ์ การทำงานข่าวสืบสวนสอบสวน 3 สื่อด้วยกัน ได้แก่  ข่าวการทุจริตเรื่องการจัดซื้อ “เครื่องตรวจสอบ CTX ที่สนามบินสุวรรณภูมิ” จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ, ข่าว “ขบวนการบุกรุกที่ราชพัสดุ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี” โดยทีมข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยทีพีบีเอส และ “การตรวจสอบการบริหารงานองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา” ของ หนังสือพิมพ์โฟกัสภาคใต้ ซึ่งล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการทำงานของภาครัฐ ถูกนำเสนอจนเป็นที่รับรู้ของสังคม และยังทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในกระบวนการแก้ไขปัญหาและเอาผิดกับผู้เกี่ยวข้องเหล่านั้นอีกด้วย

 

การเสวนาเริ่มต้นที่ สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา นักข่าวจากสถานีโทรทัศน์ไทยทีพีบีเอส ซึ่งเกาะติดเรื่องขบวนการบุกที่ราชพัสดุ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี สถาพรเปิดประเด็นด้วยการเล่าถึงความยากลำบากของการทำงานข่าวชิ้นนี้ ที่กว่าจะได้เป็นชิ้นข่าวนำเสนอต่อเนื่องถึง 30 ตอน เผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เขาและทีมงานต้องใช้เวลาถึง 7 เดือน ในการเก็บรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนจะลงพื้นที่เก็บข้อมูลในเชิงลึกต่างๆ สู่กระบวนการผลิต และนำเสนอออกสู่สาธารณะในเวลาต่อมา

 

 

ไทยพีบีเอสเผยที่มาข่าวขบวนการบุกรุกที่พัสดุสวนผึ้ง

 

 

สำหรับความเป็นมาของข่าวชุดนี้ สถาพรกล่าวย้อนอดีตว่า จุดสำคัญของความสนใจในประเด็นนี้ เกิดจากการได้รับแจ้งจากแหล่งข่าวในกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ว่า ในช่วงเวลานั้น มีนายทหารระดับนายพล จากกรมทหารช่างคนหนึ่ง เข้ายื่นหนังสือร้องเรียน เพื่อขอให้เข้าตรวจสอบการบุกรุกพื้นที่ราชพัสดุ ที่อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี  เมื่อได้รับแจ้งจากดีเอสไอแล้ว สิ่งที่ทีมข่าวตั้งข้อสังเกตคือ เหตุใดการยื่นหนังสือร้องเรียนในครั้งนี้ จึงต้องเป็นถึงนายทหารระดับสูง และผู้บุกรุกนั้นคือใคร จึงทำให้ทหารในพื้นที่ ซึ่งถือว่ามีอำนาจหน้าที่ในการดูแลพื้นที่โดยตรง ยังไม่สามารถจะดำเนินการจัดการด้วยตัวเองได้ เป็นเงื่อนงำที่น่าสนใจและเชื่อว่าน่าจะมีสิ่งผิดปกติ

 

จากจุดเริ่มต้นในครั้งนั้น ทำให้ต่อมาทีมข่าวไทยพีบีเอส จึงเข้าร่วมสืบค้นข้อมูลร่วมกับ ดีเอสไอ และทีมกองพันทหารช่าง จ.ราชบุรี เพื่อตรวจสอบ และถือเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ กับสื่อมวลชนในการร่วมกันตรวจสอบความไม่ชอบมาพากล ของกระบวนการผิดกฎหมายโดยแท้จริง

 

          “ความสงสัยของทีมงานครั้งนั้น ทำให้พวกเราเริ่มสืบค้นข้อเท็จจริงต่างๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่จุดเริ่มต้น เพื่อให้ได้ข้อมูลทั้งหมดเพื่อนำมาวิเคราะห์และนำเสนออย่างรอบด้าน และทำให้ค้นพบว่าการบุกรุกพื้นที่ราชพัสดุ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ไม่ได้เป็นเพียงการบุกรุกธรรมดา แต่เป็นการบุกรุกในรูปแบบของขบวนการใหญ่ โดยเฉพาะการกระทำผิดกฎหมาย จากการจัดทำเอกสารราชการเท็จขึ้นมา ได้แก่ เอกสารเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินราชพัสดุ จำนวนมาก ทั้งที่โดยความเป็นจริงแล้วที่ดินเหล่านี้จะไม่สามารถซื้อขายกันได้ แต่กลับปรากฏว่าที่นั่นมีการซื้อขายกันอย่างกว้างขวาง และมีการประกาศขายที่ดินจำนวนมาก” สถาพรระบุ

 

 

แยกแยะคนทำผิดเพื่อลดความกดดันการทำงานในพื้นที่

 

 

อย่างไรก็ตาม ในการเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ อุปสรรคสำคัญนอกจากแรงกดดันที่เกิดจากอิทธิพลในพื้นที่ ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์จากขบวนการผิดกฎหมายเหล่านี้แล้ว สถาพรเล่าว่า คณะทำงานทั้งหมด ยังต้องให้ความสำคัญกับประเด็นของผลกระทบ ที่อาจจะเกิดต่อชาวบ้านดั้งเดิมที่เคยอยู่ในพื้นที่นี้มาก่อนด้วย จึงจำเป็นต้องหาแนวทางที่จะนำเสนอข่าวอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบที่เป็นกังวลนี้  ในที่สุดจึงพูดคุยกับหน่วยงานทหารช่าง ซึ่งเป็นต้นเรื่องเพื่อหาแนวทางในการทำงาน ให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนดั้งเดิมน้อยที่สุด

 

ผลการพูดคุยสรุปว่า ในการทำข่าวครั้งนี้ ทีมงานจะต้องแยกแยะให้เห็นชัดเจน ระหว่างกลุ่มผู้บุกรุกที่ดินเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว กับกลุ่มชาวบ้าน และชุมชนดั้งเดิมที่เคยอยู่อาศัยในพื้นที่นี้มาเป็นเวลานานแล้ว

 

แม้แนวทางการตรวจสอบของทีมงาน ทั้งสื่อมวลชนและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง จะมีทิศทางเดียวกันคือ พยายามชี้ให้เห็นว่า การตรวจสอบครั้งนี้มีการแยกแยะกลุ่ม ระหว่างชุมชนเดิมกับผู้บุกรุกอย่างชัดเจน แต่อุปสรรคสำคัญคือการสร้างความเข้าใจในพื้นที่ ที่ทีมตรวจสอบยังไม่สามารถเข้าถึงชุมชนได้มากเท่ากับคนในพื้นที่เอง ปัญหาที่ตามมาคือ การสร้างความเข้าใจผิดให้เกิดขึ้นในกลุ่มของชาวบ้าน ที่อาศัยพื้นที่มาแต่ดั้งเดิม เมื่อมีการปล่อยข่าวว่า หากเกิดการตรวจสอบขึ้นจะทำให้ทุกครอบครัวที่มีพื้นที่อาศัยทำกินอยู่ในบริเวณ ต.สวนผึ้ง ทั้งหมดถูกไล่รื้อ จนเกิดความหวาดกลัว และไม่มั่นใจของชาวบ้าน จนถึงขั้นรวมตัวกันเดินทางมาต่อต้านการเข้าตรวจสอบพื้นที่ของเจ้าหน้าที่และการลงพื้นที่ทำข่าวของทีมข่าวด้วย

 

 

ต้องมีคนอารักขาระหว่างทำข่าว

 

 

การแก้ปัญหาในครั้งแรกนี้ จึงจำเป็นต้องอาศัยการให้ความเข้าใจกับชาวบ้านว่า การตรวจสอบดังกล่าว ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อไล่รื้อชุมชนดั้งเดิม แต่เป้าหมายอยู่ที่กลุ่มบุกรุกอย่างผิดกฎหมายเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ โดยเฉพาะการถางป่าใหม่ เพื่อนำไปปลูกยางพารา, การปลูกปาล์มน้ำมัน หรือทำรีสอร์ทขนาดใหญ่ สามารถทำความเข้าใจกับชาวบ้านไปได้บ้าง แต่กระนั้นพวกเขาก็ต้องระมัดระวังตัว เพราะรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัย

 

                  “ตอนนั้นเราต้องมี การ์ดอารักขาตอนไปทำข่าวด้วย เพราะไม่รู้ว่าใครคิดอะไร ยังไง และเราจะปลอดภัยหรือไม่ หากลงไปสัมภาษณ์คนในจุดนั้น บางครั้งถึงกับมีการจ้างกล้องมาตั้งถ่ายภาพพวกเรา ขณะที่เราก็ตั้งกล้องสัมภาษณ์ตัวเขาเองด้วย ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าเขาจะเอาไปทำอะไร” สถาพรเล่า

 

 

เน้นข้อมูลหลักฐานป้องกันอันตราย

 

 

ความท้าทายของการทำงานข่าวสืบสวนสอบสวนชุดนี้ ไม่เพียงจะเป็นเรื่องของความยากในการสืบค้นข้อมูล และความปลอดภัยระหว่างการทำงานเท่านั้น สถาพรยังเล่าว่า การนำเสนอเพื่อให้ข้อมูลเผยแพร่ออกมา ในลักษณะของสกู๊ปข่าว ยังเป็นเรื่องท้าทายอีกอย่างหนึ่ง เพราะจะต้องทำให้เกิดความชัดเจน ถึงกระบวนการตรวจสอบความผิดปกติของการบุกรุก ว่า ไม่ได้เป็นการเหมารวมเพื่อไล่รื้อทั้งหมด

 

ดังนั้นวิธีการนำเสนอจึงต้องมีหลักฐานชัดเจน เพื่อแยกระหว่างกลุ่มคนที่เคยอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้มาแต่เดิมกับผู้ที่มาบุกรุกใหม่ เช่น การเปรียบเทียบภาพถ่ายทางอากาศของปี 2546 กับภาพถ่ายปัจจุบัน ที่จะทำให้เห็นชัดเจนว่า ใครคือผู้ที่อยู่มาก่อน และใครเป็นผู้มาใหม่ หรือการยืนยันทางเอกสารสิทธิ์การครอบครองที่ดินประเภทต่างๆ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า มีความพยายามบิดเบือน อมูล โดยมีการจัดตั้งในรูปแบบสหกรณ์ปลูกปาล์มน้ำมัน และมีการออกเอกสารให้มีลักษณะเหมือนใบเสร็จ แต่ทำให้ชาวบ้านเข้าใจว่า การจ่ายเงินเข้าสหกรณ์ เป็นการจ่ายภาษีที่ดิน ดังนั้นจึงสามารถที่จะนำที่ดินไปทำอะไรก็ได้ รวมไปถึงการจัดทำเอกสารเกี่ยวกับการบำรุงท้องที่ต่างๆ ที่ดำเนินการกันที่ทำการ อบต. มีเพียงนายกอบต.เป็นคนเซ็นต์ เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้คือเอกสารสำคัญ ที่ทีมข่าวใช้เป็นหลักฐานในการสืบค้นจนกระทั่งพบความผิดปกติต่างๆ

 

 

ทำงานท่ามกลางความขัดแย้งของภาครัฐด้วยกันเอง

 

 

เมื่อมาถึงประเด็นนี้ จึงมีคำถามเกิดขึ้นว่า ในการทำงานข่าวของทีมไทยทีพีบีเอสนั้น แท้จริงแล้วได้รับการสนับสนุน หรือการต่อต้านจากกลุ่มคนของรัฐมากกว่ากัน สถาพรให้คำตอบว่า หากจะบอกว่าได้รับการสนับสนุนหรือต่อต้าน อาจจะไม่สามารถฟันธงได้ชัดเจนนัก เพราะจากการทำงานของพวกเขา ความร่วมมือส่วนหนึ่งได้มากจากหน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะจากส่วนกลาง แต่ส่วนหนึ่งอุปสรรคก็เกิดจากคนของรัฐเอง โดยเฉพาะหน่วยงานในพื้นที่ เช่น ทหารพยายามที่จะจับผู้บุกรุกส่งให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่สักพักตำรวจก็ปล่อยตัวไป นั่นหมายถึงความไม่ลงรอยกันเองของ เจ้าหน้าที่ของรัฐ และส่วนสำคัญมีอิทธิพลของการเมืองท้องถิ่นเข้ามาเกี่ยวข้อง

 

 

ขณะเดียวกันในประเด็นนี้ เคยมีการเสนอเข้ากรรมาธิการฯ ในสภาฯ ปรากฏว่าในการประชุมมีส.ส.ในพื้นที่ ซึ่งมีตำแหน่งอยู่ในคณะกรรมาธิการชุดนั้นด้วย ลุกขึ้นแสดงความคิดเห็นปกป้องนักการเมืองที่มีชื่อว่าเป็นผู้บุกรุกรายใหญ่ มีการจัดม็อบมาสนับสนุน เพราะในรายชื่อของผู้บุกรุกนั้นมีชื่อบิดาของรัฐมนตรีคนหนึ่งในขณะนั้นรวมอยู่ด้วย ซึ่งปัจจุบันยังคงมีการต่อสู้กันในชั้นศาล ส่วนรายที่สองเป็นคนสนิทของนักการเมืองใหญ่ในพื้นที่ใกล้เคียง ที่ปัจจุบันถูกตัดสินจำคุกไปแล้ว  นอกจากนี้ยังมีความพยายามบิดเบือนข้อมูล โดยใช้ข้าราชการท้องถิ่นสร้างข่าวเพื่อให้ประชาชนเข้าใจผิด จนเกิดการรวมตัวต่อต้านหลายครั้ง เป็นต้น

 

 

ชี้สื่อตีแผ่ได้ดีต้องมีหน่วยงานรัฐช่วย

 

 

สถาพรกล่าวสรุปในช่วงแรกว่า การทำข่าวชิ้นนี้ นับเป็นความร่วมมือที่สำคัญระหว่างหน่วยงานของรัฐ กับสื่อมวลชน เพราะจุดเริ่มต้นเกิดจากข้อมูลที่ทีมข่าวได้รับจากดีเอสไอ จนเกิดความสนใจโดยที่แหล่งข่าวคือกองพันทหารช่าง อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี โดยเบื้องต้นหวังเพียงขอให้ดีเอสไอเข้าตรวจสอบพื้นที่มากกว่าการอาศัยการเผยแพร่ของสื่อ แต่เมื่อเกิดความสนใจขึ้นมา จึงทำให้เกิดความร่วมมือร่วมกันระหว่างสื่อมวลชนกับหน่วยงานภาครัฐ ทั้งนี้เขาเชื่อว่า การติดตามเกาะติดประเด็นอย่างต่อเนื่อง และสืบหาข้อมูลอย่างชัดเจน โดยเฉพาะข้อมูลในเชิงลึกต่างๆ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อให้การนำเสนอข่าวมีน้ำหนัก และมีความน่าเชื่อถือมากที่สุด

 

                       “การนำเสนอข่าวชิ้นนี้ในตอนท้าย เราพยายามที่จะทำให้เกิดข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อให้เกิดความมั่นคงเรื่องของที่ดิน เพราะจากข้อมูลในประเด็นนี้เราพบว่า คนสวนผึ้งเองเป็นผู้ถือครองที่ดินเพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น อีก 20 เปอร์เซ็นต์ เป็นของกลุ่มรีสอร์ท นอกนั้นเป็นการถือครองของกลุ่มบุกรุกเพื่อทำประโยชน์อื่นๆ เช่น ทำสวนปาล์ม สวนยางพารา ทำให้ภูเขาหายไปเป็นลูกๆ ซึ่งปัญหาเหล่านี้เกิดจากความหละหลวมของเจ้าหน้าที่รัฐในอดีตที่รับสินบน ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญ และยังเป็นเรื่องของอิทธิพลทางตำแหน่งหน้าที่ของผู้กระทำผิด ที่เจ้าหน้าที่ระดับต่ำกว่าไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ จนก่อให้เกิดปัญหาในหลายพื้นที่ในปัจจุบัน” สถาพรกล่าว

 

 

ทุจริตจัดซื้อ ซีทีเอ็กซ์ 9000 ต้นข่าวจากเมืองนอก

 

 

จากการเปิดประเด็นเล่าความเป็นมาของข่าวสืบสวนสอบสวนทางสื่อโทรทัศน์ ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมสัมมนาเป็นอย่างมาก มาถึงการบอกเล่าประสบการณ์จากการทำงานข่าวสืบสวนสอบสวนในส่วนของสื่อหนังสือพิมพ์ ซึ่ง วิภาพร จิตสมบูรณ์ หัวหน้าข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เป็นตัวแทนทีมข่าว ที่ได้เจาะลึกประเด็นการทุจริตในการจัดซื้อเครื่อง “ซีทีเอ็กซ์ 9000” หรือเครื่องตรวจวัตถุระเบิด สำหรับใช้ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ออกเผยแพร่ต่อสาธารณชน จนกลายเป็นข่าวฮือฮา บอกเล่าประสบการณ์และอุปสรรคต่างๆ ในการทำข่าวสืบสวนสอบสวนชิ้นนี้

 

วิภาพรเล่าถึงที่มาของการนำเสนอข่าวอย่างน่าสนใจว่า การได้มาของข่าวเกิดขึ้นจากเอกสารสำคัญเพียง 2 หน้า ของสำนักงานทนายความ  Willkie Farr & Gaiilgher ที่ปรึกษาด้านกฎหมายชั้นนำของโลก ที่ได้เผยแพร่ผลการตรวจสอบการเข้าเทคโอเวอร์กิจการของบริษัท อินวิชั่น โดยบริษัทเจเนอรัล อิเลคทริก จำกัด หรือ จีอี ซึ่งได้ผ่านการตรวจสอบตามกระบวนการทางกฎหมายของสหรัฐอเมริกา โดยบริษัทอินวิชั่นยอมรับว่า มีการจ่ายเงินให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ และบุคคลในพรรคการเมืองของประเทศต่างๆ ที่มีการติดต่อซื้อขายด้วย ได้แก่ ประเทศฟิลิปินส์ จีน  และไทย ในการขายอุปกรณ์ตรวจสอบวัตถุระเบิดภายในท่าอากาศยาน ซึ่งนับเป็นข้อมูลชิ้นแรกที่ทีมข่าวได้เป็นข้อมูลเบื้องต้น

 

ต่อมาได้นำข้อมูลทั้งหมดนี้มาประชุมร่วมกัน เพื่อตรวจสอบซึ่งต้องใช้เวลากว่า 2 เดือน สืบค้นข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ก่อนนำเสนอข่าวเป็นฉบับแรกเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2548 ในประเด็น “สหรัฐฯปูด คอร์รัปชั่นข้ามชาติ” และยังได้ติดตามนำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง จนพบว่ามีสัญญาการซื้อขายหลายรายการ ที่มีการจงใจสร้างราคาซ้ำซ้อน เพื่อให้ได้ราคาส่วนต่างของราคาที่เพิ่มขึ้น

 

 

ถูกปกปิดข้อมูลต้องหาจากเจ้าหน้าที่ระดับล่าง

 

 

สำหรับการตรวจสอบในประเด็นนี้ วิภาพรระบุว่า เป็นเรื่องธรรมดาที่ย่อมจะได้รับความร่วมมือจากภาครัฐน้อยมาก เพราะเป็นข่าวในเชิงของการตรวจสอบภาครัฐ การเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกมากกว่านั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากลำบาก เพราะหลังจากข่าวถูกเผยแพร่ออกไป หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความระมัดระวังตัวอย่างมากในการเก็บข้อมูล เพี่อไม่ให้หลุดไปถึงมือนักข่าว แม้กระทั่งการประชุมบอร์ด ที่ปกติจะมีการแจ้งกำหนดการ แต่ก็ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ได้รับคำสั่งจากผู้บริหารให้งดการแจ้งรายละเอียดต่างๆ และพยายามที่จะปกปิดข้อมูลทุกรูปแบบ การค้นหาข้อมูลจึงเกือบถูกปิดตายในทุกประตู

 

                     “อย่างไรก็ตามแม้ว่าเราจะไม่ได้ข้อมูลจากผู้บริหาร แต่อีกทางหนึ่งซึ่งเรายังคิดว่าเป็นทางที่เราสามารถหาข้อมูลได้ก็คือการสืบข่าวจากเจ้าหน้าที่ในระดับล่างๆ ลงมา เพราะกลุ่มพวกนี้จะเป็นกลุ่มที่ทำเอกสารโดยตรง และเขาคิดว่าแม้ว่าเอกสารจะหลุดออกไป ก็ไม่มีผลอะไรกับเขา ดังนั้นทางออกของเราคือ การติดตามขอข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ระดับนี้” วิภาพรเล่าถึงทางออกในการสืบหาข้อมูลที่แสนยากลำบากในขณะนั้น

 

 

สร้างความแตกต่างจากสื่ออื่นด้วยข้อมูลที่แม่นยำ

 

 

ข่าวทุจริตการจัดซื้อเครื่อง ซีทีเอ็กซ์ 9000  นับเป็นข่าวระดับชาติที่ได้รับความสนใจอย่างสูงของสังคม และยังเป็นสาเหตุของการสร้างความสั่นคลอนให้กับเสถียรภาพของรัฐบาล เนื่องจากข่าวถูกนำเสนออย่างกว้างขวางจากทุกสำนักข่าวในเวลาต่อมา แต่สำหรับหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจที่เป็นผู้จุดประเด็นข่าวนี้ วิภาพรกล่าวว่า นอกจากการเป็นผู้เริ่มต้นนำเสนอข่าวเป็นสื่อแรกแล้ว ความพยายามในการสืบค้นข้อมูล มาสนับสนุนการนำเสนอข่าวอย่างละเอียดและถูกต้อง น่าจะเป็นจุดเด่นสำคัญที่สร้างความแตกต่างให้ข่าวของกรุงเทพธุรกิจชิ้นนี้ มีความโดดเด่นจากข่าวของสื่อสำนักอื่นอย่างเห็นได้ชัด

 

โดยแหล่งที่มาของข้อมูลส่วนใหญ่ นอกจากการให้ทีมข่าวตรวจสอบข้อมูลจากแหล่งข่าวในประเทศไทยในทุกวิถีทางแล้ว การค้นหาข้อมูลจากเอกสารที่ถูกเผยแพร่อยู่แล้วในเว็บไซต์ หรือการหาข้อเท็จจริงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งในส่วนของกระทรวงยุติธรรมและคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ (Securities And Exchange Commission) หรือ เอสอีซี ยังสร้างให้งานข่าวชิ้นนี้มีน้ำหนักมากขึ้น

 

“ในการทำข่าวภาคสนาม ซึ่งเราต้องพบกับผู้บริหาร หรือนักการเมืองที่เกี่ยวข้อง ที่จะต้องมีการสอบถาม และส่วนใหญ่มักจะได้รับคำตอบที่ไม่ชัดเจน ผิดจากข้อมูลที่เราได้รับ ทำให้เราไม่เชื่อในสิ่งที่เขาพูด ทำให้เกิดการสืบค้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้มาซึ่งเอกสารที่จะสามารถนำมายืนยันได้ว่า สิ่งที่ผู้บริหารพยายามพูดให้สื่อเชื่อนั้น แท้จริงแล้วไม่ได้ถูกต้องทั้งหมด โดยยืนยันได้จากเอกสารที่เป็นหลักฐานชัดเจน เช่น ขณะนั้น คุณสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นรมว.คมนาคม ค่อนข้างเป็นกันเองกับสื่อ เมื่อเราสอบถามในประเด็นต่างๆ ท่านก็ตอบมาแต่ไม่ละเอียดนัก และเรารู้สึกว่า สิ่งที่ท่านพูดยังมีข้อสงสัยอยู่ และไม่มีเอกสารมายืนยัน เมื่อเราไม่เชื่อ จึงพยายามหาหลักฐานต่างๆ มาเพื่อหาคำตอบ และนั่นก็คือข้อมูลสำคัญที่ถูกนำเสนอในข่าว”

 

 

แม้จะไปไม่สุด แต่เชื่อสร้างมาตรฐานการจัดซื้อของรัฐ

 

 

อย่างไรก็ตามแม้ว่าข่าวกรณีการทุจริตจัดซื้อเครื่อง ซีทีเอ็กซ์ 9000 จะเป็นข่าวที่ถูกนำเสนออย่างต่อเนื่อง และได้รับความสนใจจากสาธารณชนเป็นอย่างมาก ที่สำคัญยังส่งผลกระทบอย่างมากในหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง แต่สุดท้ายแล้ว เครื่องซีทีเอ็กซ์ที่ถูกขุดคุ้ยอย่างหมดเปลือกจากสื่อมวลชน ก็ยังคงถูกใช้เป็นหน้าเป็นตาอยู่ที่สนามบินสุวรรณภูมิจนถึงปัจจุบัน

 

การลงเอยของประเด็นนี้นอกจากการหลุดจากเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ แล้ว ผลที่ตามมาคือ การเกิดขึ้นของกระบวนการการตรวจสอบข้อเท็จจริง จนถึงขณะนี้เรื่องทั้งหมดอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบของ สำนักคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.)ที่จะต้องส่งต่อให้กับอัยการต่อไป

 

         “เรื่องมาสิ้นสุดที่ตรงนี้ แต่เครื่องซีทีเอ็กซ์ก็ยังใช้กันอยู่ที่สุวรรณภูมิ และราคาที่ซื้อก็เป็นราคาที่ถูก บวกส่วนต่างจำนวนมากที่เกือบจะสูงเท่ากับราคาเครื่องเข้ามาแล้ว อย่างไรก็ตามสิ่งที่เราคิดว่า เป็นผลกระทบที่ได้จากการนำเสนอข่าวชิ้นนี้ก็คือ ความรัดกุมที่เพิ่มมากขึ้นของหน่วยงานภาครัฐ ในการจัดซื้อจัดจ้างอะไรก็ตาม นอกจากนี้เราทราบว่า ที่จริงแล้วยังมีการเตรียมที่จะตั้งบริษัทนอมินีขึ้นมา เพื่อรองรับส่วนต่างเรื่องของการซ่อมบำรุงจำนวนมาก เมื่อเกิดข่าวขึ้นมาบริษัทนี้ก็ล้มไป ขณะนี้เจ้าหน้าที่ก็ต้องซ่อมบำรุงเครื่องเอง” เป็นบทสรุปเรื่องราวทั้งหมดในกระบวนการทำงานข่าวสืบสวนสอบสวน ที่ได้ชื่อว่าเป็นผลงานข่าวการตรวจสอบการทำงานของภาครัฐที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางในระดับประเทศที่วิภาพรนำมาสรุปในวงเสวนา

 

 

ท้องถิ่นเรื่องเยอะแต่ทำข่าวยาก

 

 

ด้าน ประสาณ สุขใส ผู้อำนวยการ หนังสือพิมพ์ภาคใต้โฟกัส จากจ.สงขลา ซึ่งเคยคว้ารางวัลข่าวยอดเยี่ยมจากสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มาแล้วหลายรางวัล เป็นตัวแทนของสื่อหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และความคิดเห็นในเวทีครั้งนี้ เปิดประเด็นด้วยเรื่องความสนใจของเขา ที่จะให้ความสำคัญกับข่าวสารต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดต่างๆทั่วประเทศ เนื่องจากเห็นว่า ข่าวที่เกิดขึ้นเกือบทั้งหมดล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านทั้งสิ้น การทำงานเพื่อให้ได้มาของข้อมูลข่าวสารต่างๆ เมื่อถูกเผยแพร่ออกไปแล้ว มักเกิดการเปลี่ยนแปลงที่จะสามารถช่วยบรรเทาปัญหา หรือจุดประกายให้สื่อหลักๆ ได้หันมาให้ความสนใจมากขึ้น

 

โดยผลงานข่าวที่หนังสือพิมพ์ภาคใต้โฟกัส สามารถเจาะลึกจนเป็นที่ยอมรับ กระทั่งได้รับรางวัลจากสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้แก่  ข่าว “เกมชิงอำนาจ อบจ.สงขลา : 1 ปีของการกระจายอำนาจที่ล้มเหลว” ข่าว “ศึกแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ : กรณีปลากระตัก” ข่าว “2 ปี ท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย ชุมชนแตกเป็นเสี่ยง”  และข่าว “ถนนชีวิตน้องเปีย ขนานปฏิรูปการศึกษา” ซึ่งทุกข่าวที่ได้รับรางวัลล้วนมาจากการทำงานที่ยากลำบากทั้งสิ้น

 

ประสาณสะท้อนถึงความแตกต่างของการทำงานข่าวของสื่อท้องถิ่น กับสื่อหลักระดับชาติ ว่า จากประสบการณ์ของเขา ที่เคยร่วมทำงานกับหนังสือพิมพ์ส่วนกลางคือ หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน โดยมีหน้าที่ดูแลข่าวภูมิภาค ซึ่งทราบกันดีว่าข่าวในส่วนนี้ นักข่าวภูมิภาคจะต้องทำข่าวในทุกประเด็น ซึ่งการทำงานในสื่อระดับชาติ ที่มีกองบรรณาธิการอยู่ที่ส่วนกลาง จึงมีข้อจำกัดเรื่องความปลอดภัยน้อยกว่านักข่าวที่ทำงานอยู่ในท้องถิ่น ดังนั้นเมื่อต้องลงมาทำงานอยู่ในพื้นที่อย่างเต็มตัวแล้ว จึงคิดว่าการทำงานข่าวสืบสวนสอบสวนของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น เป็นสิ่งที่ทำได้ยากกว่า เนื่องจากข้อจำกัดในการเสาะหาข้อมูล จากหน่วยงานภาครัฐ และแหล่งข้อมูลอื่นๆ และอิทธิพลท้องถิ่นที่จะส่งผลกระทบต่อความรู้สึกไม่ปลอดภัยของนักข่าว จนบางครั้งไม่สามารถติดตามประเด็นข่าวอย่างต่อเนื่องได้

 

 

แก้อันตรายด้วยข้อมูล หลักฐานที่หนักแน่น

 

 

                     “ตอนที่ผมทำงานอยู่ หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน หากมีการนำเสนอข่าวสืบสวนสอบสวนมาก็ทำไปไม่เป็นไร เพราะนักข่าวลงไปทำข่าว แล้วก็ขึ้นมาอยู่ที่ส่วนกลาง แต่พอผมได้ลงไปอยู่ในท้องถิ่นแล้ว ข่าวสืบสวนสอบสวนที่ส่งผลกระทบต่อกลุ่มอิทธิพลในพื้นที่ จะเป็นเป็นเรื่องน่ากลัว เพราะเราทำงานอยู่ใกล้แหล่งข่าวมาก แค่ทำเรื่องเล็กๆ ก็อันตรายแล้ว  ผมเคยถูกถามว่า เมื่อทำแบบนี้แล้วอยู่ได้อย่างไร คำตอบก็คือ เราต้องทำงานแบบมืออาชีพ ไม่มีผลประโยชน์ร่วม ตรงไปตรงมา และต้องทำร่วมกับประชาสังคม” ประสานกล่าวถึงทางออกในการทำข่าวในพื้นที่ที่เขาบอกว่า ต้องมีหลักการเป็นตัวนำ เพื่อไม่ทำให้การทำงานข่าวมีปัญหา ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาและทีมงานยึดถือตลอดหลายปีที่ผ่านมา

 

 

ชี้สื่อท้องถิ่นต้องสร้างเวทีเรียนรู้มากกว่าทำข่าวอย่างเดียว

 

 

จากนโยบายการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นของรัฐบาลที่ผ่านมา ทำให้เกิดองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ทั่วประเทศ มีการยกฐานะสุขาภิบาลเป็น “เทศบาลตำบล” และ ให้ “สมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด” ทำหน้าที่ “นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด” แทนผู้ว่าราชการจังหวัด ที่เคย “สวมหมวกสองใบ”มายาวนาน  ตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 และยังมีพัฒนาการในการปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องอำนาจหน้าที่ บทบาท และงบประมาณ

 

ซึ่งในมุมมองของประสาณเห็นว่า ด้วยพัฒนาการต่างๆ เหล่านี้ ทำให้หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นกลายเป็นสื่อที่มีบทบาทหน้าที่สำคัญ ในการตรวจสอบการบริหารงานท้องถิ่น เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนได้มากที่สุด รวมทั้งยังสามารถสร้างให้เกิดการเรียนรู้ทางการเมือง ให้กับประชาชนด้วย ดังนั้นตลอดเวลาการทำงานข่าวของหนังสือพิมพ์ภาคใต้โฟกัสของเขา จึงไม่เพียงแต่เป็นการทำข่าวสืบสวนในประเด็นต่างๆ เท่านั้น แต่ยังจัดเวทีเหล่านี้ขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระดับ อบจ. เทศบาล และ อบต. เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วม ทั้งยังใช้เป็นแหล่งข่าวในการสืบค้นข้อมูลที่กว้างและลึกขึ้น ขณะเดียวกันการจัดเวทีเสวนา ยังเป็นวิธีการที่สร้างความปลอดภัยให้กับการทำงานได้ระดับหนึ่ง เพราะข่าวที่ถูกนำเสนอ ล้วนแต่เปิดขึ้นจากการพูดหรือให้ข้อมูลของผู้ที่ร่วมในเวทีที่เปิดเผยตัวตนอย่างชัดเจน

 

หากพูดถึงเรื่องของการติดตามตรวจสอบองค์กรภาครัฐ ที่หนังสือพิมพ์ภาคใต้โฟกัสติดตามมาตลอด เป็นเรื่องของความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวกับการบริหารงานของ อบจ.สงขลา ที่เขาเห็นว่า การบริหารงาน ไม่ได้ตอบสนองความต้องการของประชาชน และไม่ได้สร้างให้เกิดความมีส่วนร่วมทางการเมืองตามที่เจตนารมณ์ของนโยบายอย่างแท้จริง

 

 

แฉการเมืองท้องถิ่นโยงระดับชาติเป็น‘ธุรกิจการเมือง’

 

 

ประสาณอธิบายต่อถึงเหตุผลที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองท้องถิ่นไม่ได้ผลตามเจตนารมณ์ เป็นเพราะการเมืองท้องถิ่น ล้วนเกี่ยวข้องกับเรื่องของอิทธิพล ที่มีเครือข่ายการเมืองระดับชาติเข้ามาผูกโยงตลอดมา ที่เรียกได้ว่าเป็น “ธุรกิจการเมือง” ดังนั้นการติดตามการบริหารงานเพื่อตรวจสอบ สามารถดูได้จากการบริหารงานของนายกอบจ. ในโครงการพัฒนาขนาดใหญ่หลายโครงการ เช่น การสร้างถนน, โครงการท่าเทียบเรือ, โครงการขุดลอกร่องน้ำ, โครงการช่วยเหลือน้ำท่วม, หรือแจกพันธุ์ปลา ฯลฯ ซึ่งหลายโครงการพบว่า มีความผิดปกติเกิดขึ้น เช่นการมีการเขียนของบประมาณจัดซื้อที่แพงเกินจริง หรือ มีโครงการแจกสิ่งของต่าง ๆ แต่ไม่ได้มีการแจกให้กับประชาชนจริง เมื่อสื่อมวลชนนำเสนอให้สังคมรับรู้ ผลที่ตามมากลับส่งผลกระทบมาถึงความปลอดภัยในการทำงาน หลายครั้งที่นักข่าวถูกข่มขู่ จนกระทั่งเสียขวัญ เสียกำลังใจ และข้อจำกัดเหล่านี้เอง จึงทำให้ไม่สามารถสืบค้นหรือทำข่าวไปจนถึงจุดสิ้นสุดของข่าวนั้น ๆ ได้อย่างที่ควรจะเป็น

 

ยอมรับข่าวตรวจสอบน้อยลง เพราะนักข่าวรุ่นใหม่ขยาด

 

“โดยหลักการทำงานของผมแล้ว จะพยายามบอกน้องๆ นักข่าวทุกคนว่า การทำข่าวเกี่ยวกับทุจริต สิ่งจำเป็นที่สุดคือ จะต้องมีข้อมูลที่มากพอ และจะต้องมีการสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้อง บางครั้งเขาให้สัมภาษณ์เหมือนกัน แต่ปรากฏว่ามานั่งด่าเราไปครึ่งชั่วโมง แล้วให้สัมภาษณ์ แค่ไม่กี่คำ นั่นคือเราไม่ได้ข้อมูลที่ชัดเจน แล้วก็ทำต่อไม่ได้ มันจึงออกมาในลักษณะของข่าว “เยี่ยวไม่สุด” หมายถึง ไม่สามารถจะหาข้อมูลไปถึงจุดที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือแก้ปัญหาได้ จนยอมรับว่า ในระยะหลังข่าวแนวนี้ลดลง หรือจะยังมีอยู่ แต่ก็ไปไม่สุด ส่วนหนึ่งนักข่าวรุ่นใหม่ขาดความกล้าที่จะทำเรื่องแรงๆ  ผมเคยถูกข่มขู่หลายครั้ง ทั้งโทรศัพท์มาขู่  หรือมาจอดรถแล้วยิงปืนขึ้นฟ้า บางข่าวเรามองแล้วประเมินแล้วหยุดดีกว่าทำต่อ เพราะเสี่ยงเกินไป ที่ผ่านมาเราไม่เคยได้งบโฆษณา จากเทศบาลนครหาดใหญ่เลย เพราะการทำข่าวที่ผ่านมา แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา สิ่งสำคัญคือ ความอยู่รอดปลอดภัยของคนทำงานมากกว่า” ประสาณกล่าวในตอนท้าย

 

 

เปิดเวทีวิชาการองค์กรอิสระแสดงความคิดเห็น

 

 

หลังจากเปิดเผยประสบการณ์จากการทำงานข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนของนักข่าวทั้งสาม ในวงเสวนาได้เปิดเวทีให้กับนักวิชาการ และตัวแทนจากองค์กรอิสระ ซึ่งเชื่อว่ามีส่วนสำคัญในการที่จะช่วยส่งเสริม หรือสนับสนุนให้การทำงานข่าวสืบสวนสอบสวนของสื่อ ในประเด็นการตรวจสอบของภาครัฐ สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ดี และยังถือเป็นการร่วมกันทำงาน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการตรวจสอบมากขึ้น โดยเฉพาะองค์กรอิสระ ที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบโดยตรง เช่น สำนักงานปราบปราบการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) หรือ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง) ซึ่งในเวทีมีตัวแทนจากทั้งสามภาคส่วนดังกล่าวมาร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย

 

 

อ.จุฬาฯ ชี้สื่อไทยตรวจสอบดีหากตั้งใจจริง

 

 

ในส่วนของภาควิชาการ ผศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ จากภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นตัวแทนในการแสดงทัศนะ โดยเริ่มต้นด้วยการตั้งข้อสังเกตการทำงานของสื่อจากข้อมูลของนักข่าวทั้งสาม โดยเห็นว่า ปัจจุบันสื่อมวลชนไทยมีความสามารถในการติดตาม สืบค้นข้อมูลเพื่อนำเสนอข่าวในลักษณะของข่าวสืบสวนสอบสวนได้ไม่แพ้กับสื่อในต่างประเทศ หากมีความตั้งใจจริงในการตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ  ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะนำไปสู่การท้าทายเสถียรภาพของรัฐบาล เช่น กรณีของการนำเสนอข่าวทุจริตการจัดซื้อเครื่อง ซีทีเอ็กซ์  9000 ของหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ที่ต้องใช้เวลาในการหาข้อมูลอย่างรอบด้าน มีการสืบค้นข้อมูลจากต่างประเทศด้วย อย่างไรก็ตามแม้ว่าผลของการนำเสนอข่าวจะยังไม่ไปถึงผลสรุป แต่เชื่อว่า เจตจำนงในการทำงานเป็นสิ่งสำคัญกว่าในข้อจำกัดของสื่อ ซึ่งปัจจุบันสื่อแต่ละทีก็มีข้อจำกัดของตัวเอง

 

ติงการตรวจสอบอย่าแฝงอคติ-เกลียดชัง

 

 

ดร.พวงทอง เห็นว่า สื่อมวลชนไทยให้ความสำคัญกับการตรวจสอบการคอร์รัปชั่นของนักการเมืองโดยมองว่า ตนกำลังทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ผู้เป็นเจ้าของภาษี แต่สื่อควรจะต้องระวัง ไม่ปล่อยให้ความรู้สึกเกลียดชัง หรือต่อต้านนักการเมืองอย่างรุนแรง เปลี่ยนไปเป็นการต่อต้านระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ต่อต้านการเลือกตั้งและเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน จนทำให้เกิดการแทรกแซงการเมือง ละเมิดกฎกติกาที่กฎหมายได้กำหนดไว้ ในทางตรงกันข้าม ยิ่งสื่อมวลชนต้องการตรวจสอบการทำงานของนักการเมืองมากเท่าไร สื่อยิ่งต้องทำให้ประชาชนเห็นคุณค่าของระบอบประชาธิปไตยแบบระบอบรัฐสภามากขึ้น

 

สิ่งที่ถูกตั้งข้อสังเกตในการทำงานข่าวสืบสวนสอบสวนของสื่ออีกประเด็นหนึ่ง ดร.พวงทอง เห็นว่า เป็นเรื่องของการตรวจสอบคอร์รัปชั่นในระบบราชการ โดยเฉพาะข้าราชการระดับสูง ที่ผ่านระบบการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ ที่เกิดขึ้นเกือบทุกวันก็ว่าได้ แต่กลับไม่ค่อยพบเห็นว่าสื่อให้ความสำคัญในการตรวจสอบประเภทนี้ ที่สำคัญกว่านั้นกลุ่มคนเหล่านี้หากินได้กับทุกพรรคทุกรัฐบาล เพราะแท้จริงแล้วหากขาดความร่วมมือจากข้าราชการ การคอร์รัปชั่นโดยนักการเมืองก็จะยากลำบากยิ่งขึ้น

 

 

สื่อแบ่งขั้วอุปสรรคสำคัญของการตรวจสอบ

 

 

ปัญหาสำคัญของสื่อในขณะนี้ ในทัศนะของ ดร.พวงทอง เป็นเรื่องของการแบ่งขั้วแบ่งฝ่ายที่เกิดขึ้นหมู่สื่อมวลชนด้วยกัน ทำให้การนำเสนอข่าวไม่เป็นไปในทิศทางที่ควรจะเป็น เพราะสื่อมักจะมุ่งนำเสนอประเด็นที่ต้องการเอาชนะใจพวกเดียวกัน ในขณะที่มวลชนเองก็เลือกที่จะเสพสื่อที่เข้ากับความคิดทางการเมืองของตัวเอง ทำให้สื่อหลายแห่งมุ่งเสนอข่าวตามจุดยืนทางการเมืองหรือตามเป้าหมายแอบแฝงของตน (hidden agenda) เท่านั้น และการแบ่งสีแบ่งขั้วนี่เอง ที่ส่งผลต่อความสามารถในการตรวจสอบของสื่อ คือ ตั้งหน้าตั้งตาตรวจสอบนักการเมืองจากอีกฟาก โดยไม่สนใจการประพฤติมิชอบของนักการเมืองฝ่ายที่ตนสนับสนุน นอกจากนี้ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ภาวะการเมืองปัจจุบัน ดูเหมือนจะทำให้สื่อส่วนใหญ่เปิดไฟเขียวให้กับการขึ้นงบประมาณของกองทัพอย่างมหาศาลในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา โดยไม่มีความพยายามจะตรวจสอบใด ๆ กับการทำงานของกองทัพ แม้ว่าจะมีความผิดปกติและสื่อก็นำออกเผยแพร่ แต่กลับไม่มีการขยายผลต่อจากนั้น

 

ควรให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนด้วย

 

 

ดร.พวงทองยังตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมด้วยว่า นอกจากเรื่องคอร์รัปชั่นแล้ว สื่อได้ให้ความสำคัญในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชน ของหน่วยงานรัฐน้อยเกินไป จะเห็นได้ว่า การละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานด้านต่าง ๆ ของประชาชน โดยหน่วยงานของรัฐเกิดขึ้นทุกวัน ทั้งในระดับปัจเจก ระดับชุมชน และมวลชนการเมือง หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องก็มีทุกระดับ เช่น ในรายงานประจำปีของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) พบว่า คดีความต่าง ๆ ที่ประชาชนมาร้องเรียนต่อ กสม. ผู้ที่ละเมิดส่วนใหญ่คือเจ้าหน้าที่  โดยมีระบบตุลาการสนับสนุนหรือยืนอยู่ข้างเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น มองข้ามการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในขั้นตอนการจับกุม มีแนวโน้มจะเชื่อหลักฐานของตำรวจและอัยการอย่างง่ายดาย

 

“กรณีสงครามปราบปรามยาเสพติดในสมัยทักษิณ ชินวัตร ที่นำไปสู่การเสียชีวิต หรือ ”ฆ่าตัดตอน” ประชาชนกว่าสองพันราย หากเราย้อนกลับไปเปิดหนังสือพิมพ์ในขณะนั้น จะพบว่าสื่อมวลชนส่วนใหญ่ ไม่ได้รู้สึกมีปัญหากับการวิสามัญฆาตกรรม ผู้ที่ถูกมองว่าเป็นพ่อค้ายาเสพติดสักเท่าไร  ก่อนหน้าสงครามปราบยาเสพติด พวกเขายังเชียร์ให้รัฐบาลแก้ปัญหายาเสพติดด้วยวิธีการเด็ดขาดด้วยซ้ำ เพิ่งจะมาในตอนหลังที่กระแสต่อต้านทักษิณก่อตัวขึ้นนี่เอง ที่สื่อมวลชนเริ่มใช้ประเด็นสิทธิมนุษยชนโจมตีทักษิณ” ดร.พวงทองระบุ พร้อมกับยกตัวอย่างเพิ่มเติมว่า  สื่อกระแสหลักให้ความสนใจน้อยมาก ต่อกรณีการละเมิดสิทธิผู้ต้องขังชาวมุสลิม ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่มีการตรวจสอบว่า ทำไมชาวบ้านมุสลิมในพื้นที่ จึงเรียกร้องให้กองทัพถอนทหารออกจากพื้นที่ และไม่สนใจตั้งคำถามว่า การดำรงอยู่ของแนวทางแก้ปัญหา ด้วยวิธีการทหารเป็นหลัก ไม่สามารถเป็นคำตอบของปัญหาได้อีกต่อไปหรือไม่ อย่างไร

 

 

จี้สื่อตรวจสอบตัวเองว่ายังมีพันธกิจเหมือนเดิมหรือไม่

 

 

นอกจากนี้ ดร.พวงทองยังตั้งข้อสังเกตในประเด็นการตรวจสอบทางการเมืองของสื่อด้วย โดยระบุว่า ต่อกรณีการปราบปรามการชุมนุมประชาชนในเดือนเม.ย.-พ.ค.2553 อคติที่สื่อกระแสหลักมีต่อคนเสื้อแดง ทำให้ไม่มีการตรวจสอบการเสียชีวิต บาดเจ็บ และการถูกซ้อมทรมานของประชาชน แต่กลับช่วยกันเน้นย้ำภาพความรุนแรงของคนเสื้อแดง และชายชุดดำ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการใช้กำลังปราบปรามประชาชน  อคติต่อคนเสื้อแดงทำให้ไม่สนใจที่จะตั้งคำถามที่น่าสงสัยหลายคำถามที่เกิดเกิดขึ้น และสังคมไทยจะไม่มีวันเป็นสังคมประชาธิปไตยที่เข้มแข็งเลย หากสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิในชีวิตที่รัฐจะละเมิดไม่ได้นี้ ไม่ได้รับการปกป้อง หากเรายอมรับให้หน่วยงานรัฐใช้อำนาจอย่างเกินขอบเขต ละเมิดสิทธิของกลุ่มการเมืองที่ตนต่อต้าน ก็เท่ากับกำลังช่วยกันเหยียบย่ำสิทธิและเสรีภาพของประชาชน อันเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างสังคมประชาธิปไตย ฉะนั้นคำถามที่สื่อมวลชนควรถามและตรวจสอบตัวเองก็คือ การผลักดันให้สังคมเป็นประชาธิปไตย เคารพในสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ถือเป็นพันธกิจที่สำคัญของสื่อมวลชนหรือไม่ อย่างไร

 

 

สตง.หวังทำงานร่วมสื่อมวลชนแต่ต้องเข้าใจธรรมชาติกันและกัน

 

 

ด้าน มณเฑียร เจริญผล รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กล่าวถึง บทบาทด้านการตรวจสอบระหว่าง สตง.และสื่อ ว่า แท้จริงแล้วทั้งสององค์กร มีจุดประสงค์เหมือนกันคือ มุ่งหาข้อเท็จจริงและตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ ว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นหรือไม่อย่างไร แต่ที่ผ่านมาพบว่า มีอุปสรรคเรื่องของรูปแบบการทำงานที่แตกต่างกัน ทำให้การทำงานร่วมกัน ไม่สามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่นเท่าที่ควร ดังนั้นหากมีการทำความเข้าใจร่วมกัน มีการเรียนรู้เรื่องของวัฒนธรรมการทำงาน เพื่อหาแนวทางการทำงานเรื่องการตรวจสอบภาครัฐดำเนินไปอย่างสอดคล้องกันก็น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าที่ผ่านมา

 

สำหรับประเด็นปัญหาที่ถูกกล่าวถึงนั้น มณเฑียรอธิบายว่า ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของเงื่อนไขเรื่องเวลาที่มีความแตกต่างกัน ระหว่างการทำงานของสื่อ ที่ต้องการความรวดเร็วในการนำเสนอประเด็นต่างๆ ในขณะที่สตง.จะต้องดำเนินการต่างๆ ไปตามขั้นตอน เพื่อให้เกิดความถูกต้องชัดเจน และยังต้องมีหลักฐานสนับสนุนแน่ชัด ก่อนที่จะเปิดเผยข้อมูลออกไป ทำให้บางครั้งรู้สึกเหมือนล่าช้าไม่ทันใจสื่อ แต่อยากทำความเข้าใจถึงข้อจำกัดด้านการทำงานและวัฒนธรรมรูปแบบการตรวจสอบขององค์กรประเภทนี้ ทั้ง สตง.หรือ ปปช.ต่างก็ต้องอาศัยหลักฐานก่อนการชี้มูล ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ การพูดคุยร่วมกันระหว่างสื่อมวลชน และ สตง.ในการหาแนวทางเพื่อการทำงานร่วมกันเพื่อให้ประโยชน์ที่สุด

 

                    “บางครั้งมีนักข่าวโทรศัพท์มาถามผมว่า เรื่องนี้ไปถึงไหนแล้ว แต่ผมก็พูดอะไรไม่ได้ถึงแม้ว่าเราจะรู้หมดว่า เรื่องราวเป็นอย่างไร ใครทำอะไรที่ไหน หลักฐานคืออะไร แต่ในขณะที่เรายังไม่มีหลักฐานครบถ้วน ก็ไม่สามารถที่จะเปิดเผยอะไรไปก่อนได้ อย่างไรก็ตามประโยชน์ที่เราเห็นจากการทำงานร่วมกับสื่อคือ บางครั้งการทุจริตที่เราตรวจสอบ จนชี้มูลเหล่านี้ คนที่ทำผิดมักไม่กลัว เพราะใช้เวลานานในการตรวจสอบ ลงโทษ แต่หากมีมาตรการทางสังคม จากการเผยแพร่ของสื่อ ก็เป็นสิ่งที่ดี ทำให้คนไม่กล้า แต่การทำงานร่วมกันระหว่างสื่อกับสตง.ก็ต้องมีความเข้าใจในวัฒนธรรมการทำงานที่แตกต่างกัน สื่อต้องการความรวดเร็ว ในขณะที่สตง.ต้องอาศัยการตรวจสอบเอกสารข้อมูลที่ชัดเจน ถูกต้องการจะชี้มูลเรื่องใดซักเรื่องหนึ่งต้องใช้เวลา ดังนั้นจึงต้องหาทางออกว่า เราจะทำงานร่วมกันได้อย่างไร ที่จะทำให้ได้ประโยชน์มากที่สุด”

 

มุ่งพัฒนาข้อมูลหนุนสื่อ

 

 

อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะเป็นอุปสรรคที่เกิดขึ้น จากเรื่องของรูปแบบการทำงาน ที่อาจจะแตกต่างกัน แต่ขณะนี้ในส่วนของสตง.ได้พยายามพัฒนา ปรับปรุงรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ตอบสนองการทำงานของสื่อมากขึ้น ข้อมูลหลายอย่างที่สามารถเปิดเผยได้แล้ว จะนำออกเผยแพร่ในเว็บไซต์ของสำนักงาน ที่ www.oag.go.th ขณะเดียวกัน ยังมีการทำงานร่วมกันกับสื่อโทรทัศน์ หรือหนังสือพิมพ์บางฉบับ ในการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจ และรู้จักการทำงานของ สตง.มากขึ้น เพราะแท้จริงแล้ว สตง.ทำงานด้านการตรวจสอบการใช้เงินของแผ่นดินมาเป็นเวลาถึง 97 ปีแล้ว แต่จนถึงปัจจุบันประชาชนยังรู้จักสตง.น้อย บางส่วนยังเข้าใจว่า เป็นส่วนหนึ่งของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งตั้งมาทีหลังด้วยซ้ำ ดังนั้นหากจะประชาสัมพันธ์สำนักงานได้หลังจากนี้ จะดำเนินการในทุกรูปแบบ

 

 

เผยหลากประเด็นตรวจสอบการใช้เงินรัฐ

 

 

รองผู้ว่าการสตง.ยังกล่าวถึงประเด็นการตรวจสอบของสตง. ซึ่งที่ผ่านมามีการตรวจสอบการใช้เงินแผ่นดินของภาครัฐในหลายกรณี โดยยกตัวอย่าง เรื่องของการใช้เงินในการเลือกตั้ง ที่ขณะนี้พบว่ามีการเลือกตั้งจำนวนมากในประเทศ โดยระบุว่า ประเด็นหนึ่งที่สตง.สนใจคือ การลาออกก่อนครบเทอมของนักการเมืองท้องถิ่น ทำให้รัฐต้องเสียงบประมาณในการเลือกตั้งครั้งใหม่โดยไม่จำเป็นจำนวนมาก โดย สตง.ได้ทำหนังสือไปยัง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อสอบถามข้อสงสัยนี้ ว่ากรณีดังกล่าวทำให้รัฐเกิดความสูญเสียหรือไม่ จนล่าสุด ได้รับหนังสือตอบ จาก กกต. ว่า กกต.ได้ออกกฎว่าหากนักการเมืองท้องถิ่นลาออกก่อนกำหนด และจะต้องมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ ผู้ที่ลาออกจะต้องจ่ายเงินสำหรับการเลือกตั้งครั้งใหม่นั้นด้วย แต่ขณะนี้ไม่ทราบว่า มีการออกประกาศนี้แล้วหรือไม่

หรือในเรื่องของข้อสงสัยเกี่ยวกับโครงการซื้อแท็บเล็ตจำนวน 1 ล้านเครื่อง ตามนโยบายแจกเครื่องแท็บเล็ตให้กับเด็ก ป.1 ของรัฐบาลเนื่องจาก สตง.ค้นพบข้อสงสัยหลายอย่างขณะนี้อยู่ระหว่างการขอเอกสารหลักฐานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบการใช้เงินของแผ่นดินในโครงการนี้ 

 

นอกจากนี้ สตง.ยังให้ความสำคัญกับปัญหาท้องถิ่นด้วย โดยมีการตรวจสอบในเรื่องของการใช้งบประมาณในท้องถิ่นด้วย เพราะพบว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่กัดกร่อนบ้านเมืองมาก โดยเฉพาะสิ่งที่เรียกว่าการ “ทุจริตทางความคิด” คือมีความพยามหลีกเลี่ยงกฎเกณฑ์ต่างๆ โดยใช้วิธีการตีความที่แตกต่างออกไป เพื่อทำให้เกิดประโยชน์กับตัวเองมากกว่า ซึ่งในท้องถิ่นพบมากในเรื่องของการ ทุจริตเรื่องการหาผลประโยชน์จากการก่อสร้างสาธารณูปโภคในท้องถิ่น ที่ส่วนใหญ่ถูกนำไปเป็นเครื่องมือในการหาเสียง มากกว่าเรื่องของการพัฒนา ซึ่ง สตง.ให้ความสำคัญทุกเรื่องเท่าเทียมกัน แต่สิ่งสำคัญคือ การติดตามของสื่อมวลชนเองด้วยว่า จะให้ความสำคัญในการติดตามตรวจสอบต่อไปตลอดจนจบเลยหรือไม่นั่นเอง

 

 

ปปช.ระบุสื่อยังให้ข้อมูลคอร์รัปชั่นกับประชาชนน้อยไป

 

 

ด้าน ภาส ภาสสัทธา ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ แสดงทัศนะต่อบทบาทของสื่อในการตรวจสอบภาครัฐว่า สื่อยังคงมีบทบาทน้อยในการเข้ามามีส่วนในการตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ ปัญหาสำคัญมาจากเรื่องที่สังคมมักมองเรื่องคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องที่ไกลตัว ธุระไม่ใช่ ทั้งที่การคอร์รัปชั่นนับเป็นอาชญากรรมร้ายแรงประเภทหนึ่ง ดังนั้นจะทำให้อย่างไรให้สื่อเห็นความสำคัญนี้ และทำให้ข้อมูลต่างๆ เข้าถึงประชาชนได้ แม้ว่าจากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนจากโพลต่างๆ ก็พบว่าประชาชนเห็นว่า ปัญหาคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาที่มีความสำคัญในอันดับสาม แต่หากไม่มีการจูงใจประเด็นนี้เข้าสู่ความสนใจของสาธารณะ ก็เป็นเรื่องยากที่จะทำให้ลดปัญหานี้ลงได้ เขายังชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบันมีอุปสรรค 3-4 ประการ ที่ทำให้ไม่สามารถหยุดยั้งการคอร์รัปชั่นได้ เช่น ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากอิทธิพลของผู้เสียประโยชน์ เหมือนกับที่ประสานได้สะท้อนออกมาให้เห็นจากการทำงานในพื้นที่ ทั้งเรื่องการผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับอาชีพการงาน หรือแม้กระทั่งส่งผลกระทบต่อชีวิต จึงทำให้สื่อไม่สามารถนำข้อมูลที่ได้ไป ตีแผ่ให้สังคมได้รับรู้มากนัก หรือการดำรงอยู่ของระบบอุปถัมภ์ ซึ่งแม้จะไม่ได้เป็นสิ่งเลวร้ายในสังคมไทย ทำให้ถูกมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา จนเป็นเหตุให้บางครั้งระบบแบบนี้ ถูกนำไปเป็นเครื่องหากินของคนบางกลุ่ม

 

ชี้การลงโทษทางสังคมทำงานเร็วกว่ากฎหมาย

 

 

“จากผลการสำรวจระบุว่า คนไทย 60 กว่าเปอร์เซ็นต์ ยอมรับในเรื่องของการคอร์รัปชั่นได้ แต่ขอให้มีผลงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากลัว แต่ที่น่าตกใจกว่านั้น ผลการสำรวจความคิดเห็นเด็กมีถึง 70 กว่าเปอร์เซ็นต์ ที่ระบุว่า ยอมรับได้ ผมมองว่าเป็นเรื่องร้ายแรง และสื่อก็ควรจะตีแผ่ให้สังคมเห็นว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาร้ายแรงด้วย ก่อนหน้านี้มีการตัดสินคดีคอร์รัปชั่นของ อดีตนายกเทศมนตรี เมืองหนึ่ง ให้จำคุกเป็นเวลา 175 ปี ที่เกิดจากการกระทำผิดต่างกรรมต่างวาระ แต่ปรากฏเป็นข่าวกรอบเล็กๆ ในหนังสือพิมพ์บางฉบับ ไม่นานก็ลืมกันไป ดังนั้นผมคิดว่าสื่อควรจะทำให้สังคมรับรู้ ทำให้เป็นเรื่องใหญ่ในฐานะฐานันดรที่ 4 ที่ควรจะไม่ทำให้เรื่องนี้เงียบหายไป” ผู้ช่วยเลขาธิการ ปปช.กล่าว พร้อมกับระบุด้วยว่า การทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรอิสระด้านการตรวจสอบภาครัฐ เช่น สตง. หรือ ปปช. กับสื่อ เป็นสิ่งสำสำคัญที่จะช่วยได้ เพราะองค์กรตรวจสอบ มีกฎหมาย มีเครื่องมือ แต่ขายเรื่องประชาสัมพันธ์ แต่สื่อมีพื้นที่ในการประชาสัมพันธ์ หากสามารถทำงานร่วมกันได้ นอกจากการลงโทษทางกฎหมายแล้ว การลงโทษด้วยมาตรการทางสังคมที่มีอิทธิพลสูง ทำให้คนกลัวที่จะกระทำผิด ก็น่าจะทำให้ปัญหาคอร์รัปชั่นเหล่านี้ลดน้อยลงได้ในที่สุด

 

“สิ่งที่เราอยากให้เกิดคือ การมีส่วนร่วมของสังคม อยากให้สังคมเห็นว่าปัญหาคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องสำคัญร้ายราย ที่ต้องให้ความสำคัญและอยากให้สื่อได้ทำ สื่อที่เข้าถึงประชาชนมากที่สุด ซึ่งขณะนี้เรามีการให้ทุนกับสื่อที่ต้องการสื่อสารเรื่องของการทุจริตในรูปแบบต่างๆ โดยชี้ให้เห็นโทษร้ายแรงนี้ โดยสามารถส่งผลงานรูปแบบต่างๆ ทั้ง การทำข่าว, สื่อโทรทัศน์แอนิเมชั่น, สปอร์ตวิทยุ หรือแม้กระทั่งละคร หรือสื่อเอาท์ดอร์ สามารถส่งมาขอทุนได้ เราจะมีการพิจารณาเพื่อให้ทุนในการดำเนินการ ซึ่งจะเป็นแนวทางหนึ่งที่ทำให้ประชาชนเข้าใจและเห็นความสำคัญของปัญหาคอรัปชั่นมากขึ้น” ผู้ช่วยเลขาธิการ ปปช.กล่าว

 

 

สถาบันการศึกษาห่วงเด็กรุ่นใหม่หมดกำลังใจเป็นนักข่าว

 

 

ในตอนท้ายของเวทเสวนามีการเปิดเวทีให้กับผู้เข้าร่วมได้ร่วมแสดงความคิดเห็น โดยประเด็นหนึ่งที่ถูกกล่าวถึงคือ ความยากลำบากในการสืบค้นข้อมูลของนักข่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานของนิสิตนักศึกษา ที่ต้องฝึกงานการทำงานข่าว เนื่องจากไม่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานหรือองค์กร สิ่งที่นักศึกษาวารสารศาสตร์ที่ฝึกทำงานข่าวจะได้ส่วนใหญ่ จึงมักจะเป็นประเด็นในเรื่องของสังคมมากกว่า เช่นเรื่องของ ยาเสพติด หรือการพนัน ที่แหล่งข่าวส่วนใหญ่มักเป็นคนใกล้ชิด เพื่อนฝูง ญาติพี่น้อง ซึ่งไม่สามารถที่จะทำให้ข้อมูลข่าวนำเสนออย่างมีน้ำหนักกว้างขวางออกไปได้ แม้ว่าจะเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งต้นตอที่แท้จริงของข่าว เนื่องจากจะส่งผลกระทบโดยรวมต่อทั้งนักศึกษาและผู้ที่เป็นแหล่งข่าว

 

 

นอกจากนี้ประเด็นปัญหาเรื่องของกำลังใจจากนักข่าวรุ่นพี่ ก็เป็นสิ่งสำคัญ หลายครั้งที่พบว่านักศึกษาฝึกงานข่าว ถูกรุ่นพี่มองด้วยสายตาที่ไม่ดี ทำให้หมดกำลังใจที่จะเข้าสู่วงการข่าวไปเลยก็มี นอกจากนี้ในยังมีการตั้งคำถามถึงบริบทอื่นๆ ในสังคม ที่ทำให้เกิดสิ่งที่ทำให้การทำงานข่าวไม่สามารถเดินไปจนถึงเป้าหมายที่แท้จริงได้ แม้ว่านักข่าวจะพยายามทำงานอย่างเต็มที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น อิทธิพลทางการเมือง วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ที่เป็นอุปสรรคทำให้ไม่สามารถทำงานได้เต็มที่

 

“เรื่องของอิทธิพลขององค์กร ยังเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า บางครั้งการทำงานอย่างตรงไปตรงมาของนักข่าวที่ดีในอดีต ก็ไม่ได้รับผลตอบแทนที่ดีเสมอไป เพราะที่ผ่านมาเราก็เคยเห็นว่า นักข่าวเหล่านี้ได้รับผลตอบแทนคือ การเสียชีวิต อดอยาก หรือไม่ก็ถูกถอดจากพื้นที่ที่เคยมี แล้วให้ไปทำอย่างอื่นแทน ในขณะที่คนที่ไม่ได้ทำอย่างตรงไปตรงมากับเฟื่องฟู ร่ำรวยมีชื่อเสียง ต้องฝากกลับไปว่า เราจะดูแลอย่างไรกับสิ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้อง นอกจากปัญหาสังคมการเมือง ยังมีระบบอุปถัมภ์ ผู้มีอำนาจทางการเมืองมากำกับเหนือสื่อเหล่านี้”

 

 

แนะเจาะลึกประเด็นสังคมแทนตรวจสอบทุจริตภาพรวม

 

 

สำหรับประเด็นนี้ สถาพรได้แสดงความคิดเห็นตอบพร้อมข้อเสนอแนะโดย กล่าวว่า จริงๆ แล้ว การทำงานข่าวในเชิงสืบสวนสอบสวน หรือตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ  มีข้อจำกัดเยอะมาก เช่น ปัญหาเรื่องของความไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะการทำงานข่าวของนักข่าวในท้องถิ่น แต่หามองในอีกมุมหนึ่งก็จะเห็นได้ว่า การทำงานข่าวสืบสวนสอบสวน นักข่าวไม่จำเป็นต้องทำประเด็นเรื่องการทุจริตเสมอไป แต่อาจจะเลือกมุมของประเด็นข่าวที่น่าสนใจ และลงลึกสืบสาวหาข้อเท็จจริงไปให้ครบทุกด้านก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ได้ประโยชน์ได้เช่นกัน เช่น กรณีนักศึกษาขับรถซิ่งแหกโค้งบนถนนรัชดาภิเษก บริเวณหน้าศาลอาญา หากตรวจสอบจะพบว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องของหลักวิศวกรรมที่ไม่เหมาะสม และหากลองสืบค้นไปอีก อาจจะมีข้อมูลเพิ่มเติมได้ว่า มีถนนที่ถูกสร้างอย่างไม่ถูกต้องแบบนี้อีกกี่ที่ ก็ถือว่าเป็นข่าวที่ดีได้

 

สถาพรยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า แม้ว่าการทำงานข่าวในเชิงสืบสวนสอบสวน เกี่ยวการตรวจสอบทุจริตต่างๆ จะมีผลกระทบต่อความปลอดภัย แต่สิ่งที่ตนและทีมงานมักใช้ในการแก้ปัญหานี้ก็คือ ความกล้าที่จะเดินเข้าไปเพื่อให้ผู้ที่ถูกกล่าวหาได้มีโอกาสชี้แจง ในขณะเดียวกันข้อมูลที่ได้มาจะเป็นเป็นหลักทางวิทยาศาสตร์คือพิสูจน์ได้ มีเอกสารหลักฐานที่ครบถ้วน ถูกต้องและชัดเจน ก็จะเป็นเกราะป้องกันด้านความปลอดภัยได้อย่างหนึ่งด้วย

 

เวทีเสวนายังมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการทำงานร่วมกันอีกหลายประเด็น โดยในมุมของสื่อมวลชนและองค์กรอิสระด้านการตรวจสอบการทำงานของภาครัฐอย่าง สตง. และ ปปช. ล้วนมองไปในทิศทางเดียวกันนั่นคือ จะหาแนวทางอย่างไร ที่จะสามารถทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพได้ และเชื่อว่าหลังจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนครั้งนี้ น่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ในขณะที่ภาคของการศึกษา ยังคงนำเสนอในประเด็นเรื่องของการทำงานที่จะทำอย่างไรให้สื่อสามารถทำงานได้อย่างมีอิสระ ซึ่งจะส่งผลต่อทัศคติของคนรุ่นใหม่ ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่วงการนี้ในอนาคต ซึ่งแม้จะเป็นการพูดคุยในช่วงเวลาไม่นานนัก แต่ผู้เข้าร่วมสัมมนาส่วนใหญ่เชื่อว่า การเปิดเวทีในลักษณะนี้ให้มากขึ้น จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่จะช่วยกระตุ้นให้สื่อมวลชน รวมไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้มีโอกาสพัฒนาการทำงานในบทบาทของการเป็นผู้ตรวจสอบการทำงานของภาครัฐได้อย่างเข้มแข็งมากขึ้นนั่นเอง

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: