เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2555 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (โอนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ไปรวมกับกรมป่าไม้) ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
ทั้งนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พิจารณาเห็นว่า กรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีภารกิจเกี่ยวกับการอนุรักษ์ สงวน คุ้มครอง ฟื้นฟู ดูแล รักษา ส่งเสริม และทำนุบำรุงทรัพยากรป่าไม้ ซึ่งมีลักษณะงานที่ซ้ำซ้อนและมีพื้นที่รับผิดชอบบางส่วนทับซ้อนกัน มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการตามกฎหมายเกี่ยวกับการป่าไม้อย่างเดียวกัน จากการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 และกฎหมายที่เกี่ยวข้องในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาพบว่า เกิดปัญหาในการบริหาร ทั้งในด้านนโยบาย วิชาการ บุคลากร และการบังคับใช้กฎหมาย เป็นเหตุให้ระบบการบริหารงานและการบังคับใช้กฎหมายขาดประสิทธิภาพ ดังนั้นเพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ของประเทศมีเอกภาพและเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล สมควรรวมกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กับ กรมป่าไม้ เป็น “กรมป่าไม้”
โดยมีสาระสำคัญคือ 1.กำหนดให้โอนบรรดาอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือมติของคณะรัฐมนตรี ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ไปเป็นอำนาจหน้าที่ของกรมป่าไม้ ทส. (ร่างมาตรา 4) 2.กำหนดให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน งบประมาณ สิทธิ หนี้ ภาระผูกพัน ข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้าง และอัตรากำลัง ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ไปเป็นของกรมป่าไม้ (ร่างมาตรา 5) 3.กำหนดให้โอนอำนาจหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และอำนาจหน้าที่ของอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ไปเป็นของกรมป่าไม้ และอธิบดีกรมป่าไม้ (ร่างมาตรา 6)
4.กำหนดให้ในวาระเริ่มแรก กรมป่าไม้นอกจากจะมีส่วนราชการตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2551 แล้ว ให้มีส่วนราชการตาม (2) (4) (6) (7) (8) (9) (10) และ (11)–(26) แห่งกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2547 ด้วย และให้โอนอัตรากำลังในส่วนราชการของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ไปเป็นของส่วนราชการกรมป่าไม้ (ร่างมาตรา 7) 5.กำหนดให้ในวาระเริ่มแรก ให้ อ.ก.พ. กระทรวงฯ พิจารณาจัดตำแหน่งและเกลี่ยอัตรากำลังของข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้าง ที่โอนมาจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในส่วนที่นอกเหนือจากมาตรา 7 (1)-(8) ไว้ในกรมป่าไม้ (ร่างมาตรา 8)
ทั้งนี้สำหรับนโยบายการยุบรวมกรมป่าไม้และกรมอุทยานฯ เข้าด้วยกันนั้น ได้เคยมีแนวคิดมาตั้งแต่ในปี 2549 แต่ต่อมาได้เกิดการรัฐประหารเปลี่ยนรัฐบาลทำให้ต้องยุติการดำเนินการไป และเมื่อนายสุวิทย์ คุณกิตติ มารับหน้าตำแหน่งรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็ได้รื้อฟื้นนโยบายการยุบรวมกรมทั้งสองขึ้นมาอีกครั้ง โดยให้เหตุผลเพื่อลดความซ้ำซ้อนในการทำงาน และปัญหาเกี่ยวกับการทำหน้าที่ในพื้นที่ซึ่งยังมีความชัดเจน จนกระทั่งล่าสุดได้มีการนำเรื่องเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาดังกล่าว
นายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เคยให้สัมภาษณ์ถึงนโยบายการยุบรวมกรมป่าไม้และกรมอุทยานฯ ว่า การดำเนินการมีความคืบหน้ามาตามลำดับ หลังจากมีการนำเรื่องเสนอต่อ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เพื่อพิจารณาก่อนที่จะได้รับความเห็นชอบโครงการดังกล่าว
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ก.พ.ร. ได้เสนอกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ จัดทำประชาพิจารณ์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งได้ดำเนินการตามข้อเสนอ จากนั้นจึงนำข้อมูลเสนอกลับไปยัง ก.พ.ร. และได้เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และเมื่อได้รับความเห็นชอบจาก ครม.แล้วตามขั้นตอนจะต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ เพื่อเขาสู่กระบวนการต่อไป
ทั้งนี้สำหรับโครงการสร้างการยุบรวมกรมป่าไม้กับกรมอุทยานฯ เข้าด้วยกัน จะใช้ชื่อ กรมป่าไม้ โดยจะมีอธิบดี 1 ตำแหน่ง รองอธิบดี 6 ตำแหน่ง ส่วนตำแหน่งระดับ 9 ที่อาจจะทับซ้อน ก็ให้เกลี่ยไปอยู่ในตำแหน่งสำคัญ ๆ เฉลี่ยกันไป แต่ที่คาดว่า จะมีปัญหาคือ ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนัก ที่ทั้ง 2 หน่วยงาน มีการทับซ้อนกันมาก อย่างไรก็ตามยืนยันว่า การยุบรวมกรมดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อข้าราชการระดับล่าง หรือพนักงานพิทักษ์ป่าที่มีจำนวนหลายหมื่นคน และเชื่อว่าการยุบรวมทั้งสองกรมจะสามารถดำเนินการได้ภายในรัฐบาลนี้แน่นอน
ด้าน นายดำรงค์ พิเดช อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวว่า นับเป็นเรื่องที่ดี หากจะมีการรวมกรมป่าไม้และกรมอุทยานฯ เข้าเป็นกรมเดียวกัน เพราะที่ผ่านมาทั้งสองกรมต้องประสบปัญหาในการทำงานเป็นอย่างมาก เพราะถึงแม้ว่าจะอยู่ภายใต้กระทรวงเดียวกัน แต่สำหรับการทำงานในพื้นที่กลับมีปัญหาสับสนอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในพื้นที่ของป่าสงวนแห่งชาติ และป่าอนุรักษ์ในเขตอุทยานแห่งชาติ หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าพื้นที่ก็ทับซ้อนกัน แต่อยู่ภายใต้กฎหมายคนละฉบับ เจ้าหน้าที่ทำงานแล้วเกิดความสับสน รวมไปถึงเรื่องกำลังเจ้าหน้าที่ ที่ไม่พอเพียงในการทำงาน รวมไปถึงความสับสนของประชาชน ที่เมื่อไปติดต่อราชการและมักจะสับสนคิดว่ากรมป่าไม้และกรมอุทยานฯ ยังเป็นกรมเดียวกัน ทำให้เสียเวลาในการติดต่อประสานงาน หากรวมเป็นกรมเดียวกันมั่นใจว่าจะทำงานได้สะดวกมากขึ้น
ขณะที่นายสุวิทย์ รัตนมณี อธิบดีกรมป่าไม้ แสดงความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยระบุว่า การรวมทั้งสองกรมเข้าสู่การเป็นกรมป่าไม้ ถือว่าเป็นเรื่องดีและเหมาะสม เพราะป่าไม้ก็คือป่าไม้ ประชาชนจะได้ไม่ต้องมาแยกแยกว่า พื้นที่ใดคือป่าสงวนหรือป่าอนุรักษ์ แต่พื้นที่ทั้งหมดก็ล้วนเป็นป่าเดียวกันทั้งสิ้น และทุกคนจะต้องช่วยกันดูแล ช่วยกันอนุรักษ์เมื่อเกิดการบุกรุก ทุกหน่วยก็ต้องช่วยกันไม่ต้องตรวจสอบว่าเป็นพื้นที่ใคร ไม่ต้องกลัวว่าจะเกิดปัญหาเรื่องอำนาจหน้าที่ ทุกพื้นที่คือป่าไม้ที่ต้องร่วมกันอนุรักษ์ ปกป้องดูแล แม้กระทั่งจุดบริการประชาชนเกี่ยวกับป่าไม้ ซึ่งต่อไปจะต้องมีหน่วยงานเพิ่มขึ้นในระดับท้องถิ่นเป็นป่าไม้อำเภอ ป่าไม้จังหวัด โดยประชาชนที่อยู่ต่างจังหวัดไม่ต้องมาติดต่อประสานงานที่กรมป่าไม้ในกรุงเทพฯ แต่สามารถทำธุรกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับป่าไม้ได้ตามหน่วยงานระดับท้องถิ่นได้เลย
“ในส่วนของการประสานงานต่างๆ รวมกัน ก็ไม่คิดว่าจะมีปัญหาใดๆ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการบริหารการจัดการ สถานที่ตั้งทั้ง 2 กรมก็อยู่ใกล้กัน ความรู้ด้านวิชาการต่างๆ สามารถผนวกเข้าด้วยกัน ปัญหาเรื่องการขาดกำลังคนก็จะลดลง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการปกป้อง ดูแลทรัพยากรป่าไม้ได้อย่างแน่นอน” อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าว
อย่างไรก็ตามมีรายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ว่า สำหรับขั้นตอนการดำเนินการหลังจากนี้ จะต้องมีการนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาและดำเนินการตามขั้นตอนก่อนที่จะออกประกาศเป็นกฎหมายต่อไป ในเรื่องของโครงสร้างของกรมใหม่นั้นจะต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาใหม่โดยไม่อิงกับโครงสร้างเดิมที่เคยมีการพิจารณาออกแบบไว้ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาพอสมควร โดยปัจจุบันกรมป่าไม้มีข้าราชการ พนักงาน และเจ้าหน้าที่ทั้งหมดประมาณ 40,000 คน ขณะที่กรมป่าไม้มีอยู่ทั้งสิ้น 20,000 คน และหากมีการรวมกรมทั้งสองเข้าด้วยกันจะทำให้มีข้าราชการและเจ้าหน้าที่สูงถึง 60,000 คน ภายใต้กรมที่ชื่อว่า “กรมป่าไม้” เหมือนเดิม ทั้งนี้ยืนยันว่าจะไม่มีการปลดเจ้าหน้าที่ออกจากตำแหน่งหลังจากการควบรวมหน่วยงานทั้งสองแล้วแน่นอน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกรมอุทยานแห่งชาติฯ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2545 ตามพระราชกฤษฎีกา เล่มที่ 119 ตอนที่ 99 ก. ด้วยความพยายามของนายปลอดประสพ สุรัสวดี ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ สมัยนั้น ที่จะดึงงานของกรมป่าไม้ ในส่วนของงานด้านอนุรักษ์และอุทยานแห่งชาติ ที่เดิมสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาไว้ในกระทรวงใหม่แห่งนี้ โดยเป็นอธิบดีกรมอุทยานฯคนแรก ส่วนงานด้านป่าเศรษฐกิจยังคงอยู่ในสังกัดกรมป่าไม้เช่นเดิม และต่อมาย้ายมาสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติเช่นเดียวกัน ซึ่งหลังจากการแยกกรมใหม่ออกไปจากกรมป่าไม้ สร้างความสับสนวุ่นวายให้กับข้าราชการเป็นอย่างมาก ทั้งในการปฏิบัติงาน และการประสานงาน ที่มีความซ้ำซ้อนกัน กระทั่งต้องกลับมารวมกันเหมือนเดิมในที่สุด ซึ่งหากรวมระยะเวลาแล้วไม่ถึง 10 ปี
ขอบคุณภาพจากไทยรัฐ
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ