การจัดการของรัฐ กับไข้หวัดนก

8 พ.ย. 2555 | อ่านแล้ว 2583 ครั้ง


 

ไข้หวัดนก (Avian influenza หรือชื่อสามัญ bird flu) เป็นโรคที่เกิดจากไวรัสไข้หวัดใหญ่ชื่อ H5N1 ซึ่งพบได้ในสัตว์ปีก ค้นพบครั้งแรกใน พ.ศ. 2460-2461(ค.ศ.1918-1920) ในประเทศอิตาลี เรียกกันว่าไข้หวัดสเปน (Spanish Flu)  โรคนี้ระบาดอย่างหนักทั่วโลก เริ่มแพร่ระบาดจากฝั่งอาร์กติก และข้ามมาสู่ฝั่งแปซิฟิกภายในระยะเวลา2เดือน มีการประมาณผู้เสียชีวิตทั่วโลกประมาณ 50-100 ล้านคน หรือเท่ากับคนจำนวน1ใน3ของประชากรของทวีปยุโรป

ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2500-2501 (ค.ศ.1957-1958) เรียกว่า ไข้หวัดใหญ่เอเชีย (Asian Flu) มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกประมาณ 1-4 ล้านคน

ครั้งที่ 3 เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2511 (ค.ศ.1968) เรียกว่า ไข้หวัดใหญ่ฮ่องกง (Hong Kong Flu) มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกประมาณ 1-4 ล้านคน ต่อมาเกิดการระบาดขึ้นอีก โดยเริ่มต้นที่ฮ่องกงในปี พ.ศ. 2540

ต้นปีพ.ศ. 2546 มีการระบาดของเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ที่รุนแรงอีกสายพันธุ์คือ H7N7 ที่ประเทศเนเธอแลนด์ มีผู้ป่วย 83 ราย เสียชีวิต 1 ราย

ครั้งแรกของประเทศไทยที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อ H5N1 คือเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2546 โดยพบว่ามีผู้ป่วยและเสียชีวิตมากที่สุด คือป่วย 17 ราย เสียชีวิต 12 ราย ในปี พ.ศ. 2548 ป่วย 5 ราย เสียชีวิต 2 ราย และปี พ.ศ. 2549 ป่วย 3 ราย เสียชีวิต 3 ราย รวมพบผู้ป่วย 25 ราย เสียชีวิต 17 ราย

 

อาการป่วย

ในสัตว์ปีกที่ติดเชื้อจะมีไข้ ซึม ไม่กินอาหาร เหนียงบวม มีสีแดงคล้ำ มีจุดเลือดออกที่หน้าแข้ง ไอ จาม น้ำมูกไหล อาจท้องเสีย ชัก มีการระบาดในกลุ่มอย่างรุนแรงจนตายอย่างรวดเร็ว ส่วนเป็ดและห่านมักจะทนทานต่อโรคสูงกว่าสัตว์ปีกอื่นๆ จึงไม่ค่อยป่วยง่าย แต่ก็ยังพบว่ามีเป็ด ห่าน ป่วยตายด้วยโรคนี้ เมื่อปี พ.ศ.2547 ที่มีการระบาดในประเทศไทยและเวียดนาม โดยทั่วไปหากสัตว์ปีกติดเชื้อแล้ว มักเสียชีวิตเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ และการจะตรวจสอบว่าสัตว์ตายจากเชื้อไข้หวัดนกหรือไม่จะต้องผ่านการตรวจจากห้องปฏิบัติการ

          ในคนที่ติดเชื้อ จะมีการไข้สูงมากกว่า 38 องศา หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามข้อ ไอแห้ง ตาแดง มักพบอาการปวดบวมในผู้ป่วยทุกคน ขณะที่ผู้ที่มีโรคประจำตัวอาจมีอาการรุนแรง หายใจลำบาก หอบ และอาจมีอาการระบบหายใจล้มเหลวอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งเสียชีวิตได้ ส่วนมากมีระยะเวลาป่วย 5-13 วัน และหากติดเชื้อไข้หวัดนกแล้วมีโอกาสเสียชีวิตถึงร้อยละ 70-80 ส่วนมากจะเสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลวในวันที่ 9-10 หลังมีอาการป่วย

 

การแก้ไขสถานการณ์ของภาครัฐ

            ตั้งแต่เกิดการระบาดในประเทศไทย รัฐบาลมีการแต่งตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ คณะทำงาน และศูนย์ปฏิบัติการในระดับประเทศ เพื่อควบคุมและป้องกันโรคไข้หวัดนกมากมาย ได้แก่

 

1.คณะกรรมการพิจารณาแก้ไขวิกฤติสถานการณ์ไข้หวัดนกในไก่         

คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 11/2547 วันที่ 23 มกราคม 2547 มีอำนาจหน้าที่ดังนี้ 1.กำหนดมาตรการติดตามดูแลด้านสุขอนามัย กำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือ 2.ประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่ถูกต้องว่าประเทศไทยสามารถยับยั้งโรคระบาดในไก่ 3.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 4.สั่งการส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องให้ปฏิบัติและให้การช่วยเหลือ 5.รายงานผลการดำเนินการต่อนายกรัฐมนตรีทุก 15 วัน พร้อมสรุปรายงานภาพรวมภายใน 1 เดือน

 

2.ศูนย์ประสานงานแก้ไขปัญหาโรคระบาดสัตว์ปีก

คำสั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ 34/2547 วันที่ 23 มกราคม 2547 โดยศูนย์ประสานงานแก้ไขปัญหาโรคระบาดสัตว์ปีก ได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมา 4 ชุด ได้แก่

            2.1 คณะทำงานแก้ไขปัญหาโรคระบาดสัตว์ปีกภายในประเทศ

            2.2 คณะทำงานแก้ไขปัญหาโรคระบาดสัตว์ปีกที่มีผลกระทบระหว่างประเทศ

            2.3 คณะทำงานประสานงานเฉพาะกิจเพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาโรคระบาดสัตว์ปีก

            2.4 คณะทำงานช่วยเหลือฟื้นฟูเกษตรกรและผู้ประกอบการสัตว์ปีกที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดสัตว์ปีก

 

3.คณะกรรมการพิจารณาแก้ไขสถานการณ์โรคไข้หวัดนก

คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 185/2547 วันที่ 23 กรกฎาคม 2547 และมีคำสั่งนายกรัฐมนตรีในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการต่างๆ เพื่อเป็นองค์ประกอบคณะกรรมการพิจารณาแก้ไขสถานการณ์โรคไข้หวัดนก ดังนี้

            3.1 คณะอนุกรรมการแก้ไขสถานการณ์โรคไข้หวัดนก

            3.2 คณะอนุกรรมการด้านวิชาการเพื่อกำหนดแนวทางศึกษาวิจัยโรคไข้หวัดนก

            3.3 คณะอนุกรรมการกำหนดยุทธศาสตร์การเลี้ยงไก่และสัตว์ปีก และการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูป

            3.4 คณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์โรคไข้หวัดนก

            3.5 ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาโรคไข้หวัดนก

 

4.คณะกรรมการอำนวยการป้องกัน ควบคุม แก้ไขสถานการณ์โรคไข้หวัดนก

คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี 266/2548 วันที่ 15 กรกฎาคม 2548 และมีการแต่งตั้งใหม่อีกครั้งตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี 466/2548 วันที่ 14 พฤศจิกายน 2548

 

5.คณะกรรมการอำนวยการป้องกัน ควบคุม แก้ไขสถานการณ์โรคไข้หวัดนก และการเตรียมพร้อมสำหรับการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่

คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 226/2549 วันที่ 6 ธันวาคม 2549 ยกเลิกคำสั่งสำนายกรัฐมนตรีที่ 466/2548 14 พฤศจิกายน 2548 และมีการแต่งตั้งใหม่อีกครั้งตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 109/2550 วันที่ 29 มีนาคม 2550

โดยมีอำนาจหน้าที่หลักคือ 1.กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ในการป้องกันและควบคุมการระบาด เตรียมพร้อม กำกับดูแล รวมทั้งกำหนดมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ 2.ดำเนินงานบูรณาการงบประมาณและการประสานงานกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง 3.อำนวยการจัดระบบประสานงานและการสื่อสารการปฏิบัติในช่วงวิกฤต 4.วางกรอบนโยบายในการประสานการสนับสนุนความร่วมมือกับองค์กรนานาชาติ

            ทั้งนี้ ได้แต่งคณะอนุกรรมการ 3 ชุด ได้แก่

            5.1 คณะอนุกรรมการเครือข่ายห้องปฏิบัติการวินิจฉัยโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีก

5.2 คณะอนุกรรมการจัดทำแผนยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาโรคไข้หวัดนก และการเตรียมพร้อมรับการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2551-2553)

 

 

 

 

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ

  

Like this article:
Social share: