เด็กอีสานหนุนกองทุนสื่อฯ อิสระจากรัฐให้ปชช.จัดการ

ศูนย์ประสานงานสื่อสร้างสุขภาวะเด็กและเยาวชนภาคอีสาน (ศสอ.) 12 ต.ค. 2555 | อ่านแล้ว 2949 ครั้ง

เครือข่ายสื่อสร้างสุขภาวะเด็กและเยาวชน ภาคอีสาน ร่วมกับครู เครือข่ายผู้ปกครองชุมชนส่องเหนือ จ.มหาสารคาม และเครือข่ายโรงเรียนสานฝันอุดมการณ์ชาวนา จ.กาฬสินธุ์ ระดมความคิดเห็นในประเด็น กองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ฯ ถ้าเกิดขึ้นแล้วชุมชนจะได้รับประโยชน์และเข้าถึงอย่างไร โดยมีแกนนำชุมชน ครอบครัว ครู เข้าร่วมแลกเปลี่ยนกว่า 50 คน

 

นายสุธรรม มูลเสก โรงเรียนสานฝันอุดมการณ์ชาวนา กล่าวในการระดมความคิดว่า “ปัจจุบันสื่อกับการทำงานพัฒนาเป็นของควบคู่กัน ทำดีต่อสื่อสาร ถ้าไม่มีงบประมาณชุมชนสามารถทำได้ แต่ได้แบบฝีมือแบบบ้าน ๆ ทั้งนี้มองว่าสื่อมีอิทธิพลจริง ๆ กับชาวบ้าน ยกตัวอย่าง สื่อโฆษณา ยาฆ่าหญ้า ฆ่าหอย ในรายการมวย ชาวบ้านหลงเชื่อ ซื้อกันมากจนลืมภูมิปัญญาในการในการแก้ไขปัญญา

 

ถ้าเรามีงบประมาณสนับสนุนการทำงานสามารถซื้อเวลา หรือหาช่องทางดี ๆ เพื่อสื่อสารในเรื่องราวชุมชนให้มากขึ้น สามารถเปลี่ยนทัศนคติต่องานพัฒนาชุมชนเป็นงานร่วมสร้างไม่ใช่ผู้นำชุมชน หรือนักการเมืองตัวแทนที่ชาวบ้านรอความหวังอย่างเดียว หรือกองทุนสื่ออาจสนับสนุนพื้นที่ในการคิดวิเคราะห์ ศึกษาสื่อวัฒนธรรมที่กำลังเลือนหาย นำไปสู่การรื้อฟื้นมาต้านกระแสสื่อบริโภคนิยมที่ชี้นำให้คนในชุมชน ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่หลงและคล้อยตาม” นายสุธรรมกล่าว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ด้านนางสมบูรณ์ ภูจำปา กลุ่มเกษตรอินทรีย์หนองตอกแป้น จ.กาฬสินธุ์ กล่าวในการเวทีว่า จากการดูรายการทีวีอยู่ประจำพบว่า ปัจจุบันรายการดี ๆ มีน้อย รายการที่เกี่ยวข้องเกษตรอินทรีย์ วิถีชุมชน ก็มีไม่มาก พบแต่รายการประเภทความบันเทิง แฟชั่น การแต่งกาย แม้แต่รายการข่าวมีเนื้อหาไม่เหมาะสม นำเสนอให้เด็กเยาวชนเป็นผู้ใหญ่เกินตัว

 

 

                   “ละครทีวีเป็นแบบอย่างให้เด็กในชุมชนมีพฤติกรรมเลียนแบบ เด็ก ๆ ชอบดู ทำให้ไม่สนใจเรื่องชุมชน เรื่องความคุณธรรม ความกตัญญู ผู้เฒ่า ผู้แก่ ก็ตามไม่ทันที่จะสอนลูกหลาน ยิ่งห้ามยิ่งยุ กองทุนสื่อถ้าเกิดขึ้นจะเป็นโอกาสปลุกให้คนชุมชนได้นั่งคุยกัน หารูปแบบสร้างสื่อการสอนเด็ก ๆ เพื่อสร้างการเรียนรู้ ดูแลเด็ก ๆ ร่วมกันกับโรงเรียน”

 

 

ขณะที่นางวัลภา รินทรึก แกนนำผู้ปกครองชุมชนส่องเหนือ กล่าวว่า การทำงานที่ผ่านมาเด็ก ๆ ที่นี่มีพฤติกรรมติดสื่อ เล่นเกม ชอบโทรศัพท์ หนีเรียน มีพฤติกรรมเรื่องเพศไม่เหมาะสม ความประพฤติว่านอนสอนยาก ไม่ช่วยงานบ้านและกิจรรมกับชุมชน จึงเป็นจุดคิดให้ชุมชนรวมกลุ่มกันแก้ไขปัญหา ที่ผ่านมาชุมชนมีการสนับสนุนการทำงานส่วนหนึ่งจากสสส. แม้ไม่มากแต่ทำให้คนชุมชนมีโอกาสพื้นที่คุยกัน พัฒนาตนเองเพื่อเป็นแกนนำครอบครัวอาสาดูแลลูกหลาน

 

 

 

 

 

         

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

                 “ขณะนี้มองภาพการทำงานระยะยาว คือการสร้างสภาพแวดล้อมในชุมชน ให้เอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็ก ๆ โดยพยายามสร้างฐานการเรียนรู้ในชุมชน ให้ผู้เฒ่าผู้แก่มาสอนลูกหลานขับร้องทำนองสรภัญญะ สอนการอ่าน และเล่านิทานในช่วงละครหลังข่าว ทำพานบายศรี ขันหมากเบ็ง แต่งเพลง เล่นละครชุมชน สิ่งเหล่านี้มีอยู่ในชุมชนทุกที่ ถ้ามีกองทุนสื่อจะเป็นโอกาสในการทำงานที่ต่อยอด นำไปสู่การสื่อสารนอกชุมชน หรือพัฒนาเป็นหลักสูตรร่วมกับโรงเรียน ให้ชุมชนได้เข้าไปถ่ายทอด ชุมชนกับโรงเรียนจะมีกิจกรรมทำร่วมกัน ใกล้กันมากขึ้นโดยเฉพาะชุมชนเมืองที่โรงเรียนกับชุมชนมักขาดปฏิสัมพันธ์กัน” นางวัลภากล่าว

 

 

นายอัมพร วาภพ ผู้ประสานงานเครือข่ายสื่อสร้างสุขภาวะเด็กและเยาวชน ภาคอีสาน กล่าวว่า ขณะนี้สื่อไปเร็ว เด็ก ๆ เข้าถึงสื่อง่าย โดยเฉพาะการรับสื่อจากการใช้อินเตอร์เน็ต จากการทำงานมาพบว่าเด็ก ๆ ในโรงเรียนนอกเมือง มีน้อยมากที่สามารถเลือกรับ วิเคราะห์สื่อที่กำลังใช้อยู่ได้ ผู้ปกครองมักโยนให้โรงเรียนดูแลเด็ก แต่ระหว่างทางเด็กกลับบ้าน มีสิ่งดึงดูดเขามากมาย เช่น ร้านเกม ร้านอินเตอร์เน็ต ที่ดึงดูดให้สนใจ นำไปสู่การสร้างพื้นที่เฉพาะตัว หรือเรียกว่าสังคมเสมือนจริงในสื่อ ทำให้ขาดปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่ หรือแม้แต่เพื่อน ๆ ลงไปเรื่อย ๆ บางคนมีพฤติกรรมก้าวร้าว ชอบความรุนแรงจากเกมที่เล่นอย่างเห็นได้ชัด

 

 

เคยคุยหาทางออกกับโรงเรียนและชุมชน หลาย ๆ ที่มีความคิดดี ๆ มีแนวทางในการแก้ไขปัญหา แต่ไม่มีการสนับสนุนจริง ๆ จัง ๆ จากหน่วยงานภาครัฐมาเพิ่มเติม สนับสนุนในสิ่งที่ชุมชนไม่สามารถทำได้เอง เช่น องค์ความรู้ การพัฒนาศักยภาพชาวบ้าน ผู้ปกครอง การผลิตสื่อสร้างสรรค์ หรือพัฒนาฐานวัฒนธรรมพื้นบ้านให้ชุมชนทำงานให้เกิดรูปธรรมในการทำงาน มีแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เกิดขึ้น

 

 

 

          “กองทุนสื่อฯ เป็นเครื่องมือหนึ่ง ที่จะให้ชุมชนกับโรงเรียนจัดการปัญหา ดูแลลูกหลานด้วยตนเอง โดยไม่รอความหวังจากหน่วยงานภาครัฐ หรือกระทรวงที่ดูแลรับผิดชอบ ที่มักแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ ทำกิจกรรมสร้างกระแสเหมือนไฟไหม้ฟางเฉพาะหน้าไป”

 

 

นอกจากนี้ยังมีข้อคิดเห็นจากผู้ปกครองที่สะท้อนว่า กองทุนสื่อฯ จะเป็นโอกาสให้ฟื้นฟู สื่อวัฒนธรรมชุมชนที่กำลังโดนลดทอนด้วยกิจกรรมไม่สร้างสรรค์ เช่น งานศพที่มีเหล้า มีการพนัน สื่อบุคคล ผู้นำชุมชน ครู มีพฤติกรรมการพนัน ก่อหนี้ ติดสุรา ประเพณีดั้งเดิม เช่น สงกรานต์เป็นประเพณีฉาบฉวย เป็นเรื่องความสนุกสนาน จนลืมรากเหง้าที่แท้จริง ประเด็นที่ต้องคิดร่วมกัน กองทุนนี้จะทำหน้าที่อย่างนั้นได้ ต้องมีหน้าตาเป็นอย่างไร

 

วัชระ กลุ่มเยาวชนรักษ์ถิ่น กล่าวว่า กองทุนสื่อต้องมีกระบวนการสร้างความเข้าใจให้ชุมชนในเรื่องโครงสร้าง ประโยชน์ การเข้าถึง รูปแบบการสนับสนุน แต่หากกองทุนสื่ออยู่ภายใต้รัฐ คิดโดยคนเดียว ผลที่เกิดกับชุมชนเป็นไปได้ยาก เพราะฉะนั้นต้องมีความอิสระ ประชาชนเข้าไปร่วมจัดการ มีกรอบเกณฑ์ที่เอื้อต่อการทำงาน เช่น การนิยาม ปลอดภัย สร้างสรรค์ เพื่อเด็ก เยาวชน (กำหนดหน้าตาช่วยกัน) ที่สำคัญควรมีรูปแบบการสนับสนุนการทำงานที่สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย เช่น กลุ่มเยาวชน ชุมชน นักวิชาการ สื่อวิชาชีพ (ควรมีเกณฑ์การสนับสนุนหลายระดับ และเงื่อนไขนี้ต้องชัดเจน)

 

สุรสม กษณะจูฑะ นักวิชาการจาก มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า เงื่อนไขของกองทุนสื่อต้องชัดเจน ว่ากองทุนนี้มุ่งไปทางไหน เช่น มุ่งไปที่การผลิตสื่อ หรือ มุ่งเพื่อชุมชน ถ้าเป็นการสนับสนุนชุมชน ก็ควรห้ามบริษัท ธุรกิจขนาดใหญ่ได้รับประโยชน์ ควรมีประชาพิจารณ์ในเรื่องนี้ทั้งในระดับเล็ก ใหญ่ ชุมชนสามารถสำรวจต้นทุนและค้นหาสื่อในพื้นที่เพื่อนำมาปรับใช้พัฒนาเด็ก ๆ ได้ เช่น โมเดล 100 สื่อดีที่เครือข่ายสภาสื่อสร้างสรรค์อุบลฯ กำลังทำถือเป็นเครื่องมือสำคัญ เป็นฐานข้อมูลทำให้รู้ว่าเรามีอะไร ใช้ประโยชน์อะไร ถ้าชุมชนหรือภาคประชาชนมองว่ากองทุนนี้ต้องเป็นอิสระ ไม่อยู่ภายใต้รัฐ ก็ควรสื่อสารผ่านสื่อที่มีพลัง เช่น สื่อ กระแสหลัก แต่เราจะเตรียมตัว เตรียมข้อมูลอย่างไร เรากล้าไหม เตรียมตัวแค่ไหน คิดให้ชัด ถ้ากองทุนสื่อเพื่อชุมชนหน้าตาเป็นอย่างไร จะไปถึงอย่างไร

 

อาจารย์โรงเรียนบ้านส่องเหนือกล่าวอีกว่า เห็นด้วยกับการกำหนด ขอบเขต เงื่อนไขการสนับสนุน ที่สำคัญก่อนเกิดขึ้นของกองทุนนี้ควรสื่อสารให้ชุมชน ชาวบ้าน ได้รู้ว่ากองทุนทำหน้าที่อะไร ให้ชุมชนสะท้อนข้อคิดเห็นในรูปแบบการสนับสนุนที่ชุมชน ชาวบ้าน จะเข้าถึงและมีส่วนร่วมในการจัดการในระดับต่าง ๆ ได้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

                    “การไม่สื่อสารก่อนการทำงานจะไม่มีประโยชน์ เพราะไม่สามารถตอบโจทย์กับความต้องการของชุมชนได้ ที่เห็นขณะนี้มีแต่ ร่างพ.ร.บ.ของภาคประชาชนที่ตนได้รับรู้ข้อมูล ส่วน ร่างพ.ร.บ.ฉบับของกระทรวงวัฒนธรรม นั้นไม่ทราบรายละเอียดเนื้อหาว่าเป็นอย่างไร ชุมชนจะได้อะไร เข้าไปเป็นเจ้าของได้อย่างไร ถ้าเกิดขึ้นจริง”

 

 

ในช่วงท้ายของการประชุมมีข้อเสนอว่า หากกองทุนสื่อเกิดขึ้นต้องเป็นเครื่องมือ เป็นโอกาสในการทำงาน เปิดพื้นที่ในการทำงานมากขึ้น มีมหกรรมการการเรียนรู้ นำเสนอสื่อดี ๆ ที่ชุมชนสร้างขึ้น สนับสนุนให้เกิดพื้นที่พูดคุยของคนทำงานด้านเด็ก ของคนในชุมชน ที่ไม่อติการทำงานในหลาย ๆ พื้นที่ เพื่อแลกเปลี่ยนรูปแบบ เครื่องมือในการทำงาน รวมทั้งทำหน้าที่สื่อมวลชนนำเสนอบทเรียนที่ดีให้ นักวิชาการกับชุมชนมาเจอกันช่วยอธิบายงานที่ทำ เช่น นิทาน หนังบักตื้อ สรภัญญะ ฐานการเรียนรู้ในชุมชน สามารถทำให้เด็กมีพฤติกรรมสุขภาวะที่ดีได้อย่างไร แต่ก่อนจะไปถึงการรับการสนับสนุนจากกองทุนสื่อนั้น เราเตรียมตัวเอง ยกระดับการทำงานให้มีความพร้อม เช่น ภารกิจที่เครือข่ายสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน ภาคอีสาน และภาคอื่น ๆ ที่มีการเตรียมความพร้อม และสะท้อนความคิดเห็นผ่านพื้นที่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง ให้กองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นกองทุนสานฝันเด็กไทย ให้ชุมชนได้รับประโยชน์ และมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ เพราะกลไกพัฒนาเด็กและเยาวชน ที่สำคัญคือคำตอบอยู่ที่นี่ ไม่ใช่อยู่ในกระทรวง ทบวง กรม ใด ๆ

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: