จัดทัพป้อง‘ยิ่งลักษณ์’ศึกซักฟอก ปชป.เปิด7ข้อ-พท.สั่งชงข้อมูลรอ ระดมม็อบหนุน-ไล่รอเสียงนกหวีด

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ 12 พ.ย. 2555 | อ่านแล้ว 2055 ครั้ง

 

นักการเมืองอาชีพและนักวิเคราะห์การเมือง พูดไปในทิศทางเดียวกันว่า 20 วันสุดท้ายของเดือนพฤศจิกายนต่อเนื่องถึงต้นเดือนธันวาคม 2555 คือช่วงที่กระดานการเมืองร้อนที่สุด เพราะช่วงเวลาดังกล่าว มีทั้งเกมการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร และเกมการเคลื่อนไหวที่สนามม้านางเลิ้ง รวมทั้งเกมการจัดตั้งม็อบเสื้อแดงรอวัน-เวลาที่แกนนำจะเป่านกหวีดอยู่อย่างเงียบ ๆ ที่นอกเมือง

 

กำหนดการทางการเมือง ที่บอก วัน ว. เวลา น. มาแล้ว คือวันที่ 25-26 พฤศจิกายน 2555 คือดีเดย์อภิปรายไม่ไว้วางใจ คู่ขนานกับการเปิดสนามม้านางเลิ้ง หวังให้คนมา 1 ล้านของ ‘เสธ.อ้าย’ พล.อ.บุญเลิศ แล้วประสิทธิ์ ที่จะจัดชุมนุมรอบที่ 2 ในวันเสาร์ที่ 24 พฤศจิกายน ส่วนแกนนำเสื้อแดงก็ประสานงานใต้ดินให้ทะยอยเดินทางมาสแตนบายใกล้ ๆ เมืองหลวง เพื่อสะดวกในการติดต่อ เข้าชุมนุมเช่นกัน ทั้งนักการเมืองฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล และแกนนำมวลชนทุกขั้ว จึงเตรียมการวางแผนทั้งตั้งรับ และรุก ตามจังหวะการขับเคลื่อนทางการเมืองของแต่ละฝ่าย

 

 

 

 

‘ทำเนียบฯ-รัฐสภา-สนามม้า-นอกเมือง’ กางแผนรอ

 

 

เกมในสภาผู้แทนราษฎร เริ่มเห็นเส้นทางรุกที่ชัดเจนขึ้น เมื่อนายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานร่วมพรรคฝ่ายค้าน ยื่นเรื่องอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีแล้ว 4 คน คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รมช.มหาดไทย และ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม

 

โดยระบุว่า การยื่นขออภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีอีก 3 คน เป็นการยื่นที่เป็นไปตามข้อมูล เอกสาร และหลักฐานที่ทางพรรคฝ่ายค้านมีอยู่ คณะทำงานจึงตัดสินใจร่วมกัน ซึ่งในขณะนี้ไม่ได้มีการจัดทีมอภิปรายแต่อย่างใด เป็นเพียงผู้ที่มีรายชื่อของพรรคประชาธิปัตย์ ประมาณ 10-20 คน ที่จะเตรียมตัวอภิปรายรัฐมนตรีตามที่ได้รับมอบหมาย

 

 

น่าแปลกไม่มีชื่ออภิปราย ‘บุญทรง’

 

 

ท่ามกลางข้อกังขา-ในเงื่อนงำ ที่ไม่ปรากฏชื่อ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ ที่คนทั่วโลกรับรู้ข่าวสาร ว่ามีการเกี่ยวพันกับโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ด 2 ฤดูกาลไม่น้อยกว่า 50 ล้านตัน ที่เป็นนโยบายหลักของรัฐบาล

 

เหตุผลของแกนนำฝ่ายค้านคือ ต้องการพุ่งเป้าไปที่นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล เจ้าของนโยบายจากพรรคเพื่อไทย ที่มีสโลแกน “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” เพียงคนเดียว หวังยิงนัดเดียว กวาดเป้าหมายได้ทั้งคณะ

 

 

 

นายจุรินทร์บอกเงื่อนล็อกไว้ล่วงหน้าว่า เหตุผลที่ไม่ยื่นอภิปรายนายบุญทรงโดยตรง เพราะเชื่อว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจน.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล จะทำให้ผู้ที่ถูกอภิปราย ต้องเป็นผู้ชี้แจงเอง แต่หากนายกรัฐมนตรีจะให้ผู้อื่นชี้แจงแทน ก็ถือว่านายกรัฐมนตรียอมรับต่อข้อกล่าวหาที่ทางพรรคฝ่ายค้านอภิปราย

 

 

“เป็นหน้าที่ของฝ่ายค้านที่ตรวจสอบรัฐบาลแทนประชาชน ซึ่งการกระทำผิดกฎหมายหรือการทุจริตจะไม่จบในที่ประชุมสภาฯ เพราะก็ได้ยื่นถอดถอนนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีอีก 2 คนต่อวุฒิสภา เพื่อจะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปแล้ว” ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาลกล่าว

 

 

ญัตติชี้ ‘สร้างภาพ-เอื้อพวก-เลือกปฏิบัติ-ละเว้น’

ญัตติ-เนื้อหา ที่ประกาศล่วงหน้า สาเหตุในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เช่น มีพฤติกรรมการบริหารราชการแผ่นดินบกพร่อง ล้มเหลว ผิดพลาด ไร้ความสามารถ ไร้ประสิทธิภาพ ไม่ปฏิบัติตามนโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภา มีพฤติกรรมพูดอย่างทำอย่าง นโยบายป้องกันและปราบปรามการทุจริตเป็นแค่เครื่องมือ "สร้างภาพ" "เอื้อพวก" มีการ "เลือกปฏิบัติ" และ "ละเว้น" เป็นหลายมาตรฐาน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

               “ทั้งยังมีพฤติกรรมปล่อยปละละเลย ให้มีการทุจริตการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน กระจายไปในกลุ่มบุคคลและหน่วยงานต่าง ๆ  รวมทั้งบริหารราชการโดยไม่คำนึงถึงคุณธรรมจริยธรรม รังแกข้าราชการประจำ ทำลายระบบนิติรัฐ เห็นประเทศเป็นบริษัท ขัดหลักนิติธรรม มีพฤติกรรมลอยตัว เลี่ยงความรับผิดชอบ เอื้อพวกพ้อง ปล่อยปะละเลยให้ผู้มีอำนาจเหนือตัว เหนือรัฐธรรมนูญ”

 

 

ญัตติยังระบุด้วยว่า นายกรัฐมนตรี มีพฤติกรรมการบริหาร โดยไม่จงใจรับผิดชอบต่อรัฐสภา ขาดวุฒิภาวะความเป็นผู้นำ และมีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ปิดหูปิดตาประชาชน ปิดบังข้อมูลจงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย จึงเสนอชื่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ระบุ 3 รมต.บกพร่อง-ล้มเหลว-ขาดความรู้

 

 

ส่วนเหตุในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีอีก 3 คน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 271 เนื่องจากบริหารราชการบกพร่อง ล้มเหลว ไร้ประสิทธิภาพ ขาดความรู้ ความสามารถ ลุแก่อำนาจ ขาดคุณธรรม จริยธรรมเล่นพรรคเล่นพวก เลือกปฏิบัติ มุ่งสนองบุญคุณผู้ที่มีบุญคุณทางการเมืองมากกว่าผลประโยชน์ส่วนรวม ปล่อยปะละเลยให้มีการทุจริตไม่คำนึงถึงหลักนิติธรรมและนิติรัฐ ทั้งนี้รัฐมนตรีบางคนมีพฤติกรรมจงใจกระทำผิดกฎหมายและรัฐธรรมนูญ

 

ขณะที่เกมของฝ่ายรัฐบาล มีทีมรัฐมนตรี 9 คน ทำเนียบรัฐบาล และนายสุรนันท์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และกุนซือของนายกรัฐมนตรี จัดเตรียมข้อมูล ตั้งรับทุกรูปแบบ

 

 

ปรับครม.ตั้งองครักษ์ป้อง ‘ยิ่งลักษณ์’

 

 

ดังนั้นการปรับคณะรัฐมนตรี “ยิ่งลักษณ์ 3” ทั้ง 23 ตำแหน่ง ที่ผ่านมา จึงมี 1 เงื่อนไขอยู่ในสำรับคือ การตั้งทีม 6 รองนายกรัฐมนตรี รวมกับ 3 รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นทีมช่วยเหลือ และเป็นแนวต้าน ไม่ให้ภัยการเมืองถึงตัวนายกรัฐมนตรีโดยตรง

 

นับเป็นการเก็งข้อสอบที่ไม่ผิดนักของพรรคเพื่อไทย ที่จัดทัพรับมือฝ่ายค้านไว้ที่ทำเนียบรัฐบาล พร้อมทีมสนับสนุนที่จัดตั้งนายภูมิธรรม เวชชยชัย เลขาธิการพรรค ร่วมกับทีมยุทธศาสตร์ที่ครบเครื่องทั้งฝ่ายกฎหมาย อย่าง นายชูศักดิ์ ศิรินิล และคณะ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

แต่ข้อสังเกตของนักการเมืองในฝ่ายรัฐบาล มีข้อน่ารับฟังว่า ทีมของฝ่ายทำเนียบกับทีมของพรรค อาจไม่ราบรื่นเหมือนทุกครั้ง เพราะแผลการปรับคณะรัฐมนตรี และท่าทีของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทำให้เกิดรอยร้าวลึก ทำให้แกนนำในพรรคหลายคนอาจ “เกียร์ว่าง” ปล่อยให้เกมในสภาไหลไปตามทางที่ฝ่ายค้านเซ็ตไว้

 

อย่างน้อยทีมยุทธศาสตร์พรรค ที่มีทั้ง นายจตุพร พรหมพันธ์ แกนนำคนเสื้อแดง และนายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรค ที่คงจะไม่ทุ่มเทในอัตรากำลังเท่าเดิม

 

ยิ่งเมื่อพิจารณาเนื้อหา ที่ฝ่ายค้านเปิดโผมาล่วงหน้า และโจทย์ที่ฝ่ายรัฐบาลเตรียมตอบ ก็ไม่ง่ายในการจัดเตรียมตั้งรับ ในศึกซักฟอกครั้งที่ 2 ในรอบ 1 ปี หลังจากเคยถูกรุมอภิปรายข้ามวันข้ามคืนมาแล้วในช่วงปลายปี 2554 ในวาระน้ำท่วมวิปโยค

 

 

สั่งขรก.ทุกกรมเตรียมข้อมูลตอบโจทย์ 7 ข้อ

 

 

สำหรับโจทย์ 7 ข้อ ที่ทีมทำเนียบรัฐบาล สั่งการให้ข้าราชการทุกสำนัก เตรียมข้อมูล เพาเวอร์พอยต์ คลิป ไว้ชี้แจงดังนี้

 

1.โครงการรับจำนำข้าว ที่มีปมเงื่อนที่อาจนำไปสู่การทุจริต การอ้างว่ามีการส่งออกข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ที่ยังไม่มีปริมาณที่แน่นอน ปมการสวมสิทธิข้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน การเวียนเทียนข้าว และการออกใบประทวนในการจำนำข้าว

 

2.ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ โดยเฉพาะราคายางพารา ปาล์ม มะพร้าว โดยเฉพาะนโยบายที่รัฐบาลทุ่มเงินในการพยุงราคายางพารา 15,000 ล้านบาท

 

3.การทุจริตการใช้งบน้ำท่วม 120,000 ล้านบาท หลีกเลี่ยงการจัดซื้อจัดจ้างผ่านระบบอี-ออคชั่น ปัญหาเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณตาม พ.ร.ก.เงินกู้ 350,000 ล้านบาทล่าช้า ที่ฝ่ายค้านพยายามเรียกข้อมูลเอกสารผ่านกลไกคณะกรรมาธิการต่าง ๆ มาตลอด

 

4.การดำเนินนโยบายต่างประเทศของนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศ ที่ออกหนังสือเดินทางให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

 

5.ความล้มเหลวในการ บริหารงานในสถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

 

6.การบริหารงานที่ไร้ประสิทธิภาพจนกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ เช่น ตัวเลขการส่งออกที่ตกต่ำ หนี้สาธารณะที่สูงขึ้น เทคนิคการใช้เงินนอกงบประมาณ 2 ล้านล้าน

 

7.การไม่กำกับให้กระบวนการยุติธรรม ติดตามตัว พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมาดำเนินคดี

 

ทั้ง 7 เรื่อง เป็นวาระที่ฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาลต่างจุดประกาย คำถาม-คำตอบ จนกว่าระฆังในสภาผู้แทนจะดังขึ้น

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เพื่อไทยเตรียม ‘สุนัย’ เจ้าเก่า ตั้งป้อมประท้วงป่วน

 

แผนปฏิบัติการของฝ่ายเพื่อไทย หวังใช้แนวทาง “ประท้วง-ดึงเกม” โดยทีมเก่า เป็นหัวขบวนรบในสภาผู้แทน เหมือนเมื่อครั้งที่ผ่านมา คือ ให้นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ร่วมมือกับ ส.ส.เสื้อแดง อาทิ จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย เตรียมวาระประท้วงฝ่ายค้านทันที หากอภิปรายพาดพิง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

 

ส่วนแผนระดับการสั่งการ จะประจำการอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล ทั้งในตึกบัญชาการของ 6 รองนายกฯ 3 รัฐมนตรีประจำสำนัก และ 1 เลขาธิการนายกฯ ที่ตึกไทยคู่ฟ้า และ 2 อรหันต์ ที่ปรึกษา ในตึกแดง นายวีระพงษ์ รามางกูร และ นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์

 

ขณะที่แกนนำพรรคฝ่ายค้าน ประกาศชัยล่วงหน้า โดยส.ส.ที่เชี่ยวชาญเรื่องข้าว น.พ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ที่เกาะติดข้อมูลรับจำนำข้าวมาอย่างยาวนาน รับประกันว่า รัฐบาลต้องสู่หลักประหาร

 

ขณะที่นักการเมืองในพรรคประชาธิปัตย์ บอกว่า มีข้อมูลการค้าข้าว ที่อาจพาดพิงไปถึง “เจ้าแม่ภาคเหนือ” ในพรรคเพื่อไทยด้วย และข้อพาดพิง บางประเด็น อาจไปไกลถึงนครดูไบ ซึ่งเป็นถิ่นพำนักของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีด้วย

 

ฝ่ายค้านยอมรับว่า แนวต้านและกำแพงของนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล และแนวรบในพรรคเพื่อไทย อาจไม่ต้องออกแรงมาก เพราะเสียงของพรรคเพื่อไทย รวมกับเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลในสภาผู้แทนราษฎร ก็ท่วมท้นที่จะลงมติ “ไว้วางใจ” ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2555 ได้

 

เพราะหากนับมือในสภาผู้แทนราษฎร มีทั้งพรรคเพื่อไทย 265 คน พรรคชาติไทยพัฒนา 19 คน พรรคชาติพัฒนา 7 คน และพรรคพลังชล 7 คน และ พรรคมหาชนอีก 1 ที่นั่ง ก็นับว่า “ผ่าน”

 

แถมยังมี นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ เจ้าแม่วังบัวบาน กับนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ยังจับมือนายสมศักดิ์ เทพสุทิน แห่งวังน้ำยม ในพรรคภูมิใจไทย ยังสัญญาล่วงหน้าว่าจัดทีม “งูเห่า” ให้อีก 7 เสียง เป็นอะไหล่กรณีการเมืองฉุกเฉินอีก

 

หากนับมือส.ส. รัฐบาลพรรคเพื่อไทย อาจผ่านเกมอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาผู้แทนราษฎร ไปได้ แต่เกมที่พี่-น้องรัฐบาลชินวัตร หวั่นไหว ว่าจะทำให้รัฐบาลจะอยู่หรือไป อาจอยู่นอกสภาและม็อบชานเมือง ที่ระอุ รอวันเป่านกหวีดให้เดือดทะลุขึ้นมา

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

 

หมายเหตุ

 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. 2550 มาตรา 158 กำหนดให้ ส.ส. จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ นายกรัฐมนตรี ญัตติดังกล่าวต้องเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปด้วย และเมื่อได้มีการเสนอญัตติแล้ว จะมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรมิได้ เว้นแต่จะมีการถอนญัตติหรือการลงมตินั้นไม่ได้คะแนนเสียงตามวรรคสาม

การเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปตามวรรคหนึ่ง ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับพฤติกรรมนายกฯ ที่มีพฤติการณ์ ร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ราชการ หรือจงใจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมาย ต้อง ยื่นถอดถอน ตามมาตรา 271 ก่อน

มติไม่ไว้วางใจต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่ มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร

ในกรณีที่มติไม่ไว้วางใจมีคะแนนเสียงไม่มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ส.ส. ซึ่งเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายนั้น เป็นอันหมดสิทธิที่จะเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกฯ อีกตลอดสมัยประชุมนั้น

ส่วนการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ รมต. เป็นรายบุคคล มาตรา 159 กำหนดให้ ส.ส. จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 6 เท่านั้น และให้นำบทบัญญัติมาตรา 158 วรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: