‘กิตติรัตน์’ยัดร่างเอฟทีเอ ให้ครม.อนุมัติในวาระจร

12 พ.ย. 2555 | อ่านแล้ว 1131 ครั้ง

เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี ก่อนที่น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปประเทศอังกฤษ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ เสนอวาระด่วน คือ ให้อนุมัติร่างกรอบเจรจาเอฟทีเอ ไทย-สหภาพยุโรป เพื่อเร่งนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา

 

นายจักรชัย โฉมทองดี ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) ตั้งข้อสังเกตว่า เอฟทีเอระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปเป็นการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ ที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง มีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน และงบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ เหตุใดรัฐบาลจึงทำอย่างลุกรี้ลุกรน ทำไมจึงเสนอเป็นวาระจร โดยที่ไม่มีการขอความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบวาระ

 

 

               “จนถึงปัจจุบัน กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ยังไม่ได้ดำเนินการให้ถูกต้อง ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มิใช่เป็นอุปสรรคหรือเป็นเรื่องยากอย่างไรทั้งสิ้น แต่เป็นการรับรองให้การเจรจาการค้า เป็นประโยชน์กับประเทศและสังคมในวงกว้างอย่างแท้จริง โดยไม่ปล่อยให้ผลได้กระจุกอยู่ในวงจำกัด แต่ผลเสียกระจายอย่างที่เคยเป็นมา”

 

 

กิจกรรมที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จัดขึ้นในช่วงปี พ.ศ.2553 แม้เป็นการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน แต่ไม่ได้มีการให้ข้อมูลใด ๆ ทั้งสิ้น การออกความคิดเห็นของประชาชนจึงไม่สามารถสะท้อนท่าทีของรัฐบาลหรือเนื้อหาในกรอบการเจรจาได้ นอกจากนี้การจัดประชุมกลุ่มย่อย โดยกรมเจรจาฯ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา แม้มีการนำร่างท่าทีของทางกรมฯ มาหารือ แต่ก็ไม่สามารถพิจารณาได้ว่า เป็นการรับฟังความเห็นประชาชน เนื่องจากเป็นการจัดลักษณะวงย่อยเฉพาะกลุ่ม แจ้งล่วงหน้าอย่างกระชั้นชิด ที่สำคัญคือกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญ เช่น ในประเด็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบุหรี่ ยังไม่ได้มีการหารือแต่อย่างใด

 

ดังนั้นหากรัฐบาลพิจารณาร่างกรอบการเจรจาฯ และเสนอให้รัฐสภาพิจารณาโดยไม่นำร่างดังกล่าว มารับฟังความคิดเห็นประชาชน ก็สุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะเข้าข่ายการดำเนินการขัดรัฐธรรมนูญ จะนำมาซึ่งความเสียหายต่อรัฐบาลเอง และประเทศชาติในที่สุด ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลจำเป็นต้องทำอย่างเร่งด่วนที่สุดคือ การนำร่างกรอบการเจราฯ มาจัดรับฟังความคิดเห็นประชาชน ก่อนเสนอต่อรัฐสภา ซึ่งจะไม่ทำให้เสียเวลาแต่ประการใด

 

ทางด้านน.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล นักวิจัยจากแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) กล่าวว่า เท่าที่ทราบมา ร่างกรอบเจรจาฯที่ครม.จะอนุมัติวันนี้ เป็นเพียงกรอบกว้าง ๆ ไม่สามารถป้องกันข้อห่วงใยเรื่องผลกระทบจากการเข้าถึงยาได้เลย

 

ในร่างกรอบเจรจาฯ ใช้คำว่า ‘ให้ระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาสอดคล้องกับระดับการคุ้มครองตามความตกลงขององค์การการค้าโลก และ/หรือความตกลงใด ๆ ที่ไทยเป็นภาคี’ โดยกรมเจรจาฯให้เหตุผลว่า เป็นไปตามกรอบการเจรจาอาเซียน-สหภาพยุโรปที่เคยผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา แต่ในการขยายความระหว่างการประชุม อธิบดีกรมเจรจาการค้าฯขณะนั้น ยอมรับว่า ที่ระบุเช่นนี้แปลว่า อนุญาตให้เจรจาความตกลงที่เกินไปกว่าความตกลงทริปส์ได้ เพราะในความตกลงทริปส์ขององค์การการค้าโลกเป็นมาตรการขั้นต่ำ จึงนับเป็นความสอดคล้อง ซึ่งมีเพียงตัวแทนสภาหอการค้าฯที่มาจากเครือเจริญโภคภัณฑ์ และพรีม่า ซึ่งเป็นสมาคมบริษัทยาข้ามชาติที่สนับสนุนอย่างแข็งขัน ขณะที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กรมทรัพย์สินทางปัญญา นักวิชาการ และภาคประชาสังคมต่างๆไม่เห็นด้วย

 

กรมเจรจาฯในฐานะเลขานุการฝ่ายเตรียมการเจรจา ไม่อ้างอิงความรู้และผลงานวิชาการใดๆ ในการจัดทำท่าที และยังพยายามกีดกัน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความรู้โดยตรงเข้าร่วมจัดทำท่าที แม้แต่ขณะที่นำวาระเข้าครม. ยังไม่ยอมถามความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะการศึกษาของสถาบันวิชาการหลายแห่งที่ให้ข้อมูลตรงกันว่า ข้อผูกพันดังกล่าวเป็นการผูกขาดตลาด และส่งผลให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อประเทศชาติ จากการศึกษานี้ชี้ชัดว่าค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศจะเพิ่มขึ้นทุกปีจากปกติที่เคยเป็น โดยในปีที่ 5 จะมีผลกระทบมากกว่า 80,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งสุดท้ายแล้ว จะส่งผลให้ประเทศต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น และประชาชนจำนวนมาก อาจไม่สามารถเข้าถึงยาจำเป็นได้ เพราะรัฐบาลอาจไม่มีงบประมาณเพียงพอที่จะสนับสนุน และส่งผลถึงระบบสาธารณสุขของประเทศโดยรวมในที่สุด

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: