เตรียมเด็กไทยรับอาเซียน ปรับหลักสูตรให้ตรงตลาด

วรลักษณ์ ศรีใย ศูนย์ข่าว TCIJ 12 ธ.ค. 2555 | อ่านแล้ว 1793 ครั้ง

 

 

 

ดร.วิษณุ วงศ์สินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์เตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต บรรยายหัวข้อ “เยาวชนอาเซียน : สิ่งที่ครูต้องสร้าง” ว่า คุณลักษณะที่สำคัญที่ระบบการศึกษาไทยควรจะสร้างให้เกิดขึ้นกับเยาวชนไทย เพื่อรับการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน รวมถึงสังคมโลกในศตวรรษที่ 21 ด้วย ซึ่งทั่วโลกพูดว่า เด็กในศตวรรษที่ 21 จะต้องมีทักษะ ไหวพริบ ปฏิภาณ คือต้องสอนให้เด็กเข้าใจปัญหา คิดอย่างพินิจ พิเคราะห์ สามารถประเมินสถานการณ์เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา และสรุปสิ่งเหล่านั้นเพื่อนำมาเป็นบทเรียน

 

นอกจากนี้ต้องสร้างให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ เป็นเอกลักษณ์ และสามารถทำออกมาได้จริง สิ่งเหล่านี้จะมีความสำคัญมากในอนาคต โดยเฉพาะกับภาคธุรกิจ ดร.วิษณุ ยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่ผลิตสินค้าอย่างมีเอกลักษณ์ ที่มาจากความคิดสร้างสรรค์ ดังนั้นญี่ปุ่นจะไม่กลัวสินค้าจากประเทศจีน แม้ว่าค่าแรงของญี่ปุ่นจะแพงกว่า เพราะญี่ปุ่นขายความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จีนทำไม่ได้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

                 “ถ้าเราสร้างให้เด็กของเรามีความคิดสร้างสรรค์  และนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ธุรกิจของเราจะสามารถสู้กับประเทศอื่น ๆ ได้ ต้องเข้าใจว่า ตลาดไม่ได้ต้องการสินค้าราคาถูกอย่างเดียว ตลาดยังต้องการสินค้าที่เป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ด้วย”

 

 

ทักษะการสื่อสารเป็นอีกคุณลักษณะหนึ่งที่ต้องสร้างให้เกิดขึ้นกับเด็กไทย ครูต้องสอนให้เด็กสื่อสาร ถ่ายทอดความคิดให้ได้ ฝึกเด็กตั้งคำถามให้เป็น เมื่อเด็กตั้งคำถามเป็น ทักษะอื่น ๆ จะตามมา นอกจากนี้ทักษะที่เด็กไทยควรจะถูกฝึกให้มีคือ รู้จักการทำงานร่วมกับผู้อื่น และการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม เพราะการทำงานร่วมกับผู้อื่น จะเป็นแบบฝึกหัดอย่างดีให้เด็กใช้ทักษะหลาย ๆ ด้าน เช่น การสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจ การโน้มน้าวใจ มารยาทในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม เรียนรู้ที่จะยอมรับความคิดของคนอื่นด้วย

 

ดร.วิษณุกล่าวต่อว่า กฎบัตรของอาเซียนได้ระบุถึงการมีทัศนคติในเชิงบวก และการยอมรับความเท่าเทียมของคนในสังคม ที่อาเซียนได้กำหนดไว้ว่า การจะเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียน ทุกคนจะต้องยอมรับความเท่าเทียมกันในสังคม ทั้งนี้หลักสูตรการศึกษาของไทย ควรจะเน้นการเรียนการสอนให้เด็กมีความคิดในเชิงบวก และเรียนรู้เรื่องความเท่าเทียมในสังคม

 

 

                 “ความเท่าเทียมกันในสังคม อาจจะเป็นเรื่องที่อธิบายยากสำหรับเด็ก แต่เป็นเรื่องที่เยาวชนไทยต้องเรียนรู้ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน แต่การสอนให้เด็กเรียนรู้และยอมรับเรื่องความเท่าเทียมแล้ว จะเป็นการนำเด็กไปสู่แนวคิดในเรื่องอื่นด้วย”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

และสิ่งที่ครูควรเน้น เพื่อให้เกิดกับเด็กไทยมากที่สุดคือ ระเบียบวินัย ต้องมีวินัยต่อตนเอง วินัยต่อสังคม ต้องยอมรับว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ไร้ระเบียบวินัยมาก ไม่มีการเคารพในสิทธิของกันและกัน ระเบียบวินัยจึงเป็นเรื่องที่ต้องสร้างจากเด็ก ๆ ขึ้นก่อนที่เขาจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ รวมไปถึงระเบียบวินัยต่อประเทศชาติ คือจิตสำนึกในความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งไม่ใช่การเลือกหัวหน้าห้องในชั้นเรียน ประชาธิปไตยน่าจะหมายถึงการรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น โน้มน้าวคนอื่นด้วยเหตุผลเพื่อให้เขาเห็นด้วยกับเรา แต่ถ้าเขามีเหตุผลดีกว่าเรา ต้องยอมรับความคิดเห็นนั้น จึงจะเรียกว่าประชาธิปไตย ดังนั้นประชาธิปไตยจึงเกิดจากการฝึกให้เด็กทำงานร่วมกับคนอื่น และยอมรับความคิดของคนอื่นด้วย

 

ดร.วิษณุกล่าวด้วยว่า นอกจากภาษาอังกฤษแล้ว เด็กไทยควรจะเรียนรู้ภาษาที่ 3 คือ ภาษาท้องถิ่นของประเทศเพื่อนบ้าน โดยเน้นเพียงการสื่อสารให้ได้ เช่น ภาษาพม่า ซึ่งขณะนี้ธุรกิจจำนวนมากไปลงทุนที่พม่า และภาษาบาซาร์ ประเทศในแถบอาเซียนมีคนพูดภาษาบาซาร์ได้ประมาณ 400 ล้านคน

 

 

                 “คนอินโดนีเซียเกือบ 300 ล้านคนพูดภาษานี้ คนสิงคโปร์บางส่วน ฟิลิปปินส์ มาเลเซียบางส่วนที่สามารถพูดภาษานี้ได้ รวมแล้วประมาณ 400 ล้านคน”

 

 

นอกจากนี้ต้องสอนให้เด็กเปิดใจให้กว้างเพื่อ รับวัฒนธรรมประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ชาวเวียดนามที่กินเนื้อสุนัขไม่ใช่เรื่องผิด เพราะเนื้อสุนัขเป็นอาหารชนิดหนึ่งของคนเวียดนาม ซึ่งความหลากหลายทางวัฒนธรรมเช่นนี้ ควรจะมีการสอนให้เด็กได้เรียนรู้เพื่อเปิดรับ และยอมรับเมื่อจะก้าวสู่ประชาคมอาเซียน รวมถึงกระตุ้นให้เด็กไทยกล้าออกไปเผชิญโลกในต่างประเทศ เช่น มีหลักสูตรนักเรียนแลกเปลี่ยน เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้จากวิถีชีวิตจริง

 

อย่างไรก็ตามการเตรียมเด็ก ข้อเสนอทั้งหมดเพื่อเตรียมเยาวชนไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน สิ่งที่ภาครัฐและหน่วยงานด้านการศึกษาต้องดำเนินการคือ ปรับปรุงหลักสูตรเพื่อให้สอดคล้องกับประชาคมอาเซียน  เช่น เน้นการสอนแบบวิเคราะห์ เพื่อให้เกิดเด็กเกิดความคิดสร้างสรรค์ เน้นกระบวนการเรียนการสอนแบบปฏิบัติให้มากขึ้น ให้ความสำคัญกับสายอาชีพ โดยเชื่อมต่อกับภาคธุรกิจให้เข้ามามีส่วนในการช่วยจัดหลักสูตรเพื่อให้ตรงตามความต้องการของตลาดด้วย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: