นายกฯเยี่ยมครูใต้13ธ.ค.  ปิด1,200รร.หลังฆ่า2ครู

ทีมข่าว ศูนย์ข่าว TCIJ 12 ธ.ค. 2555 | อ่านแล้ว 1556 ครั้ง

 

เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุการณ์คนร้ายบุกยิงผู้อำนวยการและครู ร.ร.บ้านบาโง อ.มายอ จ.ปัตตานี ว่า ที่ผ่านมาการลอบทำร้ายครูจะเกิดขึ้นในช่วงที่ครูเดินทางไปกลับระหว่างบ้านและโรงเรียน แต่กับเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งล่าสุดนี้ ครูที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ต่างได้รับผลกระทบด้านขวัญและกำลังใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากคนร้ายก่อเหตุด้วยการบุกไปทำร้ายครูถึงในโรงเรียน ฉะนั้นกระทรวงศึกษาธิการ จะประสานหน่วยงานความมั่นคงให้หาแนวทางปรับแผนรักษาความปลอดภัยครู โดยวันที่ 12 ธันวาคม คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กปต.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จะประชุมกับผู้บัญชาการเหล่าทัพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงน่าจะมีความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว

 

รมว.ศึกษาธิการกล่าวต่อว่า การปรับแผนรักษาความปลอดภัยครูนั้น จะต้องฟังข้อเสนอผู้แทนครูด้วย ทั้งนี้หากมีครูรายใดขอย้ายออกนอกพื้นที่เสี่ยงภัย กระทรวงจะดูแลให้เป็นพิเศษ อย่างไรก็ดีต้องขอชื่นชมครูที่ยืนหยัดอบรมสั่งสอนให้การศึกษากับเด็กในพื้นที่มาเป็นเวลาหลายสิบปี และน่าเสียใจที่มีการทำร้ายครู ที่เป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่มีความผิด ทั้ง ๆ ที่บุคลากรเหล่านี้ต่างปฏิบัติหน้าที่อย่างหนักเพื่อสอนลูกหลานของคนในภาคใต้

 

ด้าน นายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กปต.) ครั้งที่ 1 ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธานว่า ที่ประชุมได้ปรารภถึงความมุ่งหมาย ของการตั้งคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการขับเคลื่อน นโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.กปต.) ขึ้นมาเพื่อบูรณาการหรือร้อยกรองงาน โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงต่าง ๆ มาร่วมประชุม เพื่อร่วมกันคิดและเชื่อมโยงเนื้องานกับส่วนราชการต่างๆที่เกี่ยวข้อง

 

ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ที่ประชุมได้ตกลงในเบื้องต้น ให้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเพื่อทำหน้าที่ติดตาม เสมือนฝ่ายเลขานุการของศูนย์ โดยมอบหมายสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นเลขานุการ และมอบหมายให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองประธาน กปต. เป็น ผอ.ศปก.กปต. โดยจะให้มีการประชุมอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ปรารภไว้ นอกจากนี้ที่ประชุมได้หารือถึงการบูรณาการงบประมาณของกระทรวง ทบวง กรม และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้รับการจัดสรรงบประมาณในปี 2556 และกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ โดยจะดูเรื่องการเชื่อมโยงการใช้งบประมาณในแต่ละหน่วยงาน เพื่อให้เกิดความคุ้มค่า สมประโยชน์ในการแก้ไขปัญหา เพื่อสนองความต้องการของพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มากที่สุด

 

นายธงทองกล่าวต่อว่า ที่ประชุมได้เน้นย้ำเชิงนโยบายเรื่องการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีสาระสำคัญคือ 1. ให้น้ำหนักและความสำคัญเรื่องการพัฒนาเป็นพิเศษ ซึ่งจะทำคู่ขนานกับเรื่องการรักษาความมั่นคงปลอดภัย และเรื่องความยุติธรรม ทั้งนี้การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้จะยืนอยู่บนหลักของกระบวนการยุติธรรมที่ถูกต้อง จะไม่ใช้กลไกนอกเหนือกระบวนการยุติธรรม หรือกลไกที่ละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนของผู้ที่เกี่ยวข้องในทุกกรณี และทุกฝ่าย

 

นอกจากนี้ที่ประชุมได้หารือและให้ความสำคัญในเรื่องของการศึกษาเป็นพิเศษ โดยมีคณะกรรมการหลายคนยกประเด็นขึ้นมาหารือว่า ควรจะแยกเรื่องการศึกษาออกจากเรื่องการพัฒนาเป็นการเฉพาะ เพื่อให้เกิดความชัดเจน และควรให้มีคณะทำงานหรือผู้ดูแล เพราะเรื่องดังกล่าวมีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก เช่น เรื่องหลักสูตร สถานศึกษา การประกอบอาชีพหลังจากจบการศึกษา หรือการเชื่อมโยงกับระบบการศึกษาที่อยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว อาทิ โรงเรียนตาดีกา โรงเรียนปอเนาะ

 

ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า ในวันที่ 13 ธันวาคมนี้ นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปยังพื้นที่ภาคใต้ 2-3 จุด โดยจะลงเครื่อง ที่จ.ปัตตานี ส่วนจะไปในจังหวัดใดต่อนั้น ยังไม่ทราบกำหนดการที่ชัดเจน สำหรับวาระการเดินทางครั้งนี้ จะพบกับตัวแทนของครูและผู้ที่เกี่ยวข้อง เพราะนายกฯให้ความสำคัญเรื่องเรื่องขวัญและกำลังใจของครูในพื้นที่ และสนใจที่จะรับฟังข้อเสนอแนะต่าง ๆ

 

อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมนายกฯ ได้ปรารภถึงข้อเสนอของครูในภาคใต้ว่า อยากจะให้มีศูนย์หรือหน่วยงานดูแล และการลงพื้นที่ในวันที่ 13 ธันวาคม นายกฯจะไปรับฟังและพูดคุยเพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น และจะนำกลับมาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ประชุมได้พูดคุยกันถึงเรื่องผู้ก่อการร้ายหรือไม่ เนื่องจากเรื่องดังกล่าวไม่มีความคืบหน้า เปรียบเหมือนกับไล่ตามจับเงาตัวเอง และชาวบ้านก็รับเคราะห์ นายธงทองกล่าวว่า ขอให้คณะทำงาน ศปก.กปต.ได้ทำงานสักระยะหนึ่ง การบูรณาการการทำงานในส่วนนี้ ตนเชื่อว่าทุกคนอยากจะเห็นความสงบสุขกลับคืนมา แต่คงต้องใช้เวลา ความพยายาม และความอดทนร่วมกัน เราหวังให้เป็นอย่างนั้น และค่อยๆทำงานไปด้วยความมุ่งหวังว่าสักวันหนึ่งเราจะก้าวข้ามพ้นปัญหาอุปสรรคทั้งหลาย

 

ด้าน นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังประชุม กปต. ว่า ขณะนี้โรงเรียนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 921 โรงเรียน ตลอดจนโรงเรียนในเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) สงขลา เขต 3 บางแห่ง ประกาศปิดการเรียนการสอนเบื้องต้นระหว่างวันที่ 13-14 ธันวาคม เพื่อรอดูแนวทางมาตรการรักษาความปลอดภัยที่ชัดเจนจากรัฐบาล เนื่องจากเห็นว่ามาตรการที่ใช้อยู่ในปัจจุบันยังไม่ปลอดภัย ทั้งนี้หากจะให้ทุกโรงเรียนกลับมาเปิดการเรียนการสอนตามปกติได้ ภาครัฐจะต้องมีมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวด และไม่มีจุดอ่อนใดๆ เลย

 

รมช.ศึกษาธิการกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ในการประชุม กปต.มีการเสนอว่า ควรกำหนดพื้นที่ต่าง ๆ ว่าเป็นพื้นที่สีอะไร เพื่อกำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัย นอกจากนี้จะต้องดึงชุมชนหมู่บ้านเข้ามามีส่วนร่วมสอดส่องรักษาความปลอดภัยด้วย เพราะหากกำหนดให้เป็นพื้นที่ทางการทหารทั้งหมดจะกว้างมากดูแลไม่ทั่วถึง แต่กำหนดเป็นพื้นที่เล็ก ๆ มีเจ้าภาพที่ชัดเจน การรักษาความปลอดภัยจะดูแลได้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ตนได้เสนอจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจเพื่อดูแลคุ้มครองครูใต้ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยศูนย์ดังกล่าวจะตั้งอยู่ตามเขตพื้นที่การศึกษาซึ่งมีอยู่ทั้งสิ้น 10 เขต แบ่งเป็น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) 9 เขต และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา 1 เขต โดยมีผู้บริหาร สพท. ผู้บริหารสถานศึกษา เจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ผู้นำท้องถิ่น และผู้นำศาสนา ทำงานแบบบูรณาการร่วมกันเพื่อรักษาความสงบ

 

 

                  “แนวคิดการตั้งศูนย์ดังกล่าว มาจากความต้องการของครูที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่ไม่สงบ เพราะจะทำให้การดูแลรักษาความปลอดภัยครูครอบคลุมกระชับยิ่งขึ้น เนื่องจาก 1 ศูนย์จะดูแลครูในพื้นที่ 2-3 อำเภอ แต่หากให้มีศูนย์อยู่ประจำจังหวัด การดูแลความปลอดภัยครูจะกว้างเกินไป ผมเชื่อว่าแนวทางการจัดตั้งศูนย์จะชักเจนมากยิ่งขึ้นหลังจากการลงพื้นที่ จ.ปัตตานี ของนายกฯ ในวันที่ 13 ธ.ค.นี้” นายเสริมศักดิ์กล่าวและว่า

ส่วนกรณีที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ยิ่งภาครัฐเข้าไปให้ความสำคัญเรื่องครูใต้มากเท่าไหร่ ผู้ก่อการร้ายก็จะลงมืออุกอาจมากยิ่งขึ้นนั้น ถึงจะเป็นเรื่องจริงอยู่บ้าง แต่หากมีครูได้รับอันตรายแล้ว ภาครัฐไม่ลงไปดูแลใด ๆ เลย ครูก็จะยิ่งเสียขวัญกำลังใจมากขึ้นไปอีก ทั้งนี้กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ของครูที่เสียชีวิตจากเหตุการความไม่สงบ เป็นครูไทยพุทธ ซึ่งขณะนี้ครูไทยพุทธเกือบทั้งหมดได้ทำเรื่องของย้ายออกนอกพื้นที่แล้ว

 

 

นายสงวน อินทรักษ์ ประธานสมาพันธ์ครูจังหวัดนราธิวาส และที่ปรึกษาสมาพันธ์ครู 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า หลังจากสมาพันธ์ครูฯ ได้ร่วมหารือกับหน่วยงานทุกภาคส่วนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ จ.ปัตตานี เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาครูตกเป็นเหยื่อกลุ่มผู้ก่อเหตุความไม่สงบในพื้นที่ ได้ข้อสรุปชัดเจนแล้วว่า สมาพันธ์ครูฯ มีมติให้โรงเรียนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้ง 1,200 แห่ง ปิดการเรียนการสอน ระหว่าง 13-14 ธันวาคมนี้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้เข้าไปตรวจสอบ และวางมาตรการตลอดจนการทบทวนแนวทางการวางระบบการดูแลความปลอดภัยให้ชัดเจนอีกครั้ง เนื่องจากเหตุการณ์ความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับบุคลากรทางการศึกษา ของโรงเรียนบ้านบาโง อ.มายอ จ.ปัตตานี 2 ราย เป็นสิ่งที่อุกอาจและสะเทือน ทั้งนี้ในช่วงที่หยุด 2 วันจะได้ให้ครูได้ผ่อนคลายความเครียดจากความรูสึกที่ต้องตกเป็นเป้าหมาย

 

นอกจากนี้ในที่ประชุมยังได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นมา 1 ชุด คือ คณะกรรมการพิจารณาติดตามการปฎิบัติหน้างานการดูแลรักษาความปลอดภัยครู ซึ่งจะมีตัวแทนจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานพื้นที่การศึกษาเขตทุกจังหวัด, สมาพันธ์ครูทั้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้, ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภาค 4 ส่วนหน้า เพื่อเป็นหน่วยงานกลางในการประสานงานร่วมกันในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับบุคลากรทางการศึกษา

 

 

                      “ในฐานะตัวแทนครู 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขอยืนยันอีกครั้งว่า การปิดเรียนชั่วคราวในแต่ละครั้ง ครูทุกคนมุ่งหวังแค่อยากให้เจ้าหน้าที่ เข้ามาดูแลชีวิตครูให้ปลอดภัย เพื่อจะได้ร่วมกันจัดการการศึกษาในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืนมากกว่าที่เป็นอยู่ โดยไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะใช้นักเรียนเป็นเครื่องมือทางการศึกษาเรียกร้องสิทธิแต่อย่างใด แดังนั้นขอให้สังคมเข้าใจความเครียดและความเสี่ยงของครูในพื้นที่ซึ่งต้องอยู่อย่างหวาดระแวงไม่เป็นสุขด้วย” นายสงวนกล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: