‘ปลดล็อก’ศาลรธน.-โหวตวาระ3 เปิดสภาลงมือผ่ารัฐธรรมนูญ50 4พรรคร่วม-ประกาศเจตนารมณ์

ทีมข่าว ศูนย์ข่าว TCIJ 18 ธ.ค. 2555 | อ่านแล้ว 2294 ครั้ง

 

อาศัยฤกษ์ วันรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2555 แกนนำจากทุกพรรคร่วมรัฐบาลรวม 4 พรรค กับอีก 2 เสียงจากพรรคละ 1 คน รวม 296 เสียง โดย 11 อรหันต์ ประกาศเดินหน้าล้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550

 

คำประกาศที่ร่างโดยพรรคเพื่อไทย ที่มีเงาพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พรรคชาติพัฒนาที่อาศัยร่างนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ พรรคชาติไทยพัฒนา ในเงาของนายบรรหาร ศิลปอาชา พรรคพลังชล ของนายสนธยา คุณปลื้ม มีมติร่วมกันเดินหน้าโหวต แก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 พร้อมประกาศเจตนารมณ์ร่วมกัน 3 ข้อ

 

1.จะร่วมกันพิทักษ์รักษา ส่งเสริม สนับสนุน และธำรงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

 

2.รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ จะต้องมีที่มาจากประชาชน โดยประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดทำตั้งแต่การยกร่างจนถึงการให้ความเห็นชอบ

 

และ 3.รัฐธรรมนูญต้องมีสาระสำคัญเป็นการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครอง และตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของทุกองค์กรอย่างเต็มที่ มีการปรับปรุงโครงสร้างทางการเมือง ให้มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

 

 

ดังนั้นทันทีที่เปิดสภาสมัยนิติบัญญัติ วันที่ 21 ธันวาคม 2555 รัฐบาลจึงมีวาระเดียวคือ เดินหน้า ในการรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ ภายใต้สโลแกน “รัฐธรรมนูญของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาธิปไตย และความเป็นธรรม”

 

พร้อมกับการขับเคลื่อนเสนอร่างกฎหมายการทำประชามติ ฉบับที่...พ.ศ... ควบคู่ไปกับการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 165 ที่มีนัยว่าด้วยการทำประชามติด้วย

 

เมื่อดำเนินการทุกอย่างสุกงอมพร้อมแล้ว จึงจะลงมติการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 291 วาระ3

 

 

‘ยิ่งลักษณ์-ทักษิณ’ เดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ

 

 

ขณะที่เมืองไทย มีพรรคร่วมรัฐบาลแถลงข่าวเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เขตปกครองพิเศษเกาะฮ่องกง สถาบันเอเชียโซไซตี้ (ASIA SOCIETY) เปิดทางให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กล่าวถึงวาระสำคัญในเมืองไทยด้วย ว่า “ภาพรวมของประเทศไทยในปีหน้าจะมีแต่สิ่งดี ๆ เริ่มเห็นการปรองดองในประเทศไทยอย่างแน่นอน น.ส.ยิ่งลักษณ์จะแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการทำประชามติ”

 

สอดคล้องกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ยอมรับว่า ได้พูดคุย พ.ต.ท.ทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับมติพรรคเพื่อไทย ที่ให้เดินหน้าโหวตลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ว่า เป็นการคุยในเชิงข้อเสนอ “การแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 291 เป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาล”

 

และย่อมต่างจากนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ตามถ้อยแถลงของนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แถลงว่า ในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญรัฐบาลจะมี 3 ทางเลือก คือ 1.เดินหน้าโหวตวาระ 3 โดยไม่ฟังเสียงคัดค้าน 2.ลงมติคว่ำรัฐธรรมนูญวาระ 3 และ 3.ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ โดยใช้วิธีแก้ไขบางมาตรา แต่แท้จริงคือแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ซึ่ง ปชป.ยืนยันจะคัดค้านเต็มที่กับการที่รัฐบาลจะยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพราะจะเกิดความขัดแย้งในสังคมรุนแรง

 

 

 

The Final Report พรรคร่วมรัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291

 

 

ภายหลังการประชุม 11 อรหันต์พรรคร่วมรัฐบาล 14 ครั้ง เชิญนักวิชาการเข้าร่วม 9 คน ในวันที่ 15 ธันวาคม รายงานขั้นสุดท้าย หรือ The Final Report-กรณีปัญหาการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 291  ก็ถูกส่งถึงแกนนำทุกพรรค สรุปความสั้น ๆ จากเอกสาร 50 หน้า ความว่า...

 

1.รัฐสภา มีอำนาจและหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญที่จะลงมติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญใน วาระที่ 3

 

2.คณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลตระหนักดีว่า สังคมไทยยังมีความขัดแย้งกันอยู่มาก การลงมติวาระที่ 3 จึงควรพิจารณาใช้ช่วงจังหวะเวลาให้รอบคอบ และก่อนจะลงมติรัฐบาล และพรรคร่วมรัฐบาลควรรณรงค์ทำความเข้าใจให้คนส่วนใหญ่ เห็นความจำเป็นของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้เป็นประชาธิปไตยมีความชอบธรรม ยึดมั่นในหลักนิติธรรม เป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนอย่างแท้จริง

 

3.การทำประชามตินั้น เนื่องจากรัฐธรรมนูญที่ค้างในสภา วาระที่ 3 ได้บัญญัติถึงเรื่องการลงประชามติไว้แล้วว่า เป็นการลงประชามติก่อนจะเป็นกฎหมาย กล่าวคือ เมื่อสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เสร็จแล้ว จะนำไปให้ประชาชนลงประชามติว่า จะเห็นชอบหรือไม่ ถ้าประชาชนเห็นชอบ และทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ก็จะใช้เป็นกฎหมายใช้บังคับต่อไป เช่นเดียวกับการลงประชามติเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ถ้าประชาชนไม่เห็นชอบก็ตกไป ดังนั้นการทำประชามติ เมื่อ ส.ส.ร.ร่างรัฐธรรมนูญแล้ว จึงเป็นสิ่งที่ชอบโดยรัฐธรรมนูญ และสอดคล้องกับคำแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญ

 

ในกรณีที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ประสงค์มิให้เกิดข้อโต้แย้งคัดค้านทั้งปวง คณะรัฐมนตรีอาจจัดให้มีการออกเสียงประชามติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 ได้ แต่ต้องทำความเข้าใจกับสังคมให้ชัดเจนว่า เป็นเรื่องการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง และความปรารถนาดี มิใช่ประเด็นให้มาเรียกร้องความรับผิดชอบของคณะรัฐมนตรี หากประชามติไม่ผ่าน หรือสมาชิกรัฐสภาอาจเสนอให้มีกฎหมายเฉพาะ ให้ออกเสียงประชามติในเรื่องนี้ หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 165 เพิ่มเติม เรื่องการทำประชามติ กรณีมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เข้าไป แต่ก็ต้องมีการทำความเข้าใจกับสังคมเช่นเดียวกัน ทั้งต้องอธิบายให้ชัดเจนด้วยว่า ไม่ใช่การถ่วงเวลา แต่เป็นความรอบคอบ โดยจะเร่งรัดดำเนินการไปพร้อม ๆ กับการรณรงค์ทำความเข้าใจ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

4.ในระหว่างนี้ หากจะแก้รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราควบคู่กันไปด้วย ก็สามารถกระทำได้โดยสมควรที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องร่วมกันก่อน เช่น มาตรา 237 และมาตราอื่น ๆ ที่ขัดต่อหลักประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม

 

5.ส่วนกรณีที่ว่าหากการลงมติวาระที่ 3 แล้ว จะยังคงมีการฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญอีกหรือไม่ หรือจะมีกระบวนการต่อต้านในรูปแบบต่าง ๆ อีกหรือไม่ เห็นว่าโดยบริบทของสังคมปัจจุบัน ยังคงมีความแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันอยู่ คงไม่มีหลักประกันใด ๆ ว่าจะไม่มีเหตุเช่นนั้น แต่รัฐสภาและรัฐบาลจะต้องทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นหลักในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น ประมุขต่อไป

 

 

แง้มเอกสารลับ ‘พิมพ์เขียว’ เส้นทางแก้รัฐธรรมนูญ

 

 

คณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาล มีความเห็นร่วมกันว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อนำไปสู่การยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ กระทำได้หรือไม่นั้น มิใช่ประเด็นแห่งคดีโดยตรง ประเด็นแห่งคดีคือ มีการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือมีการกระทำเพื่อให้ได้มา ซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 หรือไม่

 

โดยเหตุนี้นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จึงกล่าวไว้ในความเห็นส่วนตนว่า “ประเด็นที่ 2 นี้ เป็นการพิจารณาถึงกระบวนการในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 มิใช่การพิจารณาวินิจฉัยประเด็นหลักเกี่ยวกับการกระทำต้องห้าม ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 โดยตรง  “ศาลไม่มีอำนาจไปวินิจฉัยถึงหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ...แม้ตั้งเป็นประเด็นไว้ แต่เห็นสมควรไม่พิจารณาในประเด็นนี้ จึงเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ ศาลมิอาจก้าวล่วงเข้าไปตรวจสอบในประเด็นที่ผู้ร้องโต้แย้งได้จึงไม่รับวินิจฉัยในประเด็นนี้”

 

ส่วนตุลาการอีกสองท่านคือ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ และนายชัช ชลวร แม้จะไม่ได้กล่าวไว้โดยตรง แต่ก็ได้วินิจฉัยว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 และการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 รัฐสภาสามารถกระทำได้

 

ด้วยเหตุนี้คำวินิจฉัยกลางในประเด็นที่ 2 นี้ จึงเขียนขึ้นเป็นทางออกของศาลรัฐธรรมนูญเอง โดยกระทำในรูป “คำแนะนำ”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เปิดสภาเดินหน้าทำประชามติ

 

 

คณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลมีความเห็นร่วมกันว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการพิจารณาวาระที่สองของรัฐสภา ได้กำหนดให้นำร่างรัฐธรรมนูญที่สภาร่างรัฐธรรมนูญจัดทำขึ้น และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 291/11 วรรคห้า ไปทำประชามติอยู่แล้ว ทั้งได้แสดงเหตุผลว่า การทำประชามติก่อนมีร่างรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถกระทำได้ ด้วยประชาชนยังไม่เห็นหลักการต่าง ๆ การกำหนดประเด็นขึ้นมาเพื่อไปทำประชามติโดยไม่มีร่างรัฐธรรมนูญ ก็จะต้องกำหนดอย่างละเอียด ซึ่งโดยหลักการทำประชามติแล้วจะมีประเด็นมากมายไม่ได้

 

และอีกประการหนึ่ง หากกำหนดประเด็นขึ้นมาก่อนที่สภาร่างรัฐธรรมนูญ จะจัดทำร่างรัฐธรรมนูญจะถูกกล่าวหาว่า เป็นการครอบงำสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ และทำเพื่อตนเองหรือพวกพ้องอีก

 

นอกจากนั้น ถ้อยคำในประเด็นที่ 2 ของศาลรัฐธรรมนูญยังมีความหมายไม่ชัดเจนว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องให้ประชาชนลงประชามติก่อน และหากรัฐสภาได้ลงมติวาระที่ 3 ไป โดยไม่ได้ให้ประชาชนลงประชามติเสียก่อน เมื่อมีเรื่องกลับมาสู่ศาลรัฐธรรมนูญอีก ศาลรัฐธรรมนูญจะมีความเห็นว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ไม่สามารถกระทำได้ตามมาตรา 291 หรือไม่

 

เมื่อพิจารณาคำวินิจฉัยส่วนตนของนายจรูญ อินทจาร ที่ว่า “หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ หรือจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม และการพัฒนาการเมืองของประเทศให้ก้าวหน้าย่อมกระทำได้ โดยการใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย ซึ่งแสดงออกโดยการลงประชามติ เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ซึ่งได้รับฉันทามติจากปวงชนชาวไทย โดยการทำประชามติก่อนที่พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย”

 

เห็นได้ชัดว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ ก็จัดให้มีการทำประชามติเช่นเดียวกันกับรัฐธรรมนูญ 2550 คือทำประชามติเมื่อยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จเรียบร้อยแล้วนั่นเอง มิใช่การทำประชามติก่อนจะมีร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเป็นเรื่องที่แปลกมาก

 

 

คณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลจึงมีความเห็นว่า ประเด็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้น จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะสามารถกระทำได้หรือไม่นั้น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีความเห็น 5 ต่อ 3 ว่า กระทำได้และหากจะต้องทำประชามติ ก็สามารถกระทำได้ก่อนพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย จึงได้แนะนำให้สามารถลงประชามติในลักษณะดังกล่าวได้

ดังนั้นการลงมติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พุทธศักราช...ในวาระที่ 3 เพื่อนำไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และนำไปให้ประชาชนลงประชามติ จึงสอดคล้องและเป็นไปตามคำแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว

 

คณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลเห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่แนะนำว่าควรไปทำประชามติก่อนยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น มีเพียงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญสองท่านเท่านั้น (นายเฉลิมพล เอกอุรุ และนายสุพจน์ ไข่มุกต์) ที่มีความเห็นส่วนตนว่า

 

 

                   “ต้องไปทำประชามติก่อนยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลจึงมีความเห็นยืนยันว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่ค้างรัฐสภาอยู่ในวาระที่สามนี้ ได้มีการบัญญัติเรื่องการลงประชามติไว้แล้ว แต่เป็นการลงประชามติก่อนที่จะเป็นกฎหมาย”

 

 

                 “..กล่าวคือเมื่อ สสร.ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว จะนำไปให้ประชาชนลงประชามติว่าจะเห็นชอบด้วยหรือไม่ถ้าประชาชนเห็นชอบและพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วก็จะเป็นกฎหมายใช้บังคับต่อไป ถ้าประชาชนไม่เห็นชอบก็ตกไป” ดังนั้นจึงสอดคล้องกับคำแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญเพราะเป็นกรณีที่เหมือนกันกับรัฐธรรมนูญ 2550 นั่นเอง

 

คณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลเห็นว่า หลักการในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ที่ค้างวาระที่ 3 อยู่ในขณะนี้เป็นวิธีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่มีความเป็นประชาธิปไตยสูง โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมโดยตรงตั้งแต่ขั้นตอนการยกร่างด้วยการเลือกตั้ง สสร.โดยตรง

 

 

จากนั้นเป็นการให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ด้วยการลงประชามติโดยประชาชน สสร.มีหน้าที่เพียงยกร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น ไม่มีอำนาจให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นนี้ เมื่อพิจารณาคำวินิจฉัยส่วนตนแล้ว จะเห็นได้ว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มิได้มีมติด้วยเสียงข้างมากว่า จะกระทำมิได้แต่อย่างใด โดยเหตุนี้จึงทำให้คำวินิจฉัยกลางออกมาในลักษณะเป็นคำแนะนำมิใช่เป็นคำวินิจฉัย

 

ดังนั้นการที่รัฐสภาจะลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับที่...) พุทธศักราช...ในวาระที่สาม และมีการดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป จนมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น และนำร่างที่ได้ยกร่างขึ้น ไปให้ประชาชนลงประชามติ ซึ่งหากเห็นชอบก็จะต้องทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยต่อไปนั้น จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและไม่ขัดหรือแย้งต่อคำวินิจฉัยหรือคำแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด

 

 

4 พรรคหวั่นบ้านเมืองวุ่นวาย เตรียมเสนอกฎหมายประชามติกันเหนียว

 

 

ทั้ง 11 อรหันต์พรรคร่วมรัฐบาลเห็นว่า การแก้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อาจนำไปสู่ความยุ่งยากและสร้างปัญหาความวุ่นวายในสังคมขึ้นอีกได้ เพราะมีผู้ที่ไม่ประสงค์จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีความชอบธรรมและเป็นประชาธิปไตยก็จะออกมาต่อต้านโต้แย้งคัดค้านได้ตลอดเวลา ประกอบกับเมื่อได้คำนึงถึงผลของคำวินิจฉัยในคำร้องตามมาตรา 68 ที่ศาลรัฐธรรมนูญขยายเขตอำนาจของตนเองว่า สามารถรับคำร้องไว้ได้โดยตรงโดยไม่ต้องผ่านอัยการสูงสุด อันเป็นการเปิดช่องทางให้มีการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญอีกโดยอ้างประเด็นดังกล่าวแล้ว

 

คณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลเห็นว่า การดำเนินการให้มีการลงประชามติว่า สมควรจะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ก่อนที่จะมีการลงมติในวาระที่สาม อาจเป็นทางเลือกหนึ่งเพื่อให้สังคมเห็นว่าพรรคร่วมรัฐบาลอยากให้เกิดความรอบคอบและขจัดข้อคัดค้าน โต้แย้ง ทั้งปวงออกไป แต่การทำประชามติโดยอาศัยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2550 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ 2552

 

ก็ยังต้องพิจารณาว่า จะจัดทำประชามติโดยการตราเป็นพระราชบัญญัติเฉพาะหรือโดยการดำเนินการของคณะรัฐมนตรี ซึ่งถ้าเป็นกรณีคณะรัฐมนตรีก็มี 2 กรณีคือ ขอข้อยุติหรือขอคำปรึกษา ถ้าขอข้อยุติต้องได้เสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย แต่หากขอคำปรึกษาใช้เพียงเสียงข้างมากของผู้ไปใช้สิทธิออกเสียงซึ่งจะเหมือนกับประชามติของรัฐธรรมนูญ 2550

 

ถ้าจะดำเนินการโดยคณะรัฐมนตรี ซึ่งแม้เป็นความปรารถนาดี แต่ก็จะอธิบายยากว่าหากร่างรัฐธรรมนูญเสนอโดย ส.ส.หรือ ส.ส.ร่วมกับ ส.ว. หรือประชาชน 50,000 คนแล้ว จะสามารถทำประชามติก่อนยกร่างหรือระหว่างการพิจารณาของรัฐสภาได้อย่างไร เนื่องจากรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติกรณีเหล่านี้ไว้ จึงต้องใช้ช่องทางอื่นคือ เสนอร่างกฎหมายอีกหนึ่งฉบับ เพื่อให้มีการออกเสียงประชามติ หรือแก้เพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 165 เพิ่มเติมการทำประชามติ กรณีมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เข้าไป

 

ในกรณีนี้ถ้าหากทำในขณะนี้ ก็จะทำให้การลงมติวาระที่สามโดยรัฐสภา ต้องรอจนกว่าจะมีผู้เสนอร่างกฎหมายหรือร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว ซึ่งจะต้องผ่านสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาหรือรัฐสภาแล้วแต่กรณี จนมีการลงพระปรมาภิไธยและบังคับใช้เป็นกฎหมาย จากนั้นจึงจะเข้าสู่กระบวนการทำประชามติ ซึ่งเป็นการขอความเห็นชอบจากประชาชนแต่เพียงว่าสมควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ก็เพียงพอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ปลดล็อก คำแนะนำศาลรัฐธรรมนูญ

 

 

ในรายงานฉบับสุดท้าย พรรคร่วมรัฐบาลมีการอ้างถึง คำแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีมติด้วยคะแนน 8 ต่อ 0 ว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและให้ยกคำร้องทั้งห้าคำร้อง

 

เพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญมาทำหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และกำหนดกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ดังที่ได้ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาในวาระที่ 2 และกำลังเข้าสู่การลงมติในวาระที่ 3 จะเห็นได้ว่า กระบวนการดังกล่าว ยังไม่มีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะถือได้ว่า เป็นการล้มล้างการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขตามรัฐธรรมนูญ

 

เมื่อพิจารณาประกอบกับคำวินิจฉัยแล้ว คณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลเห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มิได้ห้ามมิให้รัฐสภาลงมติร่างรัฐธรรมนูญวาระที่ 3 เพราะการลงมติวาระที่ 3 ของรัฐสภามิได้เป็นการล้มล้างการปกครองฯ เนื่องจากเมื่อรัฐสภาลงมติผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว จะเป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช... เนื้อหาสาระในส่วนอื่น ๆ ของรัฐธรรมนูญ 2550 ยังอยู่ครบถ้วนและยังไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เกิดขึ้นแต่อย่างใด

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: