ตั้งแต่ก่อนหน้าที่รัฐบาลจะเคาะชื่อบริษัทผลิตเครื่องแท็บเล็ต หรือ คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลแบบพกพาและใช้หน้าจอสัมผัส จากประเทศจีน เพื่อนำเข้ามาแจกนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 กว่า 900,000 เครื่อง ให้ทันเปิดเทอม เดือนพ.ค.2555 หลายต่อหลายบริษัท เช่น บริษัท Mcgrawhill, สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช, บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด, บริษัท อักษรเจริญทัศน์ จำกัด ต่างเร่งพัฒนาเนื้อหาหลักสูตร เพื่อรองรับการใช้งานกับแท็บเล็ต โดยเฉพาะรูปแบบการบรรจุเนื้อหาในลักษณะ e-book หรือ Learning Object เพื่อให้เนื้อหาสอดคล้องกับการพัฒนาไปสู่สื่อดิจิตอล บรรจุเข้าสู่เครื่องแท็บเล็ตได้มากขึ้น ขณะที่สำนักพิมพ์ซึ่งเคยผลิตหนังสือและนิตยสารเกี่ยวกับเด็ก ก็เริ่มปรับรูปแบบ e-book และ e-Magazine ให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่กำลังพัฒนาไปอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน
ศูนย์ข่าว TCIJ จึงสอบถามผู้เกี่ยวข้องในแวดวงดังกล่าว เพื่อเป็นคำตอบให้กับผู้ปกครอง และผู้ที่สนใจทั่วไปว่า รูปแบบการพัฒนาเนื้อหาและวิธีการต่างๆ ที่จะนำมาใช้กับแท็บเล็ตของเด็กๆ เป็นอย่างไร ประโยชน์ใช้สอยอย่างไร พ่อแม่ควรทำอย่างไร และสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นประโยชน์กับเด็กๆจริงหรือไม่
ตลาดดิจิตอลพัฒนาเนื้อหารับแท็บเล็ต
นายพิพัฒน์ ละเอียดอ่อน ประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท เชค จีเนียส จำกัด (Zhake Genious co,Ltd.)ในกลุ่มบริษัท Outer Box ผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่น e-book zhAke บนไอแพด ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าว TCIJ ว่า หลังการประกาศเดินหน้านโยบายการแจกแท็บเล็ตของรัฐบาล ให้กับเด็กนักเรียนชั้น ป.1 ในขณะนี้ มีส่วนสำคัญทำให้ผู้ประกอบการด้านนิวมีเดีย และสื่อดิจิตอล หันมาพัฒนาสินค้าในรูปแบบดิจิตอล เช่น การสร้าง e-book รวมทั้งการสร้างแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ ที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อรองรับการใช้แท็บเล็ตของเด็กนักเรียนมากขึ้น ซึ่งขณะนี้มีหลายสำนักพิมพ์ได้ดำเนินการแล้ว และเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมให้เด็กๆ สามารถเรียนรู้ผ่านการใช้เครื่องมือใหม่ๆ เพราะหากผู้ปกครองมีทางเลือกในการเลือกสื่อด้านการศึกษาให้กับบุตรหลานมากขึ้น ก็จะยิ่งทำให้การใช้ประโยชน์จากแท็บเล็ต เป็นไปตามจุดประสงค์ของรัฐบาลมากขึ้นตามไปด้วย
ซึ่งหลักการใช้แท็บเล็ตทั่วไป แบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะคือ รูปแบบแรก การใช้แบบออนไลน์ เป็นการเข้าถึงแหล่งข้อมูลความรู้ต่างๆ ในเว็บไซต์ออนไลน์ ที่มีเปิดใช้อยู่ตามปกติทั่วไป เด็กนักเรียนสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลด้วยการเข้าไปในเว็บไซต์ หรือสามารถดาวน์โหลดเนื้อหาฟรี ที่ถูกสร้างขึ้นมาให้สอดคล้อง สัมพันธ์กับหลักสูตรการเรียนได้ ซึ่งปัจจุบันมีการสร้างเนื้อหาต่างๆ ที่เปิดให้มีการดาวน์โหลดฟรีอยู่มากมาย
ส่วนรูปแบบที่สอง จะเป็นการใช้แบบออฟไลน์ คือการเข้าถึงข้อมูลแบบไม่ต้องเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตในรูปแบบของแอพพลิเคชั่น ที่ถูกสร้างขึ้นมาในเนื้อหาต่างๆ และถูกนำไปใส่หรือฝังไว้ในเครื่องแท็บเล็ต ซึ่งเป็นรูปแบบที่ใช้ง่าย เด็กสามารถเปิดเครื่องและสัมผัสที่แอพพลิชั่น เพื่อเข้าสู่เนื้อหาได้เลยโดยไม่ต้องเชื่อมต่อระบบอินเตอร์เน็ต หรือระบบออนไลน์ ซึ่งในรูปแบบนี้กำลังเป็นที่นิยม และเริ่มพัฒนาขึ้นอย่างกว้างขวางในประเทศไทย และหลังจากรัฐบาลประกาศแจกแท็บเล็ตให้นักเรียนชั้นป.1 การพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่เหมาะสมกับเด็กๆ จึงเริ่มมีมากขึ้น หลังจากที่ก่อนหน้านี้ส่วนใหญ่จะเป็นการสร้างแอพพลิเคชั่นเพื่อกลุ่มวัยรุ่นและผู้ใหญ่มากกว่า
แอพพลิเคชั่นเสริม-กระตุ้นพัฒนาการเด็ก
นายพิพัฒน์กล่าวต่อว่า สำหรับการพัฒนาแอพพลิเคชั่นการเรียนรู้สำหรับเด็กในวัยเริ่มต้น ในต่างประเทศมีข้อมูลว่า เป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ใช้ได้ผลดีต่อพัฒนาการ และการเรียนรู้ของเด็กเป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้สร้างขึ้นมาในรูปแบบของ Interactive คือมีภาพเคลื่อนไหว ตอบโต้กับการกระทำได้ ทำให้เด็กเกิดความสนุกสนานในการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี เช่น แอพพลิเคชั่น สอนคำศัพท์ ที่มีรูปแบบสวยงาม หากเด็กตอบคำศัพท์ถูก จะมีแอคชั่นต่างๆ เช่น ลูกแอปเปิ้ลเด้งออกมา หรืออื่นๆ ที่ทำให้เด็กอยากเรียนรู้ต่อไปเรื่อยๆ ทำให้ปัจจุบันแอพพลิเคชั่นการเรียนรู้เหล่านี้ ถูกสร้างขึ้นมาจำนวนมาก มีทั้งแบบแจกฟรี และแบบที่ทำเพื่อขายให้กับผู้ปกครองสำหรับดาวน์โหลดให้ลูกหลานได้ใช้ แต่ในเมืองไทย ยังไม่แพร่หลายมากนัก อย่างไรก็ตามขณะนี้สำนักพิมพ์ใหญ่ๆ หลายแห่งก็เริ่มพัฒนาและสร้างแอพพลิเคชั่นเหล่านี้ขึ้นมาแล้ว และเชื่อว่าจะคึกคักขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อการใช้แท็บเล็ตในเด็กนักเรียน ป.1 เริ่มใช้
“ในประเทศเกาหลีมีการประกาศว่า จะนำแบบเรียนของเด็กนักเรียนตามหลักสูตรการเรียนของเด็กบรรจุเข้าไปในแท็บเล็ตทั้งหมด โดยตั้งเป้าว่าจะทำให้ได้ภายในปี 2555 เพื่อที่เด็กจะได้พกพาไปเรียนได้ โดยไม่ต้องแบกแบบเรียนหนักๆ ไปโรงเรียนทุกวัน รวมทั้งความพยายามในการพัฒนาแอพพลิเคชั่นการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับเด็กในวัยต่างๆ ขึ้นมา ให้เด็กนำไปใช้ อย่างไรก็ตามการดำเนินการเหล่านี้จะต้องอาศัยการเตรียมความพร้อมล่วงหน้าเป็นเวลาพอสมควร” นายพิพัฒน์กล่าว
ติงรัฐตรวจความพร้อมครู-ผู้ปกครอง-โรงเรียน
สำหรับการพัฒนาเนื้อหาต่างๆ เพื่อบรรจุเข้าไปในแท็บเล็ตของไทย ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการนั้น นายพิพัฒน์แสดงความเห็นว่า ขณะนี้รัฐบาลน่าจะกำลังพัฒนา เนื่องจากปัจจุบันมีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที ดำเนินการอยู่แล้ว ในการจัดทำเนื้อหาที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ของเด็ก และสอดคล้องกับหลักสูตรและแบบเรียน เพื่อบรรจุเข้าไปในแท็บเล็ตของเด็ก ในส่วนของภาคเอกชนจะเป็นส่วนที่เข้ามาเสริมในเรื่องของการจัดทำเนื้อหาที่น่าสนใจเพิ่มเติมที่ผู้ปกครองสามารถซื้อมาใส่ไว้ในเครื่องแท็บเล็ต เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้เพิ่มเติม เหมือนกับปัจจุบันที่ใช้หนังสือ หากผู้ปกครองอยากได้หนังสืออ่านเพิ่มเติมก็ซื้อมาให้ลูกหลาน
“คิดว่าในหลักการต่างๆ เป็นสิ่งที่ดีและน่าจะมีประโยชน์กับเด็กไทยในยุคดิจิตอล และเทคโนโลยีกำลังก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว และจะเป็นสิ่งที่ดีในระยะยาว เพราะแท็บเล็ตสามารถบรรจุเนื้อหา และเป็นแหล่งข้อมูลให้กับเด็กได้อย่างไม่จำกัด ซึ่งรัฐบาลอาจจะต้องเตรียมความพร้อมให้กับโรงเรียนต่างๆ ก่อนเพื่อให้การใช้แท็บเล็ตเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะสังคมมีความกังวลเกี่ยวกับความพร้อมของโรงเรียนในต่างจังหวัด ที่ยังเข้าไม่ถึงข้อมูลเทคโนโลยีต่างๆ เท่ากับโรงเรียนในเมือง ดังนั้นน่าจะเริ่มทำในโรงเรียนนำร่องอย่างน้อย 80-100 โรงเรียน ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เพื่อทดสอบและมองหาอุปสรรคปัญหาหลายๆอย่าง ที่อาจมองไม่เห็นเช่น ความพร้อมของครู หรือผู้ปกครอง ว่าสามารถเรียนรู้หรือสอนให้เด็กได้เข้าถึงข้อมูลได้จริงหรือไม่ มีปัญหาเกิดขึ้นตรงไหน หรืออาจจะเป็นปัญหาอื่นๆ ที่เกิดขึ้นกับเด็กเอง เช่น หากตอนเช้าเด็กลืมชาร์ตแบตเตอรี่ แล้วจะเปิดใช้เรียนได้อย่างไร หรือหากโรงเรียนอยู่ในพื้นที่ที่ยังไม่มีไฟฟ้า หรือไฟฟ้าเข้าถึงน้อยมากจะทำอย่างไร ทั้งนี้คงต้องอยู่กับรัฐบาลว่า การแจกแท็บเล็ตจะแจกโรงเรียนครบหมดหรือไม่ และจะมีแนวทางแก้ปัญหาอย่างไร” นายพิพัฒน์กล่าว
นายพิพัฒน์กล่าวต่อว่า ในส่วนของผู้สร้างสื่อจะสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลได้อยู่แล้ว เพราะวิธีการใช้ไม่ยาก โดยเฉพาะรูปแบบแอพพลิเคชั่นต่างๆ แต่การเรียนรู้เพื่อการใช้อาจจะต้องมีการให้ความรู้กับทั้งครูและผู้ปกครอง ซึ่งรัฐบาลคงจะต้องหาช่องทางเพื่อเตรียมการในเรื่องนี้ เพราะหากสามารถทำให้ครูและผู้ปกครองเรียนรู้เพื่อให้คำแนะนำกับเด็กๆ ได้ ก็จะทำให้แท็บเล็ตมีประโยชน์อย่างมาก
เชื่อ e-book พัฒนาแต่หนังสือไม่หาย
เมื่อถามถึงความตื่นตัวในตลาดสื่อดิจิตอล นายพิพัฒน์กล่าวว่า ตอนนี้หลายบริษัท โดยเฉพาะสำนักพิมพ์ต่างๆ หันมาให้ความสนใจการพัฒนาสื่อดิจิตอลกันอย่างคึกคัก เริ่มพัฒนาเนื้อหารวมไปถึงการสร้างสื่อที่จะสามารถบรรจุเข้าไปในแท็บเล็ตได้ เพื่อรองรับการเติบโตของการใช้แท็บเล็ต และไอแพด โดยในส่วนของบริษัท Zhake Genious ก่อนหน้านี้ได้พัฒนาระบบร้านหนังสือออนไลน์ ที่จำหน่ายทั้ง หนังสือ นิตยสาร ที่เป็นกระดาษปกติ และฉบับดิจิตอล หรือ e-book ที่ดาวน์โหลดและอ่านได้บนอุปกรณ์ดิจิตอลทุกประเภททั้งไอแพด, แท็บเลต, สมาร์ทโฟน รวมถึงโน๊ตบุ๊กพีซี ก็ได้หันมาให้ความสนใจกับการพัฒนาหนังสือหรือแอพพลิเคชั่น ที่เกี่ยวกับการศึกษาของเด็ก เพื่อจัดหาหนังสือหรือข้อมูลความรู้ที่มีเนื้อหาเป็นประโยชน์กับเด็ก ไว้สำหรับบรรจุในแท็บเล็ต
“ผมมองว่า ช่องทางการซื้อหนังสือออนไลน์ หรือการซื้อ e-book จะมีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะมีการเพิ่มหนังสือหรือสื่อที่เกี่ยวกับเด็กมากขึ้นด้วย เพราะจะเป็นช่องทางหนึ่ง ที่จะทำให้คนในทุกพื้นที่สามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางเข้าไปในตัวเมืองเพื่อเลือกซื้อสื่อหรือหนังสือ ถือเป็นการเปิดโอกาสและเพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้มากขึ้น ทั้งกลุ่มเด็กและผู้ใหญ่ ผมไม่คิดว่าเทคโนโลยีในกลุ่ม e-book จะมาทดแทนหนังสือได้ และจะทำให้หนังสือกระดาษหายไป เพราะแท้จริงแล้วกลุ่มเป้าหมายและตลาดของทั้งสองกลุ่มนี้ถือว่าเป็นคนละกลุ่มกันอยู่แล้ว” นายพิพัฒน์กล่าว
อัมรินทร์ปรับทำ e-book เพิ่มรับตลาดขยาย
ด้านนายบุญชัย บุญนพพรกุล ผู้อำนวยการฝ่ายนิวมีเดีย บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับศูนย์ข่าว TCIJ ว่า ปัจจุบันบริษัทอัมรินทร์ได้ผลิตเนื้อหาในรูปแบบดิจิตอลให้แก่นิตยสารและหนังสือเล่มในเครือ โดยจัดทำในรูปแบบของเว็บไซต์ 20 เว็บไซต์ รวมถึงนิตยสารและหนังสือเกี่ยวกับเด็ก เป็นการพัฒนาเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้อ่าน รวมถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในรูปแบบ Mobile Content e-Magazine, e-book ซึ่งเนื้อหาเหล่านี้สามารถใช้ผ่านระบบปฎิบัติการต่างๆ เช่น ไอโฟน ไอแพด แบล็คเบอร์รี่ และแอนดรอยด์ รวมไปถึงการใช้ระบบปฏิบัติการผ่านแท็บเล็ตอีกด้วย โดยในอนาคตบริษัทจะพัฒนาเนื้อหา เพื่อรองรับแท็บเล็ต แอพพลิเคชั่นสำหรับดาว์นโหลดฟรี เพื่อให้เข้าไปซื้อหนังสือหรือแมกกาซีนในเครืออัมรินทร์ได้
เชื่อแจกแทบเล็ตเพิ่มกลุ่มลูกค้า
นายบุญชัยกล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันจากนโยบายแจกแท็บเล็ตให้นักเรียนชั้นป.1 ก็จะทำให้กลุ่มผู้อ่านเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งการพัฒนาเนื้อหาในส่วนของหนังสือเด็ก บริษัทจะได้เตรียมจัดทำสื่อที่เหมาะสมกับทั้งเทคโนโลยี รวมไปถึงเนื้อหาที่สอดคล้องกับหลักสูตร และวัยของเด็กเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากเห็นว่าหากมีการใช้แท็บเล็ต ก็จะเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่ผู้ปกครองจะจัดหาไว้ให้เด็กๆ ได้เรียนรู้นอกเหนือจากหนังสือแบบเรียนในลักษณะเดิมๆ ที่จะทำให้การเรียนสนุกสนานมากขึ้น
ตนไม่คิดว่าตลาดของหนังสือกระดาษ หรือแมกกาซีนจะหายไป เพราะยังมีกลุ่มคนอ่านที่ยังคงให้ความสำคัญกับการได้จับรูปเล่มหนังสือมากกว่า เพียงแต่บางครั้งที่เราดาวน์โหลดหนังสือจำนวนมากเข้ามาอยู่ในเครื่องเดียวได้ ผ่านแท็บเล็ตหรือไอแพด เป็นตัวเลือกในการจัดเก็บได้มากขึ้นจะทำให้เกิดความสะดวกมากขึ้นกว่าเดิมเท่านั้น
ส่วนการตอบรับกระแสแท็บเล็ต โดยการจัดทำ e-book นั้น ทางสำนักพิมพ์อัมรินทร์ฯ เน้นเรื่องการพัฒนาในรูปแบบแอพพิลเคชั่นมากกว่า เนื่องจากใช้ง่าย และสะดวกสำหรับเด็ก เพราะยังมองว่าทุกวันนี้เทคโนโลยีมักพัฒนาในรูปแบบระบบปฏิบัติการ IOS ที่ใช้ในไอแพด หรือไอโฟน ขณะเดียวกันระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ก็สามารถทำได้ ไม่เพียงแต่รูปแบบของการอ่าน แต่สามารถพัฒนาทักษะด้านอื่นๆ ด้วย เช่น เกมส์เพื่อพัฒนาทักษะทางด้านสมอง การรับรู้ การแยกประสาทสัมผัส การมองเห็น เป็นต้น คิดว่ากระแสการตอบรับในส่วนของ e-book และแอพพลิเคชั่นหรือเกมส์ที่ออกมา จะทำให้เด็กเรียนรู้ได้มากขึ้น นอกเหนือไปจากนิตยสาร มีสื่อต่างๆในรูปแบบนิวมีเดียมากขึ้น
ข้อดีทำให้เด็กอ่านมากขึ้น-ข้อเสียอาจพบสิ่งที่ไม่เหมาะสม
“ผมมองว่า แท็บเล็ตเด็กจะอ่านหนังสือมากขึ้น แต่จะอ่านด้วยกระดาษน้อยลง และเด็กจะอยู่กับผู้ปกครองมากขึ้น เพราะของแบบนี้มันเล่นด้วยกันได้ อย่างแท็บเล็ตก็สามารถทำให้ผู้ปกครองดูแลเด็กได้ อยู่ที่ว่าตอนนี้จะเลือกอะไรมาให้เด็กเล่นเท่านั้นเอง อยู่ที่ผู้ปกครองด้วย โจทย์ข้อนี้ยกตัวอย่างเหมือนการจำลองสนามเล่นของเด็ก อย่างห้องคนขับเครื่องบิน เมื่อโตขึ้นมาจะคุ้นเคยกับสิ่งเหล่านั้น เยาวชนเหล่านี้ก็เช่นเดียวกัน จะต้องโตมากับยุคของแท็บเล็ต อีกหน่อยสิ่งเหล่านี้ไม่ว่าจะอ่าน แชท หรือสื่อสารก็จะผ่านเทคโนโลยีใหม่ๆแบบนี้”
ส่วนข้อเสีย นายพิพัฒน์กล่าวว่า ถ้าไม่รู้จักความพอดี สิ่งเหล่านี้ก็จะทำให้เด็กหลงไปในทางที่ผิด หากพ่อแม่ผู้ปกครองไม่มีเวลาดูแล กลั่นกรองเนื้อหาที่เหมาะสมให้กับเด็ก เด็กก็จะหลงไปในทางที่ผิด เข้าหาสิ่งลามก อนาจาร เว็บไซต์ หรือแอพพลิเคชั่น ที่นำไปสู่ความรุนแรงได้ ขณะนี้ในกลุ่มของอัมรินทร์ฯ ได้พัฒนาแอพพลิเคชั่นเกี่ยวกับเด็กเยอะมาก ทั้งเสริมสร้างความรู้ เสริมสร้างพัฒนาการต่างๆ ทั้งของพ่อแม่และเด็ก
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ