สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับ สำนักจุฬาราชมนตรี และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เปิดตัวหนังสือ “แนวทางการตรวจชันสูตรพลิกศพ ตามกระบวนการทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ตามหลักด้านศาสนาอิสลาม” จากนั้นมีการสัมมนาสร้างความรู้ความเข้าใจและเผยแพร่แนวทางการตรวจชันสูตรพลิกศพ ตามกระบวนการทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ตามหลักด้านศาสนาอิสลาม โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 150 คน
นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์ด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แถลงว่า การศึกษาแนวทางการตรวจชันสูตรพลิกศพตามกระบวนการทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ตามหลักด้านศาสนาอิสลาม เริ่มตั้งแต่ปี 2549 โดยนายวสันต์ พานิช อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เนื่องจากเห็นว่า จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการอำนวยความยุติธรรมให้กับผู้ตายและญาติที่เป็นชาวมุสลิม โดยเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ต่อมาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดใหม่ ได้ดำเนินการต่อ โดยมีการหารือกับสำนักจุฬาราชมนตรี และสำนักจุฬาราชมนตรีได้ออกคำวินิจฉัยทางศาสนา (ฟัตวา) ที่ 04/ 2549 เรื่องการชันสูตรพลิกศพ สามารถกระทำได้ต่อเมื่อมีความจำเป็นจริงๆ เท่านั้น
นางอมรากล่าวต่อว่า นอกจากนี้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เดินทางไปศึกษาหลักการและแนวทางเรื่องนี้ที่ประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย มีการแต่งตั้งคณะทำงาน ประกอบด้วยประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้นำศาสนา นักวิชาการ และนักกฎหมาย มีการประชุม 5 ครั้ง ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2551 กระทั่งปี 2555 มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะนักวิชาการศาสนาและนักกฎหมาย
นายอับดุลสุโก ดินอะ คณะทำงานร่างแนวทางการตรวจชันสูตรศพตามกระบวนการทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ตามหลักศาสนาอิสลาม ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า สาระสำคัญของหนังสือแนวทางการตรวจชันสูตรดังกล่าว อยู่ในหน้า 25 ข้อ 2.2 การชุนสูตรศพ โดยเฉพาะการขุดและการผ่าศพขัดต่อหลักการศาสนาอิสลามหรือไม่
สาระสำคัญในหน้าดังกล่าวระบุว่า จากการศึกษาไม่พบหลักฐานใดๆ ที่ระบุชัดเจนถึงการห้าหรืออนุมัติทั้งจากคัมภีร์อัลกุรอานและวจนะศาสดา ทำให้นักวิชาการปัจจุบันมีทรรศนะที่แตกต่างกัน 2 ทัศนะ
“ทัศนะแรก ไม่อนุญาตให้ขุดศพและตรวจชันสูตรศพ ด้วยเหตุผลที่ว่า ศาสนาตั้งอยู่บนพื้นฐานการให้เกียรติและคุ้มครองคุณค่าอันสูงส่งของความเป็นมนุษย์ ทั้งนี้ไม่เพียงแต่ในช่วงแห่งการมีชีวิตอยู่เท่านั้น ในสภาวะไร้วิญญาณ ศาสนาอิสลามก็ยังคงถือว่าเกียรติยศ และความประเสริฐในการเป็นมนุษย์ ยังมีอย่างสมบูรณ์” สาระสำคัญในหน้าดังกล่าว
“ทัศนะที่สอง อนุญาตให้ขุดศพและชันสูตรศพ เป็นทัศนะส่วนใหญ่ของนักวิชาการโลกมุสลิมร่วมสมัยว่า การขุดศพเพื่อชันสูตรที่ได้ฝังไปแล้ว หรือการชันสูตรศพที่เพิ่งเสียชีวิต แม้เป็นสิ่งต้องห้ามตามมติของปวงปราชญ์ แต่หากสถานการณ์มีความจำเป็น ก็สามารถทำได้โดยอนุโลม” สาระสำคัญในหน้าดังกล่าว
นายอับดุลสุโก เปิดเผยว่า สำหรับหนังสือเล่มนี้ในเบื้องต้นบรรดาอุลามาอ์ (นักปราชญ์ทางศาสนาอิสลาม) ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนใหญ่เห็นด้วยในหลักการ แต่มีข้อกังวลคือ เมื่อมีการชันสูตรพลิกศพมุสลิมแล้ว จะสามารถอำนวยความยุธรรมให้เกิดขึ้นได้หรือไม่ และจะทำให้สามารถนำผิดมาลงโทษได้หรือไม่
นายอับดุลสุโก กล่าวว่า การนำแนวทางดังกล่าวมาใช้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะสามารถนำความยุติธรรมมาให้ประชาชนได้ และกระบวนการต่างๆตามแนวทางดังกล่าว จะมีแพทย์มุสลิมที่มีความน่าเชื่อถือเข้ามีส่วนร่วมในกระบวนการชันสูตรด้วย
ด้าน น.พ.ฟาฏิน อะหะหมัด สาและอารง นายแพทย์ปฏิบัติการโรงพยาบาลศูนย์ยะลา กล่าวว่า แนวทางการตรวจชันสูตรพลิกศพดังกล่าว มีการเน้นว่า การชันสูตรพลิกศพมุสลิมสามารถทำได้หรือไม่ได้เท่านั้น ทั้งที่ยังมีมิติอื่นที่ต้องขับเคลื่อนไปด้วยกัน คือการสนับสนุนการผลิตแพทย์นิติเวชที่เป็นมุสลิม และการสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบความยุติธรรมของไทย
นายอิสมาแอล สะปันยัง หรือ บาบอแอ สะปาแย โต๊ะครูปอเนาะดูซงปันยัง อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี กล่าวในการสัมมนาว่า การที่มีทัศนะเรื่องการชัดสูตรศพของอูลามาอ์ เป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งเป็นเรื่องปลีกย่อย เพราะไม่มีตัวอย่างในสมัยศาสดา
“กรณีนี้คนที่เห็นด้วยก็มีหลักฐาน ส่วนคนที่ไม่เห็นด้วยก็มีหลักฐาน แต่เมื่อสำนักจุฬาราชมนตรีออกคำวินิจฉัยเรื่องนี้แล้ว ใครจะทำตามหรือไม่ทำตามก็ได้ ไม่ได้บังคับ เพราะขึ้นอยู่กับผู้ดูแลศพหรือญาติที่จะอนุญาตหรือไม่” บาบอแอ สะปาแย กล่าว
บาบอแอ สะปาแย กล่าวอีกว่า อยากรู้ว่าเรียกอูลามาอ์มาร่วมงานครั้งนี้ด้วยทำไม หากต้องการให้อุลามาอ์มาให้คำตอบว่า ได้หรือไม่ได้ก็คงต้องเป็นเวทีเฉพาะของอูลามาอ์ แต่ถ้ามีคำวินิจฉัยแล้วก็ไม่จำเป็น
ดร.อับดุลเลาะ อาบูบากา ผู้อำนวยการโรงเรียนสมบูรณ์ศาสตร์ อ.ยะหา จ.ยะลา กล่าวว่า การชันสูตรพลิกมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องมีหลักประกันว่าจะไม่มีการแทรกแซงการทำงานของทีมแพทย์นิติเวช ที่ทำการชันสูตรพลิกศพ และที่สำคัญสุด ต้องสนับสนุนให้มีแพทย์นิติเวชที่เป็นมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ