แจงงบอาหารกลางวัน16ปี ‘30-7,000ล.’ เด็กอดลดลง-ประเมินสารอาหารยังไม่ครบ ปริมาณไม่พอ'ปลูกผัก-เลี้ยงปลา'กินเอง

 

ทีมข่าว ศูนย์ข่าว TCIJ 13 ก.ย. 2555 | อ่านแล้ว 5518 ครั้ง

จากกรณีกระทรวงการคลังเตรียมขอคืน “งบประเดิม” “กองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา” 6,000 ล้านบาท หลังจากตรวจสอบพบการบริหารล้มเหลว ในการแก้ปัญหานักเรียนชั้นประถมศึกษาที่ประสบภาวะทุพโภชนาการ พร้อมทั้งผลักหน้าที่การหาทุนไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มาแล้วเมื่อ 10 ปีก่อน ทำให้เด็กกว่า 7 ล้านคน ยังขาดสารอาหารที่ควรจะรับตามวัย ขณะที่กระทรวงการคลังประเมินคุณภาพไม่ผ่านเกณฑ์ถึง 3 ปีซ้อน ส่วนโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่อปท.ขนาดใหญ่ โชคดีได้กินครบมื้อ แต่ถ้าอยู่ในอบต.ขนาดเล็ก อาจต้องปลูกผัก-เลี้ยงปลากินเองตามมีตามเกิด

 

 

กรมส่งเสริมฯแจงตัวเลขงบประมาณ 16 ปี

 

 

อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีการประเมินคุณภาพของกระทรวงการคลังระบุว่า โครงการดังกล่าวไม่ผ่านเกณฑ์ในปี 2552-2554 ก็ตาม แต่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยผลการดำเนินงานในโครงการอาหารกลางวัน ตั้งแต่ปี 2535-2551 สำหรับนักเรียนระดับก่อนประถมศึกษาและระดับประถมศึกษา ระบุว่า

 

 

 

 

 

 

 

-   ปี 2542 จัดสรรคนละ   6  บาท  200 วัน  ร้อยละ 30  ของนักเรียนระดับอนุบาล 1-ป.6

-   ปี 2549 จัดสรรคนละ   10  บาท  200 วัน  ร้อยละ 40 ของนักเรียนระดับอนุบาล 1-ป.6

-   ปี 2550 จัดสรรคนละ   10  บาท  200 วัน  ร้อยละ 50  ของนักเรียนระดับอนุบาล 1-ป.6

-   ปี 2551 จัดสรรคนละ   10  บาท  200 วัน  ร้อยละ 60  ของนักเรียนระดับอนุบาล 1-ป.6

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ดอกผลกองทุนประเดิมใช้ใน 5 โครงการใหญ่

 

 

ส่วนการใช้จ่ายเงินจากดอกเบี้ยกองทุนประเดิมปีละ 400 ล้านบาท ระบุว่า

 

1.ค่าอาหารกลางวันสำหรับนักเรียนขาดแคลนอาหารกลางวันในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ในพ.ศ 2547-2549 จัดสรรให้นักเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน จำนวน  12,965  คน โดยใช้เงินดอกผลกองทุนฯ ปีละ 27 ล้านบาท

 

2.ค่าอาหารมื้อเช้ามื้อเย็นสำหรับนักเรียนพักนอนในโรงเรียนสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน จำนวน 1,678 คน ใช้เงินดอกผลกองทุนฯ ปีละ 6.7 ล้านบาท

 

3.ค่าอาหารกลางวันสำหรับนักเรียนในโรงเรียนที่ประสบอุบัติภัยภาคเหนือ และภาคกลาง เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 มีโรงเรียนได้รับจัดสรรงบประมาณ จำนวน 462 โรงเรียน เป็นเงิน 27.7 ล้านบาท

 

4.การดำเนินงานโครงการเงินทุนหมุนเวียนส่งเสริมผลผลิต เพื่อโครงการอาหารกลางวัน โดยจัดสรรเงินดอกผลกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันโรงเรียนประถมศึกษาสำหรับส้างผลผลิต/รายได้ เพื่อนำไปสนับสนุนให้นักเรียนได้รับประทานอาหารกลางวันทุกคนทุกวัน เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ปีการศึกษา พ.ศ.2543-2550 มีโรงเรียนได้รับจัดสรร จำนวน 11,282 โรงเรียน เป็นเงิน 281,004,156 บาท ในปี 2550 จำนวน 2,997 โรงเรียน เป็นเงิน 82 ล้านบาท นักเรียนที่ได้รับความช่วยหลือ 98,369 คน ปีละประมาณ

49 ล้านบาท

 

5.การดำเนินงานโครงการอาหารกลางวันแบบยั่งยืน เริ่มดำเนินงาน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2546-2550 โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ดำเนินโครงการอาหารกลางวันแบบยั่งยืน ให้วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี 46 แห่ง เป็นพี่เลี้ยงดูแล 1,200 โรงเรียน โดยใช้เงินดอกผลกองทุน จำนวน 37.30 ล้านบาท ได้ดำเนินการ ดังนี้ 1) ให้การสนับสนุนทางด้านวิชาการ โดยการจัดอบรมความรู้ 2) สนับสนุนปัจจัยการผลิต เช่น เมล็ดพันธุ์ พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ เพื่อนำไปผลิตในโรงเรียน 3) สนับสนุนวัตถุดิบให้โรงเรียนเพื่อประกอบอาหารให้เด็กนักเรียน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ระบุภาวะทุพโภชนาการของเด็กลดลง

 

ส่วนคุณภาพอาหาร โครงการอาหารกลางวันระบุว่า ภาวะทุพโภชนาการของนักเรียนมีแนวโน้มลดลง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

คุณภาพอาหาร‘พลังงาน-แคลเซียม-วิตามินเอ’ยังไม่ถึงเกณฑ์

 

 

และจากการเก็บข้อมูลคุณภาพอาหารจากถาดอาหารที่โรงเรียนตักบริการแก่นักเรียน ตามช่วงชั้น ๆ ละ 3 ถาด ใน 5 สังกัด ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักบริหารงานส่งเสริมการศึกษาเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และกรุงเทพมหานคร (กทม.) จำนวนทั้งสิ้น 126 โรงเรียน เมื่อปี 2549 เมื่อนำมาหาค่าเฉลี่ยปริมาณคุณค่าที่โรงเรียนจัดบริการให้นักเรียน พบว่า ความพอเพียงของอาหาร เมื่อเปรียบเทียบกับพลังงานเป้าหมายด้วยเกณฑ์ร้อยละ 40 ของปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวัน ซึ่งกำหนดร้อยละ 100 ของเป้าหมายแนะนำ หากต่ำกว่าร้อยละ 70 ของเป้าหมาย จัดว่าควรปรับปรุง

 

 

 

 

 

 

งบประมาณไม่พอต้องปลูกผัก-เลี้ยงปลากินเอง

 

 

จากข้อมูลข้างต้นสามารถสรุปได้ว่า หากแผนยุทธศาสตร์กองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันปีงบประมาณ2556-2559 แหวกกระแสยุบทิ้ง และผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการประเมินผล ปลายน้ำอย่างโรงเรียนเป้าหมายโดยเฉพาะกลุ่มที่ตั้งอยู่ใน พื้นที่ทุรกันดาร จะได้รับประโยชน์อย่างมหาศาล

 

ตัวอย่าง โรงเรียนวัดถ้ำองจุ ต.นาสวน อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี เปิดเผยข้อมูลปีการศึกษา 2555 ว่า มีนักเรียนทั้งสิ้น 106 คน เป็นชาย 56 หญิง 50 ซึ่งจำนวนดังกล่าวเป็นเด็กที่มีภูมิลำเนาอยู่ในถิ่นทุรกันดาร การเดินทางไปกลับไม่เอื้ออำนวยต้องพักที่โรงเรียนเกินครึ่ง

 

แบ่งเป็นระดับ

อนุบาล 1           รวม14 คน เป็นชาย 4 หญิง 8

อนุบาล 2           รวม 11 คน เป็นชาย 4 หญิง 7

 ป.1                  รวม 17 คน เป็นชาย 9 หญิง 8

 ป.2                  รวม 14 คน เป็นชาย 7 หญิง 7

 ป.3                  รวม 10 คน เป็นชาย 6 หญิง 4

 ป.4                  รวม 16 คน เป็นชาย 9 หญิง 7

 ป.5                  รวม 13 คน เป็นชาย 8 หญิง 5

 ป.6                  รวม 13 คน เป็นชาย 9 หญิง 4

 

แน่นอนว่าเด็กที่ต้องอยู่ประจำในโรงเรียน จำเป็นต้องได้รับอาหารวันละ 3 มื้อ แต่เนื่องด้วยอปท.ดูแลเพียงอาหารกลางวัน 1 มื้อ จำนวน 13 บาท ต่อคนเท่านั้น ดังนั้นโรงเรียนซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 12 ไร่ จึงริเริ่มสร้างแหล่งวัตถุดิบไว้เป็นเสบียงมากว่า 18 ปีที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นขุดบ่อเลี้ยงปลา แปลงเกษตรปลูกผักผักบุ้ง ผักกาด คะน้า กล้วย และมะละกอ ตลอดจนทำโรงเพาะเห็ด เป็นต้น เพราะอาหารกลางวัน 13 บาทต่อคนต่อวัน ไม่อาจพอเพียงต่ออาหารที่มีคุณภาพสำหรับเด็ก โรงเรียนจึงส่งเสริมเพิ่มเติมทั้ง เนื้อสัตว์ ไข่ ผัก ผลไม้ เพื่อคุณค่าของสารอาหารที่หลากหลาย เพียงพอต่อความต้องการของวัย และถูกหลักโภชนาการ

 

และด้วยบริบทที่ชาวบ้านประกอบอาชีพเกษตรกร โครงการอาหารกล่าวันจึงส่งส่งเสริมให้ผู้เลี้ยงไก่ ปลูกผัก ผลไม้ มีรายได้จากการขายให้กับโรงเรียน ขณะเดียวกับแหล่งอาหารของโรงเรียน ก็เป็นห้องเรียนอันล้ำค่าของเด็กๆ ได้เรียนรู้และเก็บเกี่ยวผลผลิตไปสร้างเสริมภูมิต้านทานภาวะทุพโภชนาการได้

 

นายนิพนธ์ แสวงหา ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดถ้ำองจุ ถอดบทเรียนให้ ดร.สมเกียรติ ชอบผล ที่ปรึกษาโครงการพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ครั้นยังสวมบทบาท รองกพฐ.ลงพื้นที่ไปดูการบริหารจัดการของโรงเรียนในปีที่ผ่านมาว่า เด็กส่วนใหญ่พักอาศัยอยู่ไกลจากโรงเรียน ต้องเดินทางเป็นวันซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่พ่อแม่จะส่งลูกหลานมาเรียน ดังนั้นจึงปรับกลยุทธ์สร้างแรงจูงใจด้วยการสร้างเรือนนอน และสร้างแหล่งอาหารให้เด็กมีอาหารกิน

 

 

“เด็กส่วนใหญ่กลับบ้านเดือนละครั้ง ฉะนั้นนอกจากอาหารเช้า เย็น ในวันธรรมดาแล้ว วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ก็ต้องมีกินอีก 6 มื้อ เฉลี่ยแล้ว 1 เดือน เด็ก 1 คนมีค่าอาหารประมาณเดือนละ 3,000 บาท ถ้าไม่มีแหล่งอาหารก็อยู่ไม่ได้ เพราะ 13 บาทในมือกลางวัน อย่างไรก็ไม่เพียงพออยู่ดี เฉพาะค่าแก๊ส ค่าไฟหุงหาอาหารก็หนักแล้ว” นายนิพนธ์กล่าว

 

 

เงินแค่ 13 บาท เด็กไม่พอกิน 3 มื้อ

 

 

นอกจากโรงเรียนชายขอบแล้ว โรงเรียนบ้านวังใหญ่ อ.ไทรโยค กล่าวถึงประโยชน์ที่ได้รับจากเงินในกองทุนเช่นกัน โดยนางประเทือง พรหมจันทร์ ครูชำนาญการ ค.ส.2 เล่าว่า ที่โรงเรียนเปิดสอนระดับประถมศึกษาปีที่ 1-6 เด็กนักเรียนทั้งสิ้น 174 คน โดย 60 เปอร์เซ็นต์ เป็นเด็กชาวพม่า ซึ่งได้รับอาหารกลางวันจากท้องถิ่นเทียบเท่าเด็กนักเรียนไทย

 

                    “อาหารส่วนมากเป็นข้าวสวยกับแกง 1 อย่าง เพราะ 174 หาร 13 บาท คงจัดสรรอะไรให้เด็กไม่ได้มาก ดังนั้นทางโรงเรียนจึงปลูกกล้วยน้ำว้าไว้เป็นผลไม้เสริมให้เด็กได้กิน ส่วนเงินจากกองทุนนั้นโรงเรียนได้รับเฉลี่ยหลักหมื่นทุกปี แต่อย่างไรคงไม่เพียงพออยู่ดี โชคดีที่โรงเรียนนี้ไม่มีเด็กทุพโภชนาการ ดังนั้นการที่ สพฐ.มีแนวทางให้โรงเรียนเสนอโครงการทางการเกษตรเพื่อเป็นอาหารให้เด็กนักเรียน จึงเป็นแนวทางที่ถูกจุดและน่าจะช่วยให้เด็กมีอาหารที่มีคุณภาพกินมากขึ้น” นางประเทืองกล่าว

 

 

ชี้ความรู้ด้านโภชนาการสำคัญสำหรับเด็ก

 

 

ด้านผศ.ดร.อุไรพร จิตต์แจ้ง อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เคยลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียนดังกล่าว อธิบายถึงจำนวนและปริมาณอาหารที่เหมาะสมสำหรับเด็กระดับประถมศึกษาว่า เด็กระดับนี้จะมีมาตรฐานกำหนดเอาไว้ คือใน 1 มื้อต้องกินข้าวประมาณ 2 ทัพพี ผัก 1 ทัพพี ส่วนเนื้อสัตว์และไข่ ต้องมีสัดส่วนประมาณ 2-3 ช้อนโต๊ะ โดยเฉพาะมื้อเช้าถือว่าสำคัญที่สุด

 

อย่างไรก็ตามถึงเด็กจำเป็นต้องกินเนื้อสัตว์ แต่ก็ควรกินในปริมาณที่พอเหมาะ เพราะไขมันจากเนื้อสัตว์จะเป็นโทษต่อร่างกายถ้ากินมาก แต่ด้วยส่วนใหญ่ครูไม่มีความรู้ด้านโภชนาการ สำหรับดูแลการจัดอาหารให้แก่เด็กนักเรียนแต่ละช่วงวัย จึงจำเป็นต้องพัฒนาให้มีองค์ความรู้

 

 

สร้างโภชนาสมวัย-เด็กทุพโภชนาการลดลง

 

 

นอกจากภารกิจของ สพฐ.และอปท.เกี่ยวกับการส่งเสริมอาหารกลางวันกับนักเรียนประถมศึกษาแล้ว ประมาณปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี คณะศึกษาดูงานจากสำนักโภชนาการ กรมอนามัย สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เครือข่ายโภชนาการสมวัย จ.เพชรบุรี  นนทบุรี และสมุทรปราการ ลงพื้นที่ดูงานการดำเนินงานโครงการโภชนาการ ในจ.สมุทรปราการ

 

ท.พ.ชลธิชา พุทธวงษ์นันทน์ สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ เปิดเผยสถิติจากการสำรวจเด็กแรกเกิด ในโครงการพัฒนาระบบและกลไกเพื่อเด็กไทยมีโภชนาการสมวัย (ปี 2552-2555) โดยสำรวจในเด็กอายุ 0-14 ปี  ใน 25 พื้นที่ เพื่อเปรียบเทียบปี 2555 กับปี 2554 พบว่า เด็กอายุ 0-5 ปี ที่มีภาวะอ้วนน้ำหนักเกินเกณฑ์ลดลงจาก 20.6 เปอร์เซ็นต์  เหลือ 19 เปอร์เซ็นต์

 

เด็กที่มีความสูงต่ำกว่าเกณฑ์ลดลงจาก 17.2 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 15.8 เปอร์เซ็นต์ และเด็กที่มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์จาก 16.1 เปอร์เซ็นต์ ลดลงเหลือ 15.8 เปอร์เซ็นต์ ส่วนกลุ่มเด็กอายุ 6-14 ปี มีภาวะอ้วนน้ำหนักเกินเกณฑ์จาก 18.4 เปอร์เซ็นต์ ลดลงเหลือ 17.6 เปอร์เซ็นต์ เด็กที่มีส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์ลดลงจาก 13.4 เปอร์เซ็นต์  เหลือ 10.2 เปอร์เซ็นต์  และเด็กที่มีภาวะผอมน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์จาก 12.7 เปอร์เซ็นต์  ลดลงเหลือ 11.2 เปอร์เซ็นต์

 

ท.พ.ชลธิชากล่าวต่อว่า สมุทรปราการ เป็น 1 ใน 9 จังหวัดนำร่องของประเทศไทย ที่ดำเนินงานตามโครงการเพื่อเด็กไทยมีโภชนาการสมวัย โดยมีเป้าหมายส่งเสริมให้เด็กไทยตั้งแต่เด็กทารก ปฐมวัย และวัยเรียน เจริญเติบโตอย่างมีโภชนาการสมวัย และดำเนินงานในพื้นที่นำร่อง 12 เทศบาล 13 องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 30 โรงเรียน 28 ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 1 สถานรับเลี้ยงเด็ก และ 49 ชุมชน

 

                        “การพัฒนางานด้านอาหาร และโภชนาการ จะประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนได้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากครอบครัว ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียน และชุมชน ทั้งนี้ตั้งเป้าสร้างเด็กสมุทรปราการ ให้มีโภชนาการสมวัย ไอคิวดีภายใน 5 - 10 ปีข้างหน้า” ท.พ.ชลธิชากล่าว

 

 

ท้องถิ่นต้องเข็มแข็งเพื่อให้เด็กแข็งแรง

 

 

ขณะที่นายสรรเกียรติ  กุลเจริญ นายกเทศมนตรีเมืองปู่เจ้าสมิงพราย จ.สมุทรปราการ เปิดเผยขั้นตอนการดำเนินงานว่า การพัฒนางานด้านอาหารและโภชนาการเด็กแรกเกิด - 14 ปี ต้องใช้กิจกรรมสำคัญสนับสนุนงานแบ่งเป็น 3 โปรแกรม คือ 1.โปรแกรมพัฒนาอาหารกลางวันให้เด็กมาตรฐานโภชนาการ โดยวิเคราะห์คุณค่าทางอาหาร และใช้งบประมาณสนับสนุนจากท้องถิ่น ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 13 บาทต่อวัน

 2.โปรแกรมเฝ้าระวังทางโภชนาการ เพื่อตรวจสอบภาวะโภชนาการเด็กเป็นรายบุคคลเพื่อแก้ไข และ 3.โปรแกรมสำเร็จรูปที่ประเมินพฤติกรรมการให้อาหารของพ่อแม่ ผู้ให้อาหารเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และโรงเรียน เพื่อวางแผนให้เกิดพัฒนาการสมวัย เช่น โรงเรียนนำร่อง “วัดสวนส้ม” ได้บรรจุชุดเรียนรู้กลาง  4 เรื่องที่ยังมีปัญหา อยู่ในแผนการเรียนการสอน ประกอบด้วย 1.ธงโภชนาการ 2.ผักผลไม้ 3.ลดหวาน มัน เค็ม และ 4.โรคอ้วน

 

 

นักวิชาการเตรียมขอเพิ่มเป็น 15-20 บาทต่อคนต่อวัน

 

 

ทางด้าน นายสง่า ดามาพงษ์ ผู้จัดการโครงการพัฒนาระบบและกลไกเพื่อเด็กไทยมีโภชนาการสมวัย สมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สสส. กล่าวถึงแนวคิดเพิ่มงบประมาณอาหารกลางวันสำหรับเด็ก 1 คนต่อ 1 วันว่า กำลังรวบรวมผลการดำเนินการโครงการทั้ง 9 จังหวัดนำร่อง เพื่อสรุปผลและวิเคราะห์ข้อมูล จัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อรัฐบาล และรมว.ศึกษาธิการ เพื่อปรับปรุงแนวทางการดำเนินการเรื่องนี้ โดยเฉพาะการปรับเพิ่มงบประมาณอาหารกลางวันของเด็กนักเรียนจาก 13 บาทต่อคนต่อวัน เป็น 15-20 บาทต่อคนต่อวัน เพื่อช่วยให้เด็กไทยได้รับอาหารกลางวันที่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย และได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนตามหลักโภชนาการ

 

อย่างไรก็ตามแม้จะยังไม่มีข้อสรุปว่า กองทุนดังกล่าวจะถูกยุบหรือไม่ แต่ศูนย์ข่าว TCIJ คาดหวังว่าการตัดสินใจใดๆ ของต้นน้ำทั้งมวล จะตั้งมั่นอยู่ในประโยชน์ที่ปลายน้ำสมควรได้รับจริง ๆ ซึ่งสิ่งที่ยังเป็นคำถามอยู่ต่อไปก็คือ เงินจำนวน 13 บาทที่เด็ก ๆ ควรจะได้รับเป็นค่าอาหารกลางวัน เมื่อเปรียบเทียบกับคุณค่าและปริมาณแล้วเหมาะสมกันหรือไม่เพียงไร หรือมีเงินงบประมาณในส่วนนี้ตกหล่นหายไปหรือไม่ อย่างไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: