‘ศศิน’ออกโรง-ใช้ตัวเลขกรมชลฯแฉกลับ สร้าง‘แก่งเสือเต้น’ไม่ป้องน้ำท่วม‘สุโขทัย’ จวกนักการเมืองฉวยโอกาสมั่วชง23เขื่อน

วรลักษณ์ ศรีใย ศูนย์ข่าว TCIJ 13 ต.ค. 2555 | อ่านแล้ว 2135 ครั้ง

สถานการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 ที่ผ่านมา ในพื้นที่ราบภาคกลาง ตั้งแต่ จ.นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี อยุธยา ปทุมธานี และกรุงเทพมหานคร นำมาสู่แผนการจัดการน้ำของรัฐบาล ภายใต้งบประมาณ 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งหนึ่งในแผนป้องกันน้ำท่วม คือการก่อสร้างเขื่อนประมาณ 23 แห่ง โดยมี 2 เขื่อน ที่ถูกผลักดันมาทุกยุคทุกสมัย ทุกรัฐบาลและทุกสถานการณ์น้ำท่วม ภัยแล้ง คือ เขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ และเขื่อนแก่งเสือเต้น จ.แพร่

 

และสถานการณ์ที่ทำให้เขื่อนแก่งเสือเต้น ประทุขึ้นมาอีกครั้ง คือเหตุการณ์น้ำท่วมหนักในเขตเทศบาลเมืองสุโขทัยธานี เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งทุกฝ่ายพุ่งเป้าโจมตีว่า น้ำที่ท่วม จ.สุโขทัย คือน้ำจากแม่น้ำยม และต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น จึงจะแก้ปัญหานี้ได้ โดยเฉพาะคำประกาศของ นายปลอดประสพ สุรัสวดี  รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ยืนยันว่า จะต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นให้ได้ภายในปีหน้า

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ขณะที่ข้อมูลระบุว่า แม่น้ำยมยาวกว่า 700 กิโลเมตร ส่วนตัวเมืองสุโขทัย ตั้งอยู่ห่างจากอุทยานแห่งชาติแม่ยม ซึ่งเป็นจุดที่กำหนดจะก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ประมาณ 300 กิโลเมตร และใต้บริเวณจุดสร้างเขื่อนลงมา ยังมีลำน้ำสาขาที่ไหลลงแม่น้ำยมอีกกว่า 40 สาย จึงเป็นคำถามว่า การก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น จะแก้ปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ จ.สุโขทัยได้จริงหรือ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ข้อมูลกรมชลฯระบุชัดน้ำท่วมสุโขทัยไม่เกี่ยวกับ‘แก่งเสือเต้น’

 

 

ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ให้ข้อมูลว่า วันที่น้ำท่วมเมืองสุโขทัย และไหลบ่าไปอ.บางระกำ จ.พิษณุโลก เมื่อวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา มีนักการเมืองออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ขณะที่ข้อมูลจากเว็บไซต์ของกรมชลประทานระบุชัดเจนว่า น้ำที่บ้านห้วยสัก อ.สอง จ.แพร่ บริเวณที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น มีปริมาณน้อยวิกฤตถึงน้อย ซึ่งระดับปริมาณน้ำทรงอยู่เช่นนี้ประมาณ 1 สัปดาห์ ดังนั้นน้ำที่ท่วมสุโขทัยในปีนี้ คาดว่าน้ำน่าจะมาจาก อ.สวรรคโลก หรืออ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย มากกว่า

 

 

               “แม่น้ำยมจะแยกที่ อ.ศรีสัชนาลัย เพื่อเข้า อ.วังชิ้น จ.แพร่ หากดูจากแผนที่ จะพบว่า มีสายน้ำอื่นไหลมาลงแม่น้ำยมที่ อ.วังชิ้น ประมาณ 40 สาย ฉะนั้นแม่ว่าจะมีการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นขึ้นมา พื้นที่รับน้ำซึ่งเป็นอ่างอยู่ด้านบน ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมที่ จ.สุโขทัยได้”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

สร้าง ‘เขื่อนแม่วงก์’ ไม่แก้ปัญหา-ป้องกันน้ำท่วม

 

 

ส่วนโครงการเขื่อนแม่วงก์นั้น แต่เดิมโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ กำหนดบริเวณพื้นที่ด้านล่าง ที่เรียกว่าบ้านเขาชนกัน ซึ่งเป็นพื้นที่ใหญ่มาก แต่มีนักการเมืองคนหนึ่งเข้าไปครอบครองที่ดินบริเวณดังกล่าวจำนวนมาก และบอกว่าให้ไปสร้างเขื่อนในป่าแทน ซึ่งหากรัฐบาลตัดสินใจสร้างเขื่อนแม่วงก์บริเวณบ้านเขาชนกัน เมื่อ 20 ปีที่แล้ว จะได้อ่างเก็บน้ำประมาณ 600 ล้านลูกบาศก์เมตร ให้น้ำกับพื้นที่การเกษตร 300,000 ไร่ ตามที่กำหนดไว้ในโครงการ และแก้ปัญหาน้ำท่วมอ.ลาดยาวได้ด้วย แต่เมื่อมีการเปลี่ยนจุดสร้างเขื่อนแม่วงก์ โดยขยับเข้าไปในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ พื้นที่อ่างเก็บน้ำที่จะสร้างเหลือเพียง 200 ล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้นการสร้างเขื่อนแม่วงก์ในพื้นที่ป่า จึงไม่ตอบโจทย์และไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้ แต่มีพลังทางการเมืองเข้าไปบริเวณนั้น นำคนเข้าไปอาศัยอยู่ในพื้นที่ ไปลักลอบตัดไม้ทำลายป่า สร้างฐานคะแนนเสียง พร้อมกับบอกว่าถ้าสร้างเขื่อนในป่าจะไม่มีใครเดือดร้อนหรือได้รับผลกระทบ

 

ศศินกล่าวว่า เช่นเดียวกับโครงการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งจุดสร้างเขื่อนอยู่บริเวณเหนือสุดของ จ.แพร่ ต่อเนื่องกับ จ.พะเยา เพื่อที่จะแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ที่ต่ำลงไปอีกกว่า 300 กิโลเมตร ที่ จ.สุโขทัย ซึ่งข้อมูลจากกรมชลประทานมีความชัดเจนว่า น้ำไม่ได้มาจากป่าแม่ยมตอนบน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

                “เป็นประเด็นที่น่าสนใจว่า ข้อมูลการสร้างเขื่อนถูกผลักดันโดยกระบวนการอะไร ทั้งที่มีข้อมูลอีกชุดหนึ่งชี้ให้เห็นชัดเจนว่า หากสร้างแล้วไม่ได้เกิดประโยชน์อะไร นอกจากนี้ข้อมูลจากกรมชลประทาน ยังระบุด้วยว่า หากสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น น้ำในตัวเมืองสุโขทัยจะลดลง 0.34 เมตร หมายความว่า ถ้าน้ำเคยท่วม 1 เมตร จะท่วมประมาณ 70 เซนติเมตร ข้อมูลนี้เปรียบเทียบจากเมื่อปี 2538 ที่ปริมาณน้ำเยอะมากศศินกล่าว

 

 

ยันสร้างแก่งเสือเต้นไม่ตอบโจทย์

 

 

 

นอกจากนี้ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียรยังกล่าวต่อว่า จากข้อมูลที่ระบุว่า ถ้าน้ำลดลงเพียงเท่านี้และไม่ต้องการให้น้ำท่วมสุโขทัย รัฐบาลอาจจะใช้วิธีสร้างคันกั้นแม่น้ำยม ในพื้นที่เทศบาลเมืองสุโขทัยธานี ให้สูงขึ้นอีก 10 เปอร์เซ็นต์ หรือทำแบบบางระกำโมเดล โดยขุดขยายคลองระบายออกด้านข้าง จะช่วยระบายน้ำที่สุโขทัยได้ถึง 400 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะมีประสิทธิภาพดีกว่าการสร้างเขื่อนมาก ดังนั้นการผลักดันให้สร้างเขื่อนมาจากอะไร เมื่อข้อมูลที่ปรากฏออกมาเป็นเช่นนี้ แม้การสร้างเขื่อนจะทำให้น้ำลดลงจริง แต่ไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาน้ำท่วมที่สุโขทัยได้

 

 

                “ถ้าน้ำลดลงเพียง 0.34 เมตร การสร้างคันกั้นน้ำให้สูงขึ้นอีก 10 เปอร์เซ็นต์ หรือขุดลอกขยายคลองระบายออกด้านข้าง แบบบางระกำโมเดล จะแก้ปัญหาได้มากกว่าการสร้างเขื่อน ดังนั้นจึงอยากตั้งคำถามว่า เมื่อมีทางออกเช่นนี้ ในขณะที่การสร้างเขื่อนไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาน้ำท่วม ทำไมถึงพยายามผลักดันกระบวนการสร้างเขื่อน”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

บรรจุแก่งเสือเต้นในแผนกบอ. อ้างแก้น้ำท่วมภาคกลาง

 

 

อย่างไรก็ตามเขื่อนแก่งเสือเต้น ถูกบรรจุไว้ในแผนป้องกันน้ำท่วม ของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เนื่องจากปัญหาน้ำท่วมภาคกลาง เมื่อปี 2554 ที่ผ่านมา เพราะแม่น้ำยมเป็นแม่น้ำสายหนึ่งที่ไหลไปรวมกับ ปิง วัง และน่าน และทำให้น้ำท่วม ซึ่งเป็นเหตุผลของการผลักดันทั้ง 2 เขื่อน คือ แก่งเสือเต้น และเขื่อนแม่วงก์ แต่ 1 ปีที่ผ่านมา ค่อนข้างชัดเจนว่า สาเหตุน้ำท่วมภาคกลางมาจาก 2 สาเหตุคือ 1.ปริมาณฝนที่มากกว่าทุกปีประมาณ 40-50 เปอร์เซ็นต์ และ 2.พายุที่เข้าสู่ประเทศไทย 5 ลูก ซึ่งเหตุการณ์น้ำท่วมเช่นนี้เคยเกิดขึ้นเมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมา คือเมื่อปีพ.ศ.2473 ซึ่งเป็นน้ำท่วมแบบปรากฏการณ์ร้อยปีจะเกิดขึ้นสักครั้ง ระยะเวลาใกล้ ๆ ที่มีเหตุการณ์น้ำท่วมแบบนี้ เมื่อปี พ.ศ.2485 และ พ.ศ.2538 แต่ไม่มากเท่านี้ อยากถามว่า เราจะปล่อยให้ใช้งบประมาณ 3.5 แสนล้าน เพื่อรองรับความเสี่ยงที่ร้อยปีจะเกิดสักครั้งหรือไม่ เรามีวิธีการอื่นจัดการไหม

 

ทั้งนี้ศศินอธิบายว่า จุดที่แม่น้ำเจ้าพระยามารวมกันคือปากน้ำโพ จ.นครสวรรค์ ซึ่งเป็นจุดที่น้ำท่วมสูงมากเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเกิดจากการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาด ซึ่งแม่น้ำเจ้าพระยามาจาก แม่น้ำ 4 สาย  ปิง วัง ยม น่าน ไหลมารวมกัน และก่อนที่น้ำจะไหลจากนครสวรรค์ไปชัยนาท จะถูกกั้นด้วยเขื่อนเจ้าพระยา แม่น้ำเจ้าพระยาจะแยกที่จังหวัดชัยนาทออกไปอีกสายหนึ่งเป็นแม่น้ำท่าจีน ให้ชาวนาที่สุพรรณบุรีใช้ และพอมาถึงอยุธยาจะรวมกับแม่น้ำป่าสัก

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

สถานการณ์ที่ทำให้นครสวรรค์วิกฤตหนัก และน่าจะเป็นสาเหตุของความเสียหายจำนวนมาก คือการไม่เปิดเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อระบายน้ำไป จ.สุพรรณบุรี เนื่องจากหน่วยงานที่รับผิดชอบอ้างว่า ต้องรอให้ชาวนาเกี่ยวข้าวก่อน ในขณะที่น้ำจากเขื่อนภูมิพลต้องปล่อยลงมา และยังสมทบด้วยน้ำจากแม่น้ำยม และแม่น้ำน่าน รวมทั้งฝนจากพายุ 5 ลูกด้วย

 

 

                 “การบริหารจัดการน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยามีความสำคัญมาก ว่าจะชะลอหรือปล่อยน้ำอย่างไร ในขณะที่ระดับน้ำในพื้นที่มีมาก น้ำจากเขื่อนทางเหนือต้องปล่อยลงมา แต่เขื่อนเจ้าพระยายังไม่ปล่อยออก เพราะเป็นห่วงพี่น้องชาวนาที่สุพรรณฯ จะต้องเกี่ยวข้าว คงต้องมาตั้งคำถามกันว่า ในภาวะวิกฤตจะต้องรอการเกี่ยวข้าวหรือไม่” ศศินกล่าว

 

 

การเมืองเข้าแทรก ใช้ความผิดพลาดตั้งงบโกยผลประโยชน์

 

 

ศศินกล่าวอีกว่า ความจริงประเทศไทยมีระบบป้องกันน้ำท่วมไว้หมดแล้ว ถ้าเมื่อปีที่แล้วมีการบริหารจัดการที่ดี เช่น 1.แบ่งน้ำไปทุ่งสุพรรณบางส่วนจะทำให้น้ำลดน้อยลง และน้ำที่นครสวรรค์จะจัดการได้ง่ายขึ้น ถ้าไม่มีการเมืองเข้าแทรกแซง 2.จะทำอย่างไรที่จะรักษากรุงเทพฯ ไว้ให้ได้ การจัดการน้ำควรจะปล่อยน้ำไปตามระบบ ที่มีการป้องกันน้ำท่วม ซึ่งแน่นอนว่าน้ำท่วมกรุงเทพฯ แต่ความเสียหายจะน้อยลงมากกว่าที่เกิดขึ้น 3.ที่ผ่านมารัฐบาลไม่พูดความจริง ไม่มีการแจ้งเตือนให้นิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ เตรียมตัว เพื่อขนย้าย ทั้งที่รู้ว่าปริมาณน้ำที่ไหลมามีจำนวนมาก แต่ยังยืนยันว่าสามารถจัดการได้ ซึ่งศศินสรุปว่า น้ำที่ท่วมส่วนหนึ่ง ท่วมโดยธรรมชาติ แต่การจัดการและการตัดสินใจที่ผิดพลาด เป็นการตัดสินใจของผู้บริหาร

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

               “ปีนี้คาดการณ์ว่าจะเข้าสู่ภาวะแล้ง แต่คนยังกลัวน้ำ ดังนั้น 2 เขื่อนอเนกประสงค์ เขื่อนแม่วงก์และเขื่อนแก่งเสือเต้นจะถูกประกาศทันที ทั้งแก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม ปีนี้รัฐบาลใช้งบประมาณกว่า 100,000 ล้านบาท เพื่อทำโครงสร้างป้องกันน้ำท่วม ส่วนโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นและเขื่อนแม่วงก์ เป็นโครงการที่ใส่ให้เต็มเพื่อจะได้กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท”

 

 

ศศินกล่าวสรุปว่า สถานการณ์เขื่อนแม่วงก์ขณะนี้กรมชลประทานส่งรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ให้กับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) แล้ว รัฐบาลใช้คำสั่งของคณะรัฐมนตรีออกเป็นนโยบาย ให้มีการสร้างเขื่อนแม่วงก์ รวมทั้งเขื่อนแก่งเสือเต้นและ เขื่อนอื่น ๆ อีก 21 เขื่อน รัฐบาลใช้ความเสียหายที่ทำเสียหายไว้มาก เมื่อปีที่แล้วเป็นตัวประกันว่า ถ้าไม่สร้างเขื่อนจะเสียหายเหมือนเมื่อปีที่แล้ว และนักลงทุนจะไม่มาลงทุน

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: