พลิกเบื้องหลังหุ้นใหญ่ไม่ปลื้ม ปลด ‘สุรางค์ เปรมปรีดิ์’ พ้นบัลลังก์ช่อง 7 เหตุเรตติ้ง-โฆษณาร่วง ดารา-รายการแห่ซบช่อง 3 เพียบ

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 13 ม.ค. 2555 | อ่านแล้ว 15693 ครั้ง

พลันที่ กฤตย์ รัตนรักษ์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด ผู้บริหารสถานีวิทยุโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7เซ็นคำสั่งไม่ต่อสัญญา สุรางค์ เปรมปรีดิ์ ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2554 ที่ผ่านมา สร้างความสนใจให้กับบรรดาสื่อต่างๆแทบทุกแขนง ด้วยเพราะผลงานและความทรงอิทธิพลของ “คุณแดง” ที่สั่งสมมาอย่างยาวนานกว่า 30ปี

นับตั้งแต่ปี 2524 ที่สุรางค์เข้ามาช่วยชาติเชื้อ กรรณสูต ผู้เป็นพี่ชาย บริหารงานในช่อง 7 ครั้งแรก จวบจนปัจจุบัน สุรางค์สร้างความเปลี่ยนแปลงและทำให้ช่อง 7 ผงาดขึ้นเป็นสถานีโทรทัศน์อันดับ 1 ของประเทศ ชนิดที่สถานีโทรทัศน์ช่องอื่นๆ ยังไม่อาจก้าวตามทัน

เหตุการณ์นี้จึงไม่ได้สะเทือนเฉพาะช่อง 7 แต่อาจกำลังหมายถึงสัญญาณการปรับตัวบางประการของสื่อโทรทัศน์ โดยเฉพาะช่อง 3 ซึ่งถือเป็นคู่แข่งสำคัญ ที่ขยับขึ้นมาเทียบชั้นแบบหายใจรดต้นคอ

ช่อง 7 สี ทีวีที่มาด้วยอำนาจการเมือง

เรวดี เทียนประภาส ภรรยา สุชาติ กรรณสูต เป็นผู้ก่อตั้ง บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด เพื่อบริหารช่อง 7 สี ที่เกิดขึ้นตามมติที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมวิทยุและโทรทัศน์ของกองทัพบก ยุคจอมพลประภาส จารุเสถียร ผู้บัญชาการทหารบก ในขณะนั้น โดยยื่นจดทะเบียนบริษัทเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2510 ด้วยทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท แบ่งเป็น 1,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 1 หมื่นบาท

ต่อมาวันที่ 22 กันยายน 2510 มีการแต่งตั้งคุณหญิงไสว จารุเสถียร ภรรยาจอมพลประภาส พี่สาวของเรวดี เป็นประธานกรรมการบริษัท และ ชวน รัตนรักษ์ เป็นรองประธานกรรมการ ซึ่งคอยสนับสนุนทุนอยู่เบื้องหลังมาโดยตลอด

หลังจากนั้นช่อง 7 สีก็ได้รับการปลุกปั้นร่วมกันมาระหว่าง 2 ตระกูลคือ “กรรณสูต” และ “รัตนรักษ์” ผู้ถือหุ้นใหญ่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

ไม่ต้องสงสัยว่า การเกิดขึ้นของบริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด อิงกับการเมืองมากเพียงใด ดังนั้น ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 สถานการณ์การเมืองที่เปลี่ยนแปลงสร้างผลกระทบต่อโครงสร้างผู้บริหารช่อง 7 ตำแหน่งประธานกรรมการ เปลี่ยนเป็นของชวน ขณะที่ ร.ท.ชายชาญ กรรณสูต ลูกชายคนที่ 2 ของนางเรวดี ซึ่งดำรงตำแหน่งกรรมผู้จัดการมาตั้งแต่พฤษภาคม 2516 ก็ตั้งอกตั้งใจขยายอาณาจักรสถานีโทรทัศน์แห่งนี้ ทว่า โชคร้าย เมื่อ พ.ท.ชายชาญ (ยศในเวลาต่อมา) ถูกคนร้ายลอบยิงเสียชีวิตในวันที่ 4 เมษายน 2523 ระหว่างเดินทางไปเปิดสถานีดาวเทียมย่อยที่จ.อุบลราชธานี

หลังการเสียชีวิตของ พ.ท.ชายชาญ  ไพโรจน์ เปรมปรีดิ์ สามีของสุรางค์ ซึ่งเป็นอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก็เข้ามาเป็นกรรมการผู้จัดการคนใหม่

กระทั่งปี 2524 ชาติเชื้อ กรรณสูต ก็กลับมารับตำแหน่งผู้จัดการอีกครั้ง หลังจากวางมือจากช่อง 7 ไปตั้งแต่ปี 2516 และดึงสุรางค์ เปรมปรีดิ์ ผู้เป็นน้องสาว เข้ามาช่วยดูแลและสร้างช่อง 7 สีด้วย ทั้งที่สุรางค์ไม่เคยมีประสบการณ์ด้านการบริหารงานสถานีโทรทัศน์มาก่อน แต่เป็นผู้จัดการโรงเรียนเรวดีและผู้อำนวยการนิตยสารสตรีสาร

นับเป็นจุดเริ่มต้นตำนาน “คุณแดง” แห่งช่อง 7 สี และภายหลังการเสียชีวิตของ ชาติเชื้อ กรรณสูต สุรางค์จึงขึ้นมาผู้กุมบังเหียนช่อง 7 สี อย่างเต็มตัว ทั้งด้วยตำแหน่งและบารมี มาตั้งแต่ปี 2541

‘คุณแดง’ผู้พลิกโฉมละครทีวีไทย

คุณแดงบริหารช่อง 7 เรื่อยมา และสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อวงการละครโทรทัศน์ไทยมากมาย ที่ทุกวันนี้ละครหลังข่าวกลายเป็นช่วงเวลาไพรม์ไทม์ (Prime Time- ช่วงเวลาที่มีผู้ชมมากที่สุด และค่าโฆษณาแพงที่สุด) ก็เกิดจากฝีไม้ฝีมือของคุณแดง แหล่งข่าวจากนิตยสารบันเทิงฉบับหนึ่งกล่าวว่า

คุณแดงเป็นคนเริ่มจัดระบบ ระเบียบดารา ทำระบบสัญญา ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่มีการเซ็นสัญญา มีบางคน บางคนก็เฉยๆ แต่ช่วงหลังเซ็นทุกคน วิธีการคือแยกเซ็น ช่องไม่ถือเองคนเดียว อย่าง จุ๋ย วรัทยา (นิลคูหา) เซ็นสัญญากับ กันตนา กบ สุวนันท์ (คงยิ่ง) เซ็นกับดาราวีดีโอ มอบหมายให้ค่ายดูแล มีอะไรก็ด่าค่าย แต่ตอนนี้เซ็นตรงกับช่องหมดแล้ว เขาตั้งแผนกขึ้นมาดูแล เพราะรูปแบบธุรกิจมันเปลี่ยนไป ดารากลายเป็นสินค้า ไม่เหมือนสมัยก่อน แต่เขาไม่ได้กินเปอร์เซ็นต์ พรีเซ็นเตอร์ แค่กันไม่ให้ไปช่องอื่น แล้วก็ให้ความสำคัญเรื่องโปรดักชั่นละคร

นอกจากนี้คุณแดงยังเป็นคนแรกๆ ที่กว้านซื้อลิขสิทธิ์นวนิยายหลายเรื่องมาเก็บไว้เพื่อทำละคร ซึ่งก็บีบให้ช่อง 3 จำเป็นต้องทำตาม และคุณแดงอีกเช่นกันที่เป็นผู้มีวิธีการปั้นดารา จัดเรทละคร จัดขนาดการผลิต ฟอร์มเล็ก-ใหญ่ และวางจังหวะการปล่อยละครแต่ละเรื่อง เพื่อต่อสู้กับคู่แข่งหลักอย่างช่อง 3 แหล่งข่าวคนเดิมกล่าวว่า คุณแดงจะคอยกำหนดทิศทางละครที่แปลกๆ ใหม่ๆ อยู่เสมอ เช่น การทำละครเพลงหรือการขายเพลงประกอบละคร เป็นต้น

คุณแดงเป็นคนเริ่มต้นให้สงครามนี้มีสีสันขึ้น

กล่าวกันว่าละครสไตล์ตบจูบ นางอิจฉาร้ายกาจต้องวี้ดว้ายตลอดเวลา มีต้นฉบับจากคุณแดงนั่นเอง แหล่งข่าวจากสื่อสายบันเทิงอีกคน กล่าวว่า ไพรัช สังวริบุตร ผู้ก่อตั้งดาราวีดีโอ และเป็นผู้จัดละครคู่บุญของคุณแดง เคยพูดถึงสูตรการทำละครว่า ต้องสร้างความตื่นเต้นให้กับผู้ชมทุกๆ 2 นาที อาการวี้ดว้ายในละครก็คือกลวิธีหนึ่ง กระทั่งกลายเป็นรูปแบบที่ช่องอื่นๆ ต้องทำตาม เป็นผู้มีบารมีและอิทธิพลคนหนึ่งของวงการบันเทิงไทย บ้างก็ว่าสามารถชี้เป็นชี้ตายดาราได้ แต่บางคนก็ว่าไม่ถึงขั้นนั้น พูดถึงสไตล์ดารา เป็นที่รู้กันดีว่าคุณแดงชอบพระเอกหน้าไทย ผิวเข้ม และเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของละครช่อง 7 ก็คือการถ่ายไป ออกอากาศไป ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องเสี่ยงมาก แต่ก็มีช่อง 7 ที่ทำได้ ถามว่าทำไมต้องทำแบบนี้ แหล่งข่าวจากสื่อสายบันเทิง อธิบายว่า การถ่ายไป ออกอากาศไป ทำให้สามารถแทรกเหตุการณ์ปัจจุบันเข้าไปในละครได้ด้วย

ผู้จัดละครอีกรายกล่าวว่า สุรางค์ชอบที่จะให้มีพระเอก นางเอก ปรากฏในทุกตอน เมื่อผู้จัดรู้ว่ามีรสนิยมแบบนี้ บางครั้งจึงต้องปรับบท หากตอนไหนมีฉากพระเอก นางเอกน้อยเกินไป ก็ต้องปรับให้มีมากขึ้น

ด้วยฝีไม้ลายมือการบริหารของคุณแดง ช่อง 7 จึงมีเรตติ้งอันดับ 1 มาตลอด โดยเฉพาะละครหลังข่าว แม้ช่อง 3 จะพยายามไล่กวดอย่างไร ก็ไม่สามารถขึ้นมาช่วงชิงตำแหน่งแชมป์ไปได้

คุณแดงบริหารช่อง 7 จนอายุ 60 ปี เมื่อปี 2545 แต่ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปด้วยการเซ็นสัญญาแบบปีต่อปี แต่ก็เหมือนละครที่จะต้องถึงฉากอวสาน 20 ธันวาคม 2554 คุณแดงไม่ได้รับการต่อสัญญาจากบริษัท กรุงเทพโทรทัศน์ฯ จึงถือเป็นการปิดฉากผู้กุมอำนาจช่อง 7 ในวัย 69 ปี

ผลลัพธ์ความขัดแย้ง 2 ตระกูล

แน่นอนว่า ไม่มีใครสามารถรู้สาเหตุแท้จริงของเหตุการณ์นี้ได้ มีแต่เพียงการคาดเดาไปต่างๆ นานา แหล่งข่าวจากนิตยสารบันเทิง สันนิษฐานว่า สาเหตุหลักคือความขัดแย้งระหว่างตระกูลกรรณสูตและรัตนรักษ์ ที่กฤตย์ต้องการเข้ามามีบทบาทการบริหารช่อง 7 มากกว่าที่เป็นอยู่

มันเริ่มเป็นความสะสมของแบงค์กรุงศรีฯ ที่รู้สึกว่าสั่งไม่ได้ คุณแดงไม่ให้เกียรติเท่าไหร่ ส่งคนเข้าไปก็ไม่สอนงาน พอถึงตอนนี้เขารู้สึกว่ามีข้ออ้าง ความชอบธรรมหลายอย่างที่จะดันคุณแดงออก

นับตั้งแต่การเสียชีวิตของ พ.ท.ชายชาญ บทบาทของตระกูลรัตนรักษ์ ก็ค่อยเพิ่มมากขึ้นพร้อมๆ กับจำนวนหุ้นในบริษัท กรุงเทพโทรทัศน์ฯ สำรวจดูหุ้น ณ วันที่ 24 เมษายน 2554 จะพบว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่ 10 อันดับแรก คือ 1.บริษัท ซีเคเอส โฮลดิ้ง จำกัด บริษัทของตระกูลรัตนรักษ์ ถือหุ้นใหญ่ 26.2295 เปอร์เซ็นต์ 2.นายกฤตย์ รัตนรักษ์ 18.8525 เปอร์เซ็นต์ 3.นางสุรางค์ เปรมปรีดิ์  18.8525 เปอร์เซ็นต์ 4.น.ส.สุดธิดา รัตนรักษ์ 8.0328 เปอร์เซนต์ 5.นายชนม์ชนก เทียนประภาส 4.9180 เปอร์เซ็นต์ 6.บริษัท รัตนรักษ์ จำกัด 4.4262 เปอร์เซนต์ 7.กระทรวงการคลัง 4.0984 เปอร์เซ็นต์ 8.ร.อ.หญิงสุมิตรา จารุเสถียร 4 เปอร์เซ็นต์ 9.บริษัท ทุนมหาลาภ จำกัด 2.6721 เปอร์เซ็นต์ และ 10.นายไพโรจน์ เปรมปรีดิ์ 2.4262 เปอร์เซ็นต์

แต่แม้ว่าตระกูลรัตนรักษ์จะอยู่ในสถานะเจ้าของ ทว่าการบริหารกลับตกอยู่ในมือสุรางค์แบบเบ็ดเสร็จ แม้กฤตย์เคยพยายามส่งคนที่มีฝีมือที่สามารเทียบชั้นกับคุณแดงได้เข้าไปร่วม บริหาร อย่างเช่น ชาลอต โทณวณิก เพื่อลดบทบาทคุณแดง แต่สุดท้ายก็ไม่สำเร็จ

วันที่ไม่ต่อสัญญาทางช่อง 7 ก็โหดร้ายกับคุณแดง เพราะคุณแดงรู้ช้ากว่านักข่าวอีก คือเล่นเกมแรง คุณแดงก็งงอยู่เหมือนกัน แต่ไม่มีฟีดแบ็คเลย ยังทำงานต่อไป ทำถึงวันที่ 30 ก็จบ ไปเที่ยวเมืองนอก ก็ยังไม่รู้ว่าคุณแดงจะไปไหน แต่ทิศทางคงต้องทำอะไรในวงการทีวี เพราะว่าลักษณะของคนใหญ่ๆ เวลามีปัญหาแบบนี้เขาไม่ยอมหรอก ต้องมีการเอาคืน ต้องมีการแสดงสถานะ เป็นเรื่องหน้าตา ศักดิ์ศรี

แหล่งข่าวจากนิตยสารบันเทิงรายหนึ่งระบุว่า ต่อจากนี้ไปคุณแดง อาจจะเปิดสถานีโทรทัศน์ของตัวเองมากกว่า ที่จะย้ายไปซบช่อง 3 ดังที่เคยเป็นข่าว เนื่องจากไม่น่าเป็นไปได้ที่ผู้บริหารระดับนี้จะยอมเป็นลูกหม้อใคร อีกทั้งการเปิดสถานีโทรทัศน์ยุคนี้ไม่ใช่เรื่องยากเหมือนยุคก่อน และเงิน 2,000ล้านบาท ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับคนชื่อ สุรางค์

นั่นด้วยเพราะเมื่อเดือนกันยายน 2554ที่ผ่านมา จากการจัดอันดับเศรษฐีไทยของนิตยสารฟอร์บ ระบุว่า นางสุรางค์ เปรมปรีดิ์ เป็นมหาเศรษฐีอันดับ 14 ของไทย ด้วยทรัพย์สิน 790 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ช่อง 3เบียดทั้งเรทติ้ง-โฆษณา

มองข้ามเรื่องความขัดแย้งในการช่วงชิงบทบาทการบริหารช่อง 7 ซึ่งไม่มีใครรู้จริงออกไป กระแสหนึ่งที่ถูกพูดถึงกันมากก็คือช่อง 7 ต้องการปรับโครงสร้างการบริหารใหม่ เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ช่อง 3 ซึ่งถือเป็นคู่แข่งหลักของช่อง 7 มีการปรับตัวทั้งในเชิงรูปแบบรายการ เนื้อหา และบุคลากร

ประเด็นที่ถูกพูดถึงกันมากคือ ระหว่างเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปีที่ผ่านมา ภาพรวมโฆษณาทีวี ติดลบ 6.29 เปอร์เซ็นต์ เป็นครั้งแรก ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2552 แต่ช่อง 3 เป็นช่องเดียวที่มีรายได้เพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยช่อง 3 มีรายได้โฆษณา 1,550 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.26 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ช่อง 7 มีรายได้ 1,675 ล้านบาท ลดลง 5.31 เปอร์เซ็นต์

ทั้งยังเห็นบทบาทที่ชัดเจนและแตกต่าง ในเหตุการณ์น้ำท่วมของช่อง 3 ที่เรียกยอดโฆษณาได้เป็นกอบเป็นกำ ซึ่งแสดงการปรับตัวที่มีความยืดหยุ่นมากกว่าช่อง 7 และเมื่อย้อนกลับไปดูส่วนแบ่งการตลาดงบโฆษณาปี 2553 ช่อง 3 มีส่วนแบ่งประมาณ 27 เปอร์เซ็นต์ เป็นรองช่อง 7 ที่มีส่วนแบ่งประมาณ 31 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ไม่ใช่ตัวเลขที่ทิ้งห่างมาก

ที่น่าสนใจคือ รายงานของบริษัท เอจีบี นีลเส็น เดือนธันวาคม 2554พบว่า เรทติ้งของช่อง 3 อยู่ที่ 30.34 เปอร์เซ็นต์ ช่อง 7 อยู่ที่ 46.21 เปอร์เซ็นต์ ทิ้งห่างกว่า 15 เปอร์เซ็นต์ แต่ส่วนแบ่งการตลาดงบโฆษณากลับไม่ห่างกันมาก หมายความว่าเรทติ้งไม่ใช่สิ่งเดียวที่ผู้ลงโฆษณาใช้ในการตัดสินใจ

อีกด้านหนึ่ง ช่อง 3 ก็มุ่งพัฒนาด้านดิจิตอลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ การสื่อสารผ่านโซเชียล เน็ตเวิร์ก การพัฒนาแอพพลิเคชั่น เพื่อสร้างช่องทางสื่อสารใหม่ๆ รวดเร็ว และเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ ขณะที่ช่อง 7 ดูจะไม่มีการเคลื่อนไหวด้านนี้

เหล่านี้อาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่กฤตย์ใช้ในการไม่ต่อสัญญากับคุณแดงอีกต่อไป

ละครแนวเดิมดึงแฟนไม่อยู่

แม้สุรางค์จะทำให้ช่อง 7 ครองอันดับ 1 สถานีโทรทัศน์ไทยมายาวนาน เป็นผู้สร้างกระแสและกำหนดเอกลักษณ์แก่ละครทีวี แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน สภาพสังคม เศรษฐกิจ ไลฟ์สไตล์ และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ก็ชวนตั้งคำถามว่า สไตล์คุณแดงจะรับมือได้หรือไม่

เนื้อหาละครของช่อง 7 จะเจาะกลุ่มคนดูต่างจังหวัดมาโดยตลอด ขณะที่ช่อง 3 เน้นกลุ่มคนเมือง ทำให้ละครช่อง 7 มีความแมส (Mass) กว่า อย่างไรก็ตาม ผู้จัดละครค่ายเดิมบอกว่า ดาราของช่อง 7 มีสีสันน้อยกว่าช่อง 3 เนื่องจากดาราช่อง 7 มักเป็นดาราหน้าเดิมๆ ซ้ำๆ และลีลาการแสดงไม่มีการพัฒนาเท่าที่ควร

หากยังจำกันได้ จะมีช่วงหนึ่งที่ดาราจากช่อง 7ไหลออกไปซบช่อง 3 จนเป็นข่าวเป็นคราวใหญ่โต ไม่เว้นแต่ละวัน แถมยังมีข่าวลือด้วยว่า ช่อง 3 จ่ายเงินเดือนให้แก่ดาราที่ย้ายเข้าช่องก่อน แม้จะยังไม่มีงานแสดงก็ตาม จนนำไปสู่การขาดแคลนดาราในช่อง 7

สื่อบางสำนักชี้ว่า การรับบท “มณีจันทร์” ในเรื่องทวิภพ ของนางเอกสาว “แพนเค้ก-เขมนิจ จามิกรณ์” เป็นการจับคู่ที่ผิดฝาผิดตัว หรือการเปิดตัวละครชุด “สี่หัวใจแห่งขุนเขา” ของช่อง 3 เรียกได้ว่าสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้แก่ละครทีวีและกระชากเรทติ้ง ละครช่อง 3 จนคนติดกันทั่วบ้านทั่วเมือง

ทั้งหมดนี้เป็นคำถามพุ่งเข้าหาสุรางค์และรูปแบบการบริหารจัดการช่อง 7 ซึ่งไม่สามารถยึดรูปแบบความสำเร็จเดิมๆ ในอดีตได้อีกต่อไป

คาดกันว่า ในระยะสั้น เมื่อคุณแดงออกจากช่อง 7 พร้อมๆ กับรายการชิงร้อยชิงล้านของบริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) ที่ย้ายไปอยู่ช่อง 3 น่าจะทำให้เม็ดเงินโฆษณาไหลเข้าช่อง 3 มากกว่าช่อง 7 แต่ในระยะยาวแล้ว ยังไม่แน่ ต้องรอดูว่า ใครที่กฤตย์จะดึงมาเป็นผู้บริหารช่อง 7 ตัวจริงหลังจากนี้ ส่วน ศรันย์ วิรุตมวงศ์ รักษาการกรรมการผู้จัดการ คนในแวดวงเห็นว่า ไม่ใช่ตัวจริง

อนาคตวงการละครทีวียังมองไม่ได้ เพราะยังไม่เห็นจุดที่คุณแดงจะไปยืน ถ้าเห็นแล้วจะบอกได้ แต่ช่วงสุญญากาศนี้ ละครที่มีอยู่กับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ภายในครึ่งปีนี้ยังเหมือนเดิม ตำแหน่งบัลลังก์ยังไม่เปลี่ยน แต่หลังจาก 6 เดือนละครที่คุณแดงสั่งทำเริ่มหมดสต็อก อย่างนี้จะเริ่มเห็น

แหล่งข่าวในวงการบันเทิงชี้ด้วยว่าหลังจากนี้ 6 เดือน หากช่อง 7 ไม่สามารถหาคนที่มีฝีมือมากุมบังเหียนช่องแทนคุณแดงได้ ผลสะเทือนอย่างรุนแรงจะเริ่มปรากฎชัดขึ้น แต่แหล่งข่าวผู้นี้ก็ไม่ได้คิดว่าช่อง 3 จะขึ้นมาครองอันดับ 1 ได้ เนื่องการบริหารช่อง 3 ปัจจุบันนี้มีลักษณะกงสีเข้าไปทุกวี่วัน เพราะตระกูลมาลีนนท์ส่งลูกหลานตนเองเข้ามามากขึ้น อาจจะทำให้การบริหารจัดการไม่เป็นมืออาชีพเท่าที่ควร

ถึงวันนี้สิ่งที่เห็นอยู่คือการปรับปรุงและพัฒนาของวงการโทรทัศน์ในเมือง ไทย ทั้งช่อง 3 และช่อง 7ที่ค่อนข้างชัดเจน ขณะที่ช่องอื่นๆ ทั้งช่อง 5ช่อง 9ช่อง 11ไทยพีบีเอส รวมไปถึงเคเบิ้ลทีวีต่างๆ ต่างก็ปรับรูปแบบ และเนื้อหาสาระไปในแนวทางที่ตัวเองถนัด และพัฒนาตามกลุ่มเป้าหมายคือคนดูเป็นหลัก ส่วนจะเป็นอย่างไรต่อไปคำตอบอยู่ที่อนาคต เพราะถึงที่สุดแล้วคนดูคือผู้ชี้ชะตา

 

ขอบคุณภาพจาก www.siamdara.com, www.rakdara.net, http://images.thaiza.com

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: