นักเขียนชี้แท็บเล็ต-ช่วยการอ่านยุคใหม่ ผลิตเนื้อหาได้รวดเร็ว-ดึงดูดได้มากกว่า ชี้ครอบครัวตัวแปรนำทิศทางการใช้ ระบุปัญหาอยู่ที่ไม่เตรียมพร้อม-คอร์รัปชั่น

 

เหมือนแพร ศรีสุวรรณ และ ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 13 มี.ค. 2555 | อ่านแล้ว 2323 ครั้ง

 

ข้อถกเถียงต่อปัญหาที่จะเกิดตามมา หลังการประกาศแจกแท็บเล็ตให้กับเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ยังคงถูกขยายไปในมุมมอง ประเด็นต่างๆ อย่างกว้างขวาง นอกเหนือจากเรื่องรูปธรรมการจับต้องได้ในเชิงของการเรียนรู้จากการใช้เครื่องมือเทคโนโลยีใหม่ๆ และผลกระทบด้านพัฒนาการทางสมองและร่างกายของเด็กแล้ว

ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่ง ที่สังคมให้ความสำคัญไม่แพ้กันคือ ปัญหาด้านทักษะการเรียนรู้ โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนรูปแบบการอ่านอักษรจากหนังสือแบบเรียนกระดาษ สู่การใช้สายตาสัมผัสกับจอคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก จะส่งผลถึงทักษะด้านการอ่านและจินตนาการของเด็กหรือไม่อย่างไร  โดยประเด็นนี้ ศูนย์ข่าว TCIJ ได้สอบถามไปยังกลุ่มนักเขียนชื่อดังในระดับแถวหน้าของวงการนักเขียน ทำให้ได้มุมมองความคิดเห็นในอีกหนึ่งแง่มุมที่น่าสนใจ สำหรับผู้ที่กำลังติดตามประเด็นนี้อย่างใกล้ชิด

 

นักเขียนดังหนุนแท็บเล็ต-เสริมการอ่าน

 

วุฒิชาติ ชุ่มสนิท เจ้าของนามปากกา ‘บินหลา สันกาลาคีรี’ นักเขียนซีไรท์ และ บรรณาธิการนิตยสารไรท์เตอร์ เริ่มต้นประเด็นที่สังคมตั้งคำถามว่า แท็บเล็ตจะส่งผลกระทบต่อการอ่านและจินตนาการที่เปลี่ยนไปจากการอ่านหนังสือปกติดหรือไม่ว่า ที่สังคมส่วนใหญ่มองว่าการแจกแท็บเล็ตจะมีผลต่อการอ่านโดยตรง เพราะแท็บเล็ตเป็นส่วนหนึ่งของการอ่าน ดังนั้นแท็บเล็ตจึงเป็นเหมือนสิ่งของปกติในสังคมในอนาคต ไม่เฉพาะการอ่านเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเครื่องมือของมนุษย์ที่จะใช้ในยุคสมัยอันใกล้นี้ ซึ่งจริงๆแล้วการอ่านเพื่อรับรู้ข้อมูลข่าวสาร

ส่วนตัวเชื่อว่าแท็บเล็ตจะตอบสนองได้ดี สามารถอ่านข่าวสารที่ทันสมัยสามารถอัพเดทข้อมูลได้ดีกว่าหนังสือ เนื่องจากใช้เวลาในกระบวนการผลิตน้อยกว่า รวดเร็วกว่า เพราะหนังสือกว่าจะพิมพ์เป็นรูปเล่มต้องใช้เวลาในกระบวนการนานถึง 3-4 เดือน แต่แท็บเล็ตมีความรวดเร็ว มาถึงคนอ่านได้ภายใน 2-3 นาทีเท่านั้น แต่ความแตกต่างเพียงเล็กน้อย อาจจะอยู่ในส่วนของการอ่านเพื่อความบันเทิง ที่คิดว่าประสิทธิภาพของแท็บเล็ต สูสีกับหนังสือ เนื่องจากการอ่านเพื่อความบันเทิงไม่จำเป็นต้องใช้ความรวดเร็ว แต่เป็นสิ่งที่ต้องใช้จินตนาการและความรู้สึก อารมณ์ แม้วันนี้แท็บเล็ตจะยังไม่สามารถตอบสนองได้เทียบเท่ากับหนังสือ แต่เชื่อว่าอนาคตอันใกล้จะสามารถพัฒนาให้มากขึ้นได้

 

วัฒนธรรมการอ่านต้องเปลี่ยนตามยุคสมัย

 

ความคิดเห็นของวุฒิชาติสอดคล้องกับความคิดเห็นของ ชมัยภร แสงกระจ่าง อดีตนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ที่ชี้ว่า กลุ่มนักเขียนไม่มีความเป็นห่วงเรื่องผลกระทบของแท็บเล็ต ที่จะเข้ามามีผลต่อการอ่านของเด็กนักเรียน หรือ ผู้อ่านหนังสือทั่วไป แต่กลับเห็นว่าแท็บเล็ตจะเป็นส่วนสำคัญที่จะเข้าเสริมทักษะการอ่านให้กับผู้อ่านมากกว่า ด้วยความสะดวก รวดเร็ว รวมไปถึงฟังก์ชั่นการใช้งานต่างๆ ที่อาจจะดึงดูดให้คนสนใจมากขึ้น ทั้งนี้เชื่อว่าไม่ว่าหนังสือจะอยู่ในรูปแบบกระดาษ หรือแท็บเล็ต ก็ไม่ได้ต่างกัน เพราะเป้าประสงค์ที่แท้จริงของหนังสือคือการอ่าน หากแท็บเล็ตจะช่วยให้เด็กหันมาอ่านหนังสืออย่างสนุกสนานมากขึ้น ก็เป็นสิ่งที่ดี เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปสังคมก็ต้องเรียนรู้ให้สอดคล้องกัน

ส่วนในเรื่องของความรู้สึกนั้น คิดว่าอาจจะเกิดกับคนในยุคหนึ่งที่ชอบอ่านหนังสือมากกว่าอ่านในคอมพิวเตอร์ เพราะอาจจะให้ความรู้สึกในการได้สัมผัสได้มากกว่า ก็เป็นเรื่องของคนกลุ่มที่คุ้นเคยกับหนังสือ ในขณะที่กลุ่มวัยรุ่นก็จะสนใจอ่านใน e-book มากกว่า เพราะเป็นไปตามยุคสมัยหรือความสะดวกสบายที่เปลี่ยนไป ซึ่งทั้งสองกลุ่มจะแยกกลุ่มเป้าหมายของตัวเองชัดเจนอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามยอมรับว่า ปัจจุบันคนอ่านหนังสือน้อยลง ดังนั้นสิ่งที่จะต้องทำคือ จะหาวิธีการอย่างไรเพื่อให้คนหันกลับมาอ่านหนังสือมากขึ้น ไม่ว่าในรูปแบบใดก็ตาม

 

“ก่อนหน้านี้สมาคมนักเขียนฯ ก็จัดสัมมนาเรื่องของ e-book ซึ่งก่อนหน้านั้นนักเขียนอาจจะรู้สึกกลัวว่าจะเข้ามาสร้างผลกระทบให้วงการหนังสือ แต่เมื่อได้ข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ ทำให้เราไม่รู้สึกกลัว เพราะe-book ก็คือหนังสืออีกรูปแบบหนึ่ง เราไม่ได้ไปยึดติดว่า หนังสือจะต้องเป็นอะไรที่เป็นเล่มๆ เอาไว้หนุนหัว หรือทำในรูปแบบเดิมๆ แต่จุดประสงค์ของหนังสือคือทำให้คนอ่านได้ความรู้ อ่านแล้วฉลาดขึ้น นั่นคือสิ่งสำคัญ ก็เหมือนกับแท็บเล็ต ที่เด็กอาจจะไม่ต้องเปิดหน้าหนังสือ แต่ก็ได้ความรู้เหมือนกัน สิ่งสำคัญคือวิธีการมากกว่า ว่าจะทำอย่างไรให้เด็กได้สาระจากเครื่องมือชิ้นนี้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และมีประโยชน์จริงๆ” นางชมัยภร กล่าว

 

แท็บเล็ตเป็นประตูสู่การอ่าน แม้สร้างจินตนาการน้อยกว่า

 

ด้าน อนุสรณ์ ติปยานนท์ นักคิด นักเขียน เจ้าของฉายา “มูราคามิเมืองไทย” มองประเด็นของจินตนาการที่เกิดขึ้นระหว่างการใช้แท็บเล็ตกับการอ่านหนังสือปกติว่า อาจจะดูเหมือนว่าเป็นเรื่องที่กว้างมาก หากจะระบุคำว่า จินตนาการกับการอ่านลงไปให้เด่นชัด เพราะเป็นภาพที่ไม่สามารถบรรยายออกมาได้ในเชิงของรูปธรรม หากจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพบ้าง ก็น่าจะเหมือนกับการอ่านหนังสือแฮรี่พอตเตอร์จากหนังสือ เปรียบเทียบกับการใช้แท็บเล็ตในการติดตามเรื่องราวที่ถูกกำหนดไว้แล้ว ซึ่งมองว่าเด็กที่อ่านแฮรี่พอตเตอร์จากหนังสือน่าจะมีจินตนาการมากกว่าเด็กที่ใช้แท็บเล็ต

 

“จริงๆแล้วปัญหาคือแท็บเล็ตเป็นเพียงประตู ไปสู่ดินแดนที่น่าสนใจ หรือดินแดนที่นำไปสู่โทษ ดังนั้นผู้ใหญ่ต้องเป็นคนคอยแนะนำว่า หลังประตูที่เด็กเลือกผ่านแท็บเล็ต หากเด็กเข้าไปแล้วเจอวรรณกรรมที่น่าสนใจ ก็จะมีความสนใจด้านการอ่าน” อนุสรณ์กล่าว

 

ครอบครัวคือตัวแปรทิศทางการใช้

 

เมื่อกล่าวมาถึงตรงนี้นักเขียนทั้งสาม ระบุตรงกันว่า ปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะเป็นตัวกำหนดว่าแท็บเล็ตจะส่งผลดีหรือผลเสียต่อเด็กผู้ใช้นั้นอยู่ที่ผู้ใหญ่ หรือครอบครัวที่จะต้องให้การชี้แนะที่ถูกต้องว่า เด็กควรใช้แท็บเล็ตเหล่านี้ไปในทิศทางหรือรูปแบบไหน โดยชมัยภรกล่าวว่า

 

“สิ่งสำคัญคือขณะนี้ครอบครัว พ่อแม่ มีความพร้อมมากน้อยแค่ไหนกับการจะชี้แนะให้เด็กใช้ประโยชน์จากแท็บเล็ต เพราะสังคมก็ยังตั้งคำถามอยู่ว่า ก่อนที่จะมีการออกนโยบายนี้มา คนไทยใช้แท็บเล็ตได้มากน้อยแค่ไหน จะมีเพียงคนกลุ่มคนรุ่นใหม่เท่านั้นที่ให้ความสนใจและรู้อย่างละเอียด ขณะที่ครูในโรงเรียนเองก็ยังไม่รู้วิธีการเข้าถึงอุปกรณ์เหล่านี้ด้วยซ้ำ ดังนั้นคำถามประเด็นใหญ่จึงอยู่ที่ความพร้อม ทั้งของครอบครัว และครู เพราะหากให้เด็กเล่นเอง การเข้าไปสู่ช่องทางที่ไม่เหมาะสมก็อาจจะเกิดขึ้นได้”

 

 

ด้านวุฒิชาติระบุว่า แม้แท็บเล็ตจะมีลูกเล่นดึงดูดให้เด็กสนใจการอ่านบ้าง แต่คิดว่าไม่มากนัก แต่ระบบคิดของครอบครัว สิ่งแวดล้อมสำคัญมากกว่า ทั้งครู โรงเรียน หรือครอบครัว หากมีวิสัยทัศน์ที่สนับสนุนให้เด็กหาข้อมูล รู้จักหาความสุนทรีย์ให้กับตัวเองเป็นอย่างไร ก็จะเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็ก แต่ไม่ใช่ที่ตัวเด็ก ประการต่อมาคือ ราคาหนังสือที่บรรจุในแท็บเล็ต คิดว่าจะมีราคาถูกกว่าหนังสือที่พิมพ์เป็นรูปเล่ม (Physical Books)  คิดว่าเด็กจะเข้าถึงได้ง่ายขึ้น แต่ปัญหาก็คือ ผู้ใหญ่มักจะไม่รู้ว่าเรื่องที่เด็กจะเข้าถึงได้เป็นอย่างไร โลกส่วนตัวของเด็กเยอะ คิดว่าพ่อแม่ ผู้ปกครองต้องแนะนำให้ดี

ประเด็นต่อมาคือ ต้องดูแลระบบการใช้ แนะนำให้เด็กรู้จักเลือกสิ่งดีดีมาใช้ พ่อแม่จะมีส่วนในการควบคุมการใช้แท็บเล็ตของเด็ก โดยต้องมีเวลาให้กับลูกมากขึ้น เพราะถ้าไม่มีเวลาดูแลลูก ก็ไม่ควรมีเวลาทำให้เด็กเกิดมา จะมาพูดไม่ได้ว่าไม่มีเวลาดูแลลูก พ่อแม่ต้องคิดแล้วว่า การเลี้ยงดูลูกจะสืบเนื่องต่อผลของอนาคตของลูกอย่างไร ตนมองว่า เวลาที่ดูแลลูกจะน้อยกว่าเวลาในการเข้ามาแก้ไขปัญหา เมื่อลูกสร้างปัญหาขึ้น อย่างไรก็ตามพ่อแม่ก็ต้องเสียเวลาอยู่แล้ว ยอมเสียเวลาในการดูแลลูกดีกว่าต้องมาแก้ปัญหาในภายหลัง

 

เทียบแท็บเล็ตเป็นพาหนะสู่อนาคต พ่อแม่ต้องชี้ทาง

 

“พ่อแม่ต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่า ตอนนี้แท็บเล็ตเป็นเหมือนยานพาหนะในการไปสู่อนาคต ยานตัวนี้ไม่ใช่จักรยานที่ไปช้าๆ แต่ไปเร็วกว่ารถยนต์ หรือยานอวกาศ เพราะฉะนั้น ถ้าพ่อแม่ไม่ช่วยให้ดี ยานตัวนี้จะพาลูกของคุณไปไกลอย่างรวดเร็วกว่าที่คุณจะคว้าทัน ถ้าผิดทางก็แย่ แต่ไม่ใช่ความผิดของมัน ถ้าใช้ถูกทางก็ดี ทำให้เด็กพัฒนาเร็ว มันเป็นของที่แหลมคมกว่าในอดีตมาก ทุกอย่างมันมี 2 คมหมด หนังสือก็มีดาบ 2 คม แท็บเล็ตก็เช่นเดียวกัน เหมือนกับการให้จักรยานกับลูก ถ้าลูกถีบไปชนก็ไม่ตายไม่เหมือนรถยนต์ขับชนทีเดียวก็อาจตายได้ ” วุฒิชาติกล่าว

ขณะที่อนุสรณ์ แสดงความคิดเห็นว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นปัจจุบันเป็นเพราะพ่อแม่ไม่มีเวลาเลี้ยงดูเอาใจใส่ลูก ส่วนครูก็มีรายได้น้อย ทำให้ไม่มีเวลาดูแลเด็กอย่างเต็มที่ เนื่องจากครูมีภาระ หน้าที่เยอะ ดังนั้นหากกลัวว่าปัญหาจะเกิดขึ้นจากแท็บเล็ตพ่อแม่ก็ต้องควรเสียสละในการกลับมาดูแลลูก

 

เห็นด้วยแจกแท็บเล็ต แต่ไม่เตรียมพร้อม-หวั่นคอร์รัปชั่น

 

เมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อนโยบายการเดินหน้าแจกแท็บเล็ตให้กับเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ของรัฐบาล คำตอบที่ได้รับจากนักเขียนทั้งสามระบุตรงกันว่า เห็นด้วยในเชิงหลักการ เพราะที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าเด็กประถมศึกษาของไทยต้องแบบหนังสือไปโรงเรียนน้ำหนักเกือบ 10 กิโลกรัม เมื่อมีแท็บเล็ตก็น่าจะเป็นตัวทุ่นแรงได้ดี หากมองที่ประโยชน์ต่างๆ ก็น่าจะมีผลดีในเชิงของการปฏิบัติหากทำได้ ส่วนปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องพัฒนาการขีดเขียนต่างๆ นั้น ผู้ใหญ่ต่างหากที่จะต้องหาวิธีแก้ไข โดยไม่โทษเครื่องมืออย่างแท็บเล็ต

อย่างไรก็ตามปัญหาที่น่าจะเป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วงมากกว่าเรื่องของผลกระทบที่เกิดจากแท็บเล็ตต่อเด็กนั้น นักเขียนทั้งสามคนกล่าวตรงกันว่า น่าจะอยู่ที่เรื่องของกระบวนการมากกว่า โดยในมุมมองของ ชมัยภรให้ความสำคัญในเรื่องของการเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากรของรัฐบาล โดยระบุว่า ที่ผ่านมายังไม่เคยเห็นว่ารัฐบาลได้เตรียมอะไรไว้รองรับบ้าง โดยเฉพาะความพร้อมของบุคลากร ทั้ง ครู ผู้ปกครอง และตัวเด็กเอง ซึ่งหากคนใช้ไม่มีความรู้ก็คงไม่สามารถจะทำให้แท็บเล็ตมีประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพ

 

“ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการมักจะไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมในการที่จะปรับเปลี่ยนหรือใช้อะไรใหม่ๆ ในหลักสูตรการเรียนของนักเรียน เมื่อมีนโยบายอะไรใหม่ๆ ก็มักจะโยนเข้าไปเลย ทำให้การดำเนินการไม่เป็นไปตามจุดประสงค์ ทั้งที่หลายนโยบายเป็นสิ่งที่ดี มีประโยชน์ หากทำได้จริง และมีการเตรียมพร้อมที่ดี โดยเฉพาะเรื่องของแท็บเล็ต คิดว่าควรจะมีใช้เวลาในการเตรียมบุคลากร และนำร่องในโรงเรียนต่างๆ ก่อน ทั้งโรงเรียนในกรุงเทพฯ และโรงเรียนในภูมิภาค อย่างน้อย 6 เดือน - 1 ปี เพื่อจะได้เรียนรู้ปัญหา อุปสรรคที่เกิดขึ้นว่าควรจะนำมาปรับแก้ไขได้อย่างไรบ้าง อีกประเด็นที่สำคัญคือ เป็นห่วงเรื่องการการคอรัปชั่น ตลอดกระบวนการ ตั้งแต่การจัดซื้อ ไปจนถึงการบริหารจัดการอื่นๆ ที่สังคมทั่วไปก็คงต้องตั้งคำถามเช่นกัน” ชมัยภรกล่าว

 

หากครูไม่ดี พ่อแม่ไม่ช่วยทุกอย่างก็จบ

 

ขณะที่อนุสรณ์กล่าวว่า แท็บเล็ตไม่ใช่เรื่องข้อมูล หรือโปรแกรมเพียงเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของ Social Application ที่อยู่ในนั้นด้วย หลายๆอย่างทั้งแมกกาซีน e-book หรือบทความการวิจัย ถ้าสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายก็จะทำให้ผู้ใช้ได้รับประโยชน์ รู้ชัดแจ่มแจ้ง  ในฐานะนักเขียนมองว่า ข้อดีของแท็บเล็ตวันนี้ทำให้ลดต้นทุนในการผลิตหนังสือกระดาษ ทุกวันนี้หลายสำนักพิมพ์ก็ผลิตหนังสือในรูปแบบ e-book รองรับกันแล้วทั้งนั้นอย่ากลัวว่าเด็กจะเข้าถึงข้อมูล หรือโปรแกรมไปในทางที่ไม่ดี เพราะการคิดแค่ว่ากลัวเด็กจะเข้าถึงสิ่งไม่ดีถือเป็นแนวคิดแบบวิกตอเรียน เป็นการมองโลกแบบเชิงป้องกัน ความเป็นจริงทุกวันนี้เด็กสามารถเข้าถึงสิ่งเลวร้าย ข้อมูลลามก อนาจารได้จากร้านเกมส์ หรือร้านอินเตอร์เน็ตอยู่แล้ว ดังนั้นวิธีการที่จะจัดสรรระหว่างโทษ กับประโยชน์ของแท็บเล็ต คิดว่าทุกคนต้องช่วยกัน ไม่ใช่เรื่องของสิ่งของ (Object)  แต่เรามองที่เนื้อหาที่จะใส่เข้าไปในแท็บเล็ต

 

“ทุกวันนี้ครูส่วนใหญ่ที่สอนเด็ก มีสักกี่คนที่ใช้แท็บเล็ตเป็น เพราะส่วนใหญ่เอาเวลาไปหมกมุ่นกับอย่างอื่น จึงมองว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่ครูสามารถรับผิดชอบตัวเองในโลกยุคใหม่ได้ คิดว่าการดูแลเอาใจใส่เด็กจะดีขึ้น ปัญหาเด็กติดแท็บเล็ต หรือติดเทคโนโลยีก็จะไม่เกิดขึ้น  ขณะเดียวกันพ่อแม่ในปัจจุบัน ก็ผลักภาระการดูแล อบรมสั่งสอนไปให้ครู ในที่สุดแล้วก็กลายเป็นเรื่องตลก จึงคิดว่าหากจะแก้ไขปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้นหลังจากแจกแท็บเล็ตให้กับเด็กไปแล้วนั้น ทุกคนต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด” อนุสรณ์กล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: