ในทุกๆ ปี หลายคนคงจะได้มีโอกาสได้ยินข่าวการจัดงานวันเด็กของเด็กไร้สัญชาติ ที่องค์กรเอกชนรวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันจัดขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทยสนุกสนานในวันเด็กเช่นเดียวกับเด็กไทยที่ได้รับสัญชาติไทยแล้ว
อย่างไรก็ตามนอกจากเด็กๆ ที่สังคมให้ความสนใจแล้ว กลุ่มที่น่าสนใจอีกกลุ่มหนึ่งได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มประชาชนที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานานแล้ว แต่กลับไม่ปรากฏรายชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎร์ และเนื่องในโอกาสวันสงกรานต์ ซึ่งคนไทยถือว่าเป็นผู้สูงอายุ เครือข่ายผู้ทำงานด้านสัญชาติ จึงร่วมกับมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) จัดงานวันคนเฒ่าไร้สัญชาติ ขึ้น ที่สำนักงานบ้านใกล้ฟ้า บ้านป่าคาสุขใจ ต.แม่สลองนอก อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยภายในงานนี้ มีชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ อาทิ ลีซู อาข่า ลาหู่ ม้ง เมี่ยน จีนยูนาน ไทยลื้อ ลาวอพยพ ไทยใหญ่ หลายร้อยคนมาร่วมงาน โดยมีคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้กฎหมายและแนวทางแก้ไขการไร้สถานะและสิทธิของบุคลในประเทศไทย วุฒิสภา เข้าร่วมสังเกตการณ์
สำหรับกลุ่มผู้เฒ่าไร้สัญชาติที่เดินทางมาร่วมงานประกอบด้วย 4 กลุ่ม ซึ่งประสบปัญหาต่างๆ กัน ได้แก่ 1.ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยนานแล้วแต่ตกหล่นจากทะเบียนราษฎรไทย 2.ผู้สูงอายุที่ได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติบุคคลประเภท 6 3.ผู้สูงอายุที่ได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติบุคคลประเภท 0 และ 4.ผู้สูงอายุที่ได้รับสถานะคนต่างด้าว เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งแม้ว่าจะมีการเรียกร้องเคลื่อนไหวเพื่อขอให้รัฐบาล ส่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาแก้ไขปัญหานี้ตลอดมา แต่ก็ยังไม่มีหน่วยงานใดให้ความสนใจกับปัญหาของผู้สูงอายุทั้งหลายเหล่านี้มากนัก ทำให้ทั้งหมดยังคงตกอยู่ในสภาพของประชาชนที่ยังคงไร้การรองรับสถานภาพความเป็นคนไทยเช่นเดียวกับคนไทยอื่นๆ
ภายในงานมีการจัดเวที เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุไร้สัญชาติ ลุกขึ้นกล่าวถึงความคับข้องใจในปัญหาที่กำลังประสบ โดยหลายคนยกมือขึ้นขอกล่าวบนเวทีกันอย่างคึกคัก เช่น นายหลี่ เชียวสือ ผู้สูงอายุชาวลีซู กล่าวว่า ตนอาศัยอยู่ในประเทศไทยมานานกว่า 50 ปีแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้สัญชาติไทยเลย โดยพบว่าถึงเวลานี้มีผู้สูงอายุจำนวนเป็นร้อยๆ คนที่ประสบปัญหาเดียวกัน ในขณะที่ลูกหลานซึ่งเกิดในประเทศไทยต่างก็ได้รับสัญชาติไทยกันไปหมดแล้ว แม้ว่าหลายคนจะพยายามยื่นเรื่องเพื่อขอสัญชาติไทยอย่างต่อเนื่องมาหลายปี แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ได้รับการติดต่อเคลื่อนไหวใดๆ จนทำให้เกิดความคับข้องใจของผู้สูงอายุหลายคน เนื่องจากปัจจุบันทุกคนต่างก็เป็นคนไทยอย่างแท้จริงแล้ว
“ทำเรื่องขอสัญชาติมาแล้ว 3 ครั้ง ครั้งแรกตั้งแต่เกือบ 20 ปีก่อน แต่จนบัดนี้ยังไม่ได้รับสัญชาติ ทุกครั้งที่ไปยื่นที่อำเภอ เขาก็รับเรื่องไว้แล้วก็เงียบหายไป ครั้งนี้หากได้ก็แล้วไป แต่ถ้าเงียบหายไปอีก ผมจะฟ้องขอความเป็นธรรมจากศาลแน่นอน”
อย่างไรก็ตามในความพยายามแก้ปัญหานี้ เครือข่ายคนทำงานด้านสัญชาติ ได้ยื่นหนังสือข้อเสนอทางออกในการแก้ไขปัญหาผู้สูงอายุไร้สัญชาติในประเทศไทย 5 ข้อ มีเนื้อหาระบุว่า 1.ข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาผู้เฒ่าที่อาศัยอยู่นานและตกหล่นทางทะเบียนนั้น ขอให้สำนักงานทะเบียนมีหน้าที่ในการเพิ่มชื่อบุคคลที่มีข้อเท็จจริงว่า มีสัญชาติไทยแต่ตกหล่น เข้าสู่ระบบทะเบียนราษฎรของคนสัญชาติไทย ส่วนกลุ่มผู้เฒ่าที่มีข้อเท็จจริงว่าไม่มีสัญชาติ ควรเร่งรัดให้สำนักงานทะเบียนดำเนินการ จัดทำทะเบียนประวัติเพื่อให้บุคคลเหล่านี้ได้พัฒนาสถานะบุคคลของตน
2.ข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาผู้เฒ่า ที่มีเอกสารทางทะเบียนราษฎร และมีสิทธิในการได้รับการพัฒนาสถานะบุคคล (หัวเลข 6 และหัว 0) นั้น หากมีข้อเท็จจริงว่า มีสัญชาติไทย ของให้เร่งรัดสำนักงานทะเบียนดำเนินการพิสูจน์สถานะตามกฎหมายโดยด่วน แต่หากข้อเท็จจริงว่า ผู้เฒ่าเหล่านี้ไม่มีสัญชาติไทย แต่อาจได้รับการพัฒนาสถานะบุคคลได้ ก็ขอให้เร่งรัดดำเนินการ 3.ข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาผู้เฒ่าที่ได้รับสถานะต่างด้าวเข้าเมืองชอบด้วยกฎหมาย และรอแปลงสัญชาตินั้น ขอให้เร่งรัดดำเนินการเป็นกรณีพิเศษ เช่น การลดขั้นตอนการพิจารณา ให้ดำเนินการแก้ไขหลักเกณฑ์เรื่องรายได้โดยคำนึกถึงสภาพแห่งรายได้ตามความเป็นจริง
4.ข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาบุตรหลานของผู้เฒ่าไร้รัฐไร้สัญชาติที่ตกอยู่ภายใต้มาตรา 7 ทวิ แห่งพ.ร.บ.สัญชาติ 2508 ควรเร่งรัดให้ออกกฎกระทรวง เพื่อไม่ให้บุตรหลานคนเหล่านั้นตกอยู่ในข้อสันนิษฐานที่ว่าเป็นคนต่างด้าวเข้าเมือง และเร่งรัดลดขั้นตอนในกระบวนการพิจารณาคำร้องขอสัญชาติ ตามมาตรา 7 ทวิวรรค 2 และ 5.ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาการแยกหมู่บ้าน โดยการพิจารณาถึงภูมิศาสตร์ชุมชน เพื่อให้ชาวบ้านมีสิทธิในการบริหารหมู่บ้านตนเองและเกิดการกระจายอำนาจอันทำให้ดูแลชุมชนได้ทั่วถึง
นางเตือนใจ ดีเทศน์ ที่ปรึกษามูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) กล่าวว่า อยากให้สังคมได้รับรู้ปัญหาของผู้เฒ่าไร้สัญชาติเหล่านี้ ซึ่งปัจจุบันคนกลุ่มนี้มีอยู่จำนวนไม่น้อย เฉพาะแค่บนดอยแม่สลองก็หลายร้อยคน โดยผู้เฒ่าเหล่านี้ต้องอยู่อย่างมีปัญหา เพราะไม่ได้รับสวัสดิการใดๆ ทั้งๆที่คนเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศมาโดยตลอด นอกจากนี้ยังเลี้ยงดูลูกหลานเติบใหญ่เป็นกำลังสำคัญของประเทศ ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลสนใจและเร่งแก้ปัญหานี้ด้วย
ขณะที่นายสุพจน์ เลียดประถม ประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมาสังคมมักจะมองเรื่องเด็กสตรีมาก ทำให้หลงลืมกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งพบว่ามีปัญหาเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่ไร้สัญชาติ ซึ่งจากการลงพื้นที่รับฟังปัญหาทำให้พบว่า มีปัญหาอยู่จริงและจำเป็นต้องแก้ไข บางคนเป็นคนตกหล่นจากทะเบียนราษฎรโดยไม่เคยมีชื่อเลย ซึ่งต้องหาช่องทางที่เร็วขึ้น เพื่อให้คนเฒ่าเหล่านี้ได้รับสัญชาติ เพราะคนเหล่านี้ได้รับความลำบากมานาน และยังมีปัญหาในเรื่องการสื่อสาร ดังนั้นเรื่องนี้คงต้องแก้ไขกันในระดับนโยบายด้วย
ด้าน น.พ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เลขาธิการมูลนิธิสาธารณะสุขแห่งชาติ กล่าวว่า ถ้าแก้ปัญหาต้องแก้ให้ครบ โดยเฉพาะเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แม้คนเฒ่าเหล่านี้สามารถรักษาพยาบาลได้ แต่เดินทางไปไหนลำบาก การแก้ปัญหาอาจแบ่งได้ดังนี้ 1.กติกาใหญ่ระดับนโยบายที่เป็นกติกากลาง 2.ขั้นตอนปฎิบัติ ซึ่งเป็นเรื่องของความน่าเชื่อถือว่าผู้เฒ่ามีคุณสมบัติครบถ้วนหรือไม่ แต่ภาครัฐบอกว่าไม่ใช่ วิธีการแก้ปัญหาคือต้องตั้งคณะกรรมการร่วมกัน 3.เรื่องประโยชน์ด้านสวัสดิการนั้นภาคปฎิบัติช่วยได้มาก หากภาคราชการและระดับนโยบายช่วยเหลือก็จะทำให้การทำงานง่ายขึ้นเช่นเดียวกับเรื่องการรักษาพยาบาล ทำอย่างไรให้กลไกลภาครัฐเข้ามาดูแลชาวบ้านได้
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ