อินเดียประกาศซีแอลยาตับ จีนขยับตามหวังราคาลด

13 มิ.ย. 2555 | อ่านแล้ว 2114 ครั้ง

จากสถานการณ์ที่หลายประเทศเข้าไม่ถึงยาจำเป็นเนื่องจากมีราคาแพงมากและยังมีการผูกขาดด้วยระบบสิทธิบัตร ทำให้ขณะนี้มีความเคลื่อนไหวเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงยาจำเป็นมากขึ้น ในประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นตลาดเกิดใหม่

ผศ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) สำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า หลังจากที่อินเดียได้ประกาศบังคับใช้สิทธิ (ซีแอล) โดยให้บริษัทยาชื่อสามัญมีสิทธิผลิตยา sorafenib ที่ใช้รักษามะเร็งตับและไต เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้ราคายาลดลงจาก 280,000 รูปี เหลือเพียง 8,800 รูปี จากประกาศดังกล่าวพบว่า บริษัทยาต้นแบบได้เสนอลดราคายารักษามะเร็งอีกหลายตัว จากหลักแสนเหลือหลักพันรูปี เพื่อให้คนอินเดียเข้าถึงยามากขึ้นและหลีกเลี่ยงการถูกรัฐบาลอินเดียประกาศซีแอล ล่าสุดรัฐบาลจีนออกระเบียบกำหนดแนวทางการประกาศบังคับใช้สิทธิในกรณีความฉุกเฉิน และเพื่อผลประโยชน์แห่งสาธารณะ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา เช่นกัน

 

“พ.ร.บ.สิทธิบัตรของจีนที่แก้ไขให้เป็นไปตามองค์การการค้าโลก บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2552 แล้ว อย่างไรก็ตาม การออกระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการทำซีแอล เพิ่งทำเสร็จและมีผลบังคับใช้เมื่อ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา”

ดร.นิยดากล่าวว่า ความน่าสนใจอยู่ที่รัฐบาลจีนกำลังสนใจที่จะทำซีแอลในยาทีนอฟโฟเวีย ซึ่งเป็นต้านไวรัสเอชไอวีที่ติดสิทธิบัตรในจีน และแม้จะมีความพยายามขออนุญาตใช้สิทธิโดยสมัครใจ แต่จีนในฐานะประเทศกำลังพัฒนาที่มีศักยภาพในการผลิตยาชื่อสามัญกลับไม่ได้รับอนุญาตจากบริษัทกิลิแอด เจ้าของสิทธิ เชื่อว่า หากการเจรจาลดราคายาเพื่อเพิ่มการเข้าถึงยาของประชาชนไม่ประสบความสำเร็จ จีนจะประกาศซีแอลกับยาตัวนี้แน่นอน

ทั้งนี้เมื่อปลายเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา มีการประชุมของหน่วยงานสหประชาชาติ นักวิชาการและภาคประชาสังคมในเอเชีย จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ UNAIDS และ UNDP ได้ออกแถลงการณ์สนับสนุนให้ประเทศกำลังพัฒนาใช้กลไกยืดหยุ่นในข้อตกลงทริปส์ (TRIPS) เพื่อการเข้าถึงยา และยังแนะนำให้หลีกเลี่ยงการทำความตกลงการค้าเสรีต่างๆ ที่จะมีผลต่อการเข้าถึงยาด้วย

ผู้จัดการแผนงานกพย.กล่าวด้วยว่า ในการประชุมดังกล่าว ผู้เข้าร่วมประชุมให้ความสนใจอย่างมากกับงานวิจัย “สิทธิบัตรยาที่จัดเป็น evergreening patent ในประเทศไทย และการคาดประมาณผลกระทบที่เกิดขึ้น” ที่เป็นความร่วมมือระหว่างนักวิจัยของกพย., สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และกรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยเห็นว่าเป็นแนวทางที่ดีในการจัดทำคู่มือตรวจสอบสิทธิบัตร เพื่อป้องกันการผูกขาดและทำให้ยามีราคาแพง ซึ่งล่าสุดอาร์เจนติน่าได้ออกคู่มือการตรวจสอบสิทธิบัตรตามแนวทางนี้เพื่อใช้บังคับแล้ว

ด้าน รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ กรรมการกำกับทิศของแผนงาน กพย. กล่าวว่า ขณะนี้หลายประเทศที่กำลังอยู่ระหว่างหรือกำลังจะเข้าสู่การเจรจาการค้าเสรี มีความกังวลอย่างมาก ต่อข้อเรียกร้องที่เกินไปกว่าความตกลงทริปส์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยา ซึ่งในประเทศไทยงานวิจัยที่ศึกษาจากข้อเรียกร้องของสหรัฐอเมริกาพบว่า เพียงแค่เรื่อง “การผูกขาดข้อมูลทางยา” หรือ Data Exclusivity (DE) จะสร้างปัญหาใหญ่ให้กับการสาธารณสุขของไทย เพราะจะเป็นการกีดกันการแข่งขันของยาชื่อสามัญ โดยจะให้มีการผูกขาดตลาดเพิ่มขึ้นได้อีก 5-13 ปี ทั้งๆ ที่จะได้รับการคุ้มครองสิทธิบัตรอยู่แล้ว 20 ปีตามกฎหมายสากลและไทย

 

                  “หากไทยต้องยอมให้มีการผูกขาดข้อมูลทางยา 5 ปี และ 10 ปี จะส่งผลให้ใน 20 ปีข้างหน้า จะเกิดผลกระทบ คือ ราคายาเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์พื้นฐาน ร้อยละ 13 และ 27 ตามลำดับ, ค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์พื้นฐาน 190,682.94 และ 325,264.49 ล้านบาท ตามลำดับ, ส่วนแบ่งตลาดของอุตสาหกรรมยาในประเทศลดลง คิดเป็นมูลค่า 38,800.30   และ 94,586.44 ล้านบาท ตามลำดับ และนี่ทำให้ข้อสรุปของงานวิจัยผลกระทบของทริปส์พลัสชิ้นนี้ระบุว่า “การผูกขาดข้อมูลทางยา” คือข้อเรียกร้องแบบทริปส์พลัสที่ร้ายแรงที่สุด” ดร.จิราพรกล่าว

 

ดร.จิราพรยังกล่าวแสดงความห่วงใยกับการประชุมร่วมรัฐสภา ซึ่งจะมีการพิจารณากรอบการเจรจาเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับองค์การการค้าโลก เพราะเขียนกรอบไว้กว้างมาก แทบไม่สามารถช่วยผู้เจรจาของไทยให้ป้องกันผลประโยชน์สาธารณะของประเทศได้เลย

 

“การทำร่างกรอบการเจรจาฯ ใดๆ ควรมีสาระสำคัญ ประเด็นจุดยืนที่ประเทศชาติจะได้ประโยชน์ ซึ่งต้องไปเจรจาให้ได้ และหากมีประเด็นใดที่ประเทศชาติจะเสียประโยชน์ จะต้องมีจุดยืนระบุชัดเจนว่า ประเด็นเหล่านี้ยอมไม่ได้ ไม่ใช่ให้รัฐสภาอนุมัติร่างกรอบเจรจาแบบ ตีเช็คเปล่า เช่นนี้” กรรมการกำกับทิศของแผนงาน กพย. กล่าว

 

ดร.จิราพรยกตัวอย่างว่า ในประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งสหรัฐ, สหภาพยุโรป, ญี่ปุ่น และที่กำลังจะกลับเข้ามาเจรจาใน WTO จะเป็นข้อเรียกร้องที่เกินไปกว่าความตกลงทริปส์ หรือที่เรียกว่าทริปส์พลัสทั้งสิ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการสาธารณสุขของไทยอย่างรุนแรง ดังนั้นกรอบการเจรจาต้องมีสาระสำคัญกำกับชัดเจน กล่าวคือ ต้องไม่เจรจาในเนื้อหาที่เกินไปกว่าความตกลงการค้าที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา หรือความตกลงทริปส์ เมื่อปี 1991 (พ.ศ.2544)

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: