'เพศนอกขนบ’ความจริงที่สังคมรับไม่ได้ รัฐบาลตัดสินคนจากเพศมากกว่าบทบาท ‘กะเทย-ตุ๊ด-ทอม-ดี้’ถูกผลักไปชายขอบ

วรลักษณ์ ศรีใย ศูนย์ข่าว TCIJ 13 ก.ค. 2555 | อ่านแล้ว 5649 ครั้ง

 

เวทีวิชาการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล นำเสนอประเด็น “คนชายขอบ” ในบริบทต่างๆ ที่แตกต่างกันออกไป ด้วยเหตุผลที่ว่าในหลายทศวรรษที่ผ่านมา สถานการณ์ด้านประชากรและสังคมมีการเปลี่ยนแปลงในมิติที่หลากหลาย มาจากปัจจัยต่างๆ เช่น ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ความขัดแย้งทางความคิด ด้านหนึ่งของสถานการณ์เหล่านี้ ทำให้คนหลายกลุ่มในสังคมต้องเผชิญหน้ากับความไม่เป็นธรรม ถูกกีดกันออกจากกระบวนการจัดสรรทรัพยากร และกลายเป็นคนชายขอบในลักษณะหนึ่งลักษณะใดไปในที่สุด

 

ประเด็นหนึ่งที่นำเสนอในครั้งนี้ คือ  “รัฐไทยกับชีวิตคู่แบบเพศวิถีนอกขนบ” โดย ดร.กนกวรรณ ธราวรรณ  อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ทำการวิจัยเรื่องนี้ กล่าวว่า การศึกษาวิจัยเรื่องนี้ เป็นการวิพากษ์แนวคิดที่รัฐไทยใช้กำกับความสัมพันธ์ทางเพศ และสถานภาพสมรสของสังคมไทย ซึ่งฝังรากลึกมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 เป็นแนวคิดที่ทำให้รัฐไทยมีแนวปฏิบัติต่อคนรักเพศเดียวกันเสมือนบุคคลที่มีความผิดปกติ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนรักเพศเดียวกันทุกคนในสังคมไทยพบเจอในชีวิตประจำวัน ขณะที่การเคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายที่เลือกปฏิบัติต่อคนรักเพศเดียวกันเป็นประเด็นที่นักต่อสู้เพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศกระทำมาโดยตลอด

 

บัญญัติคำ ‘เพศนอกขนบ’ พวกไม่ใช่ชายจริง-หญิงแท้

 

 

ดร.กนกวรรณกล่าวว่า คนจำนวนหนึ่งถูกกำหนดให้เป็นคนผิดปกติในสังคมไทย เพียงเพราะคนเหล่านี้มีความสัมพันธ์ฉันคนรักกับคนเพศเดียวกัน คำเรียกคนเหล่านี้ เช่น บุคคลเพศที่สาม ชาวสีม่วง เลส กระเทย  ทอม ดี้ ชายรักชาย หญิงรักหญิง ฯลฯ เป็นคำเรียกที่แสดงให้เห็นว่า เป็นเพศอื่นที่ผิดปกติ ความคิดเรื่องความปกติหรือผิดปกติว่าด้วยการเลือกคนรักของบุคคลดังกลุ่มนี้ เป็นที่มาสำคัญที่ทำให้คนกลุ่มหนึ่งในสังคมไทย กลายเป็นคนชายขอบโดยปฏิบัติการที่แยบยลของรัฐไทย ทั้งนี้ในฐานะนักวิชาการด้าน มานุษยวิทยา ดร.กนกวรรณได้บัญญัติคำสำหรับเพศที่ไม่มีแบบแผนเหล่านี้ว่า “เพศนอกขนบ” มาจากคำภาษาอังกฤษว่า Queer Relationships

 

                        “เพศนอกขนบคือ สิ่งที่ไม่เป็นแบบแผน เพราะเพศของมนุษย์เป็นสิ่งที่ไม่สามารถจัดระเบียบแบบแผนได้ คำว่า กะเทย ทอม ดี้ เลส เกย์ ตุ๊ด คือ การพยายามจัดเพศที่ไม่ใช่ชายจริงหญิงแท้ให้อยู่ในระบบ เพศของมนุษย์เป็นธรรมชาติของแต่ละคน มนุษย์ทุกคนต้องเป็นอย่างที่เป็นก่อน ไม่ใช่เป็นตามเพศ แล้วจึงจะรู้ว่าตัวเองต้องการเป็นอะไร เพศไหน”

 

 

ระบบราชการไทยตัดสินคนแค่จาก ‘สรีระร่างกาย-อวัยวะเพศ’

 

 

ทั้งนี้การแบ่งให้มนุษย์มี  2 เพศ คือ เพศชายและเพศหญิงมาจากมุมมองทางวิทยาศาสตร์ แต่เป็นวิทยาศาสตร์ที่ไม่ครบถ้วนและคับแคบ เพราะคิดเพียงด้านวิทยาศาสตร์กายภาพ เรื่องกายวิภาคศาสตร์ และสรีรวิทยา เป็นหลักในการตีความร่างกายมนุษย์ ซึ่งมองมนุษย์อย่างย่อส่วนลงไปเพียงอวัยวะของร่างกายและการทำงานของอวัยวะเหล่านี้เท่านั้น โดยไม่ให้ความสำคัญกับอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ หรือความสามารถในการปรับตัว เพื่อเลือกสิ่งที่เหมาะสมสำหรับตนเอง ทั้งที่เป็นคุณลักษณะที่สำคัญของความเป็นมนุษย์

 

ดร.กนกวรรณกล่าวต่อว่า ระบบราชการไทยยังใช้วิทยาศาสตร์ด้านสรีรวิทยา บอกว่า อวัยวะเพศชายต้องแต่งงานกับอวัยวะเพศหญิงเท่านั้น การแต่งงานตามกฎหมายในประเทศไทยจึงเป็นเรื่องของการแต่งงานระหว่างชายกับหญิง การกำหนดสถานภาพชีวิตคู่ของคนไทยโดยใช้หน้าที่ ของอวัยวะเพศชายและอวัยวะเพศหญิงเป็นบรรทัดฐาน ทำให้คำว่าการแต่งงานเป็นศัพท์เฉพาะของคนรักต่างเพศ

 

          “มีคำอยู่ 5 คำที่จะใช้กับเรื่องของชีวิตคู่ คือคำว่า โสด แต่งงาน หม้าย หย่า และแยก แต่บรรดาเพศนอกขนบคือ พวกเพศที่ไม่อยู่ในแบบแผน จะใช้ได้คำเดียวคือคำว่า โสด เท่านั้น”

 

อย่างไรก็ตามแนวคิดของรัฐไทยที่อยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ ส่งผลให้เกิดการตีความ ความสัมพันธ์ฉันคนรักของคนไทยต่อไปอีกหลายด้าน  ข้อแรกแนวคิดดังกล่าวทำให้ความสัมพันธ์ฉันคนรักแบบชายชาย และหญิงหญิง ถูกหมายรวมว่า มีเจตนาจะไม่ใช้อวัยวะเพศและระบบสืบพันธุ์ของตน เพื่อการสืบพันธุ์ ซึ่งไม่เป็นความจริงเสมอไป ชายรักชายและหญิงรักหญิงหลายคู่มีบุตรเป็นของตนเอง โดยที่ไม่ได้รับบุตรบุญธรรมมาเลี้ยง

 

 

มองข้ามข้อเท็จจริงเรื่องมีบุตร-การใช้อวัยวะสืบพันธุ์

 

 

ประการที่สองแนวคิดดังกล่าวทำให้รัฐไทย มองข้ามข้อเท็จจริงที่ว่า เมื่อคู่แต่งงานชายหญิงไม่ต้องการมีบุตรหรือไม่สามารถมีบุตรได้ ชายหญิงคู่นั้น ไม่ได้ใช้หรือไม่สามารถใช้อวัยวะสืบพันธุ์ ตามหน้าที่ของอวัยวะเพศชายและอวัยวะเพศหญิงตามหลักสรีรวิทยาอย่างแท้จริง ซึ่งในกรณีนี้รัฐไทยควรทบทวนว่า การใช้แนวคิดด้านสรีรวิทยาในการตัดสินความสัมพันธ์ของมนุษย์ เป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ แต่ที่ผ่านมารัฐไทยไม่เคยทบทวนประเด็นนี้ ในขณะที่กฎหมายไทยรับรองและคุ้มครองสถานภาพชีวิตคู่ของชายหญิงเสมอ แม้ว่าชายหญิงบางคู่ จะมีเจตนาชัดเจนว่า ไม่ต้องการมีบุตร หรือไม่สามารถมีบุตรได้ แต่สำหรับคู่รักเพศกำเนิดเดียวกัน แม้ว่าพวกเขาต้องการการรับรองสถานภาพชีวิตคู่ พวกเขากลับไม่เคยได้รับสิทธิและการปกป้องคุ้มครองในเรื่องชีวิตคู่เลย

 

ดร.กนกวรรณกล่าวย้ำว่า การจัดการของรัฐไทยในเรื่องสถานภาพชีวิตคู่ จึงเป็นกระบวนการที่ทำให้คนหลายคนในสังคมไทยกลายเป็นคนชายขอบ เพราะเหตุแห่งวิถีเพศของพวกเขา ซึ่งหากรัฐจะทบทวนการจัดการเรื่องความเป็นชายขอบจากเพศวิถี จะทำให้เกิดองค์ความรู้มากขึ้น และองค์ความรู้นั้นจะเป็นประโยชน์ในการนำไปกำหนดนโยบายเพื่อพวกเพศนอกขนบ ที่ไม่ใช่ชายจริงหญิงแท้

 

 

ไทยยังใช้แนวคิดจัดการเพศสมัยวิคตอเรีย

 

 

ขณะที่ทฤษฎีเพศนอกขนบที่ปฏิเสธชัดเจน ถึงวิธีการจัดคนลงกล่องเพศต่างๆ ซึ่งขัดแย้งกับแนวคิดของรัฐไทยในปัจจุบัน ดร.กนกวรรณได้นำเสนอแนวคิดที่ว่าด้วยการจัดการสถานภาพชีวิตคู่โดยรัฐ ผ่านการทบทวนวรรณกรรม ที่มีผู้ศึกษาไว้ก่อนหน้านี้ว่า เมื่อสังคมไทยถูกเปลี่ยนให้เป็นเมืองศิวิไลซ์มากขึ้น ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา เรื่องเพศในสังคมไม่ใช่เรื่องส่วนตัวอีกต่อไป แต่กลายเป็นหัวข้อการพูดคุยในสังคม ซึ่งบางครั้งเป็นประเด็นโต้เถียงทางวิชาการ นอกจากนี้เรื่องเพศยังกลายมาเป็นประเด็นสำคัญ ที่รัฐไทยใช้เป็นเครื่องมือ ในการนำพาประเทศไปสู่ความเป็นตะวันตก

 

การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมในสังคมไทย นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงแนวคิดเรื่องเพศให้มีความเป็นตะวันตก เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ได้รับอิทธิพลมาจากสังคมอังกฤษโบราณยุคพระราชินีวิคตอเรีย ซึ่งเรืองอำนาจระหว่าง ค.ศ.1837- 1901 ในยุคนั้นผู้หญิงต้องวางตัวเรียบร้อย สวมเสื้อผ้ามิดชิด เพศสัมพันธ์ที่เหมาะสม จะต้องเป็นเพศสัมพันธ์ระหว่างหนึ่งชายหนึ่งหญิง ที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกัน เป็นชายหญิงที่แต่งงานกันแล้ว ต้องการมีเพศสัมพันธ์เพื่อการสืบสกุล ไม่ใช่เพื่อความสนุก ไม่ใช่เพื่อตอบสนองตัณหา ไม่ใช่เพื่อการหารายได้ และต้องเป็นเพศสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในสถานที่ส่วนตัวมิดชิด

 

 

ตัดสินความดีงามด้วยพฤติกรรมทางเพศ

 

 

อย่างไรก็ตาม ดร.กนกวรรณได้อ้างถึงนักวิชาการชื่อ Rubin ที่วิพากษ์แนวความคิดเรื่องเพศสมัยวิคตอเรีย ว่า ความคิดดังกล่าวได้รับการสอนต่อบอกต่อ จนกลายเป็นบรรทัดฐานในเรื่องเพศในหลายสังคม จนถึงปัจจุบัน และเป็นเหตุให้สังคมมนุษย์กลายเป็นสังคม 2 มาตรฐาน ที่นิยมตัดสินความดีงามของมนุษย์ด้วยพฤติกรรมทางเพศ ซึ่งหากใครสามารถปฏิบัติตามบรรทัดฐานได้ก็เป็นคนดี ใครออกนอกรีตนอกรอยจะกลายเป็นคนไม่ดี

 

ทั้งนี้การวิพากษ์ของ Rubin ทำให้ความเป็นเพศ และความสัมพันธ์ทางเพศทุกรูปแบบในทุกสังคม กลับมาเป็นสิ่งที่มีคุณค่า เป็นสิ่งที่ควรได้รับการปกป้องคุ้มครอง และความเป็นเพศทุกรูปแบบจะต้องมีพื้นที่ทางสังคมด้วย

 

สังคมไทยรับแนวคิดเรื่องเพศแบบนี้มาเป็นบรรทัดฐาน ดังจะเห็นได้จากการก่อตัวของชนชั้นกลางในสังคมไทย ที่ต้องการให้ประเทศชาติมีความศิวิไลซ์ โดยกำหนดให้หญิงไทยชนชั้นกลาง จะต้องมีพฤติกรรมทางเพศที่เหมาะสมกับความเป็นหญิงชนชั้นกลาง ต้องรักนวลสงวนตัวกับเพศตรงข้าม ซึ่งความคิดเรื่องเพศเช่นนี้ ย่อมส่งผลให้เพศสัมพันธ์ระหว่างชายชายหรือหญิงหญิง กลายเป็นเพศสัมพันธ์ที่ไม่เหมาะสม ไม่ถูกต้องตามบรรทัดฐานของสังคมไทย

 

 

รัฐไทยไม่ยอมรับ-ไม่มีกฎหมายคุ้มครองสิทธิเพศนอกขนบ

 

 

แม้เราจะพบว่า สังคมไทยยังมีพวกเพศนอกขนบอยู่มาก และคนเหล่านี้สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างเปิดเผย แต่การดำเนินชีวิตทางเพศที่เป็นแบบเพศนอกขนบ ยังไม่ใช่วิถีทางเพศที่เป็นที่ยอมรับว่าเป็นแบบอย่างได้ และไม่ใช่วิถีทางเพศที่สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา สื่อมวลชน ศาสนา และสถาบันอื่นๆ ในประเทศไทยยอมรับให้เป็นแบบอย่างพลเมืองของชาติได้

 

และที่สำคัญแนวคิดของรัฐไทย ระบบราชการไทย และสถาบันต่างๆ ในประเทศไทยเกี่ยวกับบุคคล เพศอื่น ยังคงสวนกระแสกับความต้องการของกลุ่มเพศนอกขนบ เพราะแนวนโยบายของรัฐไม่คุ้มครองสิทธิพลเมืองของเพศนอกขนบ รัฐไทยไม่รับรองสถานภาพชีวิตคู่ของบุคคลที่มีเพศนอกขนบ ส่งผลให้ชายชายหรือหญิงหญิง ยังไม่สามารถจดทะเบียนสมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมายไทยได้

 

 

‘ป๋าหมาย’ ชายในร่างหญิง รัฐไทยให้ความสำคัญกับอวัยวะมากกว่าบทบาท

 

 

ดร.กนกวรรณกล่าวอีกว่า หากรัฐไทยเลือกใช้ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ที่หลากหลาย หรือทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ที่ละเอียดอ่อนต่อความเป็นมนุษย์มากกว่านี้ รัฐไทยอาจจะกำหนดนโยบายที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิพลเมืองของคนไทยทุกคนได้มากกว่า และเลือกปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันน้อยกว่า

 

การศึกษาวิจัยครั้งนี้ ดร.กนกวรรณ ได้สัมภาษณ์กลุ่มเพศนอกขนบในสังคมไทยด้วย  “ป๋าหมาย” มีเพศหญิงโดยกำเนิด แต่ใช้คำแทนตัวเองว่า “ผม” ป๋าหมาย อายุ 55 ปี เล่าให้ฟังถึงชีวิตของตนเองที่ถูก “เมีย” ทิ้ง หลังจากที่อยู่กินกันมา 17 ปี ว่า “ผมให้จนหมดทุกอย่าง บ้านก็สร้างให้ ลูกก็ส่งให้เรียนหนังสือ ข้าวสารไม่มี ไข่ไม่มีผมทั้งนั้น แต่ผมกินเหล้า สูบบุหรี่ ผมยอมรับ แต่ผมก็ไม่ได้ไปไหน กินแล้วก็กลับบ้าน กินข้าว นอน”

 

“ผู้ชาย” คนนี้คิดว่าเขาได้ทำทุกอย่างที่ผู้ชายคนหนึ่งพึงปฏิบัติต่อภรรยาและลูก ป๋าหมายหาเงินเข้าบ้าน ในขณะที่เมียทำให้บ้านกลายเป็นครอบครัวที่อบอุ่น ป๋าหมายอาศัยอยู่ในชุมชนดั้งเดิมที่ตนเองเกิดและเติบโตขึ้นมา สมาชิกในชุมชนทุกคนรู้ว่า ป๋าหมายเป็น “คนปู๊เมีย” หรือผู้ชายในร่างผู้หญิง แต่ทุกคนในชุมชนไม่เคยทำให้ป๋าหมายรู้สึกด้อยคุณค่าหรือมีปมด้อย ในทางตรงกันข้าม สมัยเลือกตั้งสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลครั้งต่อไป ป๋าหมายจะลงสมัครรับเลือกตั้งด้วยสโลแกนส่วนตัวว่า “เรียกได้ตลอดเวลาต้อง ป๋าหมาย ปู๊เมีย”

 

กรณีของป๋าหมายแม้จะไม่มีสิทธิขอรับการรับรอง และคุ้มครองสถานภาพชีวิตคู่ได้อย่างชายจริงหญิงแท้ และไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องความเป็นพ่อ ที่เลี้ยงลูกชายคนหนึ่งมากับมือ แต่ป๋าหมายไม่เคยรู้สึกว่าตนเองด้อยคุณค่า เพราะในความเป็นผู้ชายที่มีลูกและเมีย ป๋าหมายดำรงตนเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ดีมาโดยตลอด ในขณะที่แนวคิดเรื่องครอบครัวของรัฐไทย ที่ยึดอวัยวะเพศมากกว่าบทบาททางเพศ ที่ไม่เคยให้ความสำคัญในฐานะผู้ชายคนหนึ่งของป๋าหมาย

 

 

ลูกชายทำหน้าที่ของลูกสาวจนพ่อใจอ่อนยอมรับ

 

 

ส่วนกรณีของ “ประไพ” กะเทย วัย 29 ปี มีคู่ชีวิตเป็นชายหนุ่มวัยเดียวกันชื่อ “บัญชา” ทั้งคู่อยู่กินกันในฐานะสามีภรรยามาแล้ว 5 ปี ประไพเป็นนักกิจกรรมต่อสู้เพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ ต้องเดินทางไปบรรยายในสถานศึกษาทุกระดับ บางครั้งประไพได้ขอให้พ่อมาเป็นวิทยากรร่วมบรรยายด้วย โดยเฉพาะประเด็นที่ต้องรณรงค์ให้ผู้ปกครองเข้าใจบุตรหลานที่เป็นกะเทย ซึ่งพ่อของประไพเป็นตำรวจ ส่วนแม่เป็นครู

 

                “ตอนอายุ 13-14 ปี พ่อจะด่ามาก เหมือนเขาเกลียดเรา แต่จะให้ทำยังไง หนูก็ทำตัวปกติ ทำกับข้าว กวาดบ้าน ถูบ้าน ทำงานบ้านหมด หนูสนิทกับแม่เป็นลูกสาว กับพ่อต้องหลบไว้ก่อน ชีวิตจริงมันเป็นแบบนี้ พ่อก็ต้องยอมรับว่า พ่อมีลูกสาวกับลูกชาย เราก็ทำหน้าที่ลูกสาวของเราครบถ้วน ถึงตอนนี้ 20 กว่าปีแล้ว พ่อก็บอกว่าลูกผมเป็นกะเทย รับบัญชาเป็นลูกเขยได้ ทุกวันนี้พ่อก็ภูมิใจในตัวหนู”

 

จากกรณีศึกษา 2 ตัวอย่างข้างต้น แสดงให้เห็นถึงการจัดการชีวิตคู่ของเพศนอกขนบในสังคมไทย ที่อาจเป็นการนำแนวคิด ประสบการณ์ วิถีชีวิตของคนชายขอบ ไปเป็นบรรทัดฐานในการให้ความรู้แก่สังคมได้ ดังนั้นแทนที่จะใช้แนวคิดทฤษฎีสรีระวิทยาและกายวิภาคศาสตร์ รัฐไทยสามารถเปลี่ยนวิธีคิดใหม่โดยใช้หลักสิทธิมนุษยชนแทน และยังทำให้การปฎิบัติต่อเพศนอกขนบเป็นไปอย่างผู้มีสิทธิพลเมืองอย่างแท้จริง เหมือนกับผู้หญิง ผู้ชาย ที่เลือกจะมีความรัก หรือชีวิตคู่กับเพศตรงกันข้าม

 

 

จวกรัฐเลิกห้ามจดทะเบียนสมรส-ชี้เป็นเรื่องสิทธิไม่ใช่เรื่องเพศ

 

ดร.กนกวรรณกล่าวอีกว่า บรรดาเพศนอกขนบที่ต้องการจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย เป็นความต้องการเดียวกันกับชายจริงหญิงแท้ ที่ต้องการจดทะเบียนสมรส แต่กรมการปกครองไม่สามารถจดทะเบียนสมรสให้ได้

 

               “กรมการปกครองจะให้บริการจดทะเบียนสมรส เฉพาะคนไทยที่เป็นชายจริงหญิงแท้เท่านั้น โดยเป็นการจดทะเบียนสมรสระหว่างชายจริง 1 คน หญิงแท้ 1คน ส่วนชายชายหรือหญิงหญิง ที่ต้องการจดทะเบียนสมรส กรมการปกครองไม่สามารถจดทะเบียนให้ได้”

 

อย่างไรก็ตามหากว่ากันตามกรอบรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 คนไทยทุกคนย่อมต้องได้รับการปกป้องคุมครองจากรัฐ และจะต้องไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องไม่ถูกเลือกปฏิบัติโดยรัฐเอง เช่นเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ อายุ ความพิการ เชื้อชาติ ถิ่นกำเนิด ศาสนา

 

ทั้งนี้การปฏิบัติแบบสองมาตรฐานของรัฐไทย ที่ให้บริการจดทะเบียนสมรสแก่ “ชายจริงหญิงแท้” แต่ไม่ให้ชายชาย หรือหญิงหญิง สามารถจดทะเบียนสมรสกันได้ ย่อมเป็นการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง อีกทั้งไม่ควรเกิดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญไทย ที่เน้นย้ำสิทธิพลเมืองของคนไทยทุกคน

 

อย่างไรก็ตามมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนสมรสคือ ประมวลกฎหมายแพ่ง ในกรณีการสมรสระหว่างบุคคลที่มีเพศกำเนิดเดียวกัน เช่น ชายชาย หรือหญิงหญิง กฎหมายแพ่ง บรรพ 5 มาตรา 1459 ได้เปิดช่องไว้ว่า การสมรสในต่างประเทศระหว่างคนที่มีสัญชาติไทยด้วยกัน หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย จะทำตามแบบที่กำหนดไว้ตามกฎหมายไทยหรือกฎหมายแห่งประเทศนั้นก็ได้ ซึ่งเป็นกฎหมายที่น่าสนใจ ซึ่งน่าจะนำมาตีความตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

 

                         “ความต้องการจดทะเบียนสมรสของคนเพศเดียวกัน ไม่ใช่เรื่องเพศเดียวกัน แต่เป็นเรื่องของคนที่ต้องการจดทะเบียนสมรส เพื่อปกป้องสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายของตนเองและคู่สมรส รัฐไทยจึงควรเปลี่ยนมุมมองในการอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้คนไทยจดทะเบียนสมรส แต่ควรมองตามความต้องการของคนผู้ที่ต้องการจดทะเบียนสมรส ไม่ใช่มองว่าเป็นชายจริงหญิงแท้ หรือชายชาย หญิงหญิง เรื่องเพศไม่ใช่ประเด็น แต่ประเด็นคือเพศใดก็ตามที่ต้องการจดทะเบียนสมรส หากเป็นคนไทยควรจะได้รับสิทธิภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน” ดร.กนกวรรณกล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: