แกะปมทุจริตข้าว10ล้านตัน2.57แสนล้าน เบื้องหลังรัฐทุ่ม'รับจำนำข้าว'แพงผิดปกติ ส่ง3หน่วยเฝ้าโรงสีสกัดโกง-ก่อนสภาเปิด

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ 13 ส.ค. 2555 | อ่านแล้ว 2364 ครั้ง

เมื่อสินค้าเกษตรเกือบทุกรายการถูกรัฐบาลให้เงินอุดหนุนทุกรูปแบบ

เมื่อฤดูกาลวิกฤติ ฝนฟ้ากลับกลาย ส่งผลให้ฤดูการผลิต กำลังการผลิตแปรปรวน

เมื่อผู้ผลิตสินค้าเกษตรเกือบทั้งประเทศประสบภัยธรรมชาติ เผชิญปัญหาการส่งออก ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกต่อเนื่อง

ทำให้ทั้งพ่อค้า-เกษตรกร-ชาวนา หันหน้าพึ่งพาใบบุญนักการเมือง หวังดึงเม็ดเงินงบประมาณของรัฐบาล มาอุดหนุน ชดเชยการขาดทุน

ทำให้เกิดปมปัญหาการทุจริต ในกระบวนการที่รัฐบาลเรียกว่า “รับจำนำ”

ทำให้ปมปัญหาการรับจำนำข้าว ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลายเป็นประเด็นใหญ่ที่ฝ่ายค้านพรรคประชาธิปัตย์ จะนำไปขยายผลในวาระการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

 

 

วาระทางเศรษฐกิจ กลายเป็นเรื่องเดียวกับวาระทางการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร

เพราะการ “รับจำนำข้าว” คือนโยบายเร่งด่วนข้อที่ 11 ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แถลงต่อรัฐสภาไว้เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2555

นโยบายเร่งด่วนที่ ข้าราชการนำไปปฏิบัติ-บัญญัติไว้ว่า..

 

             “รัฐบาลจะยกระดับราคาสินค้าเกษตรและให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยดูแลราคาสินค้าเกษตรให้มีเสถียรภาพ คำนึงถึงกลไกราคาตลาดโลก โดยใช้วิธีบริหารจัดการทางการตลาด และกลไกตลาดซื้อขายล่วงหน้า ผลักดันให้เกษตรกรสามารถขายผลผลิตในราคาที่สูงเพียงพอ เมื่อเทียบกับต้นทุน เริ่มจากการรับจำนำข้าวเปลือกเจ้าและข้าวหอมมะลิ ความชื้นไม่เกินร้อยละ 15 ราคาเกวียนละ 15,000 บาท และ 20,000 บาท พร้อมจัดการเยียวยาความเสียหายที่เกิดจากภัยธรรมชาติ”

 

จึงเป็นที่มาของแผนปฏิบัติการ "รัฐบาลพร้อมที่จะรับจำนำข้าวทุกเมล็ดภายในประเทศ ด้วยราคาที่สูงกว่าราคาในตลาด"

 

จึงเป็นที่มาของคำประกาศรับจำนำข้าวด้วยงบประมาณ 2.57 แสนล้านบาท ของกระทรวงพาณิชย์ ที่มีรัฐมนตรีว่าการชื่อ นายบุญทรง เตรยาภิรมย์ รัฐมนตรี โควต้า “วังบัวบาน” ในพรรคเพื่อไทยสาย “เจ๊แดง-เยาวภา วงศ์สวัสดิ์” พี่สาวของนายกรัฐมนตรี

 

ประสานเสียงกับนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คนใน-สายตรง ที่เคยประกาศว่าปรึกษาปัญหาเศรษฐกิจกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อย่างสม่ำเสมอ ว่าจะไม่ขายข้าวราคาต่ำกว่าตลาดโลก

 

 

ทำให้คณะรัฐมนตรี อนุมัติงบประมาณ 2.57 แสนล้าน เพื่อรับจำนำข้าว ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งเป็นหน่วยงานในการให้การสนับสนุนทางด้านการเงินที่ถูกใช้ในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2554/55 กับโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง 2555

 

ซึ่งเป็นราคารับจำนำข้าวเปลือกที่สูงผิดปกติ และอาจมีปัญหาในการนำสต็อกข้าวออกประมูลขายข้าวในตลาดโลก และสุ่มเสี่ยงต่อการขาดทุนในอนาคตได้

 

ทั้งนี้ ปรากฏการณ์ในตลาดข้าวคือ ช่วงปลายโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2554/55 ก่อนที่จะปิดโครงการในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555 มีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นในหลายจังหวัด เขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือทมียอดรับจำนำข้าวหอมมะลิ จำนวนมหาศาลอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

 

ปรากฏการณ์เช่นนี้ถูกคนที่เกี่ยวข้องในวงการค้าข้าวตั้งสมติฐานว่า จำนวนข้าว-งบประมาณในการรับจำนำ ที่สูงผิดปกติ อาจมาจากการสวมสิทธิ์ ใช้สิทธิ์แทนชาวนาตัวจริง เข้าโครงการรับจำนำข้าว เพราะตามปกติแล้วในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็นช่วงที่มีข้าวเข้าสู่ตลาดน้อยกว่าทุกช่วงของฤดูการผลิต

 

ตัวเลขที่โดดเด่นคือ ยอดการรับจำนำข้าวเปลือกระหว่างวันที่ 7 ตุลาคม 2554  ถึงวันที่ 31 มกราคม 2555 (4 เดือน) เปรียบเทียบกับ 1 เดือนก่อนปิดโครงการ มีข้าวเปลือกเข้าสู่มือการรับจำนำถึง 954,498 ตัน เฉพาะเม็ดข้าวจากภาคอีสาน  503,293 ตัน ที่ได้รับการจำนำในราคาสูงสุด ตามนโยบายคือ “ข้าวหอมมะลิ ราคา 20,000 บาท/ตัน”

 

ความผิดปกติ ไปจากฤดูกาล ที่ผ่านมาอีกอย่างคือ  โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 2555 ด้วยการเปิดการรับจำนำรอบสอง (ขยายเวลาการเปิดรับจำนำ)

 

ทำให้ปริมาณข้าวในการรับจำนำสูงขึ้นอีก ทั้ง ๆ ที่โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปีฤดูกาล 2554/55 ที่ปิดโครงการแล้ว มีข้าวเปลือกที่รับจำนำไว้แล้วมหาศาล 6,950,165 ตัน ส่งผลให้ปริมาณข้าวเปลือกที่รัฐบาลรับจำนำไว้แล้ว ในช่วงครบวาระ 1 ปีรัฐบาล (1 สิงหาคม 2555) มีปริมาณสูงถึงเกือบ 10 ล้านตัน เม็ดข้าวที่อยู่ในครอบครองของรัฐบาลกลมๆ คือ 9,869,962 ตัน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ปริมาณข้าวที่เพิ่มขึ้นจากการประกาศขยายเวลารับจำนำในรอบสอง พุ่งขึ้นทันที 3 ล้านตันข้าวเปลือก

 

หลังจากรับจำนำข้าวไว้ในมือปริมาณมหาศาล ทำให้ภาระหนักตกไปอยู่ในมือของกรมการค้าต่างประเทศในฐานะ “ฝ่ายขาย” ข้าวทั้งหมดในสต็อกรัฐบาล

 

ท่ามกลางการถูกตั้งข้อสังเกตถึงความล่าช้า ความไม่โปร่งใส ในการระบายข้าว ที่มีอยู่ท่วมประเทศ

 

เพราะก่อนหน้าที่จะมีการเปิดประมูลขายเป็นการทั่วไป มีโครงการหนึ่งเกิดขึ้นในกระทรวงพาณิชย์ คือการคัดเลือกผู้ส่งออกข้าวจำนวนน้อยราย เข้าเสนอราคาแบบ “ลับ” โดยประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) เห็นชอบตามเสนอ ด้วยเหตุผลที่ว่า การประมูลลับอาจทำให้ได้ราคาสูง และไม่กระทบต่อราคาตลาดข้าว

 

ทว่าความเคลื่อนไหวแบบลับ ดังกล่าว กลับอยู่ในสายตาของโบรกเกอร์ค้าข้าวในต่างประเทศ ที่ล้วนมีประสบการณ์ มีข้อมูลปริมาณข้าว ราคาข้าว ในสต็อกรัฐบาลไทยเป็นอย่างดี

 

 

 

 

 

เมื่อความลับไม่มีในโลก สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย จึงเข้าไปเสนอตัว เพื่อร่วมประมูลซื้อข้าวที่ถูกรัฐบาลรับจำนำไว้ทั้งประเทศ เพื่อนำไปส่งออก แต่ความพยายามนี้ไม่ได้รับการตอบสนอง

 

เมื่อการค้าข้าวแบบปิดลับถูกรู้ถึงหูสื่อ และพ่อค้าไทย-เทศ ในวงการค้า-ขายข้าว โดยเฉพาะประเด็นที่ถูกพูดกันต่อๆ ในบรรดาพ่อค้าว่า บริษัทผู้ส่งออกบางรายได้ประมูลซื้อข้าวไปในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด และมีการเรียกค่าน้ำร้อนน้ำชา เพื่อฝ่าด่านสต็อกข้าวด้วย

 

 

 

 

 

น.ส.กอบสุข เอี่ยมสุรีย์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ออกมาเตือนรัฐบาลด้วยข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ประเทศไทยมีการส่งออกข้าวไปแล้ว 3.45 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 45 เมื่อเทียบกับปี 2554 เพราะราคาข้าวไทยสูงกว่าราคาข้าวจากประเทศคู่แข่งขันมาก แนวโน้มการส่งออก

ข้าวในครึ่งปีหลัง  จะส่งออกได้เพียง 3.05 ล้านตัน เมื่อรวมกับครึ่งปีแรกที่ 3.45 ล้านตัน การส่งออกข้าวทั้งปีมีเพียง 6.5 ล้านตันเท่านั้น ต่ำกว่าปี 2554 ที่มีการส่งออกข้าว 10.65 ล้านตัน

 

ทำให้เกิดขบวนการปรับปรุงข้าวเพื่อส่งมอบให้ประเทศผู้นำเข้าข้าวแบบ รัฐต่อรัฐ และมีพ่อค้าหัวใสไปเดินสาย  อ้างความเป็นเจ้าของข้าวในสต็อกรัฐบาล ผสมโรงด้วยกลุ่มเจ้าของโรงสีบางแห่ง ที่ร่วมขบวนค้าสต็อกข้าวรัฐ

 

เป็นที่มาของ ข้อวิจารณ์จากกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) บางคนที่สรุปว่า ขั้นตอนการระบายข้าวในปัจจุบันของกระทรวงพาณิชย์ก่อให้เกิดการเอื้อประโยชน์และเปิดช่องให้เกิดการทุจริตได้ง่าย รวมไปถึงเรื่องของการสวมสิทธิ์ชาวนา การปลอมปน และการจัดเก็บรักษาข้าวในสต๊อกรัฐ

 

 

 

 

เป็นที่มาของคำตอบของ  น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กรณีผลการวิจัยของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่เสนอให้ ป.ป.ช.พิจารณาชี้มูลความผิดอาญารัฐบาล ตามมาตรา 157 ในการบริหารโครงการรับจำนำข้าวผิดพลาด  ว่า “เรื่องนี้ต้องขอทราบรายละเอียดก่อน  เรื่องนโยบายรับจำนข้าวต้องคุยกันสองช่วง คือ ตัวนโยบายเอง กับเรื่องขั้นตอนในการปฏิบัติ ดังนั้น ในตัวนโยบายจำนำข้าววัตถุประสงค์ของโครงการคือ ต้องการให้มีการยกระดับราคาสินคาเกษตร ซึ่งเชื่อว่าเป็นนโยบายที่ดีและจะช่วยเกษตรกรด้วย”

 

ประเด็นปัญหาอยู่ที่คำตอบนายกรัฐมนตรีที่ระบุว่า “ขั้นปฏิบัติการทำงานต่างๆ ต้องมีการปรับปรุงให้สอดคล้อง ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาในช่วงการปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม  ได้มอบหมายให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เข้าไปตรวจสอบเพื่อให้เกิดการโปร่งใส และเป็นไปตามขั้นตอนต่างๆ อย่างถูกต้อง”

 

ข่าวคราวการเข้าหารือระดับโลกระหว่างนายกรัฐมนตรีไทยกับที่ปรึกษาด้านเกษตร ประจำสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา และนักเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศจากกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) ที่มีวาระ “ขอข้อมูลเกี่ยวกับการใช้เงินอุดหนุนนโยบายรับจำนำสินค้าเกษตรและการระบายข้าวของไทย ที่อาจส่งผลต่อราคาข้าวในตลาดโลก” จึงกระหึ่มกรุงเทพฯ

 

 

ระหว่างที่รอการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ฝ่ายรัฐบาล จึงมีขบวนการสกัดทุจริต รูปแบบต่างๆ อย่างเร่งด่วน อาทิ สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ลงพื้นที่รับจำนำข้าว ที่ส่อทุจริต

 

ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา (วันที่ 9 สิงหาคม 2555) จึงเกิดปรากฏการณ์ปูพรม โดยนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ เดินทางพร้อมด้วย พล.ต.ต.สุรพล พินิจชอบ รอง ผบช.ภาค 4 และ พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ ภราดรศักดิ์ ผบก.ภ.จว.ขอนแก่น ตรวจโรงสีข้าวชัยมงคล บริษัท เค.ซี.รุ่งเรืองการเกษตร จำกัด  โรงสีโครงการรับจำนำข้าวนาปรัง และได้ทำการตรวจสอบการวัดความชื้นข้าวที่เกษตรกรนำมาจำนำ

 

ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ที่สั่งการให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการ เพื่อกำกับการให้ 3 หน่วยงาน คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และสำนักงานป.ป.ช. สนธิกำลังกัน เพื่อทำการป้องกันปราบปรามการทุจริต 3 โครงการ คือโครงการทุจริตจำนำข้าว การทุจริตงบพัฒนาท้องถิ่น จังหวัดและการทุจริตเกี่ยวกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น

 

ก่อนเข้าสู่โหมดการเมืองเข้มข้น ว่าด้วยการอภิปรายตรวจสอบจากฝ่ายค้านอย่างดุเดือด นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ที่เคยให้ฉายาคนการเมือง นายชวนนท์ โกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ว่าเป็นปลาบู่ชนเขื่อน ก็ออกมาพูดกับสาธารณะว่า กระทรวงพาณิชย์ไม่มีเจตนาจะขายข้าวราคาต่ำ ขณะนี้มีความพร้อมที่จะระบายข้าวในสต็อกรัฐบาลแล้ว โดยมีนายมนัส สร้อยพลอย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เป็นประธานคณะทำงานระบายข้าว

 

 

เป็นการระบายข้าวมีทั้งการเปิดประมูลทั่วไป ,การเจรจาขายข้าวระหว่างรัฐต่อรัฐ(G to G) และการขายในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย มีราคาคาดการณ์ครึ่งปีหลัง ตันละ 600 เหรียญสหรัฐ / ตัน

 

จากนี้จนถึงวันเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล คงต้องเปิดตัวเลขลึก-ลับ-บลัฟกันอีกหลายชุด ต้องติดตามว่า ข้าว 10 ล้านตันของประเทศไทย ที่รัฐบาลใช้งบประมาณในการรับจำนำไป 2.57 แสนล้าน จะมีกระบวนการส่งเงินถึงมือชาวนาแบบไม่ตก-หล่น ระหว่างทางได้หรือไม่

 

การสนธิกำลังของตำรวจ-ปปช.-ดีเอสไอ. จะจับมือใครดมได้หรือไม่ว่าปมทุจริตข้าวอยู่ที่ไหน

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: