ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เปิดเผยว่า จากการศึกษาตลาดแรงงานทั่วประเทศ 18 กลุ่มจังหวัด และกรุงเทพมหานคร ยืนยันโครงสร้างแรงงานไทยมีปัญหาความไม่สอดคล้องกันของการผลิตและการจ้างงาน จนเกิดภาวะแรงงานล้นเกินและขาดแคลนไปพร้อมกัน โดยมีแรงงานล้นเกินในระดับ ป.ตรีจนมีปัญหาว่างงาน ทางออกนอกจากปรับคุณภาพแรงงานกับการศึกษาและการจ้างงานให้สมดุลซึ่งต้องใช้เวลานาน ทางเลือกหนึ่งที่ควรพิจารณาคือการส่งเสริมให้มีการจ้างงานปริญญาตรีในตลาดต่างประเทศ เปิดตลาดแรงงานระดับบนของไทยในตลาดเสรีอาเซียนซึ่งกำลังจะมีผลเป็นทางการในอีก 2-3 ปีนี้ เป็นโอกาสดีที่ควรเตรียมความพร้อมแรงงานป.ตรีของไทยให้สู้ได้ในตลาดเสรี แทนการส่งเฉพาะแรงงานระดับล่าง ที่มีระดับวุฒิการศึกษาประถมหรือมัธยมเป็นหลักอย่างที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่ไปทำงานใช้แรงงาน หากเราส่งแรงงานที่มีฝีมือมากขึ้น วุฒิการศึกษาสูงขึ้น ก็จะค่อย ๆ แทรกซึมสร้างส่วนแบ่งตลาดแรงงานระดับบนของไทยในต่างประเทศได้ด้วย
การศึกษายังพบว่า ในบางกลุ่มคลัสเตอร์ยังใช้แรงงานระดับล่างที่เป็นต่างด้าวจำนวนมาก ซึ่งแน่นอนว่าความต้องการแรงงานระดับล่างยังสูงมากจนแรงงานระดับนี้ของไทยมีไม่พอจึงมีการขอใช้แรงงานต่างด้าวเพิ่มมากขึ้น หากจะแก้ปัญหานี้ให้ได้ผลในระยะยาวต้องมีการรื้อโครงสร้างการผลิตของประเทศ ข้อเสนอในระยะสั้นและทำได้เลยคือ การใช้สถานการณ์ที่โรงงานต่าง ๆ ประสบภัยน้ำท่วมจนต้องฟื้นฟูครั้งใหญ่นี้ กระตุ้นให้ผู้ประกอบการโรงงานเหล่านั้นปรับเปลี่ยนมาเป็นการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น ใช้คนน้อยลง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต จะช่วยลดการขาดแคลนแรงงานไทยและการขอใช้แรงงานต่างด้าวโดยไม่จำเป็น การปรับปรุงกระบวนการเช่นนี้ยังช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลิตภาพเพิ่มขึ้นจากการใช้เครื่องจักรเทคโนโลยีคู่กับแรงงานฝีมือที่มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งในส่วนนี้มีแรงงานไทยรองรับเพียงพออยู่แล้ว
“ตลาดแรงงานระดับนี้แยกกันชัดเจน ว่ามีการศึกษาระดับประถมหรือมัธยม ซึ่งเรามีแรงงานในกลุ่มนี้ไม่เพียงพอจึงต้องพึ่งการใช้แรงงานต่างด้าว การปรับปรุงกระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีมากขึ้นก็จะได้ชิ้นงานมากขึ้น เป็นการแก้ปัญหาการผลิตและลดภาระค่าใช้จ่ายที่สูงจากค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น จึงควรใช้โอกาสนี้ทำไปพร้อมกันเลย” ดร.ยงยุทธ กล่าว.
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ