คำพูดที่ได้ยินกันหนาหูและการประชุมสัมมนาในหลายประเด็น มักมีเนื้อหาเกี่ยวโยงกับการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2558 หรือ ค.ศ. 2015 เพื่อให้อาเซียนเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพ มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และเคารพกฎ กติกา ในการทำงานมากขึ้น แต่สิ่งที่คนไทยหลายคนยังคาใจนั่นก็คือ เรามีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน อย่างไรกับการเข้าร่วมประชาคมอาเซียน ไทยจะได้เปรียบเสียเปรียบอย่างไร คนไทยต้องเตรียมตัวอย่างไร
ศูนย์ข่าว TCIJ ได้สัมภาษณ์ เกียรติชัย พงษ์พาณิชย์ คอลัมน์นิสต์อิสระ อดีตนักหนังสือพิมพ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างประเทศ ผู้บริหารองค์การยูนิเซฟในหลายประเทศแถบเอเชีย สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ฯลฯ เพื่อหาคำตอบในประเด็นต่างๆ
โดยเกียรติชัยปูพื้นถึงที่มาที่ไปของประชาคมเอเซียนว่า ประชาคมอาเซียนถูกกำหนดขึ้นในปี พ.ศ.2546 หรือ ในปี ค.ศ.2003 เพื่อสร้าง 3 เสาหลัก ที่มีองค์ประกอบเป็นเสาหลักในความเป็นประชาคมอาเซียน คือการเมืองและความมั่นคง ความเป็นประชาคมอาเซียนทางด้านเศรษฐกิจ หรือ AEC ซึ่งเรามักจะพูดกันมากกว่าเรื่องอื่น ส่วนที่สามคือประชาคมด้านสังคมและวัฒนธรรม ทั้งสามเสาหลักจะรวมกันเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียน ซึ่งมีเป้าหมายที่จะรวมและเปลี่ยนสถานะจากการเป็นประชาคมนานาชาติ จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาเป็นอาเซียน ในปี ค.ศ.2015
การประกาศเป็นประชาคมอาเซียน เกิดขึ้นในการประชุมอาเซียนเมื่อปี 2003 ที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งภายหลังจากการรวมอาเซียนได้เสร็จสมบูรณ์ เมื่อปี 1999 ที่มีกัมพูชาเข้ามาเป็นลำดับสุดท้าย
อาเซียนสามารถรวมตัวกันในกรอบความร่วมมือ อย่างที่เรียกว่า มีเอกภาพในความแตกต่าง ที่สามารถร่วมมือพัฒนาและดำเนินกิจการร่วมกันในระดับภูมิภาค ที่รวมตัวมาได้มากกว่า 30 ปี
อย่างไรก็ตาม แต่เดิมการเป็นประชาคมอาเซียนจะเกิดขึ้นในปี 2020 แต่มีการเลื่อนเวลาให้เร็วขึ้นมาเป็นในปี 2015 และในปีเดียวกัน มีการประชุมที่ประเทศสิงคโปร์ เพื่อร่างกฎบัตรอาเซียน กำหนดขั้นตอนต่างๆที่จะเป็นแนวในการเป็นประชาคมอาเซียน ซึ่งในรายละเอียดของกฎบัตร ระบุไว้ชัดเจนว่า อาเซียนมีความมุ่งมั่นในการสร้างประชาคมอาเซียน ซึ่งประกอบด้วย ประชาคมความมั่นคง ประชาคมเศรษฐกิจและสังคมวัฒนธรรม
เกียรติชัยกล่าวว่า ความแตกต่างของการเปลี่ยนแปลงฐานะในการเป็นประชาคม ตามกรอบวิธีการทำงานแบบต่างๆของอาเซียน มีหลักการพื้นฐานที่ยึดถือร่วมกัน 1.ในเชิงสถาบัน ซึ่งหมายถึงการยอมรับในเชิงสถาบัน ยึดอธิปไตย บูรณาการดินแดนแต่ละประเทศร่วมมือกัน 2.ไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกัน 3.การตกลงปรึกษาหารือให้เป็นไปอย่างฉันท์มิตร พี่น้องที่ปรึกษาหารือกัน และ 4.การปรึกษาหารือต่างๆต้องเป็นไปในหลักการ ซึ่งเป็นมติฉันทานุมัติ ที่ทุกประเทศเห็นร่วมกัน ทั้งนี้เมื่ออาเซียนเปลี่ยนสถานะมาเป็นประชาคมอาเซียนแล้ว มีหลักเกณฑ์เพิ่มขึ้นมาคือ ให้เป็นไปตามข้อตกลงต่างๆที่ทำร่วมกัน
อย่างไรก็ตามแม้ว่าการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เป็นการถ้อยทีถ้อยอาศัยกันในแทบทุกด้านไม่เฉพาะเศรษฐกิจเท่านั้น แต่จะมีด้านการศึกษา สังคม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทุกประเทศก็ย่อมต้องรักษาผลประโยชน์ของตัวเองเป็นหลัก โดยเฉพาะในเรื่องเศรษฐกิจ
ซึ่งเกียรติชัยมองถึงหลักการสำคัญในประเด็นนี้ว่า เศรษฐกิจอาเซียนเป็นการรวมอาเซียนให้เป็นตลาดหนึ่งเดียว มีฐานการผลิตเดียว และทำให้เกิดการหลั่งไหลอย่างเสรีของสินค้า บริการ การลงทุน และแรงงานที่มีทักษะ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจอาเซียน ให้มีความสามารถที่จะแข่งขันทางเศรษฐกิจระหว่างรัฐ และประเทศนอกอาเซียนในตลาดโลก
นอกจากนี้ยังเป็นการยกระดับการพัฒนาประเทศให้มีความเท่าเทียมกัน เช่น ไทย เกาหลี อินโดนีเซีย บรูไน เท่าเทียมกัน แต่อาจจะสูงกว่า พม่า ลาว กัมพูชา และเพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจอาเซียน บูรณาการเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโลกต่อไป
“แต่ละประเทศจำเป็นต้องมีการเตรียมพร้อมในหลายด้าน สิ่งที่เราเห็นการขับเคลื่อนในเรื่องนี้ โดยเฉพาะความเป็นเศรษฐกิจอาเซียนคือ การเชื่อมการติดต่อในเชิงโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การก่อสร้างถนนจากคุนหมิง ผ่านพม่า ลาว เชียงของ และเชื่อมต่อกับถนนสายหลักในประเทศไทย ลงมาเชื่อมต่อไปยัง สิงคโปร์ มาเลเซีย ซึ่งถนนสายอื่นจะตามมา และยังก่อให้เกิดความหวังกับหลายประเทศ ที่จะพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นด้วย”
เกียรติชัยกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามโดยภาพรวมการสร้างเศรษฐกิจของอาเซียน อาจจะมีอุปสรรคที่ทำให้เกิดการชะงักงัน เช่น วิกฤติเศรษฐกิจหรือ วิกฤตต้มยำกุ้ง ในประเทศไทย เมื่อปี 2540 และลามไปยังอินโดนีเซียและเกาหลีใต้ ผลกระทบครั้งนั้น ทำให้ประเทศที่ประสบปัญหาต้องยืมเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF เพื่อใช้หนี้ต่างประเทศ และทำให้สถาบันทางการเงินของไทย 16 แห่งต้องล้มลง รวมไปถึงการที่ประเทศไทย ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ทำให้ธุรกิจหลายด้านถูกดำเนินการโดยบริษัทต่างชาติเป็นจำนวนมาก
ในที่สุดฝ่ายอาเซียนแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ ด้วยการริเริ่มโครงการ จัดตั้งกองทุนของเอเชีย โดยเป็นการรวมทุนจาก 3 ประเทศ คือ เกาหลี ญี่ปุ่น และจีน เพื่อเป็นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของอาเซียน โดยอาเซียนด้วยกันเอง หากในอนาคตประเทศใดในอาเซียนมีปัญหาด้านเศรษฐกิจเกิดขึ้น ประเทศเหล่านั้นไม่จำเป็นต้องกู้ยืมจาก IMF อีกแล้ว จากวิกฤตครั้งนี้เห็นได้ว่า ประเทศต่างๆ ในอาเซียนเริ่มปรับปรุงเสรีทางการค้า เช่นการเปิด FTA เพื่อเป็นช่องทางในการรักษาระดับเศรษฐกิจให้เติบโต
สำหรับโอกาสของประเทศไทยในการเข้าร่วมประชาคมอาเซียน เกียรติชัยมองว่า ประเทศไทยมีจุดเด่นที่ตอบรับในการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในหลายเรื่อง เช่น เรามีความเข้มแข็งทางวัฒนธรรม ด้านธุรกิจ จากการที่เรามีฐานการค้าขายที่เข้มแข็ง กว้างขวางกว่าหลายประเทศ นอกจากนี้ไทยยังมีนโยบายดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ มีศักยภาพทางด้านการค้า เป็นฐานการผลิตสินค้า และประชาชนมีกำลังซื้อมากกว่าเพื่อนสมาชิกประเทศอื่นอีกหลายประเทศ
และหากมองสถานะของประเทศไทย ในการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่เห็นได้ชัดคือ ความได้เปรียบของที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยตั้งตรงจุดศูนย์กลางของประเทศอาเซียนในผืนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งถ้ามีโครงสร้างพื้นฐานที่สร้างขึ้นเพื่อเชื่อมโยง และมุ่งมายังประเทศไทย เช่น ถนนสายแรกจากคุนหมิง มาลาว มาพม่าและเข้าสู่ไทย หรือถนนสายที่ 9 ที่เชื่อมเวียดนาม สะหวันนะเขตที่ลาว และเข้าจ.มุกดาหาร สู่ถนนสายหลักในประเทศไทย ไปทางภาคอีสาน ส่วนทางตะวันตกจะมีโครงการทวายซึ่งจะมีโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมเข้าสู่ประเทศไทยต่อไป
ถ้ามองในความได้เปรียบของที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของไทย หากเราวางสถานะหรือมีวิสัยทัศน์ต่อการที่จะทำประเทศไทย ให้เป็นศูนย์กลางทางโลจิสติกส์ จะเป็นส่วนที่สร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศไทยได้เป็นอย่างดี ในการขนส่งถ่ายสินค้า
ส่วนโอกาสดีอันที่ 2 ของไทยคือ เรื่องอาหาร ประเทศไทยมีความสมบูรณ์เรื่องอาหาร ถึงกับมีนโยบายที่จะเป็นครัวโลก เมื่อมีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว โอกาสในการสร้าง พัฒนาเศรษฐกิจในเรื่องอาหาร ไทยมีศักยภาพสูงที่จะทำได้ เช่น อุตสาหกรรมอาหารฮาลาลทางภาคใต้ ถ้าทำให้ดีเราจะไปได้ไกล เพราะฐานลูกค้ากลุ่มอาหารฮาลาลใหญ่มาก เช่น ประชากรมุสลิมในประเทศอินโดนีเซีย ที่มีมากที่สุดในโลก และยังมีตลาดมุสลิมทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเป็นแหล่งอาหารฮาลาลของโลก และถ้าเราทำได้จริง วัตถุดิบที่จะมาผลิตอาหาร เช่น ผัก อาหารทะเล กุ้ง หอย ปู ปลา จะทำให้เศรษฐกิจในท้องถิ่นกลับคืนมา ตลาดแรงงานจะเปิด จะเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ซึ่งจะสามารถแก้ปัญหาภาคใต้ได้ในหลายเรื่องด้วยกัน รวมถึงเรื่องการท่องเที่ยว ที่ไทยมีต้นทุนสูงอยู่แล้วแทบไม่ต้องทำอะไร เพียงแค่พัฒนาศักยภาพที่มีอยู่แล้วให้สูงขึ้น และสร้างประโยชน์ให้กับประเทศในระยะต่อไป
ส่วนโอกาสอีกอย่างที่ไม่ควรมองข้ามคือ การแพทย์และพยาบาลของไทย ซึ่งได้รับความเชื่อถือสูงมาก หากเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว ไทยจะมีศักยภาพสูงในการเป็นศูนย์กลางรักษาพยาบาล นี่เป็นตัวอย่างเบื้องต้นในการที่ไทยจะมีโอกาสดีในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
“ทั้งหมดนี้ต้องถามว่าเราจะเป็นได้ไหม เรามีศักยภาพแค่ไหน เรามีจุดเด่น ด้อยอะไรบ้าง รวมถึงพิจารณาโอกาสและศักยภาพของเรา ที่ดีกว่าหลายประเทศในอาเซียน ต่อการที่จะเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนต่อไป ซึ่งทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ผู้นำ ว่าจะวางตำแหน่งให้ประเทศเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในด้านใด จะทำอะไร เศรษฐกิจ ท่องเที่ยว อาหารที่มีศักยภาพสูง เมดิคัลฮับ โลจิสติกส์ ทุกอย่างไทยมีศักยภาพที่จะทำได้ เพราะถนนทุกสายลงมาที่เรา และการเชื่อมต่อกับประเทศที่เป็นหมู่เกาะ อาจจะพูดได้ว่า กรอบการทำงานของอาเซียนที่เชื่อมไทยไปยังประเทศต่างๆของหมู่เกาะ ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้น ไทยจะเป็นตัวกลางในการเชื่อมประเทศต่างๆเข้าด้วยกัน ในขณะที่อินโดนีเซียจะนำอาเซียนในด้านความมั่นคงทางการเมือง ไปไกลและเป็นที่ยอมรับ” เกียรติชัยกล่าว
อย่างไรก็ตามแม้จะมีโอกาสเกิดขึ้นมากมายที่มองเห็น แต่เกียรติชัยก็ยังมองว่าไทยยังมีจุดอ่อนเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องมีการแก้ไขเพื่อให้ข้อด้อยต่างๆหายไป เกียรติชัยระบุว่า อันแรกเลยคือความอ่อนแอของการเมืองภายในประเทศที่ไม่มีความแน่นอน และทำให้การสร้างนโยบายของรัฐบาลขาดความต่อเนื่อง นอกจากนี้เศรษฐกิจของไทยเน้นธุรกิจอยู่บนฐานการส่งออก ซึ่งจำเป็นต้องพึ่งตลาดต่างประเทศ ขึ้นอยู่กับภาวะตลาดโลก เช่นขณะนี้สหภาพยุโรปกำลังแย่ สหรัฐฯไม่ฟื้นตัว จึงมีผลถึงเรื่องการส่งออก
นอกจากนี้ไทยยังมีจุดอ่อนในเรื่องของการพึ่งพาพลังงานและแหล่งน้ำมันส่วนใหญ่จากต่างประเทศ หากน้ำมันขึ้นราคาในตลาดโลก จะมีผลกับการส่งออก และสุดท้ายเป็นจุดอ่อนที่สำคัญคือ การคอร์รัปชั่นในประเทศไทยที่ยังระบาดทั่วทุกภาคส่วน ซึ่งหากแก้ไขสิ่งเหล่านี้ได้โอกาสต่างๆก็จะเกิดขึ้นอีกมาก
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ