เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2555 ที่ห้องประชุมสำนักกลางนักเรียนคริสเตียน กรุงเทพฯ เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ประชุมหารือและเตรียมความพร้อม เพื่อฟ้องการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ได้ลงนามในสัญญาซื้อพลังงานไฟฟ้า (PPA) จากบริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ในประเทศลาว ในเดือนตุลาคม 2554 ซึ่งเป็นช่วงที่ที่หลายพื้นที่ในประเทศไทยกำลังเผชิญกับภาวะน้ำท่วมหนัก โดยไม่มีการเปิดเผยเรื่องการลงนามดังกล่าวต่อสาธารณชน และเมื่อมีประชาชนที่ห่วงใยเรื่องโครงการนี้ร้องขอสำเนาสัญญาโครงการ กลับไม่ได้รับคำตอบใด ๆ
สำหรับประเด็นในการฟ้องร้อง เครือข่ายเห็นว่า กฟผ.และหน่วยงานอื่นที่มีหน้าที่ตัดสินใจเกี่ยวกับพลังงาน ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กระทรวงพลังงาน และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ปล่อยให้กฟผ.ทำสัญญาสำคัญ โดยไม่ได้ทำหน้าที่ของตนในการแจ้งข้อมูล และปรึกษาหารือกับสาธารณะ และไม่มีการประเมินผลกระทบทางสังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ จึงถือเป็นการละเมิดสิทธิตามที่ได้รับการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญไทย และกฎหมายอื่น ๆ
จากประสบการณ์ที่ผ่านมาคาดว่า โครงการเขื่อนไซยะบุรีในลาวจะก่อความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมที่รุนแรง กว้างขวาง และไม่อาจแก้ไขกลับคืนได้ ความเสียหายเหล่านี้มีผลสืบเนื่องร้ายแรงต่อชีวิต วิถีชีวิต และสุขภาพของมนุษย์ เขื่อนนี้จะเป็นเขื่อนแรกในชุดเขื่อน 11 เขื่อน บนแม่น้ำโขงตอนล่าง ซึ่งมีการทำข้อมูลเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากเขื่อนที่มีแผนการสร้างทั้งชุด 11 เขื่อน บริเวณตอนล่างของประเทศจีนที่มีต่อประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากประเทศลาว รวมถึงประเทศไทยด้วย ไว้อย่างดี และรัฐบาลอื่นๆ ในประเทศในลุ่มน้ำโขง และผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศ ก็เห็นว่าจำเป็นต้องมีการศึกษาเรื่องผลกระทบข้ามพรมแดนมากขึ้น ก่อนที่โครงการจะดำเนินต่อไปได้
นายธีระพงศ์ โพธิ์มั่น ผู้อำนวยการองค์กรแม่น้ำเพื่อชีวิต เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่หัวงานเขื่อนไซยะบุรี เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาพบว่า มีการดำเนินการก่อสร้างโครงการอย่างต่อเนื่อง มีการก่อสร้างตลอดเวลาทั้งวันทั้งคืน โดยไปไกลกว่าการเตรียมการ ทั้งขุดเจาะตลิ่งริมฝั่งน้ำ ทำผนังปูน และพบว่าชาวบ้านอย่างน้อย 1 หมู่บ้านที่ใกล้หัวงานเขื่อนถูกย้ายออกไปจากพื้นที่แล้ว
ด้านนายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา ผู้ประสานงานเครือข่ายอนุรักษ์วัฒนธรรมและทรัพยากรธรรมชาติลุ่มน้ำโขงล้านนา กล่าวว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านเรียกร้องให้หน่วยงานต่างๆ ระงับโครงการทันที เพื่อทำศึกษาอย่างรอบด้าน และคำนึงถึงความเสียหายต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขง วิถีชีวิตของชาวบ้านกว่า 60 ล้านคนตลอดลุ่มน้ำ และการประมง ซึ่งมีความสำคัญระดับโลก แต่กลับมีการเดินหน้าโครงการโดยไม่ฟังเสียงชาวบ้าน จึงต้องขอพึ่งศาลปกครอง
การที่ประเทศไทยซื้อพลังงานร้อยละ 95 ของไฟฟ้าที่จะผลิตโดยเขื่อนไซยะบุรีจากประเทศลาว ทำให้เกิดผลกระทบทางสังคม สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ในดินแดนไทย และในบริเวณตอนล่างของแม่น้ำโขงในประเทศกัมพูชาและเวียดนาม ชุมชนในประเทศไทยที่จะได้รับผลกระทบก็คือ ชุมชนในช่วงตอนบนของลำน้ำโขงที่จ.เชียงราย และในจังหวัดตอนล่างของลำน้ำโขงอย่างจ.เลย หนองคาย นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ตลอดทั้ง จ.หนองบัวลำภู การที่กฟผ.ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐลงนาม หรือหน่วยงานอื่นที่ปล่อยให้กฟผ.ลงนามในสัญญาซื้อขายพลังงาน (Power Purchase Agreement - PPA) โดยไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ทางรัฐธรรมนูญ กฎหมายภายใน ตลอดทั้งกระบวนการทางปกครอง ไม่ได้เป็นเพียงการละเมิดกฎหมายภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นการปล่อยให้โครงการที่มีผลกระทบรุนแรงและไม่สามารถแก้ไขคืนมาได้ ได้ดำเนินการไปโดยขาดการศึกษา และการปรึกษาหารือ ตามที่ควร ซึ่งได้มีกฎหมายระหว่างประเทศกำหนดไว้ และที่มีแนวปฏิบัติระดับสากลเป็นแนวทางกำกับอยู่อีกด้วย
น.ส. ส.รัตนมณี พลกล้า หัวหน้าทีมทนายความ กล่าวว่า โครงการเขื่อนไซยะบุรีนี้ถือว่าริเริ่มและดำเนินการโดยหน่วยงานในประเทศไทยทั้งรัฐและเอกชน ซึ่งชาวบ้านที่คาดว่าจะได้รับความเดือดร้อนได้ทำทุกวิถีทางที่จะให้มีการยุติหรือทบทวนโครงการตลอดมา เนื่องจากเห็นว่ากระบวนการในการดำเนินโครงการไม่ชอบด้วยกฎหมาย
“เขื่อนไซยะบุรีจะส่งผลกระทบต่อมนุษย์และทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมทั้งในไทยและประเทศเพื่อนบ้านลุ่มน้ำโขง แต่ไม่ปรากฏว่าหน่วยงานต่างๆของรัฐบาลไทยจะดำเนินการใดๆ จึงเห็นช่องททางของศาลเป็นที่พึ่งหนึ่งที่จะนำมาซึ่งความคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมได้ จึงร่วมกันกำหนดฟ้องศาลในวันที่ ๒๓ นี้” น.ส.ส.รัตนมณีกล่าว
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ